Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Life Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chemistry

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

Publication Year

Articles 1 - 12 of 12

Full-Text Articles in Life Sciences

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อสมบัติของยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมียม, สายสุณี จิตกล้า Jan 2022

การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อสมบัติของยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมียม, สายสุณี จิตกล้า

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ถึงแม้ว่าสมบัติเชิงกลของยางแผ่นรมควันจะเหนือกว่ายางแห้งชนิดอื่นก็ตาม แต่ความไม่สม่ำเสมอในคุณภาพของยางส่งผลให้ปริมาณการใช้งานยางแผ่นรมควันในอุตสาหกรรมล้อยางลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทยได้กำหนดมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันขึ้นเพื่อควบคุมและให้ได้ยางแผ่นรมควันที่มีสมบัติต่าง ๆ คงที่ ซึ่งยางที่ได้จะเรียกว่า “ยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมียม” หรือ “ยางแผ่นรมควันเกรด P” เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ส่งผลให้สมบัติต่าง ๆ ของยางแผ่นรมควันแปรปรวนดียิ่งขึ้น งานวิจัยนี้ได้ศึกษาถึงอิทธิพลด้านภาวะการผลิต ช่วงฤดูกาลกรีดยาง รวมไปถึงพิ้นที่ปลูกยางต่อสมบัติทั้งทางกายภาพและเชิงกลของยางแผ่นรมควัน ผลการทดลองที่ได้พบว่า เมื่อใช้น้ำยางที่มีปริมาณเนื้อยางแห้งแตกต่างกันและใช้ความเข้มข้นกรดฟอร์มิกในการจับตัวเนื้อยางแตกต่างกัน สมบัติของยางแผ่นรมควันจะแตกต่างกันไป โดยพบว่าเมื่อปริมาณเนื้อยางแห้งและความเข้มข้นกรดฟอร์มิกเพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าสิ่งระเหยในยางแผ่นรมควันเพิ่มขึ้น เนื่องจากก้อนยางที่ได้จากการจับตัวของเนื้อยางด้วยกรดค่อนข้างแข็ง ทำให้เมื่อนำไปรีดเป็นแผ่นบางทำได้ยาก น้ำในเนื้อยางจึงระเหยออกมาได้ไม่ดี เมื่อเพิ่มปริมาณเนื้อยางแห้งจะทำให้ค่า PO, PRI และความหนืดมูนีเพิ่มขึ้น การแปรปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางจาก 20% (ภาวะใช้ในการผลิตยางแผ่นรมควันพรีเมียม) เป็น 18, 20 และ 25% โดยน้ำหนัก ส่งผลให้ความทนต่อแรงดึงของยางแตกต่างกันมากที่สุดอยู่ที่ 2.1 MPa การเพิ่มความเข้มข้นกรดฟอร์มิกจะส่งผลทำให้ค่า PO, PRI และความหนืดมูนีลดลง การแปรความเข้มข้นกรดฟอร์มิกจาก 4% (ภาวะที่ใช้ในการผลิตยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมียม) เป็น 2, 3, 5, 8 และ 10% โดยปริมาตร ส่งผลให้ความทนต่อแรงดึงของยางแตกต่างกันมากที่สุดอยู่ที่ 3.2 MPa เมื่อพิจารณาฤดูกาลกรีดยางแตกต่างกัน น้ำยางที่ได้จากช่วงการผลัดใบของต้นยางจะมีปริมาณเนื้อยางแห้งในน้ำยางลดลง และปริมาณธาตุต่างๆ ในยางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเถ้าและไนโตรเจนในยางแผ่นรมควันแตกต่างกัน ค่าความหนืดมูนีของยางแผ่นรมควันขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลกรีดยางค่อนข้างชัดเจน โดยยางแผ่นรมควันที่เตรียมจากน้ำยางที่ได้จากการกรีดในช่วงกรีดปกติจะมีความหนืดมูนีที่สูงกว่ายางแผ่นรมควันที่เตรียมจากน้ำยางที่ได้จากการกรีดในช่วงก่อนปิดกรีด ยางแผ่นรมควันที่ได้จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณเถ้ามากกว่าที่ได้จากภาคใต้ ซึ่งปริมาณเถ้าเกิดจากปริมาณสารและแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ยางที่ได้จากทั้งสองบริเวณที่มีค่า PO , PRI และ ความหนืดมูนี ไม่ได้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด


การหาภาวะเหมาะที่สุดในการะบวนการผลิตยางรีเคลมสำหรับขยะยางที่ประกอบด้วยยางธรรมชาติและยางอีพีดีเอ็ม, ภัสรา สุวรรณสิงห์ Jan 2022

การหาภาวะเหมาะที่สุดในการะบวนการผลิตยางรีเคลมสำหรับขยะยางที่ประกอบด้วยยางธรรมชาติและยางอีพีดีเอ็ม, ภัสรา สุวรรณสิงห์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาภาวะที่เหมาะสมของเครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่สำหรับเตรียมยางรีเคลมจากขยะยาง 2 ชนิด ประกอบด้วยขยะยางที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักและขยะยางอีพีดีเอ็ม ผลการวิเคราะห์การสลายตัวด้วยความร้อนโดยเทคนิคเทอร์โมกราวิเมทริกแอนนาไลซิส พบว่าขยะยางที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักและขยะยางอีพีดีเอ็มมีสัดส่วนของเนื้อยางอยู่ที่ร้อยละ 53.5 และ 56.0 ตามลำดับ สำหรับการเตรียมยางรีเคลมจากขยะยางที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักภาวะของเครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ที่ได้ทำการศึกษาคือ ความเร็วรอบในการหมุนของสกรูที่ 150, 200 และ 250 rpm โดยแต่ละความเร็วรอบจะใช้อุณหภูมิโซนผสมที่ 200, 225 และ 250 องศาเซลเซียส ในขณะที่การเตรียมยางรีเคลมจากขยะยางอีพีดีเอ็มจะใช้ความเร็วรอบในการหมุนของสกรูเหมือนกับกรณีแรก แต่อุณหภูมิโซนผสมจะอยู่ที่ 250, 275 และ 300 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มความเร็วรอบในการหมุนของสกรูและอุณหภูมิโซนผสมส่งผลทำให้ยางรีเคลมทั้งสองชนิดมีความหนืดมูนีลดลง เมื่อนำยางรีเคลมที่ได้ไปขึ้นรูปตามมาตรฐาน ISO/TS 16095:2021 และทดสอบสมบัติเชิงกล พบว่ายางรีเคลมจากขยะยางที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักที่เตรียมที่ภาวะความเร็วรอบในการหมุนของสกรูที่ 250 rpm และอุณหภูมิโซนผสมที่ 200 องศาเซลเซียส และขยะยางอีพีดีเอ็มที่เตรียมที่ภาวะความเร็วรอบในการหมุนของสกรูที่ 150 rpm และอุณหภูมิโซนผสมที่ 275 องศาเซลเซียส จะมีความต้านทานต่อแรงดึงและระยะยืด ณ จุดขาด สูงที่สุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากยางรีเคลมทั้ง 2 ชนิด ที่ได้จากภาวะข้างต้นมีร้อยละการดีวัลคาไนซ์สูงที่สูด ทำให้มีสภาพเป็นเทอร์โมพลาสติกสูงที่สุด เมื่อนำไปขึ้นรูปซ้ำจึงให้สมบัติเชิงกลดีที่สุด เมื่อนำภาวะข้างต้นไปศึกษาอิทธิพลของชนิดและปริมาณสารรีเคลมประเภทเททระเบนซิลไทยูแรมไดซัลไฟด์และเททระไอโซบิวทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ พบว่ายางรีเคลมคงรูปจากขยะยางที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักและยางรีเคลมคงรูปจากขยะยางอีพีดีเอ็มที่เติมสารรีเคลมชนิดเททระไอโซบิวทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ 1 และ 3 ส่วนในร้อยส่วนของยางจะมีความต้านทานต่อแรงดึงและระยะยืด ณ จุดขาด สูงที่สุดทั้งสองชนิดที่เติม ทั้งนี้เป็นผลมาจากยางรีเคลมดังกล่าวมีร้อยละการดีวัลคาไนซ์สูงที่สูด เมื่อนำยางรีเคลมทั้ง 2 ชนิดที่ไปใช้ทดแทนยางบริสุทธิ์ตามสูตรที่กำหนด พบว่าเมื่อเพิ่มปริมาณยางรีเคลมเป็นผลให้สมบัติเชิงกลของยางคงรูปลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามพบว่าที่มีการใช้ยางรีเคลมทดแทนยางบริสุทธิ์จะได้ยางคงรูปมีความต้านทานต่อการเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อนสูงที่ขึ้น


