Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Medicine and Health Sciences Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

2022

PDF

Mental and Social Health

Chulalongkorn University

Articles 1 - 12 of 12

Full-Text Articles in Medicine and Health Sciences

สุขภาพจิตและความหลากหลายทางเพศของนิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 1, ธนาวุฒิ สิงห์สถิตย์ Jan 2022

สุขภาพจิตและความหลากหลายทางเพศของนิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 1, ธนาวุฒิ สิงห์สถิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล เพศสภาพ และสุขภาพจิตของนิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยส่งแบบสอบถามออนไลน์และแบบกระดาษไปยังนิสิตกลุ่มดังกล่าวทั้งสิ้น 5,700 คน และได้รับชุดข้อมูลตอบกลับมาจำนวน 1,472 คน คิดเป็นร้อยละ 25.8 ของนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด ผู้วิจัยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564 ด้วยแบบสอบถามทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามเพศสภาพ (SOGI) แบบสอบถามสุขภาวะทางจิตสังคม (Psychosocial wellbeing) และแบบสอบถามสุขภาพจิตคนไทย (TMHQ) ทำให้ชุดข้อมูลที่สมบูรณ์ตามเกณฑ์คัดเข้ามีจำนวน 1,431 คน ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา เพื่อแสดงข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์ตัวแปรที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตด้วยสถิติ Chi-square test, Fisher’s exact test, Pearson’s correlation และ Logistic regression โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 40.8 มีอาการทางสุขภาพจิต มีอาการซึมเศร้า (34.2%) อาการวิตกกังวล (16.3%) อาการทางกาย (15.8%) และอาการโรคจิต (15.1%) ตามลำดับ ซึ่งร้อยละ 89.5 ของกลุ่มตัวอย่างสามารถปรับตัวทางสังคมได้ระดับสูง สำหรับตัวแปรที่สามารถทำนายโอกาสเกิดอาการทางสุขภาพจิตทั้ง 4 อาการ คือการมีสุขภาวะทางจิตสังคมในระดับกลางถึงต่ำ ด้านเพศสภาพ พบว่าเพศกำเนิดหญิงทำนายเกือบทุกอาการทางสุขภาพจิต ยกเว้นอาการวิตกกังวล และกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ทำนายอาการวิตกกังวล ด้านการศึกษา พบว่ากลุ่มคณะที่เรียนและความชอบในสาขาวิชาที่เรียนน้อยถึงน้อยมาก ทำนายโอกาสอาการทางสุขภาพจิตเกือบทุกด้าน อีกทั้งการมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอยังทำนายอาการทางกาย อาการซึมเศร้า และอาการโรคจิต โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีอาการซึมเศร้า ซึ่งกลุ่มที่มีความหลายหลายทางเพศแบบไบเซ็กชวลเป็นกลุ่มที่มีอัตราของอาการซึมเศร้ามากที่สุด ดังนั้น ปัจจัยที่สัมพันธ์กับอาการทางสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความเพียงพอของรายได้ กลุ่มคณะ ความชอบในสาขาที่เรียน และสุขภาวะทางจิตสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาหากทำการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของนักศึกษาชั้นปีที่ 1


ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการก่อนมีระดู และภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีระดู ในนักศึกษาฝึกงานกายภาพบำบัดระดับปริญญาตรี ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ธัญชนก รัชตสิทธิกูล Jan 2022

ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการก่อนมีระดู และภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีระดู ในนักศึกษาฝึกงานกายภาพบำบัดระดับปริญญาตรี ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ธัญชนก รัชตสิทธิกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการก่อนมีระดูและภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีระดู ในนักศึกษาฝึกงานกายภาพบำบัด ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 256 คน จากมหาวิทยาลัยที่สุ่มเลือกมา 3 สถาบัน เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 7 ชุด ซึ่งจะวินิจฉัยกลุ่มอาการก่อนมีระดูและภาวะอารมณ์แปรปรวนด้วย แบบสอบถาม Premenstrual Symptoms Screening Tool (PSST) ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความชุกของการเกิดกลุ่มอาการก่อนมีระดู ร้อยละ 31.3 และความชุกของการเกิดภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีระดูร้อยละ 6.6 โดยจากการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาปัจจัยทำนาย พบว่ามี 6 ปัจจัยที่สามารถทำนายกลุ่มอาการก่อนมีระดูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การมีประวัติโรคประจำตัว (p = 0.006) อาการบวมน้ำในช่วงก่อนมีรอบเดือน (p = 0.036) อาการท้องเสียในช่วงมีรอบเดือน (p = 0.022) อาการเวียนศีรษะในช่วงมีรอบเดือน (p = 0.012) ความเครียดระดับสูงถึงรุนแรง (p = 0.035) และภาวะซึมเศร้า (p <0.001) จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความชุกและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการก่อนมีระดูและภาวะอารมณ์แปรปรวนก่อนมีระดูในนักศึกษาฝึกงานกายภาพบำบัด ดังนั้นจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้นกับอาการทางกาย อารมณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนมีรอบเดือน ในนักศึกษากายภาพบำบัดเพศหญิง


ภาวะหมดไฟและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ภายหลังการเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ปรวี วัฒนสิน Jan 2022

ภาวะหมดไฟและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ภายหลังการเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ปรวี วัฒนสิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการปรับโครงสร้างองค์กรกระทบต่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ภาวะหมดไฟเป็นกลุ่มอาการทางสุขภาพจิตที่ใช้ในบริบทของงานเท่านั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะหมดไฟในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเก็บข้อมูลจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำนวน 358 ราย ในช่วงเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2565 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด 3) แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 4) แบบประเมินภาวะหมดไฟ (MBI-GS ฉบับภาษาไทย พัฒนาโดย ชัยยุทธ กลีบบัว ) การวิจัยครั้งนี้ใช้สถิติแบบพรรณาและสถิติเชิงอนุมาน ผลการวิจัยพบว่า ความชุกของภาวะหมดไฟระดับปานกลางถึงสูง ในด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ การเมินเฉยต่องาน และความสามารถในงาน มีค่าร้อยละ 46.6, 63.7 และ 56.4 ตามลำดับ ปัจจัยทำนายภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ได้แก่ การมีอายุน้อย (p = 0.015) การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน (p = 0.01) ความไม่พึงพอใจในตารางบิน (p = 0.012) การมีคุณสมบัติในการปฏิบัติการบินบนเครื่องบินน้อยแบบ (p = 0.007) ความรู้สึกมั่นคงในงานลดลง (p < 0.001) การมีปัญหานอนไม่หลับ (p = 0.041) การมีคะแนนความเครียดสูง (p < 0.001) และการมีสุขภาพจิตที่แย่ลง (p = 0.011) ปัจจัยทำนายด้านการเมินเฉยต่องาน ได้แก่ ตำแหน่งงานที่ไม่ได้เป็นหัวหน้างาน (p < 0.001) ความไม่พึงพอใจในตารางบิน (p = 0.001) ความรู้สึกมั่นคงในงานลดลง (p < 0.001) การมีคะแนนความเครียดสูง (p < 0.001) และการมีสุขภาพจิตที่แย่ลง (p = 0.015) ในขณะที่ปัจจัยทำนายด้านความสามารถในงานมีเพียง ตำแหน่งงานที่ไม่ได้เป็นหัวหน้างาน (p < 0.001) จึงสรุปได้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สามารถออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ และ ปัญหาหนี้สิน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่ ตารางปฏิบัติการบิน ความรู้สึกมั่นคงในงาน รวมทั้งแบบของเครื่องบินที่มีคุณสมบัติ และ ปัจจัยด้านสุขภาพจิต ได้แก่ ความเครียด ภาวะทางสุขภาพจิต และคุณภาพการนอนหลับ


ความสุขในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการทำงานของพนักงานระดับปฎิบัติการบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน), อัครวัฒน์ เมธีวีระโยธิน วุฒิวงศ์ Jan 2022

ความสุขในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการทำงานของพนักงานระดับปฎิบัติการบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน), อัครวัฒน์ เมธีวีระโยธิน วุฒิวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นพนักงานระดับปฎิบัติการ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) จำนวน 365 คนโดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามทั้งหมดด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลด้านการทำงาน 2) แบบสอบถามความสุขในการทำงาน 3) แบบสอบถามความผูกพันองค์กรวิเคราะห์ความสุขโดยสถิติเชิงพรรณาและตรวจสอบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสุขในการทำงานและความผูกพันกับองค์กรด้วย Chi-square test, Binary Logistic Regression และ Pearson’s correlation coefficient ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างพนักงานระดับปฎิบัติการบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ร้อยละ 85.8 มีความสุขใจในการทำงานอยู่ในระดับปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 2.5 ที่มีความสุขใจในการทำงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และมีความผูกพันต่อองค์กรอยู่ในระดับมากร้อยละ 48.5 และรองลงมาร้อยละ 45.8 มีความผูกพันต่อองค์กรอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับกลุ่มที่มีความผูกพันต่อองค์กรอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 1.9 และกลุ่มผู้ที่มีความผูกพันต่อองค์กรอยู่ในระดับมากที่สุด ปรากฏร้อยละ 3.8 พนักงานระดับปฏิบัติการบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีความสุขใจในการทำงานอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง จำนวน 322 คน พบว่าคะแนนเฉลี่ยความผูกพันต่อองค์กรมีสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความสุขใจในการทำงานทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการได้รับการยอมรับนับถือ (P<0.001) ด้านลักษณะของงานที่ปฏิบัติ (P<0.001) ด้านเงินเดือนและผลประโยชน์เกื้อกูล (P<0.001) ด้านความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา (P<0.001) ด้านนโยบายและการบริหาร (P=0.011) ด้านสภาพการทำงาน (P=0.027) และด้านความสุขใจในการทำงานโดยรวม (P<0.001)และพนักงานระดับปฏิบัติการบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีความสุขใจในการทำงานอยู่ในเกณฑ์สูง จำนวน 43 คนนั้น พบว่าคะแนนเฉลี่ยความผูกพันต่อองค์กรมีสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความสุขใจในการทำงานทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ด้านลักษณะของงานที่ปฏิบัติ (P=0.003) ด้านความรับผิดชอบ (P=0.029) และด้านความสุขใจในการทำงานโดยรวม (P=0.001)


ภาวะหมดไฟในการทำงานในบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท ณ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพมหานครฯ, อัญชลี เลิศมิ่งชัยมงคล Jan 2022

ภาวะหมดไฟในการทำงานในบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท ณ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพมหานครฯ, อัญชลี เลิศมิ่งชัยมงคล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นการศึกษาเพื่อหาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหมดไฟ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท จำนวน 107 ราย ใช้เครื่องมือในรูปแบบของแบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน 2) แบบสอบถามความสุขในการทำงาน ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงาน และความไม่มั่นคงในงาน 3) แบบสอบถามความรุนแรงในสถานที่ปฏิบัติงาน 4) แบบสอบถามภาวะหมดไฟ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ผลการศึกษาพบความชุกของภาวะหมดไฟระดับสูงอยู่ที่ ร้อยละ 19.6 โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟระดับสูง จากการวิเคราะห์การถดถอยลอจิสติก ได้แก่ การที่บุคลากรต้องมีหน้าที่ดูแลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก (OR = 14.06, 95% CI = 2.80 - 70.68, p value < 0.01) มีการแจ้งหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาจากเหตุความรุนแรงทางวาจา (OR = 4.21, 95% CI = 1.19 - 14.87, p value < 0.05) และการมีความสุขในการทำงาน (OR = 0.20, 95% CI = 0.06 – 0.65, p value < 0.01) สรุปผลการศึกษาพบภาวะหมดไฟในการทำงานระดับสูงในบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทมากถึง 1 ใน 5 ของบุคลากรทั้งหมด การให้ความสำคัญในการปรับภาระงานที่เหมาะสม การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานคนอื่นๆด้วยความเคารพ (โดยเฉพาะทางวาจา) และการสนับสนุนส่งเสริมให้การทำงานดำเนินไปอย่างเป็นสุขอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟระดับสูงได้


