Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2022

PDF

Landscape Architecture

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 10 of 10

Full-Text Articles in Architecture

การประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี, จิระดา มาพงษ์ Jan 2022

การประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี, จิระดา มาพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เกาะล้านมีภูมิทัศน์ที่สวยงามจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะล้านส่งผลให้มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ชายหาด และก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะความเสียหายต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบที่ส่งผลต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้านจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ หาดตายาย หาดทองหลาง หาดตาแหวน หาดสังวาลย์ หาดเทียน หาดแสม และหาดนวล โดยการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวทางการประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานของประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้านทั้ง 7 แห่ง คือ ทราย โขดหิน หิน กรวด ภูเขา ต้นไม้ สะพาน และอาคาร รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ร่มชายหาด เก้าอี้ชายหาด และเสาไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนของกิจกรรมชายหาด ประกอบด้วย การถ่ายรูป การเล่นน้ำ การดำน้ำ การนั่งเรือกล้วย และการเล่นวอลเลย์บอล เป็นต้น โดยองค์ประกอบเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วทำให้เกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชายหาด ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามระดับของการพัฒนาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ประเภทที่ 1 ชายหาดที่มีการพัฒนาน้อย ประเภทที่ 2 ชายหาดที่มีการพัฒนาปานกลาง และประเภทที่ 3 ชายหาดที่มีการพัฒนามาก


การวิเคราะห์ลักษณะทางภูมินิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศเมืองชายฝั่งทะเล : กรณีศึกษา เมืองกันตัง จังหวัดตรัง, ญาณิศา ปิยะกมลนิรันดร์ Jan 2022

การวิเคราะห์ลักษณะทางภูมินิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศเมืองชายฝั่งทะเล : กรณีศึกษา เมืองกันตัง จังหวัดตรัง, ญาณิศา ปิยะกมลนิรันดร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง เป็นพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำซึ่งน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำเค็มจากทะเลมาบรรจบและเกิดการผสมผสานกัน ทำให้ภูมินิเวศชะวากทะเลเป็นระบบที่ซับซ้อน เป็นพลวัต อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยที่ทำงานร่วมกันผ่านมิติเวลาและพื้นที่ เกิดเป็นรูปแบบ กระบวนการ และลักษณะของภูมินิเวศชะวากทะเล ประกอบด้วย โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และพลวัตการเปลี่ยนแปลง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง ซึ่งเกิดจากทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์ และเพื่อเป็นพื้นฐานในการบ่งชี้ปัญหาและนำไปสู่การค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง โดยดำเนินการระบุโครงสร้างและความสัมพันธ์ของลุ่มน้ำและชะวากทะเล การจำแนกโครงสร้างและรูปแบบของลักษณะทางภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง และการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและรูปแบบของลักษณะทางภูมินิเวศกับการใช้ประโยชน์จากภูมินิเวศของคนในพื้นที่ ผลการวิจัยแสดงถึงลักษณะเฉพาะทางภูมินิเวศของชะวากทะเลในหลากหลายระดับ นิเวศบริการ เงื่อนไขในการตั้งถิ่นฐาน และศักยภาพในการฟื้นฟู ประกอบกันเป็นรากฐานของการวางแผนและจัดการภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง


แนวทางการปรับใช้แนวคิดเกษตรในเมืองในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร, ชามิตา เตชัย Jan 2022

แนวทางการปรับใช้แนวคิดเกษตรในเมืองในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร, ชามิตา เตชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หลังจากมีประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีการตั้งคำถามมากมายโดยเฉพาะความเหมาะสมของประกาศแนบท้ายการประกอบพื้นที่เกษตร กำหนดเพียงอัตราส่วนพื้นที่ต่อจำนวนชนิดต้นไม้ 57 ชนิด ทำให้เจ้าของที่ดินแผ้วถางที่เพื่อปลูกพืชเช่นกล้วยและมะนาวแทน ในมาตรา 37 วรรคหก กำหนดให้คณะกรรมการของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีตามความเหมาะสมของบริบทด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นได้ ในงานวิจัยนี้ ได้ศึกษาบริบทพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความเป็นเมืองมากกว่าชนบท รวมถึงมีมาตรการผังเมือง แผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะในหลายด้าน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับประโยชน์ของเกษตรในเมือง โดยมีปัจจัย 3สิ่งต้องคำนึงถึง คือ พื้นที่ตั้ง วัตถุประสงค์ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรในเมือง โดยงานวิจัยนี้สามารถเสนอแนะสาระสำคัญการประกอบพื้นที่เกษตรในเมือง ในกรุงเทพมหานครคือ พื้นที่ 3 กลุ่มเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลหรือพื้นที่นิติบุคคล มีวัตถุประสงค์การใช้พื้นที่เพื่อการปลูก การเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างการเพิ่มมูลค่า และการกระจายผลผลิตที่เป็นอาหาร รวมถึงผลผลิตที่ไม่ใช่อาหารอย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการใช้และนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้น การเสนอสาระสำคัญในข้อบัญญัติเกษตรในมืองในกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมการลดหย่อนภาษีตามมาตรการส่งเสริมการพัฒนา โดยใช้กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ คำนวณเพื่อลำดับคะแนนกิจกรรมที่สอดคล้องกับเมือง กิจกรรมที่สอดคล้องสูงสุดได้แก่ การปลูกพืช การฝึกอาชีพ อบรมผู้นำ รวมกลุ่มแม่บ้าน ขายผลิตภัณฑ์ชุมชน และอบรมการจัดการเกษตรในเมือง


ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งโบราณคดี จ.พระนครศรีอยุธยา, ธาริต อิ่มอภัย Jan 2022

ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งโบราณคดี จ.พระนครศรีอยุธยา, ธาริต อิ่มอภัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ มีการดำเนินโครงการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่1 กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา และช่วงที่ 2 คือ นครราชสีมาถึงหนองคาย โดยเส้นทางช่วงที่1 ตัดผ่านพื้นที่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลกระทบทางสายตาของทางรถไฟและสถานีรถไฟที่มีต่อโบราณสถานโดยกำหนดพื้นที่ศึกษาจากรางรถไฟออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร โดยเริ่มจากจุดศูนย์กลางของสถานีลงมา 3 กิโลเมตร และขึ้นไป 3 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 6 กิโลเมตร ในพื้นที่ศึกษาดังกล่าวมีพื้นที่มีโบราณสถานทั้งหมด 40 แห่ง แต่จะเลือกศึกษา 24 แห่งที่ยังเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและยังไม่มีการศึกษามาก่อน ผลการวิจัยพบว่า จากโบราณสถานที่ศึกษา 24 แห่ง มีจำนวน 13 แห่งที่สถานีและรางรถไฟส่งผลกระทบต่อมุมมองของโบราณสถาน โดยในส่วนของการวิเคราะห์จะประเมินระดับผลกระทบ และลำดับความสำคัญของคุณค่าโบราณสถาน รวมทั้งเสนอแนวทางการออกแบบพืชพรรณโดยรอบพื้นที่


การเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมผิวดินในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง : กรณีศึกษาพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูล ในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี, ศุภวิชญ์ โรจน์สราญรมย์ Jan 2022

การเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมผิวดินในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง : กรณีศึกษาพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูล ในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี, ศุภวิชญ์ โรจน์สราญรมย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม่น้ำเป็นระบบที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและค้ำจุนชีวิตบนโลก และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการเลือกพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตำแหน่งของชุมชนในอดีตแสดงถึงการพึ่งพาและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขตามธรรมชาติ แตกต่างกับเมืองในปัจจุบันที่ไม่สนใจเงื่อนไขเหล่านั้น และพลวัตน้ำหลาก (Flood pulse) ที่เกิดขึ้นเป็นปกติตามธรรมชาติกลับถูกมองว่าเป็นปัญหาและสร้างความเสียหายให้แก่เมือง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้าง บทบาท การเปลี่ยนแปลง และพลวัตของภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก เพื่อการกำหนดขอบเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูล และใช้เป็นขอบเขตในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมผิวดินภายในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำมูลในอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี วิทยานิพนธ์ฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ามีเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมผิวดินที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองบนพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง บทบาท และพลวัตน้ำหลากที่ดำเนินไปตามธรรมชาติ ซึ่งขัดต่อเงื่อนไขตามธรรมชาติของภูมิทัศน์พลวัตน้ำหลาก จนทำให้เกิดการตัดขาดการเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำและพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศพลวัตน้ำหลาก ส่งผลต่อนิเวศบริการและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งการขยายตัวบนพื้นราบน้ำท่วมถึงทำให้เกิดน้ำท่วมเมือง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของน้ำท่วมเมืองคือ เมืองกำลังพัฒนาอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ รอให้การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่เป็นไปตามธรรมชาติเข้าท่วมและสร้างความเสียหายซ้ำซากให้แก่เมือง


แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย, อภิปิยา เทียนทรัพย์ Jan 2022

แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย, อภิปิยา เทียนทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เมืองโบราณเชียงแสน คือ เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นทั้งเมืองต้นกำเนิดอาณาจักรล้านนา และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความโดดเด่นทางกายภาพจากทำเลที่ตั้งเมืองบนส่วนโค้งของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจุดสามเหลี่ยมทองคำบรรจบชายแดนสามประเทศทำให้มีโครงสร้างเมืองที่สอดคล้องตามลักษณะของภูมิประเทศ และด้านวิถีชีวิตที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโบราณสถานในแง่วัฒนธรรมทางด้านศาสนา แต่ด้วยแผนแม่บทในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าฉบับก่อนหน้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เท่าที่ควร เนื่องจากแบ่งแยกพื้นที่โบราณสถานและชุมชนออกจากกัน ส่งผลให้ทั้งคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมในเมืองโบราณเชียงแสน และความผูกพันระหว่างชุมชนกับโบราณสถานลดลง วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เพื่อศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์รวมถึงสภาพปัจจุบันของเมืองโบราณเชียงแสนเพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเชียงแสนภายใต้แนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ (Historic Urban Landscape) โดยทำการบ่งชี้พื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณเชียงแสน และลงสำรวจพื้นที่ภาคสนาม ตลอดจนสัมภาษณ์ตัวแทนประธานชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเชียงแสนภายใต้แนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ พื้นฟู และพัฒนาพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์ให้มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมด้านการเรียนรู้ นันทนาการ และประเพณีของชุมชน ตลอดจนการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะการใช้งานพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของเมืองโบราณเชียงแสน


ทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย : กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รินรดา พิทักษ์จำนงค์ Jan 2022

ทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย : กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รินรดา พิทักษ์จำนงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสบการณ์การเดินภายในมหาวิทยาลัยและเป็นพื้นฐานการออกแบบมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมและการรับรู้สภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยของนักศึกษาด้วย วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย โดยการพัฒนาเครื่องมือสำรวจที่มีรูปแบบเป็นแบบสอบถามออนไลน์สำหรับใช้เก็บข้อมูลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ถึงชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริงในการเดินภายในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยและพฤติกรรมการเดินและการรับรู้สภาพแวดล้อมของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินในมหาวิทยาลัยได้ต่อไป ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 85 คนเคยเดินเท้าภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่มีเหตุผลในการเดินเท้าคือความต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย จึงมักเดินทุกวันหรือเกือบทุกวัน ใช้เวลาในการเดินโดยประมาณไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเวลาพักกลางวัน 12.00 - 13.00 น. และมักจะเดินเป็นกลุ่มขนาดเล็ก 3 คนขึ้นไป และพบว่าคุณสมบัติของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยสามารถจำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมและมีความต่อเนื่อง 2) การเข้าถึง 3) ความปลอดภัย 4) ความสะดวกสบาย 5) สุนทรียภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าคุณสมบัติทางสภาพแวดล้อมของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ ความปลอดภัย และคุณสมบัติทางสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกเดินมากที่สุดคือ ความสะดวกสบาย


ความสัมพันธ์ระหว่างภูมินิเวศแม่น้ำกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์: กรณีศึกษา แม่น้ำยมกับเมืองแพร่, ณัฐพงศ์ สิริสมพรคง Jan 2022

ความสัมพันธ์ระหว่างภูมินิเวศแม่น้ำกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์: กรณีศึกษา แม่น้ำยมกับเมืองแพร่, ณัฐพงศ์ สิริสมพรคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม่น้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิประเทศรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงให้ทรัพยากรแก่มนุษย์ นอกจากปัจจัยด้านทรัพยากรแล้ว ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไขจากผลกระทบของกระบวนการของแม่น้ำด้วย เช่น การหลากของน้ำตามฤดูกาลที่ทำให้เกิดที่ราบน้ำท่วมถึงและลานตะพักลำน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบทางธรณีสัณฐานที่มีคุณประโยชน์หลายด้าน โดยลานตะพักลำน้ำในที่ราบลุ่มหรือแอ่ง เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้สะดวก และพื้นที่มีระดับสูงทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำหลากน้อย วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตภูมินิเวศแม่น้ำและความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งถิ่นฐานของเมืองแพร่กับแม่น้ำยม โดยอาศัยพื้นฐานจากกรอบแนวคิดภูมินิเวศวิทยาและภูมินิเวศแม่น้ำ ใช้การวิเคราะห์ในเชิงพื้นที่ด้วยรูปตัดภูมิประเทศจากแบบจำลองความสูงเชิงเลข และข้อมูลธรณีวิทยา รวมถึงสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมดินจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมืองแพร่ตั้งอยู่บนลานตะพักแม่น้ำยมชิดกับแนวเขตที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นการตั้งถิ่นฐานที่อยู่บนเงื่อนไขของปัจจัยเชิงนิเวศ แต่ในปัจจุบันเมืองแพร่มีการขยายตัวมากขึ้นจนขยายเข้าสู่พื้นที่แนวแม่น้ำยม และมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยในที่ราบน้ำท่วมถึงอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการศึกษานี้จึงจะเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนการจัดการภูมินิเวศให้สอดคล้องกับปัจจัยทางภูมินิเวศของภูมินิเวศแม่น้ำ และการอยู่ร่วมกับแม่น้ำในอนาคต


รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานของเมืองโบราณในประเทศไทย : กรณีศึกษาเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่, ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล Jan 2022

รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานของเมืองโบราณในประเทศไทย : กรณีศึกษาเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่, ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบชลประทานโบราณเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญประเภทหนึ่ง มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อีกทั้งยังส่งเสริมทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมให้แก่เมือง เมื่อเมืองถูกพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงระบบชลประทานโบราณ นำไปสู่การเกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเน่าเสีย เป็นต้น วิทยานิพนธ์นี้ศึกษารูปแบบและการเปลี่ยนแปลงระบบชลประทานโบราณของเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีศึกษาจากการค้นคว้าเอกสารวิชาการ ศึกษาภาพถ่ายทางอากาศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การสัมภาษณ์นักวิชาการที่สามารถให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ การสำรวจพื้นที่ศึกษาเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง และสรุปผลการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ระบบชลประทานโบราณเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้งของเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์วัฒนธรรมและระบบนิเวศเมือง รวมทั้งทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ


การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า(ทีโอดี) : กรณีศึกษาสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, พีระพงศ์ เวชส่งเสริม Jan 2022

การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า(ทีโอดี) : กรณีศึกษาสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, พีระพงศ์ เวชส่งเสริม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภูมิทัศน์ถนน (Street Scape) เป็นคุณลักษณะทางกายภาพสำคัญที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองๆนั้น ให้ผู้คนได้เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่สอดคล้องกันกับผู้อาศัยในเมืองนั้นๆ ซึ่งแต่เดิมสยามประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น นครเวนิสตะวันออก ที่ใช้เรือเป็นพาหนะขนส่งหลัก แต่หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในปี พ.ศ. 2399 ถนนเริ่มมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีองค์ประกอบภูมิทัศน์ถนนที่สำคัญ ได้แก่ อาคารทางประวัติศาสตร์ ต้นไม้ ทางเท้า ที่ว่าง กิจกรรมของชุมชน ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ถนนในย่านเมืองเก่า ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยของกฎระเบียบภายในพื้นที่เมืองเก่า ปรากฎการณ์ของเจนตริฟิเคชัน (gentrification) รวมทั้งการมาถึงของโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่ใช้แนวคิดการพัฒนาเมืองโดยอาศัยสถานีรถไฟฟ้าเป็นจุดศูนย์กลาง คือโครงการการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือทีโอดี (Transit Oriented Development : TOD) มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ช่วยให้คนหันมาใช้รถน้อยลงในการเดินทาง เพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมการเดินและใช้จักรยาน จากการศึกษาพื้นที่โดยรอบสามสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ สนามไชย สามยอด และวัดมังกร พบรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนนในทางกายภาพอย่างเดียว 2) การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรม และ 3) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เชิงโครงสร้างให้กลายเป็นอาคารสถานีรถไฟฟ้าและอาคารระบายอากาศ (IVS: intervention station) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบหลักๆ ได้แก่ ปัจจัยข้อกำหนดต่างๆในเกาะรัตนโกสินทร์ และปัจจัยจากสถานีรถไฟฟ้าและทีโอดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนนที่มีผลมาจากปัจจัยเจนตริฟิเคชัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งรูปแบบอาคาร ที่มีผลมาจากการก่อสร้างบนพื้นที่เดิม และกิจกรรมภายในพื้นที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบอาคาร ที่ว่าง และกิจกรรม