Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Landscape Architecture

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2018

Articles 1 - 8 of 8

Full-Text Articles in Architecture

การปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า), ชาลิสา บุญมณี Jan 2018

การปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า), ชาลิสา บุญมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2524 จากการขยายตัวของเมืองส่งผลให้ทัศนียภาพโดยรอบโบราณสถานแห่งนี้สูญเสียคุณค่าด้านความงามทางภูมิทัศน์ไปอย่างรวดเร็ว วิทยานิพนธ์นี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอแนวทางการปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ของศาลากลางแห่งนี้ โดยจากการวิเคราะห์และประเมินคุณภาพเชิงทัศน์พบว่าจุดมองสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้มีจำนวน 5 จุด และได้นำเสนอแนวทางการออกแบบปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ของจุดมองดังกล่าวออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการจัดระเบียบ รูปแบบเรขาคณิต และรูปแบบสวนสาธารณะ จากนั้นจึงได้สร้างภาพจำลองแสดงการปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ของแต่ละจุดมองตามแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้เป็นภาพตัวแทนภูมิทัศน์สำหรับการประเมินคุณภาพเชิงทัศน์ของจุดมองภายหลังการปรับปรุงในแบบสอบถาม โดยผู้ตอบแบบสอบถามแบ่งออกเป็นกลุ่มคนทั่วไป คนในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์ จำนวนกลุ่มละ 40 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบสวนสาธารณะเป็นแนวทางที่ได้รับการประเมินว่ามีความสวยงามสูงที่สุด รองลงมาคือรูปแบบเรขาคณิตและรูปแบบการจัดระเบียบตามลำดับ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์มักประเมินความสวยงามของภาพตัวแทนภูมิทัศน์ต่ำกว่ากลุ่มคนทั่วไปและคนในพื้นที่ ดังนั้นจึงนำเสนอว่าการปรับปรุงคุณภาพเชิงทัศน์ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ด้วยการออกแบบภูมิทัศน์ในรูปแบบสวนสาธารณะ ประกอบกับการลดพื้นที่ดาดแข็งและเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความร่มรื่น การจัดแบ่งพื้นที่เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจหรือการออกกำลังกายสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย จะสามารถช่วยส่งเสริมความงามของภูมิทัศน์เมืองและเพิ่มคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้อีกด้วย


แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สำหรับโบราณสถานเขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, เพชรรัตน์ เมืองสาคร Jan 2018

แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สำหรับโบราณสถานเขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, เพชรรัตน์ เมืองสาคร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โบราณสถานเขาศรีวิชัย อำเภอ พุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถานที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนา เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ถึง 13 ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 เริ่มทำการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2541 พบว่าโบราณสถานบนยอดเขาศรีวิชัยมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ ปัจจุบันกรมศิลปากรขุดค้นไปได้ประมาณร้อยละ 80 เหลือแต่เพียงการบูรณะโบราณสถาน งานวิจัยนี้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีเขาศรีวิชัย สังคม และวัฒนธรรม เพื่อทราบถึงความสำคัญของพื้นที่โบราณสถานเขาศรีวิชัย นำมาเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ภูมิทัศน์สำหรับโบราณสถานเขาศรีวิชัย จากนั้นลงพื้นที่ด้วยวิธีการสำรวจลักษณะทางกายภาพบริเวณเขาศรีวิชัย และสัมภาษณ์ประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อทราบถึงศักยภาพและปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาต่อไป วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิทัศน์สำหรับโบราณสถานเขาศรีวิชัย สามารถสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้ 1) กำหนดแนวกันชนพื้นที่บริเวณโบราณสถาน 2) ขุดลอกคลองเดิมเพื่อให้การระบายน้ำในพื้นที่ดีขึ้น 3) พัฒนาเส้นทางการเข้าถึง 4) กำหนดเขตพื้นที่ห้ามก่อสร้างอาคารที่มีผลกระทบต่อมุมมองและควบคุมการก่อสร้างอาคาร 5) เสนอแนวทางการจัดการพื้นที่อำนวยความสะดวกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต เพื่อรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และลักษณะภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่นี้ให้คงอยู่ต่อไป


การวิเคราะห์โครงสร้างและพลวัตที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา, วรเมธ ศรีวนาลักษณ์ Jan 2018

การวิเคราะห์โครงสร้างและพลวัตที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา, วรเมธ ศรีวนาลักษณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นภูมิทัศน์ที่เกิดจากกระบวนการธารน้ำ (Fluvial Process) การสะสมของตะกอนแม่น้ำจนเกิดเป็นที่ราบกว้าง ตะกอนเหล่านี้มากับน้ำหลากและท่วมขังเต็มที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูฝน เมื่อสิ้นฤดูฝนและน้ำที่ไหลหลากมาจากพื้นที่ตอนบนลดลง น้ำในที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดลงและแห้งไป มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล น้ำที่หลากสู่ที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นทำให้เกิดการทับถมของตะกอนแม่น้ำนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น การขยายตัวของเมือง การสร้างโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการทำระบบชลประทานทำให้ระบบน้ำ (Water Regime) ของพื้นที่เปลี่ยนไป วิทยานิพนธ์มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างเชิงภูมิทัศน์และการเปลี่ยนแปลงของที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และการแปลตีความข้อมูลจากดาวเทียวด้วยสายตา เพื่อบ่งชี้ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อหน้าที่เชิงภูมิทัศน์ของที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา จากการวิจัยพบว่าสิ่งปลูกสร้างมีการขยายตัวออกไปยังพื้นที่นาซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำที่ทำหน้าที่รับน้ำหลากในช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้งการพัฒนาต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบชลประทานทำให้พื้นที่แยกออกเป็นส่วน พื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่ของน้ำในฤดูน้ำหลากลดน้อยลง ส่งผลทำให้น้ำหลากกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาเมืองในที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ พื้นที่รับน้ำหลาก และเมืองควรให้น้ำไหลผ่านได้


แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบของโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่ง ต่อชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, พชร ภู่กำชัย Jan 2018

แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบของโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่ง ต่อชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, พชร ภู่กำชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งในพื้นที่ริมน้ำบริเวณอำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีโครงการแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ โดยโครงการแผนพัฒนาแม่บทกินพื้นที่ริมน้ำเป็นวงกว้างครอบคลุม 4 จังหวัด (Thaipublica , 2015) หน่วยงานราชการท้องถิ่นได้นำแผนพัฒนานี้ไปดำเนินการ โดยแบ่งโครงการเป็นส่วน ๆ ซึ่งพื้นที่กรณีศึกษาดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ แต่ส่วนหนึ่งเกิดการทรุดตัวลงสร้างความเสียหายให้ผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น จากการลงสำรวจพื้นที่โครงการรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำนั้นพบว่าเกิดผลกระทบทางลบหลายด้าน โดยแบ่งออกเป็นทางกายภาพและผลกระทบทางทัศนคติ เช่น แนวเขื่อนทำให้วิถีชิวิตริมน้ำต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการมีส่วนร่วมภาคประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นเท่าที่ควร จึงได้เกิดการตั้งคำถามถึงผลกระทบจากกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งกำหนดไว้เป็นกรอบให้หน่วยงานราชการต้องดำเนินการ โดยวิธีวิจัยเน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับชุมชนริมน้ำในพื้นที่โครงการ โดยแบ่งผู้มีส่วนได้เสียเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการทรุดตัว 2) ผู้อาศัยบริเวณโดยรอบเขื่อนแต่ไม่ได้รับความเสียหายและ 3) ผู้อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกับชุมชนที่เขื่อนเกิดการทรุดตัว จากการศึกษาพบว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุมชนต้องได้รับผลกระทบเหล่านั้นโดยไม่ทันตั้งตัว ผลวิจัยนี้ชี้ถึงผลกระทบจากโครงการที่ชุนชนไม่ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐผู้ดำเนินโครงการเท่าที่ควร จึงได้นำเสนอแนวทางการมีส่วนร่วม และตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากภาครัฐในโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ เพื่อการบรรเทาผลกระทบทางลบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่น ๆ ต่อไป


การศึกษาระบบนิเวศน้ำหลากและนิเวศบริการของทุ่งน้ำหลากพื้นที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยากรณีศึกษา ชุมชนลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เกียรติกมล นิลาภรณ์กุล Jan 2018

การศึกษาระบบนิเวศน้ำหลากและนิเวศบริการของทุ่งน้ำหลากพื้นที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยากรณีศึกษา ชุมชนลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เกียรติกมล นิลาภรณ์กุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

No abstract provided.


การวิเคราะห์การวางผังนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทย ภายใต้ข้อพิจารณาทางภูมิสถาปัตยกรรม, ชนกนันท์ ปิ่นตบแต่ง Jan 2018

การวิเคราะห์การวางผังนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทย ภายใต้ข้อพิจารณาทางภูมิสถาปัตยกรรม, ชนกนันท์ ปิ่นตบแต่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นิคมอุตสาหกรรม คือเขตที่ดินซึ่งจัดไว้สำหรับให้โรงงานอยู่รวมกันอย่างเป็นสัดส่วน แม้ จะมีกฎหมายด้วยการขออนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม แต่ประเด็นส่วนใหญ่มักกล่าวถึงมาตรฐาน ด้านวิศวกรรมเป็นหลัก และขาดการคำนึงถึงประเด็นทางภูมิสถาปัตยกรรม งานวิจัยนี้มี วัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยในการวางผังนิคมอุตสาหกรรมภายใต้ข้อพิจารณาทางภูมิ สถาปัตยกรรม ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก เพราะเป็นแหล่งที่ตั้งของนิคม อุตสาหกรรมจำนวนมาก งานวิจัยนี้ดำเนินการวิเคราะห์ลักษณะธรณีสัณฐานในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาค ตะวันออกของประเทศไทย และข้อมูลเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหาความต้องการและ ข้อจำกัดของพื้นที่ นำมาสรุปเป็นปัจจัยในการวางผังนิคมอุตสาหกรรม จากนั้นลงพื้นที่เก็บข้อมูล นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งเป็นตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมใน พื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ด้วยวิธีการสำรวจพื้นที่และสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำปัจจัยมาวิเคราะห์หาศักยภาพและปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขต่อไป ผลการวิจัยพบว่า มีปัจจัยที่ใช้ในการวางผัง 2 ด้าน ได้แก่ 1.การเลือกที่ตั้ง พิจารณาจาก ปัจจัยทางนิเวศวิทยา ทรัพยากร เศรษฐกิจ และชุมชน 2.การวางผังบริเวณ พิจารณาจากปัจจัยทาง ธรรมชาติ ปัจจัยที่มนุษย์สร้างขึ้น และปัจจัยทางสุนทรียภาพ ซึ่งจากการวิเคราะห์กรณีศึกษาทั้ง สองแห่ง สรุปได้ว่า มีการเลือกที่ตั้งที่เน้นด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรเป็นหลัก ส่วนการวางผัง บริเวณ นิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งสามารถวางพื้นที่ใช้สอยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ แต่ ละเลยการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแบบเพื่อส่งเสริมมุมมองในส่วน ต้อนรับ เป็นต้น


การระบุขอบเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงและความสัมพันธ์ระหว่างพลวัตของภูมิทัศน์กับการปรับตัวของมนุษย์ : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง, เกษมพันธุ์ แก้วธำรงค์ Jan 2018

การระบุขอบเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงและความสัมพันธ์ระหว่างพลวัตของภูมิทัศน์กับการปรับตัวของมนุษย์ : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง, เกษมพันธุ์ แก้วธำรงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบภูมินิเวศของพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยเป็นพื้นที่ที่มีพลวัต ความหลากหลายเชิงนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นผลมาจากพลวัตน้ำหลาก ซึ่งให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในรูปแบบของการบริการเชิงนิเวศทั้งการเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรพื้นฐาน และการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจชุมชน โดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการสำรวจระยะไกลด้วยภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อ (1) ระบุขอบเขตของพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงแม่น้ำมูลตอนกลางเพื่อบ่งชี้ลักษณะพลวัตน้ำหลากของพื้นที่ จากลักษณะทางธรณีสัณฐาน และลักษณะเชิงอุทกวิทยา (2) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของลักษณะสิ่งปกคลุมผิวดินจากอดีตถึงปัจจุบันจากการจำแนกสิ่งปกคลุมผิวดิน ร่วมกับการลงพื้นที่สำรวจชุมชนดั้งเดิม เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลวัตน้ำหลากกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์โดยมนุษย์ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการบริการเชิงนิเวศ ผลการศึกษาพบว่ามนุษย์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลางมีความสามารถในการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงภายใต้เงื่อนไขของพลวัตน้ำหลาก จากการเลือกที่ตั้งชุมชนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และใช้ประโยชน์อย่างสอดคล้องกับพลวัตน้ำหลากจากพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงในฐานะแหล่งทรัพยากรของชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี ซึ่งมีรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันทั้งพื้นที่ และช่วงเวลา นอกจากนั้นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เกษตรในพื้นที่ราบน้ำท่วม และการดัดแปลงโครงสร้างของแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ และป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้แหล่งทรัพยากรของชุมชนมีพื้นที่ลดลง และระบบนิเวศเสียหายจนไม่สามารถให้บริการเชิงนิเวศได้เหมือนเช่นเคย ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และระบบเศรษฐกิจชุมชนในชนบทที่พึ่งพิงการบริการเชิงนิเวศจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ


พัฒนาการงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพมหานคร, อัมพวรรณ สุแดงน้อย Jan 2018

พัฒนาการงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพมหานคร, อัมพวรรณ สุแดงน้อย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพมหานคร โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ศึกษา ได้แก่ 1) เป็นโรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพมหานครที่ได้รับการรับรองจากสมาคมโรงแรมไทย 2) มีการออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม 3) ได้รับอนุญาตในการเข้าสำรวจงานภูมิสถาปัตยกรรมและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานภูมิสถาปัตยกรรมได้ ซึ่งพบว่า โรงแรม 5 ดาวที่มีการออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมมีทั้งหมด 20 แห่ง และได้รับการอนุญาตในการเข้าสำรวจและสัมภาษณ์ คงเหลือเพียง 12 แห่ง ระเบียบวิธีวิจัย เริ่มจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ศึกษา และสำรวจ สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานภูมิสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย ผู้จัดการฝ่ายแม่บ้าน ผู้จัดการฝ่ายคนสวน ผู้จัดการฝ่ายช่าง และผู้ออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมโรงแรมแต่ละแห่ง โดยมีประเด็นคำถาม ดังนี้ 1) การเปลี่ยนแปลงงานภูมิสถาปัตยกรรม 2) จุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของงานภูมิสถาปัตยกรรมโรงแรม 3) การดูแลรักษาและปัญหาที่เกิดขึ้น และ 4) แนวคิดในการออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม และนำมาวิเคราะห์พัฒนาการงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมของโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ 1) การวางผังบริเวณ 2) รูปแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม และ 3) การใช้วัสดุและพืชพรรณ จากการศึกษา พบว่า งานภูมิสถาปัตยกรรมของโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยใช้เกณฑ์ช่วงเวลาในการก่อตั้งโรงแรมแต่ละแห่ง เปรียบเทียบในเรื่องของรูปแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม และการใช้วัสดุและพืชพรรณ จากการศึกษา พบว่า งานภูมิสถาปัตยกรรมของโรงแรม 5 ดาว ในกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วง พ.ศ. 2510 - 2530 มีรูปแบบสวนเมืองร้อน (Tropical Garden) 2) ช่วง พ.ศ. 2530 - 2550 มีรูปแบบสวนเมืองร้อนร่วมสมัย (Modern Tropical Garden) และ 3) ช่วง พ.ศ. …