Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social Justice Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Sociology

Chulalongkorn University

2021

Articles 1 - 8 of 8

Full-Text Articles in Social Justice

แนวทางการพัฒนาการดำเนินการของ “ศูนย์แคร์” กรมราชทัณฑ์, ปิยะวัฒน์ ปิ่นเจริญ Jan 2021

แนวทางการพัฒนาการดำเนินการของ “ศูนย์แคร์” กรมราชทัณฑ์, ปิยะวัฒน์ ปิ่นเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของศูนย์แคร์ กรมราชทัณฑ์ วิเคราะห์สภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ และแนวทางการพัฒนาการดำเนินการของศูนย์แคร์ กรมราชทัณฑ์ การศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศูนย์แคร์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองพฤตินิสัย ผู้ปฏิบัติงานศูนย์แคร์ในเรือนจำ 4 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางนครสวรรค์ และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 คน หน่วยงานเครือข่ายที่ปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์แคร์ จำนวน 7 คน และผู้พ้นโทษที่ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์แคร์ จำนวน 5 คน ผลการศึกษาพบว่า 1) กระบวนการทำงานของศูนย์แคร์ กรมราชทัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ กระบวนการก่อนปล่อยตัว กระบวนการในวันปล่อยตัว และกระบวนการภายหลังปล่อยตัว 2) ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของศูนย์แคร์ ได้แก่ ปัญหาด้านบุคลากร ปัญหาด้านการให้ข้อมูลของผู้ต้องขัง ปัญหาด้านสังคม และปัญหาด้านข้อกฎหมาย และ 3) แนวทางการพัฒนาการดำเนินการของศูนย์แคร์ คือ การเพิ่มบุคลากรในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ในเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ยังขาดแคลน การให้ผู้พ้นโทษที่ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์แคร์เข้ามาบรรยายถึงประโยชน์ที่จะได้รับในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การจัดทำสื่อหรือกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ตัวอย่างของผู้พ้นโทษที่สามารถกลับตัวได้ เพื่อให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติ และการแก้ข้อกฎหมายเพื่อให้ผู้พ้นโทษได้มีโอกาสประกอบกิจการของตัวเองหรือได้รับการจ้างงานมากขึ้น


การรับมือของภาครัฐกับการก่อการร้ายทางไซเบอร์ในประเทศไทย, นัทธมน เพชรกล้า Jan 2021

การรับมือของภาครัฐกับการก่อการร้ายทางไซเบอร์ในประเทศไทย, นัทธมน เพชรกล้า

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตถูกคิดค้นขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ ปัญหาสำคัญที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือการเพิ่มขึ้นของการโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายทางไซเบอร์ แต่ละประเทศในโลกกำลังเริ่มที่จะจัดการกับข้อกังวลของการก่อการร้ายทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นวิธีการใหม่ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ประเทศไทยเป็นหนึ่งที่กำลังตื่นตระหนกและให้ความสนใจในประเด็นนี้ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ประการจึงทำให้ความก้าวหน้าในการจัดการกับประเด็นนี้มีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การก่อการร้ายทางไซเบอร์ในประเทศไทยและสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต วิจัยนี้จะทบทวนคำจำกัดความของคำว่าการก่อการร้ายทางไซเบอร์เพื่อกำหนดทิศทางการทำนโยบาย และแผนการเตรียมการของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงของการก่อการร้ายทางไซเบอร์ไปในทางที่ถูกต้อง โดยการใช้เครื่องมือวิจัยในการศึกษาเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้ายไซเบอร์ของแต่ละองค์กร เพื่ออธิบายสถานการณ์การก่อการร้ายทางไซเบอร์และวิธีจัดการกับมันในอนาคต ผลการศึกษาพบว่าสถานการณ์การก่อการร้ายไซเบอร์ในประเทศไทยนั้นเป็นเพียงแค่ภัยคุกคามทางไซเบอร์เท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐของไทยก็มีศักยภาพในเรื่องของการออกกฎหมาย การใช้งบประมาณ และการเข้าถึงทางเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยสำหรับประชาชน หากพิจารณาไปยังจุดอ่อนพบว่าประเทศไทยยังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ข้อบกพร่องทางเทคโนโลยี และจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อลดจุดอ่อนที่กล่าวมา รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกระทำความผิดทางไซเบอร์ สร้างช่องทางทางอินเทอร์เน็ตใหม่ โดยที่รัฐสามารถควบคุมช่องทางทางไซเบอร์ได้ เพิ่มหลักสูตรความมั่นคงไซเบอร์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายสำรองกับประเทศอื่น ๆ หรือกับภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อรองรับการโจมตี


กระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล: การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเชิงนโยบาย, กานต์ ศรีสุวรรณ Jan 2021

กระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล: การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเชิงนโยบาย, กานต์ ศรีสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอขั้นตอนของกระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายและพัฒนากระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน โดยเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของพยานหลักฐานดิจิทัล กระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล ประเด็นปัญหาและอุปสรรคจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพจากเอกสาร การลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกและกรณีศึกษา จากการศึกษาพบว่า กระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทย 4 ขั้นตอน มีปัญหาและอุปสรรค คือ 1) การรวบรวมพยานหลักฐาน มีปัญหาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ขณะเกิดเหตุโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข 2) การเก็บรักษาพยานหลักฐาน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดเก็บ และการจัดการพยานหลักฐานดิจิทัล 3) การวิเคราะห์พยานหลักฐานดิจิทัล บุคลากรบางส่วนขาดความเชี่ยวชาญที่จำเป็นเฉพาะด้าน 4) การนำเสนอผลพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล มีการโต้แย้ง หรือขาดน้ำหนักในการรับฟังในชั้นพิจารณาคดี ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ คือ ควรมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทยให้มีมาตรฐานการปฏิบัติที่ชัดเจนในทั้ง 4 ขั้นตอนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล บุคลากรควรได้รับการอบรมเพิ่มเติมในประเด็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพนิติวิทยาศาสตร์ และจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมบทบาทของศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น การวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากทุนการศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต “100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (The 100th Anniversary Chulalongkorn University Fund for Doctoral Scholarship) และทุน 90 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช [The 90th Anniversary of Chulalongkorn University Fund (Ratchadaphiseksomphot Endowment Fund)]


การศึกษาการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย, เชาว์วัศ สกุลวรวิทย์ Jan 2021

การศึกษาการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย, เชาว์วัศ สกุลวรวิทย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง การศึกษาการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย ศึกษาการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนแสวงหาข้อเสนอแนะต่อการป้องกันและปราบปรามการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทยโดยใช้วิธีการในการดำเนินการวิจัย คือ การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 13 คน ประกอบด้วยพนักงานศุลกากร เจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบของการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทยที่พบมากที่สุด คือ การนำเข้าเศษพลาสติก ด้วยการขนส่งทางเรือโดยบรรจุของเสียในตู้สินค้า ซึ่งมีประเทศต้นทางที่สำคัญ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้กระทำผิดใช้วิธีการฉ้อฉลทางเอกสารเป็นหลัก และเป็นการกระทำโดยองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ในขณะที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายก็เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิเช่น ปัญหาช่องว่างของกฎหมายในเรื่องหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น อันนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการงดการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีผู้กระทำผิดในชั้นศาล การนำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาใช้ในการปราบปรามการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย ตลอดจนการจัดการกับของเสียที่เป็นของกลางและของตกค้างด้วยการส่งกลับต้นทาง เป็นต้น


สายลับกับการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในประเทศไทย, กิตติภพ บัวคลี่ Jan 2021

สายลับกับการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในประเทศไทย, กิตติภพ บัวคลี่

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องสายลับกับการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความเป็นมาและบทบาทของสายลับในการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในประเทศไทย พร้อมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่สืบสวนกับบุคคลที่เป็นสายลับในการทำงานปราบปรามยาเสพติด เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำสายลับมาใช้ในการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติด โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ สายลับ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จำนวนทั้งสิ้น 27 ท่าน ผลการศึกษาพบว่า สายลับเป็นกลวิธีในการหาข่าวที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล ตราบจนกระทั่งสังคมมีพัฒนาการทางด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา วิธีการใช้สายลับจึงได้ถูกนำมาปรับใช้ในการทำงานสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยภายในรัฐและการควบคุมอาชญากรรม บทบาทที่คาดหวังของสายลับคือ การกระทำใด ๆ ที่ตอบสนองต่อภารกิจการสืบสวนปราบปรามยาเสพติดตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ ซึ่งเป็นงานที่เจ้าหน้าที่ไม่อาจกระทำได้โดยฐานะของเจ้าหน้าที่เองหรืออาจต้องใช้ระยะเวลานาน บทบาทความสำคัญของสายลับส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของเจ้าหน้าที่แต่ละบุคคลซึ่งมีลักษณะเป็นอัตวิสัย รูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่สืบสวนกับบุคคลที่เป็นสายลับจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่สัมพันธ์ การใช้สายลับได้ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน เป็นต้นว่า สายลับต้องอยู่ในวัฏจักรของการกระทำความผิดและมีโอกาสกลับไปกระทำความผิดซ้ำ และด้วยลักษณะที่เป็นความลับทำให้การตรวจสอบความโปร่งใสของการทำงานเป็นได้ยากอันส่งผลกระทบต่อสังคมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหลายประการ แนวทางพัฒนาการสืบสวนโดยวิธีใช้สายลับที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยจึงควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 หมวด 1 ว่าด้วยการสืบสวน โดยให้ระบุถึงการสืบสวนโดยวิธีใช้สายลับ พัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญาให้ทุกฝ่ายยึดหลักการค้นหาความจริงในเนื้อหา และสร้างมาตรการกำกับดูแลให้ดียิ่งขึ้น


