Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Social and Behavioral Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2021

Articles 1 - 29 of 29

Full-Text Articles in Social and Behavioral Sciences

การท่องเที่ยวเชิงภูมิรัฐศาสตร์: กรณีศึกษาลาดักห์, ชมพูนุท คชโส Jan 2021

การท่องเที่ยวเชิงภูมิรัฐศาสตร์: กรณีศึกษาลาดักห์, ชมพูนุท คชโส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ลาดักห์เป็นเมืองหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาและเทือกเขาที่สลับทับซ้อนกันในทางเหนือของประเทศอินเดีย เป็นพื้นที่ชายแดนที่รายรอบไปด้วยความขัดแย้งในทางการเมืองระหว่างประเทศจากเพื่อนบ้านอย่างจีนและปากีสถาน โดยเฉพาะจีนที่ได้เกิดการกระทบกระทั่งกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันจากการพยายามแย่งชิงพื้นที่และอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนบางส่วนของลาดักห์ ลาดักห์จึงได้ถูกทำให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลภายใต้ยุคของชวาหะลาล เนห์รู อินทิรา คานธี มานโมฮัน ซิงห์ และนเรนทรา โมดิ ได้นำมาใช้เพื่อสร้างอำนาจให้แก่อินเดียด้วยการทำให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยประโยชน์ที่จะได้จากการท่องเที่ยวก็คือการนำมาซึ่งการพัฒนาโครงสร้างของพื้นที่ให้เจริญ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งและคมนาคม การศึกษา เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ รวมไปถึงการทำให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่านั้นเต็มไปด้วยผู้คนซึ่งก็คือนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศ โดยที่อินเดียใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของลาดักห์ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอันสวยงาม มีทรัพยากรทางรากฐานทางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ชวนค้นหาสำหรับโลกภายนอก เพื่อดึงดูดให้เกิดการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ จากสถานที่ที่ไม่ค่อยมีใครเคยได้ยินชื่อ จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินทางมากขึ้น การดำเนินนโยบายของอินเดียแสดงออกถึงการมีสิทธิดำเนินนโยบายจากเจ้าของพื้นที่ด้วยการลงทุน การพัฒนาในพื้นที่ และเป็นการตอกย้ำถึงเขตแดนและอาณาบริเวณด้วยการใช้พยานอย่างนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางเข้าประเทศอินเดียเพื่อไปยังเมืองลาดักห์ให้เป็นหลักฐานที่ประจักษ์ต่อเวทีโลก แต่เมื่อลาดักห์กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อและมีความสำคัญก็ส่งผลกระทบต่อจีน เพราะนั่นแสดงว่าจีนต้องมีท่าทีที่ระมัดระวังในการดำเนินนโยบายต่อพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดีย หากจีนมีท่าที่เป็นอันตรายและก้าวร้าว ก็จะทำให้ทั่วโลกประณามจีนในฐานะที่ไม่มีสิทธิบุกรุกอาณาเขตของประเทศอื่นและเป็นผู้ทำลายสันติภาพระหว่างประเทศ จีนเองจึงต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบหากจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับลาดักห์ การสร้างให้เกิดการท่องเที่ยวในลาดักห์ของอินเดียจึงไม่ใช่แนวทางการสร้างให้เกิดความร่วมมือตามแนวชายแดนเพื่อลดความขัดแย้งกับจีน แต่เป็นการแสวงหาอำนาจจากข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับความขัดแย้ง ในดินแดนที่มีความมั่นคงจากการพัฒนาและความเจริญ เพื่อป้องกันไม่ให้จีนก้าวล่วงเข้ามารุกล้ำในพื้นที่ของอินเดียอีกต่อไป


สงครามจิตวิทยาของอังกฤษในมลายา 1948 ถึง 1960, เมลีซา อับดุลเลาะห์ Jan 2021

สงครามจิตวิทยาของอังกฤษในมลายา 1948 ถึง 1960, เมลีซา อับดุลเลาะห์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบของอังกฤษในมลายา ได้รับการยอมรับจากผู้ที่ศึกษาเรื่องสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบในปัจจุบันว่า เป็นการรับมือกับสงครามนอกแบบที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษในมลายารู้จักปรับตัวและสร้างวิธีคิดชุดใหม่ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเมืองเป็นหลัก วิทยานิพนธ์นี้วิเคราะห์ให้เห็นว่าการทำปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาในมลายาถือเป็นเงื่อนไขทางการเมืองอันโดดเด่นที่ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษได้รับชัยชนะในสงครามดังกล่าว ผ่านแนวคิดการทำปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาของ เซอร์ โรเบิร์ต ทอมสัน บทเรียนสำคัญจากการทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบในมลายา ชี้ให้เห็นว่าการใช้กำลังไม่ใช่ทางออกสำหรับการทำสงคราม หากแต่เป็น “การขจัดองค์กรของศัตรู” ผ่านปฏิบัติการสงครามจิตวิทยา ในขณะเดียวกันสงครามในมลายายังพิสูจน์ให้เห็นว่า มาตรการทางจิตวิทยา อย่างการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบการใช้ใบปลิวประชาสัมพันธ์นโยบายการมอบตัวและข้อเสนอของรัฐบาล เป็นเครื่องมือที่สามารถโน้มน้าวให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเข้ามามอบตัวและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนสามารถทำลายองค์กรของศัตรูได้อย่างมีนัยสำคัญ กระทั่งจำนวนลดน้อยลงมาก จนกองกำลังที่เหลือต้องถอยออกไปยังเขตชายแดนมลายา-ไทย ทำให้รัฐบาลอังกฤษสามารถยุติสงครามดังกล่าวได้ภายในเวลาเพียง 12 ปี


นโยบายต่างประเทศของจีนต่ออัฟกานิสถาน ในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11, ภัทรพล รัตนวรรณ Jan 2021

นโยบายต่างประเทศของจีนต่ออัฟกานิสถาน ในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11, ภัทรพล รัตนวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษานโยบายต่างประเทศของจีนที่มีต่ออัฟกานิสถาน หลังเหตุการณ์ 9/11 โดยจะศึกษานโยบายของจีนที่เดิมมักจะได้ข้อสรุปว่า เป็นไปเพื่อการแข่งขันอิทธิพลของสหรัฐฯ และมหาอำนาจอื่น ๆ ในอัฟกานิสถานและภูมิภาคนั้น การศึกษาของสารนิพนธ์นี้จะพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นเหตุผลประกอบในการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีน ซึ่งมีทั้งจากปัจจัยภายนอกที่เกิดจากการเข้ามาของสหรัฐฯ จนอาจเป็นการแข่งขันทางอำนาจในระบบระหว่างประเทศ และจากปัจจัยภายในด้านเสถียรภาพและความมั่นคงของจีนเองที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของบูรณภาพแห่งดินแดนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ผลการศึกษาพบว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนต่ออัฟกานิสถานในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 นั้น ปัจจัยภายในเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะบทบาทของจีนในอัฟกานิสถาน เป็นไปเพื่อการจัดการปัญหาด้านความมั่นคงภายใน การเสริมสร้างเสถียรภาพ และเพื่อรักษาฐานอำนาจความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการประสบปัญหาการก่อเหตุรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีนในพื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปกครองประเทศ ด้านสภาวะดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคจนส่งผลให้มีลักษณะของการแข่งขันอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจนั้น เป็นเพียงแต่ผลพลอยได้ที่ตามมาจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนเพื่อปกป้องเสถียรภาพด้านความมั่นคงภายในของจีนเอง ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของจีนที่มีต่ออัฟกานิสถาน


