Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Music

PDF

Theses/Dissertations

2020

Institution
Keyword
Publication

Articles 391 - 398 of 398

Full-Text Articles in Entire DC Network

บทประพันธ์เพลงระดับมหาบัณฑิต : “เมตามอร์โฟซิส” สำหรับวงดุริยางค์เครื่องสาย, ภัทรา พงษ์แสงสุริยะ Jan 2020

บทประพันธ์เพลงระดับมหาบัณฑิต : “เมตามอร์โฟซิส” สำหรับวงดุริยางค์เครื่องสาย, ภัทรา พงษ์แสงสุริยะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์เพลงมหาบัณฑิตนิพนธ์ : “เมตามอร์โฟซิส” สำหรับวงดุริยางค์เครื่องสายเป็นผลงานสร้างสรรค์ในประเภทดนตรีพรรณนา มีความยาวของบทประพันธ์ประมาณ 17 นาที ชิ้นงานมีการนำแนวคิดจากวรรณกรรม ชีววิทยา และจิตวิทยามาผนวกเข้าไว้ด้วยกัน โดยคำว่า “เมตามอร์โฟซิส” มีความหมายในทางชีววิทยาว่าเป็นประเภทการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลำดับขั้น บทประพันธ์ชิ้นนี้ผู้ประพันธ์กำหนดให้ผีเสื้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในทางวรรณกรรมที่มีความหมายที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณมาเป็นหลักสำคัญในการตีความตามองค์ประกอบดนตรี ทั้งการเลือกใช้เทคนิคพิเศษของเครื่องสาย การควบคุมลักษณะเสียง รวมถึงการเลือกใช้สังคีตลักษณ์ในกระบวนทั้งสี่ตามลำดับขั้นการเจริญเติบโตในทางชีววิทยา โดยเริ่มจากไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ ไปสู่ช่วงโตเต็มวัย นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ได้มีการตีความหมายคำว่าเมตามอร์โฟซิสในความหมายทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางชีววิทยาว่าเป็นการเปลี่ยนรูป ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ตีความคำนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสภาวะจิตใจ และนำมาเป็นตัวกำหนดความเร็วช้า และเสียงประสาน รวมถึงการจัดการระบบศูนย์กลางเสียง ทั้งในรูปแบบดนตรีไร้กุญแจเสียงและอิงกุญแจเสียงลงในบทประพันธ์ ในการบรรยายกระบวนการแปรเปลี่ยนของสภาวะจิตใจจากความทุกข์ตรมไปสู่ความสุข


การแสดงเดี่ยวเปียโนระดับมหาบัณฑิตโดย มัชฌาพร ยมนา, มัชฌาพร ยมนา Jan 2020

การแสดงเดี่ยวเปียโนระดับมหาบัณฑิตโดย มัชฌาพร ยมนา, มัชฌาพร ยมนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงเดี่ยวเปียโนในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการบรรเลงเปียโน โดยเน้นการศึกษาข้อมูลเชิงลึกในด้านการวิเคราะห์บทประพันธ์ การศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้ประพันธ์และวรรณกรรมทางดนตรี และทักษะการแสดงดนตรีร่วมกับผู้อื่น บทประพันธ์สำหรับการแสดงในครั้งนี้คัดเลือกมาจากผลงานของฟร็องซีส ปูแลง โดยมีการเรียบเรียงบทประพันธ์ที่ต่างประเภทกัน ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกบทเพลงสำหรับการแสดงครั้งนี้ไว้ 4 บทเพลงดังนี้ (1) Sonata for Piano Four Hands, FP 8 (2) Les Soirèe de Nazelles, FP 84 (3) Capriccio (d'après Le Bal masquè), FP 155 (4) Sonata for Two Pianos, FP 156 การแสดงในครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16.30 น. ณ ห้องแสดงดนตรีธงสรวง โดยการแสดงแบ่งเป็น 2 ช่วง ระยะเวลาโดยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที


บทประพันธ์เพลงมหาบัณฑิตนิพนธ์: “สุริยคราส” ซิมโฟนิกโพเอ็มสำหรับออร์เคสตรา, เจริญวิช รุจิรัสสวรวงศ์ Jan 2020

บทประพันธ์เพลงมหาบัณฑิตนิพนธ์: “สุริยคราส” ซิมโฟนิกโพเอ็มสำหรับออร์เคสตรา, เจริญวิช รุจิรัสสวรวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทประพันธ์สุริยคราส เป็นบทประพันธ์ประเภทซิมโฟนิกโพเอ็มสำหรับวงออร์เคสตรา มีทั้งหมด 4 กระบวน ในแต่ละกระบวนจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านของทำนอง และจังหวะ ซึ่งแต่ละกระบวนจะมีทำนองที่เปรียบเสมือนทำนองหลักของบทเพลงแฝงอยู่ ผู้ประพันธ์เรียกทำนองนี้ว่า ทำนองสุริยคราส ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ใช้ทำนองหลักของบทเพลงเป็นการเชื่อมบทเพลงทุกกระบวนไว้ด้วยกัน ทำให้บทเพลงชุดมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเพิ่มความน่าสนใจต่อการวิเคราะห์บทเพลงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในแต่ละกระบวนผู้ประพันธ์ได้เลือกใช้เครื่องดนตรีที่นำเสนอแตกต่างกัน เพื่อให้ได้สีสันของเสียงหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการใช้เทคนิคการซ้อนชั้นทำนอง เพื่อให้บทเพลงมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น บทประพันธ์นี้มีความยาวโดยรวมประมาณ 15 นาที ซึ่งกระบวนสุดท้ายจะมีความยาวมากกว่ากระบวนอื่น ๆ เปรียบเสมือนบทสรุปของบทประพันธ์ชิ้นนี้


การสร้างสรรค์และการบรรจุเพลงประกอบการแสดงของครูอำนาจ นุ่นเอียด, ปภัค แก้วบุญชู Jan 2020

การสร้างสรรค์และการบรรจุเพลงประกอบการแสดงของครูอำนาจ นุ่นเอียด, ปภัค แก้วบุญชู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องการสร้างสรรค์และการบรรจุเพลงประกอบการแสดงของครูอำนาจ นุ่นเอียด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีวประวัติและผลงานของครูอำนาจ นุ่นเอียด และเพื่อศึกษาวิธีการสร้างสรรค์และการบรรจุเพลงประกอบการแสดงของครูอำนาจ นุ่นเอียด ครูอำนาจ นุ่นเอียด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2494 เป็นชาวจังหวัดพัทลุง เริ่มฝึกหัดดนตรีด้วยตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก จากนั้นก็ฝึกเป่าปี่จนมีความรู้ความชำนาญในการบรรเลงเครื่องดนตรีโนราและหนังตะลุงในทุก ๆ ชิ้น โดยเฉพาะปี่ ในการวิเคราะห์เพลงประกอบการแสดงของครูอำนาจ นุ่นเอียด พบว่า การแสดงทั้ง 16 ชุดการแสดง ใช้เพลงจำนวนทั้งหมด 73 เพลง ทั้ง 73 เพลงนั้นเป็นเพลงที่ครูอำนาจ นุ่นเอียด ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวน 14 เพลง ครูอำนาจประพันธ์โดยใช้วิธีการพลิกแพลงทำนองจากทำนองเพลงเดิมที่มีอยู่ การยุบโดยตรงและการยุบโดยวิธีการพลิกแพลงทำนองจากเพลงเดิมที่มีอยู่ ในการศึกษายังพบลักษณะแบบแผนการซ้ำทำนองในหลาย ๆ แบบเช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านภาคใต้ที่ครูนำมาเรียบเรียงไว้ในการแสดง มีการเปลี่ยนบันไดเสียงและใช้เสียงหลุมเพื่อให้เกิดสำเนียงที่ไพเราะอ่อนหวาน และยังมีลักษณะที่โดดเด่นอื่น ๆ อยู่อีก 5 ประการได้แก่ 1) การใช้เสียงโดดเด่น หรือที่เรียกว่า Pillar Tone 2) การย้ำทำนอง 3) การใช้กระสวนจังหวะของทำนองแบบคงที่ 4) การใช้ทำนองโอดพัน และ 5) การใช้ทำนองฉายรูป


บทบาทการส่งเสริมดนตรีไทยของพลตรีประพาศ ศกุนตนาค, ปรมินทร์ เต็มพร้อม Jan 2020

บทบาทการส่งเสริมดนตรีไทยของพลตรีประพาศ ศกุนตนาค, ปรมินทร์ เต็มพร้อม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องบทบาทการส่งเสริมดนตรีไทยของพลตรีประพาศ ศกุนตนาค มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติชีวิตของพลตรีประพาศ ศกุนตนาค และบทบาทการส่งเสริมดนตรีไทยของพลตรีประพาศ ศกุนตนาค ผลการศึกษาพบว่า พลตรีประพาศ ศกุนตนาค เกิดในครอบครัวที่ชื่นชอบดนตรีไทย ทำให้เกิดความสนใจการขับร้องเพลงไทย โดยยึดทางเพลงตามคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ มีลีลาการขับร้องตามครูเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ การขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะประกอบกับมีความสามารถในการขับเสภาทำให้พลตรีประพาศ ศกุนตนาค ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ขับเสภาประกอบละครทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และเป็นนักร้องเพลงไทยในงานสำคัญต่าง ๆ พลตรีประพาศ ศกุนตนาค รับราชการทหาร เหล่าทหารสื่อสาร จึงทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวในโอกาสสำคัญทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ประกอบกับการเป็นนักแสดง และนักร้องเพลงไทย จึงทำให้ พลตรีประพาศ ศกุนตนาค มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เมื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมดนตรีไทยจึงมีผู้ให้ความสนใจทั้งการสมัครเป็นลูกศิษย์และติดตามผลงาน พลตรีประพาศ ศกุนตนาคมีบทบาทในการส่งเสริมดนตรีไทยทั้งการเผยแพร่การขับร้องเพลงไทย การตีกรับขับเสภา ผ่านสื่อทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และเป็นผู้ประสานงานจัดงานดนตรีไทยในโอกาสสำคัญ นอกจากนั้น พลตรีประพาศ ศกุนตนาคยังมีบทบาทในการสืบทอดดนตรีไทยทั้งในฐานะครูผู้ถ่ายทอดความรู้ขั้นพื้นฐานด้านการขับร้องเพลงไทย และการตีกรับขับเสภาให้กับลูกศิษย์ รวมทั้งการถ่ายทอดกรรมวิธีการสร้างกรับเสภา นอกจากนั้นพลตรีประพาศ ศกุนตนาคยังร่วมจัดตั้ง “สำนักสยามเสภานุรักษ์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมการขับร้องเพลงไทย และการตีกรับขับเสภา ทางสื่อออนไลน์


พิธีกรรมความเชื่อการสร้างกลองยืนและกลองหลอนในวงมังคละของคณะ ศ. ราชพฤกษ์ศิลป์, สุวิชา พระยาชัย Jan 2020

พิธีกรรมความเชื่อการสร้างกลองยืนและกลองหลอนในวงมังคละของคณะ ศ. ราชพฤกษ์ศิลป์, สุวิชา พระยาชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่องพิธีกรรมและความเชื่อในการสร้างกลองยืนและกลองหลอนของวงมังคละ คณะ ศ.ราชพฤกษ์ศิลป์ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมุ่งศึกษาในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกลองยืนและกลองหลอน และศึกษาพิธีกรรมความเชื่อในการสร้างกลองยืนกลองหลอน ผลการวิจัยพบว่าในวงมังคละ กลองยืนมีหน้าที่ยืนจังหวะเพื่อกำหนดหน้าทับหลัก และกลองหลอนจะช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกสนานให้กับบทเพลงให้น่าฟัง ใช้แสดงทั้งงานมงคลและงานอวมงคล จากการศึกษาเรื่องพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวงดนตรีมังคละคณะ ศ. ราชพฤกษ์ศิลป์ พบว่า ได้สืบทอดพิธีกรรมและความเชื่อจากพ่อแก่ดัด ไกรบุตร ได้แก่ พิธีกรรมการไหว้ครูประจำปี พิธีกรรมไหว้ครูก่อนการแสดง และพิธีกรรมความเชื่อในการสร้างเครื่องดนตรี ซึ่งพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องในการสร้างกลองยืนและกลองหลอน มี 4 ขั้นตอน คือ 1.พิธีขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนตัดไม้ 2.การเขียนคาถาหน้ากลอง 3. ขั้นตอนการเจาะรูหูละมาน หรือขั้นตอนของการตอกนำฤกษ์ 4. ขั้นตอนการทำน้ำมนต์ธรณีสารเพื่อประพรมให้กับเครื่องดนตรีก่อนที่จะประกอบเข้าด้วยกัน การสร้างกลองยืนและกลองหลอนของคณะ ศ.ราชพฤกษ์ศิลป์นั้น เป็นพิธีกรรมและความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เพราะมีความเชื่อที่สำคัญว่า ถ้ากระทำแล้วจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง จึงทำให้ คณะ ศ.ราชพฤกษ์ศิลป์ ยังคงยึดถือและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน


การแสดงขับร้องเดี่ยวระดับมหาบัณฑิตโดย ถิรพร ทรงดอน, ถิรพร ทรงดอน Jan 2020

การแสดงขับร้องเดี่ยวระดับมหาบัณฑิตโดย ถิรพร ทรงดอน, ถิรพร ทรงดอน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงขับร้องเดี่ยวในครั้งนี้ มีจุดประสงค์ในการถ่ายถอดบทประพันธ์ชุดเพลงร้องในภาษาเยอรมัน โดยผู้ประพันธ์ดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค โรแมนติก การแสดงเดี่ยวในครั้งนี้ผ่านการฝึกซ้อม และวิเคราะห์บทประพันธ์ที่นำมาใช้แสดงอย่างละเอียดลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาผู้แต่ง บทเพลง บทกวี วิธีการตีความหมาย รวมถึงการศึกษาบทเพลงและวิธีการร้องในเชิงเทคนิค เพื่อฝึกซ้อมและนำเสนออย่างมีเอกลักษณ์ของผู้แสดง โดยมีการเตรียมความพร้อมในการเลือกบทเพลงลักษณะชุดเพลงร้อง ที่มีความน่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่เชื่อมต่อร้อยเรียงกันในความหมาย และลักษณะบทประพันธ์ ถึงแม้ว่าการแสดงในครั้งนี้จะไม่สามารถจัดเป็นคอนเสิร์ตการแสดงเดี่ยวได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ผู้แสดงได้ทำการบันทึกวิดีโอ ภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่การแสดงนี้ทางออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจด้านการขับร้องเพลงคลาสสิกขั้นสูง โดยมีการเตรียมจัดทำโปสเตอร์การแสดง และการจัดการเรื่องการฝึกซ้อมกับนักเปียโน บทเพลงชุดเพลงร้องที่นำมาจัดแสดงเดี่ยว มีชุดเพลงร้อง 2 ชุด ได้แก่ ชุดเพลงร้อง Frauenliebe und Leben โดย Robert Schumann จำนวน 8 บทเพลง และชุดเพลงร้อง Vier Letzte Lieder โดย Richard Strauss จำนวน 4 บทเพลง


การแสดงเดี่ยวเปียโนระดับมหาบัณฑิต โดย กฤติน สุธรรมชัย, กฤติน สุธรรมชัย Jan 2020

การแสดงเดี่ยวเปียโนระดับมหาบัณฑิต โดย กฤติน สุธรรมชัย, กฤติน สุธรรมชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงเดี่ยวเปียโนโดย กฤติน สุธรรมชัย มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้แสดงในด้านเทคนิคการบรรเลงเปียโน การศึกษาประวัตินักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียและความเป็นมาของบทเพลง การวิเคราะห์บทเพลง การตีความบทเพลง และวิธีการฝึกซ้อม รวมทั้งได้รับประสบการณ์ในการเตรียมตัวและการจัดการงานแสดง ทั้งนี้การแสดงเดี่ยวเปียโนมีเป้าหมายในการเผยแพร่บทเพลงเปียโนที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียแก่ผู้ที่สนใจทุกกลุ่ม ผู้แสดงได้คัดเลือกบทเพลงที่ใช้ในการแสดงทั้งหมด 4 บทเพลง จากนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียยุคโรแมนติก ดังต่อไปนี้ 1. The Lark ประพันธ์โดย Michael Glinka เรียบเรียงสำหรับเดี่ยวเปียโนโดย Mily Balakirev 2. Reverie ประพันธ์โดย Mily Balakirev 3. Sonata Fantasy No.2 in G-sharp minor, Op.19 ประพันธ์โดย Alexander Scriabin 4. Piano Concerto No.2 in C minor, Op.18 ประพันธ์โดย Sergei Rachmaninoff การแสดงเดี่ยวเปียโนครั้งนี้กำหนดจัดแสดงในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.00 น. ณ Tongsuang’s Concert Salon & Gallery จังหวัดปทุมธานี การแสดงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 25 นาที