การพัฒนาหน่วยควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศขนาดกลาง, ไปรยา ทองเหลือง Jan 2021

การพัฒนาหน่วยควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศขนาดกลาง, ไปรยา ทองเหลือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หน่วยควบแน่นแบบระเหย (Evaporative condenser unit) คือการอาศัยหลักการระเหยของน้ำมาช่วยเพิ่มความสามารถในการระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาหน่วยควบแน่นแบบระเหยและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ ได้แก่ ความชื้นสัมพัทธ์โดยรอบ (Ambient relative humidity) และอัตราการไหลของน้ำ (Water flow rate) โดยออกแบบคอยล์เสริมเพื่อเป็นบริเวณที่ใช้ในการฉีดพ่นน้ำ พบว่าการเชื่อมต่อคอยล์เสริมบริเวณดิสชาร์จสูงกว่าบริเวณลิควิด 3.5% การทดลองเพื่อศึกษาเปลี่ยนแปลงค่าความชื้นสัมพัทธ์ควบคุมโดยปรับค่าความเร็วอากาศพบว่าเมื่อความเร็วอากาศลดลงทำให้ความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น และความสามารถในการระบายความร้อนมีค่าสูงสุดในช่วงความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 73.1% ถึง 80.9% การทดลองศึกษาการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลของน้ำพบว่าพื้นที่สัมผัสบริเวณผิวคอยล์เสริมมากจะสามารถลดอุณหภูมิของสารทำความเย็นได้มากเช่นกัน นอกจากนี้ขนาดของหัวฉีดพ่นและความชื้นสัมพัทธ์ยังส่งผลต่อการลดลงของอุณหภูมิสารทำความเย็นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในการทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพการทำงานของต้นแบบหน่วยควบแน่นแบบระเหยพบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจากเครื่องปรับอากาศที่ระบายความร้อนด้วยลมปกติได้สูงถึง 20.36%


ความต้องการทางการตลาดของเทคโนโลยีเครื่องควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศในกลุ่มตลาดใหม่, กมลวรรณ บรรจงแก้ว Jan 2021

ความต้องการทางการตลาดของเทคโนโลยีเครื่องควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศในกลุ่มตลาดใหม่, กมลวรรณ บรรจงแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ 1. ศึกษาลักษณะตลาดเครื่องปรับอากาศ แนวโน้มการตลาด และลักษณะของตลาดผลิตภัณฑ์ เครื่องควบแน่นแบบระเหยสำหรับระบบปรับอากาศ (Evaporative Condensing Unit) ที่บริษัทต้องการพัฒนา 2. ศึกษาแนวทางการพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในสองรูปแบบ คือ แบบติดตั้งเพิ่มเติม (Retrofitting) และแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างผู้จัดการดูแลงานโครงการภาคใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งซ่อมบำรุงระบบเครื่องปรับอากาศ 10 คน, บุคคลทั่วไป 10 คน และเจ้าของสถานประกอบการ 4 คน ร่วมกับการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 2 ชุด ชุดแรกสำหรับผู้จัดการดูแลงานโครงการภาคใต้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งซ่อมบำรุงระบบเครื่องปรับอากาศ 10 คน ชุดที่ 2 สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ที่เคยซื้อ หรือกำลังตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ 400 คน โดยใช้วิธีแจกแบบสอบถามออนไลน์ในการเก็บข้อมูล ซึ่งใช้สถิติพรรณนา และสถิติอนุมาน ในการวิเคราะห์รายงานผล ผลการวิจัยพบว่า ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหย เพียงร้อยละ 0.8 โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันจากหลายยี่ห้อ จากผู้จัดจำหน่ายหลายแห่งก่อนการตัดสินใจซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่สนใจจะซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่แบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) และแบบติดตั้งเพิ่มเติม (Retrofitting) ช่วง 6-10 ปี ข้างหน้าโดยผู้บริโภคจะยอมจ่ายเพื่อซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 25,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ในช่วงราคา 30,252-31,421 บาท สำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 36,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ในช่วงราคา 47,369-52,020 บาท สำหรับผู้บริโภคกลุ่มเจ้าของกิจการจะยอมจ่ายเพื่อซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 25,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ไม่เกิน 37,828 บาท สำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องควบแน่นแบบระเหยแบบที่ติดตั้งสำเร็จ (Built-in) ขนาด 36,000 btu/h ประเภทธรรมดา (Fix speed) ไม่เกิน 66,587.81 …


