Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Plant Sciences

PDF

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2019

Articles 1 - 2 of 2

Full-Text Articles in Entire DC Network

การชักนำแคลลัสและผลของเอลิสิเทอร์ต่อฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของแคลลัสฟักข้าวMomordica Cochinchinensis (Lour.) Spreng. ที่เลี้ยงในอาหารเหลว, สุพรรษา พลายเปี่ยม Jan 2019

การชักนำแคลลัสและผลของเอลิสิเทอร์ต่อฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของแคลลัสฟักข้าวMomordica Cochinchinensis (Lour.) Spreng. ที่เลี้ยงในอาหารเหลว, สุพรรษา พลายเปี่ยม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ฟักข้าว (Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng) หรือแก็ก (gac) เป็นพืชไม้เลื้อยที่อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae โดยฟักข้าวนั้นมีสารปฐมภูมิและสารทุติยภูมิสะสมอยู่ในทุกส่วนของต้น ประกอบไปด้วยแคโรทีนอยด์ กรดไขมัน วิตามินอี โพลีฟีนอล และ ฟลาโวนอยด์ ซึ่งทำให้การใช้ประโยชน์ของฟักข้าวถูกบันทึกลงในการแพทย์แผนโบราณของหลายประเทศ ในปัจจุบันมีการใช้เอลิสิเทอร์หลากหลาย เช่น ไคโทซาน และ เมทิลแจสโมเนต (MeJA) เพื่อเพิ่มปริมาณสารทุติยภูมิในพืช ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการชักนำแคลลัสฟักข้าวและศึกษาผลของไคโทซานน้ำหนักโมเลกุลสูง (HMC) ไคโทซานน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (LMC) ความเข้มข้น 10 และ 20 mg/l MeJA ความเข้มข้น 100 และ 150 µM ต่อฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของแคลลัสฟักข้าวที่เลี้ยงในอาหารเหลว สำหรับการทดลองชักนำการเกิดแคลลัส ได้นำส่วนยอดและส่วนข้อของต้นฟักข้าวปลอดเชื้อมาเลี้ยงในอาหารแข็งสูตร MS ที่ประกอบไปด้วย 2,4-D และ BA พบว่าในสูตรอาหารที่ประกอบด้วย 0.8 mg/l 2,4-D + 0 mg/l BA 0.8 mg/l 2,4-D + 0.4 mg/l BA และ 0.8 mg/l 2,4-D + 0.8 mg/l BA สามารถชักนำการเกิดแคลลัสได้ดีที่สุด ในส่วนของการศึกษาผลของเอลิสิเทอร์ต่อฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของแคลลัสฟักข้าว HMC, LMC หรือ MeJA ถูกเติมลงในอาหารวันที่ 18 ของการเพาะเลี้ยงแคลลัสในอาหารเหลว และเก็บตัวอย่างแคลลัสในวันที่ 20 และ 22 ของการเพาะเลี้ยงเพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ผลการทดลองพบว่าเอลิสิเทอร์ไม่มีผลเพิ่มฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของแคลลัสฟักข้าวที่เวลาดังกล่าว ยกเว้นในชุดการทดลองที่เติม 150 µM MeJA พบว่าในวันที่ 22 ของการเพาะเลี้ยงแคลลัสมีปริมาณของแคโรทีนอยด์มากกว่าชุดควบคุมและชุดทดลองอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ


ทรานสคริปโทมของข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทยภายใต้ภาวะเครียดจากความเค็ม, พีรวัธน์ จันทนกูล Jan 2019

ทรานสคริปโทมของข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทยภายใต้ภาวะเครียดจากความเค็ม, พีรวัธน์ จันทนกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นพืชอาหารสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนั้นถือเป็นแหล่งผลิตข้าวสำคัญที่มีคุณภาพดีแต่มีผลผลิตต่ำเนื่องจากภาวะดินเค็มที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสามารถในการติดเมล็ด จากการประเมินการตอบสนองต่อภาวะเค็มในกล้าข้าวพบว่าข้าวพันธุ์หลวงประทานซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองไทยแสดงลักษณะการทนเค็ม ดังนั้น จึงทำการศึกษาทรานสคริปโทมที่เวลา 0 3 6 12 24 และ 48 ชั่วโมง หลังจากได้รับภาวะเค็มเพื่อศึกษากลไกการทนเค็มของข้าวพันธุ์นี้โดยใช้เทคนิค 3’-Tag RNA-seq ผลการศึกษาพบว่ามียีนที่แสดงออกอย่างแตกต่างเป็นครั้งแรกภายหลังเผชิญกับภาวะเค็มเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ได้แก่ OsRCI2-5 ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณ และเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงพบว่า OsRMC ซึ่งเป็นยีนที่สามารถตอบสนองต่อภาวะเครียดจากความเค็มแสดงออกมาอย่างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อพืชเผชิญกับภาวะเค็มเป็นเวลา 48 ชั่วโมงพบว่ามียีนที่แสดงออกอย่างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 63 ยีน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทนเค็ม ผลการวิเคราะห์โครงข่ายการแสดงออกร่วมของยีนที่ภาวะเค็มทั้ง 63 ยีน จากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพลวัตบางส่วน พบว่า OsRCI2-5 และ OsRMC มีการแสดงออกร่วมกับยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของยีนอื่น ๆ ประกอบด้วย Transcription factor และ Ubiquitin ligase enzyme โดยในภาวะเค็ม OsRMC มีส่วนทำให้มีการแสดงออกมากขึ้นของยีนที่เกี่ยวกับการตอบสนองเพื่อป้องกันตนเองของพืชจากปัจจัยทางชีวภาพ จากการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลกระทบของภาวะเค็มต่อการแสดงออกของยีนที่ระบุได้ ด้วย qRT-PCR ในข้าวพันธุ์ต่าง ๆ พบว่า OsRCI2-5 และ OsRMC เป็นยีนที่พืชตอบสนองต่อภาวะเค็มและเกี่ยวข้องกับกลไกการทนเค็มในข้าวพันธุ์หลวงประทาน