Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Theses/Dissertations

Curriculum and Instruction

2019

Chulalongkorn University

Articles 1 - 8 of 8

Full-Text Articles in Education

การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต, เธียรดนัย เสริมบุญไพศาล Jan 2019

การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต, เธียรดนัย เสริมบุญไพศาล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของกระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาและกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย ระยะที่ 2 การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนตามแนวคิดการวางแผนกลยุทธ์และการคิดนอกกรอบ ระยะที่ 3 การศึกษาผลการทดลองใช้กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น และระยะที่ 4 การปรับปรุงแก้ไขและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นหลังการทดลองใช้ กลุ่มตัวอย่างวิจัยได้จากการเลือกแบบเจาะจง คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งลงทะเบียนในรายวิชาเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ระยะเวลาดำเนินการทดลอง 15 สัปดาห์ รวม 60 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีและแบบบันทึกการเรียนรู้ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าที และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ว่า กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต มีขั้นตอนของกระบวนการ 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ระบุเป้าหมายจากปัญหา ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ตนและกำหนดกลยุทธ์ ขั้นที่ 3 ดำเนินกลยุทธ์เพื่อนวัตกรรม ขั้นที่ 4 ตรวจสอบผลการใช้กลยุทธ์ ผลการทดลองใช้กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า นักศึกษามีระดับของความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 78.41 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 11.74 และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงให้เห็นว่า นักศึกษาที่เรียนด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างขึ้นมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางเคมีสูงขึ้น สามารถสร้างนวัตกรรมทางเคมีจากการระบุปัญหาของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง พร้อมทั้งวางแผนสร้างผลงานผสมผสานด้วยองค์ความรู้ทางด้านเคมีอย่างเป็นระบบด้วยแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบฉากทัศน์เป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้การเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, กมลชนก สกนธวัฒน์ Jan 2019

การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบฉากทัศน์เป็นฐาน เพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้การเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, กมลชนก สกนธวัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบฉากทัศน์เป็นฐานเพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้การเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและ 2) ศึกษาผลของการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบฉากทัศน์เป็นฐานเพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้การเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มเป้าหมายวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาเพิ่มเติมที่มีสาระเกี่ยวกับการวางแผนและจัดการการเงินในชีวิตประจำวัน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 29 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง ผู้วิจัยดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยตนเองโดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 11 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดความฉลาดรู้การเงิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบฉากทัศน์เป็นฐานเพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้การเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น มีหลักการสำคัญ ได้แก่ (1) การมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ (2) การกำหนดฉากทัศน์ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือใกล้เคียงชีวิตจริงที่จูงใจให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ ทักษะและกระบวนการคิดที่หลากหลาย (3) การมุ่งเน้นให้นักเรียนใช้กระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาและการตัดสินใจโดยไม่ถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด และ (4) การให้นักเรียนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในการตัดสินใจ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้นี้มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้ทางการเงินและความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วยกิจกรรมจำนวน 11 กิจกรรม เรียงลำดับกิจกรรมตามหลักการวางแผนและจัดการการเงิน แต่ละกิจกรรมมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ขั้นรับประสบการณ์ (2) ขั้นแสดงบทบาทสมมติ (3) ขั้นเผชิญภาวะวิกฤต และ (4) ขั้นสะท้อนผล มีการวัดและประเมินผลของกิจกรรมโดยใช้แบบวัดความฉลาดรู้การเงิน สมุดบันทึกการเรียนรู้ และการสะสมคะแนนโบนัสทางการเงิน เมื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนการสอนผ่านชุดกิจกรรมการเรียนรู้พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจในระดับดีมาก 2. ผลของการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบฉากทัศน์เป็นฐานที่มีต่อความฉลาดรู้การเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น พบว่านักเรียนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความฉลาดรู้การเงินหลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อพิจารณาแยกตามองค์ประกอบของความฉลาดรู้การเงินพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านความรู้และทักษะทางการเงิน ด้านพฤติกรรมทางการเงิน และด้านเจตคติทางการเงินตามลำดับ


ผลของการใช้แชทบอทที่มีการช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีต่อการคิดเชิงคำนวณของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน, ศิรัฐ อิ่มแช่ม Jan 2019

