Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2017

Educational Psychology

PDF

Chulalongkorn University

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Education

ผลของโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อความวิตกกังวลในการสอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3, เกวลิน กลัญชัย Jan 2017

ผลของโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อความวิตกกังวลในการสอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3, เกวลิน กลัญชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อความวิตกกังวลในการสอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตัวอย่างของการทดลองครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จำนวน 67 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมจำนวน 34 คน และกลุ่มควบคุมที่เรียนตามปกติจำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1. แบบวัดความวิตกกังวลในการสอบ และ 2. โปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบค่าทีแบบอิสระ (Independent t-test) และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-Way Repeated Measures ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมมีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลในการสอบในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมมีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลในการสอบในระยะหลังการทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมมีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลในการสอบในระยะติดตามผลไม่แตกต่างจากก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมมีค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลในการสอบในระยะติดตามผลสูงกว่าหลังการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ผลการฝึกอนุมานสาเหตุไปที่ความพยายามที่มีต่อการผัดวันประกันพรุ่งในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2, ธนพล สุวรรณพงษ์ Jan 2017

ผลการฝึกอนุมานสาเหตุไปที่ความพยายามที่มีต่อการผัดวันประกันพรุ่งในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2, ธนพล สุวรรณพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของผลการฝึกอนุมานสาเหตุที่ความพยายามที่มีต่อการผัดวันประกันพรุ่งของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับโปรแกรมการฝึกอนุมานสาเหตุที่ความพยายามระหว่างระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผล กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กรุงเทพมหานคร จำนวน 49 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 24 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบไปด้วย 1. แบบวัดการผัดวันประกันพรุ่งในการเรียนและ 2. โปรแกรมการฝึกการอนุมานสาเหตุที่ความพยายาม โปรแกรมนี้ประกอบด้วยกิจกรรมการฝึก จำนวน 10 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การทดสอบความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-Way Repeated measure ANOVA) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการฝึกการอนุมานสาเหตุที่ความพยายามมีค่าเฉลี่ยจากแบบวัดการผัดวันประกันพรุ่งในการเรียนในระยะหลังการทดลองและติดตามผลไม่แตกต่างจากกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) ในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผล ค่าเฉลี่ยจากแบบวัดการผัดวันประกันพรุ่งในการเรียนของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการฝึกการอนุมานสาเหตุที่ความพยายามไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นพลังของนักเรียนระดับอาชีวศึกษาโดยใช้โปรแกรมฝึกการกำกับอารมณ์, ธนาภรณ์ เนียมกลั่น Jan 2017

การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นพลังของนักเรียนระดับอาชีวศึกษาโดยใช้โปรแกรมฝึกการกำกับอารมณ์, ธนาภรณ์ เนียมกลั่น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลจากการใช้โปรแกรมฝึกการกำกับอารมณ์ที่มีต่อความสามารถในการฟื้นพลังของนักเรียนระดับอาชีวศึกษา ตัวอย่างในการวิจัย คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย จำนวน 62 คน เครื่องมือในการวิจัย คือ โปรแกรมฝึกการกำกับอารมณ์ และแบบวัดความสามารถในการฟื้นพลัง วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างช่วงเวลาของการวัดประเมินความสามารถในการฟื้นพลัง โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (one-way repeated measures ANOVA) และสถิติทดสอบทีแบบอิสระ (Independent sample t - test) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ภายหลังการทดลองและในระยะติดตามผลกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และ 2) ภายหลังการทดลองและในระยะติดตามผลกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการฟื้นพลังสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05


ผลของโปรแกรมการฝึกทักษะการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการที่มีต่อความวิตกกังวลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, สุณัฐฐา สุนทรวิภาต Jan 2017

ผลของโปรแกรมการฝึกทักษะการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการที่มีต่อความวิตกกังวลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, สุณัฐฐา สุนทรวิภาต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการฝึกทักษะการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการที่มีต่อความวิตกกังวลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนราชวินิต มัธยม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 63 คน กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายเพื่อเข้าเป็นกลุ่มทดลอง 31 คน และกลุ่มควบคุม 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย คือ โปรแกรมการฝึกทักษะการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการ และแบบวัดความวิตกกังวล การเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนการทดลอง ระยะทดลอง ระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผล ในระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผล กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมทำแบบวัดความวิตกกังวลซึ่งประกอบด้วยข้อคำถาม 79 ข้อ ใช้เวลาตอบ 30 นาที และในระยะทดลองกลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการฝึกที่ประกอบด้วยกิจกรรมการฝึกทักษะการคิดตามหลักโยนิโสมนสิการ จำนวน 8 ครั้ง ใช้เวลาการฝึกครั้งละ 50 นาที วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบค่าทีแบบอิสระ (Independent t-test) และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-Way Repeated Measures ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1) ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลนักเรียนในกลุ่มทดลองมีคะแนนความวิตกกังวลต่ำกว่านักเรียนในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 2) ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลนักเรียนในกลุ่มทดลองมีคะแนนความวิตกกังวลต่ำกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05