อิทธิพลของสถาบันขงจื่อในมุมมองของสหรัฐอเมริกา, สุรจักษ์ จิรปัญจวัฒน์ Jan 2021

อิทธิพลของสถาบันขงจื่อในมุมมองของสหรัฐอเมริกา, สุรจักษ์ จิรปัญจวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษามุมมองของสหรัฐอเมริกาที่มีต่ออิทธิพลของสถาบันขงจื่อในสังคมอเมริกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดอิทธิพลของสถาบันขงจื่อ ถึงถูกภาคการเมืองอเมริกันมองเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา จากบริบทการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ ซึ่งเป็นการท้าทายมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมของสถาบันขงจื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลอเมริกัน จนนำไปสู่การจำกัดอิทธิพลของสถาบันขงจื่อในสังคมอเมริกัน ดังนั้นผู้เขียนจะนำแนวคิดการพองตัวอย่างผิดปกติของภัยคุกคาม หรือ Threat Inflation มาอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสถาบันขงจื่อที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ทั่วสหรัฐฯ มีโครงสร้างการบริหารงานที่ถูกผูกติดกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจนแยกไม่ออก กอปรกับสถาบันขงจื่อมีอิทธิพลเหนือกว่าสถาบันการศึกษาอเมริกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการในระบบการศึกษาของสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้นำสังคมอเมริกันเริ่มออกมาต่อต้านการมีอยู่ของสถาบันขงจื่อ โดยเฉพาะภาคการเมืองอเมริกันที่พยายามสร้างภาพความน่ากลัวของสถาบันขงจื่อให้ขยายตัวใหญ่ขึ้น จนนำไปสู่การสร้างมุมมองให้กับสังคมอเมริกันว่าสถาบันขงจื่ออาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้รัฐได้รับความชอบธรรมในการดำเนินการจำกัดอิทธิพลของสถาบันขงจื่อในสังคมอเมริกัน


นโยบาย The Great Firewall กับความสำเร็จของ Unicorn จีน, พิมพ์ใจ วรรณพงษ์ Jan 2021

นโยบาย The Great Firewall กับความสำเร็จของ Unicorn จีน, พิมพ์ใจ วรรณพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของจีนที่มีผลต่อความสำเร็จของสตาร์ทอัพจีนระดับยูนิคอร์น (Startup Unicorn) :โดยจากการพิจารณาผ่านคำอธิบายในทฤษฎีรัฐพัฒนา (Developmental state) และแนวคิดด้านการรักษาความมั่นคงของประเทศ ปัจจัยที่สำคัญเกิดจากการที่รัฐบาลจีนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงสนับสนุนด้านพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนโดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมด้านการพัฒนาธุรกิจจนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจสตาร์ทอัพในจีน นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกิดจากการใช้นโยบาย The Great Firewall of China ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการรักษาอำนาจอธิปไตยทางอินเตอร์เน็ต (Internet sovereignty) แต่กลับส่งผลทางอ้อมในการกีดกันบริษัทจากต่างชาติที่เป็นคู่แข่งของบริษัทสตาร์ทอัพในจีน ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพของจีนสามารถเติบโตขึ้นเป็นระดับยูนิคอร์น


ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหราชอาณาจักรต่ออินโดแปซิฟิกภายใต้วิสัยทัศน์โกลบอลบริเตน, วริทธิ์ เสนาวัตร Jan 2021

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหราชอาณาจักรต่ออินโดแปซิฟิกภายใต้วิสัยทัศน์โกลบอลบริเตน, วริทธิ์ เสนาวัตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิสัยทัศน์ Global Britain กำหนดการหันเข้าหาโลกของสหราชอาณาจักรภายหลังการลาออกจากสหภาพยุโรป แผนยุทธศาสตร์องค์รวมทำให้วิสัยทัศน์ Global Britain มีความเป็นรูปธรรมากขึ้น โดยกำหนดให้สหราชอาณาจักรมีบทบาทเชิงรุกที่สำคัญในโลก ซึ่งสหราชอาณาจักรเลือกหันเหจุดเน้นทางยุทธศาสตร์มาสู่อินโดแปซิฟิกเพราะอินโดแปซิฟิกมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองมากมายต่อสหราชอาณาจักร ผ่านการประกอบสร้างความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก สหราชอาณาจักรรับรู้ว่าจีนเป็นภัยคุกคามจากการขึ้นมามีอำนาจและความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้น รวมกับ ความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์และการปฏิบัติของสหราชอาณาจักรและจีน ทำให้จีนถูกปฏิบัติเป็นภัยคุกคามจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรผู้ประกอบสร้างความมั่นคง ซึ่งถูกส่งผ่านไปให้ผู้รับสารคือสาธารณชนสหราชอาณาจักรผ่านการรายงานของสื่อมวลชน ซึ่งสาธารณชนสหราชอาณาจักรยอมรับว่า จีนเป็นภัยคุกคาม ต่อ ความมั่นคงทางสาธาณะสุข ความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นภัยคุกคามต่ออุดมการณ์เสรีนิยมของสหราชอาณาจักร เมื่อประชาชนเชื่อว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์แห่งชาติ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงมีความชอบธรรมในการเข้ามาสู่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างเร่งด่วน เพื่อเข้ามาปกป้องผลประโยชน์และตอบสนองต่อภัยคุกคาม การเข้ามาสู่อินโดแปซิฟิกยังได้รับการส่งเสริมจากพันธมิตรทั้ง ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ซึ่งนำมาสู่ นโยบายต่างๆ ในการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค ทั้งระยะสั้น ได้แก่ การส่งกองเรือ Carrier Strike Group (CSG) และระยะยาว ได้แก่ กรอบการหันเหความสนใจมาสู่อินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Tilt framework)


ญี่ปุ่นกับการนำเสนอ “ภาพลักษณ์การไม่ยอมแพ้” ในโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020, กนกนันท์ ธูปะเตมีย์ Jan 2021