ภาวะซึมเศร้า รูปแบบการป้องกันทางจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้สูงอายุ ในชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 7, ชนนี ปีตะนีละผลิน Jan 2022

ภาวะซึมเศร้า รูปแบบการป้องกันทางจิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้สูงอายุ ในชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 7, ชนนี ปีตะนีละผลิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภาวะซึมเศร้าถือเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่พบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในวัยนี้ต้องเผชิญกับความเสื่อมจากกระบวนการของความชราภาพและวิกฤตต่าง ๆ ในชีวิต หากสามารถปรับตัวได้เพียงจำกัดหรือเลือกใช้รูปแบบการป้องกันทางจิตที่ไม่เหมาะสม นั่นอาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ โดยการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกของภาวะซึมเศร้า รูปแบบการป้องกันทางจิต และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 กรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้สูงอายุ 129 คน ในศูนย์บริการสาธารณสุข 7 กรุงเทพมหานคร โดยขอให้อาสาสมัครตอบชุดแบบสอบถามที่ประกอบด้วย แบบประเมินรูปแบบการป้องกันทางจิต (DSQ–60) แบบวัดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุไทย (TGDS–30) แบบสอบถามการมีส่วนร่วมในสังคมของผู้สูงอายุ แบบสอบถามเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตในช่วง 1 ปี และแบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (Chula ADL Index) โดยผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างพบผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 9.3 สำหรับรูปแบบการป้องกันทางจิตที่ถูกใช้บ่อยที่สุด คือ adaptive defense mechanisms โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบ altruism และ sublimation กลไกการป้องกันทางจิตแบบปรับตัวได้นี้มีความสัมพันธ์เชิงลบกับภาวะซึมเศร้า อีกทั้งการเป็นเพศชาย มีโรคทางจิตเวช มีการพึ่งพิงในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ระดับปานกลาง มีความเครียดในชีวิตด้านเศรษฐกิจในระดับปานกลางถึงสูงและด้านสังคมในระดับสูง มักเลือกใช้การป้องกันทางจิตรูปแบบ passive–aggression หรือ reaction formation และการไม่ค่อยได้ใช้การป้องกันทางจิตรูปแบบ sublimation สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปหนึ่งในสิบของผู้สูงอายุในการศึกษานี้มีภาวะซึมเศร้าเมื่อเทียบกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ เกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างเลือกใช้การป้องกันทางจิตแบบ adaptive defense styles ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ดังนั้นควรมีการนำปัจจัยตัวความเครียดทางจิตใจสังคมในช่วงที่ผ่านมาและประวัติการเจ็บป่วยทางจิตเวชมาใช้คัดกรอง อีกทั้งส่งเสริมการใช้การป้องกันทางจิตแบบปรับตัวได้จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันภาวะซึมเศร้าเพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ


สุขภาพจิต การเผชิญจากความเครียด การสนับสนุนทางสังคม และการฟื้นพลังของนักบินพาณิชย์สายการบินในไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, ชัชวาล ตันติสัตตโม Jan 2022

