Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Mental and Social Health Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2021

Articles 1 - 16 of 16

Full-Text Articles in Mental and Social Health

สุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดกาเฟอีนของพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร, นิศาชล อัศวธาระกุล Jan 2021

สุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดกาเฟอีนของพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร, นิศาชล อัศวธาระกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของภาวะติดกาเฟอีน สุขภาพจิต คุณภาพการนอนหลับ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดกาเฟอีนของพนักงานบริษัท กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครซึ่งเก็บข้อมูลผ่านการส่งออกแบบสอบถามออนไลน์แก่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,406 คน และได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน 347 ชุด จากนั้นเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การคัดออกและความสมบูรณ์ของข้อมูลแล้ว พบว่าเหลือชุดข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 321 ชุด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 92.51 ซึ่งทำให้กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ที่บริโภคกาแฟทั้งหมด โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จากกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเข้า เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามข้อมูลการบริโภคกาแฟ แบบสอบถามภาวะติดกาเฟอีน แบบสอบถามสุขภาพจิต แบบสอบถามคุณภาพการนอนหลับ แบบสอบถามการสูบบุหรี่ แบบสอบถามการดื่มสุรา และแบบสอบถามการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ข้อมูลที่รวบรวมได้มาจากกลุ่มที่บริโภคกาแฟทั้งหมดโดยถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square, Independent t-test, Pearson’s correlation coefficient และ Logistic regression เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสุขภาพจิต คุณภาพการนอนหลับ กับภาวะติดกาเฟอีน ผลการศึกษาพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 321 คน พบว่า ร้อยละ 55.44 ไม่มีอาการของสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า ร้อยละ 29.91 มีอาการในระดับน้อย ร้อยละ 13.40 มีอาการระดับปานกลาง และร้อยละ 1.25 มีอาการอยู่ในระดับสูง ตามลำดับ ด้านคุณภาพการนอนของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีคุณภาพการนอนในระดับที่ไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 94.08 อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากแบบสอบถามภาวะติดกาเฟอีน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 248 คน ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ติดกาเฟอีน และ 73 คน เป็นผู้ที่ไม่ติดกาเฟอีน อีกทั้งคะแนนสุขภาพจิตและคุณภาพการนอนมีความสัมพันธ์กัน (r=0.578, p<0.001) ด้านปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะติดกาเฟอีนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ได้แก่ เพศหญิง ดื่มกาแฟ 2 – 4 แก้ว/วัน ดื่มกาแฟสด ดื่มเมนูคาปูชิโน ดื่มกาแฟ 4 – 7 วัน/สัปดาห์ ดื่มกาแฟเพราะเคยชินกับการดื่มเป็นประจำ ดื่มเพื่อแก้ง่วง คุณภาพการนอนไม่ดี และมีอาการของสุขภาพจิตโรคซึมเศร้า สามารถทำนายภาวะติดกาแฟของพนักงานบริษัทในทิศทางบวก ผลจากการวิจัยนี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินการของบริษัทหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมคุณภาพทางกายและทางจิตใจให้แก่พนักงานออฟฟิศ เนื่องจากผลลัพธ์จากการส่งเสริมนี้จะยังผลต่อการปฏิบัติหน้าที่และคุณภาพของงานด้วย


ภาวะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กฤติมา ทุ่มขนอน Jan 2021

ภาวะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กฤติมา ทุ่มขนอน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิธีการศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 268 ราย ใช้วิธีการเลือกตัวอย่างแบบตามเกณฑ์หรือแบบเจาะจง โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามออนไลน์ทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบข้อมูลด้านการเรียน 3) แบบสอบถามข้อมูลปัจจัยด้านการสนับสนุนทางสังคม 4) แบบสอบถามข้อมูลระดับสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่าง ทำการวิเคราะห์ปัจจัยระหว่างสุขภาพจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ การวิเคระห์ความแปรปรวนทางเดียว และอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกเพื่อระบุปัจจัยทำนายสุขภาพจิตปกติของนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษาพบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับสุขภาพจิตของนิสิตส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าคนทั่วไป(ร้อยละ 49.6 ) โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยของสุขภาพจิตเท่ากับ 157.96 ±18.826 มีระดับ มีระดับการสนับสนุนทางสังคมอยู่อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 68.3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตได้แก่รายรับเฉลี่ยต่อเดือน (p<0.5) เวลาเฉลี่ยที่ใช้กับเพื่อนสนิทต่อวัน (p<0.01) เกรดเฉลี่ยสะสมระดับมัธยมปลาย (p<0.01) ผลคะแนนสอบกลางภาคโดยเฉลี่ย(p<0.5) และระดับการสนับสนุนทางสังคม(p<0.01) ปัจจัยทำนายภาวะสุขภาพจิตในภาพรวมได้คือรายรับเฉลี่ยต่อเดือน และระดับการสนับสนุนทางสังคม


ความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ฐาปนี ใจปินตา Jan 2021

ความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ฐาปนี ใจปินตา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยร่วมที่เกี่ยวข้องในผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิธีการศึกษา : การศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ได้รับยาแก้ซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ขนาน กลุ่มตัวอย่างถูกเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง จำนวน 5 ส่วน ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความเศร้าในผู้สูงอายุของไทย แบบสอบถามพฤติกรรมการใช้ยาสำหรับคนไทย แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินสัมพันธภาพที่ผู้ป่วยมีต่อแพทย์ผู้ทำการรักษา จากนั้นผู้วิจัยจึงเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างผ่านฐานข้อมูลเวชระเบียนโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลการเจ็บป่วยและการรักษาและแบบประเมินดัชนีชี้วัดความซับซ้อนของแบบแผนการใช้ยา การอธิบายข้อมูลผลการศึกษาใช้สถิติเชิงพรรณนาตามลักษณะและการกระจายของข้อมูล การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องใช้สถิติPearson’s Chi-square test หรือ Fisher’s exact test สำหรับเปรียบเทียบตามระดับความร่วมมือในการใช้ยา และ Spearman’s rank correlation สำหรับเปรียบเทียบตามคะแนนความร่วมมือในการใช้ยา การวิเคราะห์แบบถดถอยลอจิสติกส์ถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความร่วมมือในการใช้ยาและปัจจัยทำนายที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้ระดับนัยสำคัญทางสถิติน้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างจำนวน 119 คน มีความร่วมมือในการใช้ยาต่ำ ร้อยละ 16.0 ปานกลาง ร้อยละ 16.8 และสูง ร้อยละ 67.2 ส่วนใหญ่ไม่เคยมีพฤติกรรมการลืมใช้ยา การใช้ยาไม่ตรงเวลาหรือไม่ตรงมื้อ การหยุดใช้ยาเองและการเพิ่มขนาดหรือลดขนาดยาเอง (ร้อยละ 84.1-96.6) การวิเคราะห์แบบถดถอยลอจิสติกส์พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความร่วมมือในการใช้ยาระดับต่ำถึงปานกลาง คือ ความรุนแรงของอาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรง, สถานภาพโสด หย่าร้าง แยกกันอยู่ และการได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมให้หักหรือบดเม็ดยาในแผนการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคร่วมทางจิตเวช โดยมีค่า adjusted odds ratio (95% confidence interval) เท่ากับ 6.04(1.08 – 33.76), 2.95 (1.24 – 7.03) และ 2.56 (1.09 – 6.03) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนขนานยารักษาโรคซึมเศร้าและโรคร่วมทางจิตเวช รูปแบบการสั่งใช้ยาแก้ซึมเศร้า การสนับสนุนทางสังคมและความไว้วางใจต่อการตัดสินใจทั้งหมดของแพทย์ในการให้การรักษามีความสัมพันธ์กับความร่วมมือในการใช้ยา (p<0.05) สรุปผลการศึกษา: ผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวนหนึ่งในหกมีความร่วมมือในการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม โดยผู้สูงอายุโรคซึมเศร้าซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงควรได้รับการติดตามความร่วมมือในการใช้ยาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยาอย่างเหมาะสม


ความฉลาดทางอารมณ์ สัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน และการเห็นคุณค่าในตนเอง ของนักเรียนมัธยมปลายชายล้วนในกรุงเทพมหานคร, ธนพล อุควงศ์เสรี Jan 2021

ความฉลาดทางอารมณ์ สัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน และการเห็นคุณค่าในตนเอง ของนักเรียนมัธยมปลายชายล้วนในกรุงเทพมหานคร, ธนพล อุควงศ์เสรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัยรุ่นที่เป็นวัยสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ บางคนอาจพบปัญหากับการปรับตัวในช่วงวัยดังกล่าว จึงต้องส่งเสริมบุคคลให้มีความพร้อมและมีคุณลักษณะที่ดีในการพัฒนาสติปัญญาร่วมกับความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ และเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ของสัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน การเห็นคุณค่าในตนเองและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง ในกลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมปลายชายล้วนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 471 คน มีการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง ประกอบไปด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความสัมพันธ์และหน้าที่ของครอบครัว 3) แบบสอบถามสัมพันธภาพกับเพื่อน 4) แบบวัดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองของ Rosenberg 5) แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ การวิจัยนี้ใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน โดยมี t-test, ANOVA และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับปกติ ร้อยละ 57.60 และจากการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ EQ ในภาพรวม คือ สัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน และการเห็นคุณค่าในตนเอง ที่เพิ่มขึ้น จะมี EQ ในภาพรวมสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และปัจจัยที่สัมพันธ์กับ EQ ด้านดี คือ สัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน และการเห็นคุณค่าในตนเองที่เพิ่มขึ้น จะมี EQ ด้านดีสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ EQ ด้านเก่ง ได้แก่ การมีพ่อเป็นผู้ดูแลใกล้ชิด จะมีความฉลาดทางอารมณ์ด้านเก่งสูงกว่าผู้ดูแลใกล้ชิดอื่น รวมถึงสัมพันธภาพกับเพื่อน กับการเห็นคุณค่าในตนเองที่เพิ่มขึ้น จะมี EQ ด้านเก่งสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ EQ ด้านสุข คือ การเรียนศิลป์-คำนวณ มี EQ ด้านสุขสูงกว่าสายการเรียนอื่น อีกทั้งสัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน กับการเห็นคุณค่าในตนเองที่เพิ่มขึ้น จะมี EQ ด้านสุขสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงสรุปได้ว่า ผู้ดูแลใกล้ชิด สายการเรียน สัมพันธภาพในครอบครัว สัมพันธภาพกับเพื่อน การเห็นคุณค่าในตนเองสัมพันธ์เป็นปัจจัยทำนายความฉลาดทางอารมณ์ ดังนั้น การสนับสนุนปัจจัยดังกล่าวข้างต้น …


การเห็นคุณค่าในตนเองและความรู้สึกเครียดในนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์, พิมพ์ชนก วชิรปราการสกุล Jan 2021

การเห็นคุณค่าในตนเองและความรู้สึกเครียดในนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์, พิมพ์ชนก วชิรปราการสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเห็นคุณค่าในตนเอง ความรู้สึกเครียด และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเครียดในนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิตระดับปริญญาตรีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 – 3 ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2564 ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 229 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความคาดหวังในวิชาชีพสัตวแพทย์ แบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง และแบบวัดความรู้สึกเครียด ผลการศึกษาพบว่า นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์มีการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 44.4 ระดับปานกลาง ร้อยละ 40.8 และระดับสูง ร้อยละ 14.8 และส่วนใหญ่มีความรู้สึกเครียดในระดับปานกลาง ร้อยละ 59.8 นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่มีความแตกต่างในด้านเพศ ชั้นปีที่ศึกษา การออกกำลังกาย และเป้าหมายหลังจบการศึกษามีความรู้สึกเครียดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่มีความเพียงพอของการนอนหลับแตกต่างกันมีความรู้สึกเครียดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเครียด ได้แก่ ผลการเรียนเฉลี่ย (r = -0.142, p < 0.05) และระยะเวลาการนอนหลับโดยเฉลี่ยต่อวันในเดือนที่ผ่านมา (r = -0.163, p < 0.05) การเห็นคุณค่าในตนเองด้านตนเองโดยทั่วไป (Beta = -0.606) การเห็นคุณค่าในตนเองด้านครอบครัว (Beta = -0.118) และระยะเวลาการนอนหลับโดยเฉลี่ยต่อวันในเดือนที่ผ่านมา (Beta = -0.103) สามารถร่วมทำนายความรู้สึกเครียดในนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ได้ร้อยละ 46.5 (R2 = 0.465, p < 0.001) ผลการศึกษานี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางหรือกิจกรรมสำหรับส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง การสร้างความสมดุลระหว่างการเรียนและการใช้ชีวิตขณะศึกษาในคณะสัตวแพทยศาสตร์ การส่งเสริมสุขภาพจิต และการจัดการความรู้สึกเครียดของนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์อย่างเหมาะสม


ผลของการทำกิจกรรมสร้างสุขเพื่อการดูแลตนเองของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, เสาวลักษณ์ ทับคง Jan 2021

ผลของการทำกิจกรรมสร้างสุขเพื่อการดูแลตนเองของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, เสาวลักษณ์ ทับคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาผลของการทำกิจกรรมสร้างสุขเพื่อการดูแลตัวเองของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความสุข คุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์ และความเครียดของนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อน ระหว่าง และหลังเข้าร่วมกิจกรรม จากกลุ่มตัวอย่าง 31 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความสุข แบบประเมินคุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์ แบบประเมินความเครียดฉบับสวนปรุง และกิจกรรมสร้างสุขทั้งหมด 6 กิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS และ Stata สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนาเพื่ออธิบายลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง อาทิ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุดจากที่ทำการศึกษา และใช้สถิติเชิงอนุมานเพื่อทดสอบสมมติฐาน Repeated measure ANOVA เพื่อวิเคราะห์ความแปรปรวน ภายในกลุ่มก่อน ระหว่างและหลังการทดลอง นอกจากนี้จะใช้ Multiple Linear Regression เพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความสุข ผลศึกษาพบว่า กิจกรรมสร้างสุขครั้งนี้ยังไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลของความสุข คุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์ และความเครียด ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเข้าร่วมกิจกรรมมากนัก พบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีคะแนนความสุขส่วนบุคคลรวม 9 มิติ อยู่ในเกณฑ์มีความสุข มีคะแนนคุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์อยู่ในระดับปานกลาง และมีความเครียดอยู่ในระดับสูง โดยค่าคะแนนก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละมิติของตัวแปรสามารถทำนายผลของมิตินั้น ๆ ในทิศทางบวก (p<0.001) อีกทั้งตัวแปร อายุ เพศ มีงานอดิเรกทำ และจำนวนครั้งในการเข้าร่วมกิจกรรม สามารถทำนายมิติย่อยของความสุข คุณภาพชีวิตและความเครียด (p<0.05)


ความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับและสุขอนามัยการนอนในผู้ป่วยซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ภาณุพงศ์ บุญทองช่วย Jan 2021

ความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับและสุขอนามัยการนอนในผู้ป่วยซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ภาณุพงศ์ บุญทองช่วย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับ สุขอนามัยการนอน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิธีการศึกษา: เก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในแบบผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านแผนกจิตเวชศาสตร์ โดยใช้เกณฑ์วินิจฉัย DSM IV-TR หรือ DSM-5 ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถระบุได้ จำนวน 144 คน โดยใช้แบบสอบถามรวมทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามปัจจัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แบบสอบถามปัจจัยเกี่ยวกับการนอนหลับ แบบประเมินความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับ จากนั้นผู้วิจัยได้บันทึกข้อมูลแบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ ผ่านเวชระเบียนของโรงพยาบาล ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง ประเภทของโรคซึมเศร้าที่ได้รับการวินิจฉัย ระยะเวลาที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และยาต้านเศร้าที่ได้รับ และใช้สถิติเชิงพรรณนา Mann-Whitney U Test Kruskal-Wallis Test และ Spearman’s rank correlation โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ย(ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับและสุขอนามัยการนอน เท่ากับ 56.95(26.99) และ 34.79(15.39) ตามลำดับ ค่ามัธยฐาน(ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์) ของความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับและสุขอนามัยการนอน เท่ากับ 61.00 (33.5-77.8) และ 32.00 (24.0-45.0) ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับ ได้แก่ การปฏิบัติสุขอนามัยการนอนหลับที่ไม่ดี (p<0.01) ระยะเวลาเข้าสู่ภาวะหลับที่นานกว่าปกติ (p<0.001) อาการรบกวนขณะหลับ(p<0.001) อาการง่วงหลับระหว่างวัน (p<0.001) ประสิทธิภาพการนอนหลับต่ำ (p<0.001) การคงอยู่ของอาการโรคซึมเศร้า(p<0.001) และปริมาณการนอนหลับที่ได้รับ (p<0.001) สรุปผลการศึกษา: ความวิตกกังวลเรื่องการนอนหลับในผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยการนอนหลับที่ปฏิบัติ ซึ่งการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยการนอนสามารถส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ และผ่อนคลายความวิตกกังวลเรื่องการนอนได้ อันจะส่งผลดีต่อการรักษาโรคซึมเศร้า


พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและการเห็นคุณค่าในตนเองของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในคลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง, ภูเบศร์ ปานเพ็ชร์ Jan 2021

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและการเห็นคุณค่าในตนเองของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในคลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง, ภูเบศร์ ปานเพ็ชร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม้ในปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีจะลดลงมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่กลับพบว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่ยังคงมีอัตราการติดเชื้อที่สูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักในการป้องกันการติดเชื้อและลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี โดยการสนับสนุนให้บุคคลได้ดูแลและป้องกันตนเอง ผู้วิจัยจึงศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และการเห็นคุณค่าในตนเองของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในคลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง โดยเป็นรูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีการเก็บรวมรวมข้อมูลจากผู้รับบริการชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง จำนวน 358 คน โดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง ประกอบไปด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความรู้เรื่องเอชไอวี/ โรคเอดส์ 3) แบบวัดความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของคูเปอร์สมิท ฉบับผู้ใหญ่ (Coppersmith Self-Esteem Inventory Adult Form) 4) แบบสอบถามพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การวิจัยครั้งนี้ใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน โดยมี Chi-Square และ Multiple Logistic Regression Analysis ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีคู่นอนประจำ ร้อยละ 61.7 และ มีคู่นอนชั่วคราว ร้อยละ 56.4 มีการเห็นคุณค่าในตนเองส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 57.5 และส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีปานกลาง ร้อยละ 69.3 สถิติเชิงอนุมานพบว่าปัจจัยทำนายที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนที่มีรายได้เพียงพอ ถึง 3 เท่า (Adjusted OR = 2.875, 95% CI: 1.196 - 6.914, p = .018) คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนที่มีการศึกษาปริญญาโทหรือสูงกว่า ถึง 6 เท่า (Adjusted OR = 5.979, 95% CI: 1.120 - 31.936, p = .036) คนที่มีคู่นอนชั่วคราว จะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนที่ไม่มีคู่นอนชั่วคราว ถึง 9 เท่า (Adjusted …


ผลของการนวดไทยต่อคุณภาพการนอนหลับ ความเครียด และอาการปวดกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับและมีกลุ่มอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่มารับการรักษาที่ศูนย์นิทราเวชและแผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, เบญจพล แตงบัว Jan 2021