ญี่ปุ่นกับการนำเสนอ “ภาพลักษณ์การไม่ยอมแพ้” ในโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020, กนกนันท์ ธูปะเตมีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาภาพลักษณ์ของชาติที่ญี่ปุ่นต้องการนำเสนอจากการยืนหยัดจัดโอลิมปิกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ โดยเน้นวิเคราะห์ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางการสร้างภาพลักษณ์นั้น อันประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ สาระ และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แล้วเปรียบเทียบกับภาพลักษณ์และแนวทางการสร้างในโตเกียวโอลิมปิกส์ 2020 ยุคก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในโตเกียวโอลิมปิกส์ 1964 จากการศึกษาพบว่าภาพลักษณ์ ‘ไม่ยอมแพ้’ ของญี่ปุ่นใน ค.ศ.2021 เห็นได้จากการนำยุทธศาสตร์การป้องกันโรคและการใช้คำพูดสร้างความเชื่อมั่นของผู้นำไปปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมภายในประเทศและแสดงให้นานาชาติเห็นว่าญี่ปุ่นพร้อมจัดโอลิมปิกอย่างปลอดภัยแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาพลักษณ์ในตอนนั้นคือการฟื้นฟูบูรณะจากภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญในปี ค.ศ.2011 ด้วยยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ‘อาเบะโนมิกส์’ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ได้รับความเสียหาย และภาพลักษณ์ของโตเกียวโอลิมปิกส์ 1964 คือการกลับสู่ประชาคมโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ในฐานะประเทศรักสันติ ด้วยยุทธศาสตร์การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอื่น ๆ และการปลูกฝังความเป็นสากลให้ประชากรญี่ปุ่น ก่อนการจัดโอลิมปิกฤดูร้อนของญี่ปุ่นแต่ละครั้งที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอยู่ในบริบทที่ประเทศต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างมาก โตเกียวโอลิมปิกส์ 1964 เกิดหลังจากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โตเกียวโอลิมปิกส์ 2020 เกิดหลังจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิ ค.ศ.2011 และต้องเลื่อนการจัดงานเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การฟื้นฟูประเทศอย่างไม่ลดละตามนโยบายของผู้นำ ประกอบกับการร่วมด้วยช่วยกันของประชากรญี่ปุ่น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถจัดโอลิมปิกให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลกได้


นโยบายด้านกลาโหมของสหราชอาณาจักรภายใต้โกลบอลบริเทน กับการหันหาสู่ภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก : กรณีศึกษากรอบความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างสหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย, จิรัฏฐ์ เหราบัตย์ Jan 2021

นโยบายด้านกลาโหมของสหราชอาณาจักรภายใต้โกลบอลบริเทน กับการหันหาสู่ภูมิภาค อินโด-แปซิฟิก : กรณีศึกษากรอบความร่วมมือทางกลาโหมระหว่างสหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย, จิรัฏฐ์ เหราบัตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกรอบความร่วมมือ กลไก และผลประโยชน์ทางด้านกลาโหมที่ถูกสร้างร่วมกันระหว่าง สหราชอาณาจักรกับออสเตรเลีย ผ่านนโยบายโกลบอลบริเทนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์จากทฤษฎี สัจนิยมเชิงโครงสร้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลประโยชน์และเป้าหมายสูงสุดของความร่วมมือทางกลาโหมระหว่าง 2 รัฐนี้ รวมถึงพฤติกรรมของสหราชอาณาจักรผ่านนโยบายฯในภูมิภาคแห่งนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง และถูกท้าทายของจีน ซึ่งถือเป็นเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของทั้ง 2 รัฐดังกล่าว งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยอาศัยวิธีการวิจัยเอกสารเป็นหลัก โดยเน้นศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านกลาโหมและความมั่นคงของสหราชอาณาจักร และตัวแสดงที่เกี่ยวข้องที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผลการศึกษาพบว่าการสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศออสเตรเลียผ่านกรอบความร่วมมือทางด้านกลาโหมภายใต้นโยบายโกลบอลบริเทนนั้น ได้สร้างโอกาสในการเปิดกว้างของพื้นที่ปฏิบัติการในทุกมิติทางการรบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการขยายอำนาจอิทธิพลของสหราชอาณาจักรเข้ามาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในเวลาเดียวกันประเทศออสเตรเลียที่ได้แสวงหาประโยชน์ในด้านต่างๆ จากภูมิภาคแห่งนี้ได้รับประโยชน์ทางด้านกลาโหมและความมั่นคงจากการเลือกดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคและสภาพการเมืองโลก จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 รัฐนี้ล้วนได้ประโยชน์จากการร่วมมือกันทางด้านกลาโหมเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตน ซึ่งในเวลาเดียวกันก็เป็นการสร้างแนวร่วมที่แข็งแกร่งในการทัดทานรัฐที่เป็นดั่งภัยคุกคามร่วมในมิติต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการถ่วงดุลอำนาจตามแนวคิดทฤษฎีสัจนิยมเชิงรับอย่างแท้จริง


การรัฐประหารในเมียนมา ปี พ.ศ.2564 กับการเพิ่มขึ้นของปัญหายาเสพติดในไทย, ชนะศึก โรจนพิทยากร Jan 2021

การรัฐประหารในเมียนมา ปี พ.ศ.2564 กับการเพิ่มขึ้นของปัญหายาเสพติดในไทย, ชนะศึก โรจนพิทยากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์งานวิจัยสองข้อคือ หนึ่ง เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่าง การรัฐประหารในเมียนมาในปีพ.ศ. 2564 กับการเพิ่มขึ้นของยาเสพติดในไทย โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลทหาร จนทำให้เกิดสงครามภายในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการผลิตยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อไทย และอีกข้อหนึ่งคือ เพื่ออธิบายแนวทางการดำเนินการของไทยเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่เพิ่มขึ้น สารนิพนธ์นี้มีกรอบแนวคิดการประกอบสร้างความมั่นคงของสำนักปารีสที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาปัจเจกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความมั่นคง ให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติในการรับมือกับปัญหาและความร่วมมือกันในลักษณะต่างๆ การเพิ่มขึ้นของปัญหายาเสพติดในไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมากับทหารเมียนมาซึ่งก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยการที่กองทัพทหารเมียนมาต้องการให้ปกครองภายใต้รัฐบาลเดียว จึงต้องการให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล ทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจัดตั้งกองกำลังต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการใช้กำลังของกองทัพเมียนมา โดยแสวงประโยชน์จากช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความไม่มั่นคงทางการเมือง เพิ่มกำลังการผลิตยาเสพติดขึ้นเพื่อนำรายได้ไปซื้ออาวุธ รวมถึงใช้ยาเสพติดแลกกับอาวุธ เป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพของกองกำลัของตนเอง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ยาเสพติดในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ซึ่งไทยเตรียมดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อแก้ปัญหาและรับมือยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น สำหรับ สารนิพนธ์นี้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทยและหน่วยงานระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นคงและความสงบสุขต่อไป


เสนาภิวัฒน์ของระบบกฎหมายไทยในช่วงระบอบรัฐประหาร 2557 - 2562, ดวงกมล ประดิษฐ์ด้วง Jan 2021