การพัฒนาระบบพลาสมาไอออนไนเซอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับเครื่องปรับอากาศ, นฤสรณ์ แน่นหนา Jan 2021

การพัฒนาระบบพลาสมาไอออนไนเซอร์ประสิทธิภาพสูงสำหรับเครื่องปรับอากาศ, นฤสรณ์ แน่นหนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในงานวิจัยนี้ วงจรเครื่องกำเนิดพลาสมาถูกออกแบบโดยวางรากฐานอยู่บนการใช้ Flyback Transformer ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสวิตชิ่งกำลังไฟฟ้าของ MOSFET ในการคายประจุแบบพลาสมาไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับพลาสมาไอออนไนเซอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด แรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่จ่ายให้กับเครื่องพลาสมาไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวใช้แรงดันไฟฟ้า 5.38 kV วงจรกำเนิดพลาสมาได้รับการออกแบบมีการทำงานที่ความถี่ 0.2 Hz เมื่อใช้ Duty Cycle ที่ 5%, 10%, 20% และ 100% การศึกษาอุณหภูมิวัสดุไดอิเล็กตริกที่เปิดระบบไว้ 10 นาที อยู่ที่ 34.0 °C, 36.5 °C, 39.6 °C และ 67.0 °C ตามลำดับ และเมื่อตรวจวัดค่าโอโซนพบว่ามีความเข้มข้นโอโซน 174 ppb, 794 ppb, 1,820 ppb และ 9,849 ppb ตามลำดับ จากการศึกษาสเปกโตรสโกปีการเปล่งแสงของพลาสมาไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จพื้นผิวที่ความดันบรรยากาศเผยให้เห็นว่ามีกลุ่ม N2, NO และ OH ซึ่งสารอนุมูลอิสระเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ โดยการใช้ Optical Emission Spectrometer พบว่ามีอุณหภูมิพลาสมาที่ 0.82 eV การทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อใช้ Escherichia coli (E. coli) ATCC 25922 ในการทดสอบ เชื้อ E. coli ถูกฉายด้วยไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวและพลาสมาไอออนไนเซอร์เป็นเวลา 10 นาที จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าไดอิเล็กตริกแบริเออร์ดิสชาร์จเชิงผิวสามารถลดปริมาณเชื้อ E. coli ได้ถึง 100% ในขณะที่พลาสมาไอออนไนเซอร์ไม่สามารถลดปริมาณเชื้อ E. coli ได้


การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับสำหรับผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป, พีรวัส รัตนโชติ Jan 2021

การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับสำหรับผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป, พีรวัส รัตนโชติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอแนวทางการเลือกใช้และพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับ (Gripper) สำหรับผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปให้เหมาะสมกับรูปร่าง ขนาด และคุณสมบัติทางกลของยางแปรรูป ซึ่งอุปกรณ์หยิบจับนี้ถูกนำมาใช้เพื่อนำผลิตภัณฑ์ยางที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยแม่พิมพ์โดยการให้ความร้อนออกจากแม่พิมพ์ออกจากแม่พิมพ์โลหะ ซึ่งจำเป็นที่ต้องทราบถึงแรงที่ใช้นำชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์โดยแรงนี้ถูกเรียกว่า Demolding force และโดยปกติแรงนี้จะประกอบไปแรงเสียดทาน (Friction Force) และแรงยึดติด (Adhesion force) ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Demolding force ได้แก่ รูปทรง พื้นที่สัมผัส ความแข็งของยาง และความหยาบผิวของแม่พิมพ์ โดยได้มีการออกแบบการทดลองโดยใช้ Full factorial design และใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple regression analysis) เพื่อใช้ในการพยากรณ์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาซอฟท์แวร์มาเพื่อแนะนำการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับ และสุดท้ายได้มีการพัฒนาอุปกรณ์หยิบจับตัวต้นเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของซอฟท์แวร์นี้


การพัฒนาเทอร์มอพลาสติกวัลคาไนเซตจากยางโบรโมบิวทิลและพอลิโพรพิลีนสำหรับจุกปิดหลอดเก็บเลือด, สุพรรณษา คุณขยัน Jan 2021

