Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2020

Chulalongkorn University

Theatre and Performance Studies

Articles 1 - 5 of 5

Full-Text Articles in Arts and Humanities

การแสดงคณะเสียงอิสาน, ปัณณทัต ลำเฟือย Jan 2020

การแสดงคณะเสียงอิสาน, ปัณณทัต ลำเฟือย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง การแสดงคณะเสียงอิสาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติคณะ การแสดง และการจัดการของคณะเสียงอิสาน วิธีดำเนินการวิจัยด้วยการ ค้นคว้าเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า คณะเสียงอิสานเป็นคณะแสดงสัญจรขนาดใหญ่แสดงไปทั่วประเทศ มีคนนิยมมากมานานถึง 45 ปี เริ่มแสดงเวลา 21.00 น. ด้วยการร้องเพลงลูกทุ่งกลุ่มนักร้องประกอบหางเครื่อง ต่อด้วยนกน้อย อุไรพร หัวหน้าคณะเป็นนักร้องนำออก แสดงเวลา 22.30 น. พร้อมความอลังการของชุดการแสดง เวลา 24.00 น. เป็นการแสดงตลกเสียดสีสังคมนาน 30 นาที จึงเริ่มการแสดงลำเรื่องต่อกลอนแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้านอีสานแทรกคติธรรม จนถึงเวลา 04.00 น. แสดงเต้ยลาที่ศิลปินทุกคนออกแสดงอำลาผู้ชมให้จดจำและประทับใจ การรับงานมี 3 แบบ คือ งานจัดแสดงเอง งานเจ้าภาพจ้างแสดงให้คนดูฟรี และงานเจ้าภาพจ้างแสดงเพื่อเก็บค่าเข้าชม ในการแสดงเริ่มด้วยการจัดตั้งเวทีเสร็จใน 2 ชั่วโมง เวทียกพื้น 1.6 เมตร กั้นเป็นส่วนการแสดงและวงดนตรี มีหลังเวทีสำหรับเตรียมอุปกรณ์ ใต้ถุนเวทีเป็นที่เก็บและเปลี่ยนชุดของหางเครื่องซึ่งใช้เวลาเปลี่ยนเพียง 2 นาที เมื่อแสดงจบทุกคนต้องเก็บอุปกรณ์ให้เสร็จใน 2 ชั่วโมงแล้วออกเดินทางไปยังที่ใหม่ คณะเสียงอิสานที่นำทีมโดยนกน้อย อุไรพร ประสบความสำเร็จรุ่งเรืองมานานกว่า 45 ปี ด้วยการแสดงที่ความยิ่งใหญ่ทันสมัย ปรับปรุงการแสดงให้ถูกรสนิยมของผู้ชมทุกเพศทุกวัยและทุกวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่เสมอ มีการจัดการเรื่อง บุคลากร เวลาและวัสดุอุปกรณ์อย่างประหยัดมีคุณภาพและคุณธรรม สามารถฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจได้ด้วยปัญญาภาวะผู้นำและความสามัคคี


การแสดงในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, กนกพัชร์ แจ่มฟ้า Jan 2020

การแสดงในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, กนกพัชร์ แจ่มฟ้า

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง การแสดงในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการแสดงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการแสดงในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยศึกษาข้อมูลด้านการแสดงในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ใช้เครื่องมือในการศึกษาวิจัย ได้แก่ 1) สำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร 2) สัมภาษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3) อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ 4) เก็บข้อมูลภาคสนาม ผลการวิจัยพบว่า การแสดงที่พบในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณ วงเวียนใหญ่ มีรูปแบบที่หลากหลายและคัดเลือกแสดงที่มีจุดประสงค์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การแสดงแต่ละชุดนั้นมีเรื่องราวสื่อถึงพระราชประวัติของพระองค์ผ่านการแสดง หรือมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในสมัยธนบุรี โดยแบ่งรูปแบบการแสดงที่พบในงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ ปี พ.ศ. 2561 เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) รูปแบบการแสดงละคร เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับพระราชประวัติ ตลอดจนจำลองสถานการณ์การกอบกู้อิสรภาพสมัยธนบุรี 2) รูปแบบเบ็ดเตล็ด แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 2.1 การแสดงมหรสพจีน ได้แก่ การเชิดสิงโต – มังกรทอง และอุปรากรจีน 2.2 การแสดงมหรสพไทย ได้แก่ ระบำ รำ ฟ้อน ศิลปะการต่อสู้ไทย 2.3 การแสดงดนตรีขับร้องประกอบการแสดง โดยมีสำนักงานเขตคลองสานร่วมกับสำนักงานเขตธนบุรีเป็นประธานในการจัดงานในครั้งนี้ อีกทั้งในการจัดงานเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังถือเป็นการร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงามของฝั่งธนบุรีให้คงอยู่ต่อไป


