Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Public Affairs, Public Policy and Public Administration

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

Articles 331 - 334 of 334

Full-Text Articles in Entire DC Network

ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, อรณิชา เสตะคุณ Jan 2017

ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, อรณิชา เสตะคุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 2) เพื่อทราบระดับประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง 3) เพื่อสำรวจปัญหาอุปสรรคของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ 4) เพื่อเสนอแนวทางในการปรับปรุงการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยศึกษาจากระบบการพัฒนาข้าราชการด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (HRD e-Learning) ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) โดยมีกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมในระบบดังกล่าว จำนวน 331 คน ซึ่งเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (SPSS) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ และการทดสอบค่าเฉลี่ย ผลการศึกษา พบว่า 1) ปัจจัยด้านคุณลักษณะของผู้เข้าอบรม (ด้านแรงจูงใจในการเรียนรู้ และด้านความสามารถในการเรียนรู้) มีผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ. 2) ปัจจัยด้านคุณลักษณะการออกแบบการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ ด้านการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ ด้านการออกแบบการนำเสนอเนื้อหา และด้านการร่วมมือและแบ่งปัน) มีผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ. 3) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมภายในหน่วยงาน (ด้านโอกาสในการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้) มีผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ. 4) ประสิทธิผลของการเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ. ตามการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด


นโยบายสาธารณะว่าด้วยการพัฒนาเมือง, เกวลี เพชรศรีชาติ Jan 2017

นโยบายสาธารณะว่าด้วยการพัฒนาเมือง, เกวลี เพชรศรีชาติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายการพัฒนาเมืองในภูมิภาคของไทย โดยพิจารณาบทบาทหน้าที่ขององค์กรภาครัฐในการพัฒนาเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยมีคำถามวิจัยคือ นโยบายการพัฒนาเมืองของไทยในช่วงหลังปี 2540 มีสาระสำคัญอะไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองในภูมิภาคอย่างไร อีกทั้งยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเมืองหรือไม่ โดยอาศัยกรอบแนวคิด 2 แนวคิดคือ ทฤษฎีทำเลที่ตั้ง (Location theory) และแนวคิดเมืองที่เกิดและเติบโตจากนโยบายรัฐ (รัฐเป็นผู้สร้างเมือง) การศึกษาครั้งนี้ได้อาศัยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านกรณีศึกษาเมืองในภูมิภาคจำนวน 2 แห่งคือ เมืองสงขลาและเมืองสตูล ผลการศึกษาพบว่า นโยบายการพัฒนาเมืองของรัฐได้ส่งผลให้เมืองสงขลาและเมืองสตูลมีผลของการพัฒนาที่แตกต่างกัน นโยบายการพัฒนาส่วนใหญ่มุ่งที่จะพัฒนาเมืองสงขลามากกว่าเมืองสตูล เนื่องจากรัฐต้องการสร้างเมืองสงขลาให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและศูนย์กลางการบริหารราชการ รวมไปถึงเป็นเมืองที่เชื่อมโยงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จึงทำให้มีนโยบายการพัฒนาของรัฐลงมาสู่พื้นที่สงขลาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ขณะที่เมืองสตูลนั้นกลับพบว่า รัฐไม่ได้มีนโยบายพัฒนาเมืองที่มีความต่อเนื่องมากนัก นโยบายการพัฒนาเมืองสตูลจึงไม่มีความโดดเด่นและชัดเจนเท่าเมืองสงขลา เป็นเพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไป ผลจากนโยบายการพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมาจึงส่งผลให้เมืองสตูลไม่ได้เติบโตเทียบเท่าเมืองสงขลา อีกทั้งยังส่งผลให้การพัฒนาเมืองสตูลด้อยกว่าเมืองสงขลา


การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการประชาชน:กรณีศึกษาระบบสารสนเทศที่ดินของกรมที่ดิน, รุ่งทิวา เงินปัน Jan 2017

การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการประชาชน:กรณีศึกษาระบบสารสนเทศที่ดินของกรมที่ดิน, รุ่งทิวา เงินปัน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการยอมรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินในการให้บริการประชาชนของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยคือ เจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่ใช้ระบบงานในสำนักงานที่ดิน ตามโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน ระยะที่ 1 จำนวน 73 แห่ง เครื่องมือวิจัยใช้เก็บข้อมูลคือแบบสอบถามที่ได้ประยุกต์มาจากทฤษฎีการยอมรับเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model) จำนวน 306 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันและการวิเคระห์เส้นทางอิทธิพล โดยใช้โปรแกรม AMOS 24.0 ผลการวิจัยพบว่าความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างปัจจัยภายนอกต่อการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ( = 204.909 df= 189, P-value = .203, / =1.084, CFI = .997, GFI = .946, AGFI = .921, RMR=.011, RMSEA = .017) ตัวแบบมีความเที่ยงและความแม่นตรงโดยการวัดได้จากสถิติ CR และ AVE ซึ่งมีค่า 0.857 และ 0.750 ตามลำดับ ปัจจัยที่ส่งผลทางตรงต่อพฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบไปด้วยปัจจัยด้านการรับรู้ประโยชน์การใช้ระบบสารสนเทศที่ดิน การรับรู้ความง่ายของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดิน ทัศนคติที่มีต่อการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดิน แรงจูงใจในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดิน และได้รับปัจจัยอิทธิพลทางอ้อมมาจากปัจจัยการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดินที่เหมาะสมกับงาน และความสามารถในการใช้งานคอมพิวเตอร์กับงานระบบสารสนเทศที่ดิน ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนำไปสู่การใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดิน ซึ่งตัวแปรต่างๆอธิบายค่าความแปรปรวนของอิทธิพลต่อการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ได้ที่ร้อยละ 75.8


การจัดการเมืองเศรษฐกิจชายแดน, อาภาพร น่วมถนอม Jan 2017

การจัดการเมืองเศรษฐกิจชายแดน, อาภาพร น่วมถนอม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมถึงองค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และประเมินความก้าวหน้าหรือความสำเร็จ และข้อจำกัดของการดำเนินนโยบาย โดยเลือกกรณีศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 2 จังหวัด ได้แก่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วและจังหวัดตราด จากการศึกษานี้พบว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยมีภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้ริเริ่มนโยบาย และดำเนินนโยบายโดยใช้เงินงบประมาณและกลไกของรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นหลัก จากกรณีศึกษาทั้ง 2 แห่ง พบว่า การดำเนินนโยบายจากภาครัฐส่วนกลางในแต่ละพื้นที่มีประเด็นส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันคือ การเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพอย่างเร่งด่วน แต่มีรายละเอียดในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ได้แก่ การกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การจัดทำผังเมือง การให้เช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้น ปัจจัยบริบทในพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจทั้ง 2 แห่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ลักษณะพื้นที่เชิงกายภาพ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานในระดับพื้นที่ และหน่วยงานที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ด้วยกลวิธีการดำเนินนโยบายของรัฐในพื้นที่ประกอบกับบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกันนี้ส่งผลให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราดมีความก้าวหน้าในด้านการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่มากกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากการวางสถานะเมืองตราดมีความชัดเจน บริบทเชิงกายภาพของพื้นที่มีขอบเขตชัดเจน และการมีส่วนร่วมของทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดตราด แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยโดยรวมยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการขับเคลื่อนหลักมาจากภาครัฐส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ หน่วยงานในพื้นที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้เอง และมุ่งเน้นแต่การพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพเป็นหลัก ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์เพราะยังขาดการพัฒนาด้านสังคม ทั้งนี้เนื่องมาจากขาดการวางแผนจากรัฐบาลระดับชาติที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดหน่วยงานต่างทำภารกิจของตนเอง (Fragmented Management) และขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่อย่างชัดเจนในระยะยาว