การตกเป็นเหยื่อการซื้อขายผลิตภัณฑ์ด้านความงามผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, จิตลดา สุจิตต์ Jan 2021

การตกเป็นเหยื่อการซื้อขายผลิตภัณฑ์ด้านความงามผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, จิตลดา สุจิตต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปัญหาการซื้อขายผลิตภัณฑ์ด้านความงามผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในสังคมไทย ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อและการกระทำผิด รวมถึงผลลัพธ์ของการตกเป็นเหยื่อ และแนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อ โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 4 กลุ่ม จำนวน 19 คน ประกอบด้วย ผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีและกำกับดูแล และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านความงามบนสื่อออนไลน์ และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยเก็บข้อมูลจากผู้เสียหายด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 27 คน ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาที่พบ ได้แก่ ด้านกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การชดเชยเยียวยา การควบคุมและกำกับดูแลร้านค้าออนไลน์ การควบคุมความปลอดภัยของสินค้ และการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ ค่านิยมการให้คุณค่าความงาม โอกาสในการตกเป็นเหยื่อ การมีส่วนร่วมของเหยื่อ การพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่และพฤติกรรมของเหยื่อ ทั้งนี้ การพัฒนาแนวทางการป้องกันการตกเป็นเหยื่อในเรื่องนี้ ประกอบด้วย การปรับปรุงอัตราโทษทางกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การกำกับดูแลเพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของต่างประเทศในการสืบสวนสอบสวน เป็นต้น


การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในศาลเยาวชนและครอบครัว : ศึกษาการพัฒนามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นหลังฟ้องคดี, อุดม ลาภิเศษพันธุ์ Jan 2021

การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในศาลเยาวชนและครอบครัว : ศึกษาการพัฒนามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นหลังฟ้องคดี, อุดม ลาภิเศษพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในศาลเยาวชนและครอบครัว : ศึกษาการพัฒนามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นหลังฟ้องคดี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนโดยศาลเยาวชนและครอบครัวผ่านการดำเนินการตามมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นหลังฟ้องคดี ที่ได้นำแนวทางการศึกษาการนำนโยบายไปปฏิบัติมาใช้เป็นแนววิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคผ่านปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวจากขั้นตอนการนำไปปฏิบัติ และศึกษาเปรียบเทียบกับกระบวนการของต่างประเทศ นำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการดำเนินการตามมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นหลังฟ้องคดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการนำไปปฏิบัติโดยศาลเยาวชนและครอบครัวได้ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสังเกต การอภิปรายกลุ่ม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ให้ได้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์แบบอุปนัย สร้างข้อสรุปเพื่อตอบคำถามการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินการตามมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาชั้นหลังฟ้องคดี เป็นทางเลือกหนึ่งแทนกระบวนการทางตุลาการปกติ ซึ่งประยุกต์มาจากงานยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ผู้กระทำสำนึกผิดเข้าสู่กระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายผ่านการพูดคุย ให้ได้ผลเชิงสมานฉันท์ที่ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยา และผู้กระทำผิดได้แก้ไขบำบัดฟื้นฟูเพื่อกลับคืนสู่สังคมด้วยดี ซึ่งพบปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติโดยศาลเยาวชนและครอบครัว 5 ประการ คือ ด้านกฎหมาย ด้านคุณภาพและความพอเพียงของทรัพยากร ด้านลักษณะหน่วยงานผู้ปฏิบัติ ด้านการสื่อสารและควบคุมดูแล และด้านสภาพแวดล้อมหรือบริบท โดยสมควรปรับปรุงกฎหมาย จัดสรรทรัพยากร เพิ่มเติมหน่วยงานในองค์กรของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ และติดตามควบคุมดูแล เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเยาวชนอย่างสมดุลกับการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมอย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคม


อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย, นภัสสร เปียจันทร์ Jan 2021

อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย, นภัสสร เปียจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาผลกระทบของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและผลกระทบของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ศึกษาปัจจัยของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยและเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการลักลอบนําเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) โดยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญในหน่วยงานภาครัฐบาลและภาคประชาสังคม จำนวน 10 ราย ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมาจากการที่ประเทศจีนมีประกาศห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลอย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2560 และปัญหาการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่เดิมของประเทศไทย ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีจำนวนสูงมากขึ้น พบการลักลอบโดยการสำแดงเท็จ การดำเนินการส่วนใหญ่มักยุติที่ชั้นศุลกากรโดยไม่เข้าสู่กระบวนการทางอาญาแม้จะมีกฎหมายระบุไว้ การลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพ สังคม ชุมชน และเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับปัจจัยของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยด้านพื้นที่ ปัจจัยด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ปัจจัยด้านการบังคับใช้กฎหมาย และปัจจัยด้านความคุ้มค่า ผลการศึกษาแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการปฏิบัติงาน และการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย/นโยบาย/มาตรการ และการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และการสร้างจิตสำนึก และการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น