Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Educational Psychology

PDF

Chulalongkorn University

2019

Articles 1 - 6 of 6

Full-Text Articles in Education

ผลการใช้โปรแกรมสอนอ่านทางตรงส่งเสริมความพยายามที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสะกดคำของนักเรียนประถมศึกษาที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาด้านการอ่าน, ชัยณรงค์ ขำบัณฑิต Jan 2019

ผลการใช้โปรแกรมสอนอ่านทางตรงส่งเสริมความพยายามที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสะกดคำของนักเรียนประถมศึกษาที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาด้านการอ่าน, ชัยณรงค์ ขำบัณฑิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสะกดคำของนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาด้านการอ่านในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมสอนอ่านทางตรงส่งเสริมความพยายาม และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียน ครูและผู้ปกครองหลังจากการใช้โปรแกรมฯ การวิจัยครั้งนี้มีรูปแบบการวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มเดี่ยวแบบหลายเส้นฐานข้ามบุคคล แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเส้นฐาน และระยะได้รับการช่วยเหลือ รวมทั้งหมด 20 ครั้ง ครั้งละ 40 นาทีตัวอย่างวิจัยคือ นักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาด้านการอ่านชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเตรียมสาธิตศึกษา กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 3 คน ซึ่งผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากแบบวัดความสามารถในการอ่านและการเสนอชื่อจากครูประจำชั้นและครูสอนวิชาภาษาไทย เครื่องมือวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เครื่องมือทดลอง ได้แก่ โปรแกรมสอนอ่านทางตรงส่งเสริมความพยายาม และเครื่องมือรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสะกดคำ และแบบสัมภาษณ์ความคิดเห็น ใช้สถิติบรรยายวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนต่ำสุด-สูงสุด วิเคราะห์ด้วยกราฟเส้นเพื่อแสดงพัฒนาการของทักษะการอ่านสะกดคำ และวิเคราะห์ประเด็นความคิดเห็นจากการสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า 1) ตัวอย่างวิจัยทั้ง 3 คน มีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสะกดคำเพิ่มขึ้นหลังได้รับโปรแกรมฯ ซึ่งในระยะได้รับการช่วยเหลือมีคะแนนการอ่านสะกดคำเพิ่มขึ้นสูงกว่าระยะเส้นฐาน และ 2) ผลการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักเรียน ครู และผู้ปกครองที่มีต่อโปรแกรมฯ คือ มีผลเชิงบวกต่อการใช้โปรแกรมฯ และเห็นสมควรนำไปใช้ต่อเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาด้านการอ่าน


ผลของโปรแกรมการเปิดเผยตนเองที่มีต่อสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและทักษะการทำงานแบบร่วมมือของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 3, ธัญรดา แก้วกันหา Jan 2019

ผลของโปรแกรมการเปิดเผยตนเองที่มีต่อสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและทักษะการทำงานแบบร่วมมือของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 3, ธัญรดา แก้วกันหา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเปิดเผยตนเองที่มีต่อสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและทักษะการทำงานแบบร่วมมือของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นนักเรียนที่ผ่านการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายลำดับขั้นจากโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกการเปิดเผยตนเองที่พัฒนาขึ้นตามโมเดลการเรียนรู้ทางปัญญาสังคมเพื่อเสริมสร้างทักษะทางสังคม จำนวน 10 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบวัดสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและแบบวัดทักษะการทำงานแบบร่วมมือดำเนินการก่อนและหลังการทดลอง รวมถึงในระยะติดตามผล ข้อมูลทางสถิติพื้นฐานที่ได้ถูกวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนของตัวแปรพหุนาม (MANOVA) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนของตัวแปรพหุนามแบบวัดซ้ำ (repeated MANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1) ค่าเฉลี่ยของคะแนนสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและทักษะการทำงานแบบร่วมมือของกลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) ค่าเฉลี่ยของคะแนนสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและทักษะการทำงานแบบร่วมมือของกลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ปัจจัยคัดสรรทางจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา, ธีระ ยอน Jan 2019

ปัจจัยคัดสรรทางจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา, ธีระ ยอน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาลักษณะปัจจัยคัดสรรทางจิตวิทยา 5 ปัจจัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรรทางจิตวิทยากับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา และ 3) เพื่อสร้างสมการพยากรณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยปัจจัยคัดสรรทางจิตวิทยา กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการฯ จังหวัดกำปงธม จำนวน 544 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบวัดการกำกับตนเองในการเรียน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ อัตมโนทัศน์ด้านวิชาการ การเห็นคุณค่าในตนเอง และแบบวัดเจตคติต่อการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และ การถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยมีดังต่อไปนี้ 1. การกำกับตนเองในการเรียน (RGU) การเห็นคุณค่าในตนเอง (SET) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (MOT) เจตคติต่อการเรียน (ATT) และอัตมโนทัศน์ด้านวิชาการ (ASC) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 52.944 49.741 49.002 36.133 และ 35.738 ตามลำดับ 2. การกำกับตนเองในการเรียน (RGU) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (MOT) อัตมโนทัศน์ด้านวิชาการ (ASC) การเห็นคุณค่าในตนเอง (SET) และเจตคติต่อการเรียน (ATT) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. ตัวแปรที่มีอำนาจในการพยากรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือการกำกับตนเองในการเรียน รองลงมา คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ได้สมการถดถอยในรูปคะแนนดิบและคะแนนมาตรฐาน ตามลำดับ ดังนี้ Y’ = 2.184RGU + 1.032MOT + 23.848 Z’ …


อิทธิพลของการรับรู้ความสามารถของตนเองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อยโดยมีความเพียรและสุขภาวะเป็นตัวแปรส่งผ่าน, ปวริศ ไชยลาโภ Jan 2019

อิทธิพลของการรับรู้ความสามารถของตนเองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อยโดยมีความเพียรและสุขภาวะเป็นตัวแปรส่งผ่าน, ปวริศ ไชยลาโภ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับของการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความเพียร สุขภาวะ และผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อย 2) ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลอิทธิพลของการรับรู้ความสามารถของตนเองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อยโดยมีความเพียรและสุขภาวะเป็นตัวแปรส่งผ่านกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และ 3) วิเคราะห์บทบาทการส่งผ่านของความเพียรและสุขภาวะในโมเดลอิทธิพลของการรับรู้ความสามารถของตนเองที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อย ตัวอย่างวิจัย คือ นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 2-5 จำนวน 805 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ มาตรวัดการรับรู้ความสามารถของตนเอง มาตรวัดความเพียร และมาตรวัดสุขภาวะ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (SEM) ด้วยโปรแกรม LISREL ผลการวิจัย พบว่า 1) ในภาพรวมนักเรียนนายร้อยมีสุขภาวะอยู่ในระดับสูง (%RWB = 70.00) ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อย ความเพียร และการรับรู้ความสามารถของตนเองอยู่ในระดับปานกลาง (%RCMA = 47.25; %RGRT = 44.00; %RSE = 35.00) 2) โมเดลสมการโครงสร้างมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-Square = 44.620, df = 36, p = 0.131, Chi-Square/df = 1.239, GFI = 0.991, AGFI = 0.978, NFI = 0.997; RMR = 0.015, RMSEA = 0.018) 3) การรับรู้ความสามารถของตนเองส่งผลทางบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อย (β = 0.765, p < .05) ในขณะที่ความเพียรส่งผลทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อย (β = -0.704, p < .05) อย่างไรก็ดีสุขภาวะไม่ได้ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางทหารของนักเรียนนายร้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การพัฒนามาตรวัดความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตกรุงเทพมหานคร, สิริกุล กิตติมงคลชัย Jan 2019

การพัฒนามาตรวัดความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตกรุงเทพมหานคร, สิริกุล กิตติมงคลชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความหมายและองค์ประกอบความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 2) พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัดความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ 3) สร้างเกณฑ์ปกติของมาตรวัดความสุขในการเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น การวิจัยระยะที่ 1 เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยการสังเคราะห์เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าจำนวน 24 คน การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อพัฒนา ตรวจสอบ และสร้างเกณฑ์ปกติของมาตรวัดความสุขในการเรียนกับนักเรียน 240 คน จากโรงเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า 1) ความสุขในการเรียนที่ได้จากการศึกษาเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย 12 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน (2) การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครู (3) การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง (4) การมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ (5) การเห็นคุณค่าในตนเอง (6) การเห็นคุณค่าในการเรียนรู้ (7) การมีเป้าหมายในการเรียนรู้ (8) การมีอารมณ์ทางบวกในการเรียนรู้ (9) การกำกับตนเองในการเรียนรู้ (10) ภาวะลื่นไหลในการเรียนรู้ (11) การได้เรียนในสิ่งที่ถนัดและสนใจ และ (12) การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและเอื้อต่อการเรียนรู้ และ 2) มาตรวัดความสุขในการเรียนมีจำนวน 80 ข้อคำถาม ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ (1) ความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง (2) ความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานสร้างด้วยเทคนิคกลุ่มรู้ชัด (t = 13.82, p < .05) และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2=54.25, df =43, p = .117, χ2/df = 1.26, GFI=.964, RMSEA=.033, SRMR=.0329, CFI=.996, AGFI=.934) และ (3) ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคทั้งฉบับมีค่า .987 ผลการพัฒนาเกณฑ์ปกติในรูปแบบคะแนนทีปกติอยู่ในช่วง T17.16 – T74.78


การส่งเสริมทักษะสมองด้านการบริหารและพฤติกรรมมุ่งงานโดยใช้โปรแกรมการพัฒนาทักษะอีเอฟผ่านการช่วยเหลือที่มีดนตรีเป็นฐานสำหรับนักเรียนประถมศึกษาตอนต้นในชั้นเรียนรวม, แพรวา ฤทธิ์สกุลชัย Jan 2019

การส่งเสริมทักษะสมองด้านการบริหารและพฤติกรรมมุ่งงานโดยใช้โปรแกรมการพัฒนาทักษะอีเอฟผ่านการช่วยเหลือที่มีดนตรีเป็นฐานสำหรับนักเรียนประถมศึกษาตอนต้นในชั้นเรียนรวม, แพรวา ฤทธิ์สกุลชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการพัฒนาทักษะอีเอฟผ่านการช่วยเหลือที่มีดนตรีเป็นฐานต่อทักษะสมองด้านการบริหารและพฤติกรรมมุ่งงานของนักเรียน ตัวอย่างในการวิจัย คือ นักเรียนประถมศึกษาตอนต้นที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง จำนวน 41 คน และครูประจำชั้นจำนวน 2 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมการพัฒนาทักษะอีเอฟผ่านการช่วยเหลือที่มีดนตรีเป็นฐาน แบบวัดทักษะสมองด้านการบริหาร แบบสังเกตพฤติกรรม และแบบสัมภาษณ์ครู วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนทักษะสมองด้านการบริหารและค่าเฉลี่ยของจำนวนการเกิดพฤติกรรมมุ่งงานของนักเรียนในระยะก่อนทดลองและหลังทดลองด้วยการวิเคราะห์ด้วยสถิติทดสอบทีแบบไม่เป็นอิสระ (dependent sample t-test) และใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมพหุคูณ (MANCOVA) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครูประจำชั้น วิเคราะห์ด้วยการลงรหัสและวิเคราะห์ประเด็นเพื่อนำเสนอในรูปแบบการบรรยาย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะสมองด้านการบริหาร และค่าเฉลี่ยของจำนวนการเกิดพฤติกรรมมุ่งงานสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะสมองด้านการบริหารสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของจำนวนการเกิดพฤติกรรมมุ่งงานไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม และ 4) ครูประจำชั้นมีความคิดเห็นต่อโปรแกรมฯ ในเชิงบวก