เสนาภิวัฒน์ของระบบกฎหมายไทยในช่วงระบอบรัฐประหาร 2557 - 2562, ดวงกมล ประดิษฐ์ด้วง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการบังคับใช้กฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี พ.ศ.2557 – 2562 ก่อนเลือกตั้ง ตามหลักเสรีประชาธิปไตย ตลอดจนศึกษาการวางฐานทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วิธีการศึกษาดำเนินการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลทางเอกสารทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จากแหล่งข้อมูลในการศึกษามาจากบทบัญญัติกฎหมาย หนังสือ บทความวารสาร งานวิจัยวิทยานิพนธ์ ข้อมูลสถิติหรือเอกสารเผยแพร่ทางราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลสารสนเทศจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ตลอดจนการศึกษากฎหมาย รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและสามารถนำมาปรับใช้กับงานวิจัยชิ้นนี้ ผลการวิจัยสรุปว่า คณะรัฐประหารรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามใช้กฎหมายฉบับต่าง ๆ ดังนี้ ประการแรก การใช้กฎหมายทั่วไป ประการที่สอง การใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และประการสุดท้าย การใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้ามาควบคุมทางการเมือง ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย อีกทั้ง ยังส่งผลต่อการวางรากฐานค้ำจุนให้กับระบอบรัฐประหารในระยะยาวอีกด้วย การวิจัยนี้จึงเสนอให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารดังกล่าวให้มีความสอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย โดยอาศัยหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมควบคู่กัน ในลักษณะเป็นกลไกที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันคือ การใช้กฎหมายเป็นกรอบในการควบคุมและจำกัดการใช้อำนาจ (rule of law) ของคณะรัฐประหารทุกช่วงเวลา เพื่อป้องกันการเข้ามารัฐประหาร รวมถึงคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดจากการใช้อำนาจดังกล่าว ฉะนั้น หากประเทศไทยสามารถทำให้หลักการนิติธรรมสามารถเกิดได้อย่างเป็นรูปธรรม หลักการดังกล่าวนั้นก็จะช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยสามารถทำงานตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ


บทเรียนจากสมรภูมิ: สงครามลับในลาวกับการปรับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อความไม่สงบของไทย, สุริยัน จิ๋วเจริญ Jan 2021

บทเรียนจากสมรภูมิ: สงครามลับในลาวกับการปรับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อความไม่สงบของไทย, สุริยัน จิ๋วเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงหลักนิยมและแนวทางการต่อสู้คอมมิวนิสต์ที่กองทัพไทยได้กำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางการเอาชนะสงครามประชาชน สารนิพนธ์นี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งได้ใช้กรอบแนวคิดการเรียนรู้เชิงนโยบายความมั่นคง มีจุดยืนว่าการเปลี่ยนแปลงหลักนิยมและแนวทางการต่อต้านการก่อความไม่สงบของไทยมีการเรียนรู้เป็นสองชั้น คือ การเรียนรู้ระดับบุคคลและการเรียนรู้ระดับองค์กร ชั้นที่หนึ่งคือประสบการณ์ส่วนบุคคลของนายทหารไทยกลุ่มหนึ่งที่เคยเข้าร่วมสงครามลับในลาวเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่สุดจากประสบการณ์ในสงครามคือการตระหนักถึงข้อจำกัดพื้นฐานและความไม่มีประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ตั้งแนวป้องกันนอกประเทศของสหรัฐอเมริกา และการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่เน้นการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงตามแบบอย่างปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามซึ่งรัฐบาลทหารไทยสมัยนั้นได้นำมาใช้เป็นหลักนิยมความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ในระดับบุคคลถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนสำคัญยิ่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น หลังจากสงครามลับในลาวสิ้นสุดลง นายทหารกลุ่มหนึ่งได้กลับมายังประเทศไทยและได้รับมอบภารกิจการต่อสู้คอมมิวนิสต์ นายทหารกลุ่มนั้นนำโดยพลเอกสายหยุด เกิดผล ได้ปรับเปลี่ยนหลักนิยมและแนวทางการต่อต้านการก่อความไม่สงบขึ้นใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการเอาชนะจิตใจประชาชนและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองโดยใช้มาตรการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง ขยายบทบาทงานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ก่อความไม่สงบที่ยอมมอบตัวให้เข้าร่วมเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ชั้นที่สองคือการเรียนรู้ระดับองค์กรที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลักนิยม เกิดจากปัจจัยสำคัญยิ่งคือการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมากว่าสิบห้าปี ได้สร้างโอกาสสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเปิดโอกาสให้เกิดการปรับหลักนิยมความมั่นคงของชาติ เป็นช่วงเวลาที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ซึ่งให้การสนับสนุนและมีบทบาทหลักต่อการใช้หลักนิยมใหม่ ได้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรี การยกระดับไปสู่หลักนิยมใหม่นี้เกิดขึ้นภายใต้การนำของเขา


ปัญหาและอุปสรรคต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของไทยภายใต้พันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา, ภควุฒิ รามศิริ Jan 2021

ปัญหาและอุปสรรคต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของไทยภายใต้พันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา, ภควุฒิ รามศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของประเทศไทยภายใต้พันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อ 5 ว่าด้วยการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิดภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีภายในกรอบระยะเวลา 10 ปี หลังจากอนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคี โดยจะใช้กรอบทฤษฎีประกอบสร้างนิยม (Constructivism) ในการศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทยที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามพันธกรณีในอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งจากการศึกษา พบว่า อนุสัญญาที่เผยแพร่บรรทัดฐานที่เน้นมนุษย์ (Human-centric) ขัดต่อบรรทัดฐานที่เน้นรัฐ (State-centric) ที่เคยยึดถือกันมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ระบบการปกครองในแต่ละรัฐบาลของประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิดไม่เท่ากัน และเกิดความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติตามบรรทัดฐาน รวมทั้งการไม่มี Norm entrepreneur ภายในประเทศเข้ามาผลักดันประเด็นปัญหานี้ได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้การรับเอาบรรทัดฐานเข้ามากลายเป็นเรื่องของการคล้อยตามทางสังคม (Social conformity) ซึ่งอยู่ในระดับรัฐที่มีการยอมรับแบบผิวเผิน และต้องการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าตนเองให้ความสำคัญและสามารถปฏิบัติตามบรรทัดฐานนี้ได้ เพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเกิดความขัดกันของแนวทาง (Contestation) ในการช่วยเหลือของประเทศสหรัฐอเมริกา ในกระบวนการคิดกับวิธีการกวาดล้างทุ่นระเบิดที่ไม่ตรงกับบริบทของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิประเทศที่แตกต่างจากประเทศฝั่งตะวันตก เช่น พื้นที่สูงชัน ป่ารกทึบ ห่างไกล และยากต่อการเข้าถึง ทั้งนี้ จึงทำให้การปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของประเทศไทยมีประสิทธิภาพน้อย และไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้นได้ภายในกรอบระยะเวลา 10 ปี


ความท้าทายของประเทศไทยในการบังคับใช้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (Iccpr) ต่อเหตุการณ์ชุมนุมในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ.2562-2564., วิลาสินี จันทร์วุฒิวงศ์ Jan 2021

ความท้าทายของประเทศไทยในการบังคับใช้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (Iccpr) ต่อเหตุการณ์ชุมนุมในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ.2562-2564., วิลาสินี จันทร์วุฒิวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษา ความท้าทายของประเทศไทยในการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อที่21 (ICCPR) ต่อเหตุการณ์ชุมนุม ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ.2562-2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกินกว่าความจำเป็นจากเหตุการณ์การชุมนุมในห้วงเวลานี้ และมุ่งเน้นถึงความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพต่อการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรค อันเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการปรับใช้กติการะหว่างประเทศ ว่าเพราะเหตุใดถึงไม่สามารถบังคับใช้กับประเทศไทยได้โดยสมบูรณ์ ต่อการเกิดขึ้นของสถานการณ์ความรุนแรงของผู้บังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพ รวมถึงยังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนอย่างประจักษ์ นับเป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองภายใต้กติการะหว่างประเทศ ดังนั้นผู้เขียนจึงนำแนวคิด ระบอบระหว่างประเทศเชิงซ้อน (International regime complex) มาศึกษาถึงปรากฎการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มิได้มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศไทย เเละการไม่มีอำนาจศูนย์กลางในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ละเมิด ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงละเมิดกติกาดังกล่าวได้ ซึ่งการไม่ยึดโยงกับเจตนารมณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นจุดมุ่งหมายหลักของความร่วมมือระหว่างประเทศนี้ นับเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทย


การแก้ไขปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา: สิงคโปร์กับรัฐที่อยู่นอกกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อความปลอดภัยของการเดินเรือ ค.ศ. 1988, ภูภัฎ โรจน์ตระกูล Jan 2021

การแก้ไขปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา: สิงคโปร์กับรัฐที่อยู่นอกกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อความปลอดภัยของการเดินเรือ ค.ศ. 1988, ภูภัฎ โรจน์ตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินการและความร่วมมือในการจัดการปัญหาโจรสลัดและการปล้นเรือของสิงคโปร์ร่วมกับรัฐชายฝั่งในช่องแคบมะละกา จากการศึกษาด้วยการวิเคราะห์เอกสารและใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับระบอบระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นจุดประสานความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย ถึงผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐ และงานวิจัยได้ข้อค้นพบดังนี้ ประการที่หนึ่ง ปัญหาโจรสลัดเป็นปัญหาที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่อาจแก้ไขให้สำเร็จได้ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศอื่น ๆ เพราะโจรสลัดและการปล้นเรือใช้ทะเลที่เป็นน่านน้ำระหว่างประเทศเป็นเส้นทางปฏิบัติการต่อเป้าหมาย ระบอบระหว่างประเทศที่เรียกว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อความปลอดภัยของการเดินเรือ ค.ศ. 1988 (SUA Convention) จึงได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวางกรอบประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว และประการที่สอง ประเทศที่ตั้งอยู่ในช่องแคบมะละกา มีเพียงสิงคโปร์ที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย มิได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของระบอบระหว่างประเทศดังกล่าว เพราะกังวลว่าอาจกระทบต่ออธิปไตยและอัตตาณัติในการดำเนินนโยบายของตน แต่สิงคโปร์สามารถประสานความร่วมมือกับรัฐชายฝั่งเหล่านี้ได้ ในรูปแบบข้อตกลงระดับทวิภาคี และระหว่างหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติของสิงคโปร์กับของรัฐชายฝั่งแต่ละประเทศ ประการที่สาม แม้ระบอบระหว่างประเทศจะไม่ได้มีผลบังคับต่อประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก แต่ประเทศที่เป็นสมาชิกสามารถปรับหลักการ บรรทัดฐาน และมาตรการดำเนินการหลายอย่างที่ระบอบระหว่างประเทศวางไว้เป็นกรอบอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาเป็นแนวทางประสานความร่วมมือกับประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก ดังเช่นที่สิงคโปร์สามารถประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ความท้าทายในการบูรณาการของชาวจีนใหม่ในกัมพูชา, นันทนัท สุวรรณชัย Jan 2021

ความท้าทายในการบูรณาการของชาวจีนใหม่ในกัมพูชา, นันทนัท สุวรรณชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาความท้าทายของชาวจีนใหม่กับการบูรณาการกับสังคมกัมพูชาภายใต้สภาพแวดล้อมที่เผชิญการกดดันจากภาคประชาชนในประเทศและความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีน โดยจะมุ่งพิจารณาในสามระดับได้แก่ พฤติการณ์ของชาวจีนใหม่กับสังคมกัมพูชา ท่าทีของชาวกัมพูชาต่อการเข้ามาของชาวจีนกลุ่มนี้ และโครงสร้างพื้นฐานสถาบันทางสังคมของกัมพูชาที่เอื้อต่อการปรับตัวของชาวจีนใหม่ จากการศึกษาพบว่า ชาวจีนใหม่ไม่สามารถปรับตัวกับสังคมกัมพูชาได้เท่าที่ควร สาเหตุจากการที่ชาวจีนใหม่เลือกที่จะรักษาอัตลักษณ์ความเป็นจีนและไม่ปฏิสัมพันธ์กับคนกัมพูชา มีพฤติการณ์ไม่เคารพระเบียบกฎหมายท้องถิ่น และก่ออาชญากรรมสร้างความขัดแย้งกับคนกัมพูชา ด้วยเหตุนี้ การเข้ามาของชาวจีนใหม่จึงก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของกัมพูชาและสร้างกระแสต่อต้านชาวจีนในกัมพูชาที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่กัมพูชายังไม่มีโครงสร้างสถาบันทางสังคมเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือดูแลชาวจีนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ประกอบกับในภาวะมิติความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างประเทศของกัมพูชากับจีน เป็นความท้าทายของรัฐบาลกัมพูชาในการกำหนดแนวทางหรือบังคับใช้มาตรการต่อชาวจีนใหม่ได้อย่างเสรีภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการใช้อำนาจรัฐ จนทำให้ผลกระทบจากชาวจีนใหม่มีแนวโน้มก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังทางสังคม


การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันของระบบสาธารณสุขประเทศแคนาดาอันเป็นผลจากการรับมือโรคระบาดระหว่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (H1n1) และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19), พรนภัส วรรัตนานุรักษ์ Jan 2021

การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันของระบบสาธารณสุขประเทศแคนาดาอันเป็นผลจากการรับมือโรคระบาดระหว่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (H1n1) และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19), พรนภัส วรรัตนานุรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเกิดขึ้นของโรคระบาดส่งผลสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศแคนาดาในฐานะที่เป็นสถาบันหนึ่งที่คงอยู่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาสั่นคลอนความมีเสถียรภาพของระบบสาธาณสุขซึ่งหยั่งรากลึกเชิงโครงสร้างมาจนถึงปัจจุบันส่งผลให้สถาบันดังกล่าวต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในระบบสาธารณสุขของแคนาดาเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน โดยเรียกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า ‘การเปลี่ยนแปลงแบบเบี่ยงเบน (Institutional Drift)’ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของประเทศแคนาดาไม่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมาตั้งแต่ต้นและทำได้เพียงรับมือสถานการณ์แบบเฉพาะหน้าเท่านั้น บทความนี้ทำการศึกษาระบบสาธารณสุขของประเทศแคนาดาผ่านกรอบทฤษฎีเส้นทางการพัฒนาของสถาบัน (Path dependence) และการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน (Institutional change) โดยมีการเปรียบเทียบการรับมือกับโรคระบาด 2 โรค ในช่วงเวลาที่ต่างกันระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (H1N1) และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19)


ความยุติธรรมกรุณา : กรณีศึกษาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยถ้ำหลวง พ.ศ.2561, ชนุตร์ นาคทรานันท์ Jan 2021