สุขภาพจิต การเผชิญจากความเครียด การสนับสนุนทางสังคม และการฟื้นพลังของนักบินพาณิชย์สายการบินในไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, ชัชวาล ตันติสัตตโม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ เพื่อทำการศึกษาสุขภาพจิต การเผชิญความเครียด การสนับสนุนทางสังคม และการฟื้นคืนพลังของนักบินพาณิชย์ในประเทศไทย รวมถึงความเกี่ยวข้องกันของสุขภาพจิตและปัจจัยดังกล่าวข้างต้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักบินพาณิชย์สายการบินไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จำนวน 380 คน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2565 โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบแบบสอบถามด้วยตัวเองออนไลน์ผ่าน Google form โดยมีคำถาม 7 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามข้อมูลด้านการทำงาน 3) แบบสอบถามผลกระทบที่นักบินพาณิชย์ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 4) แบบสอบถามการเผชิญความเครียด 5) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม 6) แบบประเมินการฟื้นคืนพลัง นำเสนอเป็นค่าเฉลี่ยน ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆโดยใช้การทดสอบไคสแควร์ หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ความถดถอยลอจิสติกเพื่อหาปัจจัยทำนายสุขภาพจิตที่ผิดปกติของนักบินพาณิชย์สายการบินไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับน้อยกว่า 0.05 ผลการศึกษา พบว่านักบินพาณิชย์สายการบินไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ส่วนใหญ่(ร้อยละ 53.2) มีสุขภาพจิตผิดปกติในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตเท่ากับ 6.59±6.93 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตผิดปกติ ได้แก่สถานภาพโสด หย่าร้าง หม้าย(p<0.05) รายได้โดยประมาณที่ลดลงระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19(p<0.01) ภาระหนี้สิน(p<0.01) การมีโรคทางจิตเวช(p<0.01) สังกัดสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ๊กซ์(p<0.01) ได้รับผลกระทบโดยรวม(p<0.01) ได้รับผลกระทบด้านครอบครัว(p<0.001) ได้ผลกระทบด้านสัมพันธภาพ(<0.001) ได้ผลกระทบด้านการประกอบกิจวัตรประจำวัน(p<0.01) ได้รับผลกระทบด้านการทำงานและการประกอบอาชีพ(p<0.01) ได้รับผลกระทบด้านการเงินและเศรษฐกิจ(p<0.01) ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสุขภาวะ(p<0.01) มีการเผชิญความเครียดด้านการจัดการอารมณ์ปานกลางถึงสูง(p<0.01) การสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรและวัตถุต่ำ(p<0.01) การสนับสนุนทางสังคมโดยรวมต่ำ(p<0.05) การฟื้นคืนพลังด้านความทนต่อแรงกดดันต่ำ(p<0.01) การฟื้นคืนพลังด้านการมีความหวังและกำลังใจต่ำ(p<0.01) การฟื้นคืนพลังด้านการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคต่ำ(p<0.01) และการฟื้นคืนพลังโดยรวมต่ำ(p<0.01) สรุปผลการศึกษา พบปัจจัยสัมพันธ์ที่เป็นปัจจัยทำนายกับสุขภาพจิตผิดปกติได้แก่ ภาระหนี้สิน การสังกัดสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ๊กซ์ ได้ผลกระทบด้านการประกอบกิจวัตรประจำวันระดับปานกลางถึงสูง มีเผชิญความเครียดด้านการจัดการอารมณ์ในระดับปานกลางถึงสูง ได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านทรัพยากรและวัตถุต่ำ มีการฟื้นคืนพลังด้านความทนต่อแรงกดดันต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และการฟื้นคืนพลังด้านการมีความหวังและกำลังใจต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ


ความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่เรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, วิจิตราภรณ์ สมชัย Jan 2022

ความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่เรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, วิจิตราภรณ์ สมชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความเครียดมาจากหลายสาเหตุระหว่างที่เรียน ซึ่งหนึ่งในความเครียดหลักคือการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย โดยนักเรียนจะเตรียมตัวและพยายามอย่างมากเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมปลายที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวอาจช่วยให้พวกเขาได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย คณะ และอาชีพในฝันดังที่ตั้งใจไว้ ทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาระดับความเครียดและความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยทำการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 312 คน ซึ่งเรียนกวดวิชาภายในตึกมาบุญครองและตึกสยามสเคปเพื่อสอบเข้าสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ครอบครัว การเรียน การสอบแข่งขัน เพื่อนและสิ่งแวดล้อม และแบบวัดความเครียดสวนปรุงซึ่งเป็นแบบวัดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการวัดความเครียดของคนไทย ซึ่งในการศึกษานี้ผู้วิจัยเลือกใช้ฉบับปรับปรุงโดยชัยชนะ นิ่มนวล และภควัฒน์ วงษ์ไทย จำนวน 22 ข้อ ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างถูกวิเคราะห์ด้วยสถิติ Chi-square test, Logistic regression, และ Independent t-test ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความเครียดในระดับรุนแรงร้อยละ 62.82 รองลงมาคือระดับความเครียดสูง ระดับเล็กน้อยและระดับปานกลางเท่ากับร้อยละ 14.74, 12.50, และ 9.94 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศ อายุ หนี้สินในครอบครัว ความสัมพันธ์กับครอบครัว การเรียนที่ส่งผลต่อความเครียด เหตุผลที่เลือกโรงเรียนเนื่องมาจากครอบครัวแนะนำให้สอบเข้า รวมถึงมาลองข้อสอบหรือมาสอบตามเพื่อน และระดับความพึงพอใจในการเตรียมตัวของตนเอง สำหรับปัจจัยที่สามารถทำนายความเครียดสูงของนักเรียน ได้แก่ นักเรียนเพศหญิง ครอบครัวมีหนี้สิน การเรียนส่งผลต่อความเครียด ความพึงพอใจในการเตรียมตัวระดับปานกลาง และเหตุผลในการเลือกโรงเรียนคือการมาลองสอบหรือการมาสอบตามเพื่อน โดยสรุปแล้วนักเรียนกลุ่มนี้มีความเครียดระดับสูงถึงรุนแรงเนื่องจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้าสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพสูงมีความหมายต่ออนาคตของพวกเขา ดังนั้น ผู้เรียนเอง ครอบครัว เพื่อน ครู และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้การส่งเสริมดูสุขภาพจิตและคอยดูแลตรวจสอบเกี่ยวกับความเครียดของนักเรียนด้วย


รายการสำรวจความปลอดภัยจากความรุนแรงในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, อัจฉรา ลอยบัณฑิตย์ Jan 2022

รายการสำรวจความปลอดภัยจากความรุนแรงในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, อัจฉรา ลอยบัณฑิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาแบบสำรวจความปลอดภัยจากความรุนแรงในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชในโรงพยาบาล วิธีการศึกษา : การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบผสมผสาน (Mixed Methods research) ระยะที่ 1) เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแบบสำรวจความปลอดภัยจากความรุนแรงในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชในโรงพยาบาลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้แนวคำถามปลายเปิด กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรทีมสุขภาพและผู้เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 12 คน จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแบบสำรวจความปลอดภัยจากความรุนแรงในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยการทดสอบความตรงเชิงโครงสร้าง จากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คนและระยะที่ 2)เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative research) นำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน เพื่อวิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือด้วย ผลการศึกษา : แบบสำรวจความปลอดภัยจากความรุนแรงในแผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชในโรงพยาบาลเป็นข้อคำถามจำนวน 40 ข้อ แบบมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) 4 ระดับคือ มีแล้ว มีบางส่วน ยังไม่มีแต่มีแผนแล้ว และไม่มี คุณภาพเครื่องมือของแบบประเมินอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม โดยมีค่าความตรงเชิงเนื้อหาทั้งฉบับ(Content Validity of Scale) เท่ากับ0.98 มีค่าความเชื่อมั่น(Reliability) ทั้งฉบับอยู่ในเกณฑ์ดี ค่าCronbach’s Alpha เท่ากับ 0.88 มีค่าCorrected Item – rest Correlation สูงกว่า.02 ทุกข้อ และมีค่าอำนาจจำแนก (Discrimination) อยู่ในระดับสูง สามารถจำแนกระดับระหว่างกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำได้ สรุป : รายการสำรวจฯ สามารถเครื่องมือที่ช่วยประเมินความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน และขณะปฏิบัติงาน และสามารถช่วยป้องกันอันตรายจากความรุนแรงจากผู้ป่วยทั้งทางกายและจิตใจ


Anxiety And Social Experience Stressors Of Lgbt In Thailand, Bunatta Aritatpokin Jan 2022

Anxiety And Social Experience Stressors Of Lgbt In Thailand, Bunatta Aritatpokin

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The enhancement of the quality of life, according to the Sustainable Development Goals set by the United Nations (UN-SDG), places importance in equality for all groups of people, in all aspects. In this regard, although the Thailand sphere has been praised for its efforts to demonstrate its progressiveness regarding equality for groups who are more vulnerable to stressors, in practice, it is still quite lacking which could cause issues with mental health, such as anxiety and other stressors. This descriptive cross sectional quantitative research study explores the anxiety and social experience stressors of once such group - those of different …


Job Satisfaction, Grit And Associated Factors Of Job Satisfaction Among Thai Working Adults Who Are Currently Undertaking Their Graduate Studies In Thailand, Somchat Visitchaichan Jan 2022

Job Satisfaction, Grit And Associated Factors Of Job Satisfaction Among Thai Working Adults Who Are Currently Undertaking Their Graduate Studies In Thailand, Somchat Visitchaichan

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Whether in health care or business organizations, most individuals spend a large part of their lives at work attempting to be successful therefore an understanding of factors involved in job satisfaction is relevant to improving the well - being of a large number of individuals in an important aspect of their lives. The basic premises underlying the study of job satisfaction, grit, and associated factors of job satisfaction among Thai working adults who are currently undertaking their graduate studies in Thailand is the belief that increasing job satisfaction will improve well-being of individuals, increase productivity and thus the effectiveness of …


ความชุกของพฤติกรรมเสพติดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า, ณัฐณิชาช์ กมลเทพา Jan 2022

ความชุกของพฤติกรรมเสพติดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า, ณัฐณิชาช์ กมลเทพา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมเสพติดในผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าที่มารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 107 คน เก็บข้อมูลเดือนพ.ย. 2565 – มี.ค. 2566 ด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลด้านสุขภาพ มาตรวัดบุคลิกภาพ แบบวัดอาการซึมเศร้า9Q การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้บุหรี่/ยาสูบ การใช้สารเสพติด การพนัน และการเล่นเกม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบไคสแควร์ และการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมเสพติด (1) ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกณฑ์ผิดปกติ 28%, ใช้แต่ไม่ผิดปกติ 15% และไม่ใช้ 57% (2) ใช้บุหรี่/ยาสูบในเกณฑ์ผิดปกติ 0.9%, ใช้แต่ไม่ผิดปกติ 15% และไม่ใช้ 84.1% (3) ใช้สารเสพติดเกณฑ์เสี่ยงสูง 0.9%, เสี่ยงต่ำ 1.9% และไม่ใช้ร้อยละ 97.2% (4) เล่นพนันเกณฑ์เสี่ยงสูง 1.9%, เสี่ยงปานกลาง 0.9%, เสี่ยงต่ำ 3.7% และไม่ใช้ 69.2% (5) เล่นเกมเกณฑ์ผิดปกติ 5.6%, เล่นแต่ไม่ผิดปกติ 25.2% และไม่เล่น 68.2% ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติในการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ ระยะเวลาที่ได้รับการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า(p < 0.05) ประวัติการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์(p < 0.05) แบบประเมินอาการซึมเศร้า 9 คำถาม(p < 0.05) และอาการแมเนีย โรคจิต (p < 0.01) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติในการเล่นเกม ได้แก่ ศาสนา (p < 0.05) และลักษณะรายได้ (p < 0.01)