ผลของการนวดไทยต่อคุณภาพการนอนหลับ ความเครียด และอาการปวดกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับและมีกลุ่มอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ ที่มารับการรักษาที่ศูนย์นิทราเวชและแผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, เบญจพล แตงบัว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การนอนไม่หลับเป็นความผิดปกติของการนอนที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งทางกายและทางจิตใจ ผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น อาการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความผิดปกติของอารมณ์ ทำให้สมาธิลดลง เกิดความเครียด จนไปถึงกลายเป็นภาวะซึมเศร้า โดยที่ตามปกติแล้วนั้น ทั้งความเครียดและการตึงตัวของกล้ามเนื้อจะมีผลต่อคุณภาพการนอนหลับด้วยกันทั้งนั้น การรักษาอาการนอนไม่หลับนั้นมีตั้งแต่การให้ยา จนไปถึงการใช้เทคนิคผ่อนคลายความเครียด เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นต้น โดยที่วิธีการนวดไทยก็เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้วิธีหนึ่ง การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการนวดไทยต่อความเครียดและคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับและมีกลุ่มอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (experimental study) แบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trail, RCT) ทำการคัดกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์การคัดเข้าและเกณฑ์การคัดออก จากผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก จิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และศูนย์นิทราเวช อาสาสมัครจำนวน 40 คน จะได้รับการสุ่มแบบบล็อค (block randomization) เพื่อแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง ที่ได้รับการนวดไทยร่วมกับการรักษาแบบปกติจากแพทย์ (treatment as usual, TAU) และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการรักษาแบบปกติจากแพทย์เพียงอย่างเดียว กลุ่มละ 20 คน ทำการเก็บข้อมูลด้วย 1)แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2)แบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ 3)แบบประเมินคุณภาพการนอน The Pittsburgh Sleep Quality Index (PSQI) 4)แบบสอบถาม General Health Questionnaire เพื่อใช้ประเมินความเครียด 5)แบบวัดความปวด Short-Form McGill Pain Questionnaire ผู้วิจัยจะเก็บข้อมูลก่อนการศึกษา และหลังการศึกษา 4 สัปดาห์ จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้ unpaired or Independent t-test หากการกระจายของข้อมูลเป็นแบบปกติ หรือใช้ non-parametric test หากการกระจายข้อมูลไม่ใช่แบบปกติโดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับน้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษามีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 20 คน การกระจายตัวของข้อมูลเป็นแบบปกติ หลังการคำนวณพบว่าเมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ พบความต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนก่อน-หลังการศึกษาของคะแนนคุณภาพการนอนหลับ (P<0.001) ความเครียด (P<0.05) ระดับความปวด (P<0.05) และ visual analog scale (P<0.05) แต่ไม่พบความต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านคะแนนลักษณะของความปวด


ความสอดคล้องกลมกลืนและการเห็นคุณค่าในตนเองของผู้ใช้สารเมทแอมเฟตามีน ในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.), โชติพร พรหมภา Jan 2021

ความสอดคล้องกลมกลืนและการเห็นคุณค่าในตนเองของผู้ใช้สารเมทแอมเฟตามีน ในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.), โชติพร พรหมภา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสอดคล้องกลมกลืน การเห็นคุณค่าในตนเอง และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องในกลุ่มผู้ใช้สารเมทแอมเฟตามีนที่เข้ารับการรักษาในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) จังหวัดปทุมธานี โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 340 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือน ธันวาคม 2564 ถึง เดือน กุมภาพันธ์ 2565 ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามสัมพันธภาพในครอบครัว แบบสอบถามความสอดคล้องกลมกลืน และแบบสอบถามการเห็นคุณค่าในตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS ประกอบด้วย สถิติวิเคราะห์เชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด และสถิติวิเคราะห์เชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square, Fisher’s exact probability test, Odd ratio with Confident interval, Pearson’s correlation coefficient และ Logistic Regression ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่มีความสัมพันธ์กับความสอดคล้องกลมกลืนและการเห็นคุณค่าในตนเอง ผลการศึกษา ด้านสัมพันธภาพในครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ พบว่า ร้อยละ 55.59 มีสัมพันธภาพในครอบครัวระดับมาก ด้านความสอดคล้องกลมกลืน ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.12 มีความสอดคล้องกลมกลืนอยู่ในระดับค่อนข้างมาก โดยไม่พบผู้ที่มีความสอดคล้องกลมกลืนในระดับน้อยที่สุด ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 76.47 เห็นคุณค่าในตนเองระดับปานกลาง โดยไม่พบผู้ที่เห็นค่าในตนเองระดับมากที่สุดหรือในระดับน้อยที่สุด โดยผลจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์แสดงให้เห็นว่าความสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตกับการเห็นคุณค่าในตนเองมีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง (r=0.657, p<0.001) ผลจากการวิเคราะห์ถดถอย พบว่า ปัจจัยที่ลดความสอดคล้องกลมกลืน ประกอบด้วย เคยใช้สารเสพติดประเภทยาไอซ์ ปัจจุบันยังคงใช้เมทแอมเฟตามีนอยู่ และการมีโรคจิตเวชร่วมที่เกิดจากสารเสพติด ส่วนปัจจัยที่เพิ่มการทำนายระดับของความสอดคล้องกลมกลืน คือ การมีสัมพันธภาพในครอบครัวระดับสูง ส่วนปัจจัยด้านการทำนายการเห็นคุณค่าในตนเองระดับสูง ประกอบด้วย การมีสัมพันธภาพในครอบครัวระดับสูง และมีการใช้สารเมทแอมเฟตามีนมาแล้วน้อยกว่า 11 ปี ผลจากการศึกษานี้จะยังผลต่อการพัฒนาและจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกลุ่มผู้ใช้สารเมทแอมเฟตามีนกับทางสถาบันฯ ต่อไป


