Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social Justice Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

2022

Chulalongkorn University

Articles 1 - 9 of 9

Full-Text Articles in Social Justice

แนวทางการกำกับดูแลการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรในยุคดิจิทัล, ชรินทร์ทิพย์ ปั้นสุวรรณ Jan 2022

แนวทางการกำกับดูแลการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรในยุคดิจิทัล, ชรินทร์ทิพย์ ปั้นสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค 2) ศึกษาโครงสร้างการกำกับดูแล การขับเคลื่อนการบังคับใช้นโยบายและมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างความตระหนักและเฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 3) ศึกษาแนวทางการเตรียมแผนการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอนาคต การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาจากเอกสารและการวิจัยภาคสนามโดยการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 22 คน เพื่ออธิบายถึงลักษณะภัยคุกคามทางไซเบอร์ตลอดจนการกำกับดูแลและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ขององค์กร ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาล การไฟฟ้า และการประปา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยและการให้บริการด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญของประเทศ รวมไปถึงภาคการเงินการธนาคารและหน่วยงานด้านยุติธรรม 2) หลายหน่วยงานมีความตระหนักรู้ในการริเริ่มจัดทำนโยบาย แนวทางปฏิบัติและจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ 3) หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน เพื่อลดแรงเสียดทานและความเสี่ยงต่างๆให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรให้ความสำคัญและควรปรับปรุงกฎหมายไซเบอร์ให้มีการบังคับใช้และบทลงโทษที่ชัดเจน ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอาจไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารในกระบวนการธรรมรัฐไทย


เส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา, ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง Jan 2022

เส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา, ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต ปัจจัยเสี่ยง แนวทางป้องกันและแก้ไขการกระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบเล่าเรื่องและใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลผ่านผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่ ผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา จำนวน 3 ราย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา 6 ราย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง จำนวน 15 ราย จากนั้นจึงใช้วิธีการวิเคราะห์แก่นสาระจากเรื่องเล่าโดยใช้โปรแกรมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ATLAS.ti version 22 ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. วิถีชีวิตของผู้กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรามีลักษณะที่เป็นปัจเจก และผ่านเหตุการณ์ในแต่ละช่วงวัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางทางบุคลิกภาพ ได้แก่ การเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก การหลุดออกจากระบบการศึกษา ข้อจำกัดด้านทางเลือกในการประกอบอาชีพ ปัญหาการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม และผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมจนเกิดพฤติกรรมการข่มขืนต่อเนื่อง 2. ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่พฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่องแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ปัจจัยภายใน (แรงกดดันที่นำไปสู่การข่มขืนกระทำชำเรา การขาดความผูกพันทางสังคม ความคิดที่ส่งเสริมการข่มขืนกระทำชำเรา การพัฒนาวิถีชีวิตแบบต่อต้านสังคม ความสนใจทางเพศที่ผิดปกติ และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ) และปัจจัยภายนอก (โอกาสที่เอื้อต่อการข่มขืนกระทำชำเรา การดื่มสุราและเสพสารเสพติด การคบค้าสมาคมที่แตกต่างและพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเรา สื่อลามกและสื่อที่มีเนื้อหากระตุ้นเรื่องเพศ ค่านิยมที่เอื้อต่อการข่มขืนกระทำชำเรา) 3. การป้องกันพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่องจำเป็นต้องเริ่มจากการลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว การสร้างและทำให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาที่ปลอดภัย การสร้างระบบป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและความผิดปกติทางบุคลิกภาพ การให้ความสำคัญกับกระบวนการกลับสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การสร้างความตระหนักทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดและการตกเป็นเหยื่อ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ส่วนแนวทางการแก้ไขพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง ประกอบด้วย การปรับกระบวนทัศน์ที่เน้นการฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนาระบบจำแนกประเภทผู้กระทำผิด การพัฒนาการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนากระบวนการกลับสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การสร้างกลไกการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เหยื่ออาชญากรรมทางเพศ


การป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์แนวต่อสู้: กรณีศึกษาเกม Valorant, ยุววัฒน์ ไตรจิต Jan 2022

การป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์แนวต่อสู้: กรณีศึกษาเกม Valorant, ยุววัฒน์ ไตรจิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์แนวต่อสู้:กรณีศึกษาเกม VALORANT เป็นการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเกมออนไลน์ แสวงหาสาเหตุของการกลั่นแกล้ง และวิธีการป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์ เพื่อนำมาเผื่อแพร่และให้ความรู้กับผู้ที่มีความสนใจที่จะเข้าสู่โลกของสังคมเกมออนไลน์รับทราบถึงสาเหตุ รูปแบบ และวิธีการรับมือการกลั่นแกล้งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเกมออนไลน์ การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรูปแบบกึ่งโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12 คน ผลการศึกษาพบว่าสาเหตุของการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์แนวต่อสู้มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักคือ 1) ปัจจัยด้านทักษะผู้เล่น 2) ปัจจัยเรื่องเพศของผู้เล่น 3) ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้แกล้ง โดยรูปแบบของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นภายในเกมออนไลน์จะเป็นรูปแบบของ 1) การใช้ Text Chat ที่เป็นการพิมพ์ข้อความเพื่อสื่อสาร 2) การใช้ Voice Chat ที่เป็นการใช้ระบบของเกมในการสื่อสารระหว่างผู้เล่นทางเสียง 3) การใช้ระบบการเล่นภายในเกมเพื่อขัดขวางหรือรบกวนการเล่นของผู้เล่น ในส่วนของการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์จะประกอบไปด้วยการรับมือโดย 1) การประณีประณอมกับการกลั่นแกล้ง 2) การปิดช่องทางการสื่อสาร และ 3) การชักชวนเพื่อนหรือคนรู้จักมาร่วมเล่นเกมออนไลน์


ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน : กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ Jan 2022

ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน : กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

“ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน: กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา รูปแบบและกลไกดำเนินงานของระบบเจ้าโคตรที่เป็นงานยุติธรรมเชิงจารีต ประเภทคดีหรือลักษณะข้อพิพาทที่ใช้ยุติปัญหา รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ระบบเจ้าโคตร สภาพการดำรงอยู่ภายในชุมชนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อระบบเจ้าโคตรเมื่อมีการนำงานยุติธรรมชุมชนรูปแบบอื่น ๆ ของภาครัฐเข้ามาใช้ปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนถึงการรับรู้และมุมมองต่อการใช้ระบบเจ้าโคตรของหน่วยงานภาครัฐ และให้ข้อเสนอแนะเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการศึกษาเชิงเอกสาร วิธีการสนทนาแบบกลุ่ม และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 12 คน เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า 1) ระบบเจ้าโคตรมีผู้อาวุโสที่คู่กรณีและชุมชนเคารพนับถือ เชื่อใจ และยอมรับในความประพฤติและการพูดจาให้เหตุผลเมื่อตัดสินความขัดแย้งให้เข้ามาทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยกระบวนการระงับข้อพิพาทจะเป็นแบบเรียบง่ายที่คนกลางพูดคุยซักถามเรื่องราวและเหตุผลจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้วตัดสินความ แล้วจึงให้คู่กรณีตกลงเรื่องการชดใช้เยียวยากันโดยตรงต่อหน้าคนกลางและเริ่มต้นไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ และร่วมกันการสร้างข้อตกลงจากการระงับข้อพิพาทที่คำนึงถึงความต้องการของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย หมู่บ้านเสียวจะใช้ระบบเจ้าโคตรกับความผิดที่มีเด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำ การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ความผิดที่กระทำต่อกันโดยประมาท ความผิดอาญาต่อส่วนตัวซึ่งรวมถึงคดีอนาจาร และความผิดลหุโทษ ระบบเจ้าโคตรมีข้อดี คือ ช่วยรักษาสภาพจิตใจคู่กรณีและดำรงสัมพันธภาพร่วมกันเอาไว้ ช่วยลดภาระของทางราชการและลดความขัดแย้งในสังคม ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายประชาชนไปพร้อมกับลดปัญหาการดำเนินงานซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังประสบอยู่โดยระงับไม่ให้ข้อพิพาทเล็กน้อยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทว่ามีข้อจำกัด ได้แก่ การยึดโยงอยู่กับศรัทธาต่อตัวบุคคลทำให้ระบบขาดเสถียรภาพ อาจมีความเหมาะสมที่จะใช้ในสังคมขนาดเล็ก และไม่มีกฎหมายรองรับผลของการไกล่เกลี่ยหากเจ้าโคตรไม่ใช่ผู้ผ่านการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน 2) ระบบเจ้าโคตรดำรงอยู่อย่างมีสัมพันธภาพกับงานยุติธรรมชุมชนแบบอื่นๆของภาครัฐ โดยการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขการดำเนินงานยุติธรรมชุมชนของภาครัฐ ได้แก่ การมีคนกลางมากกว่าหนึ่งคน และการให้จัดทำเอกสารลายลักษณ์อักษรในกระบวนการระงับข้อพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงตามกฎหมาย 3) ภาครัฐมีการรับรู้ระบบเจ้าโคตรที่ใช้จัดการความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างจำกัด แม้ว่าจะมีมุมมองว่าระบบเจ้าโคตรมีศักยภาพต่อการระงับข้อพิพาทเบื้องต้นแต่ยังมีท่าทีแบ่งรบแบ่งสู้หากจะต้องส่งเสริมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานยุติธรรมชุมชนในพื้นที่ 4) ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยต่อการเชื่อมโยงระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมคือ ควรส่งเสริมให้ชุมชนนำระบบเจ้าโคตรซึ่งเป็นยุติธรรมเชิงจารีตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานยุติธรรมชุมชนในหมู่บ้านอย่างจริงจัง และควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ทางกฎหมายที่จำเป็น และสนับสนุนให้ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกเครือข่ายศูนย์ยุติธรรมชุมชน และเจ้าโคตรรุ่นปัจจุบันอีกจำนวน 2 คนได้รับการอบรมในหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนตามกฎหมาย


การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย, วนัสนันท์ กันทะวงศ์ Jan 2022

การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย, วนัสนันท์ กันทะวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ศึกษาความสัมพันธ์ของการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และศึกษาทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed method) การวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม โดยวิธีการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 400 คน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ตราด และสุราษฎร์ธานี และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเชิงเอกสาร 10 ปีย้อนหลัง พ.ศ. 2556 - 2566 และใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 15 คน ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ องค์กรไม่แสวงหากำไร ผลการศึกษาพบว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การลงทุนรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้เป็นอาชญากรรมในตัวเอง หากแต่มีการใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิดและนำไปสู่การฟอกเขียว การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ 1) ผู้กระทำ 2) กิจกรรมการฟอกเขียว 3) ฟอกเขียวด้วยกลไกคาร์บอน 4) เป้าหมาย 5) ผลกระทบ 6) กระทำด้วยเจตนา โดยผู้กระทำการฟอกเขียว ประกอบด้วย 1) บุคคลธรรมดา มีลักษณะอาชญากรคอปกขาว 2) นิติบุคคล มีลักษณะอาชญากรรมที่กระทำโดยบริษัทหรือธุรกิจองค์กร 3) รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุจากความประมาทจากการประกาศนโยบายของรัฐ หรือการดำเนินการผิดพลาดที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถเกิดใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การใช้ช่องโหว่ของกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การพึ่งพาการชดเชยมากเกินไป และการใช้กลไกการทำธุรกรรมของกลไกคาร์บอน ความสัมพันธ์ของการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จำแนกเป็น 2 ลักษณะคือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนำไปสู่ปัญหาสังคม 2 ลักษณะ ได้แก่ เป็นเครื่องมือการฟอกเขียว และ ก่อให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ในลักษณะห่วงโซ่อาชญากรรม ได้แก่ การฉ้อโกงประชาชน อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม อาชญากรรมคอปกขาว อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมไซเบอร์ การฉ้อโกงภาษี และการฟอกเงิน จากการศึกษาทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตปรากฎว่า มีความสัมพันธ์กับการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับน้อย มีความสัมพันธ์กับไม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก …


วาทกรรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์กับงานยุติธรรมทางอาญาในสังคมไทย, สุวิทย์ รัตนสุคนธ์ Jan 2022

วาทกรรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์กับงานยุติธรรมทางอาญาในสังคมไทย, สุวิทย์ รัตนสุคนธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เกิดการการประกอบสร้างอัตลักษณ์ตัวตนจนลิขสิทธิ์กลายมาเป็นสิทธิผูกขาดจนสามารถนำเอามาตรการทางอาญามาปรับใช้กับผู้ละเมิดสิทธิผูกขาดนี้ได้อย่างกลมกลืน ตลอดจนศึกษาองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้เพื่อสร้างดุลยภาพในการคุ้มครองลิขสิทธิ์และลดความเป็นอาชญากรรมจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสังคมไทยลง โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพจากการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การศึกษาและวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Studies and Discourse Analysis) โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ความเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นผลมาจากแนวคิดสิทธิผูกขาดแห่งลิขสิทธิ์ของประเทศตะวันตกที่ไหลหลากเข้าสู่สังคมไทยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจในยุคทุนนิยมและบริโภคนิยม สังคมไทยได้ยอมรับนับให้ลิขสิทธิ์ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของมนุษย์มีค่าเหนือกว่าทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินำไปสู่การประกอบสร้างวาทกรรมความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนและความสำคัญให้เกิดขึ้น การกระทำใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิผูกขาดนี้เป็นการกระทำที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ นำไปสู่การนำมาตรการทางอาญามาปรับใช้กับผู้ล่วงละเมิดจนเกิดความเป็นอาชญากรรมอย่างล้นหลามขึ้นในสังคมไทย การเกิดวาทกรรมนี้อาศัยบริบท ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมโลกและในสังคมไทย กอปรกับการประกอบสร้างจากมนุษย์โดยตรง ด้วยการใช้มาตรการทางอาญาสร้างความรุนแรง การสร้างความเป็นอื่น การปิดฉลากตีตรา การทำลายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากละเมิด การสร้างความชอบธรรมจากเหตุผลกระตุ้นการสร้างสรรค์และความเจริญทางเศรษฐกิจ ส่วนการกำหนดสร้างนิยามความหมายใหม่ซึ่งเป็นผลจากการแสดงปฏิกริยาตอบโต้ แข็งขืนของผู้ยึดถือวาทกรรมรองนำไปสู่กระบวนการรื้อสร้างใหม่ เพื่อตีแผ่ ขุดคุ้ยเอาสารัตถะองค์ความรู้ ความจริงที่แฝงฝัง ลืมเลือนอยู่ในสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการสื่อสารและกติกาสากลออกมาให้ปรากฏ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยสร้างความสอดคล้องกับสังคมไทย สร้างความสมดุลและช่วยลดความเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสังคมไทย


การพัฒนาแนวทางการป้องกันกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยนิติจิตเวช, กฤตภาส ไทยวงษ์ Jan 2022