ผลของการใช้แชทบอทที่มีการช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีต่อการคิดเชิงคำนวณของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน, ศิรัฐ อิ่มแช่ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้แชทบอทที่มีการช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีต่อการคิดเชิงคำนวณของนักเรียนที่มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยและบุคลิกภาพแบบเก็บตัว ที่เรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิชาวิทยาการคำนวณ จำนวน 60 คน ซึ่งได้มาจากด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ทำการศึกษาผลของการใช้แชทบอทที่มีการช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีต่อการคิดเชิงคำนวณโดยมีรูปแบบการสนทนาของแชทบอทแบ่งเป็น 2 รูปแบบดังนี้ 1) บทสนทนาแบบ Intent-based 2) บทสนทนาแบบ Flow-based เก็บรวบรวมข้อมูลโดยมี 3 เครื่องมือได้แก่ 1) แบบวัดบุคลิกภาพ 2) บทเรียนผ่านแชทบอท 3) แบบวัดการคิดเชิงคำนวณก่อนและหลังเรียน สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ 1) ผลการวิเคราะห์พบว่านักเรียนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยและแบบเก็บตัว ทั้งสองกลุ่มสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลของการใช้แชทบอทที่มีการช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีต่อการคิดเชิงคำนวณของนักเรียนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยสูงกว่านักเรียนที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ผลของการใช้แชทบอทที่มีการช่วยเสริมศักยภาพการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีต่อการคิดเชิงคำนวณของนักเรียนพบว่า ผู้เรียนที่มีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวมีค่าเฉลี่ยการใช้งานแชทบอทส่วนการใช้งานเว็บไซต์สูงกว่านักเรียนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยมเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, อติอร ตัญกาญจน์ Jan 2019

การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยมเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, อติอร ตัญกาญจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยมเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 40 คน โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง จังหวัดกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 2 โดยใช้การเลือกแบบเจาะจง ใช้ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งสิ้น 22 ชั่วโมง รวม 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม และแบบวัดความซื่อสัตย์ สถิติที่ใช้ในการทดลองได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า 1. ชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม ประกอบด้วยส่วนประกอบ 4 ส่วน คือ (1) คู่มือการใช้ชุดกิจกรรม (2) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จำนวน 4 ชุดกิจกรรม คือ ชุดที่ 1 เสียชีพดีกว่าเสียสัตย์ ชุดที่ 2 ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน ชุดที่ 3 ความซื่อความสัตย์ และ ชุดที่ 4 คำสัตย์วาจาของคนจริง โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นทำความเข้าใจ ขั้นพิจารณาค่านิยม ขั้นนำเสนอทางเลือก ขั้นกำหนดคุณค่า และขั้นแสดงค่านิยม (3) สื่อการเรียนรู้ และ (4) แบบประเมิน 2. ผลของการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม พบว่า 2.1 นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม มีค่าเฉลี่ยคะแนนความซื่อสัตย์หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.2 นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรมไทยโดยใช้กระบวนการกระจ่างค่านิยม มีการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมความซื่อสัตย์ในช่วงที่ 2 (กิจกรรมที่ 3-4) เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ 1 (กิจกรรมที่ 1-2)


การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการคิดเชิงออกแบบร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิดการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาลของนักศึกษาพยาบาล, ชญาภรณ์ เอกธรรมสุทธิ์ Jan 2019