ความยืดหยุ่นทางอารมณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของอาสาสมัครสภากาชาดไทยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, กัญญาภัค นาคเลขา Jan 2021

ความยืดหยุ่นทางอารมณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของอาสาสมัครสภากาชาดไทยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, กัญญาภัค นาคเลขา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาความยืดหยุ่นทางอารมณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของอาสาสมัครสภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 287 คน โดยเครื่องมือที่ใช้มี 5 ส่วน ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานทั่วไป แบบสอบถามความยืดหยุ่นทางอารมณ์ แบบสอบถามอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าฉบับภาษาไทย แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม ประเมินการเลี้ยงดู แบบสอบถามภาวะหมดไฟ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติ Chi-square, independent samples t-test, Pearson’s correlation Coefficient และ Linear Regression Analysis ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 241 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.0 ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง 60-69 ปี จำนวน 159 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.4 อาสาสมัครส่วนใหญ่มีระดับความยืดหยุ่นทางอารมณ์อยู่ในระดับปกติ (ร้อยละ 54.7) รองลงมาได้แก่ ระดับสูงกว่าปกติ (ร้อยละ 39.4) และ ระดับต่ำกว่าปกติ (ร้อยละ 5.1) โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ได้แก่ ประวัติโรคประจำตัว อาชีพ ระยะเวลาในการเป็นอาสาสมัคร รายได้ สถานภาพสมรส วุฒิการศึกษา เงินเดือน ประเภทของงานอาสาสมัคร (มี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบรรเทาด้านรับบริจาคโลหิตและอวัยวะ, ด้านการประสานงาน , และ ด้านงานบริการทางการแพทย์และสุขอนามัย) ภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ การได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย และ ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาสากาชาด


ความสัมพันธ์ของ งานศิลปะ สภาวะอารมณ์ และ ภาวะซึมเศร้า, ปิยาภัสร์ พีระชัยภานันท์ Jan 2021

ความสัมพันธ์ของ งานศิลปะ สภาวะอารมณ์ และ ภาวะซึมเศร้า, ปิยาภัสร์ พีระชัยภานันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความเป็นมา: ความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะ สภาวะทางอารมณ์ และภาวะซึมเศร้าในการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหาภาษาไทย วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ผลจากการประเมินงานศิลปะ เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างสภาวะทางอารมณ์ ความซึมเศร้า และงานศิลปะ ที่สามารถบอกถึงสัญญาณของภาวะซึมเศร้าในลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะ วิธีการศึกษา: เป็นงานวิจัยเชิงพรรณา โดยคัดเลือกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะในประเทศไทยจำนวน 89 คน ที่สามารถสร้างสรรค์งานจิตรกรรม โดยใช้แบบสอบถามต่อไปนี้: แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะซึมเศร้า(PHQ-9) และงานศิลปะของนักเรียนถูกรวบรวมเป็นไฟล์ดิจิทัลและประเมินโดยใช้แบบวัดงานศิลปะ (RizbA) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา Chi-square, Mann-Whitney U test, Pearson Correlation, multiple regression และใช้การเรียนรู้ด้วยเครื่อง Machine Learning ผลการศึกษา : การทำนายภาวะซึมเศร้าระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและลักษณะทางศิลปะถือว่ามีประสิทธิภาพในการทำนายภาวะซึมเศร้า (AUC = 0.742) ซึ่งประกอบด้วยการแสดงออกทางศิลปะ 6 ด้าน ได้แก่ การแสดงภาพในรูปแบบกราฟิก การใช้สีที่ไม่สดใส รูปทรงธรรมชาติและเส้นโค้งที่ปรากฏน้อย พื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานในภาพ การจัดวางองค์ประกอบแนวตั้ง และการแสดงออกทางภาพที่ไม่ชัดเจน แม่นยำ สรุปผลการศึกษา: การทำนายภาวะซึมเศร้าโดยใช้ลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งลักษณะทางกายภาพของงานศิลปะจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาทางสุขภาพจิตต่อไป อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการทำนายควรพัฒนาโดยการเพิ่มตัวอย่างข้อมูล ในแง่ของหัวข้อที่ใช้ในงานศิลปะ และเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมการวิจัยในอนาคต


ภาวะซึมเศร้า ความผูกพันต่อบทบาท และกลวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, พลอย เชนศรี Jan 2021

ภาวะซึมเศร้า ความผูกพันต่อบทบาท และกลวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, พลอย เชนศรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาภาวะซึมเศร้า ความผูกพันต่อบทบาท และกลวิธีการเผชิญปัญหาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และศึกษาความผูกพันต่อบทบาท กลวิธีการเผชิญปัญหา และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ วิธีการศึกษา : ดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านแผนกจิตเวชศาสตร์ โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้าสองชนิดทับซ้อนกัน จำนวน 152 คน ใช้วิธีการเลือกสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงหรือแบบตามเกณฑ์ ผู้เข้าร่วมวิจัยต้องตอบแบบสอบถามรวมทั้งหมด 5 ชุด ข้อ ด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 11 ข้อ 2) แบบประเมินซึมเศร้าฉบับภาษาไทย จำนวน 21 ข้อ 3) แบบวัดความผูกพันต่อบทบาทที่หลากหลาย จำนวน 31 ข้อ 4) แบบวัดการเผชิญปัญหา จำนวน 39 ข้อ 5) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม จำนวน 16 ข้อ และผู้วิจัยบันทึกแบบกรอกข้อมูลทางการแพทย์ของผู้เข้าร่วมวิจัย จำนวน 4 ข้อ นำเสนอความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า ข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ข้อมูลความผูกพันต่อบทบาทที่หลากหลาย กลวิธีการเผชิญปัญหา การสนับสนุนทางสังคม เป็นค่าสัดส่วน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ ในกรณีที่ข้อมูลเป็นเชิงลักษณะ และใช้สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยในกรณีที่ข้อมูลเป็นเชิงปริมาณ หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์หาปัจจัยทำนายภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง โดยอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก และกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิง 37 คน (ร้อยละ 24.3) มีภาวะซึมเศร้าอยู่ในระดับต่ำมาก 20 คน (ร้อยละ 13.2) อยู่ในระดับเล็กน้อย 37 คน (ร้อยละ 24.3) …


สุขภาพจิตระหว่างการระบาดโควิด-19 ของพนักงานบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่ง, ภัทรรัตน์ แต้มโคกสูง Jan 2021

สุขภาพจิตระหว่างการระบาดโควิด-19 ของพนักงานบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่ง, ภัทรรัตน์ แต้มโคกสูง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาพจิตและปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตของพนักงานบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่ง ระหว่างการระบาดของโควิด-19 กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 127 คน โดยส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังพนักงานบริษัทแห่งนี้ที่มีลักษณะตามเกณฑ์การคัดเข้า และได้รับชุดข้อมูลตอบกลับที่มีความสมบูรณ์ จำนวน 124 ชุด คิดเป็นร้อยละ 97.64 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยข้อมูลที่ได้รับเก็บรวบรวมด้วยแบบสอบถามทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบด้วย แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคล แบบสอบถามปัจจัยด้านการทำงาน แบบสอบถามความสุขใจในการทำงาน และแบบสอบถามวัดภาวะสุขภาพจิต 3 ด้าน (DASS-21) คือ ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square test, Fisher’s exact test, Pearson’s correlation, และ Logistic regression เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตของพนักงานบริษัทแห่งนี้ และตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 124 คน พบว่า พนักงานบริษัทแห่งนี้มีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในระดับปกติ โดยที่หนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจิตในทุกระดับ ได้แก่ ภาวะวิตกกังวล ร้อยละ 30.6 ภาวะซึมเศร้าร้อยละ 29.0 และความเครียด 25.8 สำหรับการศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต พบว่าเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อารมณ์และความรู้สึกต่อสถานการณ์โควิด-19 การทำงาน ความสุขใจในการทำงาน ความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ความต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ และการใช้ยานอนหลับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สำหรับการวิเคราะห์ถดถอยเพื่อศึกษาปัจจัยทำนายปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์โควิด-19 เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง ความรู้สึกหดหู่ ความรู้สึกโกรธ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น มีความพึงพอใจในระดับต่ำเกี่ยวกับการประเมินผลงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความพึงพอใจระดับต่ำต่อความรับผิดชอบที่ได้รับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความสุขใจในการทำงานต่ำ และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนในการทำนาย เช่น เคยใช้ยานอนหลับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลได้ ส่วนการแสวงหาหรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์สามารถทำนายความเครียดได้ ผลจากการศึกษานี้จะช่วยให้พนักงานที่ทำงานที่บ้านรวมถึงหัวหน้างานได้ตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19


ความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสุขภาพจิตของนักเรียนเตรียมทหาร, รชฏ ทิพโสต Jan 2021

ความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสุขภาพจิตของนักเรียนเตรียมทหาร, รชฏ ทิพโสต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับและปัจจัยที่สัมพันธ์กับความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสุขภาพจิต ของนักเรียนเตรียมทหารกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 และ 2 ที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2563ในโรงเรียนเตรียมทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จำนวน 528 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความยืดหยุ่นทางอารมณ์และแบบวัดดัชนีชี้วัดความสุขของคนไทยฉบับสั้น ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนเตรียมทหาร มีสุขภาพจิตสูงกว่าปกติ ร้อยละ 66.7 มีสุขภาพจิตปกติ ร้อยละ 28.0 และมีสุขภาพจิตต่ำกว่าปกติ ร้อยละ 5.3 มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์สูงกว่าปกติ ร้อยละ 43.4 มีคะแนนความยืดหยุ่นทางอารมณ์เท่ากับปกติ ร้อยละ 49.8 และมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ต่ำกว่าปกติ คิดเป็นร้อยละ 6.8 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับกับระดับสุขภาพจิตพบว่า จำนวนสมาชิกในครอบครัว เกรดเฉลี่ยสะสมปัจจุบัน รายวิชาที่ชอบ และ จำนวนเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาได้เมื่อมีปัญหามีความสัมพันธ์กับระดับสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยจำนวนเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาได้เมื่อมีปัญหาและรายวิชาที่ชอบ สามารถทำนายระดับสุขภาพจิตได้ โดยสามารถเขียนสมการทำนายได้ดังนี้ ระดับสุขภาพจิต =.540 + .708FriendGroup(2)+ .716Subjectgroup(3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความยืดหยุ่นทางอารมณ์พบว่า การดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา จำนวนสมาชิกในครอบครัว จำนวนเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาได้เมื่อมีปัญหา และ การมีคณะหรือสาขาที่อยากเรียนในโรงเหล่าทัพ มีความสัมพันธ์กับระดับความยืดหยุ่นทางอารมณ์อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยจำนวนเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาได้เมื่อมีปัญหาและการมีคณะหรือสาขาที่อยากเรียนในโรงเรียนเหล่าทัพสามารถทำนายระดับความยืดหยุ่นทางอารมณ์โดยสามารถเขียนสมการทำนายได้ดังนี้ ระดับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ =1.190 + .967 FriendGroup(2) + .428Faculty(1) ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าสุขภาพจิตและและความยืดหยุ่นทางอารมณ์ มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์อยู่ที่ .736อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า สุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับด้านความมั่นคงทางอารมณ์อยู่ที่ .683อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับด้านกำลังใจอยู่ที่ .635อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 และมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงกับด้านการจัดการกับปัญหาอยู่ที่ .636อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าจำนวนเพื่อนสนิทมีความสำคัญต่อความยืดหยุ่นทางอารมณ์และสุขภาพจิตของนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางในการฝึกศึกษาของนักเรียนเตรียมทหาร เช่น การพัฒนามนุษยสัมพันธ์และการส่งเสริมการให้คำปรึกษาแก่เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารเป็นต้น


ภาวะหมดไฟในการทำงาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของพนักงานบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง, สโรชาพัชร์ เตชโรจนกัญจน์ Jan 2021

ภาวะหมดไฟในการทำงาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของพนักงานบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง, สโรชาพัชร์ เตชโรจนกัญจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะหมดไฟในการทำงาน และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในการทำงานของพนักงานบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 331 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม - เมษายน 2565 ด้วยวิธีการส่งแบบสอบถามออนไลน์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามข้อมูลด้านการทำงาน แบบสอบถามด้านคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย แบบสอบถามความรู้สึกหลากหลายมิติเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางสังคม และแบบสอบถามด้านภาวะหมดไฟในการทำงานฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา จากนั้นหาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Pearson’s Chi-Square และวิเคราะห์หาปัจจัยทำนายโดยใช้สถิติ Logistic regression ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ในระดับสูง ร้อยละ 46.2 ด้านการเมินเฉยต่องาน ร้อยละ 48.9 และด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ร้อยละ 45.9 มีคุณภาพชีวิตในระดับกลางๆ ร้อยละ 75.8 และมีการสนับสนุนทางสังคมในระดับสูง ร้อยละ 61.6 โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ และการเมินเฉยต่องาน ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส การมีบุตร รายได้เฉลี่ยต่อเดือน สถานภาพทางเศรษฐกิจ การออกกำลังกาย อายุงาน ตำแหน่งงาน การเดินทางมาทำงาน ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อวัน และภาระงาน สำหรับประเภทที่อยู่อาศัย ภาระทางครอบครัว จำนวนชั่วโมงการนอนหลับเฉลี่ยต่อวัน และระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางมาทำงานนั้น เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในการทำงานด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟด้านการเมินเฉยต่องานเท่านั้น ได้แก่ ระดับการศึกษา และสวัสดิการที่ได้รับ ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิต และการสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหมดไฟในทุกๆ ด้าน สำหรับตัวแปรที่สามารถทำนายการเกิดภาวะหมดไฟในระดับสูงในด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ และการเมินเฉยต่องาน ได้แก่ อายุงาน 1 - 10 ปี ตำแหน่งงานอยู่ในระดับปฏิบัติการ และระดับบังคับบัญชา ภาระงานในระดับมากเกินไป สำหรับจำนวนชั่วโมงการทำงานที่มากกว่า 8 ชั่วโมง ถือเป็นปัจจัยทำนายในด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง – ต่ำ เป็นปัจจัยทำนายการเกิดภาวะหมดไฟในระดับสูงของทุกๆ ด้าน ปัจจัยด้านการสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลาง – ต่ำเป็นปัจจัยทำนายในด้านการเมินเฉยต่องาน และด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ผลการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงาน พัฒนาองค์กร ทั้งการให้ความรู้ การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟ …