Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 1 - 30 of 422

Full-Text Articles in Architecture

การประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี, จิระดา มาพงษ์ Jan 2022

การประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี, จิระดา มาพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เกาะล้านมีภูมิทัศน์ที่สวยงามจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะล้านส่งผลให้มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ชายหาด และก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะความเสียหายต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการวิเคราะห์องค์ประกอบที่ส่งผลต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้านจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ หาดตายาย หาดทองหลาง หาดตาแหวน หาดสังวาลย์ หาดเทียน หาดแสม และหาดนวล โดยการดำเนินการวิจัยครั้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวทางการประเมินลักษณะทางภูมิทัศน์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานของประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์ ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อลักษณะทางภูมิทัศน์ของชายหาดสำคัญบนเกาะล้านทั้ง 7 แห่ง คือ ทราย โขดหิน หิน กรวด ภูเขา ต้นไม้ สะพาน และอาคาร รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ร่มชายหาด เก้าอี้ชายหาด และเสาไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนของกิจกรรมชายหาด ประกอบด้วย การถ่ายรูป การเล่นน้ำ การดำน้ำ การนั่งเรือกล้วย และการเล่นวอลเลย์บอล เป็นต้น โดยองค์ประกอบเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วทำให้เกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชายหาด ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทตามระดับของการพัฒนาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ประเภทที่ 1 ชายหาดที่มีการพัฒนาน้อย ประเภทที่ 2 ชายหาดที่มีการพัฒนาปานกลาง และประเภทที่ 3 ชายหาดที่มีการพัฒนามาก


แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย, อภิปิยา เทียนทรัพย์ Jan 2022

แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์เมืองโบราณเชียงแสน จ.เชียงราย, อภิปิยา เทียนทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เมืองโบราณเชียงแสน คือ เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นทั้งเมืองต้นกำเนิดอาณาจักรล้านนา และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความโดดเด่นทางกายภาพจากทำเลที่ตั้งเมืองบนส่วนโค้งของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นจุดสามเหลี่ยมทองคำบรรจบชายแดนสามประเทศทำให้มีโครงสร้างเมืองที่สอดคล้องตามลักษณะของภูมิประเทศ และด้านวิถีชีวิตที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโบราณสถานในแง่วัฒนธรรมทางด้านศาสนา แต่ด้วยแผนแม่บทในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าฉบับก่อนหน้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เท่าที่ควร เนื่องจากแบ่งแยกพื้นที่โบราณสถานและชุมชนออกจากกัน ส่งผลให้ทั้งคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมในเมืองโบราณเชียงแสน และความผูกพันระหว่างชุมชนกับโบราณสถานลดลง วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เพื่อศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์รวมถึงสภาพปัจจุบันของเมืองโบราณเชียงแสนเพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเชียงแสนภายใต้แนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ (Historic Urban Landscape) โดยทำการบ่งชี้พื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณเชียงแสน และลงสำรวจพื้นที่ภาคสนาม ตลอดจนสัมภาษณ์ตัวแทนประธานชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณเชียงแสนภายใต้แนวคิดภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ พื้นฟู และพัฒนาพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์ให้มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมด้านการเรียนรู้ นันทนาการ และประเพณีของชุมชน ตลอดจนการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะการใช้งานพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของเมืองโบราณเชียงแสน


ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม ของ บริษัทออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และ ทาวน์เฮาส์ ของ บริษัทบริทาเนีย จำกัด (มหาชน) ระดับราคา 3-6 ล้านบาท ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวาย, กษิดิศ เตชะวิเชียร Jan 2022

ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม ของ บริษัทออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และ ทาวน์เฮาส์ ของ บริษัทบริทาเนีย จำกัด (มหาชน) ระดับราคา 3-6 ล้านบาท ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวาย, กษิดิศ เตชะวิเชียร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงและมีแนวโน้มไม่กลับมาเหมือนเดิม ทั้งปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยและกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวายกลายเป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยและอาศัยอย่างแท้จริง (Real Demand) ทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์ อีกทั้งเป็นเป้าหมายหลักที่บริษัทพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจทั้งในช่วงวิกฤตโควิด-19 และช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้วิจัยมีความสนใจศึกษาปัจจัยในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์ของกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวาย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีปัจจัยที่ควบคุม คือ อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน และ บริษัทเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวาย ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ซื้อคอนโดมิเนียมที่ได้จากการสุ่ม มีช่วงอายุ 29-35 ปี (Y2) มากที่สุด มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสามอันดับแรก ได้แก่ ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ปัจจัยโควิด-19 และปัจจัยทำเลที่ตั้ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ซื้อทาวน์เฮาส์ที่ได้จากการสุ่ม มีช่วงอายุ 22-28 ปี (Y1) มากที่สุด มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสามอันดับแรก ได้แก่ ปัจจัยโควิด-19 ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด ปัจจัยลักษณะบ้าน ซึ่งปัจจัยโควิด-19 และปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด โดยปัจจัยโควิด-19 ไม่ได้ทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลง ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในด้านของราคาและโปรโมชั่น ช่วยให้ระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภครวดเร็วขึ้น ส่วนใหญ่มีระยะเวลาในการตัดสินใจหนึ่งเดือนหรือน้อยกว่า


การศึกษาหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดพักอาศัยรวม เขตกรุงเทพมหานคร, นภสร จินดาพงษ์ Jan 2022

การศึกษาหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดพักอาศัยรวม เขตกรุงเทพมหานคร, นภสร จินดาพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โครงการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดพักอาศัยรวมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไปต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์คือ พื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศใช้การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปีพ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ในงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวให้ดีขึ้น โดยกำหนดกรอบการวิจัยคือ การศึกษาโครงการอาคารชุดพักอาศัยรวมที่ผ่านการพิจารณาในปีพ.ศ. 2561 เป็นกรณีศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียว ผลการศึกษาแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การวิจัยเชิงเอกสารพบว่า พื้นที่สีเขียวทุกประเภทสามารถทำได้เกินจากหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์กลุ่มที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงานว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการจัดทำพื้นที่สีเขียว คือ การทำให้ผ่านหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงว่าจะต้องเกินมากน้อยเพียงไร ซึ่งแสดงให้เห็นจากตัวเลขพื้นที่สีเขียวรวมที่หลักเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดไว้ 1 ตร.ม. ต่อ 1 คนนั้นมีค่าเฉลี่ยเกินเพียง 1.07 ตร.ม. ต่อ 1 คน ปัจจัยสำคัญรองลงมาคือ ชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้น เพราะต้องนำไปคำนวณการดูดซับคาร์บอน โดยกลุ่มที่ปรึกษาขอให้กลุ่มผู้ออกแบบเลือกใช้ชนิดพันธุ์จากตารางอ้างอิงที่ถูกทำขึ้นในปีพ.ศ. 2538 และยังใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ออกแบบพบว่า ไม่สามารถนำชนิดพันธุ์เหล่านั้นมาใช้ได้จริง เพราะตารางอ้างอิงนี้ไม่ได้ตรวจทานเพิ่มเติมมาถึง 28 ปีแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจพบว่าชนิดพันธุ์ในเล่มรายงานไม่ตรงกับในโครงการจริง พิสูจน์ได้ว่าหลักเกณฑ์การดูดซับคาร์บอนนี้ไม่สามารถปฏิบัติจริงได้เพราะชนิดพันธุ์ที่ใช้ในการคำนวณไม่ได้นำมาใช้จริง และเมื่อรวมกับการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพื้นที่สีเขียว จึงได้นำมาสู่ข้อเสนอแนะการปรับปรุงหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียว ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวรวม 1 ตร.ม. ต่อ 1 คน ต้องมีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำมากขึ้น เนื่องด้วยหลักเกณฑ์เดิมไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นขึ้นมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา 2) หลักเกณฑ์ขั้นต่ำประเภทอื่นๆ ควรถูกนำมาประเมินเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน 3) หลักเกณฑ์การดูดซับคาร์บอนต้องปรับปรุงให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้สิ่งที่ปรากฎในเล่มรายงานส่งผลไปยังการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ต่อไป


รูปแบบการปรับปรุงทางกายภาพของสินทรัพย์รอการขายประเภทบ้านเดี่ยวในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) Bam, อรจิรา ศรีสวัสดิ์ Jan 2022

