Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2020

Chulalongkorn University

Comparative Literature

Articles 1 - 11 of 11

Full-Text Articles in Arts and Humanities

การต่อรองกับแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง : กรณีศึกษานวนิยายร่วมสมัยที่มีสัตว์เป็นผู้เล่าเรื่อง, กิตติกานต์ หะรารักษ์ Jan 2020

การต่อรองกับแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง : กรณีศึกษานวนิยายร่วมสมัยที่มีสัตว์เป็นผู้เล่าเรื่อง, กิตติกานต์ หะรารักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การต่อรองกับแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของนวนิยายที่เล่าผ่านมุมมองของสัตว์สามเรื่อง ได้แก่ อะ ด็อกส์ เพอร์โพส โดย ดับเบิลยู. บรูซ แคเมอรอน, เดลตา เดอะ แดนซิง เอลิเฟนท์ : อะ เมมมัวร์ โดย เค. เอ. มอนโร. และ เดอะ ทราเวลลิง แคต ครอนิเคิลส์ โดย ฮิโระ อะริกะวะ ผลการศึกษาพบว่านวนิยายทั้งสามเรื่องเสนอให้สัตว์ต่อรองกับแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในมิติเรื่อง ภาษา เหตุผล และจริยธรรม สำหรับในมิติของภาษา นวนิยายทั้งสามเรื่องเสนอให้เห็นว่าสัตว์ต่อรองกับคุณค่าที่มนุษย์กำหนดให้กับพวกมัน เช่น การเป็นสินค้าหรือการเป็นภาพแทนของสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา โดยตัวละครสัตว์สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือชี้แจงต่อการถูกกำหนดนิยามดังกล่าว ต่อมาในมิติเรื่องเหตุผล นวนิยายทั้งสามเรื่องเสนอให้เห็นความสามารถในการคิดและการตระหนักรู้ของสัตว์ สิ่งที่ถูกเสนอในมิตินี้นำไปสู่การปลูกฝังให้มนุษย์เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งมีชีวิตอื่นเพราะมนุษย์เล็งเห็นคุณสมบัติที่สายพันธุ์มนุษย์มีร่วมกับสายพันธุ์เหล่านั้น สำหรับมิติด้านจริยธรรม นวนิยายสะท้อนให้เห็นว่าสัตว์สามารถแสดงออกในเชิงจริยธรรมได้ แม้ว่าการแสดงออกดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ นอกจากนี้ การพิจารณาสัตว์อย่างใคร่ครวญยังอาจทำให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงแง่มุมด้านจริยธรรมของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า นวนิยายทั้งสามเรื่องข้างต้นยังไม่สามารถก้าวข้ามแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลางได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากตัวละครสัตว์ยังคงถูกมนุษย์ควบคุมผ่านการทำให้ตัวละครสัตว์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงมนุษย์ หรือทำให้มนุษย์ยอมรับ


การนำเสนอความเป็นอื่น: นักแสดงตัวประหลาดในนวนิยายอเมริกันร่วมสมัย, วิริยา ด่านกำแพงแก้ว Jan 2020

การนำเสนอความเป็นอื่น: นักแสดงตัวประหลาดในนวนิยายอเมริกันร่วมสมัย, วิริยา ด่านกำแพงแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์การนำเสนอภาพความเป็นอื่นของนักแสดงตัวประหลาดในนวนิยายอเมริกันร่วมสมัยคัดสรร โดยเรื่องเล่าดังกล่าวเผยให้เห็นอิทธิพลของวาทกรรมกระแสหลักที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอื่นทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมทางการแพทย์และทางเชื้อชาติที่ประกอบสร้างแนวคิดขั้วตรงข้ามเกี่ยวกับความปกติ/ความประหลาด ตลอดจนศึกษาบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของการแสดงตัวประหลาดและนักแสดงตัวประหลาดในช่วงเวลาที่ถูกนำเสนอในนวนิยายคัดสรร เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์กระบวนการสร้างความหมายของความปกติ/ความประหลาดซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผลการศึกษาสรุปได้ว่างานเขียนนวนิยายอเมริกันร่วมสมัยคัดสรรที่นำเสนอภาพนักแสดงตัวประหลาด แสดงให้เห็นถึงการใช้วาทกรรมความพิการประกอบกับวาทกรรมการแสดงตัวประหลาดในการประกอบสร้างความเป็นอื่นของนักแสดงตัวประหลาด ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มหรือประเภทที่ตัวละครนักแสดงตัวประหลาดแต่ละตัวถูกพิจารณาจัดวางให้เป็น เช่น ความเป็นอื่นทางด้านเรือนร่างและความเป็นอื่นทางด้านเชื้อชาติ โดยที่จากการวิเคราะห์การสร้างอัตลักษณ์ของตัวละครนักแสดงตัวประหลาดผ่านความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ ที่ปรากฏในนวนิยายคัดสรรพบว่า นวนิยายคัดสรรบางเรื่องแสดงให้เห็นถึงการวิพากษ์และโต้กลับของตัวละครเหล่านี้ต่อแนวคิดเรื่องสภาวะความปกติและอคติทางด้านเชื้อชาติผ่านการใช้ร่างกายทั้งบนและภายนอกเวที อย่างไรก็ตาม ในนวนิยายคัดสรรบางเรื่องยังคงแสดงให้เห็นถึงการผลิตซ้ำการสร้างภาพลักษณ์แบบเหมารวมของบุคคลที่มีร่างกายที่ถูกมองว่า “เบี่ยงเบน” จากบรรทัดฐานและตีตราพวกเขาเหล่านั้นอีกครั้งโดยไม่ตั้งใจ


การแปลนิทานร้อยกรองสำหรับเด็กเรื่อง The Everywhere Bear ของ Julia Donaldson เป็นร้อยกรองภาษาไทย, เอกชัย วังประภา Jan 2020

การแปลนิทานร้อยกรองสำหรับเด็กเรื่อง The Everywhere Bear ของ Julia Donaldson เป็นร้อยกรองภาษาไทย, เอกชัย วังประภา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแปลหนังสือนิทานร้อยกรองสำหรับเด็กเรื่อง The Everywhere Bear ของ จูเลีย โดนัลด์สัน จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ต้นฉบับเป็นตัวบทสื่อผสมระหว่างเนื้อความกับภาพประกอบซึ่งไม่สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ ผู้วิจัยจึงศึกษาทฤษฎีการแปลที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดแนวทางการแปลเป็นแบบสื่อสารความหมาย ประยุกต์ใช้แนวทางการแปลบทร้อยกรองของเลอเฟอแวร์ วิเคราะห์ตัวบทที่มีสื่อผสมหลายรูปแบบตามแนวคิดของนอร์ดและดิเซอร์โต ประยุกต์ใช้ทฤษฎีความเกี่ยวเนื่องของกุตต์ และทฤษฎีการสื่อสารรูปแบบผสมของเครสในการแก้ปัญหาการแปล สารนิพนธ์นี้มุ่งเน้นเสนอวิธีการแปลเพื่อสื่อความหมาย ดังนั้นทุกองค์ประกอบในสารนิพนธ์ ตั้งแต่การกำหนดแนวทางการแปล การวิเคราะห์ตัวบทต้นฉบับ การแปลตัวบท จนถึงการแก้ปัญหาการแปล ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ผลการวิจัยพบว่า ความรู้ ทฤษฎี และแนวคิดต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นช่วยให้ผู้วิจัยเข้าใจต้นฉบับ แก้ปัญหาการแปล และแปลตัวบทออกมาเป็นบทร้อยกรองภาษาไทยได้อย่างเหมาะสมและมีความสอดคล้องกันระหว่างบทแปลภาษาไทยกับภาพมากที่สุด


การแปลบทร้อยกรองอิสระจากหนังสือเรื่อง Ceremony ของ Leslie Marmon Silko, นิดา สุสัณฐิตพงษ์ Jan 2020

การแปลบทร้อยกรองอิสระจากหนังสือเรื่อง Ceremony ของ Leslie Marmon Silko, นิดา สุสัณฐิตพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการแปลบทร้อยกรองจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ซึ่งผู้วิจัยได้หยิบยกบทร้อยกรองอิสระจากหนังสือเรื่อง Ceremony ของ Leslie Marmon Silko มาเป็นกรณีศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทฤษฎีการแปลและแนวทางการแปลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางการวิเคราะห์ตัวบทประเภทบทร้อยกรองอิสระซึ่งมีลักษณะเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ควบคู่ไปกับการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษาถิ่นและความเชื่อของชนพื้นเมืองอเมริกันอินเดียน เพื่อให้สามารถแปลส่วนหนึ่งของตัวบทที่คัดสรรจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้อย่างเหมาะสม สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ตัวบท ผู้วิจัยได้เลือกใช้แนวทางการวิจารณ์วรรณกรรมอเมริกันร่วมสมัยผ่านมุมมองวรรณกรรมเชิงนิเวศ ของดารินทร์ ประดิษฐทัศนีย์ เพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติที่ได้ถ่ายทอดผ่านเนื้อหาและกลวิธีการประพันธ์ นอกเหนือจากนั้น ผู้วิจัยยังได้ใช้ประยุกต์ใช้แนวทางการวิเคราะห์องค์ประกอบแปดประการของกวีนิพนธ์ ของจอห์น แมกเร เพื่อวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะและรูปแบบการประพันธ์ของบทร้อยกรองแต่ละบท ในส่วนของแนวทางการถ่ายทอดบทร้อยกรองอิสระจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยได้เลือกใช้กลวิธีการแปลแบบตีความตามแนวทางการแปลกวีนิพนธ์ของอังเดร เลอเฟอแวร์ ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้รูปแบบและลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมมุขปาฐะที่พบในวัฒนธรรมไทย โดยมีจุดประสงค์ที่จะถ่ายทอดบทร้อยกรองอิสระซึ่งสามารถรักษาความหมายได้อย่างครบถ้วนและสามารถสร้างผลกระทบทางอารมณ์แก่ผู้อ่านได้อย่างทัดเทียมและสอดคล้องกับหน้าที่ของตัวบทต้นฉบับ


การถ่ายทอดความเป็นสมัยใหม่นิยม (Modernism) ในบทกวีนิพนธ์เรื่อง “The Love Song Of J. Alfred Prufrock” โดย ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot), มิรา อุไรกุล Jan 2020

การถ่ายทอดความเป็นสมัยใหม่นิยม (Modernism) ในบทกวีนิพนธ์เรื่อง “The Love Song Of J. Alfred Prufrock” โดย ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot), มิรา อุไรกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการถ่ายทอดความเป็นสมัยใหม่นิยม (Modernism) ในบท กวีนิพนธ์เรื่อง “The Love Song of J. Alfred Prufrock” โดย ที.เอส. เอเลียต จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแนวคิดสมัยใหม่นิยมในบริบทของโลกตะวันตกและบทวิเคราะห์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการประพันธ์กวีนิพนธ์ของที.เอส. เอเลียต เพื่อนำมาใช้เป็น แนวทางการวิเคราะห์ตัวบท พร้อมทั้งศึกษาแนวคิดสมัยใหม่นิยมที่เกี่ยวข้องกับการประพันธ์ กวีนิพนธ์ในประเทศไทย แนวทางการประพันธ์กวีนิพนธ์ของกวีไทยร่วมสมัย ตลอดจนทฤษฎีการแปลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แนวทางการแปลกวีนิพนธ์ของฟรานซิส อาร์. โจนส์ (Francis R. Jones) รวมถึงแนวคิดเรื่องสัมพันธบท (Intertextuality) และกลวิธีการแปลของลอว์เรนซ์ เวนูติ (Lawrence Venuti) เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการแปลเพื่อถ่ายทอดความเป็นสมัยใหม่นิยมอันเป็นแนวคิดสำคัญของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ ผลการวิจัยพบว่า การแปลเพื่อถ่ายทอดความเป็นสมัยใหม่นิยมอันเป็นเป้าหมายหลักของสารนิพนธ์ฉบับนี้ ทำได้ด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์คุณลักษณะต่าง ๆ ที่สะท้อนความเป็นสมัยใหม่นิยมภายในตัวบทต้นฉบับ โดยประยุกต์ใช้โครงสร้างกวีนิพนธ์แบบผิดแผกจาก ขนบของกวีไทยในยุคร่วมสมัย และให้ความสำคัญกับความหมายเป็นหลัก ซึ่งสามารถสะท้อนความเป็นสมัยใหม่นิยมที่ตั้งคำถามต่อขนบ ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาในการวิจัย และนำไปสู่บทแปลที่สามารถสะท้อนตัวบทต้นฉบับได้อย่างใกล้เคียง


การถ่ายทอดภาพพจน์ประเภทบุคคลวัตและอุปลักษณ์ในการแปลกวีนิพนธ์ เรื่อง Il Penseroso ของ John Milton, ปิยธิดา คำพิพจน์ Jan 2020

การถ่ายทอดภาพพจน์ประเภทบุคคลวัตและอุปลักษณ์ในการแปลกวีนิพนธ์ เรื่อง Il Penseroso ของ John Milton, ปิยธิดา คำพิพจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการแปลบุคคลวัตและอุปลักษณ์ ในบทกวีนิพนธ์ เรื่อง Il Penseroso จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้วิจัยได้นำทฤษฎีการกระทำการแปลของคริสติอันเน นอร์ด ทฤษฎีสโคโพสของคาทารินา ไรส์และฮานส์ แฟร์เมีย หลักการแปลกวีนิพนธ์ของอองเดร เลอเฟอแวร์ หลักการแปลกวีนิพนธ์และหลักการแปลอุปมาโวหารของสัญฉวี สายบัว หลักการแปลกวีนิพนธ์ของปราณี บานชื่น และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นแนวทางการแปลเพื่อรักษาสุนทรียภาพและความหมายเดิมในตัวบทต้นฉบับ และถ่ายทอดการใช้ภาพพจน์ที่สะท้อนความเชื่อและความสามารถทางกวีนิพนธ์ของกวี ผลการวิจัยพบว่า การแปลบุคคลวัตและอุปลักษณ์ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของสารนิพนธ์จำเป็นต้องใช้แนวทางการแปลมากกว่าหนึ่งแนวทางเพื่อให้การแปลสัมฤทธิ์ผล โดยในการแปลบุคคลวัตด้านธรรมชาติสามารถใช้การแปลแบบตรงตัวได้ แต่ในการแปลบุคคลวัตด้านวรรณคดีจำเป็นต้องใช้การแปลแบบกึ่งตรงตัวควบคู่ไปกับการแปลเทียบเคียงและการขยายความเพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน โดยแนวทางการแปลที่กล่าวถึงนี้สามารถรักษาสุนทรียภาพและความหมายเดิมในตัวบทต้นฉบับไว้ได้ และช่วยแก้ไขปัญหาการแปลจนนำไปสู่การถ่ายทอดการใช้ภาพพจน์ตามต้นฉบับได้อย่างใกล้เคียง


การศึกษาขนบในการแปลชื่อภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (Science Fiction Movies), ณพัฐธิกา จุลเด็น Jan 2020

การศึกษาขนบในการแปลชื่อภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (Science Fiction Movies), ณพัฐธิกา จุลเด็น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาขนบในการแปลชื่อภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (Science Fiction: Sci-fi) ระหว่างช่วงพ.ศ. 2541-2555 และช่วงพ.ศ. 2556-2563 เพื่อค้นหาว่าในยุคหลังการแปลชื่อภาพยนตร์บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์มีขนบการแปลอย่างไร และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคืออะไร นอกจากนี้ผู้วิจัยยังต้องการศึกษาว่าประเภทย่อยของภาพยนตร์นั้นจะมีผลต่อขนบในการแปลภาพยนตร์หรือไม่ โดยผู้วิจัยได้คัดเลือกชื่อภาพยนตร์ไซไฟทั้งหมดจำนวน 229 รายชื่อ และได้จำแนกประเภทย่อยของภาพยนตร์ในทั้งสองช่วงเวลาออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาพยนตร์ไซไฟ-แอ็คชั่น ภาพยนตร์ไซไฟ-ระทึกขวัญ ภาพยนตร์ไซไฟ-ผจญภัย ภาพยนตร์ไซไฟ-ตลก และภาพยนตร์ไซไฟ-โรแมนติก จากการศึกษาผู้วิจัยพบว่า ในยุคหลังนั้น กลุ่มภาพยนตร์ที่มีแนวโน้มของขนบในการแปลโดยเคลื่อนเข้าหาวัฒนธรรมปลายทาง ได้แก่ กลุ่มภาพยนตร์ไซไฟ-ตลก โดยสะท้อนผ่านการใช้กลวิธีการแปลแบบตั้งชื่อใหม่ และกลุ่มภาพยนตร์ไซไฟ-โรแมนติก โดยสะท้อนผ่านการใช้กลวิธีการแปลความ ทั้งนี้การใช้กลวิธีการแปลความและการตั้งชื่อใหม่อาจทำให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์และอาจทำให้ผู้ชมตัดสินใจรับชมภาพยนตร์ สำหรับกลุ่มภาพยนตร์ที่มีแนวโน้มของขนบในการแปลเเบบประนีประนอมระหว่างการเคลื่อนเข้าหาวัฒนธรรมต้นทางและปลายทาง ได้แก่ กลุ่มภาพยนตร์ไซไฟ-แอ็คชั่น กลุ่มภาพยนตร์ไซไฟ-ระทึกขวัญ และกลุ่มภาพยนตร์ไซไฟ-ผจญภัย โดยสะท้อนผ่านกลวิธีการแปลแบบทับศัพท์โดยการขยายความเพิ่มเติม ซึ่งการทับศัพท์เป็นการรักษาชื่อในภาษาต้นทาง และการขยายความเพิ่มเติมเป็นการสะท้อนเนื้อหาของภาพยนตร์เพื่อให้ผู้ชมเกิดความสนใจที่จะรับชมภาพยนตร์ดังกล่าว


ประมวลศัพท์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ, ศิริพร เพียรชอบธรรม Jan 2020

ประมวลศัพท์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ, ศิริพร เพียรชอบธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทฤษฎีและกระบวนการจัดทำประมวลศัพท์ และนำความรู้ที่ได้มาสร้างประมวลศัพท์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งประกอบด้วยศัพท์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศในมิติของการทำงาน สารนิพนธ์ฉบับนี้ยังมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ นักแปล ล่าม ตลอดจนผู้ที่สนใจในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในการใช้เป็นเอกสารอ้างอิง สารนิพนธ์ฉบับนี้ประยุกต์ใช้ทฤษฎี แนวทาง และหลักการตามกระบวนการจัดทำประมวลศัพท์ที่นักศัพทวิทยาหลายๆ ท่านได้นำเสนอไว้ และจัดทำเป็นประมวลศัพท์ที่ประกอบด้วยศัพท์จำนวนทั้งสิ้น 30 คำ ซึ่งแต่ละคำจะประกอบด้วยข้อมูลศัพท์ภาษาอังกฤษ ศัพท์เทียบเคียงภาษาไทย ประเภทไวยากรณ์ ขอบเขตข้อมูล นิยาม บริบทการใช้ศัพท์ รูปศัพท์อื่นที่เกี่ยวข้อง และหมายเหตุแสดงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์


โครงการวิจัยแนวทางการแปลถ้อยคำที่สะท้อนอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในตัวบทโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบนเว็บไซต์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย, อรสุรางค์ แสงสมสุรศักดิ์ Jan 2020

โครงการวิจัยแนวทางการแปลถ้อยคำที่สะท้อนอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในตัวบทโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบนเว็บไซต์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย, อรสุรางค์ แสงสมสุรศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในตัวบทโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมถึงศึกษากลวิธีการถ่ายทอดอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์จากต้นฉบับไปยังฉบับแปล การวิจัยนี้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางสำหรับตกแต่งทั้งหมด 240 ผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ตราสินค้าที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผู้วิจัยศึกษาแนวคิดอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ตามแนวภาษาศาสตร์ปริชานของ Lakoff และ Johnson (2003) แนวทางการระบุรูปภาษาแสดงอุปลักษณ์จากกลุ่มนักวิชาการ Pragglejaz Group (2007) และการจัดประเภทกลุ่มคำศัพท์ตามวงความหมายจากงานวิจัยเกี่ยวกับอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ในตัวบทประเภทต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาลักษณะภาษาโฆษณาและประเภทอุปลักษณ์ที่พบในโฆษณาเครื่องสำอางในภาษาอังกฤษและภาษาไทย และจากการศึกษาแนวทางการแปลอุปลักษณ์ตามแนวคิดแบบดั้งเดิมและตามแนวภาษาศาสตร์ปริชาน ผู้วิจัยได้เลือกใช้กรอบการวิเคราะห์กลวิธีการแปลที่ผสมผสานกันของ Deignan et al. (1997) Schäffner (2004) และ Toury (1995) ผลการวิจัยพบว่า ในตัวบทโฆษณาเครื่องสำอางภาษาอังกฤษที่คัดเลือกมามีอุปลักษณ์ทั้งหมด 29 ประเภท มีจำนวนรูปภาษาที่แสดงอุปลักษณ์ทั้งหมด 1,391 ตัวอย่าง ผู้วิจัยเลือกอุปลักษณ์ที่พบสูงสุดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อุปลักษณ์สงคราม แสง มนุษย์ สุขภาพ พืชและการเพาะปลูก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร ศิลปะ อาหารและโภชนาการ และภาชนะ ซึ่งจำนวนรูปภาษาที่แสดงอุปลักษณ์ทั้งหมด 1,166 ตัวอย่าง นำมาวิเคราะห์อุปลักษณ์ที่พบในฉบับแปลและกลวิธีการแปล พบว่าภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีอุปลักษณ์ทั้งหมดนี้เหมือนกัน ผลการวิเคราะห์กลวิธีการแปลเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ พบว่ากลวิธีการแปลที่พบมากที่สุดคือ 1) การแปลโดยรักษามโนทัศน์เดิม แต่รูปภาษาแสดงอุปลักษณ์ต่างจากต้นฉบับ ร้อยละ 51.41 ตามด้วย 2) การแปลโดยรักษามโนทัศน์เดิม และรูปภาษาแสดงอุปลักษณ์ตรงตามต้นฉบับ ร้อยละ 26.90 3) การแปลโดยไม่รักษามโนทัศน์ (ไม่มีรูปภาษาแสดงอุปลักษณ์) ร้อยละ 12.93 4) การแปลโดยใช้มโนทัศน์ที่แตกต่างกัน ร้อยละ 4.62 และ 5) การละไม่แปล ร้อยละ 4.11 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเพิ่มมโนทัศน์ที่ไม่ปรากฏในต้นฉบับเข้ามาในฉบับแปลด้วย โดยสรุป การถ่ายทอดอุปลักษณ์เชิง มโนทัศน์ในตัวบทโฆษณาเครื่องสำอางจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทแทบไม่พบปัญหาในการแปลที่มาจากปัจจัยทางวัฒนธรรมซึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมปลายทางรับค่านิยมและวัฒนธรรมจากต่างชาติโดยเฉพาะเรื่องความงามมาอย่างยาวนาน จึงสามารถรักษามโนทัศน์เดิมในต้นฉบับได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลวิธีการแปลอื่น ๆ แสดงให้เห็นการปรับบทแปลในตัวบทโฆษณาเครื่องสำอาง


การแปลมนต์คาถาในนิยายภาพเรื่อง Zatanna ของ Paul Dini, ธัญจิรา จันทร์ประสิทธิ์ Jan 2020

การแปลมนต์คาถาในนิยายภาพเรื่อง Zatanna ของ Paul Dini, ธัญจิรา จันทร์ประสิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์เรื่องนี้มุ่งหาแนวทางการแปลมนต์คาถาซึ่งเป็นศิลปะการเล่นทางภาษาแบบร่ายกลับหลังและพาลินโดรมในนิยายภาพเรื่อง ซาแทนน่า (Zatanna) ของ พอล ดินี (Paul Dini) ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางการแปลไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องขนบการแปลของ กิเดียน ทูรี (Gideon Toury) ร่วมกับทฤษฎีวัจนกรรมของ เจ. แอล. ออสติน (J. L. Austin) และกระบวนการภารตานุวาทของ อัสนี พูลรักษ์ เพื่อเป็นแนวทางที่จะทำให้ผู้อ่านบทแปลภาษาไทยยอมรับได้ตามขนบภาษาเวทมนตร์ของไทย 2. การประยุกต์ใช้ทฤษฎีประเด็นสัมพันธ์ของ เออร์เนสต์ ออกัส กัตต์ (Ernest – August Gutt) ร่วมกับกลวิธีการแปลการเล่นคำของ เดิร์ก เดอลาบาสติตา (Dirk Delabastita) เพื่อทดแทนการเล่นทางภาษาของต้นฉบับและสร้างผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุดทั้งในแง่ของความหมายและการเล่นทางภาษา ซึ่งศิลปะการเล่นทางภาษาของไทยที่ผู้วิจัยเลือกใช้ คือ การเล่นคำผวนและฉันทลักษณ์ของกลบท และ 3. การปรับใช้กลวิธีการแปลการ์ตูนของ มิฮาล โบโดโร (Michal Borodo) เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาและวัจนลีลาของต้นฉบับภาษาอังกฤษออกมาเป็นบทแปลภาษาไทยได้อย่างสมจริงที่สุด ผลการศึกษาพบว่า การใช้คำยืมภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตตามกระบวนการภารตานุวาทสามารถช่วยยกระดับภาษาของมนต์คาถาให้มีความศักดิ์สิทธิ์ตามขนบการใช้ภาษาเวทมนตร์ของไทย การเล่นคำผวนและฉันทลักษณ์ของกลบทเป็นกลวิธีที่สามารถสร้าง ผลลัพธ์ (Effect) ที่มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุดและเป็นการเล่นคำที่ผู้ใช้ภาษาไทยส่วนใหญ่คุ้นเคย จึงไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจ (Effort) เกินความจำเป็น และการปรับใช้กลวิธีการแปลการ์ตูน ซึ่งประกอบด้วย การแปลแบบเพิ่ม (Addition) การแปลแบบลด (Condensation) และการแปลแบบแปลง (Transformation) ก็เป็นประโยชน์ต่อการแปลมนต์คาถาและข้อความทั้งหลายเช่นกัน


ตุ๊ดทะลุมิติ (พิภพจอมนาง): การยั่วล้อแบบเควียร์ในฐานะบทวิพากษ์บรรทัดฐานของสังคมรักต่างเพศ, คณิน ฉัตรวัฒนา Jan 2020

ตุ๊ดทะลุมิติ (พิภพจอมนาง): การยั่วล้อแบบเควียร์ในฐานะบทวิพากษ์บรรทัดฐานของสังคมรักต่างเพศ, คณิน ฉัตรวัฒนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยการยั่วล้อแบบเควียร์ในฐานะบทวิพากษ์บรรทัดฐานของสังคมรักต่างเพศ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ เพื่อศึกษาการนำเสนอภาพของกลุ่มเควียร์ในนวนิยายแฟนตาซีชุด ตุ๊ดทะลุมิติ (พิภพจอมนาง) จำนวน 6 เล่ม ของ นปภา จากการศึกษาพบว่าการใช้องค์ประกอบของความเป็นแฟนตาซีในการพากลุ่มตัวละครเอกเควียร์เดินทางทะลุมิติไปยังดินแดนเสมือนจีนโบราณและเข้าไปสวมบทบาทอยู่ในร่างของอิสตรี ไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของกลุ่มเควียร์ในลักษณะที่สยบยอมต่อขนบโดยดุษณี หากแต่เป็นการแสดงให้สมบทบาทเพื่อสร้างการยอมรับในสังคม อีกทั้งการแสดงตัวตนภายนอกโดยสวมใส่เรือนร่างสตรีตามขนบนิยมรักต่างเพศที่สวนทางกับตัวตนภายในของกลุ่มตัวละครเอกเควียร์ สอดคล้องกับการยั่วล้อแบบเควียร์แคมป์ (camp) ซึ่งเป็นการยั่วล้อที่มุ่งวิพากษ์บรรทัดฐานสังคมรักต่างเพศผ่านการแสดง โดยการยั่วล้อบรรทัดฐานสังคมรักต่างเพศที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายชุดนี้ ไม่เพียงเผยให้เห็นข้อจำกัด ความคับแคบ และความรุนแรงของบรรทัดฐานรักต่างเพศ แต่ยังนำเสนอให้เห็นถึงการฉวยใช้ช่องโหว่ของกรอบกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเองและพวกพ้องเควียร์อีกด้วย