Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2019

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Fine Arts

Articles 1 - 28 of 28

Full-Text Articles in Arts and Humanities

ภาพพิมพ์ : การบันทึกอารมณ์รูปแบบไดอารี่, กนต์ธร สัจจีกูล Jan 2019

ภาพพิมพ์ : การบันทึกอารมณ์รูปแบบไดอารี่, กนต์ธร สัจจีกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยจากการตั้งข้อสังเกตถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในเรื่องของสภาวะปัจจัยทางด้านอารมณ์และความรู้สึก ไปจนถึงกระบวนการสร้างสรรค์เพื่อนำมาซึ่งผลของการวิเคราะห์ให้เกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ นำสื่อศิลปะภาพพิมพ์เป็นเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีที่มาจากการทำงานในชีวิตประจำวันที่ผู้วิจัยมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานกับศิลปิน อารมณ์ร่วมถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการสร้างสรรค์ผลงาน ความปรวนแปรอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของผลงานได้ การจัดการสภาวะอารมณ์จึงเป็นเรื่องที่ผู้สร้างสรรค์จำเป็นที่จะต้องจัดการกับตนเองในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดผลงานที่ดีที่สุดออกมาในแต่ละชิ้นงาน ดังนั้นจึงเป็นเหตุที่ผู้วิจัยนำสภาวะอารมณ์มาเป็นข้อสังเกตต่อการทำงานวิจัยไปจนถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานโดยมีสื่อศิลปะภาพพิมพ์เป็นเทคนิคในการสร้างสรรค์ จากการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทั้ง สภาวะอารมณ์ จิตวิทยา รวมถึงผลงานศิลปกรรมที่มีปัจจัยทางอารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้วิจัยได้วิเคราะห์และสังเคราะห์และสร้างแนวทางการวิจัยออกมาเป็นรูปแบบผลงานดังนี้ 1.การศึกษาและเก็บข้อมูลโดยใช้รูปแบบการทำงานของ Process Art โดยเป็นวิธีการทำงานแบบเก็บข้อมูลจากการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ประจำวัน (Daily Life) เพื่อสร้างชุดข้อมูลในการวิเคราะห์ปัจจัยในสัมพันธภาพระหว่าง อารมณ์ในแต่ละวัน : การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ 2.นำเสนอผลงานด้วยวิธีการ Appropriation Art โดยใช้รูปแบบการสร้างสรรค์ของศิลปะ Abstract Expressionism ที่มีวิธีการทำงานเพื่อมุ่งเน้นทางด้านแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ โดยผู้วิจัยใช้แนวคิดดังกล่าวสร้างเป็นผลงานวิจัย เปรียบเสมือนเป็นการจดบันทึกอารมณ์ เนื้อหา-เรื่องราว และประสบการณ์สร้างเป็นผลงานในแต่ละวัน จากนั้นนำชุดข้อมูลจากผลที่ได้มาศึกษา , สังเกต และวิเคราะห์ถึงรูปแบบของผลงานที่ปรากฏออกมาในแต่ละชิ้น หาปัจจัยของความแตกต่างในแต่ละผลงานเพื่อทำความเข้าใจถึงรูปแบบที่แสดงถึงปัจจัยทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกแสดงออกมาว่ามีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไร ใช้วิธีการจดบันทึกสภาวะอารมณ์ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพพิมพ์ โดยหยิบยืมรูปแบบ Abstract Expressionism ถ่ายทอดสภาวะของอารมณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แสดงให้เห็นถึงวิธีการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ผลงานที่ปรากฎจากการบันทึกเป็นเสมือนการเล่าเรื่อง บอกเนื้อหา ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้วิจัยด้วยผลงานที่สร้างขึ้นในแต่ละวันที่มีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร, ฐิตารีย์ คำภีร์ Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร, ฐิตารีย์ คำภีร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร” ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจจากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร ซึ่งมีระเบียบวิธีการวิจัยแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ และการทดลองเชิงสร้างสรรค์ โดยศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลจากการสังเกตการณ์ การสัมมนา เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน รวมถึงประสบการณ์ตรงของผู้วิจัย โดยศึกษาเพื่อนำไปสู่รูปแบบการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากกระบวนท่ารำ อาทมาฏ ดาบพระนเรศวร ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการสร้างสรรค์สามารถจำแนกตามองค์ประกอบทางด้านนาฏยศิลป์ 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง แบ่งเป็น 4 องก์ ได้แก่ คลุมไตรภพ ตลบสิงขร ย้อนฟองสมุทร และหนุมานเชิญธง 2) คัดเลือกนักแสดง ผู้วิจัยคัดเลือกจากผู้ที่มีทักษะนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิม นาฏศิลป์สมัยใหม่และศิลปะการป้องกันจากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 3) ลีลาการเคลื่อนไหว มีแนวคิดการออกแบบลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายจากนาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์สมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดงให้ความสำคัญ และได้รับอิทธิพลจากรูปแบบดาบดั้งเดิม 5) เสียงประกอบการแสดง ใช้เครื่องดนตรีไทย 3 ชิ้น ได้แก่ กลองศึก ปี่ใน โหม่ง และเสียงสังเคราะห์ที่แสดงถึงความฮึกเหิมจนถึงความศักดิ์สิทธิ์ 6) เครื่องแต่งกาย ใช้เครื่องแต่งกายแบบชุดไทยประเพณีดั้งเดิม และเครื่องแต่งกายในสังคมปัจจุบัน 7) พื้นที่ในการแสดง ใช้พื้นที่สี่เหลี่ยมแบบเรียบง่ายเพื่อสะดวกในการเปลี่ยนแปลงแบบรูปของการแสดง 8) แสง ใช้สีของแสงเพื่อแสดงอารมณ์และบรรยากาศตามบทการแสดง นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดของหลักการสร้างสรรค์ผลงาน 4 ประการ ได้แก่ 1) แนวคิดชื่อกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 2) แนวคิดความหลากหลาย 3) แนวคิดสัญลักษณ์ 4) แนวคิดปัญหาทางสังคม ซึ่งผลการวิจัยในครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของผู้วิจัยทุกประการ อีกทั้งยังประประโยชน์เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต


สื่อภาพถ่าย : เครื่องบรรณาการและความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยร่วมสมัย, พชรษณา สุวรรณกลาง Jan 2019

สื่อภาพถ่าย : เครื่องบรรณาการและความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยร่วมสมัย, พชรษณา สุวรรณกลาง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเชื่อของผู้คนที่มาบนบานศาลกล่าวต่อองค์พระพิฆเนศ พระตรีมูรติและพระพรหมเอราวัณ ในเขตพื้นที่ศึกษา บริเวณสี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร ผลงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ จากการเก็บข้อมูลภาคเอกสารและภาคสนาม โดยสร้างสรรค์ชุดผลงานศิลปะสื่อภาพถ่ายเครื่องบรรณาการและความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยร่วมสมัย นำเสนอจินตนาการจากโต๊ะเครื่องของแก้บนต่อองค์เทพทั้ง 3 องค์ ด้วยเทคนิคภาพถ่ายและการปรับแต่งภาพทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ ผลงานสร้างสรรค์ทั้งหมด 12 ชิ้น สะท้อนแนวคิดเจตจำนงทางความเชื่อ Will to Believe และ แนวคิดวัตถุทางวัฒนธรรม (Material Culture) ภายใต้ชุดความเชื่อผ่านวัตถุเครื่องของแก้บนโดยสิทธิ เจตจำนง ว่าด้วยเรื่องของกระบวนการทางพิธีกรรม การส่งมอบบูชาถวายและการรับถวายไปขององค์เทพ จากการศึกษาพบว่าผลงานศิลปกรรมสื่อภาพถ่าย ได้อธิบายสถานะของวัตถุเครื่องของแก้บนผ่านประสบการณ์ความเชื่อ อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นร่วมกันของคนในสังคมเขตพื้นที่ศึกษา บริเวณสี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะได้นำเสนอภาพถ่ายให้เป็นสื่อกลางความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันผ่านวัตถุเครื่องเซ่นไหว้สักการะ ของภาษาสื่อสารระหว่างมนุษย์กับองค์เทพ เป็นการรับรู้ทางความเชื่อ การทำให้ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์สามารถอธิบายได้ด้วยสื่อภาพถ่าย (Transistor) สู่กระบวนการแปลงค่าความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับความศักดิ์สิทธิ์ (Transmission) และสร้างสถานะความศักดิ์สิทธิ์ให้จับต้องได้ นำมาห่อหุ้มวัตถุผ่านกระบวนการพิธีกรรมบูชาถวายจากการแปลงสภาพ (Transform)