ความยุติธรรมกรุณา : กรณีศึกษาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยถ้ำหลวง พ.ศ.2561, ชนุตร์ นาคทรานันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ ศึกษาประเด็นเรื่องความยุติธรรมจากกรณีศึกษาการกู้ภัยถ้ำหลวง พ.ศ. 2561 ศึกษาผ่านกรอบแนวคิด "ความยุติธรรมกรุณา" ในการตอบวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ 1. เพื่อศึกษาประเด็นเรื่องความยุติธรรม/ไม่ยุติธรรมที่ปรากฎจากการกู้ภัยถ้ำหลวง 2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับความกรุณาที่ปรากฎจากการกู้ภัยถ้ำหลวง 3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับความกรุณาในเชิงทฤษฎี ผลการศึกษาตอบวัตถุประสงค์ 3 ข้อดังนี้ 1. การกู้ภัยถ้ำหลวงก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับ "ความไม่ยุติธรรมเปรียบเทียบ" 2. ผู้ประสบภัยถ้ำหลวงได้รับความช่วยเหลืออย่างมหาศาลทั้งในด้านทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรวัตถุ ซึ่งถือว่าผู้ประสบภัยได้รับ "ความกรุณา" อย่างสูงจากการกู้ภัย ส่วนผู้ประสบภัยกรณีอื่นเช่นกรณีน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปี พ.ศ.2562 ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรฐานที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็เกิดคำถามเรื่อง "ความไม่ยุติธรรมเปรียบเทียบ" ในแง่ระดับความช่วยเหลือ 3. แนวคิดเรื่อง "ความยุติธรรมกรุณา" อธิบายว่า "ความไม่ยุติธรรมเปรียบเทียบ" เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในกรณีของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยเงื่อนไขสำคัญคือ 1. ความจำเป็นของผู้ประสบภัยในการได้รับความช่วยเหลือ 2. การช่วยเหลือต้องสร้างผลดีต่อสังคม มากกว่าสร้างผลเสียต่อสังคม 3. ผู้ไม่ได้รับความกรุณา จำเป็นต้องได้รับความยุติธรรมในตัวเอง


Thai Foreign Policy Amid The Us-China Competition Of Vaccine Diplomacy Between 2020 And 2021, Vajaris Hemmaphat Jan 2021

Thai Foreign Policy Amid The Us-China Competition Of Vaccine Diplomacy Between 2020 And 2021, Vajaris Hemmaphat

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research seeks to analyze Thai foreign policy’s posture toward the United States and China amid the competition of vaccine diplomacy in the Southeast Asia region between 2020 and 2021. This research focuses on the conduct of Thai foreign policy by applying ‘hedging strategy’ as a main theoretical framework in explaining how Thailand managed to diversify its COVID-19 vaccine portfolios, in order to have a clearer understanding of whether Bangkok can perform a well-crafted hedging strategy or Thai’s traditional diplomacy has lost ground in its default setting. This research has been done by examining official documents from the Thai government, …


สงครามโลกครั้งที่ 1 กับการระบุตัวตนของสยามในสังคมระหว่างประเทศ, ศิวพล ชมภูพันธุ์ Jan 2021

สงครามโลกครั้งที่ 1 กับการระบุตัวตนของสยามในสังคมระหว่างประเทศ, ศิวพล ชมภูพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาสงครามโลกครั้งที่ 1 กับการระบุตัวตนของสยามในสังคมระหว่างประเทศผ่านกรอบแนวคิดเรื่องสังคมระหว่างประเทศของสำนักอังกฤษและแนวคิดเรื่องการระบุตัวตนของชาติ จากการศึกษาพบว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดสัมฤทธิผลสูงสุดในกระบวนการระบุตัวตนของสยามในสังคมระหว่างประเทศอันเป็นผลมาจากการแสดงบทบาทระหว่างประเทศของการเป็นรัฐสมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นการแสดงผลของการผสมผสานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสถาบันระหว่างประเทศให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง การระบุตัวตนของสยามจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ถูกนำมาใช้เป็นโอกาสในการเมืองภายในด้วยการเสริมสร้างความสำคัญให้แก่ระบอบราชาธิปไตยและการยกพระราชสถานะของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สูงเด่นยิ่งขึ้น


การดำเนินนโยบายความมั่นคงของฟิลิปปินส์ต่อจีนในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ค.ศ.2010-2016, ณัฐเชษฐ์ เสงี่ยมพงษ์ Jan 2021

การดำเนินนโยบายความมั่นคงของฟิลิปปินส์ต่อจีนในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ค.ศ.2010-2016, ณัฐเชษฐ์ เสงี่ยมพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาการดำเนินนโยบายของประเทศจีนในการขยายอาณาเขตทางทะเลบริเวณทะเลจีนใต้ และศึกษาการดำเนินการของประเทศฟิลิปปินส์หลังจากการดำเนินการของจีนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทางทะเล เพื่อนำมาสู่งการวิเคราะห์การกระทำของฟิลิปปินส์หลังถูกกระทบด้านความมั่นคงจากการขยายอิทธิพลของจีนในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ ผลวิจัยพบว่าจากการที่จีนยังคงยืนยันการอ้างสิทธิ์ในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ เป็นความพยายามที่ต้องการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทะเลจีนใต้ อีกทั้งต้องการขยายเศรษฐกิจประเทศของตนเพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ Chinese Dream ซึ่งมีความต้องการครอบครองเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ เพื่อเป็นประตูทางทะเลของประเทศออกสู่มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลกระทบด้านความมั่นคงต่อประเทศพิพาทอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้การดำรงชีวิตของประชาชนฟิลิปปินส์มีความไม่ปลอดภัยจากการดำรงชีพตามวิถีเดิมของตน อีกทั้งประเด็นทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อน ฟิลิปปินส์จึงต้องมียุทธศาสตร์ขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการขยายอิทธิพลทางทะเลของประเทศจีน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันตน อีกทั้งได้พยายามสร้างพันธมิตรเพื่อสร้างความสมดุลขึ้นในระบบระหว่างประเทศ โดยได้ใช้ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งงานวิจัยนี้จะทำให้เห็นความพยายามของฟิลิปปินส์ที่ดำเนินนโยบายในการป้องกันประเทศในการถูกผลกระทบจากประเทศมหาอำนาจที่พยายามขยายอิทธิพล จนกระทบต่อความมั่นคงของประเทศตนเองแล้วกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวอย่างในการดำเนินการที่ดีในการป้องกันประเทศ


การดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวันในฐานะเครื่องมือในการสร้างมิตรประเทศ, ณัชพล สังขะโห Jan 2021

การดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวันในฐานะเครื่องมือในการสร้างมิตรประเทศ, ณัชพล สังขะโห

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามว่าไต้หวันพยายามถ่วงดุลอำนาจจีน โดยใช้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) เป็นเครื่องมืออย่างไร จากการศึกษาพบว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) เป็นเครื่องมือของไต้หวันในการถ่วงดุลอำนาจจีนแบบละมุนละม่อม (soft balancing) โดยผลักดันให้เกิดการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ “มิตรประเทศ” เป้าหมายยุทธศาสตร์ของไต้หวัน 18 ประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคคลเป็นศูนย์กลาง (people-centered) และแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรระหว่างไต้หวันกับประเทศเป้าหมายยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ เช่น การค้า การศึกษา การเกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์ สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนและเป็นการสร้าง “แนวร่วม” ที่มีผลประโยชน์และเป้าหมายร่วมกัน (like-minded nations) เนื่องจากมิตรประเทศต้องพึ่งพาเศรษฐกิจกับไต้หวัน จึงต้องรักษาผลประโยชน์ของตน อีกทั้งเป็นการรวมกลุ่มของมิตรประเทศค่านิยมทางการเมืองร่วมกันจากการเป็นรัฐประชาธิปไตย จึงเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความมั่นคงของไต้หวันในการยับยั้งจีนไม่ให้คุกคามไต้หวันจากหลักการจีนเดียวและเป็นการรักษาสถานะเดิมที่เป็นอยู่ของไต้หวัน