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการคิดเชิงออกแบบร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิดการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาลของนักศึกษาพยาบาล, ชญาภรณ์ เอกธรรมสุทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการคิดเชิงออกแบบร่วมกับแนวคิดการสะท้อนคิดการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาลของนักศึกษาพยาบาล การดำเนินการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 2) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 3) การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น และ 4) การนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนฉบับสมบูรณ์ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 จำนวน 8 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ระยะเวลาในการดำเนินการทดลอง 4 สัปดาห์ รวม 140 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาล และแบบบันทึกการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าทีและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1.รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจ 2) การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาจากบริบทจริงผ่านมุมมองที่หลากหลาย 3) การสะท้อนการปฏิบัติผ่านการสนทนา การฟังและการเขียนบันทึก 4) การร่างและนำเสนอแบบจำลองผ่านการสะท้อนมุมมองของกลุ่ม และ 5) การนำเสนอหรือเผยแพร่ผลงาน ประกอบด้วยขั้นตอน 5 ขั้น ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมและสร้างแรงบันดาลใจ 2) การศึกษาข้อมูลและระบุประเด็นปัญหา 3) การสืบค้นข้อมูลและทวนสอบแนวทางการแก้ปัญหา 4) การสร้างและตรวจสอบต้นแบบนวัตกรรมการพยาบาล และ 5) การเผยแพร่และสะท้อนการเรียนรู้ 2.ผลการศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า นักศึกษาพยาบาลมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาล เท่ากับ 86.7 คะแนน โดยมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 7.20 มีระดับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาลอยู่ในระดับดี และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมการพยาบาลสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่านักศึกษาพยาบาลสามารถสร้างนวัตกรรมการพยาบาลได้โดยใช้ความรู้ทางการพยาบาลและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถนำเสนอให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของนวัตกรรมการพยาบาลได้


การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี, พีชาณิกา เพชรสังข์ Jan 2019

การพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี, พีชาณิกา เพชรสังข์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และ 2) ประเมินคุณภาพของโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีระยะเวลาในการทดลองใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้น 15 สัปดาห์ ซึ่งมีนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามทั่วไป แบบวัดพฤติกรรมการเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียน และแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว วิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมีหลักการ 4 ประการ คือ 1) หลักการกำหนดเป้าหมายด้วยตนเอง 2) หลักการรับรู้ความสามารถของตนเองและการมั่นว่าทำได้ 3) หลักการวางแผนการทำงาน 4) หลักการการประเมินตนเอง มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในโปรแกรมมีดังนี้ 1) การกำหนดเป้าหมาย 2) การรับรู้ความสามารถของตนเอง 3) ความเชื่อมั่นในอำนาจแห่งตน 4) การวางแผนการทำงาน และ 5) การกำกับและประเมินตนเอง โดยขั้นตอนของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ 2) คิดและเชื่อในความสามารถและความพยายามของตนเอง 3) วางแผนเพื่อดำเนินการ 4) ทำตามแผนอย่างมุ่งมั่น และ 5) ประเมินและสะท้อนคิด การดำเนินการใช้โปรแกรมประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนใช้โปรแกรม ระหว่างใช้โปรแกรม และหลังใช้โปรแกรม การวัดและประเมินพฤติกรรมการเรียนดำเนินการวัดก่อน ระหว่างและหลังเข้าร่วมโปรแกรม โดยใช้แบบสอบถามทั่วไป แบบวัดพฤติกรรมการเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนและแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียน 2. นักศึกษาที่เข้าร่วมโปรแกรมมีพฤติกรรมการเรียนหลังเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม และหลังเข้าร่วมโปรแกรมสูงกว่าระหว่างเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อจำแนกตามลักษณะชีวสังคมภูมิหลัง พบว่า ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรมนักศึกษาที่มีลักษณะชีวสังคมภูมิหลังแตกต่างกันมีพฤติกรรมการเรียนไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. นักศึกษาที่เข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการเรียนโดยใช้ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และทฤษฎีการตั้งเป้าหมายมีพฤติกรรมการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมีพฤติกรรมการเรียนที่เหมาะสมมากขึ้น


การพัฒนาความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสาระรายวิชาด้วยโปรแกรมฝึกอบรมที่ใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้เชิงรุก, ฐนัส มานุวงศ์ Jan 2019

การพัฒนาความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสาระรายวิชาด้วยโปรแกรมฝึกอบรมที่ใช้แนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้เชิงรุก, ฐนัส มานุวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาโปรแกรมฝึกอบรมตามแนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์และการเรียนรู้เชิงรุกในการพัฒนาความสามารถการออกแบบการเรียนการสอน ที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสาระรายวิชา และ 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมฝึกอบรมฯ งานวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทางทหาร จำนวน 8 นาย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบและแบบสอบถาม และรายงานการจดบันทึก โดยใช้ระยะเวลาฝึกอบรมร่วมกับการเก็บข้อมูล 3 สัปดาห์ จากการสอบถาม การสัมภาษณ์ การเสวนากลุ่มย่อย การสังเกตการณ์ และการถอดบทเรียนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัย และการเลือกข้อมูลเพื่อแสดงหลักฐาน ผลการวิจัยพบว่า โปรแกรมการฝึกอบรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอน ที่บูรณาการหลักปรัชญาฯ กับสาระรายวิชา โดยมีหลักการ วัตถุประสงค์ ผลการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดและประเมินผล อันเป็นไปตามแนวคิดการศึกษาแบบเน้นผลลัพธ์ และมีการกำหนดวิธีการฝึกอบรม โดยเลือกใช้กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามหลักการของแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก ระยะการดำเนินการมี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การกำหนดเป้าหมายในการออกแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 2 การดำเนินการฝึกปฏิบัติที่มีความใส่ใจต่อผู้อื่น และระยะที่ 3 การสรุปผลการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาการออกแบบการเรียนการสอน ส่วนประสิทธิผลของโปรแกรมฝึกอบรมฯ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีพัฒนาการของความสามารถในการออกแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการหลักปรัชญาฯ กับสาระรายวิชา ทั้ง 9 ด้าน รวมทั้งมีพัฒนาการที่สะท้อนอัตลักษณ์ตามหลักการของโปรแกรมฝึกอบรม ได้แก่ การจัดทรัพยากรการสอนอย่างสมดุล การร่วมมือในการพัฒนาเป็นหมู่คณะ และการออกแบบการสอนที่ตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม และคุณค่าสิ่งแวดล้อม


การพัฒนาโปรแกรมซ่อมเสริมการอ่านภาษาไทยตามแนวคิดออร์ตัน-กิลลิงแฮมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีปัญหาทางการอ่าน, วิไลวรรณ จันทร์น้ำใส Jan 2019

การพัฒนาโปรแกรมซ่อมเสริมการอ่านภาษาไทยตามแนวคิดออร์ตัน-กิลลิงแฮมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีปัญหาทางการอ่าน, วิไลวรรณ จันทร์น้ำใส

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมและประเมินคุณภาพของโปรแกรมซ่อมเสริมการอ่านภาษาไทยตามแนวคิดออร์ตัน-กิลลิงแฮมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีปัญหาทางการอ่าน กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางแห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 30 ที่มีปัญหาทางการอ่าน จำนวน 22 คน ใช้เวลาในการทดลองสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมจำนวน 5 แผน และแบบทดสอบการอ่านภาษาไทยก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมฯ โดยวัดผลก่อนและหลังการทดลอง (One group Pretest-Posttest Design) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ Paired Samples t-test คะแนนพัฒนาการเพิ่มสัมพัทธ์ของกลุ่มตัวอย่างรายบุคคล และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพของกลุ่มเป้าหมาย ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1. โปรแกรมซ่อมเสริมการอ่านภาษาไทยตามแนวคิดออร์ตัน-กิลลิงแฮมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีปัญหาทางการอ่าน มีหลักการ 8 ประการ ได้แก่ การวินิจฉัยข้อบกพร่องทางการอ่านรายบุคคล การกำหนดวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนและกำหนด การประเมินผลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ การจัดลำดับเนื้อหาจากง่ายไปยาก การจัดกิจกรรมที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย เน้นการใช้พหุสัมผัส และใช้การสอนแจกลูกสะกดคำหรือโฟนิกส์ เลือกใช้สื่อที่หลากหลาย เหมาะสมกับเนื้อหา ความสนใจของนักเรียน ให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) อย่างสม่ำเสมอ ฝึกฝนอย่างเพียงพอ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีและการเสริมแรงบวก โปรแกรมนี้ มีเนื้อหาจำนวน 8 เรื่อง ตามปัญหาทางการอ่านของนักเรียน และแผนการจัดกิจกรรม จำนวน 5 แผน 2. หลังเข้าร่วมโปรแกรมฯ กลุ่มเป้าหมายมีความสามารถทางการอ่านสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีพัฒนาการทางการอ่านเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 60.16 และมีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม คิดเป็นร้อยละ 72.72