Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Theses/Dissertations

2017

Elementary Education

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 7 of 7

Full-Text Articles in Education

สภาพและแนวทางแก้ไขปัญหาการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, ณัฐพงศ์ เชื้อเพชร Jan 2017

สภาพและแนวทางแก้ไขปัญหาการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร, ณัฐพงศ์ เชื้อเพชร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์และการทำแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1.สภาพปัญหาเรื่องการสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สรุปได้ว่า 1) ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมต้น (ป.1-3) ไม่ได้สอนในวิชาภาษาไทยแต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่นในโรงเรียน 2) ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมต้น (ป.1-3) ไม่ได้จบเอกภาษาไทย จึงไม่รู้หลักในการสอนวิชาภาษาไทย 3) นักเรียนที่โรงเรียนรับเข้ามามีหลากหลายปัญหา ได้แก่ เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าว มีสภาวะเรียนรู้ช้า เป็นเด็กพิเศษทั้งที่มีใบรับรองแพทย์และไม่มี 4) เวลาที่ครูจะได้ใช้ในการซ่อมเสริมเด็กที่อ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำไม่ได้ มีจำกัด เพราะมีภาระงานทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานมากมาย 5) ขาดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำในโรงเรียนเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ บุคลากรและเวลา รวมถึงความตระหนักในปัญหาที่เป็นอยู่ 2.แนวทางในการแก้ไขปัญหาการสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สรุปได้ว่า 1) ครูที่สอนวิชาภาษาไทยในระดับชั้นประถมต้น (ป.1-3) ควรเป็นครูที่จบเอกภาษาไทยซึ่งรู้หลักในการสอนวิชาภาษาไทยโดยเฉพาะเรื่องการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำ 2) การสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ วันละ 5-10 นาที และควรทำต่อเนื่อง 3) ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยควรได้รับการอบรมเรื่องเทคนิคการสอนและการสร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำอย่างต่อเนื่อง 4) ผู้เกี่ยวข้องทุกคนไม่ว่าจะเป็นครูท่านอื่น ผู้ปกครอง ชุมชนควรร่วมมือกันในการส่งเสริมความสามารถในการอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำของเด็กจนกว่าจะสามารถอ่านออกและเขียนได้เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น 5) ฝ่ายบริหารควรมีนโยบายในการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของครูลงแต่เพิ่มประสิทธิภาพเชิงวิชาการด้วยการให้ครูได้มีเวลาในการพัฒนาและแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ 6) ควรมีการส่งเสริมให้มีการผลิตสื่อการสอนและนวัตกรรมที่ช่วยให้นักเรียนสามารถอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำได้ในรูปแบบที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานและเพลิดเพลินแต่ได้รับความรู้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการเรียน 7) วิธีการสอนอ่านสะกดคำและเขียนสะกดคำที่ได้ผลมากที่สุดคือการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ


ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5, ดาริกา สมนึก Jan 2017

ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5, ดาริกา สมนึก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็ก ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ปีการศึกษา 2560 ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ประเภทโรงเรียนรัฐบาล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท จำนวน 25 คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ประกอบด้วย 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ จำนวน 21 แผนการจัดการเรียนรู้ ใช้เวลาในการทดลองทั้งสิ้น 7 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบปรนัยจำนวน 15 ข้อ 2) แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง จำนวน 5 ข้อ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก่อนเรียนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้วยสถิติค่าเฉลี่ย (x ̅) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทดสอบสมมุติฐานด้วยสถิติทดสอบ (Paired-Sample t-test) วิเคราะห์คะแนนเฉลี่ยผลต่างของคะแนนหลังเรียนของนักเรียนแต่ละกลุ่มตาม เพศ อายุ เกรดเฉลี่ย ภูมิลำเนา อาชีพผู้ปกครอง และความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยใช้ค่าสถิติแบบ (Independent-sample-t test) และ (One-way-Anova) ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาสำหรับเด็กมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความแตกต่างระหว่างเพศ อายุ เกรดเฉลี่ย อาชีพของผู้ปกครอง และความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนซึ่งแตกต่างกับภูมิลำเนาของนักเรียนที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์


ผลของการใช้คำถามระดับสูงในการสอนอ่านจับใจความที่มีผลต่อความตระหนักในความเป็นไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4, ทศพร ศรีแสง Jan 2017

ผลของการใช้คำถามระดับสูงในการสอนอ่านจับใจความที่มีผลต่อความตระหนักในความเป็นไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4, ทศพร ศรีแสง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้คำถามระดับสูงในการสอนอ่านจับใจความที่มีต่อความตระหนักในความเป็นไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างเป็น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2560 จำนวน 64 คน กลุ่มทดลอง 32 คน กลุ่มควบคุม 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระการอ่าน โดยใช้คำถามระดับสูง และแผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย สาระการอ่าน แบบปกติ แบบสังเกตพฤติกรรมที่แสดงถึงความตระหนักในความเป็นไทย เป็นลักษณะแบบตรวจสอบรายการ แบบวัดความตระหนักในความเป็นไทย ใช้มาตราวัดอันดับคุณภาพ และแบบวัดความตระหนักในความเป็นไทย มีลักษณะการเขียนเติมประโยคให้สมบูรณ์ โดยคำนวณหาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์โดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า พบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการสอนอ่านจับใจความโดยใช้คำถามระดับสูงมีความตระหนักในความเป็นไทยหลังการทดลองสูงกว่านักเรียนได้รับการจัดกิจกรรมการสอนอ่านจับใจความรูปแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


แนวทางการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ทัชชา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา Jan 2017

แนวทางการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ทัชชา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาของการนำหลักสูตรอาเซียนศึกษาไปใช้ในระดับประถมศึกษา 2) เพื่อสังเคราะห์และนำเสนอแนวทางการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษาระดับประถมศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่การสอนในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่อยู่ในโครงการ ASEAN Learning School จำนวน 151 โรงเรียน จำนวน 302 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ 1) แบบสอบถาม และ 2) แบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ การวิเคราะห์ข้อมูล 1) การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) การวิเคราะห์และสรุปผลการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขแนวทางการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา ผลการวิจัยพบว่า สภาพและปัญหาที่พบในการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษา คือ 1) ด้านการเตรียมความพร้อม ครูส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเอกสารประกอบหลักสูตรอาเซียนศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้รับสื่อการสอนอาเซียนศึกษาจากหน่วยงานภายนอกโรงเรียน และยังไม่เคยได้รับการอบรมก่อนการนำหลักสูตรไปใช้ 2) ด้านการบริหารหลักสูตร พบปัญหาในการวางแผนการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษาล่วงหน้า การดำเนินการตามแผนการใช้หลักสูตร การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ การจัดทำแผนการประเมินผลและติดตามผลการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษา 3) ด้านการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนประถมศึกษามีรูปแบบการจัดกิจกรรมในสถานศึกษาที่หลากหลาย และครูใช้วิธีการวัดและประเมินผลที่มีความแตกต่างกัน โดยมีปัญหาเกิดขึ้นในทุก ๆ การปฏิบัติ 4) ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร ครูส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับคู่มือการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษา เทคนิคและวิธีการสอนอาเซียนศึกษา การจัดทำและแนวทางการใช้สื่อ สำหรับแนวทางการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษา ในโรงเรียนประถมศึกษา ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการใช้หลักสูตรอาเซียนศึกษาประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1) ด้านการเตรียมความพร้อม 2) ด้านการบริหารหลักสูตร 3) ด้านการจัดกาเรียนการสอน และ 4) ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้หลักสูตร


การศึกษาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของครูระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก จังหวัดปทุมธานี, สุพัตรา คำโพธิ์ Jan 2017

การศึกษาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของครูระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก จังหวัดปทุมธานี, สุพัตรา คำโพธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของครูระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก 2) นำเสนอแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของครูระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากร คือ ครูผู้สอนภาษาไทยระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 จำนวน 289 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกตการจัดการเรียนการสอน ผลการวิจัยในครั้งนี้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพและปัญหาในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของครูระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก จังหวัดปทุมธานี พบว่าครูมีการปฏิบัติอยู่ในระดับบางครั้ง (ค่าเฉลี่ย = 2.97) โดยพบปัญหาคือ ครูขาดความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย และต้องการสื่อที่ใช้ในการสอนภาษาไทย 2. แนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของครูระดับประถมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงวิชาเอก คือ 1)การเริ่มต้นพัฒนาตนเองโดยครูผู้สอนต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ของตนเอง และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม 2) การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถานศึกษาทั้งด้านสื่อการสอน การนิเทศติดตาม การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3) การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมเกี่ยวกับการสอนภาษาไทย


ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่มเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5, นราลักษณ์ ผ่องปัญญา Jan 2017

ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่มเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5, นราลักษณ์ ผ่องปัญญา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยแนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่มที่มีผลต่อความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียน 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานและนักเรียนได้ที่รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 70 คน สุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง กลุ่มละ 35 คน กลุ่มทดลองที่ 1 เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐาน กลุ่มทดลองที่ 2 เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐาน แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่ม และแบบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1) ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยแนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2) ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังการทดลองของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานและนักเรียนได้ที่รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แนวคิดการใช้ปัญหาเป็นฐานผ่านกระบวนการกลุ่มสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ผลการใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดร่วมกับผังกราฟิกที่มีต่อความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยของ นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5, สุมาลี ชูบุญ Jan 2017

ผลการใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดร่วมกับผังกราฟิกที่มีต่อความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยของ นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5, สุมาลี ชูบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง 2) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มควบคุม 3) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม 4) ศึกษาความสามารถในการอ่านจับใจความของนักเรียนกลุ่มทดลองที่มีแบบการเรียนรู้ต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดบางหญ้าแพรก แบ่งเป็น กลุ่มทดลอง 28 คน และกลุ่มควบคุม 28 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลคือ แบบทดสอบการอ่านจับใจความฉบับก่อนเรียนและฉบับหลังเรียน และแบบสำรวจแบบการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ แผนการจัดกิจกรรมการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดร่วมกับผังกราฟิก และแผนการจัดกิจกรรมการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดที่ไม่ใช้ผังกราฟิก วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1)นักเรียนกลุ่มทดลองที่ร่วมกิจกรรมการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดร่วมกับผังกราฟิกมีคะแนนความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2)นักเรียนกลุ่มควบคุมที่ร่วมกิจกรรมการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดที่ไม่ใช้ผังกราฟิกมีคะแนนความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3)นักเรียนกลุ่มทดลองที่ร่วมกิจกรรมการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดร่วมกับผังกราฟิกมีคะแนนความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมที่ร่วมกิจกรรมการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิคเพื่อนคู่คิดที่ไม่ใช้ผังกราฟิก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4)คะแนนความสามารถในการอ่านจับใจความภาษาไทยของนักเรียนรายบุคคลเมื่อวิเคราะห์ตามแบบการเรียนรู้ เรียงลำดับจากคะแนนสูงไปต่ำ ได้แก่ นักเรียนที่มีแบบการเรียนรู้แบบการดูหรือมองเห็น การสัมผัสหรือเคลื่อนไหวร่างกาย และการฟังหรือได้ยิน ตามลำดับ