Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Theses/Dissertations

2018

Other Education

Chulalongkorn University

Articles 1 - 6 of 6

Full-Text Articles in Education

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์, ชัยเทพ ชัยภักดี Jan 2018

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์, ชัยเทพ ชัยภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ชีวประวัติของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ 2) ศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอกของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ วิธีดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย นำเสนอผลการวิจัยเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1) ชีวประวัติของครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ ประกอบด้วย 4 ด้าน (1) ข้อมูลทั่วไป เป็นบุตรของครูเพชร จรรย์นาฏย์ กับนางปริก จรรย์นาฏย์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2460 สมรสกับนางสังวาลย์ จรรย์นาฏย์ และนางทองหยด จรรย์นาฏย์ มีบุตรธิดารวม 15 คน (2) การศึกษา ศึกษาวิชาสามัญจากวังบูรพาภิรมย์ ศึกษาวิชาดนตรีกับครูเพชร จรรย์นาฏย์ และครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (3) การทำงาน รับราชการเป็นมหาดเล็กนักดนตรีไทยของวังบางคอแหลมและวังลดาวัลย์ และจัดตั้งสำนักปี่พาทย์ครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ รับงานบรรเลงดนตรีไทย และสอนดนตรีไทย (4) ผลงาน ประกอบด้วย ผลงานการประพันธ์เพลงทั่วไปและเพลงเดี่ยว การบรรเลงในโอกาสสำคัญ ผลงานการประชันปี่พาทย์ และผลงานการปรับวงปี่พาทย์ 2) กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงระนาดเอก ประกอบด้วย 4 ด้าน (1) ครู เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ มีจิตวิทยาในการสอน และมีคุณธรรมจริยธรรม (2) ผู้เรียน มีคุณสมบัติของนักดนตรีที่ดี มีทักษะในการบรรเลงระนาดเอกขั้นสูง (3) เนื้อหาสาระ มีการเรียงลำดับบทเพลงในการสอนเป็นหมวดหมู่ ทางเพลงที่ใช้สอนคือทางครูเพชร จรรย์นาฏย์ ทางครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ และทางครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) (4) การจัดการเรียนการสอน ยึดหลักการสอนตามความสามารถของผู้เรียน ใช้วิธีการสอนทางตรง การสอนทางอ้อม และการสอนให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ เทคนิคการสอนคือการเสริมแรง ระยะเวลาในการสอนยืดหยุ่นตามบริบทของผู้เรียน สถานที่ในการสอนคือสำนักปี่พาทย์ครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏย์ วัดและประเมินผลโดยวิธีการสังเกต


ปัจจัยความสำเร็จในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุไทย, วรัท โชควิทยา Jan 2018

ปัจจัยความสำเร็จในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุไทย, วรัท โชควิทยา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำวิจัยเรื่องปัจจัยความสำเร็จในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะมีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่แอนดราโกจี (Andragogy) และ การออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นสากล (Universal Design for Learning) การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจากศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนครนนทบุรี ได้แก่ ผู้บริหาร 1 ท่าน ผู้สอน 5 ท่าน และผู้เรียน 23 ท่าน และชมรมขับร้องประสานเสียงนนทรีคอรัส ได้แก่ ประธานชมรมผู้นำกิจกรรม 1 ท่าน สมาชิกชมรม 11 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม ตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลโดยใช้วิธีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า จัดระเบียบข้อมูล สรุปข้อมูล และนำเสนอผลการศึกษาโดยการบรรยาย ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะสำหรับผู้สูงอายุของทั้งสองกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านสุขภาวะ ได้แก่ สุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางร่างกาย ด้านสมองและความจำ 2) ปัจจัยด้านการจัดกิจกรรม ได้แก่ มโนภาพต่อตนเอง จุดประสงค์ของกิจกรรม บรรยากาศของกิจกรรม รูปแบบของกิจกรรม และเจตคติของผู้สอน และผู้สูงอายุ 3) ปัจจัยด้านนโยบายและการบริหาร ด้านนโยบายทั้งสองกลุ่มให้การส่งเสริมด้านกิจกรรม ด้านการบริหารบุคลากร ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลนครนนทบุรีมีผู้สอนจิตอาสาเป็นผู้สูงอายุ อบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจผู้สูงอายุ ให้การดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น ปัญหาด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอแก้ปัญหาร่วมกับครูจิตอาสา ชมรมขับร้องประสานเสียงนนทรีคอรัส สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชุปถัมภ์ ไม่มีโยบายการใช้งบประมาณที่ชัดเจน และสมาชิกมีส่วนร่วมไม่เท่าเทียมกัน ปัจจัยดังกล่าวเป็นแนวทางสำหรับผู้จัดกิจกรรมในการทำความเข้าใจถึงผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมขับร้องคาราโอเกะเพื่อสร้างความสุขและการมีสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ


กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ, รัษศิษฏา เกลาพิมาย Jan 2018

กระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ, รัษศิษฏา เกลาพิมาย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากระบวนการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ 2) สร้างคู่มือการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกตามแนวทางของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ วิธีการดำเนินการวิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์ (interview) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการตีความข้อมูล (interpretation) สร้างข้อสรุปและนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1. ครูพินิจ ฉายสุวรรณ เป็นศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีปี่พาทย์ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการถ่ายทอด โดยเฉพาะเครื่องมือระนาดเอก ได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นเลิศ ครูพินิจได้รับการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกจากครูสอน วงฆ้อง ครูพริ้ง ดนตรีรส และครูเชื้อ ดนตรีรส โดยครูทั้งสามท่านนี้เป็นลูกศิษย์โดยตรงของพระยาเสนาะดุริยางค์ ในช่วงหลังขณะที่ครูพินิจรับราชการประจำอยู่ที่วงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร ท่านได้รับการถ่ายทอดบทเพลงเดี่ยวต่าง ๆ จากครูบุญยงค์ เกตุคง รวมทั้งได้ต่อเพลงเดี่ยวเพิ่มเติมกับครูท่านอื่น ๆ ด้วย เช่น ครูบุญช่วย ชิตท้วม ครูสนิท ลัดดาอ่อน เป็นต้น ลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกจากครูพินิจต้องมีพื้นฐานการบรรเลงระนาดเอกมาก่อนในระดับหนึ่ง ในการถ่ายทอดบทเพลง ครูพินิจเป็นผู้พิจารณาว่าผู้เรียนแต่ละคนเหมาะสมกับบทเพลงใด สำหรับหลักการถ่ายทอดทักษะการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ มี 3 ประการ ได้แก่ 1) สอนตามสติปัญญาและความสามารถ 2) เน้นเรื่องรสมือของผู้เรียนที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละคน 3) เน้นการบรรเลงที่ถูกต้องชัดเจนไพเราะและได้อรรถรสของบทเพลง 2. คู่มือการถ่ายทอดการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย คำชี้แจงในคู่มือ เนื้อหาสาระเกี่ยวกับเนื้อหาที่เป็นความรู้ความเข้าใจในการนำไปถ่ายทอดสำหรับผู้สอน และการนำไปฝึกทักษะการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกสำหรับผู้เรียนตามแนวทางของครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ ขั้นตอนการถ่ายทอดและการฝึกทักษะการบรรเลงเดี่ยวระนาด การวัดและประเมินผล และแหล่งอ้างอิง


การพัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้น, พงศ์วุฒิ มหิธิธรรมธร Jan 2018

การพัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้น, พงศ์วุฒิ มหิธิธรรมธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์คุณลักษณะและผลิตชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้นฉบับนำร่อง 2) พัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยวิธีการเลียนแบบสำหรับผู้เรียนระดับชั้นต้นฉบับสมบูรณ์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ผู้สอน ผู้ผลิตสื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านกีตาร์ไฟฟ้า และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ ในประเด็น 1) แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการสอนออนไลน์ 2) แนวคิดการผลิตสื่อ 3) แนวทางการพัฒนาชุดการสอนกีตาร์ไฟฟ้าออนไลน์ ใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ใช้การตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย ผลการวิจัยพบว่า 1. ชุดการสอนออนไลน์ที่เหมาะสมในการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามควรมีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้ 1) ด้านผู้สอน ใช้การแต่งกายและภาษาที่มีความสุภาพเป็นกันเอง 2) ด้านการสอน ใช้วิธีการสาธิตและการบรรยาย 3) ด้านเนื้อหาสาระ เน้นตามความสนใจของผู้เรียน โดยแบ่งออกเป็นเทคนิคการเล่นและทฤษฎีดนตรี 4) ด้านองค์ประกอบสื่อมัลติมีเดีย ควรมีองค์ประกอบทางภาพและเสียงที่มีความคมชัด มีการใช้กราฟิกช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และ 5) ด้านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลที่มีความสนใจกับชุดการสอนที่ตรงความต้องการผู้เรียน สำหรับกระบวนการผลิตชุดการสอนฉบับนำร่องประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการผลิต ขั้นการผลิตรายการ และขั้นหลังการผลิต 2. ในการพัฒนาชุดการสอนฉบับสมบูรณ์ได้ข้อค้นพบที่สำคัญว่า ผู้สอนควรให้ข้อสังเกตไว้ในขั้นนำ มีการยกตัวอย่างประกอบและสาธิตการเล่นไปพร้อมกับเมโทรโนม ควรสอดแทรกเนื้อหาเรื่องพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการนำไปประยุกต์ใช้ไว้ในบทเพลงท่อนที่สอน ในการถ่ายทำควรใช้กล้องวิดีโออย่างน้อย 2 ตัว เพื่อให้ผู้เรียนเห็นทั้งมือซ้ายและมือขวาของผู้สอนได้อย่างชัดเจน


แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม, อินทุอร จันทนภุมมะ Jan 2018

แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม, อินทุอร จันทนภุมมะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม 2. นำเสนอแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย 1) ครูผู้สอนเปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม จำนวน 5 ท่าน 2) ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จำนวน 1 ท่าน 3) นักเรียนที่มีภาวะออทิซึมที่เรียนเปียโน จำนวน 5 ท่าน 4) ผู้ปกครองของนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมที่ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูล จำนวน 5 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ปลายเปิด จำนวน 3 ชุด และแบบสังเกต จำนวน 1 ชุด ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม ครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้หลักการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน 2. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนสำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึม ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ 1) ด้านวัตถุประสงค์ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางดนตรี เชื่อมโยงองค์ความรู้ทางดนตรีกับทักษะปฏิบัติเปียโน อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาด้านพัฒนาการ 2) ด้านเนื้อหา แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์ประกอบดนตรี วรรณคดีดนตรี และทักษะดนตรี 3) ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ครูผู้สอนควรใช้รูปแบบการนำเสนอและวิธีการตอบสนองของนักเรียนที่หลากหลาย มีการปรับระดับการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนและปรับเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของนักเรียนตามความเหมาะสม รวมไปถึงครูผู้สอนต้องมีความสามารถในการจัดการชั้นเรียน 4) ด้านสื่อการสอน ครูผู้สอนควรเลือกสื่อการสอนที่มีความหลากหลาย โดยสามารถประยุกต์สิ่งของอุปกรณ์เสริมพัฒนาการและของเล่น อีกทั้งควรเลือกหนังสือจากหลักสูตรที่มีมาตราฐานผ่านการยอมรับจากสถาบันต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน 5) ด้านการวัดและการประเมินผล ครูผู้สอนควรวัดและประเมินผลทั้งด้านวิชาการและพัฒนาการของนักเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย อีกทั้งควรวัดและประเมินผลประสิทธิภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เปียโนให้เหมาะสมต่อไป


กระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, สมนึก แสงอรุณ Jan 2018

กระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ, สมนึก แสงอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการตีความ สร้างข้อสรุปแบบอุปนัย และนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่ากระบวนการถ่ายทอดการประพันธ์เพลงไทยตามแนวทางของพันโทเสนาะ หลวงสุนทร แบ่งออกเป็นด้าน ดังนี้ ด้านผู้สอน พันโทเสนาะ หลวงสุนทร กำเนิดในครอบครัวดนตรีไทยได้รับการถ่ายทอดดนตรีจากครูดนตรีที่เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ดนตรีที่หลากหลาย ส่งผลให้พันโทเสนาะ หลวงสุนทร มีความเชี่ยวชาญดนตรีไทย การประพันธ์เพลงไทย และสามารถถ่ายทอดได้เป็นอย่างดียิ่ง ทำให้ให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะการประพันธ์เพลงไทยอย่างมีประสิทธิภาพ พันโทเสนาะ หลวงสุนทร มีคุณลักษณะของครูที่ดีตรงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือ 1) มีปัญญาความรู้ดีในหลักวิชาอันถูกต้อง 2) ประพฤติดี มีความสุจริต เมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น และ 3) มีความสามารถที่จะเผื่อแผ่และถ่ายทอดความรู้ได้อย่างดี ด้านผู้เรียน ต้องมีพื้นฐานดนตรีไทยที่เกี่ยวข้องกับการประพันธ์เพลงไทย และสามารถอ่านเขียนโน้ตแบบดนตรีตะวันตกได้ดี ด้านสาระมี 3 ส่วนดังนี้ 1) ความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการประพันธ์เพลงไทย 2) ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการประพันธ์เพลงไทย และ 3) แนวคิดการประพันธ์เพลงไทย คือ ประพันธ์ตามขนบแบบโบราณ ประพันธ์ตามแรงบันดาลใจ และประพันธ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีหลักการประพันธ์ 13 แบบดังนี้ (1) การประดิษฐ์มือฆ้องอิสระ (2) การประดิษฐ์ทางพื้น (3) การประดิษฐ์ทางกรอหรือบังคับทาง (4) การยึดลูกตก (5) การประดิษฐ์ทางเปลี่ยน (6) การยืดขยายตัดยุบ (7) การยืดยุบพร้อมเปลี่ยนทาง (8) การยืดทำนองเฉพาะลูกเท่าและลูกโยน (9) การประดิษฐ์ลูกล้อลูกขัดและลูกเหลื่อม (10) การประพันธ์เพลงในโครงสร้างหน้าทับสองไม้หรือหน้าทับทยอย (11) ประพันธ์เพลงให้เป็นเพลงสำเนียงภาษา (12) การใช้และการย้ายบันไดเสียง และ (13) การประพันธ์ทางเดี่ยว ด้านการสอน สอนด้วยวิธีการบรรยายควบคู่กับการให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ มีเทคนิคการสอนกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เน้นทักษะพิสัยด้วยการฝึกหัดการประพันธ์เพลงไทย โดยมีการประเมินผลก่อนเรียน ในระหว่างเรียน และหลังจากเรียนครบตามเนื้อหาสาระ ด้วยวิธีการแสดงผลงานเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่