การสร้างสรรค์เพลงกลองอาเซียน, รังสรรค์ บัวทอง Jan 2019

การสร้างสรรค์เพลงกลองอาเซียน, รังสรรค์ บัวทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องการสร้างสรรค์เพลงกลองอาเซียน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์เพลงสำเนียงต่าง ๆ สร้างองค์ความรู้กระบวนการสร้างสรรค์เพลงกลองอาเซียนและจัดแสดงเพลงกลองอาเซียน โดยใช้กระสวนจังหวะกลองเป็นหลักในการประพันธ์ ผลการศึกษา พบว่า การสร้างสรรค์เพลงกลองอาเซียน ที่ผู้วิจัยได้เลือกกลอง 10 ประเทศ มาเป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลง ได้แก่ 1.กลองมือ (สะโกไฎ) ราชอาณาจักรกัมพูชา 2.กลองสะบัดชัย ประเทศไทย 3.กลองเรอบานา อานัค (Rebana Anak) ประเทศบรูไน 4.กลองปัตวาย (Patwaing) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 5.กลองดีบากัน (Debakan) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 6.กลองเรอบานา อีบู (Rebana Ibu) สาธารณรัฐมาเลเซีย 7.กลองปิง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 8.กลองเตยเซิน (Trong Tay Son) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 9.กลองไชนิสดรัม (Chinese Drums) และกลองทับบล้า (Tabla) สาธารณรัฐสิงคโปร์ 10.กลองเกินดัง (Kendang) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยใช้หลักแนวคิดและทฤษฎีทางดนตรีมากำหนดรูปแบบในการประพันธ์ ทำให้เกิดผลงานการประพันธ์เพลงสำเนียงต่าง ๆ จำนวน 10 เพลง ได้แก่ เพลงสะโกไฎ เพลงเบิกชัย เพลงเรอบานาอานัค เพลงปัตวาย เพลงดีบากัน เพลงเรอบานาอีบู เพลงลาวปิง เพลงเตยเซิน เพลงจีนแขกสัมพันธ์ และ เพลงเกินดัง ซึ่งเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจในการศึกษารูปแบบการประพันธ์ในลักษณะนี้ การจัดการแสดงผลงานการสร้างสรรค์เพลงกลองอาเซียน ผู้วิจัยใช้วงดนตรีไทย 3 ประเภท เป็นหลัก ได้แก่ วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ และวงรองเง็ง อีกทั้งนำเครื่องดนตรีชาติต่าง ๆ มาผสมผสาน และนำเครื่องดนตรีไทยบางชนิดมาประยุกต์ใช้ในบทเพลงเพื่อสร้างสีสัน และสร้างสำเนียงเพลงภาษาต่าง ๆ ได้แก่ สำเนียงจีน ลาว พม่า เขมร ญวน แขกอินเดีย แขกชวา และฝรั่ง โดยจัดแสดง ณ โรงละคร 150 ปี ศรีสุริยวงศ์ …


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง หัวนายแรง​, รัชฌกร พลพิพัฒน์สาร Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง หัวนายแรง​, รัชฌกร พลพิพัฒน์สาร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง หัวนายแรง ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์มาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ของผู้วิจัย จากนั้นนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบในการแสดง นำมาทดลองและพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า องค์ประกอบของการแสดงทั้ง 7 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง นำแนวคิดมาจากการตีความวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง นายแรง 2) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาของนาฏยศิลป์ร่วมสมัย นาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ เน้นการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสายตา ร่างกาย และการกระทำ 3) การคัดเลือกนักแสดงใช้นักแสดงที่มีทักษะที่หลากหลายด้าน 4) เสียงและดนตรี ใช้เสียง 4 ประเภท เสียงนักแสดงที่มีบทร้อง เสียงตามความรู้สึก เสียงประกอบการแสดง และเสียงดนตรีประกอบการแสดง 5) ฉาก ใช้การฉายภาพผ่านอุปกรณ์เทคนิคการฉายภาพ คือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว 6) เครื่องแต่งกาย ออกแบบตามแนวคิดเอกลักษณ์ของบริบทพื้นที่กำเนิดของวรรณกรรมทางภาคใต้ รวมไปถึงขนบ (พิธีกรรม) ธรรมเนียมประเพณี 7) แสง ใช้การสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ ให้สอดคล้องกับการฉายภาพประกอบการแสดง ฉาก อารมณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการแสดง ผสมผสานกับหลักการหักเหของแสง ในการสร้างสรรค์ครั้งนี้ผู้วิจัยคำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 5 ประการ คือ 1) แนวคิดที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่มาจากวรรณกรรมพื้นบ้าน 2) แนวคิดที่เกี่ยวกับสัญญะในการแสดงนาฏยศิลป์ 3) แนวคิดเกี่ยวกับศิลปะการละครกับการสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบทางด้านศิลปกรรม 5) แนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ การวิจัยครั้งนี้ จึงเป็นการรวบรวมและเชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและวงการนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้างสรรค์ในอนาคต


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ, วณิชชา ภราดรสุธรรม Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ, วณิชชา ภราดรสุธรรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์ ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย และเกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ นำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ มีรูปแบบในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ทั้งสิ้น 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง ออกแบบบทการแสดงโดยวิเคราะห์จากระบบของทฤษฎีไร้ระเบียบ แบ่งออกเป็น 4 องก์การแสดง ประกอบด้วย องก์ที่ 1 ตัวดึงดูด (Attractor) องก์ที่ 2 ผลกระทบผีเสื้อ (Butterfly Effect) องก์ที่ 3 ไร้เสถียรภาพ (Unstable) และองก์ที่ 4 เรขาคณิตแบบเศษส่วน (Fractal) 2) นักแสดง ใช้การคัดเลือกนักแสดงที่มีทักษะในการแสดงที่หลากหลายรวมทั้งรูปร่าง สีผิว เพศ ที่หลากหลายในการแสดง 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) การด้นสด (Improvisation) ตามหลักของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ และลีลาการเคลื่อนไหวเชิงละคร 4) เครื่องแต่งกายและการแต่งหน้า ใช้เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันมาออกแบบให้มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิมและใช้การแต่งหน้าขาวเพื่อลดทอนการแสดงสีหน้าของนักแสดง 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่พบเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน 6) เสียงและดนตรีประกอบการแสดง ออกแบบเสียงและดนตรีให้มีความสอดคล้องกับบทการแสดงและใช้วิธีการบันทึกเสียงและตัดต่อเสียงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 7) ฉากและพื้นที่การแสดง ออกแบบฉากโดยใช้การฉายภาพเคลื่อนไหวผ่านเครื่องฉายวีดิทัศน์ลงบนพื้นหลังของเวทีและตัวนักแสดง พื้นที่การแสดงใช้โรงละครประเภทแบล็คบ๊อคเธียเตอร์ (Black Box Theatre) ในการจัดการแสดง 8) แสง ใช้แสงเพื่อกำหนดพื้นที่ในแสดงเป็นหลักและสร้างอารมณ์ร่วมในการแสดง นอกจากนี้พบว่ามีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากทฤษฎีไร้ระเบียบ 5 ประการ ได้แก่ 1) ทฤษฎีไร้ระเบียบ 2) ความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 3) แนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) ความหลากหลายในงานนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดนาฏยศิลป์สร้างสรรค์สะท้อนสังคม ทั้งนี้งานวิจัยฉบับนี้เป็นวิทยานิพนธ์เชิงสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ที่มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงอื่น ๆ เพื่อก่อเกิดความรู้และสามารถเป็นแนวทางให้แก่ผู้ที่จะศึกษางานทางด้านนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: 'ไตรศร' เดอะซินเธติคแจ๊สโพเอ็ม สำหรับวงดนตรีโมเดิร์นแจ๊สอองซอมเบิล, เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: 'ไตรศร' เดอะซินเธติคแจ๊สโพเอ็ม สำหรับวงดนตรีโมเดิร์นแจ๊สอองซอมเบิล, เจตนิพิฐ สังข์วิจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: ‘ไตรศร’ เดอะซินเธติคแจ๊สโพเอ็ม สำหรับวงดนตรีโมเดิร์นแจ๊สอองซอมเบิล เป็นบทประพันธ์ที่ประพันธ์ขึ้นจากการศึกษาลักษณะเฉพาะตัว ทั้งด้านการประพันธ์ เทคนิคการอิมโพรไวส์เซชัน และบริบทของนักดนตรีแจ๊ส 3 คนที่โดดเด่นในศตวรรษที่ 20 นักดนตรีทั้ง 3 คนประกอบด้วย ชาร์ลี ปาร์คเกอร์ โดดเด่นด้านดนตรีบีบ็อพ ไมล์ส เดวิส โดดเด่นด้านดนตรีโมดัลแจ๊ส และจอห์น โคลเทรน โดดเด่นด้านดนตรีฟรีแจ๊สรวมถึงแนวคิด Coltrane Changes บทประพันธ์แบ่งรายละเอียดเป็น Episode I: ‘Kwan’ Introduction เป็นการนำชื่อเล่นของผู้ประพันธ์มาใช้เป็นตัวแทนสื่อถึงจินตนาการในการประพันธ์ โดยแนวทางการประพันธ์ได้หยิบยกวัตถุดิบในดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลงมาสร้างสรรค์ Episode II: ‘Red Bird’ เป็นการนำความประทับใจในบริบทของ ชาร์ลี ปาร์คเกอร์ มาสร้างสรรค์ Episode III: ‘Pedal Trane’ ประพันธ์ขึ้นจากแนวคิดที่ซับซ้อนของ จอห์น โคลเทรน Episode IV: ‘My Modal’ แรงบันดาลใจจากมิติเสียงอันทันสมัยของ ไมล์ส เดวิส และ Episode V: ‘Sinsiri’ Final บทประพันธ์ที่เป็นบทสรุปจากการศึกษานักดนตรีทั้ง 3 คน บทประพันธ์ทั้งหมดได้ถูกจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ ณ ห้อง Black Box Theater วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งการแสดงบทประพันธ์ได้รับเกียรติจากนักดนตรี 12 คน นำโดยผู้ควบคุมวง ดร.วานิช โปตะวนิช ผู้ควบคุมวงที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการดนตรีประเทศไทย และนักดนตรีชั้นนำอีก 11 คน จากวง Rangsit University Jazz Ensemble


