Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2019

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Music

Articles 1 - 10 of 10

Full-Text Articles in Arts and Humanities

กรรมวิธีการสร้างบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์, พรรษพงศ์ สิขัณฑกนาค Jan 2019

กรรมวิธีการสร้างบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์, พรรษพงศ์ สิขัณฑกนาค

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องกรรมวิธีการสร้างบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทเกี่ยวกับบัณเฑาะว์ ชีวประวัติครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ กรรมวิธีการสร้างบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ และปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี ด้านประวัติศาสตร์ ดนตรีพระราชพิธี และใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมเป็นเวลา 10 เดือน ผลการวิจัยพบว่าบัณเฑาะว์ปรากฏในคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์พระศิวะ จึงใช้ในพระราชพิธีสำคัญเท่านั้น บัณเฑาะว์มีส่วนประกอบทั้งหมด 9 ส่วน วิธีการบรรเลงแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือการไกวสำหรับการประโคมและการไกวสำหรับวงขับไม้ ในด้านการศึกษาประวัติชีวิตของครูบุญรัตน์พบว่าท่านเป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด เริ่มฝึกหัดการสร้างเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือตั้งแต่อายุ 20 ปีโดยได้รับการถ่ายทอดจากเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ได้รับมอบกระสวนเครื่องดนตรีราชสำนักภาคกลางจากอาจารย์ภาวาส บุนนาค เสาบัณเฑาะว์เป็นผลงานการออกแบบที่ใช้เวลาศึกษาและพัฒนาด้วยตนเอง กรรมวิธีการสร้างบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ เริ่มจากการคัดเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ และปรับวัสดุให้มีความแข็งแรงทนทานมากยิ่งขึ้น ขั้นตอนการสร้างบัณเฑาะว์เริ่มด้วยขั้นตอนการเตรียมขอบบัณเฑาะว์ ทำโครงบัณเฑาะว์ ทำหัวขุน ทำเสาบัณเฑาะว์ ทำขันชะเนาะ และประกอบบัณเฑาะว์ การกลึงบัณเฑาะว์ของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ มีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ การกลึงลวดลายต่าง ๆ คมชัดเปี่ยมด้วยสุนทรียะในเชิงช่างเป็นความประณีตในงานประณีตศิลป์ และการเก็บรายละเอียดที่งดงามชัดเจน จึงสร้างความเป็นอัตลักษณ์เชิงช่างของครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์อย่างแท้จริง


การสืบทอดความรู้ด้านซอสามสายของครูเจริญใจ สุนทรวาทิน, วีรศิลป์ ห่วงประเสริฐ Jan 2019

การสืบทอดความรู้ด้านซอสามสายของครูเจริญใจ สุนทรวาทิน, วีรศิลป์ ห่วงประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังสายการสืบทอดความรู้ วิธีการถ่ายทอดความรู้ และการสืบทอดความรู้ของครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ผลการศึกษาพบว่า (1) ครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน) และครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล มาบูรณาการเข้ากับความรู้ด้านขับร้องและบุคลิกเฉพาะตน จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเน้นความเรียบง่ายและความพอดี (2) ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้ประกอบด้วยการฝากตัว การถ่ายทอดความรู้ การวัดประเมินผล และการฝึกฝนเรียนรู้จากสถานการณ์จริง (3) การสืบทอดความรู้ประกอบด้วยการถ่ายทอดความรู้ 3 รูปแบบ ได้แก่ ถ่ายทอดโดยยึดหลักความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากครูเจริญใจ สุนทรวาทิน ถ่ายทอดโดยเลือกเฉพาะบางส่วนของวิชาความรู้ และถ่ายทอดโดยบูรณาการตามแนวทางของตนเอง ทั้งนี้ยังมีการสืบทอดความรู้โดยการเผยแพร่ผ่านการจัดการแสดง งานวิชาการ และสื่อรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามการสืบทอดความรู้ซอสามสายของครูเจริญใจ สุนทรวาทิน คงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มศิษย์ที่ศึกษาซอสามสายกับครูเจริญใจ สุนทรวาทินโดยตรง


บทประพันธ์เพลงมหาบัณฑิตนิพนธ์: ซิมโฟนิกโพเอ็ม “อปัญญาประดิษฐ์”, ธาวิน ไล้ทอง Jan 2019

