Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Elementary Education

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2019

Articles 1 - 9 of 9

Full-Text Articles in Education

แนวทางการส่งเสริมความพร้อมในรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากระดับประถมศึกษาสู่ระดับมัธยมศึกษา : พหุกรณีศึกษาโรงเรียนนานาชาติ, โชติกา กังสนันท์ Jan 2019

แนวทางการส่งเสริมความพร้อมในรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากระดับประถมศึกษาสู่ระดับมัธยมศึกษา : พหุกรณีศึกษาโรงเรียนนานาชาติ, โชติกา กังสนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาปัญหาทางการเรียนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เป็นนักเรียนไทย ในโรงเรียนนานาชาติ (2) เพื่อนำเสนอแนวทางการส่งเสริมความพร้อมแก่นักเรียนในรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากระดับประถมศึกษาสู่ระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ (1) แบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้างคำถาม (2) แบบประเมินรับรองแนวทางการส่งเสริมความพร้อมสำหรับผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูที่สอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนนานาชาติ ประกอบด้วย โรงเรียนนานาชาติระบบอังกฤษ 2 โรงเรียน โรงเรียนนานาชาติระบบอเมริกัน 2 โรงเรียน โรงเรียนนานาชาติระบบสิงคโปร์ 2 โรงเรียน และโรงเรียนนานาชาติระบบ International Baccalaureate 1 โรงเรียน จำนวนทั้งหมด 7 โรงเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาทางการเรียนที่เกิดขึ้นกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เป็นนักเรียนไทย ในโรงเรียนนานาชาติ มี 3 ด้าน ได้แก่ (1) พื้นฐานทางวิชาการ (2) สังคมและวัฒนธรรม และ (3) สภาพอารมณ์และจิตใจของนักเรียน และแนวทางการส่งเสริมความพร้อมได้ดังนี้ (1) แนวทางในการส่งเสริมความพร้อมด้านพื้นฐานทางวิชาการ (2) แนวทางการส่งเสริมความพร้อมด้านสังคมและวัฒนธรรม และ (3) แนวทางการส่งเสริมความพร้อมด้านสภาพอารมณ์และจิตใจ ซึ่งประกอบด้วยการจัดการเรียนการสอน การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน และการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง


ผลการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาที่มีต่อคุณลักษณะตามมาตรฐานครูของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษา, พัฒนาภรณ์ มุสิกะสาร Jan 2019

ผลการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาที่มีต่อคุณลักษณะตามมาตรฐานครูของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษา, พัฒนาภรณ์ มุสิกะสาร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สะเต็มศึกษาเป็นแนวคิดที่เหมาะกับการเรียนรู้ของนักเรียนในยุคปัจจุบัน การให้ความรู้กับครูผ่านการอบรมเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวจึงมีความสำคัญในการช่วยให้นักเรียนได้ใช้ทั้งความรู้และทักษะควบคู่กันไป วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้เพื่อ 1) เพื่อศึกษาผลของมาตรฐานครูที่ได้รับหลังการอบรมที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ 2) เพื่อศึกษาผลของมาตรฐานครูจากการนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมของครูผู้สอนไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 คือ ครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษา สังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในประเทศไทย ที่ผ่านการอบรมที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา ซึ่งได้จากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม รวมทั้งสิ้น 156 คน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การหาค่าความถี่ (f ) ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (x̄ ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสอบถามแบบเลือกตอบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ กลุ่มที่ 2 คือ ครูผู้สอนที่ผ่านการอบรมที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา ศูนย์สะเต็มศึกษาตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา) จำนวน 2 โรงเรียน โดยสัมภาษณ์และสังเกตการสอนครูผู้สอนโรงเรียนละ 2 คน จำนวนทั้งสิ้น 4 คน รวมทั้งสัมภาษณ์นักเรียนโรงเรียนละ 5 คน จำนวนทั้งสิ้น 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต ผลการวิจัยพบว่า 1) ครูผู้สอนระดับประถมศึกษาที่ผ่านการอบรมที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา มีการปฏิบัติตามมาตรฐานครูของของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.55 (S.D.=0.76) 2) ครูผู้สอนระดับประถมศึกษาหลังการนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชั้นเรียนประถมศึกษาตามมาตรฐานครูของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนเครือข่ายสะเต็มศึกษา มีระดับการปฏิบัติปานกลาง มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.59 (S.D.=0.78)


ผลการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาโดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม ที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนประถมศึกษา, สุวิมล สาสังข์ Jan 2019

ผลการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาโดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม ที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนประถมศึกษา, สุวิมล สาสังข์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง 2) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มควบคุม 3) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 25 คน และกลุ่มควบคุม 25 คน เครื่องมีที่ใช้ในการทดลอง คือ แผนการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาโดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมแบ่งเป็น แผนการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาโดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมรวมกับเทคนิคการใช้คำถาม จำนวน 10 แผน และแผนการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาโดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว จำนวน 10 แผน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1) ค่าเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการทดลองของกลุ่มทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ค่าเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการทดลองของกลุ่มควบคุมสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ค่าเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง ไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการทดลองของกลุ่มควบคุม


ผลการใช้ชุดกิจกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับการสะท้อนคิดที่มีต่อพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนระดับประถมศึกษา, เชษฐชาตรี นวลขำ Jan 2019

ผลการใช้ชุดกิจกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับการสะท้อนคิดที่มีต่อพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนระดับประถมศึกษา, เชษฐชาตรี นวลขำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรม เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับการสะท้อนคิดที่มีต่อพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนระดับประถมศึกษา ตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่เลือกเข้ากิจกรรมชมรมชวนคิดส์ออนไลน์ ประจำปีการศึกษา 2562 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย คือ 1) ชุดการจัดกิจกรรมชมรม เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน และ 2) แบบสังเกตพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนระดับประถมศึกษา และเกณฑ์การประเมินพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนระดับประถมศึกษา ฉบับก่อนเรียน และหลังเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ผลคะแนนแบบสังเกตพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียน พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ผลการวิเคราะห์คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์จากแบบสังเกตพฤติกรรมการรู้ดิจิทัลของนักเรียนประถมศึกษา พบว่า มีพัฒนาการในระดับที่แตกต่างกัน 3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่สะท้อนพัฒนาการรู้ดิจิทัลของนักเรียนประถมศึกษา พบว่า เมื่อใช้ชุดกิจกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามแนวคิดปรากฏการณ์เป็นฐานร่วมกับการสะท้อนคิด นักเรียนมีพัฒนาการในแต่ละรายพฤติกรรมของการรู้ดิจิทัลที่แตกต่างกัน


ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษาที่มีต่อทักษะการทำงานกลุ่มของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4, เบญจรัตน์ ใจบาน Jan 2019

ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษาที่มีต่อทักษะการทำงานกลุ่มของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4, เบญจรัตน์ ใจบาน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการทำงานกลุ่มของนักเรียนก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษาและ 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่เข้าร่วมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษา ตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 ที่กำลังศึกษาในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษา จำนวน 16 แผน แบบประเมินทักษะการทำงานกลุ่ม และแบบบันทึกพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษา มีทักษะการทำงานกลุ่มหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) พฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีพิพาทเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้กรณีศึกษามีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 5 ทักษะ โดยทักษะที่พัฒนามากที่สุด คือ ทักษะการวางแผน รองลงมา คือ ทักษะการสื่อสาร ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง


ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ที่มีต่อทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขนาดเล็ก, นิดาวรรณ ทองไทย Jan 2019

ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ที่มีต่อทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขนาดเล็ก, นิดาวรรณ ทองไทย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียนและหลังเรียนของผู้เรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ 2) เปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของผู้เรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์กับผู้เรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี จำนวน 24 คนได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบวัดทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ก่อนเรียน-หลังเรียน แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมในการแก้ปัญหา และ แบบบันทึกการสัมภาษณ์แนวทางการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้เรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์หลังเรียนแตกต่างจากก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยคะแนนทักษะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน 2) ผู้เรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์แตกต่างจากผู้เรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยคะแนนทักษะผู้เรียนกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม 3) ผู้เรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวการศึกษาคณิตศาสตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงร่วมกับความสามารถด้านมิติสัมพันธ์มีทักษะในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น


การศึกษากระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากชั้นเรียนอนุบาลสู่ชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1, รัตนมน เกษจุฬาศรีโรจน์ Jan 2019

การศึกษากระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากชั้นเรียนอนุบาลสู่ชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1, รัตนมน เกษจุฬาศรีโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยแบบผสมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพการจัดกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อจากชั้นเรียนอนุบาลสู่ชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียน 4 สังกัด ในเขตกรุงเทพมหานคร และ(2) เพื่อเปรียบเทียบสภาพการจัดกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อจากชั้นเรียนอนุบาลสู่ชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียน 4 สังกัด ในเขตกรุงเทพมหานคร ตัวอย่างในการศึกษาวิจัย ได้แก่ ครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนทั้ง 4 สังกัด ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 302 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ (1) แบบสำรวจการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กประถมศึกษา และ(2) แบบสัมภาษณ์ครูเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กประถมศึกษา ผลการวิจัยพบว่า ครูมีการปฏิบัติงานที่ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กอยู่ในระดับ มากที่สุด (M = 4.54, SD = 0.39) รองลงมาคือด้านการสังเกตพฤติกรรมและประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก (M = 4.42, SD = 0.47) ด้านการชี้แนะโดยตรงเพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และการปรับตัว (M = 4.41, SD = 0.39) และด้านการเป็นแบบอย่างในการประพฤติตนสำหรับเด็ก (M = 4.28, SD = 0.36) อยู่ในระดับมาก และครูมีปฏิบัติงานที่ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม ด้านการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างอิสระน้อยที่สุด (M = 4.03, SD = 0.44)


ผลการใช้ชุดกิจกรรมรูปแบบเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง: กรณีศึกษาสภานักเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, รัตนาวดี แม่นอุดม Jan 2019

ผลการใช้ชุดกิจกรรมรูปแบบเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง: กรณีศึกษาสภานักเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, รัตนาวดี แม่นอุดม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดกิจกรรมรูปแบบเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้งสำหรับสภานักเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ สภานักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1 จำนวน 31 คน โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 2) แบบสัมภาษณ์นักเรียนเกี่ยวกับความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบกึ่งโครงสร้าง เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมรูปแบบเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ย จำนวน 18 กิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก่อนและหลังการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมรูปแบบเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ยด้วยค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานด้วยสถิติทดสอบ (Paired-Sample t-test) วิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยใช้ค่าสถิติแบบ (Independent-sample-t-test) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมรูปแบบเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ยมีความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้งหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนเข้าใจความคิดความรู้สึกของตนเองและรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้ฟังที่ดีและตระหนักถึงคุณค่าของกระบวนการเพื่อนช่วยไกล่เกลี่ยว่ามีความสำคัญกับตนเองในมิติของการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน


ผลของการจัดการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุุคคลโดยใช้เทคนิคผังกราฟิกที่มีต่อทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4, ลักษมี แป้นสุข Jan 2019

ผลของการจัดการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุุคคลโดยใช้เทคนิคผังกราฟิกที่มีต่อทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4, ลักษมี แป้นสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ก่อนและหลังของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนตามความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยใช้เทคนิคผังกราฟิก และ 2) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยใช้เทคนิคผังกราฟิก ตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาในโรงเรียนสายไหม (ทัสนารมย์อนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 93 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยใช้เทคนิคผังกราฟิก แบบทดสอบทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ก่อนเรียนและหลังเรียน ที่มีลักษณะเป็นแบบอัตนัยโดยการเขียนเป็นเรื่องราวเชิงบรรยาย จำนวน 2 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยใช้เทคนิคผังกราฟิก มีทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยใช้เทคนิคผังกราฟิก