Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Nursing Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Geriatric Nursing

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2021

Articles 1 - 5 of 5

Full-Text Articles in Nursing

ผลของโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทย ต่ออาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยสูงอายุหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, จุติรัตน์ ภูติรักษ์ Jan 2021

ผลของโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทย ต่ออาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยสูงอายุหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, จุติรัตน์ ภูติรักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทยต่ออาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยสูงอายุหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก่อนและหลังการทดลอง และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรม ฯ กับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ป่วยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ตั้งแต่ 1 เดือนและไม่เกิน 3 เดือนหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ที่มารับการรักษา ณ ห้องตรวจกระดูกและข้อ หอผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลเลิดสิน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 20 คน โดยจับคู่ให้ทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกันในเรื่อง อายุ เพศและระดับอาการนอนไม่หลับ โดยกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ขณะที่กลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทยซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นจากแนวคิดการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนของ Irish และคณะ (2015) และแนวคิดการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทยของ สุรีพร ธนศิลป์ (2557) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามอาการนอนไม่หลับของ Morin (1993) ฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยโดย พัทรีญา แก้วแพง (2547) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ t-test ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. อาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยสูงอายุหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียมหลังเข้าร่วมโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทยน้อยกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. อาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยสูงอายุหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ความรู้สุขวิทยาการนอนร่วมกับการออกกำลังกายแบบชี่กงวิถีไทยน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ผลของโปรแกรมการดูแลวิถีพุทธต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลาม, ปวีณา พงษ์พันนา Jan 2021

ผลของโปรแกรมการดูแลวิถีพุทธต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลาม, ปวีณา พงษ์พันนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิจัยนี้เป็นวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลาม ก่อนได้รับโปรแกรมและภายหลังได้รับโปรแกรมในสัปดาห์ที่ 1 สัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 6 กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลาม ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 24 คน ได้รับโปรแกรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เครื่องมือในการวิจัย คือ โปรแกรมการดูแลวิถีพุทธ และ แบบประเมิน Functional Assessment of Chronic Illness Therapy–Palliative Care (FACIT-Pal) ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาของแบบประเมิน FACIT-Pal ได้ 0.89 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคได้ 0.94 วิเคราะห์ผลด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-way repeated ANOVA) ผลวิจัยสรุปได้ดังนี้ คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลามหลังได้รับโปรแกรมสัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 2 มากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 เมื่อจำแนกรายมิติพบว่ามิติความผาสุกด้านจิตอารมณ์หลังได้รับโปรแกรม สัปดาห์ที่1 สัปดาห์ที่ 2 และ สัปดาห์ที่ 6 มากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่.05 สรุปได้ว่า โปรแกรมการดูแลวิถีพุทธสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลามได้ แม้ว่าในสัปดาห์ที่ 6 คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพมีแนวโน้มลดลง แต่ผลลัพธ์ของโปรแกรมยังคงสามารถส่งเสริมความผาสุกด้านจิตอารมณ์ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะลุกลามได้ต่อเนื่อง


ผลของโปรแกรมสนับสนุนข้อมูลผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นร่วมกับการบริหารแบบชี่กงวิถีไทยต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, วันทนีย์ งามวงศ์ Jan 2021

ผลของโปรแกรมสนับสนุนข้อมูลผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นร่วมกับการบริหารแบบชี่กงวิถีไทยต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, วันทนีย์ งามวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสนับสนุนข้อมูลผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นร่วมกับการบริหารกาย-จิตแบบชี่กงวิถีไทยต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการนัดหมายเพื่อผ่าตัด Mastectomy และ Breast Conserving Surgery ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงคุณสมบัติตามที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 22 คน ได้รับการจับคู่ด้วย อายุ วิธีการผ่าตัดและการได้รับยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัด กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติและกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมสนับสนุนข้อมูลผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นร่วมกับการบริหารกาย-จิตแบบชี่กงวิถีไทยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 3 ชุด คือ 1) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล, แบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญ STAI Form Y-I 2) เครื่องมือทดลอง ได้แก่ โปรแกรมสนับสนุนข้อมูลผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นร่วมกับการบริหารกาย-จิตแบบชี่กงวิถีไทย 3) เครื่องมือกำกับการทดลอง ได้แก่ แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมและการผ่าตัด, แบบสอบถามความรู้เรื่องการเตรียมสุขภาพก่อนการผ่าตัดและประโยชน์ของชี่กง และแบบบันทึกการทำชี่กง ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ทดสอบค่าความเที่ยงของแบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาคอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และสถิติทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ความวิตกกังวลก่อนผ่าตัดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในกลุ่มทดลองภายหลังได้รับโปรแกรมต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ความวิตกกังวลก่อนผ่าตัดภายหลังการทดลองของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, ยศพันธุ์ นามสงค์ Jan 2021

ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, ยศพันธุ์ นามสงค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงหาความสัมพันธ์ เพื่อศึกษาคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ ความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอก ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล สถานะการสูบบุหรี่ อาการเหนื่อยล้า กับคุณภาพการนอนหลับ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 152 คน ซึ่งคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจากโรงพยาบาลสองแห่งในกรุงเทพมหานคร ตามเกณฑ์การคัดเข้า เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอก แบบสอบถามภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความวิตกกังวล แบบประเมินอาการเหนื่อยล้า และแบบวัดคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งแบบสอบถามมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แอลฟาครอนบาค มากกว่าเท่ากับ 0.70 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยายและทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84.9) มีคุณภาพการนอนหลับดี ความวิตกกังวล สถานะการสูบบุหรี่ อาการเหนื่อยล้า และ ภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพการนอนหลับ (r= -.197, -.175, -.440, -.528; p< .05) ส่วนความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอกไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับ


ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองที่เน้นการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนต่อระดับฮีโมโกลบินเอวันซีของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา, ลินดา อ่องนก Jan 2021

ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองที่เน้นการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนต่อระดับฮีโมโกลบินเอวันซีของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา, ลินดา อ่องนก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองที่เน้นการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนต่อระดับฮีโมโกลบินเอวันซี ของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจักษุโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตามีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 30 ปีขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา เลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 44 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 22 คนและกลุ่มควบคุม 22 คน จับคู่โดยคำนึงถึง ระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน ชนิดของยาที่ใช้ และค่าดัชนีมวลกาย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองที่เน้นการออกกำลังกายแบบแกว่งแขน และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ระยะเวลา 12 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการจัดการตนเองที่เน้นการออกกำลังกายแบบแกว่งแขน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และเครื่องตรวจระดับฮีโมโกลบินเอวันซี วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติการทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า 1..ค่าฮีโมโกลบินเอวันซีของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาในกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรม ( x = 8.30 ± 1.55 ) มีค่าต่ำกว่าก่อนการทดลอง ( x = 9.14 ± 1.46) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (t= 3.23, p <05) 2. ผลต่างของฮีโมโกลบินเอวันซีก่อนและหลังเข้าร่วมวิจัยของกลุ่มทดลอง ( d = 0.84 ± 1.21) มากกว่ากลุ่มควบคุม ( d = 0.13 ± 0.85) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t= 2.24 , p < .05 )