Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Education Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Curriculum and Instruction

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2022

Articles 1 - 6 of 6

Full-Text Articles in Education

การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะโดยใช้แนวคิดกิจวัตรการคิดร่วมกับ การสอนอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมทักษะการแสวงหาความรู้ของเด็กอนุบาล, วรานิษฐ์ ธนชัยวรพันธ์ Jan 2022

การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะโดยใช้แนวคิดกิจวัตรการคิดร่วมกับ การสอนอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมทักษะการแสวงหาความรู้ของเด็กอนุบาล, วรานิษฐ์ ธนชัยวรพันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะโดยใช้แนวคิดกิจวัตรการคิดร่วมกับการสอนอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมทักษะการแสวงหาความรู้ของเด็กอนุบาล (2) ศึกษาประสิทธิผลของการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ ที่มีต่อทักษะการแสวงหาความรู้ของเด็กอนุบาล กลุ่มเป้าหมายในการทดลองครั้งนี้ คือ เด็กอนุบาลชั้นปีที่ 3 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ (1) การเตรียมการ ระยะที่ (2) การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ (ฉบับตั้งต้น) ระยะที่ (3) การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ (ฉบับนำร่อง) ระยะที่ (4) การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ (ฉบับทดลอง) ระยะที่ (5) การนำเสนอรูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ (ฉบับสมบูรณ์) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินทักษะการแสวงหาความรู้ของเด็กอนุบาลและแบบบันทึกหลังการจัดประสบการณ์ วิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยมี ดังนี้ 1) รูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ มีองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอนของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ และการประเมินผล โดยมีขั้นตอนของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ 3 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นเตรียมการ (2) ขั้นกระตุ้นการคิดประกอบด้วย 4 ขั้นย่อย ได้แก่ ขั้นย่อยที่ 1 คิด ระดมสมอง ขั้นย่อยที่ 2 คิด สัมผัส รับรู้ ขั้นย่อยที่ 3 คิด เล่น สร้าง ขั้นย่อยที่ 4 คิดเห็นเป็นภาพ และ (3) ขั้นการสะท้อนคิดการเรียนรู้ 2) ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเล่นแบบชี้แนะฯ สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนทักษะการแสวงหาความรู้หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง และระหว่างการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทีระดับ 0.05 โดยองค์ประกอบที่สูงที่สุด คือ …


การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวคิดประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการรู้สิ่งแวดล้อมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, พิธุลาวัณย์ ศุภอุทุมพร Jan 2022

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวคิดประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการรู้สิ่งแวดล้อมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น, พิธุลาวัณย์ ศุภอุทุมพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวคิดประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการรู้สิ่งแวดล้อมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 2) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 3) การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน และ 4) การนำเสนอการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง จำนวน 32 คน ทำการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ระยะเวลาในการดำเนินการทดลอง 12 สัปดาห์ รวม 36 คาบ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบวัดการรู้สิ่งแวดล้อม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ที่เป็นรูปธรรมและสัมพันธ์กับชีวิตจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ทำให้มุมมองของผู้เรียนเกิดการขยายตัวหรือหดตัว ค้นพบมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจ รับมือและประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่ตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การนำเสนอประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมและสัมพันธ์กับชีวิตในช่วงต้นของการเรียนการสอน จะช่วยกระตุ้นความสนใจ และผลักดันให้ผู้เรียนเริ่มต้นเรียนรู้ ตั้งจุดมุ่งหมายในการเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียน 3) ผู้เรียนศึกษาสำรวจประเด็น ไตร่ตรองสะท้อนคิด จนสร้างความคิดรวบยอดและพัฒนามโนทัศน์พื้นฐานและการปฏิบัติด้วยกระบวนการสร้างความรู้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม และ 4) การเสริมต่อการเรียนรู้ในบรรยากาศที่เปิดกว้างทางความคิด บูรณาการมิติด้านคุณธรรมจริยธรรมในการให้เหตุผลภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายมุมมองของแต่ละฝ่าย และผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้เชิงรุก จะช่วยกระตุ้นทักษะการคิดและการปฏิบัติขั้นสูง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) นำเสนอประเด็นปัญหา 2) สำรวจความเชื่อเดิม 3) สืบสอบหลักฐาน 4) เสริมต่อการเรียนรู้ 5) สะท้อนประสบการณ์ และ 6) ประยุกต์ในสถานการณ์ใหม่ 2. ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยการรู้สิ่งแวดล้อมหลังเรียนสูงขึ้นกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกองค์ประกอบของการรู้สิ่งแวดล้อม และนักเรียนมีพัฒนาการการรู้สิ่งแวดล้อมในช่วงระหว่างการเรียนการสอนสูงขึ้น


การพัฒนากระบวนการนิเทศการสอนตามแนวคิดการให้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อเสริมสร้างชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาครู, รัชนี นกเทศ Jan 2022

การพัฒนากระบวนการนิเทศการสอนตามแนวคิดการให้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อเสริมสร้างชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาครู, รัชนี นกเทศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากระบวนการนิเทศการสอนตามแนวคิดการให้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อเสริมสร้างชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาครู และ 2) ศึกษาผลของการใช้กระบวนการที่พัฒนาขึ้น การวิจัยและพัฒนานี้มี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิจัยเพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาครู ระยะที่ 2 การพัฒนากระบวนการฉบับร่าง ระยะที่ 3 การวิจัยเพื่อทดลองใช้กระบวนการ และระยะที่ 4 การปรับปรุงกระบวนการฉบับสมบูรณ์ กรณีศึกษาเป็นนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จำนวน 10 คน ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอน แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอน และการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติ Wilcoxon Matched-pair Singed rank test และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) กระบวนการนิเทศการสอนตามแนวคิดการให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อเสริมสร้างชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาครูที่พัฒนาขึ้น มีลักษณะเป็นกระบวนการที่อาจารย์พี่เลี้ยงและ/หรืออาจารย์นิเทศก์ ใช้ในการนิเทศนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตามระบบของการนิเทศตามปกติ ผ่านการสะท้อนมุมมองความคิดจนกระทั่งนักศึกษาครูมีการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอน การดำเนินการมี 3 วงจร ตามรอบของการนิเทศจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ วงจรที่ 1 การพัฒนานักศึกษาครูด้วยการกำหนดเป้าหมายแรกเริ่มตามความต้องการของนักศึกษาครู วงจรที่ 2 การพัฒนานักศึกษาครูเพิ่มเติมในเป้าหมายเดิมหรือการพัฒนาในเป้าหมายใหม่ตามความต้องการของนักศึกษาครู และวงจรที่ 3 การพัฒนานักศึกษาครูตามเป้าหมายที่กำหนดร่วมกันโดยนักศึกษาครูและผู้นิเทศ โดยในแต่ละวงจรมีขั้นตอน 3 ขั้นตอนที่มีรายละเอียดการดำเนินการต่างกันตามจุดเน้นของแต่ละวงจร ได้แก่ (1) สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาครูตระหนักในเป้าหมายการสอน เป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาครูเห็นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนและการพัฒนาตนเองในฐานะครูเป็นสำคัญ (2) สังเกตชั้นเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยผู้นิเทศสังเกตพฤติกรรมการสอนของนักศึกษาครูและสะท้อนข้อมูลการพัฒนาตามเป้าหมายให้นักศึกษาครูทราบ และ (3) เสริมพลังการเรียนรู้สู่การนำตนเอง โดยผู้นิเทศให้นักศึกษาครูพิจารณาและนำเสนอแนวทางในการพัฒนาตนเอง รวมถึงการกำกับติดตาม นำทางตนเองให้ไปสู่เป้าหมาย 2) ภายหลังเข้าร่วมกระบวนการนิเทศการสอนฯ ที่พัฒนาขึ้น ปรากฏว่านักศึกษาครูมีค่าเฉลี่ยคะแนนชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอนสูงกว่าก่อนเข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และในภาพรวมนั้นนักศึกษาครูทุกคนแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการมีชุดความคิดเติบโตด้านการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมกระบวนการ โดยพฤติกรรมที่สะท้อนถึงชุดความคิดเติบโตด้านแนวความคิดที่มีต่อนักเรียน ได้แก่ นักศึกษาครูมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ท้าทายความสามารถของนักเรียน และสนับสนุนให้นักเรียนทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จด้วยตนเอง และพฤติกรรมที่สะท้อนถึงชุดความคิดเติบโตด้านแนวความคิดต่อตนเองในฐานะครู ได้แก่ นักศึกษาครูแสดงพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนด้วยความมั่นใจ ยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดจากการจัดการเรียนการสอนของตนเองและเรียนรู้ที่จะพัฒนาการสอนของตนเองอย่างต่อเนื่อง


ผลการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดวาทศาสตร์และแนวคิดการสอนเขียนแบบร่วมมือรวมพลังที่มีต่อความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, รัชนีกร การภักดี Jan 2022

ผลการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดวาทศาสตร์และแนวคิดการสอนเขียนแบบร่วมมือรวมพลังที่มีต่อความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, รัชนีกร การภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดวาทศาสตร์และแนวคิดการสอนเขียนแบบร่วมมือรวมพลัง 2) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายระหว่างที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิดวาทศาสตร์และแนวคิดการสอนเขียนแบบร่วมมือรวมพลัง ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 21 คน ของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ และแผนการจัดการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย ปรากฏว่า 1) นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยภาพรวมและจำแนกตามองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านเนื้อหา ด้านการใช้ภาษา ด้านการลำดับความคิด และด้านคุณค่าต่อผู้อ่าน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ 5 ประเภท ได้แก่ การเขียนเรียงความ การเขียนสื่อสารแสดงทรรศนะ การเขียนสื่อสารเพื่อเชิญชวน การเขียนสื่อสารเพื่อโน้มน้าว และการเขียนสื่อสารเพื่อโต้แย้งของนักเรียน ปรากฏว่า นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ทุกประเภทในครั้งหลังดีขึ้นกว่าในครั้งก่อนหน้า


ผลการใช้รูปแบบการฝึกฝนกระบวนการสืบสอบ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมอดทนรอคอยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา, อรภิชา กองพนันพล Jan 2022

ผลการใช้รูปแบบการฝึกฝนกระบวนการสืบสอบ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมอดทนรอคอยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา, อรภิชา กองพนันพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมอดทนรอคอยก่อน ระหว่าง และหลังการใช้รูปแบบการฝึกฝนกระบวนการสืบสอบ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา ปีการศึกษา 2565 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 14 คน โดยมาจากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ (1) แผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมอดทนรอคอยโดยใช้รูปแบบการฝึกฝนกระบวนการสืบสอบ จำนวน 30 นาที/ครั้ง และ (2) ชุดการวัดพฤติกรรมอดทนรอคอย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติการทดสอบค่าที (t-test dependent) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า การใช้รูปแบบการฝึกฝนกระบวนการสืบสอบ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมอดทนรอคอยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา พบว่า ภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรม นักเรียนมีค่าเฉลี่ยเลขคณิตของคะแนนพฤติกรรมอดทนรอคอยสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการฝึกฝนกระบวนการสืบสอบ อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมอดทนรอคอยแบบค่อยเป็นค่อยไป นักเรียนมีแนวโน้มมีพฤติกรรมอดทนรอคอยได้เพิ่มมากขึ้น


ผลของการใช้กระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบข้ามทฤษฎีที่มีต่อความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, ชนาภรณ์ ปรีคง Jan 2022

ผลของการใช้กระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบข้ามทฤษฎีที่มีต่อความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย, ชนาภรณ์ ปรีคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคของนักเรียนก่อนและหลังการใช้กระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบข้ามทฤษฎี และ 2) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในภาพรวมและจำแนกรายองค์ประกอบ ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 40 คน ของโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษแห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค แบบสังเกตพฤติกรรมความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค แบบบันทึกการเรียนรู้ และแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบข้ามทฤษฎี วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบข้ามทฤษฎีมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบข้ามทฤษฎีมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรคในลักษณะที่ดีขึ้น ทั้งในภาพรวมและเมื่อจำแนกรายองค์ประกอบ