บทบาทการแสดงลิเกของครูสกุณา รุ่งเรือง, วรรณวิภา วงวาน Jan 2020

บทบาทการแสดงลิเกของครูสกุณา รุ่งเรือง, วรรณวิภา วงวาน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบทบาทการแสดงนางลิเกของครูสกุณา รุ่งเรือง โดยใช้กระบวนการวิจัยคือ ศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์และสังเกตการแสดงลิเก จากวีดิทัศน์ ฝึกกระบวนท่ารำจากครูสกุณา รุ่งเรืองเพื่อเรียบเรียงและวิเคราะห์ข้อมูล มีประเด็นในการศึกษาบทบาทการแสดงลิเกแบ่งออกเป็น 7 รูปแบบ ได้แก่ บทบาทนางเอก บทบาทนางร้าย บาทบาทนางตลก บทบาทผู้หญิงปลอมเป็นผู้ชาย บทบาทการรำเกี้ยวเข้าพระ-เข้านาง บทบาทการรำออกตัว บทบาทการรำอาวุธ จากการศึกษาพบว่าครูสกุณา รุ่งเรืองมีคุณสมบัติเป็นครูลิเกโดยมีคุณลักษณะแบ่งออก 7 ลักษณะได้แก่ 1. การประพันธ์บทและการกำกับการแสดง เนื่องจากมีประสบการณ์การแสดงตั้งแต่วัยเด็ก 2. การด้นกลอนและการเจรจาเป็นส่วนสำคัญของการแสดงลิเก ผู้แสดงสามารถด้นกลอนสดได้โดยใช้คำที่สัมผัสคล้องจองทั้งดัดแปลงโทนเสียงตามลักษณะตัวละคร 3. การออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้ออกแบบมีแนวคิดและจินตนาการที่โดดเด่นเป็นลักษณะเฉพาะเข้ากับผู้สวมใส่ 4. การแต่งหน้า เป็นงานประณีตที่ต้องอาศัยสมาธิและความชำนาญ 5. แสดงได้ทุกบทบาท เนื่องจากได้ฝึกหัดบทบาทของนางลิเกมา 6. ร้องและรำเป็น มีพื้นฐานมาจากละครรำ 7. แสดงลิเกได้ทั้งคืนโดยมีเสียงที่สม่ำเสมอ ซึ่งได้ฝึกฝนการขับร้องและเรียนรู้กลวิธีในการขับร้องเพื่อให้มีกระแสเสียงสม่ำเสมอ เห็นได้ว่าครูสกุณา รุ่งเรืองมีการพัฒนาบทบาทการแสดงลิเกมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่าสามารถต่อยอดความรู้ต่อไป


แนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ละครชาตรีร่วมสมัย : กรณีศึกษาการกำกับการแสดงเรื่อง พายุพิโรธ, ชาคร ชะม้าย Jan 2020

แนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์ละครชาตรีร่วมสมัย : กรณีศึกษาการกำกับการแสดงเรื่อง พายุพิโรธ, ชาคร ชะม้าย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาการกำกับการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเรื่องพายุพิโรธผ่านแนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรม ผู้วิจัยในฐานะผู้กำกับการแสดง ศึกษาการสร้างสรรค์จากบทละครเรื่องพายุพิโรธ แปลจาก The Tempest ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) และละครชาตรี เพื่อค้นหาแก่นความคิดหลัก(Theme) และวิธีการนำเสนอ(Style) ที่สามารถสื่อสารหลัก(Message) จากบทละครควบคู่กับอัตลักษณ์ละครชาตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแสดงจากต่างวัฒนธรรมสามารถนำมาสร้างสรรค์ร่วมกันได้ ผู้วิจัยศึกษาแนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมและการกำกับการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเพื่อสร้างแนวทางกำกับ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการสร้างและจัดแสดง ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่ากระบวนการกำกับการแสดงด้วยแนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมหลักสำคัญคือ การกำหนดแก่นความคิดหลักของผู้กำกับการแสดงที่มีความเป็นสากล(Universality) เพื่อผสานอัตลักษณ์การแสดงจากทั้งสองวัฒนธรรม ทั้งในแง่ความคิดและรูปแบบที่จะส่งผลต่อทุกองค์ประกอบการแสดง ในทุกกระบวนการสร้างสรรค์จะต้องตระหนักถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรม(Cultural exchange) บนพื้นฐานความเคารพอย่างจริงใจต่ออัตลักษณ์และรากเหง้าวัฒนธรรม(Cultural Source) ส่งผลให้การพิจารณาบริบทสังคมและประเด็นร่วมสมัยของการแสดงนั้น ก็เพื่อมองหาศักยภาพในการสร้างสรรค์ร่วมกันของทั้งสองการแสดง เพื่อให้เกิดนิเวศการแสดงข้ามวัฒนธรรม(Intercultural performative ecology) ที่ผลักดันการปะทะสังสรรค์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่าการกำกับการแสดงละครชาตรีร่วมสมัยเรื่องพายุพิโรธ เริ่มต้นจากวัตถุดิบการแสดง ทั้งบทละครพายุพิโรธและละครชาตรีว่าสร้างแรงบันดาลใจอย่างไรแก่ผู้กำกับในฐานะศิลปิน ซึ่งไม่มีหลักการตายตัว ข้อถกเถียงในประเด็นการรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์หรือพัฒนาจึงไม่ควรจะต้องแบ่งแยกประเภทเพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของศิลปิน แนวคิดการแสดงข้ามวัฒนธรรมจึงเป็นการสร้างการแสดงในกระแส โลกาภิวัตน์ที่ส่งผลให้ศิลปินทั่วทุกพื้นที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนการแสดงจากต่างวัฒนธรรม เพื่อนำมาสร้างสรรค์บนบริบทการแสดงร่วมสมัยที่เปิดโอกาสให้นำเอาอัตลักษณ์การแสดงจากทุกพื้นที่วัฒนธรรมมาใช้สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การแสดงที่ยังคงดำเนินต่อไป


ละครไทยเรื่อง เฮเลนแห่งทรอย, จารุพงศ์ จันทรีย์ Jan 2020

ละครไทยเรื่อง เฮเลนแห่งทรอย, จารุพงศ์ จันทรีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องละครไทยเรื่อง เฮเลนแห่งทรอย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ละคร ที่มีเนื้อเรื่องจากต่างชาติให้เป็นละครไทย โดยการทดลองสร้างการแสดงและทำการวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการผสมผสานศิลปะทั้งสองวัฒนธรรม ระหว่างนาฏกรรมกรีกโบราณ และนาฏกรรมไทย ผู้วิจัยเลือกเรื่อง เฮเลนแห่งทรอย มาใช้ในการทดลองสร้างสรรค์เป็นละครไทย เนื่องจากมีโครงสร้างและเนื้อหาใกล้เคียงกับเรื่องรามเกียรติ์ของไทย ได้แก่การลักพาตัวและ การทำสงครามแย่งชิงสตรีผู้งดงาม โดยผู้วิจัยได้สร้างสรรค์การแสดงผ่านกระบวนการออกแบบ การกำหนดและปรับปรุงเนื้อเรื่อง การประพันธ์บทละคร การบรรจุเพลง การจัดสร้าง เครื่องสวมศีรษะเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ประกอบการแสดง การสร้างตัวละคร การคัดเลือก นักแสดง การฝึกซ้อมนักแสดง นักดนตรี นักร้อง ผู้พากย์เจรจา และการจัดการแสดงจริง ผลจากการทดลองทำให้ทราบว่าเนื้อเรื่องจากวรรณกรรมกรีกสามารถจัดแสดงในรูปแบบนาฏกรรมไทยได้ เนื่องจากศิลปะดั้งเดิมของไทยมีความคล้ายคลึงกับศิลปะกรีกโบราณหลายประการได้แก่ การสวมหน้ากากของการแสดงโขนและละครกรีก เนื้อเรื่องสงครามแย่งชิงสตรีในเรื่อง เฮเลนแห่งทรอยของกรีกและรามเกียรติ์ของไทย ลำดับเหตุการณ์ในเรื่องเฮเลนแห่งทรอย ซึ่งสามารถนำมาแสดงในรูปแบบโขนหรือละครรำของไทยได้ ลำดับชั้นทางสังคมกรีก กับลำดับชั้นทางสังคมในนาฏกรรมไทย ความหลากหลายของสำเนียงการออกเสียงชื่อเฉพาะ ในเรื่องเฮเลนแห่งทรอยกับความหลากหลายในการเลือกใช้คำสัมผัสในกลอนบทละครไทย และการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการขับร้องบทกวีร้อยกรองของกรีกกับการบรรยายเรื่องราว ด้วยการขับร้องคำกลอนบทละครหรือการพากย์เจรจาโขน การสร้างสรรค์ละครเรื่อง เฮเลนแห่งทรอย จึงเป็นการแสดงละครไทยเรื่องแรกที่นำเนื้อเรื่องจากวรรณกรรมกรีก มาจัดแสดง เป็นแนวทางให้แก่ผู้วิจัยและผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดเป็นการแสดงที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้ในอนาคต