รูปแบบการปรับปรุงทางกายภาพของสินทรัพย์รอการขายประเภทบ้านเดี่ยวในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) Bam, อรจิรา ศรีสวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของปริมาณทรัพย์สินรอการขายซึ่งเป็นผลมาจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 ทําให้เกิดการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อเข้าบริหารหนี้เสียจากสถาบันการเงิน โดยภาพรวมทรัพย์สินรอการขายของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พ.ศ. 2555 และหลังจากพ.ศ. 2559 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบชะลอตัวลง บทความนี้มีประเด็นคําถามในงานวิจัยคือ ปัจจัยทางกายภาพด้านใดที่มีความสําคัญและส่งผลต่อการจําหน่าย ทรัพย์สินรอการขายประเภทที่อยู่อาศัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการปรับปรุงทางกายภาพของสินทรัพย์ดังกล่าว พร้อมศึกษาแนวทางและนโยบายการจัดการทรัพย์สินรอการขายของบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) หรือ บสก. ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ได้มีการเก็บข้อมูลโดยการสืบค้นจากข้อมูลเอกสารแนวคิดทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบ้าน มือสองประเภททรัพย์สินรอการขาย และศึกษาจากฐานข้อมูลอนุกรมเวลาเป็นข้อมูลการซื้อขายสินทรัพย์ของบสก.โดยตรง ซึ่ง ข้อมูลที่นํามาวิเคราะห์อยู่ในช่วง พ.ศ. 2541-2562 รวมระยะเวลา 21 ปี ต่อมาเป็นขั้นตอนการสํารวจทรัพย์สินรอการขายใน ปัจจุบัน เพื่อนําข้อมูลดังกล่าวไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร ถึงแนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ แล้ว จึงวิเคราะห์ มุมมองสอดคล้อง เพื่อทราบถึงปัจจัยทางกายภาพด้านที่ส่งผลสําคัญต่อการจําหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าวของบสก. จากการศึกษาพบว่าบริษัทฯมีสินทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยทั้งหมด 9,136 รายการ มูลค่า 16,008 ล้านบาท การ กระจุกตัวจะอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพฯมากที่สุดมี 3,592 รายการ มูลค่า 7,770 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของสินทรัพย์รวม และหากศึกษาการกระจุกตัวของจํานวนและราคาสินทรัพย์จะพบว่าบ้านเดี่ยวเป็นทรัพย์ที่มีเหลือขายมากที่สุดรวม 735 รายการ มูลค่ารวม 3,874 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49 ต่อมาเมื่อจําแนกสินทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ของบสก. จะพบว่าทรัพย์ ราคา 5-10 ล้านบาทจะเหลือขายมากที่สุดมี 221 รายการ คิดเป็นร้อยละ 30 ของสินทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยว ทั้งนี้จากการ วิเคราะห์ทําให้ทราบว่าระยะเวลาการถือครองบ้านของบสก.เฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 ปี ส่วนระยะเวลาการถือครองบ้านหลังนํามา ปรับปรุงนั้นอยู่ที่ 2.1 ปี ลดลงจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 34 โดยก่อนนํามาปรับปรุงทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นทรัพย์ที่คงค้างอยู่เป็น เวลานานและยังไม่ได้รับการสนใจ แต่เมื่อนําทรัพย์มาพัฒนาก็สามารถจําหน่ายได้รวดเร็วขึ้น โดยบ้านที่จําหน่ายออกได้เร็วกว่า ค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือบ้านที่มุ่งเน้นการปรับปรงุ รูปลักษณค์ ือความสะอาดและทาสีภายนอกใหม่ ส่วนบ้านที่จําหน่ายออกได้ล่าชา้ กว่าค่าเฉลี่ยคือบ้านที่ปรับปรุงใหม่และทาสีใหม่ทั้งหลังมีสภาพพร้อมอยู่แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ทําให้จําหน่ายยาก


ผลกระทบจากปรากฏการณ์การลดลงของจำนวนประชากรต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี, สิรวิชญ์ ปัทมะสุวรรณ์ Jan 2022

ผลกระทบจากปรากฏการณ์การลดลงของจำนวนประชากรต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี, สิรวิชญ์ ปัทมะสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการลดลงของประชากรที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา กล่าวคือโรงเรียนของรัฐ ที่เป็นสาธารณูปการขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญ ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบในมิติหนึ่งจากการลดลง ของประชากรในพื้นที่ คล้ายกับภาพความเสื่อมถอยของโครงสร้างพื้นฐาน ตามบริบทของปรากฏการณ์ เมืองหดที่ถูกกล่าวถึงในระดับสากล โดยมีระเบียบวิธีวิจัย ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำนวนและสัดส่วน รวมถึงการกระจายตัวของประชากรแสดงให้เห็นว่า การลดลงของประชากรเกิดขึ้นในระดับโครงสร้าง ประชากรวัยเด็กเป็นกลุ่มที่มีการลดลงอย่างชัดเจนที่สุดทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่ลดลงในโรงเรียนของรัฐที่ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีมีขนาดที่เล็กลง ขณะที่อัตราการลดของประชากรวัยเด็กที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกช่วงปีทำให้ภาพปรากฏการณ์ของโรงเรียนถูกยุบชัดเจนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงขนาดสะท้อนถึงสถานภาพโรงเรียนในแต่ละช่วงปี การถูกยุบ ลดขนาด ขยายขนาด เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่เมืองและชนบทด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การวิเคราะห์สหสัมพันธ์เชิงพื้นที่แบบครอบคลุม ไม่พบรูปแบบของการพึ่งพาหรือสหสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนแต่ละแห่งในภาพรวมของจังหวัดอย่างชัดเจน เนื่องจากการลดลงของนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์กันด้วยปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์เพียงปัจจัยเดียว นอกเหนือปัจจัยอัตราการเกิดต่ำที่ทำให้จำนวนนักเรียนในโรงเรียนลดลงในภาพรวมแล้ว การลดลงของจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชานเมืองและพื้นที่ชนบทเกิดจากการย้ายถิ่นเข้าสู่โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งถูกมองว่ามีความพร้อมมากกว่าในพื้นที่เมือง ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทต้องดิ้นรนในการสร้างคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่ส่วนกลางได้กำหนดไว้ภายใต้ภาวะข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อไม่ให้ถูกยุบ ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่เมืองและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบทห่างไกล งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นการจัดการให้บริการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วม และการส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจ โดยผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีบทบาทด้านการศึกษาเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และรับมือกับปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจงเชิงพื้นที่มากยิ่งขึ้น


การศึกษาหลักคิดการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาจากสามนิกายหลัก, ปัญจพัฒน์ ถิระธำรงวีร์ Jan 2022

การศึกษาหลักคิดการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาจากสามนิกายหลัก, ปัญจพัฒน์ ถิระธำรงวีร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจในหลักคิดการสร้างมณฑลทางพุทธศาสนาที่แตกต่างกันของสามนิกายหลัก (เถรวาท มหายาน และวัชรยาน) ที่อยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันมีหลักปฏิบัติในอริยมรรคเพื่อการเข้าถึงพุทธธรรม การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพผสมผสานกับการวิจัยเชิงบรรยาย (ในเชิงสหสัมพันธ์) โดยศึกษาวิเคราะห์แนวทางการสอน, สิ่งที่มุ่งเน้นในการปฏิบัติ, และกิจกรรม ประเพณี ที่แตกต่างกันของแต่ละนิกาย (แต่ยังคงหลักมีหลักปฏิบัติแห่งอริยมรรค (ศีล สมาธิ ปัญญา) ที่มุ่งสู่พุทธรรมเป็นเป้าหมายที่เหมือนกัน) ที่ส่งผลให้พุทธสถานของทั้ง 3 นิกายมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่มีความเหมือนในความสอดคล้องไปกับการจัดสรรพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตอย่างเป็นลำดับขั้น ผลการศึกษาทำให้เข้าใจหลักคิดการสร้างอริยมรรคมณฑล โดยสามารถสรุปหลักการได้ดังนี้ อริยมรรคมณฑลนั้นต้องมีหลักร่วมใจหรือนิมิตหมายแห่งปัญญาญาณเป็นศูนย์กลาง อันเป็นเป้าหมายหลัก และมีพื้นที่โดยรอบดุจเรือนแก้วขยายออกมาจากศูนย์กลาง ดุจเป็นลำดับชั้นการเข้าถึงปัญญาญาณ หรือความเป็นพุทธะ อันเป็นคุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ก่อให้เกิดความสงบภายในตน ควบคุมการรับรู้ภายนอกที่เป็นปรากฏการณ์ความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติรอบตัว โดยมีองค์ประกอบทางพุทธสถาปัตยกรรมที่มีความประณีตจากภายนอกค่อย ๆ มากขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้น และประณีตสูงสุดที่ศูนย์กลาง (อันเปรียบดุจจิตแห่งปัญญาที่เจิดจรัส) เทียบเคียงกับสภาวะจิตที่กำลังเข้าสู่ความเป็นพุทธะ มีความบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว อันทำให้อริยมรรคมณฑลนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สามารถพัฒนาจักรวาลชีวิตให้เจริญขึ้น สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เป็นไปตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ทำให้บุคลเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่อยู่บนหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าใจความสุข สงบ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีชีวิตที่เป็นอิสระจากความทุกข์ มีปัญญาและมีความเบิกบาน เป็นความสมบูรณ์ของชีวิต


Public-Private Partnerships For Implementing Sponge City Development : A Case Study Of Xiamen City, China, Ting Su Jan 2022

Public-Private Partnerships For Implementing Sponge City Development : A Case Study Of Xiamen City, China, Ting Su

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

To mitigate the disasters caused by extreme weather induced by climate change in cities, the Chinese government has proposed the implementation of sponge cities in recent years. However, the construction of sponge cities is characterized by significant investments, long project cycles, and many risks. It is difficult to implement the project only by relying on government investment. Therefore, Public-private Partnership (PPP) model is gradually applied to sponge cities' implementation. As a model of urban infrastructure implementation, PPP can significantly reduce stakeholders' risks in some respects and accelerate infrastructure implementation in sponge cities. However, the PPP model has some disadvantages. Therefore, …


Process And Stakeholder Relations In The Development Of City Festival To Stimulate The Creative Economy : The Case Study Of Chiang Mai Blooms, Atikarn Arunchot Jan 2022

Process And Stakeholder Relations In The Development Of City Festival To Stimulate The Creative Economy : The Case Study Of Chiang Mai Blooms, Atikarn Arunchot

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Festivals relate to the creative economy in diverse ways, in which collaboration and relationships of stakeholders in the festival development process are significant factors that lead to positive impact of the festival. The aims of this paper are to examine the development process of the Chiang Mai Blooms as a city festival, the relationship of the stakeholders involved in the festival to promote the creative economy, and the factors promoting collaboration among festival stakeholders to drive the creative economy. The qualitative data was collected by conducting interviews and using questionnaires, and the secondary data was gathered from the related news …


การรวบรวมและจัดกลุ่มกรอบความคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะจากการศึกษาเชิงทฤษฎีและการศึกษาเชิงปฏิบัติ, สุชานาฏ ภู่ประเสริฐ Jan 2022

การรวบรวมและจัดกลุ่มกรอบความคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะจากการศึกษาเชิงทฤษฎีและการศึกษาเชิงปฏิบัติ, สุชานาฏ ภู่ประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพื้นฐานของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัดการในแขนงต่างๆ และเนื่องด้วยในปัจจุบัน 56% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญปัญหาการขยายตัวของเมือง ดังนั้นจึงเริ่มมีการบูรณาการเทคโนโลยีเหล่านี้ร่วมกับการจัดการเมือง เช่น การบูรณาการเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งก่อให้เกิดทางเลือกในการจัดการพลังงานและช่วยเพิ่มปริมาณการประหยัดพลังงานในเมืองได้ โดยการบูรณาการเช่นนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองในทุกๆแง่มุมจนนำไปสู่แนวคิด “การดำรงชีวิตอัจฉริยะ” ในทางเดียวกันการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยเกิดจากการบูรณาการเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับอาคารอัจฉริยะ (Smart building) หรือบ้านอัจฉริยะ (Smart home) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ แม้ว่าแนวคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยนั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่กลับพบว่าข้อมูลเหล่านั้นกระจายและสอดแทรกอยู่ภายใต้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือบ้านอัจฉริยะซึ่งขาดการรวบรวมและจัดหมวดหมู่ข้อมูลด้านนี้อย่างเป็นระบบรวมถึงขาดการนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน อีกทั้งการศึกษาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอัจฉริยะส่วนใหญ่เน้นข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าด้านที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและจัดหมวดหมู่กรอบความคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยที่ผสานระหว่างข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศจากการศึกษาเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาความครอบคลุมด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะในบริการและผลิตภัณฑ์จากภาคธุรกิจจริงที่มีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่อ้างอิงตามแนวทางการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นด้วยการคัดกรองการศึกษาทางวิชาการทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับอาคารอัจฉริยะหรือบ้านอัจฉริยะจำนวน 30 ฉบับแล้วจึงทำการทบทวนวรรณกรรม จากนั้นจึงคัดเลือกการศึกษาที่มีการนำเสนอรูปแบบของแนวปฏิบัติ เกณฑ์ ตัวบ่งชี้หรือแบบจำลองความคิดสำหรับบ้านหรืออาคารอัจฉริยะ กรณีศึกษาที่ได้รับคัดเลือกประกอบด้วยการศึกษาเชิงทฤษฎี 5 กรณีศึกษาและการศึกษาเชิงปฏิบัติ 2 กรณีศึกษา ต่อมาจึงทำการรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยเพื่อสังเคราะห์เป็นกรอบความคิด ผลการศึกษาพบว่าสามารถแบ่งกรอบความคิดได้เป็น 2 กลุ่มหลักได้แก่ การจัดการและการยกระดับ ซึ่งประกอบด้วย 9 เกณฑ์และ 30 ตัวบ่งชี้ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้นำกรอบความคิดที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการศึกษาเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ รวมทั้งทำการสาธิตวิธีการประยุกต์ใช้กรอบความคิดในการพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องการดำรงชีวิตอัจฉริยะเพื่อเสนอแนวทางในการออกแบบและพัฒนาต่อยอดในอนาคต จากการวิเคราะห์พบว่าการศึกษาเชิงทฤษฎีได้วางกรอบความคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะไว้อย่างคลุมครอบมากกว่าการศึกษาเชิงปฏิบัติ นอกจากนั้นยังทราบถึงแนวโน้มของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอัจฉริยะว่ามีการเน้นย้ำในการปฏิบัติการด้านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและเกณฑ์การจัดการภาวะส่วนตัวสูงสุด รวมถึงพบช่องว่างในการสาธิตเกณฑ์การประเมินระดับความอัจฉริยะว่าควรบูรณาทั้งการประเมิณเชิงคุณภาพร่วมกับเชิงตัวเลขซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการประเมินระดับการดำรงชีวิตอัจฉริยะที่สมบูรณ์


ความสัมพันธ์ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค และ สาธารณูปการ ที่สอดคล้องกับผังเมืองรวม กรณีศึกษา ถนนราชพฤกษ์ และ ถนนกัลปพฤกษ์, ชยางกูร กิตติธีรธำรง Jan 2022

ความสัมพันธ์ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค และ สาธารณูปการ ที่สอดคล้องกับผังเมืองรวม กรณีศึกษา ถนนราชพฤกษ์ และ ถนนกัลปพฤกษ์, ชยางกูร กิตติธีรธำรง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย แหล่งงาน และสาธารณูปการ เมื่อทำการศึกษาย้อนไปในอดีตช่วง 20 - 30 ปีก่อนหรือช่วงพ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2564 พบว่า การเติบโตของโครงข่ายการคมนาคมมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ทั้งจากการสร้างถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี ถนนราชพฤกษ์ และถนนกัลปพฤกษ์ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาของที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเพื่อนำรูปแบบการพัฒนา และแผนการพัฒนาของภาครัฐมาพิจารณาถึงลำดับการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการเกิดสาธารณูปการที่เชื่อมโยงอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดแผนงานในการพัฒนาการขยายตัวของพื้นที่เมืองต่อไป โดยใช้การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม และการรวบรวมข้อมูลจากเว็ปไซต์ และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่าลำดับการเกิดที่อยู่อาศัย และสาธารณูปการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การเกาะกลุ่มของประเภทอสังหาริมทรัพย์ 3 ประเภทหลัก คือ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และสาธารณูปการ โดยพบว่าที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวจะมีการเกาะกลุ่มกันมากบริเวณถนนราชพฤกษ์เป็นหลัก ส่วนบ้านแถวและอาคารชุด พบการเกาะกลุ่มกันมากในบริเวณถนนกัลปพฤกษ์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2) การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหนาแน่นมากขึ้นจะสัมพันธ์กับการจราจรที่หนาแน่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้า และช่วงเย็น หรือ ช่วงระหว่างวันจะพบการจราจรหนาแน่นในโซนพาณิชยกรรม ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าแผนการคมนาคมตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กับเส้นทางคมนาคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่มีความสอดคล้องกัน 3) แผนที่ลำดับการพัฒนาตามรายปีได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อถนนถูกพัฒนาใหม่ กลุ่มหมู่บ้านจัดสรรจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาเมื่อมีความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจะเริ่มพบเห็นพื้นที่พาณิชยกรรม และสาธารณูปการเกิดขึ้นตามมา โดยมีรูปแบบการพัฒนาไปตามแนวแกนถนน(Ribbon Development) ซึ่งพบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีความสอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนสาธารณูปการที่เกิดขึ้น มีความครอบคลุมแต่ไม่ใช่ด้วยกลไกหรือการวางแผนของภาครัฐแต่เกิดจากการพัฒนาของภาคเอกชนเป็นหลัก จึงทำให้รูปแบบการพัฒนาขาดการดำเนินการอย่างดีพอจนไม่สอดคล้องกับการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครในย่านนี้ จึงสรุปได้ว่าจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนถนนราชพฤกษ์ และถนนกัลปพฤกษ์ พบว่า มีทั้งในประเด็นที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในประเด็นที่ไม่สอดคล้องนำมาสู่ข้อเสนอ ในการส่งเสริมการพัฒนาถนนสายย่อย การศึกษาเส้นทางเดินรถสาธารณะ การนำเครื่องมือทางผังเมืองด้านอื่นๆมาใช้งาน เช่น การจัดรูปที่ดิน รวมไปถึงการบังคับใช้แผนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณของแรงงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษา บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ 4 แห่ง, ทศพล นิลเปรม Jan 2022

การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณของแรงงานก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษา บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ 4 แห่ง, ทศพล นิลเปรม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด จากร้อยละ 12 และใน พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 จากประชากรรวมทั้งประเทศ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพบว่าสถิติผู้มีงานทำทั่วประเทศที่มีอายุ 50-59 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และยังเป็นไปในทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับสัดส่วนแนวโน้มแรงงานก่อสร้างในเขตกทม. ที่เพิ่มจาก ร้อยละ 12 ในพ.ศ. 2553 เป็นร้อยละ 16 ใน พ.ศ. 2564 จากจำนวนแรงงานก่อสร้างรวมทั้งประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่ายิ่งมีแรงงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยในแคมป์มากขึ้นจะมีสัดส่วนแรงงานที่ต้องสูงอายุมากขึ้น ซึ่งแรงงานก่อสร้างที่พักอาศัยในแคมป์คนงาน หลังจากเกษียณอายุแล้วไม่สามารถอาศัยอยู่ในแคมป์ได้ แรงงานกลุ่มนี้ก่อนวัยเกษียณอายุส่วนใหญ่จะมีลักษณะสังคม เศรษฐกิจ กรรมสิทธิ์ การเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยหลังเกษียณอายุอย่างไร โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจากกลุ่มแรงงานก่อสร้างที่ปฏิบัติงานอยู่ในโครงการก่อสร้าง และพักอยู่ในแคมป์คนงานที่รับผิดชอบโดย 4 บริษัทกรณีศึกษา ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ และสรุปผลการเตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณจากการเก็บแบบสอบถามแรงงานก่อสร้างชาวไทย 400 ตัวอย่าง และชาวเมียนมา 400 ตัวอย่าง ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก 20 คน จากแรงงานกลุ่มประชากรแรงงานก่อสร้าง จำนวน 2,471 คน จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างแรงงานก่อสร้างชาวไทย มีกลุ่มที่เตรียมการ และไม่เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยก่อนเกษียณ ร้อยละ 84.25 และ 15.75 ตามลำดับ ทั้งสองกลุ่มมีปัจจัยที่เหมือนกันในด้านสังคม ส่วนใหญ่มีสถานะสมรส, มีบุตร 1 คน, ตำแหน่งกรรมกร ด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อคนต่อเดือน น้อยกว่า 12,000 บาท, รายจ่ายต่อคนต่อเดือน 5,000-10,000 บาท, มีการออมเงินในบัญชีเงินฝาก, มีสิทธิ์ประกันสังคม, ไม่มีโรคประจำตัว, จะหยุดทำงานก่อสร้างเมื่ออายุ 55-60 ปี, จะทำเกษตรกรรมหลังเกษียณ ด้านที่อยู่อาศัยภูมิลำเนาเดิม ส่วนใหญ่มีที่ตั้งภูมิลำเนาเดิมอยู่ภาคอีสาน, ไม่มีปัญหาในที่อยู่อาศัย, กลุ่มที่มีปัญหาส่วนใหญ่ต้องการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด, มีงบประมาณที่คาดไว้ น้อยกว่า 100,000 บาท, ด้วยเงินออม, มีการออมเงินไว้บางส่วนน้อยกว่า 20,000 บาท, จะดำเนินการ 3-5 ปีข้างหน้า และมีปัจจัยที่แตกต่างกันในด้านที่อยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิม …


ศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ : กรณีศึกษาโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดน่าน, พิสิฐพงศ์ ตันติมาสน์ Jan 2022

ศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ : กรณีศึกษาโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดน่าน, พิสิฐพงศ์ ตันติมาสน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันปัญหาสภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการใช้พลังงานตลอด 24 ชม. ในปัจจุบันอาคารประเภทโรงแรมในประเทศไทยมีการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรมยังหากแต่งานวิจัยในด้านการชดเชยคาร์บอนในอาคารประเภทโรงแรมยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในโรงแรมขนาดเล็กซึ่งเป็นโรงแรมทางเลือกหลักของนักท่องเที่ยวชาวไทย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยใช้โรงแรมขนาดเล็ก (2 ชั้น ขนาด 928 และ 820 ตร.ม.) ในจังหวัดน่านเป็นกรณีศึกษา งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงจำลองสถานการณ์ซึ่งพิจารณาในเรื่องของ พื้นที่หลังคาอาคาร รูปทรงหลังคา รูปร่างอาคาร มุมเอียงหลังคา มุมเอียงของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และ ทิศทางการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั้ง 8 ทิศทาง โดยคำนวณพลังงานไฟฟ้าและประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วยโปรแกรม DesignBuilder v7.0.1.006 และ ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อหาแนวทางในการติดตั้งที่เหมาะสม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสม คือ รูปแบบการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ครอบคลุมการใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารใน 1 ปี และปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อศักยภาพในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คือ รูปร่างอาคาร มุมเอียงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 18 องศา การวางแนวอาคารและการหันแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้สามารถผลิตพลังงานได้ดีที่สุด คือทิศใต้ และ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีผลตอบแทนทางการเงิน (Internal rate of return: IRR) อยู่ที่ 11.00% ใช้ระยะเวลาในการคืนทุน 8.60 ปี ท้ายที่สุด งานวิจัยนี้เสนอแนวทางการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงแรมขนาดเล็กในจังหวัดน่าน


กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสูงในโรงพยาบาล กรณีศึกษา : อาคารโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง, พิริยะ ศรีนพรัตนกุล Jan 2022

กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสูงในโรงพยาบาล กรณีศึกษา : อาคารโรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง, พิริยะ ศรีนพรัตนกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การออกแบบลิฟต์เพื่อให้ลิฟต์ตอบสนองการบริการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสูงในโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างจากอาคารทั่วไป ในปัจจุบันกฎหมายและมาตรฐานในประเทศไทย เป็นเพียงข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในการออกแบบลิฟต์สำหรับอาคารทั่วไป และมีการกล่าวถึงการออกแบบลิฟต์ที่แตกต่างกันออกไป การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของกระบวนการออกแบบลิฟต์ ข้อมูลที่ใช้ในการออกแบบลิฟต์ ตลอดจนการวิเคราะห์การแบ่งกลุ่มลิฟต์และการกำหนดจำนวนลิฟต์ โดยการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องการออกแบบลิฟต์ และแบบสถาปัตยกรรมอาคารกรณีศึกษาจำนวน 7 อาคาร ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้ออกแบบ ผู้เกี่ยวข้อง จากการค้นคว้าในเชิงทฤษฎีพบว่า มีการกล่าวถึงการออกแบบลิฟต์ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การออกแบบติดตั้งและก่อสร้างระบบลิฟต์ และการออกแบบลิฟต์ภายในอาคาร ทั้งนี้กฎหมายและมาตรฐานในประเทศไทยยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล จากการศึกษาพบว่า กระบวนการออกแบบลิฟต์ภายในอาคารกรณีศึกษาในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การดำเนินการออกแบบลิฟต์โดยสถาปนิกตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งสถาปนิกจะเป็นผู้กำหนดองค์ประกอบการออกแบบลิฟต์ในหลาย ๆ ส่วน และการดำเนินการออกแบบลิฟต์ร่วมกันระหว่างสถาปนิกและวิศวกร ซึ่งจะมีการตรวจสอบจำนวน ความจุ และความเร็วของลิฟต์โดยวิศวกร ผู้ออกแบบมีการเลือกใช้ข้อมูลในการออกแบบลิฟต์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ออกแบบส่วนใหญ่ใช้กฎหมาย ความต้องการของเจ้าของโครงการ งบประมาณ แนวคิดการป้องกันการติดเชื้อ และประสบการณ์การออกแบบมาเป็นข้อมูลขั้นต้น ทั้งนี้มีผู้ออกแบบเพียงบางส่วนใช้มาตรฐานสากลมาเป็นข้อมูลในการออกแบบลิฟต์ เนื่องจากไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบลิฟต์ในโรงพยาบาลอย่างชัดเจน การแบ่งกลุ่มลิฟต์ถูกจำแนกตามการใช้งานออกเป็นหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการป้องกันการติดเชื้อ ในส่วนการกำหนดจำนวนลิฟต์ผู้ออกแบบบางส่วนใช้วิธีการคำนวณและเกณฑ์การประมาณตัวแปรต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากลที่แนะนำไว้ในเบื้องต้น


ผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงกับการออกแบบพลังงานหมุนเวียน เพื่อไปสู่อาคารพักอาศัยปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์, อภิญญา เวชกามา Jan 2022

ผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงกับการออกแบบพลังงานหมุนเวียน เพื่อไปสู่อาคารพักอาศัยปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์, อภิญญา เวชกามา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบันและอนาคต อาจส่งผลให้การจำลองประสิทธิภาพอาคารมีความคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากไฟล์ข้อมูลอากาศที่จำเป็นต้องใช้ในการจำลองนั้น เป็นข้อมูลในช่วงปี ค.ศ.1990 และยังไม่มีข้อมูลที่คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบันและอนาคต งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสร้างไฟล์อากาศของกรุงเทพฯ ที่เป็นไปตามการคาดคะเนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและอนาคตของ IPCC เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการนำไปใช้ในการจำลองการใช้พลังงานของอาคารที่มีเป้าหมายเป็น Net Zero Carbon งานวิจัยนี้ได้ทำการนำข้อมูลอาคารคอนโดมิเนียมพักอาศัยในกรุงเทพฯ มาใช้เป็นอาคารกรณีศึกษา โดยทำการจำลองการใช้พลังงานในอาคาร จากนั้นวิเคราะห์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานตลอด 60 ปีข้างหน้า เพื่อนำผลรวมของการใช้พลังงานไปใช้ในการประเมินวัฏจักรชีวิตอาคารตลอดช่วงชีวิตอาคาร 60 ปี (LCA) และเสนอแนวทางการชดเชยการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยวิธีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากการศึกษาพบว่า ตลอดช่วงชีวิตอาคาร 60 ปี ของอาคารคอนโดมิเนียมพักอาศัย ผลการจำลองการใช้พลังงานโดยการใช้ไฟล์อากาศที่สร้างขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้น อาคารมีการใช้พลังงานในอาคารเพิ่มมากขึ้นเป็น 43% เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้ผลการประเมินวัฏจักรชีวิตอาคารมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นเป็น 40% เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และหากพิจารณาเรื่องการชดเชยการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำเป็นต้องผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 40% เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ


Assessing The Physical Conditions Of Motorcycle Taxi Stands And Comfort Conditions Of The Drivers In The Central Business District Of Bangkok, Nissa Phloimontri Jan 2022

Assessing The Physical Conditions Of Motorcycle Taxi Stands And Comfort Conditions Of The Drivers In The Central Business District Of Bangkok, Nissa Phloimontri

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This research explores the current physical conditions of motorcycle taxi stands located near the BTS stations in the central business district (CBD) and the comfort conditions experienced by motorcycle taxi drivers at those stands. Stand conditions were assessed using design and location standards for transit stops. A total of 25 stands were surveyed and compared with design standards, considering factors such as location, physical form, and features. Stands that share similar characteristics were classified into stand typologies. Based on the environmental comfort model, questionnaires and in-depth interviews were conducted to evaluate the comfort levels of drivers, encompassing physical, functional, and …


แนวทางการเลือกข้อกำหนดตามมาตรฐาน Leed ในการพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ, ภวัต สถิตกาญจนะ Jan 2022

แนวทางการเลือกข้อกำหนดตามมาตรฐาน Leed ในการพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ, ภวัต สถิตกาญจนะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียวโดยเฉพาะมาตรฐาน LEED มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนของผู้พัฒนา ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาลักษณะในการเลือกข้อกำหนดตามมาตรฐาน LEED และปัจจัยในการเลือกข้อกำหนดผ่านการเก็บข้อมูลทุติยภูมิด้านการเลือกข้อกำหนดของศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทย และสัมภาษณ์ของผู้พัฒนาโครงการ และ ผู้ใช้งานกรณีศึกษาตัวแทนสำหรับแต่ละระดับคะแนนได้แก่ Certified Silver และ Gold สุดท้ายนำข้อมูลดังกล่าวมาสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอเป็นของเสนอแนะการเลือกข้อกำหนดตามมาตรฐาน LEED ในโครงการศูนย์กระจายสินค้า ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะด้านที่ตั้งที่ใกล้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มในการได้รับคะแนนและระดับมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าโครงการที่ตั้งอยู่ห่างออกไป และพบลักษณะในการเลือกข้อคะแนนของโครงการศูนย์กระจายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน LEED แล้วโดยแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้ 1) โครงการในระดับ Certified มีการมุ่งเน้นการเลือกใช้ข้อคะแนนที่ตอบสนองการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำ และค่าไฟฟ้าในโครงการ 2) โครงการในระดับ Silver มีการมุ่งเน้นการเลือกข้อคะแนนที่ตอบสนอง ประโยชน์ด้านการส่งเสริมปฏิบัติงานในโครงการด้านส่งเสริมการเดินทางของพนักงาน และ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงการผ่านการตรวจและทดสอบระบบ 3) โครงการในระดับ Gold มีการมุ่งเน้นประโยชน์ด้านคุณภาพอากาศที่ดีแก่พนักงาน และ ลดผลผลกระทบและมลภาวะแก่ชุมชนโดยรอบโครงการ โดยจากลักษณะในการเลือกข้อกำหนดนำไปสู่การสัมภาษณ์ผู้พัฒนา ผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้ใช้งานโครงการ พบข้อค้นพบสำคัญดังนี้ 1) หมวดข้อคะแนนที่มีการเลือกใช้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ Energy and Atmosphere Water Efficiency และ Location and Transportation ตามลำดับ 2) แนวคิดด้านโอกาสในการเลือกใช้ข้อคะแนน คือ สอดคล้องกับนโยบายบริษัทด้านการพัฒนาโครงการ และ มีการใช้ข้อกำหนดทั้งด้านอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างอยู่แล้ว 3) แนวคิดด้านข้อจำกัดในการไม่เลือกใช้ข้อคะแนน คือ ผังเมืองและโครงสร้างคมนาคม ผลกระทบด้านต้นทุนและเวลา และ ขัดกับการปฏิบัติงาน/ความปลอดภัยของสินค้า งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นลักษณะการเลือกข้อกำหนด และปัจจัยในการเลือกหรือไม่เลือกทำข้อกำหนดในมุมมองของผู้พัฒนา ซึ่งผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาด้านอาคารเขียว และผู้พัฒนาที่สามารถนำปัจจัยในการเลือกจากการสัมภาษณ์และข้อเสนอแนะในการเลือกข้อคะแนนเบื้องต้นในงานวิจัยไปปรับใช้สำหรับการเริ่มต้นวางแผนการพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าที่ไม่ได้มีความต้องการมาตรฐานรับรองแต่มีความต้องการพัฒนาโครงการให้ตอบสนองความต้องการของผู้พัฒนา ผู้ใช้งาน ชุมชนโดยรอบ และสิ่งแวดล้อม และ โครงศูนย์กระจายสินค้าการต้องการขอมาตรฐาน LEED ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ


รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานของเมืองโบราณในประเทศไทย : กรณีศึกษาเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่, ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล Jan 2022

รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทานของเมืองโบราณในประเทศไทย : กรณีศึกษาเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่, ปุญชรัสมิ์ เอี่ยมประเสริฐกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ระบบชลประทานโบราณเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญประเภทหนึ่ง มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อีกทั้งยังส่งเสริมทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมให้แก่เมือง เมื่อเมืองถูกพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงระบบชลประทานโบราณ นำไปสู่การเกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม น้ำแล้งและน้ำเน่าเสีย เป็นต้น วิทยานิพนธ์นี้ศึกษารูปแบบและการเปลี่ยนแปลงระบบชลประทานโบราณของเมืองสุโขทัยและเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีศึกษาจากการค้นคว้าเอกสารวิชาการ ศึกษาภาพถ่ายทางอากาศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การสัมภาษณ์นักวิชาการที่สามารถให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ การสำรวจพื้นที่ศึกษาเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง และสรุปผลการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ระบบชลประทานโบราณเกิดจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงลักษณะภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้งของเมือง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์วัฒนธรรมและระบบนิเวศเมือง รวมทั้งทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ


การวิเคราะห์ลักษณะทางภูมินิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศเมืองชายฝั่งทะเล : กรณีศึกษา เมืองกันตัง จังหวัดตรัง, ญาณิศา ปิยะกมลนิรันดร์ Jan 2022

การวิเคราะห์ลักษณะทางภูมินิเวศ และ การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศเมืองชายฝั่งทะเล : กรณีศึกษา เมืองกันตัง จังหวัดตรัง, ญาณิศา ปิยะกมลนิรันดร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง เป็นพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำซึ่งน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำเค็มจากทะเลมาบรรจบและเกิดการผสมผสานกัน ทำให้ภูมินิเวศชะวากทะเลเป็นระบบที่ซับซ้อน เป็นพลวัต อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยที่ทำงานร่วมกันผ่านมิติเวลาและพื้นที่ เกิดเป็นรูปแบบ กระบวนการ และลักษณะของภูมินิเวศชะวากทะเล ประกอบด้วย โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และพลวัตการเปลี่ยนแปลง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง ซึ่งเกิดจากทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและมนุษย์ และเพื่อเป็นพื้นฐานในการบ่งชี้ปัญหาและนำไปสู่การค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง โดยดำเนินการระบุโครงสร้างและความสัมพันธ์ของลุ่มน้ำและชะวากทะเล การจำแนกโครงสร้างและรูปแบบของลักษณะทางภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง และการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและรูปแบบของลักษณะทางภูมินิเวศกับการใช้ประโยชน์จากภูมินิเวศของคนในพื้นที่ ผลการวิจัยแสดงถึงลักษณะเฉพาะทางภูมินิเวศของชะวากทะเลในหลากหลายระดับ นิเวศบริการ เงื่อนไขในการตั้งถิ่นฐาน และศักยภาพในการฟื้นฟู ประกอบกันเป็นรากฐานของการวางแผนและจัดการภูมินิเวศชะวากทะเลแม่น้ำตรัง


ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งโบราณคดี จ.พระนครศรีอยุธยา, ธาริต อิ่มอภัย Jan 2022

ผลกระทบทางสายตาของโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูงต่อแหล่งโบราณคดี จ.พระนครศรีอยุธยา, ธาริต อิ่มอภัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายตะวันออกเฉียงเหนือ มีการดำเนินโครงการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่1 กรุงเทพมหานครถึงนครราชสีมา และช่วงที่ 2 คือ นครราชสีมาถึงหนองคาย โดยเส้นทางช่วงที่1 ตัดผ่านพื้นที่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลกระทบทางสายตาของทางรถไฟและสถานีรถไฟที่มีต่อโบราณสถานโดยกำหนดพื้นที่ศึกษาจากรางรถไฟออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร โดยเริ่มจากจุดศูนย์กลางของสถานีลงมา 3 กิโลเมตร และขึ้นไป 3 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 6 กิโลเมตร ในพื้นที่ศึกษาดังกล่าวมีพื้นที่มีโบราณสถานทั้งหมด 40 แห่ง แต่จะเลือกศึกษา 24 แห่งที่ยังเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและยังไม่มีการศึกษามาก่อน ผลการวิจัยพบว่า จากโบราณสถานที่ศึกษา 24 แห่ง มีจำนวน 13 แห่งที่สถานีและรางรถไฟส่งผลกระทบต่อมุมมองของโบราณสถาน โดยในส่วนของการวิเคราะห์จะประเมินระดับผลกระทบ และลำดับความสำคัญของคุณค่าโบราณสถาน รวมทั้งเสนอแนวทางการออกแบบพืชพรรณโดยรอบพื้นที่


การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า(ทีโอดี) : กรณีศึกษาสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, พีระพงศ์ เวชส่งเสริม Jan 2022

การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า(ทีโอดี) : กรณีศึกษาสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, พีระพงศ์ เวชส่งเสริม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภูมิทัศน์ถนน (Street Scape) เป็นคุณลักษณะทางกายภาพสำคัญที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองๆนั้น ให้ผู้คนได้เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่สอดคล้องกันกับผู้อาศัยในเมืองนั้นๆ ซึ่งแต่เดิมสยามประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น นครเวนิสตะวันออก ที่ใช้เรือเป็นพาหนะขนส่งหลัก แต่หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในปี พ.ศ. 2399 ถนนเริ่มมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีองค์ประกอบภูมิทัศน์ถนนที่สำคัญ ได้แก่ อาคารทางประวัติศาสตร์ ต้นไม้ ทางเท้า ที่ว่าง กิจกรรมของชุมชน ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ถนนในย่านเมืองเก่า ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยของกฎระเบียบภายในพื้นที่เมืองเก่า ปรากฎการณ์ของเจนตริฟิเคชัน (gentrification) รวมทั้งการมาถึงของโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่ใช้แนวคิดการพัฒนาเมืองโดยอาศัยสถานีรถไฟฟ้าเป็นจุดศูนย์กลาง คือโครงการการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือทีโอดี (Transit Oriented Development : TOD) มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ช่วยให้คนหันมาใช้รถน้อยลงในการเดินทาง เพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมการเดินและใช้จักรยาน จากการศึกษาพื้นที่โดยรอบสามสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ สนามไชย สามยอด และวัดมังกร พบรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนนในทางกายภาพอย่างเดียว 2) การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรม และ 3) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เชิงโครงสร้างให้กลายเป็นอาคารสถานีรถไฟฟ้าและอาคารระบายอากาศ (IVS: intervention station) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบหลักๆ ได้แก่ ปัจจัยข้อกำหนดต่างๆในเกาะรัตนโกสินทร์ และปัจจัยจากสถานีรถไฟฟ้าและทีโอดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนนที่มีผลมาจากปัจจัยเจนตริฟิเคชัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งรูปแบบอาคาร ที่มีผลมาจากการก่อสร้างบนพื้นที่เดิม และกิจกรรมภายในพื้นที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบอาคาร ที่ว่าง และกิจกรรม


ทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย : กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รินรดา พิทักษ์จำนงค์ Jan 2022

ทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย : กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รินรดา พิทักษ์จำนงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสบการณ์การเดินภายในมหาวิทยาลัยและเป็นพื้นฐานการออกแบบมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมและการรับรู้สภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยของนักศึกษาด้วย วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจทัศนคติของนิสิตต่อความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัย โดยการพัฒนาเครื่องมือสำรวจที่มีรูปแบบเป็นแบบสอบถามออนไลน์สำหรับใช้เก็บข้อมูลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนาจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ถึงชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริงในการเดินภายในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยและพฤติกรรมการเดินและการรับรู้สภาพแวดล้อมของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินในมหาวิทยาลัยได้ต่อไป ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 85 คนเคยเดินเท้าภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่มีเหตุผลในการเดินเท้าคือความต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย จึงมักเดินทุกวันหรือเกือบทุกวัน ใช้เวลาในการเดินโดยประมาณไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเวลาพักกลางวัน 12.00 - 13.00 น. และมักจะเดินเป็นกลุ่มขนาดเล็ก 3 คนขึ้นไป และพบว่าคุณสมบัติของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยสามารถจำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมและมีความต่อเนื่อง 2) การเข้าถึง 3) ความปลอดภัย 4) ความสะดวกสบาย 5) สุนทรียภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าคุณสมบัติทางสภาพแวดล้อมของความสามารถเดินได้ของมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ ความปลอดภัย และคุณสมบัติทางสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกเดินมากที่สุดคือ ความสะดวกสบาย


อิทธิพลของป้ายและเส้นทางเดินต่อพฤติกรรมค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งานกรณีศึกษา อาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร, กษีระ พรหมเดช Jan 2022

อิทธิพลของป้ายและเส้นทางเดินต่อพฤติกรรมค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งานกรณีศึกษา อาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร, กษีระ พรหมเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โรงพยาบาลหลายแห่งมีการต่อขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่และสมรรถภาพในการรักษาพยาบาล ซึ่งการต่อขยายมักไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงพยาบาลยิ่งมีความซับซ้อนและไม่เป็นเอกภาพ อีกทั้งผู้มารับบริการจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีความบกพร่องเนื่องจากความเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อความสามารถในทุกด้าน รวมถึงการค้นหาเส้นทางด้วย มีงานวิจัยที่พบว่าการค้นหาเส้นทางในโรงพยาบาลมีความลำบาก ซับซ้อนและส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล ดังนั้นการพัฒนาระบบนำทางที่เหมาะสมด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ จะสามารถเป็นตัวช่วยให้ผู้มารับบริการสามารถค้นหาเส้นทางในโรงพยาบาลได้ง่ายมากขึ้น การศึกษานี้เป็นเชิงสำรวจ (Survey Research) ที่มีวัตถุประสงค์คือเพื่อศึกษาอิทธิพลของป้ายและเส้นทางเดินต่อความคิดเห็นและการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน การศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ศึกษาอิทธิพลของลักษณะป้ายต่อความคิดเห็นของผู้ใช้งาน และ 2) ศึกษาอิทธิพลของลักษณะเส้นทางเดินต่อการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน ดำเนินการศึกษาโดยเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะกายภาพ คือ ป้ายและเส้นทางเดิน และใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลความคิดเห็นต่อป้ายและพฤติกรรมการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน จากนั้นนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติทดสอบ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือผู้ที่มารับบริการทางการแพทย์ ณ ห้องตรวจโรคอายุรกรรม ซึ่งอยู่ภายในอาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลกรณีศึกษา ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างของของป้ายและเส้นทางเดินมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นและการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน ในส่วนสีของป้าย พบว่าการใช้ตัวหนังสือสีขาวบนพื้นหลังสีส้มและตัวหนังสือสีดำบนพื้นหลังสีเหลืองยังคงเป็นคู่สีที่เหมาะสม และพบว่าป้ายที่ใช้สีพื้นหลังสีเหลืองและสีส้มซึ่งเป็นสีโทนร้อนชัดเจนกว่าป้ายที่ใช้สีพื้นหลังสีฟ้าซึ่งเป็นสีโทนเย็น ในส่วนขนาดตัวอักษรพบว่าสำหรับป้ายบอกทาง ขนาดตัวอักษรภาษาไทยแนะนำให้มีขนาดไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร ที่ระยะติดตั้งสูงจากพื้น 1.5 เมตร และพบว่าจำนวนข้อมูลบนป้ายที่เหมาะสมคือ 5-7 ข้อมูล/ป้าย และไม่ควรเกิน 10 ข้อมูล/ป้าย ในส่วนของป้ายที่เป็นประโยชน์ในการค้นหาเส้นทาง การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าป้ายที่สื่อสารด้วยข้อความเป็นประโยชน์มากกว่าป้ายที่สื่อสารด้วยรูปภาพ สำหรับลักษณะเส้นทางเดิน ผลชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้เส้นทางเดินจะมีลักษณะตรงและมีระยะทางสั้น แต่อาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งานได้ หากระหว่างเส้นทางมีการใช้สอยพื้นที่อย่างหนาแน่น ซึ่งส่งผลต่อจำนวนป้ายและข้อมูลข่าวสารให้มีความหนาแน่นด้วยเช่นกัน


ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 (Covid-19) ต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรม: กรณีศึกษาโรงแรมกักตัวขนาดเล็กจังหวัดน่าน, ณัฏฐ์ธีรา นาคพงษ์ Jan 2022

ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 (Covid-19) ต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรม: กรณีศึกษาโรงแรมกักตัวขนาดเล็กจังหวัดน่าน, ณัฏฐ์ธีรา นาคพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้โรงแรมบางส่วนมีการปรับตัวเป็นโรงแรมกักตัวทางเลือกเพื่อเฝ้าควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีพฤติกรรมในการเข้าพักแรมที่แตกต่างจากช่วงการท่องเที่ยวโดยทั่วไป และส่งผลต่อปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมิน และเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในช่วงก่อน และหลังที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมกักตัวทางเลือก กรณีศึกษาโรงแรมกักตัวขนาดเล็ก ในจังหวัดน่าน จำนวน 3 แห่ง ในช่วงระยะเวลาปี พ.ศ. 2562 – 2564 โดยรวบรวมข้อมูลกิจกรรมจากการรวบรวมใบเสร็จค่าสาธารณูปโภค ใบเสร็จการสั่งซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงแรม และการสอบถามผู้ประกอบการ พนักงาน ประกอบกับการพิจารณาข้อกำหนดสำหรับโรงแรมที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก ผลการศึกษาพบว่า สำหรับโรงแรมกรณีศึกษาทั้ง 3 แห่ง ในปี พ.ศ. 2564 ปีที่ปรับเป็นโรงแรมกักตัว ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายปีโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.71 % และช่วงที่โรงแรมปรับเป็นโรงแรมกักตัวปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์รายเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.94 โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในขอบเขตที่ 3 ซึ่งจากการสอบถามพบว่ามีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ ถุงครอบแก้ว รองเท้าสำหรับใส่ในห้อง และการขนส่งอาหาร เพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณร้อยละ 327.78 ท้ายที่สุด ในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงแรมในช่วยที่ปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก งานวิจัยนี้เสนอแนะให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ในบางส่วนเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุต พริ้นท์ในขอบเขตที่ 3


การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศด้วยระบบท่อระบายอากาศของห้องชุดพักอาศัยประเภทอาคารสูงในเมืองที่มีความหนาแน่นสูง : กรณีศึกษา อาคารในกรุงเทพมหานคร, ณัฐกฤษฏิ์ ธนเดชากุล Jan 2022

การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศด้วยระบบท่อระบายอากาศของห้องชุดพักอาศัยประเภทอาคารสูงในเมืองที่มีความหนาแน่นสูง : กรณีศึกษา อาคารในกรุงเทพมหานคร, ณัฐกฤษฏิ์ ธนเดชากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการพัฒนาเมืองส่งผลให้เกิดอาคารสูงจำนวนมาก เป็นสาเหตุให้เกิดความหนาแน่นและความแออัดของการอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่งผลถึงการรับลมธรรมชาติของอาคารในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะทำให้การระบายอากาศภายในอาคารมีประสิทธิภาพลดลง โดยงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพการระบายอากาศที่เกิดขึ้นภายในห้องชุดพักอาศัย เพื่อนำเสนอทางเลือกการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศด้วยระบบท่อระบายอากาศของห้องชุดพักอาศัยประเภทอาคารสูงในบริบทเมืองที่มีความหนาแน่น กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ในด้านการระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติ การทดลองใช้วิธีจำลองผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับคำนวณพลศาสตร์ของไหล ANSYS 2023 R1 ทดสอบกับผังอาคารคอนโดมิเนียมจำนวน 2 รูปแบบ ได้แก่ ผังอาคารแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรูปตัวซี (C) ที่ความสูง 63 เมตรจากระดับพื้น โดยเปรียบเทียบอัตราการระบายอากาศของห้องชุดทั้ง 2 แบบระหว่างห้องชุดทั่วไป กับห้องชุดที่มีการติดตั้งระบบท่อระบายอากาศทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ 100 มม., 125 มม., และ 150 มม. เพื่อเปรียบเทียบอัตราการระบายอากาศของห้องชุด ซึ่งความเร็วลมตั้งต้นกำหนดจากความเร็วลมเฉลี่ยที่น้อยที่สุดที่วัดได้จากการจำลองกระแสลม 3 ทิศตามทิศลมประจำฤดู จำลองในพื้นที่พระราม9 พื้นที่สามย่าน และพื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว ในพื้นที่รัศมี 500 ม. รอบสถานีรถไฟฟ้า การประเมินวัดจากความเร็วลมที่ขอบประตูห้องชุด (ในกรณีห้องทั่วไป) และ ที่ระยะ 0.75 ม. จากปลายท่อเพื่อนำมาคำนวณอัตราการระบายอากาศ (Air Change Rate) และเปรียบเทียบผลกับมาตรฐาน ASHRAE 62.1 ที่ 0.35 ACH ผลการวิจัยสรุปได้ว่า อัตราการระบายอากาศของห้องชุดปกติที่ไม่มีการติดตั้งระบบท่อระบายอากาศมีค่าไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งการเพิ่มระบบท่อระบายอากาศเข้าไปในห้องชุด ส่งผลให้อัตราการระบายอากาศมีค่าที่สูงขึ้น โดยส่งผลกับห้องชุดแบบ simplex มากกว่าห้องชุดแบบ loft เนื่องจากปริมาตรของห้องที่แตกต่างกัน ซึ่งในกรณีของห้องชุดแบบ simplex จะมีอัตราการระบายอากาศเฉลี่ย 0.362 ACH ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐาน 3.43% เมื่อมีการติดตั้งระบบท่อระบายอากาศ ขนาด 100 มม. และในกรณีของห้องชุดแบบ loft จะมีอัตราการระบายอากาศ 0.352 ACH ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐาน 0.57% เมื่อมีการติดตั้งระบบท่อระบายอากาศ ขนาด 125 มม. ซึ่งอัตราการระบายอากาศเพิ่มสูงขึ้นเมื่อท่อระบายอากาศมีขนาดหน้าตัดใหญ่ขึ้น โดยห้องชุดในตำแหน่งมุมอาคารจะสามารถติดตั้งระบบท่อระบายอากาศที่มีขนาดเล็กกว่าห้องชุดตำแหน่งอื่น ๆ


การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการงานรักษาความสะอาดของอาคารสำนักงานให้เช่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 : กรณีศึกษา 5 อาคารสำนักงานให้เช่าบนถนนวิทยุ, พงศธร พ่วงเงิน Jan 2022

การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการงานรักษาความสะอาดของอาคารสำนักงานให้เช่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 : กรณีศึกษา 5 อาคารสำนักงานให้เช่าบนถนนวิทยุ, พงศธร พ่วงเงิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

องค์การอนามัยโลกตรวจพบไวรัส โควิด 19 ครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ได้ประกาศให้ไวรัสโควิด 19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) โดยไวรัสโควิด 19 แพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางฝอยละอองจากจมูกหรือปากซึ่งขับออกมาเมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม อาคารสำนักงานให้เช่าเป็นอาคารที่มีผู้ใช้อาคารจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคระบาด งานรักษาความสะอาดจึงเป็นส่วนงานสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่กระจายของโรคระบาด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการงานรักษาความสะอาดของอาคารสำนักงานให้เช่าบนถนนวิทยุ 5 กรณีศึกษาในช่วงปกติและช่วงแพร่ระบาด โดยศึกษาข้อมูลและทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องจากหนังสือ, วิทยานิพนธ์และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องและการสำรวจพื้นที่ จากนั้นนำมาจัดเรียงและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาลักษณะร่วม สรุปและอภิปรายผลการศึกษา จากการศึกษาพบว่าการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการงานรักษาความสะอาดจากช่วงปกติสู่ช่วงแพร่ระบาดนั้น มีการเพิ่มรายการและความถี่ของวิธีการรักษาความสะอาด เพิ่มวัสดุพิเศษและอุปกรณ์พิเศษ และมีการจัดการงบประมาณ2 รูปแบบ ได้แก่ มีและไม่มีการขออนุมัติงบประมาณสำหรับการรับมือและจัดการโรคระบาด โดยแนวทางการจัดการงบประมาณที่ไม่มีการขออนุมัติ คือ โยกงบประมาณที่คงเหลือจากหมวดที่มีค่าใช้จ่ายลดลงตามการใช้งาน และการจัดการงบประมาณทั้ง 2 รูปแบบ ได้รับการสนับสนุนวัสดุพิเศษและอุปกรณ์พิเศษจากผู้ให้บริการงานรักษาความสะอาดและจากผู้เช่าและมีวิธีการจัดการงานรักษาความสะอาดในช่วงแพร่ระบาด 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ 2.การยับยั้งการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่หลังจากพบผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยส่งผลต่อวิธีการจัดการงานรักษาความสะอาดในช่วงแพร่ระบาดมี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ประเภทองค์กรผู้เช่า 2.รูปแบบพื้นปฏิบัติงาน และ 3.ผู้ติดเชื้อ


การอนุรักษ์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในย่านประวัติศาสตร์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในบริบทของไทย กรณีศึกษา : เมืองเก่าสงขลา, ธิป ศรีสกุลไชยรัก Jan 2022

การอนุรักษ์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในย่านประวัติศาสตร์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในบริบทของไทย กรณีศึกษา : เมืองเก่าสงขลา, ธิป ศรีสกุลไชยรัก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในย่านประวัติศาสตร์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นวิธีการหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมปกป้อง รักษา และฟื้นฟูคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของตน ดังนั้นแนวคิดการมีส่วนร่วมจึงได้รับประยุกต์ใช้ในกฎบัตรสากลในการอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรม โดยได้รับการให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิทยานิพนธ์นี้เลือกเมืองเก่าสงขลาเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเมืองเก่าสงขลาผ่านกระบวนการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ คือ วิเคราะห์การดำเนินงานอนุรักษ์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วมในเมืองเก่าสงขลา และจัดทำข้อเสนอแนะที่สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ใช้การศึกษาข้อมูลภาคเอกสาร การสำรวจภาคสนาม และการวิเคราะห์ผลตามเกณฑ์ที่ได้จากการวิเคราะห์กรณีศึกษาในประเทศ และต่างประเทศ การสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสรุปข้อค้นพบและนำเสนอข้อเสนอแนะ วิทยานิพนธ์พบว่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาของการอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในเมืองเก่าสงขลา มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก 4 ประเภท ได้แก่ ภาครัฐท้องถิ่น ภาคประชาสังคม-ประชาชน ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เมืองเก่าสงขลามีจุดเด่นด้านทุนทางสังคม กล่าวคือ ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมเป็นภาคประชาสังคมที่มีทักษะในการทำงานกับภาครัฐท้องถิ่นและภาคเอกชน ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่าได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาคเอกชนมีนโยบายในการสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณของภาครัฐได้ อย่างไรก็ตาม เมืองเก่าสงขลาประสบกับปัญหาต่าง ๆ ดังนี้ แม้ว่าจะมีหน่วยงานภาคประชาสังคมเป็นตัวกลาง แต่ขาดผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อีกทั้งขาดกระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่ กฎหมายท้องถิ่นไม่สามารถรักษาความแท้ของอาคารเก่าที่ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นของเมืองเก่าสงขลาได้ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมมีลักษณะ “อาสาสมัครจากฐานทุนสังคม” ที่ช่วยให้ผู้มีส่วนร่วมมีอิสระในการเข้าร่วมดำเนินงาน แต่มีข้อด้อยคือการมีส่วนร่วมนั้นขาดความยั่งยืน ซึ่งสถานการณ์ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจนำไปสู่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ปัญหาจากการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ดำเนินการแบบซ้ำซ้อน ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของสมาชิก ปัญหาการเข้าสู่กระบวนการแปลงพื้นที่ในลักษณะ “เจนตริฟิเคชั่น” (gentrification) ตลอดจนอาจนำไปสู่การสูญเสียความแท้และบูรณภาพของมรดกทางวัฒนธรรม จากผลการศึกษาดังกล่าว วิทยานิพนธ์นี้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองเก่าสงขลา รวมถึงสามารถนำไปใช้กับเมืองเก่าอื่น ๆ ในประเทศไทยที่มีประเด็นปัญหาใกล้เคียงกัน 2 ประการ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการจัดตั้ง “คณะทำงาน” จากตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีเทศบาลนครสงขลาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เพื่อประสานให้เกิดการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการมีส่วนร่วม และ 2) การใช้วิธีการค้นหาประเด็นร่วมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม อันประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก ประเมินความสัมพันธ์ของทุนทางสังคมทั้ง 3 ระดับ ขั้นตอนที่สอง วิเคราะห์บรรทัดฐานทางสังคม โดยเน้นการวิเคราะห์ด้านวิถีประชาและจารีต และขั้นตอนที่ 3 วิเคราะห์ทุนทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีประชาและจารีต เพื่อค้นหาประเด็นที่เชื่อมโยงไปสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม


การรับรู้ภาพจิตรกรรมผ่านสื่อดิจิทัล กรณีศึกษา ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีแบบหนา (Impasto), มัชฌิมา มรรคา Jan 2022

การรับรู้ภาพจิตรกรรมผ่านสื่อดิจิทัล กรณีศึกษา ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีแบบหนา (Impasto), มัชฌิมา มรรคา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านการส่องสว่างที่ส่งผลต่อการรับรู้ และเปรียบเทียบการรับรู้ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน เทคนิคการระบายสีแบบหนา (Impasto) ระหว่างการรับชมภาพที่จัดแสดงกับการรับชมภาพในหน้าจอหรือสื่อดิจิทัล เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดแสดงที่ส่งเสริมการรับรู้วัตถุประเภทภาพจิตรกรรมที่มีลักษณะพื้นผิวนูน ให้มีการรับรู้ที่ใกล้เคียงกัน โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 63 คน อายุระว่าง 21-40 ปี ด้วยแบบสอบถามคู่คำที่มีความหมายตรงข้าม 6 คู่คำ ดำเนินการทดลองในห้องจำลองที่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยการศึกษาในการจัดแสดงภาพ 18 สภาวะ และรูปถ่าย 18 รูป ประกอบด้วย ปัจจัยด้านทิศทางการส่องสว่าง ได้แก่ การส่องจากทิศทางด้านหน้า และการส่องจากทิศทางด้านข้าง ปัจจัยด้านมุมส่องวัตถุที่ดวงโคมกระทำกับแนวดิ่งเท่ากับ 20°, 30° และ 35° และปัจจัยด้านระดับความส่องสว่าง ได้แก่ 100%, 50% และ30% ทำการศึกษาการรับรู้ด้านความสว่าง ความมีสีสัน ความชัดเจน ความมีมิติของพื้นผิว ความสบายตา และความพึงพอใจ ผลการศึกษาพบว่าทิศทางการส่องสว่าง มุมส่องวัตถุ และระดับความส่องสว่าง มีอิทธิพลต่อการรับรู้ภาพที่จัดแสดงและภาพในหน้าจออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้จากการพิจารณาโดยภาพรวมเพื่อให้การรับชมภาพที่จัดแสดงและการรับชมภาพในหน้าจอมีการรับรู้ที่ใกล้เคียงกันที่สุด การจัดแสดงภาพจิตรกรรมโดยใช้ทิศทางการส่องสว่างจากด้านหน้า มุมส่องวัตถุ 30 องศา ที่ระดับความส่องสว่าง 50% ทำให้การรับชมภาพที่จัดแสดงและการรับชมภาพในหน้าจอมีการรับรู้ที่ใกล้เคียงกันและยังสามารถส่งเสริมการรับรู้ในด้านความสว่าง ความมีสีสัน ความชัดเจน ความสบายตา และความพึงพอใจ แต่หากต้องการเน้นการรับรู้ความมีมิติของพื้นผิว จะทำให้การรับรู้ด้านอื่น ๆ ลดลง ผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการในการนำเสนอของศิลปินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดง


การใช้พื้นที่บริการสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีศึกษา : ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง, ศศิภา อ่อนทอง Jan 2022

การใช้พื้นที่บริการสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีศึกษา : ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง, ศศิภา อ่อนทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พื้นที่หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนเนื่องมาจากกระบวนการให้บริการ มีการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางรังสี โดยผู้วิจัยมองเห็นความสำคัญของสภาพพื้นที่ให้บริการด้านดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาสภาพการใช้พื้นที่บริการสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีศึกษา : ส่วนการรักษาด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง เพื่อวิเคราะห์สภาพการใช้พื้นที่ ประเด็นปัญหา และอุปสรรคในการใช้งาน เพื่อให้ทราบถึงสภาพการใช้งานพื้นที่ในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาออกแบบหรือปรับปรุงพื้นที่สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาในอนาคต โดยทำการทบทวนวรรณกรรม เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รังสีรักษา เก็บข้อมูลภาคสนามจากการสำรวจพื้นที่อาคารกรณีศึกษา การสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้แก่ แพทย์รังสีรักษา นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และเจ้าหน้าที่ธุรการ จำนวน 14 ราย และทำการรวบรวมแบบสัมภาษณ์ในผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยจำนวน 172 ราย ได้รับการตอบรับจำนวน 100 ราย นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปผลการวิจัย ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ที่มียุคสมัยของพื้นที่แตกต่างกัน โดยมีทั้งพื้นที่ที่มีการต่อเติมเพิ่ม พื้นที่ที่ปรับปรุงจากโครงสร้างเดิม และพื้นที่สร้างใหม่ มีการแบ่งการใช้งานพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ส่วนติดต่อและพักคอย ส่วนตรวจและให้คำปรึกษา ส่วนวางแผนการรักษา ส่วนการรักษาด้วยการฉายรังสี ส่วนบริการเจ้าหน้าที่ และส่วนสนับสนุน มีขั้นการเข้ารับบริการ 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงตรวจและให้คำปรึกษา ช่วงจำลองการฉายรังสี และช่วงการฉายรังสี ผลการศึกษาแสดงให้เห็นปัญหา อุปสรรคในการใช้งานพื้นที่ คือ ปัญหาด้านความแออัดของพื้นที่พักคอยในพื้นที่กรณีศึกษา 2 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เก่า มีอายุการใช้งานมานาน ด้วยข้อจำกัดด้านการขยายตัวของพื้นที่ และปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้งานพื้นที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน พบปัญหาห้องควบคุมเครื่องฉายรังสีคับแคบ ไม่สะดวกต่อการทำงาน และปัญหาห้องพักเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นการออกแบบพื้นที่รังสีรักษาจึงควรคำนึงถึงการขยายตัวในอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาด้านพื้นที่การใช้งานไม่เพียงพอ หรือจัดให้มีการปรับปรุง แก้ไข ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาจากการใช้งานพื้นที่


ประสิทธิภาพด้านพลังงานและความน่าสบายของการทำความเย็นวิธีกระจายลมแบบแทนที่โดยใช้เครื่องปรับอากาศแยกส่วนแบบไร้พัดลม, สุพัตรา สุขเมือง Jan 2022

ประสิทธิภาพด้านพลังงานและความน่าสบายของการทำความเย็นวิธีกระจายลมแบบแทนที่โดยใช้เครื่องปรับอากาศแยกส่วนแบบไร้พัดลม, สุพัตรา สุขเมือง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้านพลังงานและความน่าสบายของเครื่องปรับอากาศแยกส่วนต้นแบบ โดยการนำหน้ากากครอบแอร์และพัดลมในคอยล์เย็นออกแล้วตั้งค่าอัตโนมัติให้อุณหภูมิเริ่มต้นที่ 25.5 องศาเซลเซียส แรงดันน้ำยาแอร์ 250 PSI กำลังไฟฟ้า 2.7 กิโลวัตต์ และกำลังไฟฟ้าของเครื่องลดความชื้น 0.02 กิโลวัตต์ แล้วทำงานติดตั้งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับเหนือข้อเท้า (+0.15 ม.) 2. ระดับลำตัว (นั่งเก้าอี้) (+0.81 ม.) 3. ระดับเหนือลำตัว (+1.47 ม.) และ 4. ระดับเหนือศีรษะ (+2.13 ม.) ตามลำดับ จากนั้นทำการทดสอบในห้องจำลองเสมือนจริงที่ขนาด 1.60 x 2.70 x 2.60 ม. ในขณะทดสอบมีการใช้หลอดไฟ LED ทั้งหมด 35 วัตต์ เพื่อเพิ่มความร้อนที่เกิดขึ้นภายในห้อง ซึ่งภายในห้องทดลองได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดอุณหภูมิ 12 ช่อง เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ อุณหภูมิกระเปาะเปียก-แห้ง เครื่องวัดกำลังไฟฟ้าและเครื่องลดความชื้น โดยมีระยะเวลาในการทำวิจัยอยู่ในช่วงสั้น ๆ คือช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (เริ่มต้นเข้าฤดูหนาว) มีช่วงเวลาทดสอบตลอด 24 ชม.ของหนึ่งตัวอย่างทดสอบ ภายใต้อุณหภูมิภายนอก 19-36 องศาเซลเซียส ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งการทดสอบนี้อาศัยหลักการไหลของมวลอากาศ ตามหลักการจ่ายลมเย็นแบบ displacement ventilation (การกระจายลมเย็นแบบแทนที่) จากการทดสอบพบว่าการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของระบบปรับอากาศสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ผลการทดสอบพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยลดลง 0.5 - 1 องศาเซลเซียสทุก ๆ 2 ชั่วโมง และมีการกระจายความเย็นอย่างสม่ำเสมอเมื่อเครื่องทำงานต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงเป็นต้นไป ซึ่งจากผลการประเมินประสิทธิภาพความน่าสบายพบว่า ร้อยละ 80 ของช่วงเวลาการทดสอบ คืออุณหภูมิ 23.3 – 29.4 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกินร้อยละ 70 (ในการศึกษาเฉพาะ 2 ตัวแปร คืออุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์) สรุปการวิจัยพบว่าเครื่องปรับอากาศแยกส่วนแบบไร้พัดลมที่มีเครื่องลดความชื้น …