การพัฒนาเทอร์มอพลาสติกวัลคาไนเซตจากยางโบรโมบิวทิลและพอลิโพรพิลีนสำหรับจุกปิดหลอดเก็บเลือด, สุพรรณษา คุณขยัน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาอัตราส่วนผสมยางโบรโมบิวทิล (BIIR) พอลิโพรพิลีน (PP) และเอทิลีนออกทีนโคพอลิเมอร์ (EOC) เพื่อปรับปรุงความแข็งให้เท่ากับความแข็งของจุกปิดหลอดเก็บเลือดทางการค้า จากผลการทดสอบสมบัติความแข็งพบว่าที่อัตราส่วนผสม B65P10E25 (BIIR 65 wt%, PP 10wt% และ EOC 25 wt%) มีค่าความแข็งเท่ากับ 43 Shore A ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าความแข็งของจุกปิดหลอดเก็บเลือด จึงได้เลือกอัตราส่วนนี้มาเตรียมเป็นเทอร์มอพลาสติกวัลคาไนเซต (TPV) โดยผสมสารวัลคาไนซ์ไดคิวมิลเพอร์ออกไซด์ 1.5 wt% และสารโคเอเจนต์ไตรเมทิลออลโพรเพนไตรเมทาอะคริเลท 1 wt% ผลการทดสอบสมบัติเชิงกลต่าง ๆ พบว่า TPV ที่เตรียมได้มีสมบัติความแข็ง ความต้านทานต่อแรงดึง ระยะยืดสูงสุด ณ จุดขาด และความต้านทานต่อแรงฉีกขาดสูงขึ้น ในขณะที่เปอร์เซ็นต์การยุบตัวหลังได้รับแรงกดลดลงเป็น 21.83% เมื่อเทียบกับ B65P10E25 ที่ไม่มีสารวัลคาไนซ์ ผลจากภาพกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM Micrograph) พบว่าการเติม EOC ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยปรับปรุงความเข้ากันได้และการกระจายตัวของ BIIR และ PP นอกจากนี้เมื่อผสม EOC ในสัดส่วนที่มากกว่า 25% วัสดุจะแสดงสมบัติการคืนตัวหลังแทงเข็มที่ดี โดยสูตรที่ผ่านการทดสอบนี้ ได้แก่ B65P10E25, B65E35 (BIIR 65 wt% และ EOC 35 wt%) และ B65P10E25 TPV (TPV ที่เตรียมขึ้นจากอัตราส่วน B65P10E25) เป็นต้น นอกจากนี้ความสามารถในการซึมผ่านแก๊สออกซิเจนของ B65P10E25 TPV มีค่าเท่ากับ 151.81 cm3·mm/m2·day·0.1MPa ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาวัสดุที่จะนำมาใช้เป็นจุกปิดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการป้องกันการซึมผ่านของอากาศภายนอกได้ดี ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงสามารถเตรียม TPV ที่มีสมบัติเชิงกลที่ดี มีอัตราการซึมผ่านแก๊สต่ำ และสามารถคืนตัวได้หลังจากดึงเข็มออก ซึ่งสมบัติเหล่านี้ผ่านเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาสำหรับนำไปประยุกต์ใช้เป็นจุกปิดในหลอดเก็บเลือด นอกจากนี้ยังสามารถนำมาผ่านกระบวนการขึ้นรูปซ้ำใหม่ได้


การวิเคราะห์ปัจจัยสำหรับการเกิดคราบบนแม่พิมพ์ระหว่างวัลคาไนเซชันยางด้วยการออกแบบการทดลองเชิงแฟกทอเรียล, สิรีธร อุตมโชติ Jan 2021

การวิเคราะห์ปัจจัยสำหรับการเกิดคราบบนแม่พิมพ์ระหว่างวัลคาไนเซชันยางด้วยการออกแบบการทดลองเชิงแฟกทอเรียล, สิรีธร อุตมโชติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยางพบปัญหาจากการเกิดชิ้นงานที่มีจุดบกพร่อง เช่น พอง ฉีกขาด แผล และคราบ โดยชิ้นงานที่เป็นคราบ คือ ชิ้นงานที่ผิวที่ไม่เรียบและต้องหยุดการผลิตเพื่อนำแม่พิมพ์ไปทำความสะอาด ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น สาเหตุของการเกิดคราบถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการออกแบบการทดลองเชิงแฟกทอเรียลเพื่อหาความสำคัญทางสถิติของแต่ละตัวแปร โดยตัวแปรที่ศึกษาได้แก่ เวลาที่ใช้ในการขึ้นรูป ปริมาณซิงค์ออกไซด์ ปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนต และอัตราส่วนโดยน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออน จากผลการทดลองเชิงแฟกทอเรียล พบว่าเวลาที่ใช้ในการขึ้นรูปและอัตราส่วนโดยน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออน คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชิ้นงานเกิดคราบ เนื่องจากการใช้เวลาในการขึ้นรูปที่นานขึ้น ทำให้ยางเกิดระดับการวัลคาไนเซชันเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้แรงยึดติดระหว่างชิ้นงานกับแม่พิมพ์ลดลง ส่งผลให้ทำให้มีคราบที่เกิดขึ้นลดลง และเมื่ออัตราส่วนโดยน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออนที่ 1:100 พบว่ามีชิ้นงานที่เป็นคราบลดลง เนื่องจากน้ำยาถอดแบบทำให้ผิวของแม่พิมพ์มีความลื่น จึงทำให้ไม่มีสิ่งตกค้างหลงเหลืออยู่ที่สามารถนำไปสู่การเกิดคราบบนผิวของแม่พิมพ์ได้ โดยแนวโน้มของการเกิดคราบต่อการปรับเปลี่ยนเวลาในการขึ้นรูปและอัตราส่วนของน้ำยาถอดแบบได้มาจากการทดลองเชิงเดี่ยว พบว่าเมื่อเวลาการขึ้นรูปมากขึ้นจาก 350 ไปเป็น 450 วินาที และอัตราส่วนโดนน้ำหนักของน้ำยาถอดแบบต่อน้ำปราศจากไอออนจาก 1:450 ไปเป็น 1:250 ทำให้มีชิ้นงานที่เป็นคราบลดลง


ปัจจัยที่ส่งผลถึงการประมาณค่าการนำความร้อนในยางคอมพาวด์, สุทธิพัฒน์ กมลสุทธิไพจิตร Jan 2021

ปัจจัยที่ส่งผลถึงการประมาณค่าการนำความร้อนในยางคอมพาวด์, สุทธิพัฒน์ กมลสุทธิไพจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวัลคาไนซ์เซชั่นยางในอุตสาหกรรมต้องอาศัยอุณหภูมิและระยเวลาในการคงรูปชิ้นงานซึ่งระยะเวลาในการคงรูปชิ้นงานจะขึ้นกับค่าการนำความร้อนของยางคอมปาวด์ที่แต่ละสูตร โดยงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาหลักการและกระบวนการทดสอบค่าการนำความร้อน การประมาณค่าการนำความร้อนในยางคอมปาวด์และปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าการนำความร้อนในกระบวนการคงรูป โดยขั้นแรกได้ศึกษาการประมาณค่าการนำความร้อน พบว่า การประมาณค่านำความร้อนของแบบจำลองขนานเทียบกับค่าการนำความร้อนที่ได้จากการทดสอบ HFM จะมีค่าความคาดเคลื่อนเกิดขึ้นไม่เกิน 5 % สำหรับยางคอมปาวด์ที่วัลคาไนซ์เซชั่นอย่างสมบูรณ์ ขั้นที่สองเป็นศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าการนำความร้อน พบว่า สัดส่วนโดยปริมาตรของสารตัวเติมมีผลกระทบต่อค่าการนำความร้อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปรวมถึงปริมาณน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อค่าการนำความร้อนอย่างมาก ส่วนยางที่วัลคาไนซ์เซชั่นอย่างสมบูรณ์จะให้ค่าการนำความร้อนสูงกว่ายางคอมปาวด์และยางที่วัลคาไนซ์เซชั่นร้อยละ 50 จะมีฟองอากาศภายในยางส่งผลให้ค่าการนำความร้อนต่ำกว่ายางคอมปาวด์ ส่วนยางที่เกิด และขั้นที่สามออกแบบชุดทดสอบสำหรับหาค่าการนำความร้อน พบว่า ชุดต้นแบบใช้วิธีการหาค่าการนำความร้อนในสภาวะคงที่ซึ่งต้องควบคุมความสม่ำเสมอของความร้อนและป้องสูญเสียความร้อนของชุดต้นแบบ ดังนั้นชุดต้นแบบจะมีส่วนประกอบหลักเป็นฮีตเตอร์สำหรับเป็นแหล่งความร้อนโดยจะใช้น้ำหล่อเย็นสำหรับการควบคุมอุณหภูมิประกอบกับฉนวนกันความร้อนสำหรับป้องกันการสูญเสียความร้อนโดยจะใช้การไหลของความร้อนในหนึ่งหน่วยพื้นที่เป็นตัวกำหนดค่าการนำความร้อน


กระบวนการพัฒนาโปรแกรมตัวส่งระหว่างโมเดลเชิงวัตถุและเชิงสัมพันธ์ด้วยเทคนิคโลวโค้ดบนโอดู, โสภณวิชญ์ พิชิตเธียรธรรม Jan 2020

กระบวนการพัฒนาโปรแกรมตัวส่งระหว่างโมเดลเชิงวัตถุและเชิงสัมพันธ์ด้วยเทคนิคโลวโค้ดบนโอดู, โสภณวิชญ์ พิชิตเธียรธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นำเสนอมอดูลเจนเนอเรเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการเขียนโปรแกรมตัวส่งระหว่างโมเดลเชิงวัตถุและเชิงสัมพันธ์บนโอดู โอดูเป็นซอฟต์แวร์อีอาร์พีแบบเปิดเผยรหัสต้นฉบับที่รวบรวมมอดูลที่จำเป็นสำหรับการจัดการธุรกิจต่าง ๆ และผู้พัฒนาสามารถพัฒนามอดูลเพื่อขยายขีดความสามารถของโอดูได้ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการพัฒนาซอฟต์แวร์บนโอดู มักต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพราะมีความซับซ้อนของเฟรมเวิร์ก จึงมีการนำแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบโลวโค้ด (การเขียนโค้ดที่น้อยกว่าปกติ) มาใช้ในการพัฒนามอดูลเจนเนอเรเตอร์ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับออกแบบและสร้างรหัสต้นฉบับสำหรับมอดูล ทำให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บนโอดูไม่ต้องกังวลเรื่องข้อผิดพลาดอันเนื่องมาจากความซับซ้อนของเฟรมเวิร์ก และให้ความสำคัญกับการเขียนโปรแกรมในด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเครื่องมือนี้ถูกพัฒนาด้วยภาษา ไพธอนให้เป็นเว็บแอปพลิเคชันทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ และได้มีการทดสอบการใช้งานกับทั้งผู้พัฒนามอดูลบนโอดู ผู้ใช้งานโอดูที่มีทักษะการเขียนโปรแกรม ผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์กับโอดู และอาสาสมัครภายนอกบริษัท ซึ่งได้ผลลัพธ์ว่า ผู้ทดสอบทั้งหมดสามารถพัฒนามอดูลโดยใช้มอดูลเจนเนอเรเตอร์ได้สำเร็จ เครื่องมือนี้จึงสามารถช่วยให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการพัฒนามอดูลบนโอดูสามารถพัฒนามอดูลขึ้นมาได้โดยใช้เวลาไม่นาน และเมื่อเปรียบเทียบเวลาที่ใช้ในการพัฒนามอดูลของกลุ่มผู้พัฒนามอดูลบนโอดู ระหว่างแบบปกติที่เขียนโค้ดด้วยตนเองกับการใช้ มอดูลเจนเนอเรเตอร์ พบว่าการใช้เครื่องมือนี้สามารถลดเวลาการพัฒนามอดูลโดยเฉลี่ยได้ถึง 20% อีกทั้งมอดูลเจนเนอเรเตอร์ยังนำไปใช้ได้จริงในโครงการการพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัท


การวิเคราะห์การเกิดตำหนิในการผลิตกระจกโฟลต, คณุตม์ ไพบูลย์ Jan 2020

การวิเคราะห์การเกิดตำหนิในการผลิตกระจกโฟลต, คณุตม์ ไพบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดตำหนิและหาแนวทางปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณตำหนิชนิดฟองอากาศและรีม ด้วยการนำตัวแปรจากกระบวนการผลิตได้แก่ การชั่งน้ำหนักส่วนผสม อุณหภูมิในการหลอม อุณหภูมิในการขึ้นรูปและองค์ประกอบทางเคมีของกระจก มาหาความสัมพันธ์กับปริมาณตำหนิที่เกิดขึ้นด้วยการวิเคราะห์การถดถอย จากผลการวิเคราะห์ตำหนิฟองอากาศด้วยเทคนิคแมสสเปกโทรเมตรีและเทคนิครามานสเปคโทรสโคปีพบว่าฟองอากาศส่วนใหญ่พบแก๊ส CO2 เป็นองค์ประกอบอยู่ที่ 30 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดจากการสลายตัวทางความร้อนของวัตถุดิบและการไล่ฟองอากาศที่ไม่สมบูรณ์ และจากความสัมพันธ์ของปริมาณฟองอากาศและตัวแปรจากกระบวนการผลิตพบว่า อุณหภูมิการหลอมที่สูงขึ้น ปริมาณ fining agent ที่น้อยลง และกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ตำหนิชนิดฟองอากาศเพิ่มขึ้น จากการศึกษาตำหนิชนิดรีมโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดร่วมกับการวัดการกระจายพลังงานของรังสีเอกซ์ในการวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุของตำหนิชนิดรีมเทียบกับบริเวณโดยรอบโดยพบว่ารีมมีปริมาณธาตุ Si และ Na สูงกว่าบริเวณโดยรอบ ซึ่งเกิดจากการชั่งวัตถุดิบที่คลาดเคลื่อนไปจากสูตรการผลิต โดยเกิดจากวัตถุดิบติดค้างบริเวณกรวยรับวัตถุดิบ ส่งผลให้องค์ประกอบทางเคมีของส่วนผสมไม่สม่ำเสมอ ยิ่งความแตกต่างของน้ำหนักส่วนผสมจากสูตรการผลิตยิ่งมาก จะทำให้ปริมาณรีมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสามารถความผิดพลาดจากการชั่งนี้สามารถแก้ไขได้โดยติดตั้งค้อนลมเพื่อเคาะวัตถุดิบให้ลงไปในโม่ผสมวัตถุดิบครบถ้วนตามสูตรการผลิต


ผลของลำดับการผสมวัตถุดิบต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการหลอมแก้ว, ปรีณาพรรณ ปิ่นหอม Jan 2020

ผลของลำดับการผสมวัตถุดิบต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการหลอมแก้ว, ปรีณาพรรณ ปิ่นหอม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โดยทั่วไปกระบวนการหลอมแก้วระดับอุตสาหกรรมต้องการพลังงานสูงสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากวัตถุดิบเป็นน้ำแก้ว วัตถุประสงค์ในงานวิจัยนี้จะกล่าวถึงการพัฒนากระบวนการหลอมแก้วโซดาไลม์โดยวิธีปรับลำดับการผสมในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาศัยกลไกของปฏิกิริยาสถานะของแข็งระหว่างทรายแก้วและโซเดียมคาร์บอเนตในช่วงแรกของการหลอม การเตรียมส่วนผสมแบบดั้งเดิมเป็นการผสมวัตถุดิบทั้งหมดภายในครั้งเดียว ในงานวิจัยนี้ต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการเตรียมส่วนผสมให้เหมาะสมที่สุดต่อการหลอมโดยการปรับลำดับของการผสม ประกอบด้วยสองขั้นตอนการผสม ขั้นตอนแรกคือการผสมทรายแก้วและโซเดียมคาร์บอเนต จากนั้นจึงผสมวัตถุดิบที่เหลือเป็นขั้นตอนที่สอง เพื่อเปรียบเทียบและศึกษาผลของการเตรียมส่วนผสมทั้งสองวิธี ได้ทำการศึกษาสภาพและการเปลี่ยนแปลงระหว่างกระบวนการหลอมที่อุณหภูมิตั้งแต่ 600 ถึง 1000 องศาเซลเซียส นอกจากนี้มีผลของปริมาณวัตถุดิบที่หลอมไม่หมดบนพื้นผิวซึ่งยังคงลงเหลือในสภาพผลึก ณ สภาวะที่กำหนด เพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มประสิทธิผลในการหลอมของส่วนผสมจากการผสมสองวิธี โดยภาพถ่ายผิวหน้าและโดยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ ผลการวิจัยพบว่าการจัดลำดับการผสมเป็นวิธีการผสมที่เหมาะสมกว่า ส่งผลต่ออัตราการหลอม พื้นผิวสัมผัสที่เพิ่มขึ้นระหว่างทรายแก้วและโซเดียมคาร์บอเนตจากการผสมขั้นตอนแรกนำไปสู่การเพิ่มอัตราการหลอมของทั้งระบบ ต่างจากวิธีการเดิมที่อาจมีวัตถุดิบอื่นเป็นตัวขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาสถานะของแข็งดังกล่าว