การพัฒนาแนวทางการป้องกันกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยนิติจิตเวช, กฤตภาส ไทยวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาของการกระทำผิดซ้ำที่เกิดขึ้นโดย ผู้ป่วยนิติจิตเวช อันได้แก่ สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการกระทำผิดซ้ำ ตลอดจนปัญหา และอุปสรรคของการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยนิติจิตเวชกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเชิง คุณภาพจากทางเอกสารและมีการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรวิชาชีพทางสายสุขภาพจิตสังกัดกรมสุขภาพจิต และบุคลากรวิชาชีพทางสาย สุขภาพจิตสังกัดกรมราชทัณฑ์รวมทั้งสิ้น 7 คน ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาของการกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยจิตเวชมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ความเครียด ความกดดัน และความขับข้องใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย2) การขาดยา เพราะขาดคนช่วยดูแล ตลอดจนคนรอบข้างอย่างครอบครัวหรือชุมชนขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย จิตเวช 3) การตีตราของผู้คนในชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดที่พึ่งและถูกกีดกันออกจากสังคมขณะที่ อุปสรรคในการป้องกันอยู่ด้วยกันดังนี้1) ปัญหาด้านยาเสพติด เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ ยาเสพติดที่มีราคาถูกและหาง่าย 2) ปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน และ 3) ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง เพราะการขาดกำลังคนและรอยต่อของระบบการส่งต่อ ระหว่างสถานพยาบาลกับเรือนจำ สำหรับข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) การพัฒนาสถานพยาบาลที่มีความเฉพาะด้าน เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการบำบัดรักษาและครอบคลุมไปถึงการลงโทษตามแนวทางทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูตลอดจนเป็นการลดรอยต่อของระบบการส่งต่อผู้ป่วยนิติจิตเวช สถานพยาบาลกับทางเรือนจำ 2) การพัฒนากำลังคน เพื่อช่วยลดภาระงานบางส่วน โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยหรือผู้เคยต้องขังที่เคยกระทำความผิดต้องกลับสู่ชุมชน ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้านนี้ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง


การตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์ของผู้สูงอายุ, ธัญพิชชา สามารถ Jan 2022

การตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์ของผู้สูงอายุ, ธัญพิชชา สามารถ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางไซเบอร์ ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางไซเบอร์ และเพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขการตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางไซเบอร์ของผู้สูงอายุ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางไซเบอร์จำนวน 24 คน ผู้มีส่วนในการหลอกลวงจำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือหรือการป้องกันผู้สูงอายุจากการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์จำนวน 9 คน ผลการวิจัยแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่ถูกหลอกลวง ทางไซเบอร์ 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีรูปแบบและปัจจัยที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแตกต่างกัน คือ 1)ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงให้ลงทุน มีรูปแบบการถูกหลอกลวงโดยส่วนใหญ่ถูกชักชวนจากบุคคลที่รู้จักในกลุ่มไลน์ที่เคยลงทุนด้วยกัน หรือพบเห็นโฆษณาเชิญชวนบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีลักษณะของผลตอบแทนที่สูงเป็นสิ่งจูงใจ มีทั้งการให้ค่าตอบแทนจากการแนะนำสมาชิกใหม่ และไม่มีการให้ค่าตอบแทน ซึ่งผู้ที่มีส่วนในการหลอกลวงเป็นทั้งบุคคลธรรมดา และอยู่ในรูปแบบบริษัทจดทะเบียน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่ามี 8 ปัจจัย คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความโลภ ด้านเทคโนโลยี ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือของผู้หลอกลวง ด้านความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ด้านสภาพความเป็นอยู่ ด้านการชักชวนให้ลงทุนจากญาติหรือคนรู้จัก และด้านความเชื่อมั่นใจตนเอง 2)ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ มีรูปแบบการหลอกลวงในการสร้างความตกใจกลัว หรือเกิดความโลภ และมีระยะเวลาในการให้ตัดสินใจจำกัด ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่า มี 4 ปัจจัย คือ ด้านความกลัว ด้านความโลภ ด้านความไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และด้านการอยู่เพียงลำพังขณะเกิดเหตุ 3)ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้หลอกลวงจะสร้างโพรไฟล์ให้ดูมีความน่าเชื่อถือ เปิดร้านขายบนสื่อสังคมออนไลน์ และขายผ่านตลาดกลางออนไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สินค้าที่หลอกลวงมักจะเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงนัก หรือเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่ามี 3 ปัจจัยคือ ความไว้วางใจร้านค้าออนไลน์โดยไม่ได้ตรวจสอบ การส่งเสริมการขายที่ผิดปกติ และราคาสินค้าที่มีราคาไม่สูง 4)ผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกให้รักทางออนไลน์ มีรูปแบบการใช้จิตวิทยาในการหลอกลวง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและใช้ระยะเวลาในการสร้างความไว้วางใจ เลือกเหยื่อจากการดูโพรไฟล์บนสื่อสังคมออนไลน์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่ามี 4 ปัจจัย คือ ความรักความหลง ความน่าเชื่อถือ ด้านความเหงา และความอายของผู้ที่ถูกหลอก โดยการหลอกลวงทั้ง 4 รูปแบบมีปัจจัยร่วมกันคือ ความรู้ไม่เท่าทันการหลอกลวง สำหรับแนวทางการแก้ไขการตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ การสร้างความตระหนักให้กับผู้สูงอายุในการรู้เท่าทันถึงรูปแบบการหลอกลวงทางไซเบอร์ การระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นที่ไม่รู้จัก การให้คำปรึกษาในกลุ่มของครอบครัว การจัดตั้งเครือข่ายกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อเผยแพร่ข่าวสารการหลอกลวงทางไซเบอร์ ความร่วมมือของภาคเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการปิดกันช่องทางการหลอกลวงจากผู้หลอกลวง ตลอดจนหน่วยงานของรัฐในการออกมาตรการทางกฎหมายตลอดจนการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด


ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, พิมพ์ชนก จันทบูรณ์ Jan 2022

ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, พิมพ์ชนก จันทบูรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลเหตุ จูงใจ บทบาท และกระบวนการในการที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้าย ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ผลจากการวิจัยพบว่า มูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายของผู้หญิงสามารถแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่เป็นปัจจัยดึงดูด อันเป็นปัจจัยจากฝั่งกลุ่มก่อการร้าย ได้แก่ กระบวนการชักชวนและจัดหาที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับความมีบารมีและความดึงดูดของผู้นำกลุ่มก่อการร้ายและส่วนที่เป็นปัจจัยผลักดัน อันเป็นปัจจัยที่มาจากแรงกระตุ้นของฝั่งผู้หญิงเอง ได้แก่ อารมณ์ส่วนตัว ศาสนา และการเมือง จนนำไปสู่การเข้าสู่กระบวนการโดยสมัครใจเพื่อไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้าย โดยในต่างประเทศผู้หญิงมีทั้งบทบาทหลักในการก่อเหตุ และบทบาทสนับสนุน อาทิ การทำหน้าที่เป็นแม่ ภรรยา และจัดหาสมาชิก เป็นต้น ซึ่งมักถูกชักจูงผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ขณะที่บางส่วนที่ไม่สมัครใจก็จะตกเป็นเหยื่อเพื่อแสวงประโยชน์ของกลุ่มก่อการร้าย ในส่วนของประเทศไทยนั้น การก่อการร้ายถูกชี้นำไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้หญิงจะมีบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ อาทิ การทำหน้าที่ปฐมพยาบาล และการหารายได้ เป็นต้น โดยถูกชักจูงจากคนในครอบครัวและคนใกล้ตัว ประกอบกับการซึมซับข้อมูลและเรื่องเล่าต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์จากการอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน และเนื่องจากผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายในบทบาทต่าง ๆ อันเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประชาคมระหว่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการก่อการร้ายทั้งในภาพรวมและในมิติของผู้หญิงในการก่อการร้ายเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี ยังพบว่าหลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายจวบจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาหลายทศวรรษ ผู้วิจัยจึงได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงนโยบาย การเพิ่มมาตรการป้องกันในระดับปฏิบัติ ตลอดจนการนำทฤษฎีทางอาชญาวิทยาและแนวทางการป้องกันจากต่างประเทศที่ได้ศึกษาไว้ มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางในการป้องกันและแก้ไขทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทของไทย