Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Electrical and Electronics

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2020

Articles 1 - 10 of 10

Full-Text Articles in Entire DC Network

การศึกษาผลของพื้นที่สัมผัสที่มีต่อการเลื่อนของเบสไลน์ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, อาภรณ์ พรมกิ่ง Jan 2020

การศึกษาผลของพื้นที่สัมผัสที่มีต่อการเลื่อนของเบสไลน์ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, อาภรณ์ พรมกิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ได้ออกแบบและสร้างระบบการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อศึกษาผลของพื้นที่สัมผัสระหว่างอิเล็กโทรดกับนิ้วมือที่มีผลต่อการเลื่อนของเบสไลน์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระบบวัดที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยอุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าที่ใช้อิเล็กโทรดแบบกระจก ITO, เซ็นเซอร์วัดแรงแบบฟิล์มบาง, ระบบควบคุมแรง, ระบบบันทึกภาพ และซอฟต์แวร์สำหรับการบันทึกและการวัด ในการศึกษา ผลของศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเลื่อนของเบสไลน์มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สัมผัส นอกจากนี้ การเลื่อนเบสไลน์ของสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการลดลงเมื่อมีการจำกัดพื้นที่สัมผัสระหว่างอิเล็กโทรดกับนิ้วมือภายใต้การเปลี่ยนแปลงแรงกดที่เพิ่มขึ้น ในวิทยานิพนธ์นี้ยังได้พัฒนาแบบจำลององค์ประกอบทางไฟฟ้าของการวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าเพื่ออธิบายการเลื่อนของเบสไลน์ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรอยต่อระหว่างอิเล็กโทรดกับนิ้วมือ


การออกแบบค่าความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองที่ต้องการสำหรับระบบเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพเชิงความถี่ในไมโครกริดแยกโดด, ณัฐนันท์ ชลิตตาภรณ์ Jan 2020

การออกแบบค่าความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองที่ต้องการสำหรับระบบเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพเชิงความถี่ในไมโครกริดแยกโดด, ณัฐนันท์ ชลิตตาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน มีการนำระบบเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไมโครกริดที่มีกำลังการผลิตเพียงพอและสามารถเดินเครื่องแบบแยกโดดได้นั้น การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนระบบเซลล์แสงอาทิตย์ส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าต่ำลงเนื่องจากค่าความเฉื่อยของระบบลดลง เพราะ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไม่มีค่าความเฉื่อย นอกจากนี้ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์โดยทั่วไปจะทำงานในโหมดกำลังไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความถี่ไฟฟ้าของระบบได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการออกแบบค่าความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองที่ต้องการโดยใช้ระบบอนุมานนิวโรฟัซซีแบบปรับตัวได้ เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความถี่ของระบบ ผลการทดสอบแสดงว่า ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกควบคุมด้วยวิธีที่เสนอต้องการความเฉื่อยเสมือนและต้องการกำลังไฟฟ้าสำรองที่น้อยกว่าระบบที่ใช้การควบคุมความเฉื่อยเสมือนและกำลังไฟฟ้าสำรองแบบคงที่แต่ยังคงสามารถควบคุมการเบี่ยงเบนความถี่ให้อยู่ในช่วงที่กำหนดได้


สถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบรรยายจุดเด่นของภาพบนพื้นฐานของขั้นตอนวิธีโออาร์บี, ทักษพร อิ่มแสงสุข Jan 2020

สถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบรรยายจุดเด่นของภาพบนพื้นฐานของขั้นตอนวิธีโออาร์บี, ทักษพร อิ่มแสงสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอสถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงเพื่อตรวจจับและบรรยายจุดเด่นบนพื้นฐานของขั้นตอนวิธีโออาร์บี สถาปัตยกรรมถูกบรรยายด้วยภาษาวีเอชดีแอลและถูกออกแบบให้สามารถประมวลผลบนเอฟพีจีเอได้ ขั้นตอนวิธีการที่ นำไปใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นถูกพัฒนาขึ้นด้วยภาษาไพทอนเพื่อลดความซับซ้อนและปรับปรุงขั้นตอนวิธีให้เหมาะสมกับการทำงานของฮาร์ดแวร์ โดยประยุกต์ใช้การประมวลผลแบบขนาน, การจัดระบบงานแบบสายท่อ (parallel and pipeline techniques) และเปลี่ยนวิธีในการประมวลผลบางขั้นตอนให้สามารถคำนวณได้โดยไม่ต้องอาศัยวงจรคำนวณเชิงคณิตศาสตร์เพิ่มเติมในการเร่งการทำงานของระบบ จากผลการทดสอบสถาปัตยกรรมด้วยโปรแกรม ModelSim พบว่าสถาปัตยกรรมสามารถรองรับสัญญาณภาพขนาด 1920x1080 จุดภาพอัตรา 30 เฟรมต่อวินาทีได้ โดยยังคงค่าความต้องกันของจุดมุมและความแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ได้จากฟังก์ชัน cv.ORB() ใน OpenCV library


กรณีศึกษาการทำงานของโหมดแยกโดดในไมโครกริดแม่สะเรียงที่มีแหล่งผลิตแบบลูกผสมของ พีวี ดีเซล และระบบแบตเตอรี่, จรัณวัส รอดหลัก Jan 2020

กรณีศึกษาการทำงานของโหมดแยกโดดในไมโครกริดแม่สะเรียงที่มีแหล่งผลิตแบบลูกผสมของ พีวี ดีเซล และระบบแบตเตอรี่, จรัณวัส รอดหลัก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โครงการไมโครกริดแม่สะเรียงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการออกแบบให้มีโหมดการทำงานหลัก 3 โหมด ได้แก่ 1) โหมดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก 2) โหมดเปลี่ยนผ่าน และ 3) โหมดแยกโดด วิทยานิพนธ์นี้จะให้ความสำคัญในส่วนของการทำงานในโหมดแยกโดดใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การควบคุมระบบแบตเตอรี่ 2) การประสานการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและระบบแบตเตอรี่เพื่อรักษาความถี่ 3) ผลกระทบของระลอกคลื่นแรงบิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลต่อความถี่ของไมโครกริด วิทยานิพนธ์นี้เลือกใช้คอนเวอร์เตอร์ในลักษณะของแหล่งจ่ายแรงดันโดยใช้การควบคุมแบบดรูป – ความเร็วที่จำลองค่าความเฉื่อยทางกลพร้อมทั้งมีระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติทำให้ระบบแบตเตอรี่ทำงานในลักษณะเสมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซิงโครนัส การประสานการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลและระบบแบตเตอรี่ใช้การควบคุมแบบดรูป - ความเร็ว การควบคุมความถี่โหลดใช้ในการควบคุมแบบทุติยภูมิเพื่อลดผลกระทบของโหลด และความผันผวนของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลักปฏิบัติทั่วไปจะมีการทำงานของแถบไร้การตอบสนองของการควบคุมแบบทุติยภูมิ การควบคุมความถี่โหลดที่ใช้ในวิทยานิพนธ์นี้ช่วยให้การแบ่งปันโหลดที่เหมาะสมระหว่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และระบบแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถลดการทำงานของระบบแบตเตอรี่เมื่อเทียบกับการใช้ระบบแบตเตอรี่เพียงลำพัง การตรวจสอบแนวคิดที่นำเสนอจะใช้การจำลองผ่านโปรแกรม DIgSILENT-Powerfactory โดยใช้ข้อมูลโหลดราย 10 วินาที จากกฟภ. และข้อมูลความเข้มแสงอาทิตย์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 4 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เพื่อพิจารณาผลกระทบของระลอกคลื่นแรงบิดจะใช้ข้อมูลจริงของการกระเพื่อมของแรงบิดจากเครื่องยนต์ดีเซล 12 กระบอกสูบ เพื่อลดผลของระลอกคลื่นแรงบิดนี้จะอาศัยการทำงานของวงจรกรองผ่านช่วงความถี่เพื่อตรวจจับระลอกคลื่นแรงบิดที่เกิดขึ้นไปป้อนเป็นสัญญาณให้ระบบแบตเตอรี่จ่ายกำลังไฟฟ้าชดเชย ผลการจำลองแสดงให้เห็นว่าวิธีการควบคุมที่นำเสนอสามารถรองรับการทำงานของไมโครกริดในโหมดแยกโดดได้สำเร็จ ความถี่และแรงดันไฟฟ้าของไมโครกริดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่ กฟภ. กำหนด และผลการจำลองการใช้ระบบแบตเตอรี่ร่วมกับวงจรกรองผ่านช่วงความถี่สามารถลดผลกระทบจากระคลื่นแรงบิดให้อยู่ภายใต้แถบไร้การตอบสนองของการควบคุมแบบทุติยภูมิ


การขนส่งอนุภาคและเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสและอิเล็กโทรโฟเรซิส, พิสิฐชัย กำมณี Jan 2020

การขนส่งอนุภาคและเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสและอิเล็กโทรโฟเรซิส, พิสิฐชัย กำมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาการขนส่งอนุภาคและเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสและอิเล็กโทรโฟเรซิส. วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์คือ ศึกษาการขับเคลื่อนของเหลวและการขับเคลื่อนอนุภาคหรือเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยจลนศาสตร์ไฟฟ้า ที่สภาพนำไฟฟ้าของของเหลวที่แตกต่างกัน. การไหลของของเหลวถูกสังเกตด้วยสารเรืองแสงภายใต้สนามไฟฟ้า 0.025 kV/mm. การทดลองขนส่งอนุภาคและเซลล์กระทำภายใต้สนามไฟฟ้าเฉลี่ย 0.005-0.04 kV/mm. ในการทดลอง อนุภาคพอลิสไตรีนขนาด 10 µm ถูกแขวนลอยในน้ำปราศจากไอออนที่มีสภาพนำไฟฟ้า 1, 5 และ 25 mS/m. เซลล์เม็ดเลือดแดง (ขนาด 6-8 µm) และเซลล์มะเร็งผิวหนังสุนัข (15 µm) ถูกแขวนลอยในสารละลายเดกซ์โทรสที่มีสภาพนำไฟฟ้า 1 และ 12 mS/m ตามลำดับ. ผลการทดลองแสดงว่า ของเหลวไหลด้วยอิเล็กโทรออสโมซิสในทิศทางของสนามไฟฟ้า. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นไซน์ อนุภาคเคลื่อนที่ได้ระยะทางประมาณ 50-450 µm ที่สนามไฟฟ้า 0.006-0.032 kV/mm. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นพัลส์สี่เหลี่ยม อนุภาคและเซลล์เม็ดเลือดแดงเคลื่อนที่ได้ระยะทางประมาณ 200-1400 µm และ 100-1000 µm ตามลำดับ ที่สนามไฟฟ้าเฉลี่ย 0.01-0.04 kV/mm. เซลล์มะเร็งผิวหนังสุนัขเคลื่อนที่ได้ระยะทาง 40-500 µm ที่สนามไฟฟ้าเฉลี่ย 0.005-0.025 kV/mm. ระยะการเคลื่อนที่ของอนุภาคและเซลล์แปรผันตามสนามไฟฟ้าอย่างเป็นเชิงเส้น. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นไซน์ ระยะการเคลื่อนที่ของอนุภาคที่สภาพนำไฟฟ้า 1 และ 5 mS/m มีค่าใกล้เคียงกัน ซึ่งมากกว่าสภาพนำไฟฟ้า 25 mS/m. กรณีแรงดันไฟฟ้ารูปคลื่นพัลส์สี่เหลี่ยม ระยะการเคลื่อนที่ของอนุภาคมีค่าใกล้เคียงกันทุกสภาพนำไฟฟ้า. การขนส่งเซลล์ในช่องทางไหลจุลภาคด้วยอิเล็กโทรโฟเรซิสทำได้ โดยที่ไม่ทำให้เซลล์เกิดความเสียหายภายใต้สนามไฟฟ้าไม่เกิน 0.04 kV/mm สำหรับเซลล์เม็ดเลือดแดง และ 0.025 kV/mm สำหรับเซลล์มะเร็งผิวหนังสุนัข.


การพยากรณ์กำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งอุปกรณ์วัดด้วยโครงข่ายประสาทเทียม, ภาณุพงศ์ น้ำแก้ว Jan 2020

การพยากรณ์กำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งอุปกรณ์วัดด้วยโครงข่ายประสาทเทียม, ภาณุพงศ์ น้ำแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของพลังงานแสงอาทิตย์คือกำลังไฟฟ้าที่ได้นั้นมีความไม่แน่นอนเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า คุณภาพของระบบไฟฟ้า และจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในวันถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการพยากรณ์กำลังไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ งานวิจัยนี้จึงได้นำเสนอวิธีการพยากรณ์กำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในวันถัดไปโดยใช้อุปกรณ์วัด โดยศึกษาและทดลองกับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 4.5 กิโลวัตต์ ที่ติดตั้งบนหลังคาที่พักอาศัยจริง งานวิจัยนี้ใช้โครงข่ายประสาทเทียมในการพยากรณ์ค่ากำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทุก ๆ 5 นาที โดยศึกษาทดลองหาข้อมูลป้อนเข้าที่เหมาะสมโดยเลือกจากปัจจัยที่มีผลต่อกำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งนี้ได้ศึกษาทดลองฟังก์ชันถ่ายโอนของโครงข่ายประสาทเทียมแบบต่าง ๆ เพื่อเลือกใช้ฟังก์ชันถ่ายโอนที่ให้ค่าความผิดพลาดในการพยากรณ์ต่ำที่สุด จากการศึกษาได้เลือกข้อมูลป้อนเข้าที่เหมาะสมซึ่งส่งผลต่อกำลังไฟฟ้าของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แก่ ความเข้มของแสงอาทิตย์ อุณหภูมิบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และกำลังไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์วันก่อนพยากรณ์ จากการทดลองพบว่ารูปแบบฟังก์ชันถ่ายโอนของโครงข่ายประสาทเทียมที่มีค่าความผิดพลาดของการพยากรณ์ต่ำที่สุด คือ โครงข่ายประสาทเทียมแบบ 2 ชั้นซ่อน Tan sigmoid - Log sigmoid และชั้นเอาต์พุต Pure Linear ซึ่งมีค่าความผิดพลาดเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 18.80% จากนั้นได้นำโครงข่ายประสาทเทียมดังกล่าวไปเขียนเป็นโปรแกรม MATLAB เพื่อช่วยให้สามารถติดต่อกับอุปกรณ์อื่นได้ในอนาคต


การพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายตามมาตรฐาน Iec 61850 ผ่านเครือข่าย Nb-Iot, อนุกูล ต้องสู้ Jan 2020

การพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายตามมาตรฐาน Iec 61850 ผ่านเครือข่าย Nb-Iot, อนุกูล ต้องสู้

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการพัฒนาอุปกรณ์เฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายและการส่งข้อมูลการเฝ้าสังเกตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายตามมาตรฐาน IEC61850 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลสูง ผ่านเครือข่าย NB-IoT ที่มีแถบความกว้างข้อมูลต่ำ เพื่อตรวจสอบสภาวะการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมาตรฐาน IEC61850 นิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในสถานีไฟฟ้า เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ (Substation Automation System ; SAS) โดยมีจุดเด่นในการทำงานร่วมกันได้ของ Multi-vender และการสื่อสารด้วยความเร็วสูงระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronic Device ; IED) วิทยานิพนธ์นี้จึงได้ประยุกต์นำเอามาตรฐาน IEC61850 มาใช้กับระดับของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ซึ่งเป็นระดับล่างถัดจากสถานีไฟฟ้า เพื่อเป็นแนวทางให้อุปกรณ์ในโครงข่ายไฟฟ้าสามารถทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้มากขึ้น สำหรับการพัฒนาชุดข้อมูลที่นำเสนอนั้น ได้ออกแบบการทดสอบการสื่อสารข้อมูลกับซอฟต์แวร์ IED Explorer ที่สามารถตรวจสอบตัวแปรของชุดข้อมูล MMS ที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐาน IEC61850 เพื่อตรวจสอบว่าอุปกรณ์ทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันได้และชุดข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเป็นไปตามมาตรฐาน IEC61850


การวางตำแหน่งที่เหมาะที่สุดของตัวขยายแสงเอสโอเอสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูลอีเทอร์เน็ต 100 กิกะบิต, พิชชากรณ์ สวัสดี Jan 2020

การวางตำแหน่งที่เหมาะที่สุดของตัวขยายแสงเอสโอเอสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูลอีเทอร์เน็ต 100 กิกะบิต, พิชชากรณ์ สวัสดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้นำเสนอการวางตำแหน่งที่เหมาะสมของตัวขยายแสงเอสโอเอเพื่อขยายระยะทางของการสื่อสารทางแสงในการเชื่อมต่อโครงข่ายศูนย์ข้อมูล 100 กิกะบิต โดยใช้ดับเบิ้ลยูดีเอ็ม 4 ช่องสัญญาณในช่วงความยาวคลื่นในแถบความถี่โอ (1295 nm, 1300 nm, 1305 nm, และ 1310 nm) ด้วยอัตราการส่งข้อมูลช่องสัญญาณละ 25.78125 กิกะบิตต่อวินาทีตามมาตรฐาน 100GBASE-LR4 คุณภาพสัญญาณภายหลังการแทรกตัวขยายแสงเอสโอเอจะได้รับผลกระทบจาก (1) การเสื่อมโอเอสเอ็นอาร์เมื่อกำลังขาเข้าตัวขยายแสงเอสโอเอมีค่าต่ำ, (2) ผลกระทบรูปแบบบิตเมื่อกำลังขาเข้าตัวขยายแสงเอสโอเอมีค่าสูง, และ (3) เอ็กซ์จีเอ็มเมื่อใช้ขยายหลายช่องดับเบิ้ลยูดีเอ็ม เพื่อระบุการวางตำแหน่งที่เหมาะสมของตัวขยายแสงเอสโอเอ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ประเมินคุณภาพสัญญาณจากแผนภาพรูปตาและรูปคลื่นของสัญญาณแสงรวมทั้งกราฟอัตราความผิดพลาดบิตและกราฟช่วงไดนามิก ซึ่งวัดจากการทดลองสองชุดคือ (1) ชุดแรกใช้อุปกรณ์วิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลการทดลองกับการคำนวณผ่านโปรแกรม MATLAB ได้ และ (2) ชุดสองใช้อุปกรณ์เชิงพาณิชย์เพื่อบ่งบอกความรุนแรงของผลกระทบทั้งสามในลิงก์ดับเบิ้ลยูดีเอ็มที่ใช้จริง ผลการทดลองชุดแรกสรุปได้ว่า (1) ผลการทดลองใกล้เคียงกับผลการคำนวณอัตราความผิดพลาดบิตภายใต้ผลกระทบหลักของการเสื่อมโอเอสเอ็นอาร์ (2) ผลกระทบรูปแบบบิตไม่สามารถถูกคำนวณได้เนื่องจากเป็นผลกระทบแบบไม่เชิงเส้น โดยขึ้นอยู่กับเวลาฟื้นฟูของตัวขยายแสงเอสโอเอและลำดับไบนารี่การสุ่มแบบเทียมที่ใช้งาน, และ (3) การวางตำแหน่งที่เหมาะของตัวขยายแสงเอสโอเอคือ 40 กิโลเมตรจากภาคส่ง อีกทั้งผลการทดลองชุดสองสรุปได้ดังนี้ผลกระทบทั้งสามก่อให้เกิดโทษกำลังที่ต่างกันในการส่งข้อมูลอย่างไรก็ตามการวางตำแหน่งที่เหมาะสมของตัวขยายแสงเอสโอเอในการทดลองนี้คือระยะทาง 40 กิโลเมตรเช่นเดียวกับการทดลองแรก ท้ายสุดเมื่อส่งข้อมูลทั้งสี่ช่องสัญญาณผ่านเส้นใยแก้วนำแสงระยะทางดังกล่าวและตัวขยายแสงเอสโอเอ พบว่าอัตราความผิดพลาดบิตมีค่าต่ำกว่า 10-12 พิสูจน์การรับส่งข้อมูลตามมาตรฐาน 100GBASE-LR4 ได้


การระบุสภาวะความเครียดของพืชในระยะเริ่มต้นโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกที่พัฒนาบน Fpga, กฤต โรจน์รุ่งเรืองพร Jan 2020

การระบุสภาวะความเครียดของพืชในระยะเริ่มต้นโดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกที่พัฒนาบน Fpga, กฤต โรจน์รุ่งเรืองพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เพื่อการเพิ่มผลผลิตของพืชในอนาคต การระบุสภาวะความเครียดของพืชถือว่าเป็นงานหนึ่งที่มีสำคัญในการเก็บคุณลักษณะของพืชเพื่อใช้ในพัฒนาสายพันธุ์ ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ใช้แบบจำลอง CNN และแบบจำลอง CNN+LSTM ในการตรวจหาสภาวะเครียดของพืชในระยะเริ่มต้น ( Early stress detection ) เนื่องจากการขาดสารอาหาร ชุดข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยประกอบด้วยรูปภาพมากกว่า 40,000 ภาพของต้นข้าวฟ่างที่ถูกถ่ายในด้านหน้า ด้านข้าง และ ด้านบน โดยต้นข้าวฟ่างที่ถูกเลี้ยงโดยการจำกัดสารอาหารในการทดลองนี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 100/100 (100% ammonium/100% nitrate), 50/10, และ 10/10 แบบจำลอง CNN ( Convolution neural network ) แรกจะถูกสร้างอยู่บนบอร์ด PYNQ-Z1 ซึ่งเป็นบอร์ด System On Chip (SOC) ที่ส่วน FPGA สามารถโปรแกรมการใช้งานได้ด้วยภาษา Python ร่วมกับ High level synthesis tool [Vivado HSL] ซึ่งจะสามารถทำให้การประมวลผลการตรวจจับลักษณะผิดปกติ ได้เร็วมากกว่า CPU ARM Cortex-A9 ที่ติดตั้งอยู่บน PYNQ ได้ถึง 38 เท่า ในส่วนที่สอง แบบจำลอง CNN+LSTM จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสกัดคุณลักษณะ (Feature Extraction) และส่วนแยกแยะ (Classification Network) VGG16 ที่ถูกฝึกกับชุดข้อมมูล ImageNet จะถูกใช้ในการสกัดคุณลักษณะ LSTM จะถูกใช้เป็นส่วนแยกแยะระบุสภาวะเครียด ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า VGG16+LSTM สามารถระบุสภาวะความเครียดของข้าวฟ่างได้ที่ความแม่นยำมากกว่า 85% หลังจากต้นพืชถูกทำให้ขาดสารอาหารไปแล้ว 2 วัน


การเพิ่มสมรรถนะโครงข่ายเอกซ์จีพอนด้วยตัวขยายแสงสองทาง, สุชัจจ์ รักคำมี Jan 2020

การเพิ่มสมรรถนะโครงข่ายเอกซ์จีพอนด้วยตัวขยายแสงสองทาง, สุชัจจ์ รักคำมี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอวิธีเพิ่มสมรรถนะของโครงข่ายเอกซ์จีพอน (10-Gigabit-capable Passive Optical Network, XG-PON) อ้างอิงมาตรฐาน ITU-T G.987 ด้วยตัวขยายแสงสองทาง (Bidirectional optical amplifier) เพื่อรองรับระยะทาง 20 km และผู้ใช้บริการ 1024 ราย โครงข่ายเอกซ์จีพอนใช้อัตราบิตขาลง 9.9532 Gb/s ที่ช่วงความยาวคลื่น 1577 nm และอัตราบิตขาขึ้น 2.4883 Gb/s ที่ 1270 nm ตัวขยายแสงสองทางประกอบด้วยอีดีเอฟเอ (Erbium-Doped Fiber Amplifier, EDFA) สำหรับความยาวคลื่นขาลงและเอสโอเอ (Semiconductor Optical Amplifier, SOA) สำหรับความยาวคลื่นขาขึ้น วิทยานิพนธ์นี้วัดพารามิเตอร์ของตัวขยายแสงสองทางเพื่อพิจารณาข้อจำกัดของอุปกรณ์ จากนั้นคำนวณสมการงบกำลังเพื่อหาขีดจำกัดของโครงข่ายจากกำลังสูญเสียของเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน (Standard single-mode fiber) และตัวแยกแสงค่าต่างๆ ได้แก่ 1:256 และ 1:1024 เมื่อวิเคราะห์ผลการทดลองจากค่าอัตราความผิดพลาดบิต การส่งข้อมูลขาลงมีผลกระทบหลักมาจากโครมาติกดิสเพอร์ชัน (Chromatic dispersion) ของเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน 20 km และเชิร์ป (Chirp) ของเลเซอร์ การส่งข้อมูลขาขึ้นมีผลกระทบหลักมาจากสัญญาณรบกวนเอเอสอี (Amplified Spontaneous Emission noise, ASE noise) ของเอสโอเอ ในท้ายที่สุดของการทดลองโครงข่ายเอกซ์จีพอนด้วยเส้นใยนำแสงโหมดเดี่ยวมาตรฐาน 20 km และการแบ่ง 1024 จะส่งข้อมูลพร้อมกันทั้งขาลงและขาขึ้น การส่งขาลงปลอดความผิดพลาด ในทางกลับกันการส่งขาขึ้นมีอัตราความผิดพลาดบิตเท่ากับ 3.64x10−5 ซึ่งผ่านตามข้อกำหนดของโครงข่ายเอกซ์จีพอนที่ระบุไว้ว่าต้องน้อยกว่า 10−4