การสร้างสรรค์บทและดนตรีสำหรับละครร้องเรื่อง เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล, สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ Jan 2019

การสร้างสรรค์บทและดนตรีสำหรับละครร้องเรื่อง เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล, สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ประวัติ แนวคิดและคุณค่าของนวนิยายเรื่อง เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล สร้างองค์ความรู้และการสร้างสรรค์บทและการประพันธ์ทำนองทางร้อง ดนตรีและกลวิธีการขับร้องสำหรับละครร้องโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและการสร้างสรรค์วิเคราะห์ข้อมูลตามหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ นวนิยายเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไลประพันธ์โดยวรมัย กบิลสิงห์ระหว่างปี พ.ศ. 2495-2496 เชิดชูผู้นำที่เป็นวีรสตรีที่ปรากฏอยู่ในความพยายามพิสูจน์ตนเองของตัวละครเพื่อต้องการสื่อสารด้านความหลากหลายทางเพศที่เกินขอบข่ายพื้นที่ตามโครงสร้างที่สังคมกำหนดและพิจารณาความไม่ยุติธรรมของสังคมที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตย ผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีเควียร์วิเคราะห์คุณค่าของนวนิยายเพื่อสื่อสารและแสวงหาคำตอบการไม่จำกัดกรอบทัศนคติทางเพศโดยนำต้นทุนและแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์มาจากแบบแผนการแสดงและการบรรเลงดนตรีละครร้องปรีดาลัย บทสำหรับละครร้องเรื่อง เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไลมีจำนวน 7 ฉากและกำหนดแก่นของเรื่องคือ คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ ตัวละครที่นำมาใช้ในการเล่าเรื่องจำนวน 4 ตัวละคร โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครเอกคือเจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล กำหนดให้มีลูกคู่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องโดยยึดตามโครงสร้างเดิมของบทนวนิยายและตีความตามแก่นของเรื่องที่ผู้ที่วิจัยต้องการสื่อสาร การสร้างสรรค์ดนตรีและการขับร้องผู้วิจัยกำหนดแนวคิดการประพันธ์เพลงสำเนียงแขกโดยศึกษาและวิเคราะห์จากบทเพลงไทยสำเนียงแขกที่ใช้ในโขนละครไทยและนำดนตรีโนรา ดนตรีรองเง็งนำมาใช้เป็นต้นทุนการประพันธ์เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะตัวละคร สถานที่ที่ตัวละครอาศัยอยู่ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้


การออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ, ขวัญใจ สุขก้อน Jan 2019

การออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ, ขวัญใจ สุขก้อน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ผู้บริโภคกลุ่มแมสทีจ (Masstige Consumer) คือ กลุ่มผู้บริโภคที่อยู่กึ่งกลางระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการสินค้าหรูหรา (Prestige) และสินค้าทั่วไป (Mass) กล่าวได้ว่า ผู้บริโภคกลุ่มแมสทีจ เป็นผู้บริโภคที่มีรสนิยมสูง แต่รายได้ไม่สูงเท่ากลุ่มผู้บริโภคชนชั้นสูง และยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าดูดีมีระดับเพื่อแลกกับการได้ประสบการณ์ในการได้ใช้สินค้าหรู เป็นการตอบสนองความพึงพอใจด้านจิตใจ แม้จะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าหรือใช้บัตรเครดิต ซึ่งถือว่าคนกลุ่มนี้มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีมูลค่าทางการตลาดที่นักการตลาดกำลังจับตามอง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและหาแนวทางในการสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ 2) หาแนวทางการออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ 3) ประยุกต์ใช้ผลการวิจัยสู่การออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สำหรับสินค้าไทยที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคแมสทีจ การดำเนินการวิจัยใช้วิธีแบบผสมผสาน (Mixed Methodology) โดยนำด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและแบรนด์ 15 คน ด้านการออกแบบเรขศิลป์ 15 คน ตามด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ด้วยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริโภคที่เข้าข่ายผู้บริโภคแมสทีจ จำนวน 405 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเบื้องต้น คิดเป็นร้อยละ (Percentage) แล้วทำการสรุปผลออกมาเป็นลำดับ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์งานวิจัยพบว่า แนวทางในการสร้างแบรนด์สำหรับผู้บริโภคแมสทีจสามารถทำได้ 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1) แบรนด์ที่มีลักษณะเฉพาะตน มีความเป็นตัวของตัวเองสูง นำเสนอความรู้สึกถึงความมีคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม แนวทางที่ 2) แบรนด์ที่แสดงความมีสถานะ มีหน้ามีตาในสังคม ได้รับการยอมรับ มีสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าคนทั่วไป และน่าเชื่อถือด้วยคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม แนวทางที่ 3) แบรนด์ที่มอบความรู้สึกมีระดับ และคุณภาพที่ดีเหนือแบรนด์ทั่วไป รวมทั้งเป็นแบรนด์ที่มีสถานะมีหน้ามีตา เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้คำตอบถึงแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจได้ทั้งหมด 3 แนวทาง และยังสามารถแบ่งลักษณะของผู้บริโภคแมสทีจได้ 3 กลุ่ม ตามลักษณะการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน โดยองค์ความรู้ที่ค้นพบนี้เป็นต่อยอดจากศาสตร์ทางด้านการตลาดไปสู่งานวิจัยทางด้านการออกแบบ ซึ่งปัจจุบันนั้นการออกแบบถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในโลกของการแข่งขันทางด้านการตลาด อีกทั้งเรื่องของผู้บริโภคแมสทีจเริ่มเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกระแสหรือเทรนด์ที่นักการตลาดกำลังให้ความสนใจ


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: คีตคณิตแห่งแสง สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา, ธัญวรรษ สนธิรัตน Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: คีตคณิตแห่งแสง สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา, ธัญวรรษ สนธิรัตน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์เพลง ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: คีตคณิตแห่งแสง สำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา เป็นบทประพันธ์เพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแสงในรูปแบบและประเภทต่าง ๆ โดยตีความเสียงของแสง ผ่านหลักการทางดนตรี และประพันธ์ขึ้นสำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตราที่มาจากสมมติฐานของผู้วิจัยว่ารูปแบบของคลื่นแสงและความถี่เสียงสามารถนำเสนอให้อยู่ในหลักการทางคณิตศาสตร์ได้ ดังนั้นแสงและเสียงจึงมีความสัมพันธ์ที่ประพันธ์เป็นเพลงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากการคิดค้นแปรค่าคลื่นแสงกับความถี่เสียงของนักวิทยาศาสตร์หลายคน และต่อยอดผลงานประพันธ์เพลงที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องแสงจากนักประพันธ์อีกหลายคนเช่นเดียวกัน บทเพลงนี้แบ่งเป็น 3 กระบวน โดยนำเสนอตามลักษณะของแสงอันได้แก่ การสะท้อนแสง การหักเหแสงและการเลี้ยวเบนแสง มีความยาวประมาณ 30 นาที ใช้นักดนตรีทั้งหมด 14 คนในการบรรเลง บทเพลงนี้มีการสื่อความระหว่างความเข้มเสียงกับความเข้มแสงเป็นหลัก มีลักษณะเด่นคือการใช้เทคนิคการบรรเลงของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทให้สื่อออกมาเป็นแสงอย่างเหมาะสม จากการศึกษาวิจัยทั้งเรื่องของแสง ข้อมูลทางคณิตศาสตร์ และงานประพันธ์ดั้งเดิมของดนตรี บทประพันธ์ชิ้นนี้ได้นำองค์ความรู้ทั้งหมดมาถ่ายทอดเป็นงานประพันธ์เพลงที่พัฒนาจากแนวคิดดั้งเดิม และประยุกต์ใช้กับบริบทในปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดผลงานใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกได้


ดุษฎีนิพนธ์การแสดงดนตรี: สุนทรียะเพลงร้องโรแมนติกแห่งตำนาน, กรวิช เทพหัสดิน ณ อยุธยา Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การแสดงดนตรี: สุนทรียะเพลงร้องโรแมนติกแห่งตำนาน, กรวิช เทพหัสดิน ณ อยุธยา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การแสดงดนตรี: สุนทรียะเพลงร้องโรแมนติกแห่งตำนาน เป็นงานวิจัยสร้างสรรค์บทเพลงร้อง ศิลป์โรแมนติกอันเป็นอมตะสังคีตวรรณคดีของศตวรรษที่ 20 โดยนำเสนอรูปแบบแนวคิด เทคนิคการร้อง การตีความร่วมสมัย และบูรณาการที่ผสมผสานความโดดเด่นระหว่างดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก ขณะเดียวกัน ในส่วนของงานสร้างสรรค์ ยังประกอบด้วยการประดิษฐ์และเรียบเรียงดนตรีที่เต็มไปด้วยสีสันและลีลาเสียงใหม่ และความวิจิตรของการประดิษฐ์คำร้องภาษาไทย ผลงานถูกนำเสนอต่อสาธารณชน ในรูปแบบการแสดง คอนเสิร์ตใน 3 รายการสำคัญ โดยเป็นการขับร้องเดี่ยวร่วมกับวงออร์เคสตราและนักร้องประสานเสียง ร้องเดี่ยวกับเปียโนและร้องเดี่ยวร่วมกับดนตรีวงเชมเบอร์ อำนวยเพลงโดยวาทยกรระดับนานาชาติ เช่น ดนู ฮันตระกูล และ จารุณี หงส์จารุ เพลงร้องศิลป์ของประเทศสยาม เริ่มความรุ่งเรืองเป็นส่วนหนึ่งของอารยะธรรมดนตรีของประเทศตั้งแต่ในรัชสมัย ของรัชกาลที่ 6 วิวัฒนาการของการผสมผสานรูปแบบและลีลาระหว่างดนตรีไทยและตะวันตกมีพัฒนาการ อย่างมีเอกลักษณ์และมีองค์ประกอบ สังคีตภาษาถูกประดิษฐ์และออกแบบให้เหมาะสมกับเทคนิคการร้องและ อักขระการออกเสียงภาษาไทยอย่างลงตัว การวิจัยนี้ยังได้นำเสนอแบบแผนการสร้างโปรแกรมการแสดงเพลงร้องศิลป์ ที่แสดงประวัติและสังคีตอารยธรรมของวรรณคดีเพลงร้องศิลป์อย่างสมบูรณ์แบบ


การออกแบบมาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้แนวคิดคาวาอี, เอกลักษณ์ โภคทรัพย์ไพบูลย์ Jan 2019

การออกแบบมาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้แนวคิดคาวาอี, เอกลักษณ์ โภคทรัพย์ไพบูลย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่องการออกแบบมาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้แนวคิดคาวาอีฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์วิธีการในการพัฒนามาสคอตให้สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนได้ 2) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการออกแบบมาสคอตให้แสดงออกถึงความคาวาอีได้ 3) เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างสรรค์และนำเสนอตัวอย่างการออกแบบมาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนในประเทศไทยโดยใช้แนวคิดคาวาอี รวมไปถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ของชุมชนได้ โดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบมาสคอตเพื่อวิเคราะห์และคัดเลือกมาสคอตท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น (Yuru-chara) ที่มีความคาวาอี ร่วมกับการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างจากเอกสารและหลักฐานเชิงประจักษ์ เก็บข้อมูลจากผู้นำ นักวิชาการในชุมชน และกลุ่มเป้าหมายเพื่อการออกแบบมาสคอต ตลอดจนพัฒนาผลงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากการวิจัยพบว่าด้านวิธีการในการพัฒนามาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนนั้นสามารถแบ่งกระบวนการออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การออกแบบรูปลักษณ์มาสคอต 2) การออกแบบองค์ประกอบเสริมมาสคอต 3) การกำหนดบุคลิกภาพลักษณะนิสัยและความสามารถพิเศษ โดยเลือกใช้ประเด็นหรือที่มาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ร่วมของชุมชนร่วมกับการเลือกใช้วิธีการแปลงสารที่เหมาะสมเพื่อให้ได้มาสคอต ด้านแนวทางทางการออกแบบมาสคอตให้แสดงออกถึงความคาวาอี สามารถดำเนินการออกแบบได้โดยใช้เกณฑ์คุณลักษณะความคาวาอีทางกายภาพ 5 ประการ อันได้แก่ 1) ความน่าเอ็นดูเหมือนเด็ก เช่น ปากเล็ก จมูกเล็ก ดวงตาโต 2) ความเปราะบางหรือน่าทะนุถนอม เช่น การใช้เส้นโค้งมนหรือทรงกลมเป็นหลัก 3) ความมีขนาดเล็ก เช่น การใช้สัดส่วนแบบ S.D. 4) ความไร้เดียงสา เช่น การชูมือ ยกแขนหรือขา 5) ความหวาน เช่น การใช้สีโทนสว่างหรือสีพาสเทลเป็นหลัก ทั้งนี้ผู้วิจัยได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนามาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้แนวคิดคาวาอีจำนวน 3 ชุมชน อันได้แก่ ชุมชนสามแพร่ง ชุมชนวังหลังและวัดระฆัง และชุมชนท่าดินแดง นำไปสู่การคัดเลือกและต่อยอดมาสคอตชุมชนวังหลังและวัดระฆังให้มีความสมบูรณ์ในที่สุด ตลอดจนทดลองออกแบบคู่มือการใช้งาน ผลิตภัณฑ์ที่ระลึก ระบบป้ายสัญลักษณ์ ฯลฯ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนหรือนักออกแบบที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดในชุมชนอื่นๆ ได้ต่อไป


ดุษฎีนิพนธ์การวาทยกร : วรรณกรรมดนตรีสำหรับวงเครื่องลมร่วมสมัย, ธนัช ชววิสุทธิกูล Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การวาทยกร : วรรณกรรมดนตรีสำหรับวงเครื่องลมร่วมสมัย, ธนัช ชววิสุทธิกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวาทยกรมีบทบาทสำคัญกับวงดนตรีออร์เคสตรามาตั้งแต่ในยุคบาโรก (1600-1750) เมื่อ ฌอง-บาติสต์ ลูว์ลี (1632-1687) ผู้อำนวยการดนตรีในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวาทยกรคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ใช้ไม้บาตอง ศิลปะการวาทยกรเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมากว่า 3 ทศวรรษ จนมีการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบ บทบาทที่สำคัญของวาทยกรประกอบด้วย 4 ประการดังนี้ 1) การตีความบทเพลงด้วยความประณีต 2) การแสดงดนตรีด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้ง 3) การแสดงดนตรีที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก 4) การสื่อสารระหว่างผู้ชมและวงออร์เคสตรา นอกจากนี้การวาทยกรยังเป็นศิลปะที่ประกอบด้วยจินตนาการระดับสูงเพื่อการเข้าถึงบทประพันธ์ อีกทั้งเป็นการสรรค์สร้างท่าทางการเคลื่อนไหวที่สร้างแรงบัลดาลใจให้นักดนตรี และที่สำคัญยิ่ง การเป็นวาทยกรที่ดีจะต้องมีทักษะทางด้านดนตรีที่ดี สามารถจำและอ่านโน้ตเพลงด้วยความเข้าใจดนตรีในระดับสูง ซึ่งความสามารถเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝนอย่างมืออาชีพ ผลงานวิจัยดนตรีเชิงสร้างสรรค์นี้ ประกอบด้วยการแสดงหลัก 3 การแสดง และการแสดงเสริมอีก 4 การแสดง สำหรับวงดุริยางค์เครื่องลมและวงซิมโฟนีออร์เคสตรา ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จของงานวิจัยนี้


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: “ศรีนครพิงค์” สำหรับวงแจ๊สออร์เคสตรา และวงเครื่องดนตรีล้านนา, วัชระ กัณธียาภรณ์ Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: “ศรีนครพิงค์” สำหรับวงแจ๊สออร์เคสตรา และวงเครื่องดนตรีล้านนา, วัชระ กัณธียาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์เพลง ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: “ศรีนครพิงค์” สำหรับวงแจ๊สออร์เคสตรา และวงเครื่องดนตรีล้านนา เป็นบทประพันธ์ที่มีแรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเยาว์และความผูกพันของผู้ประพันธ์ที่มีต่อจังหวัดเชียงใหม่ ผนวกกับความรู้ด้านดนตรีแจ๊สที่ผู้ประพันธ์มีความชำนาญ บทประพันธ์นี้จึงมีแนวคิดในการเล่าเรื่องผ่านคำขวัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมไทยล้านนา ซึ่งนำเสนอผ่านการผสมผสานวัฒนธรรมทางดนตรีระหว่างดนตรีพื้นบ้านล้านนาและดนตรีตะวันตก แบ่งออกเป็น 4 กระบวน ตามคำขวัญจังหวัดเชียงใหม่ มีความยาวในการบรรเลงทั้งหมดประมาณ 30 นาที มีผู้บรรเลงทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย วงแจ๊สออร์เคสตราขนาดใหญ่ นำเสนอเอกลักษณ์ทางด้านดนตรีตะวันตก โดยบรรเลงร่วมกับวงเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนาซึ่งบรรเลงทำนองหลักของบทประพันธ์ ผ่านเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้ประพันธ์ประสงค์จะรักษาและเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้านล้านนาให้เป็นมรดกของประเทศไทยต่อไป


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย, กุลนาถ พุ่มอำภา Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย, กุลนาถ พุ่มอำภา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ภายใต้หัวข้อ การสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย และเพื่อหาแนวคิดหลังการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณคดีไทย โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ การศึกษาข้อมูลจากสื่อสารสนเทศ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย โดยรวบรวมข้อมูลและนำมาศึกษาเพื่อทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูล สร้างผลงานนาฏยศิลป์ และทำการสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า ในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับองค์ประกอบการแสดง 8 องค์ประกอบ ที่อยู่บนพื้นฐานของการศึกษา เรื่องเวทมนตร์ในวรรณกรรม เพื่อใช้กำหนดการแสดงองก์ต่าง ๆ ประกอบด้วย องก์ที่ 1 การใช้เวทมนตร์เพียงอย่างเดียว ได้แก่ เวทมนตร์แปลงกาย องก์ที่ 2 การใช้เวทมนตร์ควบคู่กับเครื่องรางของขลัง ได้แก่ การใช้เวทมนตร์กับผ้ายันต์ องก์ที่ 3 การใช้เวทมนตร์ควบคู่กับวัตถุสามัญ ได้แก่ การใช้เวทมนตร์กับใบไม้ องก์ที่ 4 การใช้เวทมนตร์ควบคู่กับวิญญาณ ได้แก่ การเรียกผี การปลุกผี การครอบงำวิญญาณให้เป็นบริวาร ใช้วิญญาณเป็นพาหนะและใช้วิญญาณเป็นม่านบังตา ภาพสุดท้าย คือ ความหายนะของการครอบครองเวทมนตร์มากเกินไป พร้อมทั้งทำการวิเคราะห์แนวคิดการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เกี่ยวกับเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย ได้แก่ การอนุรักษ์เนื้อหาและใจความสำคัญของวรรณกรรมไทยไว้ในรูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ ความเชื่อด้านเวทมนตร์ในวรรณกรรมไทย ความสัมพันธ์ระหว่างเวทมนตร์กับพระพุทธศาสนา หลักการสัมพันธภาพ (Relationship) กับการออกแบบงานนาฏยศิลป์ ทฤษฎีสัญวิทยากับการออกแบบงานนาฏยศิลป์ รูปแบบผลงานการสร้างนาฏยศิลป์ตามเทคนิคและแนวคิดของศิลปินในยุคสมัยใหม่ (Modern dance) การใช้เวทมนตร์ในเชิงจิตวิทยา และการวิเคราะห์ผลงานสร้างสรรค์ตามเกณฑ์มาตรฐานการยกย่องศิลปินทางด้านนาฏยศิลป์ นอกจากนี้ยังวิเคราะห์องค์ประกอบการแสดงนาฏยศิลป์ทั้ง 8 องค์ประกอบในการสร้างสรรค์ผลงาน งานวิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีคุณค่าต่อสังคมในการให้แนวคิดและปรัชญาแก่ประชาชน เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านของการให้ปรัชญาในเรื่องการใช้วิธีพิเศษเพื่ออำนวยมาซึ่งสิ่งต่าง ๆ แต่ถ้าหากใช้อย่างไม่เหมาะสมจะทำให้จบลงด้วยความเสียหาย นอกจากนี้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังเป็นการศึกษาเรื่องเวทมนตร์ในเชิงวรรณกรรมและความเชื่อเรื่องเวทมนตร์ของสังคมที่นำมาผนวกกับงานสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์อย่างลงตัว


การออกแบบพอปอัพสโตร์สำหรับสินค้าแฟชั่นเพื่อตอบสนองแนวคิดพอปอัพซิตี้, สหภพ กลีบลำเจียก Jan 2019

การออกแบบพอปอัพสโตร์สำหรับสินค้าแฟชั่นเพื่อตอบสนองแนวคิดพอปอัพซิตี้, สหภพ กลีบลำเจียก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยแบ่งขั้นตอนในงานวิจัยออกเป็น 3 ขั้นตอน โดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย 3 ข้อ คือ (1) ศึกษาและกำหนดพื้นที่พอปอัพรวมทั้งเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดขนาดและประเภทพื้นที่ และในการเลือกประโยชน์ใช้สอยของร้านค้า โดยรูปแบบพื้นที่ พอปอัพสโตร์ที่ที่นิยมคือ รูปแบบพื้นที่เช่าของศูนย์การค้า และรูปแบบพื้นที่ในงานอีเวนท์ ซึ่งมีเงื่อนไขขนาดของพื้นที่กว้าง x ยาวอยู่ที่ 1.2 x 1.2 เมตร และสูงไม่เกิน 1.8 เมตร แล้วจึงนำคำตอบดังกล่าวไปหาคำตอบของวัตถุประสงค์ที่ (2) ศึกษาค้นหาประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมของร้านค้าสำหรับพอปอัพสโตร์กลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่ป้ายร้านค้า พื้นที่นำเสนอสินค้า พื้นที่แสดงสินค้า พื้นที่ลองสินค้า พื้นที่จัดเก็บของ คำตอบที่ได้ในสองขั้นตอนนี้จะนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบ และเป็นกรอบแนวทางในการออกแบบในวัตถุประสงค์ที่ (3) เพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบพอปอัพสโตร์กลุ่มสินค้าแฟชั่น ที่มีประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมสอดคล้องกับคุณลักษณะเฉพาะของแนวคิดพอปอัพซิตี้ ซึ่งประกอบด้วยด้านรูปแบบชั่วคราว รูปแบบในการเคลื่อนย้าย และรูปแบบการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยในขั้นตอนนี้จะดำเนินงานด้วยการออกแบบ และทดลองผลิตต้นแบบร้าน พอปอัพที่ตอบสนองเงื่อนไขจากวัตถุประสงค์ที่ 1 และ 2 โดยผ่านการประเมินผลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต เพื่อทำการการปรับปรุงแก้ไขผลงานต้นแบบ ก่อนสรุปเป็นรูปแบบงานออกแบบ และผลิตเป็นผลงานออกแบบต้นแบบ แล้วทดลองใช้และประเมินผลงานโดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของร้านพอปอัพ จนพัฒนารูปแบบงานออกแบบสุดท้ายได้เป็นรูปแบบงานออกแบบ 2 รูปแบบ ซึ่งทั้งสองรูปแบบสามารถปรับใช้งานได้ทั้งมิติแนวตั้งและแนวนอน และสามารถใช้งานร่วมกันได้ โดยรูปแบบแรกเมื่อพับเก็บจะมีขนาด 120 x 60 เซนติเมตร สามารถปรับใช้มิติแนวตั้งได้ 10 รูปแบบและมิติแนวนอน 6 รูปแบบ ส่วนรูปแบบที่สองเมื่อพับเก็บจะมีขนาด 90 x 60 เซนติเมตร สามารถปรับใช้มิติแนวตั้งได้ 3 รูปแบบและมิติแนวนอน 8 รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะรองรับประโยชน์ใช้สอยอย่างครบถ้วนของการเป็นร้านค้าสินค้าแฟชั่นและการใช้พื้นที่ที่หลากหลายครอบคลุม


การศึกษาเครื่องปั้นดินเผาอีสานในอดีตเพื่อการออกแบบรูปทรงสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน, อิสสระ ดวงเกตุ Jan 2019

การศึกษาเครื่องปั้นดินเผาอีสานในอดีตเพื่อการออกแบบรูปทรงสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน, อิสสระ ดวงเกตุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนภาคอีสาน เป็นอาชีพที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่มีการผลิตแบบโบราณ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า โดยในปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความนิยมต่อการใช้เครื่องปั้นดินเผาในวิถีชีวิตคนในปัจจุบันลดลง เนื่องจากขาดความหลากหลายด้านรูปทรง ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแต่กลับให้ผลตอบแทนที่ต่ำ จากปัญหาดังกล่าวเป็นโอกาสในการพัฒนารูปทรงของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอีสาน เพื่อค้นหาแนวทางพัฒนารูปทรงเครื่องปั้นดินเผาอีสานด้วยกระบวนการออกแบบ และเพื่อสร้างแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องปั้นดินเผาอีสาน โดยการศึกษา และประยุกต์ใช้รูปทรงเครื่องปั้นดินเผาอีสานในอดีต ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy ) โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable) โดยผู้วิจัยได้สร้างกระบวนการออกแบบ จากการนำเอกลักษณ์ด้านรูปทรงของเครื่องปั้นดินเผาอีสานในอดีต ที่ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรรม มาประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) ที่เป็นแนวทางการพัฒนาสิ่งใหม่บนรากฐานของสิ่งเดิม เชื่อมโยงถึงการพัฒนารูปทรงเครื่องปั้นดินเผาให้มีความร่วมสมัย โดยการสร้างกระบวนการออกแบบเพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน ด้วยการสร้างคู่มือเพื่อการออกแบบรูปทรงเครื่องปั้นดินเผา โดยผลการใช้กระบวนการออกแบบผ่านการใช้คู่มือ ผู้ผลิตสามารถเข้าใจกระบวนการออกแบบ และสามารถออกแบบรูปทรงที่หลากหลายด้วยตนเอง และยังคงลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาอีสาน แล้วนำแบบรูปทรงที่ได้ออกแบบไปผลิตจริงจากทักษะการผลิต และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม มีผลการประเมินผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้คู่มือออกแบบรูปทรงจากกลุ่มผู้บริโภค ที่สามารถแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มได้


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: “ด้วยพระบารมี” คอนแชร์โต สำหรับเปียโนและวงดุริยางค์เครื่องลม, จักรี กิจประเสริฐ Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง: “ด้วยพระบารมี” คอนแชร์โต สำหรับเปียโนและวงดุริยางค์เครื่องลม, จักรี กิจประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ผลงานการสร้างสรรค์ดุษฎีนิพนธ์บทประพันธ์เพลง “ด้วยพระบารมี” คอนแชร์โตสำหรับเปียโนและวงดุริยางค์เครื่องลม เป็นบทประพันธ์เพลงที่จัดอยู่ในรูปแบบดนตรีพรรณนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์บทเพลงประเภทคอนแชร์โตสำหรับเปียโนและวงดุริยางค์เครื่องลม โดยใช้ทำนองหลักจากบทเพลงไทยแบบแผนมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ มีความยาวของบทเพลงประมาณ 30 นาที บทประพันธ์เพลงนี้แบ่งออกเป็นกระบวนต่าง ๆ 3 กระบวน ผู้ประพันธ์เพลงได้ใช้เทคนิคการคัดทำนอง โดยการนำแนวทำนอง 8 ห้องแรกจากบทเพลง นารายณ์แปลงรูปสองชั้น มาใช้เป็นวัตถุดิบการประพันธ์เพลงที่สำคัญ ผู้ประพันธ์เพลงได้ใช้เทคนิคการแปลงชื่อบุคคลโดยนำพระนามแรก (Bhumibol) และพระนามหลัง (Adulyadej) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ มาแปลงตัวโน้ตเป็น กลุ่มโน้ตพระนาม “ภูมิพล” และ กลุ่มโน้ตพระนาม "อดุลยเดช” จากนั้นได้สังเคราะห์และสร้าง “กลุ่มโน้ตพระบารมี” ขึ้นมาอีกหนึ่งกลุ่ม และนำไปใช้ในกระบวนต่าง ๆ ตลอดทั้งบทประพันธ์เพลง ในส่วนกระบวนที่ 3 มีการสร้างกลุ่มโน้ตเพิ่มอีกหนึ่งกลุ่ม คือ “กลุ่มโน้ตสวรรคต” เพื่อให้สอดคล้องความหมายกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และใช้ทฤษฎีทางด้านดนตรีตะวันตกมาใช้สำหรับการประพันธ์ เช่น แนวคิดการใช้หน่วยทำนองเพลงไทย แนวคิดการคัดทำนองเพลงไทย เทคนิคไซคลิก การนำทำนองเพลงไทยมาเรียบเรียงเสียงประสานด้วยวิธีการของดนตรีตะวันตก


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากความหมายของสี, ณัฐพร เพ็ชรเรือง Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากความหมายของสี, ณัฐพร เพ็ชรเรือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาความหมายของสีจากกลุ่มตัวอย่างของคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2538–2552 หรือกลุ่ม เจเนอเรชั่นซี (Generation Z) และนำข้อมูลมาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากความหมายของสี โดยใช้รูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ แบบสอบถามความหมายของสี 400 ฉบับ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย ซึ่งนำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 7 องค์ประกอบ คือ 1) บทการแสดงได้สอบถามความหมายของสีตามทฤษฎีสีทางทัศนศิลป์จากกลุ่มตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 2 องก์ คือ องก์ที่ 1 สีขั้นที่ 1 ประกอบไปด้วยความหมายของสีน้ำเงิน ความสุขุม สงบนิ่ง สีเหลือง หมายถึง ความสดใส และสีแดง หมายถึง ความร้อนแรง องก์ที่ 2 สีขั้นที่ 2 ประกอบไปด้วยความหมายของสีส้ม หมายถึง ความอบอุ่น สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ และสีม่วง หมายถึง ความลึกลับ 2) นักแสดง ใช้นักแสดงทั้งหญิงและชาย มีทักษะความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ไทยและสามารถสื่อสารอารมณ์ผ่านลีลานาฏยศิลป์ไทย 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลานาฏยศิลป์ไทยมานำเสนอความหมายของสี 4) ดนตรีประกอบการแสดง ได้เลือกเสียงของเครื่องดนตรีไทยมาประกอบลีลาสื่อความหมายของสี 5) เครื่องแต่งกายออกแบบตามรูปแบบนาฏยศิลป์ไทย รวมทั้งใช้ความเรียบง่ายผ่านการใช้สีขาวเพียงสีเดียวและมีการลดทอนเครื่องประดับ 6) พื้นที่การแสดง ออกแบบตามวงล้อของสีทางทัศนศิลป์ 7) แสง ออกแบบตามวงล้อของสีทางทัศนศิลป์ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรรค์นาฏยศิลป์จากความหมายของสี 5 ประการ คือ 1) การคำนึงถึงความหมายของสีในการสร้างงานนาฏยศิลป์ 2) การคำนึงถึงทฤษฎีทางทัศนศิลป์ 3) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างงานนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงจารีตและแบบแผนในการสร้างงานนาฏยศิลป์ไทยอนุรักษ์ 5) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ ทั้งนี้การวิจัยในครั้งนี้เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทางด้านนาฏยศิลป์มาบูรณาการร่วมกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการต่อยอดและพัฒนาผลงานนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต


ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง : จากหานเจียงสู่เจ้าพระยาสำหรับวงออร์เคสตรา, ณัฐวุฒิ นราวุฒิชัย Jan 2019

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง : จากหานเจียงสู่เจ้าพระยาสำหรับวงออร์เคสตรา, ณัฐวุฒิ นราวุฒิชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ดุษฎีนิพนธ์การประพันธ์เพลง จากหานเจียงสู่เจ้าพระยา สำหรับวงออร์เคสตรา เป็นบทประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยในลักษณะดนตรีพรรณนา (Program music) ที่กล่าวถึงเรื่องราวของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพจากแผ่นดินจีนเข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินไทย ผู้วิจัยได้ใช้วิธีผสมผสานเอกลักษณ์ของสำเนียงดนตรีตะวันออกเข้ากับหลักการประพันธ์เพลงแบบซิมโฟนีออร์เคสตราแบบตะวันตก โดยใช้สำเนียงทางดนตรีของ 2 ชาติ ได้แก่ ดนตรีจีนแต้จิ๋วและดนตรีไทยเดิมเพื่อเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์ ผู้วิจัยได้ศึกษาวรรณกรรมดนตรีจีนแต้จิ๋วในรูปแบบบทเพลงวงเครื่องสายจีนและอุปรากรจีน และวรรณกรรมดนตรีคลาสสิกประเภทดนตรีพรรณนาในยุคโรแมนติกและดนตรีคลาสสิกสมัยใหม่ที่ประพันธ์โดยศิลปินชาวเอเชียที่มีแนวทางเดียวกัน นั่นคือการผสมผสานความเป็นดนตรีกระแสชาตินิยมให้เข้ากับรูปแบบของดนตรีออร์เคสตรา โดยผู้วิจัยได้นำอุปรากรจีนเรื่อง เจาจวินหยวน เป็นหลักในการประพันธ์และใช้ทำนองเปิดของเพลงไทยเดิม จีนเก็บบุปผา มาผสมผสานในงานชิ้นนี้ในรูปแบบเทคนิคการประพันธ์เพลงสมัยใหม่สำหรับออร์เคสตรา บทประพันธ์เพลง จากหานเจียงสู่เจ้าพระยา ประกอบด้วย 3 ท่อน ได้แก่ ท่อนที่ 1 สายน้ำและชีวิต ท่อนที่ 2 จีนล่อง และท่อนที่ 3 ถิ่น ใช้เวลาในการบรรเลงประมาณ 30 นาที


การพัฒนาเกมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้แนวคิดเกมิฟิเคชัน, ณัฐกมล ถุงสุวรรณ Jan 2019

การพัฒนาเกมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้แนวคิดเกมิฟิเคชัน, ณัฐกมล ถุงสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาเกมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้แนวคิดเกมิฟิเคชัน มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดของเกมิฟิเคชันและออกแบบเกมิฟิเคชัน ที่ส่งเสริมการรับรู้ในเนื้อหาเรื่องราวของวัฒนธรรมไทยที่เชื่อมโยงกับในพื้นที่ของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2) เพื่อศึกษาและนำเสนอแนวทางในการออกแบบเกมร่วมกับแนวคิดเกมิฟิเคชัน สำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 3) เพื่อนำเสนอต้นแบบการออกแบบเกมโดยใช้แนวคิดเกมิฟิเคชัน จากการศึกษาวิจัยค้นพบว่าแนวคิดหลักของเกมิฟิเคชันคือการออกแบบระบบที่สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้งานติดอยู่กับระบบนั้น โดยใช้ความเป็นเกมจูงใจในการมีส่วนร่วมจนเกิดความผูกพันเพื่อส่งผลให้ผู้เล่นเกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เนื้อหาที่ใช้ในเกมมาจากพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดน่าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลายแต่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่หรือเป็นที่นึกถึงของนักท่องเที่ยวมากนัก ระเบียบวิธีการวิจัยใช้วิธีวิจัยแบบผสมด้วยการศึกษาแนวคิดทางด้านเกมิฟิเคชัน การออกแบบเกมและรูปแบบของภาพกราฟิกในเกม ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเกมิฟิเคชันและด้านการออกแบบเกม รวมถึงการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคที่เล่นเกมมือถือและชอบท่องเที่ยวในเรื่องของพฤติกรรมและแรงจูงใจในการเล่นเกม รูปแบบของการเล่นรวมถึงแนวทางภาพกราฟิกที่ชอบในเกม นำผลจากการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาต้นแบบเกมโดยมีรูปแบบของเกมและกลไกการเล่นที่ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้เล่นได้เป็นการเล่นในรูปแบบการเดินเล่นอย่างอิสระหรือ Open World ซึ่งมาจากพฤติกรรมการเล่นหลักของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประเภท Explorers ใช้เนื้อหาด้านศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่การท่องเที่ยวน่านมาเป็นเรื่องราวและภารกิจในเกม ผลจากการทดสอบการเล่นสามารถบอกได้ว่าเกมที่ออกแบบบนแนวคิดของเกมิฟิเคชันสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่และรับรู้เนื้อหาได้ รวมถึงการนำเกมมาใช้บูรณาการกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นสื่อหนึ่งที่สามารถส่งเสริมกันระหว่างอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสมกับในยุคดิจิทัล


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเทคนิคมายากล, นัฏภรณ์ พูลภักดี Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเทคนิคมายากล, นัฏภรณ์ พูลภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเทคนิคมายากล” ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทคนิคมายากลทั้ง 7 รูปแบบ ได้แก่ 1) การปรากฏ 2) การย้ายที่ 3) การเปลี่ยนรูป 4) การคืนสภาพ 5) การทะลุทะลวง 6) การต้านกฎธรรมชาติ 7) การอันตรธาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและหาแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเทคนิคมายากล มีรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลเชิงเอกสารทางด้านนาฏยศิลป์และมายากล การสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสัมมนา เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ศิลปิน และประสบการณ์ของผู้วิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ สรุปผล และนำเสนอผลการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในครั้งนี้ สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง โดยแบ่งเป็นทั้ง 7 องก์การแสดง ผ่านการตีความตามความหมายที่อธิบายถึงเทคนิคมายากล 2) นักแสดง มีทักษะการถ่ายทอดลีลาด้านนาฏยศิลป์สมัยใหม่ การแสดงมายากล นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ บัลเลต์ และนักกีฬายิมนาสติก 3) ลีลานาฏยศิลป์ โดยใช้ลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้ประกอบการแสดงมายากล ลีลานาฏยศิลป์สมัยใหม่ ลีลานาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ ลีลาการเคลื่อนไหวแบบบัลเลต์ และลีลาการเคลื่อนไหวทางยิมนาสติก 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง มีการใช้ผ้ายืดสีเงินที่มีความยืดหยุ่นได้ เพื่อเปลี่ยนรูปร่างให้เป็นลักษณะต่าง ๆ มีการใช้ฉากหลังขนาดใหญ่ที่ใช้ผ้าตัดเป็นทางยาว เพื่อให้นักแสดงสามารถทะลุผ่านไปได้ มีการใช้อุปกรณ์กีฬาแทรมโพลีน เพื่อสื่อถึงการลอยตัวต้านกฎธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่น ๆ เช่น กล่องลัง เก้าอี้ กาน้ำ หนังสือ เป็นต้น 5) เสียงและดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเสียงที่มาจากการบรรเลงสดโดยใช้วงดนตรีเชมเบอร์ 6) เครื่องแต่งกาย มีการใช้เครื่องแต่งกายแบบสากลนิยมทั้งนักแสดงชายและหญิง เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงมาตรฐานของการยอมรับในระดับสากล 7) พื้นที่แสดง ใช้โรงละครในลักษณะของแบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) มีพื้นที่สี่เหลี่ยม 8) แสง ใช้แสงสื่อถึงบรรยากาศของการแสดงมายากล เช่น ความลึกลับ การซ่อนเร้น นอกจากนี้มีแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ครั้งนี้ …


การออกแบบเรขศิลป์สำหรับงานอีเวนต์ โดยประยุกต์ใช้ทุนวัฒนธรรม กรณีศึกษา จังหวัดราชบุรี, พงษธร เครือฟ้า Jan 2019

การออกแบบเรขศิลป์สำหรับงานอีเวนต์ โดยประยุกต์ใช้ทุนวัฒนธรรม กรณีศึกษา จังหวัดราชบุรี, พงษธร เครือฟ้า

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยการออกแบบเรขศิลป์สำหรับงานอีเวนต์ โดยประยุกต์ใช้ทุนวัฒนธรรม กรณีศึกษา จังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาและระบุทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี 2) เพื่อหาองค์ประกอบทางเรขศิลป์สำหรับงานอีเวนต์ 3) เพื่อออกแบบเกณฑ์ในการนำองค์ประกอบเรขศิลป์สำหรับงานอีเวนต์ โดยการประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรี มาใช้ออกแบบกิจกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี ผู้วิจัยได้เลือกพื้นที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากศักยภาพของความเป็นเมืองรองที่มีวัฒนธรรมความเป็นมาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีกิจกรรมอีเวนต์และการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลาย การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการใช้วิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่าประกอบไปด้วย 4 ทุนทางวัฒนธรรม คือ 1) ทุนทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง 2) ทุนทางวัฒนธรรมด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม 3) ทุนทางวัฒนธรรมด้านแนวทางปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมและงานเทศกาล 4) ทุนทางวัฒนธรรมด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ผู้วิจัยพบว่าทุนทางวัฒนธรรมทั้ง 4 ด้าน ปรากฏอยู่ใน 10 แหล่งประเภททุนทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย 1) ศิลปะการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน 2) การทอผ้าซิ่นตีนจก 3) การปั้นโอ่งมังกร 4) เทศกาลการแห่ข้าวแช่ 5) เทศกาลการละเล่นสะบ้ามอญ 6) วัดมหาธาตุวรวิหาร 7) วัดถ้ำฤษีเขางู 8) วัดอรัญญิกาวาส 9) วัดคงคาราม 10) วัดโกสินารายณ์ ผู้วิจัยได้นำผลไปแปรเปลี่ยนเป็นแนวทางการออกแบบทางเรขศิลป์สำหรับงานอีเวนต์ 4 ปัจจัย ได้แก่ การใช้แรงจูงใจ (Appeal) ปรากฏ 32 ประเภท การใช้สไตล์ (Style) ปรากฏ 31 ประเภท การใช้รูปแบบของสี (Color Principles) ปรากฏ 9 ประเภท และ การใช้รูปทรง (Shape) ปรากฏ 8 ประเภท แล้วนำไปประเมินผลจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบเรขศิลป์ จนได้ข้อสรุปเป็น 10 เกณฑ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์ให้เหมาะสมกับแนวคิดที่ประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดราชบุรีสำหรับการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ต่อไป


การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา, วิชชุลดา ตันประเสริฐ Jan 2019

การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา, วิชชุลดา ตันประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดหลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จาก เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ใช้รูปแบบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบของงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยศึกษาวรรณกรรมเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ความคิดเห็นของผู้วิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การค้นคว้าเอกสาร การสัมภาษณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ การเก็บข้อมูลภาคสนาม เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ สรุปผล และนำเสนอผลการวิจัย ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า จากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาสามารถจำแนกตามองค์ประกอบนาฏยศิลป์ได้ 8 ประการ ประกอบด้วย 1) บทการแสดง แบ่งออกเป็น 3 องก์ ประกอบด้วย องก์ที่ 1ภาพความล่มสลาย องก์ที่ 2 ความหายนะ และองก์ที่ 3 ความรุ่งเรือง นำเสนอในรูปแบบการเล่าจากปัจจุบันย้อนกลับไปหาอดีต 2) นักแสดง มีทักษะด้านการแสดงละคร ทักษะนาฏยศิลป์ไทย ทักษะการต่อสู้ด้วยอาวุธ 3) ลีลาทางนาฏยศิลป์ ใช้การเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวัน (Everyday Movement) ตามแนวคิดของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ ลีลานาฏยศิลป์ไทย และลีลาการต่อสู้ด้วยอาวุธ 4) เครื่องแต่งกายมี 2 ลักษณะ ได้แก่ การแต่งกายชาวบ้านสมัยอยุธยาและการแต่งกายโขนและละครแบบราชสำนักอยุธยา 5) อุปกรณ์การแสดงใช้แนวคิดการลดทอนองค์ประกอบ (Minimalism) สื่อเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน 6) เสียงและดนตรีนั้นจะใช้วงดนตรีร่วมสมัย วงมโหรีเครื่องหก เสียงขับเสภาสด เสียงสังเคราะห์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดนตรี และเสียงการสนทนาของนักแสดง 7) พื้นที่สำหรับแสดง จัดแสดงในโรงละครในลักษณะแบล็ค บ๊อกซ์ เธียเตอร์ (Black Box Theatre) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 8) แสง ช่วยสร้างบรรยากาศ อารมณ์ และความรู้สึกร่วม นอกจากนี้แนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงานให้ความสำคัญใน 4 ประเด็น คือ การคำนึงถึงเนื้อหาวรรณกรรมเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา โดยนำเนื้อหาของวรรณกรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานทางนาฏยศิลป์ การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏยศิลป์ เป็นการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับจากปัจจุบันไปหาอดีต การคำนึงถึงสัญลักษณ์ในงานนาฏยศิลป์ เป็นการออกแบบเชิงสัญลักษณ์ที่ได้ปรากฏอยู่ในองค์ประกอบทางนาฏยศิลป์ ได้แก่ ลีลาทางนาฎยศิลป์ เครื่องแต่งกาย เสียงและดนตรี และอุปกรณ์ประกอบการแสดง และการคำนึงถึงแนวคิดหลังสมัยใหม่ …


การออกแบบเรขศิลป์โดยใช้แนวคิดปฏิสัจนิยมสำหรับอัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์กรณีศึกษา ย่านเจริญกรุง, สรัล ตั้งตรงสิทธิ์ Jan 2019

การออกแบบเรขศิลป์โดยใช้แนวคิดปฏิสัจนิยมสำหรับอัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์กรณีศึกษา ย่านเจริญกรุง, สรัล ตั้งตรงสิทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องการออกแบบเรขศิลป์โดยใช้แนวคิดปฏิสัจนิยมสำหรับอัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์ กรณีศึกษา ย่านเจริญกรุงมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อถอดแนวคิดปฏิสัจนิยมที่นำไปสู่องค์ประกอบการออกแบบเรขศิลป์ 2) เพื่อหาอัตลักษณ์ย่านเจริญกรุงโดยใช้แนวคิดปฏิสัจนิยม และนำเรขศิลป์ที่มีแนวคิดปฏิสัจนิยมมาใช้ในการออกแบบอัตลักษณ์ย่านเจริญกรุง ในการหาองค์ประกอบทางเรขศิลป์ที่มีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดปฏิสัจนิยม ผู้วิจัยใช้การค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และวิเคราะห์ข้อมูล ในส่วนของการหาอัตลักษณ์ของย่านเจริญกรุง ผู้วิจัยใช้การค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร ใช้แบบสอบถาม ลงพื้นที่ และวิเคราะห์ข้อมูล ผลวิจัยพบว่าอัตลักษณ์ของย่านเจริญกรุงคือการผสมผสาน 3 วัฒนธรรมด้านศาสนาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ศาสนาคริสต์นิกายโรมันทาคอลิกและศาสนาอิสลาม ในขณะที่องค์ประกอบการออกแบบเรขศิลป์จากแนวคิดปฏิสัจนิยมสามารถสร้างอัตลักษณ์สำหรับองค์กรหรือพื้นที่ ๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีความผิดแปลกจากความเป็นจริง ความเข้าใจดั้งเดิมของมนุษย์ หรือชุดความคิดเดิมในอดีต และ/หรือมีความเกี่ยวข้องกับการแทนค่าบางสิ่งเพื่ออธิบายสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้


การออกแบบโฆษณาเรขศิลป์เคลื่อนไหวสำหรับหลักสูตรการศึกษาโดยทฤษฎีพหุปัญญา, อภิชญา อังคะวิภาต Jan 2019

การออกแบบโฆษณาเรขศิลป์เคลื่อนไหวสำหรับหลักสูตรการศึกษาโดยทฤษฎีพหุปัญญา, อภิชญา อังคะวิภาต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ 1) เพื่อสร้างแนวทางในการออกแบบโฆษณาเรขศิลป์เคลื่อนไหว (Motion graphic Design) โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of multiple intelligences) และ 2) เพื่อหาวิธีการประยุกต์ใช้แนวทางในการออกแบบโฆษณาเรขศิลป์เคลื่อนไหวสำหรับหลักสูตรการศึกษาโดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อการออกแบบอัตลักษณ์ของหลักสูตรให้สอดคล้องกับลักษณะบัณฑิตในอุดมคติของหลักสูตรนั้นๆ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ 1) การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านพหุปัญญาจำนวน 7 ท่านและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเรขศิลป์เคลื่อนไหวจำนวน 3 ท่าน 2) การสนทนากลุ่มระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านพหุปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเรขศิลป์เคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนทั้งหมด 3 ท่าน 3) การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโฆษณาเรขศิลป์ 6 ท่าน ด้านการออกแบบเรขศิลป์เคลื่อนไหว 5 ท่าน ด้านโฆษณา 5 ท่าน ผลการวิจัยพบว่า 1) ทฤษฎีพหุปัญญาสามารถนำมาปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางทางการออกแบบได้ 8 ด้าน ได้แก่ รูปแบบของเรขศิลป์ การจัดองค์ประกอบ ตัวอักษร การผสมสี การเชื่อมต่อ จังหวะของภาพ รูปแบบการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ ลักษณะบุคลิกภาพ 2) ระดับความสามารถในปัญญาด้านต่างๆ ในทฤษฎีพหุปัญญาสามารถนำมาหาแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์เคลื่อนไหวได้ 24 ชุดรูปแบบ และ 3) วิธีการประยุกต์ใช้แนวทางในการออกแบบสามารถทำได้โดยการระบุระดับความสามารถในปัญญาด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหลักสูตร แล้วจึงให้นักออกแบบเรขศิลป์เคลื่อนไหวนำข้อมูลนั้นไปเปลี่ยนเป็นแนวทางในการออกแบบทั้ง 8 ด้านโดยเลือกจาก 24 ชุดรูปแบบ


บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์: นวนิยาย “เพชรพระอุมา” สำหรับวงซินทีสิสแจ๊สออนซอมเบิล, ธีรัช เลาห์วีระพานิช Jan 2019

บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์: นวนิยาย “เพชรพระอุมา” สำหรับวงซินทีสิสแจ๊สออนซอมเบิล, ธีรัช เลาห์วีระพานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์: นวนิยาย “เพชรพระอุมา” สำหรับวงซินทีสิสแจ๊สออน-ซอมเบิล ประพันธ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรรมประเภทดนตรีประกอบ ผู้ประพันธ์เพลงนำเรื่องราวจากนวนิยายเพชรพระอุมาภาคแรกมาถอดความ เพื่อสร้างสรรค์เป็นบทประพันธ์เพลงที่มีสีสันลีลาและความรู้สึกในรูปแบบดนตรีแจ๊สร่วมสมัย ประพันธ์ขึ้นโดยการบูรณาการแนวคิดการประพันธ์ดนตรีแจ๊สร่วมกับการประพันธ์ดนตรีคลาสสิกและดนตรีร่วมสมัย รวมถึงเทคนิคการประพันธ์เพลงรูปแบบอื่น ๆ ที่ผู้ประพันธ์เพลงพิจารณาว่าจะช่วยส่งเสริมให้บทประพันธ์เพลง มีสุ้ม-เสียงที่สัมพันธ์สอดคล้องกับเรื่องราวจากนวนิยาย เช่น แนวคิดดนตรีโมดัลแจ๊ส แนวคิดกระแสดนตรีสิบสองเสียง แนวคิดการซ้ำทำนองและการซ้อนทำนอง การใช้อัตราจังหวะไม่สมมาตร เทคนิคออสตินาโต เทคนิคโพลิคอร์ด และเทคนิคคอนทราแฟ็กท์ เป็นต้น บทประพันธ์เพลงมีความยาวประมาณ 35 นาที ประกอบด้วยบทประพันธ์เพลงย่อย 6 บท ได้แก่ บทประพันธ์เพลงที่ 1 ไพรมหากาฬ บทประพันธ์เพลงที่ 2 ดวงไฟสีแดงในดงมรณะ บทประพันธ์เพลงที่ 3 กฤติยามนตร์แห่งมหาคัมภีร์มายาวิน บทประพันธ์เพลงที่ 4 อาถรรพณ์ปราสาทพันธุมวดี บทประพันธ์เพลงที่ 5 นิลกาญจน์: หุบเขาแห่งความสงบ และบทประพันธ์เพลงที่ 6 เส้นทางสู่มรกตนคร การนำเสนอบทประพันธ์เพลงประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์ เป็นผลงานวิชาการที่ผสมผสานสุนทรียะทางดนตรีร่วมกับวรรณกรรม สร้างสรรค์แนวทางการประพันธ์เพลงแจ๊สรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาวิชาการด้านดนตรีของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น


การสร้างอัตลักษณ์เเฟชั่นสำหรับยูนิฟอร์มโรงเเรมในประเทศไทย, ชไมพร มิตินันท์วงศ์ Jan 2019

การสร้างอัตลักษณ์เเฟชั่นสำหรับยูนิฟอร์มโรงเเรมในประเทศไทย, ชไมพร มิตินันท์วงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสร้างอัตลักษณ์แฟชั่นสำหรับยูนิฟอร์มโรงแรมในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคู่มือสำหรับการสร้างและออกแบบยูนิฟอร์มให้กับโรงแรมขนาดใหญ่ระดับ 4-5 ดาว ในประเทศไทย โดยอาศัยกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณควบคู่กับการออกแบบเชิงศิลปกรรมศาสตร์ วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1. การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเเบบสนทนากลุ่ม (Focus Group) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนักการตลาดด้านสื่อสารข้อมูลโรงแรมระดับบน 2. กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องธุรกิจยูนิฟอร์มโรงแรมขนาดใหญ่ 3. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในโรงแรม ช่วงที่ 2. เป็นการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจากพนักงานโรงแรม เกี่ยวกับฟังค์ชั่นการใช้งานชุดยูนิฟอร์มโรงแรมจำนวน 400 ชุด ช่วงที่ 3 การเก็บข้อมูลรูปภาพยูนิฟอร์มพนักงานแผนกส่วนหน้า ซึ่งแบ่งตามความเฉพาะของโรงแรม 6 กลุ่มรวมทั้งหมด 18 แห่ง ผลการวิจัยพบว่า ยูนิฟอร์มโรงแรมในประเทศไทยสามารถแบ่งสไตล์ของยูนิฟอร์มได้จากความเฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในโรงแรมได้เป็น 6 สไตล์ คือ 1. ทันสมัยหรูหรา (Urban Luxury) 2. นักเดินทาง (Leisure) 3. นักธุรกิจ (Business) 4. อนุรักษ์ความเป็นไทย (Thai Culture) 5. ธรรมชาติแบบทะเล (Beach Sea) 6. ธรรมชาติแบบขุนเขา (Nature Tropical) โดยแสดงสัญญะผ่านยูนิฟอร์มเป็นโครงสร้างสี อารมณ์และองค์กรประกอบการออกแบบของยูนิฟอร์ม และโรงแรมใช้อัตลักษณ์เฉพาะมาจากวัดซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนพื้นที่ตั้งของโรงแรม โดยนำองค์ประกอบและอัตลักษณ์จากที่ได้แต่ละกลุ่มมาใช้ร่วมกับเทรนด์กระแสแฟชั่นเพื่อสร้างต้นแบบยูนิฟอร์มแฟชั่นให้กับโรงแรมในประเทศไทย