Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Banking and Finance Law

PDF

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 3 of 3

Full-Text Articles in Law

มาตรการทางกฎหมายในการกำกับการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง, นครินทร์ บุตรภักดีธรรม Jan 2017

มาตรการทางกฎหมายในการกำกับการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง, นครินทร์ บุตรภักดีธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัญหาของการทำธุรกรรมที่ทำระหว่างบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แนวคิด ทฤษฎี และมาตรการทางกฎหมายในการกำกับของประเทศไทยและต่างประเทศ จากการศึกษาพบว่าการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอิทธิพลในการตัดสินใจหรือมีอำนาจในการควบคุมกิจการของบริษัท สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผ่องถ่ายผลประโยชน์ออกจากบริษัทประกันภัย เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนของผู้มีอำนาจในการควบคุมกิจการ
อย่างไรก็ตาม มาตรการทางกฎหมายของไทยในการกำกับดูแลการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องยังไม่เพียงพอ เนื่องจากยังไม่กำกับครอบคลุมประเภทของธุรกรรมซึ่งมีนัยสำคัญทุกประเภท ไม่ครอบคลุมบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือมีอำนาจในการควบคุมกิจการที่มีนัยสำคัญทุกประเภทบุคคล ไม่มีกฎหมายกำหนดมาตรฐานเงื่อนไขข้อตกลงและราคาของธุรกรรมที่ทำกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และไม่มีกฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยมีหน้าที่รายงานความสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องและรายงานการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีนัยสำคัญต่อฐานะทางการเงินให้หน่วยงานกำกับดูแลทราบ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลไม่ทราบข้อมูลการทำธุรกรรมและไม่สามารถเข้ากำกับได้ในเวลาที่เหมาะสม
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอแนะว่า ควรกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทประกันภัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไว้ในกฎหมายประกันภัยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดนิยามของธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมความสัมพันธ์ของการมีอิทธิพลในการตัดสินใจหรือมีอำนาจในควบคุมกิจการ และให้ครอบคลุมธุรกรรมที่มีนัยสำคัญทุกประเภท โดยพิจารณาความมีนัยสำคัญทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ รวมทั้ง กำหนดนิยามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากลักษณะการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือมีอำนาจในควบคุมกิจการ นอกจากนี้ ควรกำหนดมาตรฐานของเงื่อนไขข้อตกลงและราคาของธุรกรรม ให้มีระดับไม่ต่ำกว่าเงื่อนไขข้อตกลงและราคาตามตลาด โดยไม่ต่ำกว่ากรณีที่บริษัททำธุรกรรมในลักษณะเดียวกันกับบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวข้อง และควรกำหนดให้มีบริษัทประกันภัยมีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง


ปัญหาเกี่ยวกับการโอนสิทธิในรายได้ในอนาคต ศึกษากรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, อัญรินทร์ จิระตระกูลวัชร์ Jan 2017

ปัญหาเกี่ยวกับการโอนสิทธิในรายได้ในอนาคต ศึกษากรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, อัญรินทร์ จิระตระกูลวัชร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือทางการเงินในการระดมทุนรูปแบบหนึ่งของผู้ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานได้หลายประเภท แต่ส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตหรือสิทธิในรายได้ในอนาคต โดยการเข้าทำสัญญาโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตกับผู้ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะ รูปแบบและเงื่อนไขของการเข้าทำสัญญาโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต และสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า การโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตดังกล่าวมีลักษณะเป็นธุรกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงเกิดปัญหาว่า สัญญาโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตควรจะเป็นธุรกรรมประเภทใด เข้าลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย หรือสัญญากู้ยืมเงิน หรือธุรกรรมอื่นใด ซึ่งลักษณะที่ไม่ชัดเจนของสัญญาโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บภาษีอากรว่า ผู้ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐานและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานควรจะมีภาระภาษีในธุรกรรมดังกล่าวอย่างไร และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรหรือกฎหมายลำดับรองกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการจัดเก็บภาษีอากรสำหรับธุรกรรมการโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีการนำบทบัญญัติซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของกฎหมายภาษีอากรมาปรับใช้ ซึ่งการนำมาปรับใช้ดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาค่อนข้างมากในทางปฏิบัติ โดยมีการตีความธุรกรรมการโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคตในลักษณะที่แตกต่างกันไป ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความไม่แน่นอนในการจัดเก็บภาษีซึ่งขัดต่อหลักการบริหารภาษีอากรที่ดี ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้ศึกษาเพื่อเสนอแนะให้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการจัดเก็บภาษีอากรสำหรับธุรกรรมการโอนสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต กรณีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นรูปแบบธุรกรรมทางการเงิน (Financing) ให้ชัดเจน


การใช้มาตรการบรรเทาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อนให้กับเกษตรกรรายย่อย, ธนันท์เศรษฐ์ ศรีวิชัย Jan 2017

การใช้มาตรการบรรเทาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อนให้กับเกษตรกรรายย่อย, ธนันท์เศรษฐ์ ศรีวิชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาแนวทางและหลักการของมาตรการบรรเทาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อนของเกษตรกรรายย่อยในกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก เพื่อนำมาปรับใช้กับปัญหาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของเกษตรกรในประเทศไทย ตามมาตรา 81 (1) (ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยในปัจจุบัน สหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการประกอบกิจการเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก ได้กำหนดมาตรการเงินส่วนเพิ่มอัตราคงที่สำหรับเกษตรกร (The Flat Rate Scheme For Farmer) ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะทางภาษี (Special-Scheme) ไว้ในกฎหมาย The VAT Directive ของสหภาพยุโรป เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกฎหมายภายในของตนเองได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษามาตรการบรรเทาภาระภาษีดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไขและบรรเทาปัญหาภาระภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำซ้อนของเกษตรกรรายย่อยในรูปแบบอื่นเพื่อนำมาเป็นแนวทางประกอบการปรับปรุงกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยต่อไป จากการศึกษาพบว่ามาตรการเงินส่วนเพิ่มอัตราคงที่สำหรับเกษตรกรของสหภาพยุโรป ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี นั้นมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นรูปแบบหรือทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะการเสียภาษีซ้ำซ้อนและการผลักภาระในรูปแบบของภาษีซื้อแอบแฝงของเกษตรกรรายย่อยได้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวถือเป็นการชดเชยภาษีซื้อในทอดก่อนหน้าที่เกษตรกรไม่สามารถเครดิตภาษีซื้อคืนได้ในรูปแบบของเงินส่วนเพิ่มอัตราคงที่ (Flat Rate Addition) ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระทางภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อขายสินค้าเกษตร อีกทั้งยังเป็นการลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการขอคืนภาษีซื้อ หรือจัดทำบัญชีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนในการบริหารและควบคุมกิจการ (Compliance Cost) เพียงแต่เกษตรกรจะต้องออกใบกำกับภาษีเงินส่วนเพิ่มอัตราคงที่เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ซื้อและลูกค้าของเกษตรกรรายย่อยสามารถนำใบกำกับภาษีเงินส่วนเพิ่มอัตราคงที่ดังกล่าวมาขอคืนเงินส่วนเพิ่มอัตราคงที่ที่ตนได้เสียให้แก่เกษตรกรรายย่อยได้ อันเป็นการส่งผลให้เกิดความสมดุลและเสริมสร้างระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น