อุตสาหกรรมภาพยนตร์กับ Soft Power ของจีน: กรณีศึกษาภาพยนต์ของ เจียจางเค่อ, ธนาภัทร ธานีรัตน์ Jan 2021

อุตสาหกรรมภาพยนตร์กับ Soft Power ของจีน: กรณีศึกษาภาพยนต์ของ เจียจางเค่อ, ธนาภัทร ธานีรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายและข้อจำกัดในการเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนผ่านภาพยนตร์ ศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของการดำเนินนโยบายเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนผ่านภาพยนตร์ และศึกษาผลกระทบต่อภาพลักษณ์จีนในเวทีระหว่างประเทศต่อการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพลักษณ์ทางสังคมจีน ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบวิจัยเชิงเอกสารเป็นหลัก โดยเน้นนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน และผลงานภาพยนตร์ของ เจีย จางเค่อ 3 เรื่อง ได้แก่ Still Life (2006), 24 City (2008) และ A Touch of Sin (2013) มาประกอบการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า บทบาทภาพยนตร์อาจเป็นเครื่องมือของรัฐในการทำหน้าที่ในแง่ของ Soft Power ที่รัฐพยายามพัฒนาภาพลักษณ์ของชาติ แต่ผลลัพธ์จากการที่จีนพยายามทุ่มเทกับการใช้ทรัพยากรดังกล่าวไม่สามารถทำให้ประเทศในเวทีระหว่างประเทศคล้อยตามได้เสมอไป เพราะภาพยนตร์ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือในการส่งเสริมภาพลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของประเทศให้ดีขึ้น (เพื่อจุดประสงค์การเพิ่ม Soft Power) ดังนั้นการผลิตหรือส่งออกภาพยนตร์ที่มากขึ้นไม่ได้หมายถึงการเพิ่ม Soft Power เสมอไป ซึ่งเจียได้แสดงให้เห็นว่าบทบาทของภาพยนตร์เป็นได้มากกว่าแค่เครื่องมือของรัฐเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและการสร้างอำนาจให้กับรัฐ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่น่าดึงดูดอาจสวนทางกับภาพลักษณ์ที่ดีที่รัฐพยายามส่งเสริม หรือสิ่งที่น่าดึงดูดกลับกลายมาจากภาพยนตร์ไม่ใช่เพราะแรงดึงดูดจากประเทศนั้น


นโยบายรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อการพัฒนาสิทธิสตรีในสมัยประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ระหว่าง ค.ศ. 2001 - 2014, มุกขรินทร์ ลาวัณลักขณา Jan 2021

นโยบายรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อการพัฒนาสิทธิสตรีในสมัยประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ระหว่าง ค.ศ. 2001 - 2014, มุกขรินทร์ ลาวัณลักขณา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความวิจัยนี้ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อการพัฒนาสิทธิสตรีในสมัยประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ภายหลังการล่มสลายของตาลีบันระหว่าง ค.ศ. 2001 – 2014 โดยใช้หลัก “วัฏจักรของบรรทัดฐาน” (Norm Life Cycle) ภายใต้แนวคิดพลวัตรของบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (International Norm Dynamics) เป็นกรอบวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อการพัฒนาสิทธิสตรี ใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการดำเนินชีวิตในสังคมและสิทธิทางการเมือง ด้านการศึกษาและการทำงาน และด้านสาธารณสุข เพื่อวิเคราะห์ว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานในสมัยประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ระหว่าง ค.ศ. 2001 – 2014 ไม่สามารถดำเนินนโยบายส่งเสริมสิทธิสตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทความวิจัยนี้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อตกลงระหว่างประเทศ เอกสารราชการของอัฟกานิสถาน หนังสือและบทความจากวารสารทางวิชาการที่นำเสนอเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อการพัฒนาสิทธิสตรีในสมัยประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ระหว่าง ค.ศ. 2001 – 2014 รวมถึงรายงานสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของบทความวิจัยนี้ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานไม่สามารถดำเนินนโยบายพัฒนาสิทธิสตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ปัจจัยระดับรัฐบาลและระดับสังคม


นโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ต่อจีนสมัยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ในระหว่าง ค.ศ.2016-2021: ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง, กมลรัตน์ สุขิโต Jan 2021

นโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ต่อจีนสมัยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ในระหว่าง ค.ศ.2016-2021: ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง, กมลรัตน์ สุขิโต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ศึกษาแนวคิดของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงกับผลประโยชน์ของชาติและเพื่อทำความเข้าใจบริบทการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาว่าเพราะเหตุใดนโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ต่อจีนในสมัยของนายดูเตอร์เตจึงเปลี่ยนท่าทีจากแข็งกร้าวเป็นประนีประนอม ในระหว่าง ค.ศ.2016-2021 สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งเอกสารวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลข่าวในสื่อต่างๆ โดยใช้กระบวนการศึกษาสภาพทางจิตวิทยาการเมืองของผู้นำโลก (The Political Psychology of World Leaders) ของ วาลเลอรี่ ฮัดสัน (Valerie Hudson) ที่อธิบายถึงพฤติกรรมการตอบสนองทางจิตวิทยาของผู้นำที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลการศึกษาพบว่านายดูเตอร์เตปรับท่าทีหลายครั้งในนโยบายต่างประเทศต่อจีน เริ่มจากสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์มากขึ้น พยายามมีส่วนร่วมกับจีนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และลดแรงกดดันจากกรณีพิพาททางทะเลในอดีตเมื่อเทียบกับจุดยืนที่คงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาไว้ แต่ก็แสดงจุดยืนในเรื่องกรณีพิพาททางทะเลว่าฟิลิปปินส์จะไม่ยอมรับการดำเนินการใดๆของจีนที่จะล้ำเส้นในพื้นที่สิทธิ์ทางทะเล ความคิดและการแสดงออกในนโยบายของนายดูเตอร์เตนั้นมาจากแนวคิดชาตินิยมของเขาและความเข้าใจรับรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเองในอดีตต่อสถานการณ์ต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ที่นำมาตีความการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยเลือกระบุตนเองให้เข้ากับบทบาท สถานภาพที่ต้องการ เลือกเป้าหมาย เลือกวิธีกระทำ เพื่อให้บรรลุถึงความพอใจในความเป็นตัวตนของตนเองเพราะต้องการให้ประชาชนยอมรับว่านโยบายต่างประเทศที่ดำเนินต่อจีนนั้นเหมาะสมและชอบธรรมภายใต้การเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ของเขา


การผลักดันนโยบายกับการพัฒนาสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (Lgbtqi+) ในญี่ปุ่น ช่วงปี 2015 – 2021, รัตติกาล นุระธนะ Jan 2021

การผลักดันนโยบายกับการพัฒนาสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (Lgbtqi+) ในญี่ปุ่น ช่วงปี 2015 – 2021, รัตติกาล นุระธนะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความวิจัยนี้ศึกษาถึงแนวทางหรือกลยุทธ์ในการผลักดันนโยบายกับการพัฒนาสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ในญี่ปุ่น โดยใช้กรอบการวิเคราะห์แนวคิดเรื่องแนวทางการผลักดันนโยบาย (policy entrepreneurship) เพื่อมุ่งตอบคำถามว่า ในช่วงปี 2015 – 2021 ญี่ปุ่นมีแนวทางในการผลักดันเรื่องการยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ กับการพัฒนาสิทธิของกลุ่ม LGBTQI+ อย่างไร บทความวิจัยนี้เสนอว่าญี่ปุ่นมีแนวทางในการผลักดันการยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ กับการพัฒนาสิทธิของกลุ่ม LGBTQI+ โดยแบ่งออกเป็นสองแนวทาง คือ 1) ผู้ผลักดันนโยบาย (policy entrepreneurs) ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นต่างรณรงค์ รวมกลุ่มจัดกิจกรรมเพื่อผลักดันให้มีการยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ โดยอาศัย “ช่องโอกาส” (windows of opportunity) เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้เกิดการผลักดันการยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ 2) การใช้แรงกดดันจากการที่องค์กรระหว่างประเทศ หรือนานาชาติต่างยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ เป็นเหตุผลข้ออ้างผลักดันให้ญี่ปุ่นดำเนินการเพื่อเป็นที่ยอมรับตามบรรทัดฐานสากล ในเรื่องนโยบายการยอมรับกลุ่ม LGBTQI+ ในประเทศ โดยใช้กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review หรือ UPR) เป็นเครื่องมือกดดันเพื่อให้ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิทธิต่อกลุ่ม LGBTQI+ มากขึ้นจนเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมญี่ปุ่น


ทิศทางความร่วมมือด้านพลังงานของไทยกับญี่ปุ่นในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน, เวทิศ ธนกรดิษฐ์ Jan 2021

ทิศทางความร่วมมือด้านพลังงานของไทยกับญี่ปุ่นในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน, เวทิศ ธนกรดิษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะตอบคำถามว่า แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโลก ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างไร จากการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโลก ทำให้ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายด้านพลังงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างนโยบายด้านพลังงานที่สอดรับกับกรอบการเปลี่ยนผ่านพลังงานโลก โดยญี่ปุ่นได้วางตัวเองเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานในภูมิภาคเอเชีย และเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีแก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาค ลักษณะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการพึ่งพิงระหว่างประเทศ และอาจเป็นเครื่องมือกำหนดความร่วมมือด้านพลังงานอื่น ๆ ของทั้งสองต่อไปในอนาคต


ความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับจีนระหว่าง ค.ศ 2018-2021: ศึกษากรณีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง, ประดับพร วงศ์ปัญญา Jan 2021

ความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับจีนระหว่าง ค.ศ 2018-2021: ศึกษากรณีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง, ประดับพร วงศ์ปัญญา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ของอียิปต์ผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (The Belt and Road Initiative: BRI) โดยใช้แนวคิดภูมิรัฐศาสตร์แบบดั้งเดิม จากการศึกษาพบว่า อียิปต์ตระหนักดีว่า ลักษณะภูมิประเทศของอียิปต์เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยผลักดันโครงการ BRI ให้สำเร็จ รวมถึงได้ปฏิรูปมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีนและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จีนและอียิปต์เห็นพ้องต้องกันว่า โครงการ BRI กับการพัฒนาตามวิสัยทัศน์อียิปต์ ค.ศ. 2030 (Egypt Vision 2030) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจีนได้เข้ามาลงทุนในเศรษฐกิจอียิปต์ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการสำคัญของ BRI และวิสัยทัศน์อียิปต์ ค.ศ. 2030 เช่น เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าคลองสุเอซ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมคลองสุเอซ และโครงการเมืองหลวงแห่งใหม่ ทำให้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง สามารถสร้างงานให้กับประชาชน แต่อียิปต์ไม่ได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองจากโครงการ BRI มากเท่าที่ควร เพราะตลอดระยะเวลา 8 ปีที่อียิปต์เข้าร่วมโครงการ BRI จีนลงทุน ในอียิปต์ภายใต้โครงการ BRI เพียง 4 โครงการ และไม่ได้เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในอียิปต์ รวมถึงอียิปต์ยังคง มีข้อท้าทายความสัมพันธ์กับจีนในเรื่องเขื่อนแกรนด์เอธิโอเปียเรเนซองส์ ในเอธิโอเปีย นอกจากนี้ อียิปต์ยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา เพราะหากพึ่งพาจีนมากเกินไป สหรัฐอเมริกาอาจจะพิจารณาลดหรือระงับงบประมาณความช่วยเหลือทางการทหาร


การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ กับการสร้างสมดุลของไทยหลังการรัฐประหารปี ๒๐๑๔, กังสดาล สุจเร Jan 2021

การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ กับการสร้างสมดุลของไทยหลังการรัฐประหารปี ๒๐๑๔, กังสดาล สุจเร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความวิจัยฉบับนี้วิเคราะห์อิทธิพลของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนในศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหารปี ๒๐๑๔ ในฐานะปัจจัยภายนอก และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยตามยุทธศาสตร์การประกันความเสี่ยง (Hedging) ในการสร้างสมดุลระหว่างอิทธิพลมหาอำนาจดังกล่าวในฐานะปัจจัยภายใน ว่าทั้งสองส่วนนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. โดยเสนอผ่านกรอบแนวคิดการประกันความเสี่ยง ของ Evelyn Goh และการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเครื่องมือทางการทูต (Procurement Diplomacy) เพื่อมุ่งตอบคำถามว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุลภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไร ซึ่งเมื่อศึกษาจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับระเบียบและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการจัดหายุทโธปกรณ์ของไทย รวมถึงบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. แล้วพบว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุลภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้เกิดความหลากหลายของยุทโธปกรณ์ในชนิดเดียวกัน และกระทบต่อขีดความสามารถของกำลังรบ ทร. ซึ่งเป็นผลการวิจัยที่แสดงในบทความฉบับนี้


นโยบายการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ธำรงศักดิ์ สุนทรภัค Jan 2021

นโยบายการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ธำรงศักดิ์ สุนทรภัค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อยกระดับขีดความสามารถของตนในมิติต่าง ๆ ให้โดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น โดยใช้กรอบการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับรัฐ และระดับระหว่างประเทศ เป็นกรอบแนวคิดหลัก ผู้วิจัยพบว่าปัจจัยระดับบุคคลคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุด โดยเฉพาะ Mohammed bin Zayed al-Nahyan มกุฎราชกุมารแห่งรัฐอาบูดาบีที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการบริหารราชการแผ่นดินและมีอิทธิพลต่อกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา ทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศจากการวางตัวเป็นกลางและมุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศเป็นนโยบายต่างประเทศที่พยายามมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การทูต เศรษฐกิจ เทคโนโลยี พลังงาน และการทหาร ให้โดดเด่นอย่างชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับประเทศในระยะยาวท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น