บทประพันธ์เพลงมหาบัณฑิตนิพนธ์: ซิมโฟนิกโพเอ็ม “อปัญญาประดิษฐ์”, ธาวิน ไล้ทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์ซิมโฟนิกโพเอ็ม “อปัญญาประดิษฐ์” งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์เพลงที่นำประเด็นเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและมีความเกี่ยวโยงกับความเป็นไปมนุษย์ทุกคนในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เข้ามาเชื่อมโยงกับบทประพันธ์เพลงร่วมสมัย โดยนำเสนอในลักษณะของดนตรีพรรณนา ซึ่งบรรยายถึงจินตนาการและมุมมองของผู้ประพันธ์ที่มีต่อปัญญาประดิษฐ์ แบ่งออกเป็นสามกระบวน แต่ละกระบวนพรรณนาถึงประเด็นสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ได้แก่ ขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ การแก้ปัญหาแบบศึกษาสำนึกของมนุษย์ และการแก้ไขจุดบกพร่องทางโปรแกรม บทประพันธ์นี้มีการนำเครื่องดนตรีสังเคราะห์เสียงซินธิไซเซอร์มาบรรเลงผสมกับ วงออร์เคสตราเพื่อให้เกิดสีสันที่แปลกใหม่และเพื่อสร้างบรรยากาศของกระบวนการปัญญาประดิษฐ์ตามจินตนาการของผู้ประพันธ์ โดยผู้ประพันธ์ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมาจากกลุ่มดนตรีมินิมัล จึงนำการเวียนซ้ำของลักษณะจังหวะมาเป็นจุดสำคัญของบทประพันธ์ ใช้การขัดกันของจังหวะแบบโพลีริธึมรวมถึงผสมผสานแนวคิดและเทคนิคของดนตรีในศตวรรษที่ 20 เพื่อทำให้บทเพลงเกิดความร่วมสมัยมากขึ้น โดยบทเพลงมีความยาวประมาณ 14 นาที


การแสดงขับร้องเดี่ยวโดย มัลลิกา ชมภู, มัลลิกา ชมภู Jan 2019

การแสดงขับร้องเดี่ยวโดย มัลลิกา ชมภู, มัลลิกา ชมภู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงขับร้องเดี่ยว โดยมัลลิกา ชมภู มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอการตีความและการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของบทเพลง Old American Songs ชุด 1 และชุด 2 ซึ่งเรียบเรียงโดยคีตกวีระดับตำนานชาวอเมริกัน แอรอน คอปแลนด์ ในปี ค.ศ.1950 และ 1952 ในส่วนของคำร้องเพลงร้องศิลป์ทั้ง 10 บทนั้น เป็นบทกวีที่สื่อถึงมนต์เสน่ห์อันหลากหลายแห่งวัฒนธรรมอเมริกัน ในส่วนของการวิจัยยังประกอบไปด้วยบทวิเคราะห์ และออกแบบวิธีการถ่ายทอดบทเพลงให้เข้ากับเนื้อความอันละเมียดละไมของบทอุปมาโวหารในคำร้อง โดยออกแบบด้วยการใช้ทักษะขั้นสูง รวมถึงความสำคัญในการออกแบบและวางแบบแผนการแสดงและการฝึกซ้อม รวมถึงการจัดการบันทึกเสียงให้มีคุณภาพระดับอาชีพ การเผยแพร่การแสดงขับร้องเดี่ยวโดยมัลลิกา ชมภู สามารถเข้าชมได้ทางยูทูปในชุดการแสดงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ภายใต้ชื่อ Malliga Chompoo’s Master Vocal Recital


การแสดงเดี่ยวดับเบิลเบสโดย แพรววนิตสิตา ณีศะนันท์, แพรววนิตสิตา ณีศะนันท์ Jan 2019

การแสดงเดี่ยวดับเบิลเบสโดย แพรววนิตสิตา ณีศะนันท์, แพรววนิตสิตา ณีศะนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงเดี่ยวดับเบิลเบสครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาทักษะการบรรเลงดับเบิลเบสให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และต้องการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับบทประพันธ์ที่นำมาใช้ในการแสดง รวมถึงศึกษาประวัติผู้ประพันธ์เพลงและวิเคราะห์องค์ประกอบในบทเพลง ค้นคว้าเทคนิคการบรรเลงเพื่อเพิ่มความเข้าใจในตัวบทเพลงซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้สามารถสื่อสารภาษาดนตรีสู่ผู้ฟังได้ตรงกับสิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการ การแสดงครั้งนี้ผู้แสดงได้คัดเลือกบทเพลงบรรเลงทั้งหมด 2 บทเพลง ได้แก่ (1) Divertimento Concertante for Double Bass and Piano ผลงานของ Nino Rota และ (2) Passione Amorosa for Two Double Basses and Piano ผลงานของ Giovanni Bottesini จัดแสดงในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 15.00 น. ณ ห้องแสดงดนตรีธงสรวง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 54/1 ถนนสุขุมวิทซอย 3 กรุงเทพมหานคร รวมเวลาที่ใช้ในการแสดงทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง


กลวิธีการขับร้องเพลงไทยสำหรับวงโยธวาทิตของเรือโทหญิง เลี่ยมลักษณ์ สังจุ้ย ร.น., ศิริชัยวัตร ซ้ายสุข Jan 2019

กลวิธีการขับร้องเพลงไทยสำหรับวงโยธวาทิตของเรือโทหญิง เลี่ยมลักษณ์ สังจุ้ย ร.น., ศิริชัยวัตร ซ้ายสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องกับการขับร้องเพลงไทยสำหรับวงโยธวาทิต กลวิธีการขับร้องเพลงแขกสาย เถา และเพลงแขกสี่เกลอ เถา สำหรับวงโยธวาทิตของเรือโทหญิง เลี่ยมลักษณ์ สังจุ้ย ร.น. สำหรับมูลบทที่เกี่ยวข้องกับการขับร้องเพลงไทยสำหรับวงโยธวาทิต พบว่า มีจุดเริ่มต้นจากการรวมวงโยธวาทิตของเหล่าทหารแตร จวบจนปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนำเพลงไทยสองชั้นของเก่ามาพระนิพนธ์แยกเสียงประสานสำหรับวงโยธวาทิต เพื่อบรรเลงรับส่งการขับร้องเพลงไทยที่ทรงบรรจุไว้เฉพาะด้วยพระองค์เอง โดยมีครูเจริญ พาทยโกศล เป็นผู้ประพันธ์ทางขับร้อง ส่วนกลวิธีการขับร้องปรากฏ 7 กลวิธี คือ การลักจังหวะ การย้อยจังหวะ การลอยจังหวะ การผันเสียง การกระทบเสียง การสะบัดเสียง และการปั้นคำ กลวิธีที่พบมากที่สุด คือ การกระทบเสียง ส่วนกลวิธีการลอยจังหวะพบเฉพาะเพลงแขกสี่เกลอ เถา ทั้งนี้พบสำนวนการขับร้องเฉพาะปรากฏ 3 สำนวน โดยขับร้องในจังหวะที่กระชับและมีระดับเสียงการขับร้องที่สูงกว่าวงเครื่องสายแต่ไม่สูงถึงวงปี่พาทย์ไม้แข็ง สำหรับเรือโทหญิง เลี่ยมลักษณ์ สังจุ้ย ร.น.ยังคงรักษาแนวทางการขับร้องเพลงไทยสำหรับวงโยธวาทิตที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ (ศิลปินแห่งชาติ) ตามแบบฉบับของครูเจริญ พาทยโกศล ไว้อย่างเคร่งครัด


กรรมวิธีการสร้างผืนระนาดทุ้มของช่างฉะโอด บุญขันธ์, ปริทัศน์ เรืองยิ้ม Jan 2019

กรรมวิธีการสร้างผืนระนาดทุ้มของช่างฉะโอด บุญขันธ์, ปริทัศน์ เรืองยิ้ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องกรรมวิธีการสร้างผืนระนาดทุ้มของช่างฉะโอด บุญขันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรรมวิธีการสร้างผืนระนาดทุ้มและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพผืนระนาดทุ้มของช่างฉะโอด บุญขันธ์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่ากรรมวิธีการสร้างผืนระนาดทุ้มมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ 1. การเลือกไม้ไผ่ตง ใช้ไม้ไผ่ตงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 8 นิ้ว ไม่มีตำหนิและมีผิวไม้ไผ่ที่สวยงาม 2.การคัดไม้ไผ่ ต้องมีข้อทั้งสองข้าง 3. การวัดความกว้าง ความยาว และความหนาของลูกระนาดทุ้มต้องมีสัดส่วนที่พอดี 4.การหาตำแหน่งร้อยเชือกจะใช้นิ้วเคาะหาตำแหน่งที่ลูกระนาดทุ้มดังที่สุด 5.การเจาะรูร้อยเชือก จะต้องมีความกว้างของรูพอดี 6.การปาดท้องลูกระนาดทุ้ม ต้องไม่กว้างจนเกินไป 7.การติดตะกั่ว จะต้องใช้ปริมาณที่เหมาะสม กรรมวิธีดังกล่าวส่งผลให้ผืนระนาดทุ้มของช่างฉะโอด บุญขันธ์มีอัตลักษณ์ที่สำคัญคือ การปาดท้องลูกระนาดทุ้มมีลักษณะโค้งเหมือนพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว การเจาะรูกลมใต้ลูกระนาดทุ้ม ขนาดของผืนระนาดทุ้มมีความยาวทั้งผืน 105 เซนติเมตร ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพผืนระนาดทุ้ม เป็นผลจากประสบการณ์ของช่างฉะโอด บุญขันธ์ ที่ได้สั่งสมจากอาชีพช่างโดยเฉพาะช่างไม้ อีกทั้งความประณีตและความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการสร้างผืนระนาดทุ้ม และการพัฒนาฝีมือโดยใช้วิธีทดลอง ทำซ้ำ และคิดค้นวิธีใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนเป็นอัตลักษณ์ผืนระนาดทุ้มเฉพาะตน


ระเบียบวิธีการบรรเลงวงปี่พาทย์มอญ คณะพาทยโกศล ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, พีระพล ปลิวมา Jan 2019

ระเบียบวิธีการบรรเลงวงปี่พาทย์มอญ คณะพาทยโกศล ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, พีระพล ปลิวมา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องกับวงปี่พาทย์มอญ คณะพาทยโกศล และศึกษาระเบียบวิธีการบรรเลงวงปี่พาทย์มอญ คณะพาทยโกศลที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผลการวิจัยพบว่าตระกูลพาทยโกศล ผู้มีบทบาทสำคัญ คือ หลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ) และจางวางทั่ว พาทยโกศล วงปี่พาทย์มอญบ้านพาทยโกศล สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยจางวางทั่ว เครื่องมอญเก่าแก่ที่สุดที่มีการสร้างไว้เอง คือ ฆ้องโพธิ์ เอกลักษณ์ของวงปี่พาทย์มอญ คือวงปี่พาทย์มอญชุดเครื่องมุกที่ประดับตราประจำตระกูล “พศ” และฆ้องกระแต ปรากฏในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2551 ระเบียบวิธีการบรรเลง พบว่าเพลงที่ใช้และรูปแบบการบรรเลงเป็นเอกลักษณ์ของบ้านพาทยโกศล ได้แก่ เพลงนาคบริพัตรทางมอญ เพลงช้างประสานงาทางมอญ เพลงพม่าเห่ทางมอญ ซึ่งเป็นเพลง ที่ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ประพันธ์ไว้ ปรากฏพบเพลงในการบรรเลงประโคมทั้งสิ้น 13 เพลง ได้แก่ เพลงประจำบ้าน เพลงยกศพ เพลงพญาขวัญ เพลงพญาโศก เพลงสองไม้เต่าทอง เพลงสองไม้สี่เกลอ เพลงประจำวัดเสียงล่าง เพลงนาคบริพัตรทางมอญ เพลงพม่าเห่ทางมอญ เพลงช้างประสานงาทางมอญ เพลงเขมรทม เพลงจะเด็ด และเพลงมอบเรือ


การถ่ายทอดดนตรีไทยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ผ่านสื่อโทรทัศน์, พีรพันธุ์ กาญจนโหติทัศ Jan 2019

การถ่ายทอดดนตรีไทยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ผ่านสื่อโทรทัศน์, พีรพันธุ์ กาญจนโหติทัศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การดำเนินวิจัยเรื่องการถ่ายทอดดนตรีไทยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ผ่านสื่อโทรทัศน์มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติชีวิตและการถ่ายทอดดนตรีไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหาจากเทปบันทึกรายการจำนวน 2 เทปที่ท่านเป็นผู้ดำเนินรายาการด้วยตนเองและใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์ทายาท ลูกศิษย์ใกล้ชิดและผู้เคยชมรายการ 14 ท่าน ผลวิจัยพบว่าท่านเกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2466 ณ บ้านของท่านที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 2 ในพี่น้อง 9 คน ตลอดชีวิตของท่านต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ด้านการงาน ด้านความรัก ตลอดจนการเรียนดนตรี ท่านเริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกกับบิดา ต่อมาเรียนซอสามสายกับพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) จนสามารถสีซอสามสายออกอากาศสถานีวิทยุได้ ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2499 ท่านได้มอบตัวเป็นศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านได้ศึกษาทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจนสามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวขั้นสูงโดยเฉพาะซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ และขลุ่ย นอกจากนี้ท่านยังมีความคิดสร้างสรรค์ประพันธ์บทเพลงไทยประเภทต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและไพเราะเช่น บทเพลงเดี่ยว เพลงเถา เพลงเนื้อเต็ม เป็นต้น อีกทั้งยังรับมอบโองการไหว้ครูสามารถทำพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ได้ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ได้ริเริ่มรายการเกี่ยวกับดนตรีไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้ชื่อรายการว่า “นาฏดุริยางค์วิวัฒน์” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 จากนั้นเปลี่ยนชื่อรายการมาเป็น “ดร. อุทิศ แนะดนตรีไทย” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นรายการดนตรีไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นจำนวนมากและได้รับการสนัหลังจากนั้นรายการได้ยุติลงเนื่องจากการจากไปของท่านในปี พ.ศ. 2525 จากการศึกษาพบว่าท่านใช้กลวิธี 5 วิธีคือ การดำเนินรายการด้วยสนุกสนานมีคารมคมคาย การพูดหยอกล้อกับนักดนตรี การใช้มุขตลกสอดแทรกไปกับการบรรยายพร้อมกับให้ความรู้ดนตรีไทยและโฆษณาสินค้า การใช้บทเพลงที่หลากหลายอารมณ์ทุกครั้งที่จัดรายการ และใช้ความรู้ ความสามารถ ไหวพริบปฏิภาณดำเนินรายการได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้มีผู้ชมติดตาม สามารถเผยแพร่ความองค์ความรู้ทางดนตรีไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การแสดงเดี่ยวเปียโนโดย วิชญาพร เปรมานนท์, วิชญาพร เปรมานนท์ Jan 2019

การแสดงเดี่ยวเปียโนโดย วิชญาพร เปรมานนท์, วิชญาพร เปรมานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงเดี่ยวเปียโนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาแนวทางการฝึกซ้อม ค้นคว้าข้อมูล และวิเคราะห์บทเพลงเพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพในการตีความ ถอดความ วิเคราะห์บทเพลง และการบรรเลงเปียโนของผู้แสดง รวมไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับชีวประวัติของผู้ประพันธ์ ความเป็นมาและแรงบันดาลใจในการประพันธ์บทเพลง เพื่อเพิ่มความเข้าใจในตัวบทเพลง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสาร และถ่ายทอดบทเพลงไปยังผู้ฟังให้ตรงตามสิ่งที่ผู้ประพันธ์บทเพลงต้องการ ทั้งนี้ในการแสดงได้มีการอธิบายประกอบการแสดงเพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจในบทเพลงมากขึ้น ในการแสดงเดี่ยวเปียโนในครั้งนี้ผู้แสดงได้คัดเลือกบทเพลงบรรเลงเดี่ยวเปียโนชุด โดยพิจารณาจากคุณค่า ความไพเราะ ความเหมาะสมทางด้านเทคนิค โดยผู้แสดงได้คัดเลือกบทเพลงบรรเลงเดี่ยวเปียโนทั้งหมด 2 ชุด ได้แก่ (1) Kinderszenen, Op.15 ผลงานการประพันธ์ของโรเบิร์ต ชูมันน์ และ (2) Children’s Corner, L.113 ผลงานการประพันธ์ของโคลด เดอบุสซี การแสดงเดี่ยวเปียโนในครั้งนี้จัดแสดงขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 15.00 น. ณ Tongsuang’s Piano Recital Hall สุขุมวิท ซอย 3 รวมเวลาที่ใช้ในการแสดงทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง