Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2018

Articles 1 - 30 of 89

Full-Text Articles in Law

ปัญหาการชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันปราศจากความเสียหายทางกายภาพ กรณีน้ำมันรั่วภายใต้กฎหมายไทย, ณัฐกิตติ์ วงศ์วิวัฒน์ชัย Jan 2018

ปัญหาการชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันปราศจากความเสียหายทางกายภาพ กรณีน้ำมันรั่วภายใต้กฎหมายไทย, ณัฐกิตติ์ วงศ์วิวัฒน์ชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีความมุ่งหมายในการศึกษาเรื่องการชดเชยค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษน้ำมันสภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากมลพิษน้ำมัน สภาพปัญหาของกระบวนการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากมลพิษน้ำมันตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทย และศึกษาตัวอย่างกระบวนการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนากลไกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยความรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันของไทย จากการศึกษาพบว่ากระบวนการชดเชยค่าสินไหมทดแทน ในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากขาดกลไกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายที่มีความรวดเร็วทันท่วงที และมีปัญหาของการที่บทบัญญัติไม่ได้กำหนดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันปราศจากความเสียหายทางกายภาพไว้อย่างชัดเจน จากปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยการกำหนดหน้าที่ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น รวมถึงเสนอให้ประเทศไทยมีกองทุนเพื่อการชดเชยค่าเสียหายในเหตุการณ์น้ำมันรั่วเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่เกิดให้ทันท่วงที และเพิ่มความสูญเสียรายได้และผลกำไรไว้ในคำนิยามของคำว่าความเสียหายจากมลพิษให้ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนได้จัดทำเป็นแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ร่างกฎหมายสามารถหยิบยกไปใช้ได้ตามสมควร


ประเด็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว: กรณีศึกษาการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านตัวแทน, ธมนวรรณ ขีปนวัฒนา Jan 2018

ประเด็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว: กรณีศึกษาการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านตัวแทน, ธมนวรรณ ขีปนวัฒนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยฉะนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายฐานรายได้ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว (VAT Refund For Tourist : VRT) จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่นานาประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 91) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรของคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 และกำหนดลักษณะของผู้ประกอบการร้านค้าและสินค้าที่นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 90) เรื่องการกำหนดคุณลักษณะและหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 อีกทั้งยังได้กำหนดมาตรการชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวสามารถนำเงินภาษีที่ได้รับคืนดังกล่าวมาใช้สอยในประเทศได้อีกทอดหนึ่ง ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 225) เรื่องกำหนดเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 226) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ดีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามกฎหมายภาษีอากรดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหากับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว มีขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้มีผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับอนุมัติเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ อีกทั้งขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้การใช้มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าในประเทศไม่ได้รับความสนใจจากทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการไทยมากเท่าที่ควร …


ความไม่เป็นธรรมในการหักรายจ่ายเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ศึกษากรณีกิจการให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน, ณัฐธิดา จิตร์วัฒนาสุข Jan 2018

ความไม่เป็นธรรมในการหักรายจ่ายเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ศึกษากรณีกิจการให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน, ณัฐธิดา จิตร์วัฒนาสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ธุรกิจเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นทางเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ในการที่จะสามารถเข้าถึงทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น รถยนต์ยานพาหนะ เครื่องจักรที่มีราคาสูงเพื่อใช้ในการประกอบกิจการหรือใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อหรรือให้เช่าแบบลีสซิ่งหลัก ๆ มีสองส่วนคือ กิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงิน เช่น บริษัท ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารทิสโก้ ฯลฯ และกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ดำเนินการบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ โดยทั้งสองประเภทนั้นจะมีลักษณะการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกัน เนื่องจากธุรกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นธุรกิจที่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นจึงมีหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องต่าง ๆ เข้ามากำกับดูแลเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งต่อประชาชนผู้บริโภคและต่อสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าธุรกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งมีลักษณะเป็นการให้สินเชื่อรายย่อยแก่ลูกหนี้ โดยลูกหนี้จะทำการผ่อนชำระให้แก่ผู้ให้สินเชื่อเป็นรายงวด ซึ่งปกติผู้ให้สินเชื่อแต่ละรายก็ย่อมมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังครอบครอง แต่อย่างไรก็ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็มีอิทธิพลมาจากหลายปัจจัย ธุรกิจประเภทนี้จึงต้องมีการประมาณเงินสำรองที่ไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งในทางภาษีถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) แต่เนื่องจากมีพระราชกำหนดแก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 17 ที่มีการยกเว้นเงินสำรองสำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (“สถาบันการเงิน”) ให้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่มีลักษณะธุรกิจเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำเงินสำรองดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ พบว่าสำหรับกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งทุกประเภทไม่ว่าเป็นสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้ามีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องแล้ว สามารถนำเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริงต่อผู้ประกอบการ


ความเหมาะสมของการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากร, โชติพงศ์ รุ่งศศิธร Jan 2018

ความเหมาะสมของการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากร, โชติพงศ์ รุ่งศศิธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเทศไทยมีการตรวจพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม และเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกและภาษีการให้ อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ในการยกเว้นภาษีการให้ดังกล่าวนั้นยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมตามหลักความสามารถในการเสียภาษี รวมถึงหลักความเสมอภาคทางภาษี เอกัตศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความเหมาะสมและเป็นธรรมในการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากรของประเทศไทย ตลอดจนศึกษากฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวันที่มีการจัดเก็บภาษีการให้ เพื่อนำแนวทางของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวันมาปรับใช้ โดยงานศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นอาศัยการวิจัยเชิงเอกสาร (Docomentary Research) ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ จากการศึกษาพบว่าการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากรของประเทศไทย ยังขาดความเหมาะสมและเป็นธรรม เนื่องจากการกำหนดเพดานในการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากรจำนวน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท ตลอดปีภาษีแล้วแต่กรณีของการให้ถือว่าเป็นจำนวนที่สูง นอกจากนี้ยังให้สิทธิในการเลือกเสืยภาษีในอัตราคงที่ หรือนำไปรวมกับเงินได้ประเภทอื่นเพื่อเสียภาษีอีกด้วย ซึ่งปัญหาในการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสมและยังส่งผลกระทบต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมกับผู้มีเงินได้ประเภทแรงงาน และผู้มีเงินได้จากทุน ซึ่งต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรในอัตราก้าวหน้า ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักความสามารถในการเสียภาษีและหลักผลประโยชน์ที่ได้รับ และความไม่เสมอภาคทางภาษีนอกจากนี้ยังทำให้เกิดช่องทางหลีกเลี่ยงภาษีจากการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศไทยควรมีการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้อย่างเหมาะสมโดยใช้หลักเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศเป็นตัวกำหนดเพดานการยกเว้น และควรยกเลิกการให้สิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราคงที่หรือนำไปรวมกับเงินได้ประเภทอื่นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมในสังคมโดยนำแนวทางในการจัดเก็บภาษีการให้ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวันปรับใช้


ความไม่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของคู่สมรส, มัทธกานต์ ทองโพธิ์ Jan 2018

ความไม่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของคู่สมรส, มัทธกานต์ ทองโพธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงการจัดเก็บภาษีการรับมรดกตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดเก็บภาษีการรับมรดกของคู่สมรสว่ามีความเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ โดยได้ศึกษาแนวคิด หลักการ และวิธีจัดเก็บภาษีตามกฎหมายภาษีมรดกของประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่น และกฎหมายภาษีการรับมรดกของประเทศไทยตาม พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เปรียบกับหลักการและแนวคิดพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อเป็นหลักในการพิจารณาว่ากฎหมายภาษีการรับมรดกของไทยในปัจจุบันนั้นมีผลกระทบต่อผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอย่างไร นอกจากนี้ยังศึกษาถึงมาตรการบรรเทาภาระภาษีของประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกมาเป็นเวลานาน และสามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อนำเงินจากภาษีนั้นไปใช้ในการพัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของบุคคล จากการศึกษาพบว่าการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของประเทศไทยของคู่สมรสนั้นยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมเพราะได้กำหนดให้คู่สมรสเป็นผู้ที่ไม่ต้องนำทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดกมาเสียภาษีการรับมรดกซึ่งหมายความว่าคู่สมรสได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องนำทรัพย์สินมรดกที่ได้รับมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีการรับมรดกทั้งจำนวน ส่งให้การจัดเก็บภาษีการรับมรดกของประเทศไทยจากคู่สมรสนั้นไม่เป็นไปตามหลักการทำรายได้ดี กล่าวคือไม่สามารถจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากคู่สมรสที่แม้จะมีการรับมรดกมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่นนั้นก็พบว่าในทั้งสองประเทศไม่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บให้กับคู่สมรสแต่เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเช่น การกำหนดว่าให้ยกเว้นฐานภาษีในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมกันทางทะเบียนในประเทศอังกฤษ หรือการให้เครดิตภาษีแก่คู่สมรสในการคำนวณภาษีการรับมรดกของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากการพิจารณาถึงหลักการทำรายได้ดีแล้วนั้น ยังควรจุต้องพิจารณาถึงหลักความเป็นธรรมในเรื่องของความสามารถของผู้เสียภาษีควบคู่กันไปได้วย เนื่องจากไม่ว่าคู่สมรสหรือทายาทลำดับอื่นได้รับโอนทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คู่สมรสและทายาทล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เกิดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเพราะทรัยพ์สินที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้นความสามารถในการเสียภาษีจึงควรมากตาม ซึ่งการที่ประเทศไทยบัญญัติให้เฉพาะคู่สมรสที่ไม่ต้องนำทรัพย์สินมรดกทั้งจำนวนมาเป็นฐานภาษีการรับมรดกนั้นจึงขัดต่อหลักความสามารถในการเสียภาษีอย่างชัดเจน และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ทายาทลำดับอื่นที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้ศึกษาได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยผู้ศึกษาเห็นว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษนั้นได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการยกเว้นฐานภาษีแก่คู่สมรสหรือกำหนดมาตรการบรรเทาภาระภาษีเพิ่มเติมเพื่อให้การจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากคู่สมรสยังคงเป็นไปตามหลักการทำรายได้และหลักความสามารถในการเสียภาษีโดยที่ไม่กระทบกับแนวคิดของการจัดเก็บภาษีของคู่สมรส ผู้ศึกษาเห็นว่าหลักการดังกล่าวช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักทั่วไปและหลักการพื้นฐานของกฎหมายภาษีอากรดังนั้นจึงควรนำการเงื่อนไขและวิธีการจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากคู่สมรสของประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้


ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 : ศึกษากรณีอาคารชุด, ชญานิศ ยุวรี Jan 2018

ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 : ศึกษากรณีอาคารชุด, ชญานิศ ยุวรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากแนวโน้มการของอสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ อาคารชุดโดยปัจจุบันมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับอดีตซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยและระบบคมนาคม ดังนั้นการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอาคารชุด จึงควรมีสัญญาที่มาป้องกันความเสี่ยงทางด้านเงินดาวน์หรือการทำสัญญาในลักษณะที่คล้ายกับการการทำสัญญาประกันภัย คือ สัญญาดูแลผลประโยชน์สำหรับคุ้มครองเงินหรือทรัพย์สินที่ให้บุคคลหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ ได้แก่ ผู้ดูแลประโยชน์ของคู่สัญญาโดยวางหลักฐานแห่งการชำระหนึ้เก็บไว้กับบุคคลที่สามจนกว่าจะบรรลุตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว มาเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ให้ได้รับความเป็นธรรมควบคู่ไปกับการทำสัญญาจะซื้อจะขายก่อนส่งมอบห้องชุด ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 รวมเป็นระยะเวลา 11 ปี ที่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้แต่ก็ยังถือว่าไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร เพราะถึงแม้จะมีการแก้ไขแล้วแต่ก็ยังต้องใช้ความสมัครใจของคู่สัญญาเป็นสำคัญและประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจส่วนมากยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายนี้และผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งเป็นอันแสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จากการศึกษาข้อเท็จจริงและมาตรการทางกฎหมาย ผู้ศึกษาพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ผ่านการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังถึงแม้ว่าจะเป็นสัญญาที่ดีมีประโยชน์ คุ้มครองป้องกันความเสี่ยงของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจก่อนส่งมอบทรัพย์สิน และสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ โดยในกรณีของอาคารชุดจะมีในลักษณะที่ผ่อนชำระเงินดาวน์ยังไม่ครบหรือการก่อสร้างอาคารชุดยังไม่แล้วเสร็จในการปรับปรุงมาตรการดังกล่าวเป็นกฎหมาย จากผลการศึกษาปัญหาการใช้กฎหมายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดยศึกษาการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอาคารชุดของประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะในการศึกษาถึงแนวทางและความเป็นไปได้ของการเพิ่มเติมมาตรการที่จำเป็นบางประการ เพื่อให้สัญญาดูแลผลประโยชน์และผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลอย่างสมบูรณ์ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมการซื้อขายห้องชุด ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการทางกฎหมายด้านการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ตามประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเพื่อใช้บังคับสำหรับประเทศไทยต่อไป


แนวทางการแก้ไขและปรับปรุงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (Otop Extravaganza), อุทัยวรรณ ศักดิ์เดชยนต์ Jan 2018

แนวทางการแก้ไขและปรับปรุงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (Otop Extravaganza), อุทัยวรรณ ศักดิ์เดชยนต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (OTOP Extravaganza) ในประเทศไทยโดยออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 318 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเริ่มครั้งแรกในปี 2559 ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคมถึง 31 สิงหาคม โดยให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดากับการซื้อสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ที่มาตรการกำหนด ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ยังมีปัญหาความไม่เหมาะสมบางประการ เอกัตศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรการทางภาษีบ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำแนวทางมาปรับใช้ในบางประเด็น จากการศึกษาพบว่ามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทยมีปัญหาบางประการ กล่าวคือรัฐบาลนำมาตรการดังกล่าวมาใช้อย่างไม่ต่อเนื่องทำให้วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทยในภาคประชาชนไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงเงื่อนไขของระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์และหลักเกณฑ์ของผู้ขายสินค้าโอท็อป จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงควรนำแนวทางมาตรการภาษีบ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้โดยปรับให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทั้งปี โดยอาจเริ่มพิจารณาใช้เป็นระยะเวลา 2 หรือ 4 ปีก่อนเพื่อวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ รวมถึงควรให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและรัฐบาลควรพัมนาช่องทางการขายทางเว็บไซต์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลว่าทุกรายการที่ซื้อผ่านทางเว็บไซต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แน่นอน เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดให้ภาคประชาชนสนใจมากขึ้นและสุดท้ายนี้เพื่อให้มาตรการภาษีนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนมากที่สุด ทั้งผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ได้จดทะเบียน เช่น กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะเงื่อนไขไม่ตามข้อกำหนด รัฐบาลควรให้หน่วยงานราชการท้องถิ่นเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่าง ผู้ขายสินค้าโอท็อปและผู้ที่ต้องการจะใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี โดยให้หน่วยงานราชการท้องถิ่นออกเอกสารรับรองการซื้อสินค้าเพื่อรับรองการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แทน จากที่กล่าวมาจะส่งผลทำให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยได้รับผลประโยชน์จากมาตรการภาษีนี้เช่นกัน เป็นการเปิดโอกาสและช่องทางให้กลุ่มเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้มีโอกาสในการหารายได้มากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจะมีการกระจายตัวมากขึ้น


มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ของประเทศไทย, นัชพันธ์ สุทธิ์อาภรณ์ Jan 2018

มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ของประเทศไทย, นัชพันธ์ สุทธิ์อาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การพัฒนาทางเทคโนโลยีและการเติบโตของตลาดเกมอย่างต่อเนื่องส่งผลให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเกมออนไลน์เปลี่ยนแปลงไป บริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์นิยมการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆในเกมออนไลน์เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ทางธุรกิจ ระบบกล่องสุ่มเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบหนึ่งที่วางขายในเกมออนไลน์และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากระบบดังกล่าวมีรูปแบบพิเศษเฉพาะตัว กล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อทำการซื้อกล่องสุ่มระบบจะทำการสุ่มสิ่งของหรือรายการ (ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “ไอเทม”) อย่างใดอย่างหนึ่งให้กับผู้ซื้อ โดยไอเทมที่ระบบได้ทำการสุ่มออกมาให้กับผู้ซื้ออาจเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อคาดหวังหรือไม่ใช้สิ่งที่ผู้ซื้อที่คาดหวังก็ได้ ระบบดังกล่าวจึงมึความคล้ายคลึงเป็นการเสี่ยงโชคและผู้ซื้ออาจไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างถูกต้องและเพียงพอ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อเสียเปรียบและได้รับความไม่เป็นธรรม อีกทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับในประเทศไทยในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ อันได้แก่ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ยังขาดความชัดเจนและเหมาะสมจึงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เอกัตศึกษานี้มุ่งศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ รวมทั้งศึกษามาตรการที่เหมาะสมในการปรับหรือเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับรูปแบบการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผู้วิจัยได้ศึกษามาตรการทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมระบบกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้และพัฒนากฎหมายของประเทศไทยให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยผู้วิจัยเสนอให้ควรมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับรูปแบบการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์มากขึ้น โดยการบัญญัติกฎกระทรวงเกี่ยวกับข้อความในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายกล่องสุ่มต่อผู้บริโภคและการออกมาตราการเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ในการระบุเนื้อหาว่าต้องมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิเลิกสัญญาของการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ด้วย


ปัญหาการกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดเป็นนิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีมีเงินได้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ 2522, ภิรมยา ลิมป์ศุภวาณิช Jan 2018

ปัญหาการกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดเป็นนิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีมีเงินได้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ 2522, ภิรมยา ลิมป์ศุภวาณิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ธุรกิจอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมถือว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตมากในปัจจุบัน และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลที่ต้องการจะมีอสังหาริมรัพย์เป็นของตนเอง โดยราคานั้นมีระดับต่ำไปจนถึงระดับสูง เมื่อมีอาคารชุดแล้วก็จะต้องมีบุคคลที่มาทำหน้าที่ในการดูแลและบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้จัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เพื่อให้สามารถจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่น ลิฟต์ สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย และสวนหย่อมให้คงสภาพที่ดี โดยนิติบุคคลอาคารชุดเปรียบเสมือนตัวแทนของเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องชุดที่จะทำหน้าที่เหล่านี้ เมื่อเจ้าของร่วม มีการเข้ามาอยู่อาศัยอาคารชุดแล้ว จะต้องมีการเรียกเก็บเงินส่วนกลางเอาไว้ใช้บำรุงรักษาและบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่เจ้าของร่วมใช้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นนิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินส่วนกลางในทุก ๆ เดือนจากเจ้าของร่วมเพื่อนำมาใช้จ่ายต่าง ๆ ในอาคารชุด อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลอาคารชุดนั้นเมื่อมีอำนาจในการที่ดูแลรักษาและบริหารจัดการ อาคารชุดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เงินส่วนกลาง ที่เรียกเก็บจากเจ้าของร่วมถือว่ามิใช่การแสวงหากำไรแต่อย่างใด จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่รัฐ และนิติบุคคลอาคารชุดไม่เข้านิยามการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากนิติบุคคลอาคารชุดมีการแสวงหากำไรที่กระทำนอกเหนือจากที่วัตถุประสงค์กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 คือ มีเงินได้อื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเก็บเงินค่าส่วนกลางของอาคารชุด เช่น ค่าเช่ารับ ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ เป็นต้น ถือว่านิติบุคคลอาคารชุดไม่ได้กระทำตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 จึงไม่ควรให้นิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้เกิด ความไม่เสมอภาคกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีเงินได้อื่น ๆ เกิดขึ้นแต่จะต้องถูกนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตามนิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องนำเงินได้อื่นมาคำนวณ เสียภาษีให้แก่รัฐ เนื่องจากถูกกำหนดให้ไม่เข้าคำนิยามของคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรอาจทำให้นิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปนั้นเข้ามาเป็นนิติบุคคลอาคารชุดมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถนำเงินมาลงทุนผ่านนิติบุคคลอาคารชุดแล้วนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดเงินได้อื่น ๆ และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีมากขึ้นและทำให้รัฐขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากนิติบุคคลอาคารชุด


ผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561, นคร อัศวสุรนาท Jan 2018

ผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561, นคร อัศวสุรนาท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 รวมทั้งการศึกษาหาแนวทางเพื่อแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ด้วยการศึกษาการประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยของประเทศไทย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศอังกฤษ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ในลักษณะของการดำเนินการวิจัยทางด้านเอกสาร รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง การทำนิติกรรมสัญญาภายใต้หลักของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มีแนวคิดที่ว่าคู่สัญญามีความเท่าเทียมกันทั้งในด้านข้อมูลและฐานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ให้เช่าจึงสามารถทำความตกลงกับผู้เช่าให้แตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดอย่างไรก็ได้ หากความตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้ เมื่อสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญาที่เป็นเอกชนด้วยกัน รัฐก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ สังคมได้มีความเปลี่ยนแปลงไป ทําให้ผู้ให้เช่าซึ่งมีอํานาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบผู้เช่าซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งและมีความอ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ ทําให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อคู่สัญญาฝ่ายหลัง รัฐจึงได้เข้าแทรกแซงการทำสัญญาด้วยการออกกฎเกณฑ์เพื่อมาควบคุมสัญญา แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ จากผลการศึกษาพบว่าผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบในเรื่องสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจในการบอกเลิกสัญญา เฉพาะในส่วนของการผิดสัญญาจากเหตุอื่นนอกเหนือจากการค้างชำระค่าเช่า และผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยในระยะยาว ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 เพื่อลดหรือขจัดผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย อันจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


การจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา, ลำไผ่ ภิรมย์กิจ Jan 2018

การจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา, ลำไผ่ ภิรมย์กิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาถึงปัญหาของบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรณี บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (10) โดยศึกษาแนวคิดของสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลักการของการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งภายใต้หลักความได้สัดส่วน เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมาย คำพิพากษา และคำวินิจฉัยเกี่ยวด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐและองค์กรธุรกิจ โดยการวิเคราะห์เทียบเคียงกับบทบัญญัติการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของต่างประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และตุรกี จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวปรากฎเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (10) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่มีประวัติเสื่อมเสียเข้ามาสู่องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เพื่อขจัดโอกาสที่จะทุจริตในหน้าที่ อย่างไรก็ดี เห็นว่า การจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งบุคคลในลักษณะดังกล่าวมีปัญหาในเชิงหลักการ กล่าวคือ เป็นการกำหนดบทบัญญัติโดยมิได้พิจารณาถึงลักษณะพฤติการณ์และฐานความผิด เนื่องจาก ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาในบางฐานความผิดมิได้กำหนดองค์ประกอบความผิด "โดยทุจริต" ไว้ นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงกับการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในมาตรา 98 (7) ของรัฐธรรมนูญ ฐานความผิดที่ได้รับการลงโทษจำคุกอันเป็นเหตุให้ถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอาจมีความรุนแรงมากกว่าความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อาทิ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่การกลับคืนมาแห่งสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกลับมีลักษณะเป็นคุณมากกว่า ปัญหาประการต่อมา คือ ผลของการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาไว้ ซึ่งหากถือตามบทบัญญัติ ย่อมเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบเด็ดขาดถาวร กรณีเช่นนี้ย่อมขัดต่อหลักความได้สัดส่วน ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ก็คาดว่าจะพบปัญหา อาทิ กรณีความผิดที่มีเหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัว เช่น การลักทรัพย์ระหว่างสามีและภรรยา กรณีที่ศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชนตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีเหล่านี้หากมีการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วย่อมไม่สอดคล้องต่อนโยบายทางอาญาที่ไม่ต้องการลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะควรยกโทษให้ และขัดต่อหลักของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมและใช้สิทธิพลเมืองได้อย่างปกติ


เสรีภาพในการประกอบกิจการภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, สุกฤตา ฉัตรพรธนดุล Jan 2018

เสรีภาพในการประกอบกิจการภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, สุกฤตา ฉัตรพรธนดุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มิได้รับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้งนั้น เสรีภาพดังกล่าวยังคงได้รับการรับรองและคุ้มครองหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า เสรีภาพในการประกอบกิจการถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นเสรีภาพที่ได้มีการรับรองไว้ในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยเหตุผลสนับสนุนดังนี้ ประการแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตได้เคยบัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้งไว้ควบคู่กับเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ประการที่สอง จากการศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลไทย ทั้งช่วงก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ที่ไม่ได้มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้ง และในช่วงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้ง ทั้งศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลได้คุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการผ่านบทบัญญัติที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยไม่ได้แยกพิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างการประกอบกิจการกับการประกอบอาชีพ ประการที่สาม จากการศึกษาเปรียบเทียบแนวคำวินิจฉัยของศาลเยอรมัน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้อง ศาลต่างประเทศก็มิได้แยกพิเคราะห์ความแตกต่างของเสรีภาพทั้งสองเช่นกัน อีกทั้งศาลต่างประเทศได้คุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการโดยผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคล ประการที่สี่ ในกรณีที่พิจารณาว่า เสรีภาพในการประกอบกิจการได้รับการรับรองผ่านเสรีภาพในการประกอบอาชีพแล้ว เหตุในการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ตามมาตรา 40 วรรคสองและวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะถูกนำมาพิจารณาในการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการด้วย ทั้งนี้ข้อดีของการรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยปริยายของเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คือ ทำให้การรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการเป็นไปโดยเคร่งครัดกว่าการรับรองในฐานะที่เป็นเสรีภาพทั่วไปในการกระทำตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และประการสุดท้าย ในการพิจารณาเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการ ตามหลักการตีความกฎหมาย ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติเฉพาะที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการ ดังนั้น แม้ว่ามาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะบัญญัติรับรองเพียงแค่เสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยมิได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการไว้อย่างชัดแจ้ง แต่เสรีภาพในการประกอบกิจการยังคงได้รับการรับรองโดยปริยายและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้


ปัญหาผลของการเลิกสัญญาจ้างทำของ : ศึกษาเฉพาะกรณีสัญญารับเหมาก่อสร้าง, ฐณวดี ชาญฤทธิเสน Jan 2018

ปัญหาผลของการเลิกสัญญาจ้างทำของ : ศึกษาเฉพาะกรณีสัญญารับเหมาก่อสร้าง, ฐณวดี ชาญฤทธิเสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในกรณีที่สัญญารับเหมาก่อสร้างไม่ได้กำหนดเรื่องผลของการเลิกสัญญาเอาไว้ จำเป็นจะต้องนำบทบัญญัติในมาตรา 391 เรื่องผลของการเลิกสัญญาทั่วไปมาบังคับใช้ กล่าวคือ การกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนมิได้ทำสัญญาต่อกัน ทั้งนี้ ผลของการเลิกสัญญาตามบทบัญญัติดังกล่าวขัดกับธรรมชาติของสัญญารับเหมาก่อสร้างเนื่องจากสัญญารับเหมาก่อสร้างมีลักษณะเป็นสัญญาที่มีการก่อหนี้ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายปฏิบัติการชำระหนี้เป็นช่วงๆกันไปตลอดระยะเวลาของสัญญาและในระหว่างที่มีการปฏิบัติการชำระหนี้นั้นผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างต่างก็สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เมื่อสัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกันจึงควรให้มีผลเป็นการสิ้นสุดสัญญา โดยสิ้นความผูกพันกันไปในอนาคต เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทย กฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และกฎหมายฝรั่งเศส เรื่องผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างพบว่า ผลของการเลิกสัญญาตามกฎหมายเยอรมันนั้นมีทั้งการเลิกสัญญาแบบกลับคืนสู่ฐานะเดิม (Rücktritt) และการสิ้นสุดสัญญาที่มีผลไปในอนาคต(Kündigung) สำหรับการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่งนั้นอาจส่งผลไปสู่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือการสิ้นไปผลในอนาคตได้ แล้วแต่กรณี ส่วนตามกฎหมายฝรั่งเศสนั้น ผลของการเลิกสัญญามี 2 แบบเทียงเคียงกันได้กับกฎหมายเยอรมัน และสำหรับผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างในกฎหมายอังกฤษนั้นก็เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลไปในอนาคตอันส่งผลให้คู่สัญญาหลุดพ้นจากการชำระหนี้ภายหลังจากการเลิกสัญญาแล้ว แต่หากมีหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนการเลิกสัญญา คู่สัญญายังคงต้องรับผิดชดใช้กันอยู่ ส่วนในกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงเรื่องผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างกันไว้ในสัญญา ก็บังคับตามนั้น ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา(Freedom of Contract) ซึ่งคู่สัญญาสามารถตกลงแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 391 ได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เพราะมาตรา 391 นี้มิใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 151 เมื่อได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว พบว่ากฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และ กฎหมายฝรั่งเศส ต่างยอมรับหลักเสรีภาพในการทำสัญญา(Freedom of Contract) คู่สัญญาสามารถตกลงกันอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่ขัดกับนโยบายสาธารณะ(Public Policy) และไม่ขัดต่อกฎหมาย หากความตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายแต่ไปขัดกับนโยบายสาธารณะ หรือขัดต่อกฎหมาย ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ จากที่ได้ศึกษาเรื่อง ผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้าง ทั้งกฎหมายไทย กฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และกฎหมายฝรั่งเศส ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะ ดังนี้ 1.กรณีการใช้สิทธิเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างโดยผู้ว่าจ้างซึ่งไม่จำต้องอ้างเหตุใดๆ ผู้เขียนเสนอแนะให้มีการตีความว่าการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 605 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นผลของการเลิกสัญญา โดยไม่จำต้องนำผลของการเลิกสัญญาทั่วไปตามมาตรา 391 มาใช้บังคับอีก 2.สำหรับกรณีการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างโดยมีเหตุสำคัญ ผู้เขียนเสนอแนะให้ตีความมาตรา 391 วรรคสาม เพิ่มเติมโดยให้นำแบบอย่างการตีความมาจากมาตรา 346 ของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันซึ่งได้บัญญัติในเรื่องการใช้ค่าแห่งการงานสำหรับกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไว้อย่างชัดเจน


ปัญหาในการดำเนินคดีอาญากรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนพิการทางสติปัญญา, ชัญญานุช กอบกุลธนชัย Jan 2018

ปัญหาในการดำเนินคดีอาญากรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนพิการทางสติปัญญา, ชัญญานุช กอบกุลธนชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

คนพิการทางสติปัญญาเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจากการที่สมองหยุดพัฒนาหรือพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้มีข้อจำกัดด้านทักษะทางความคิด ทักษะทางสังคม และทักษะทางการปฏิบัติ ด้วยภาวะความบกพร่องดังกล่าวทำให้คนพิการทางสติปัญญามีความอ่อนแอทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เมื่อคนพิการทางสติปัญญาตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และสถานการณ์ที่มุ่งแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว คนพิการทางสติปัญญาจึงไม่อาจเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ และอาจมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลปกติทั่วไป หรือไม่อาจแสดงออกถึงความคิดและการตัดสินใจของตนเองได้อย่างเต็มที่ จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการดำเนินคดีอาญากรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาเป็นการเฉพาะ ทำให้การดำเนินคดีอาญาทั้งในชั้นก่อนการพิจารณาคดี ชั้นพิจารณาคดี และชั้นหลังการพิจารณาคดีขาดความชัดเจนแน่นอน อีกทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายยังคงขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการทางสติปัญญา จึงไม่อาจให้การสนับสนุนแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในการขั้นตอนต่าง ๆ ได้ตามความต้องการเฉพาะ ในต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาในการดำเนินคดีอาญา มีการฝึกอบรมและจัดทำคู่มือแนวทางในการปฏิบัติตนสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนพิการทางสติปัญญา ทั้งกำหนดให้มีการช่วยเหลือ สนับสนุนคนพิการทางสติปัญญาให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย วิทยานิพนธ์เล่มนี้เสนอให้ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาเป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน โดยกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้คนพิการทางสติปัญญาได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งในชั้นก่อนการพิจารณาคดี ชั้นพิจารณาคดี และชั้นหลังการพิจารณาคดี และให้มีการจัดทำคู่มือรวมถึงการฝึกอบรมผู้บังคับใช้กฎหมายในขั้นตอนต่าง ๆ ให้สามารถปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาได้อย่างเหมาะสม


ปัญหาที่อาจเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ณพวิทย์ เจริญธุระยนต์ Jan 2018

ปัญหาที่อาจเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ณพวิทย์ เจริญธุระยนต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยเปรียบเทียบความยากง่ายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเอง และหาข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยการการศึกษาวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐธรรมนูญต่างประเทศ หนังสือ บทความ วารสาร จุลสาร เอกสารเผยแพร่ของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนต่าง ๆ รายงานการประชุม รายงานการวิจัย เอกสารประกอบการสัมมนา ข้อมูลจากระบบสารสนเทศ โดยการนำข้อมูลการวิจัยจากเอกสารมาวิเคราะห์และหาข้อสรุป การแก้ปัญหาระยะยาวคือการทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมง่ายลง แบ่งการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นระดับตามเรื่องที่จะแก้ไขเพิ่มเติม แยกการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับกรณีแก้ไขเพิ่มเติมทั่วไป ตลอดจนการจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณี หากเกิดกรณีต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจแก้ไขเพิ่มเติมไม่สำเร็จจะต้องกลับไปสู่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนออกความเห็นว่ารัฐธรรมนูญสมควรได้รับการแก้ไขหรือไม่และแนบคำถามพ่วงถึงวิธีการที่ให้ใช้ในการแก้ไขดังกล่าว


ปัญหาการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศในการคำนวณภาษีศึกษาเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล, ธัญชิตา จริงจิตร Jan 2018

ปัญหาการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศในการคำนวณภาษีศึกษาเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล, ธัญชิตา จริงจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและทำความเข้าใจหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีในธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรและมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานรายการทางการเงินไทย ทั้งนี้ เพื่อทราบถึงสภาพปัญหาเกี่ยวกับการตีราคาเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ จากนั้นจะได้ทำการศึกษาหลักกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการการตีราคาเพื่อคำนวณภาษีสำหรับธุรกรรมดังกล่าวในต่างประเทศ ทั้งทางด้านภาษีอากร และการบัญชีและการเงิน เพื่อเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษาโดยการวิจัยจากเอกสาร ด้วยวิธีพรรณนาและวิเคราะห์โดยทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือคำอธิบาย บทความในหนังสือ บทความในวารสาร ประมวลรัษฎากร รวมถึงข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องโดยรวบรวมให้เป็นระบบโดยนำมาศึกษาเปรียบเทียบจากหลักบางประการของประเทศสหรัฐอเมริกา และวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะที่ชัดเจน จากการศึกษาพบว่า ประมวลรัษฎากรตามมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ (5) ยังไม่หลักเกณฑ์การรับรู้กำไรขาดทุนจากการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กล่าวคือ หลักเกณฑ์การรับรู้กำไรขาดทุนจากการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศตามประมวลรัษฎากรขาดความชัดเจน จึงทำให้เกิดปัญหาในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในธุรกรรมที่เกี่ยวกับสัญญาอนุพันธ์และธุรกรรมการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงควรมีการบัญญัติหลักเกณฑ์ในการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ โดยกำหนดประเภทธุรกรรมใช้ชัดเจนว่า ธุรกรรมใดบ้างเป็นธุรกรรมที่ต้องต้องนำมาตีราคาเพื่อรับรู้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมทั้งกำหนดวิธีการในการตีราคาที่แตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงลักษณะและทรัพย์สินอ้างอิงของธุรกรรมนั้น ๆ เป็นสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเป็นธรรมและหลักความสม่ำเสมอในการจัดเก็บภาษี


บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองไทย : กรณีศึกษา รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน, ชนินทร์ อินทรปัญญา Jan 2018

บทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองไทย : กรณีศึกษา รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน, ชนินทร์ อินทรปัญญา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงความสัมพันธ์และอิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีต่อบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการจัดทำรายงานและการให้ความเห็นของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในต่างประเทศภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ราชอาณาจักรอังกฤษ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และราชอาณาจักรสเปน กับการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการให้ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองไทย จากการศึกษาพบว่า การให้ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณียังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ชัดเจนมากนัก และในบางกรณีได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก เช่น ในหลายกรณีมิได้มีการให้ความเห็นที่กล่าวถึงคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมิได้กล่าวว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในบางกรณีมิได้มีการให้ความเห็นที่ยึดถือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นคุณค่าสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาของการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการให้ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยจึงต้องหาทางออกหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งให้การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้


ประเทศไทยกับการปรับใช้วิธีการตรวจสอบกำไรของธุรกรรมข้ามชาติตามหลักวัตถุประสงค์สำคัญ (Principal Purpose Test), วรนาถ ตันตีศิริวิทย์ Jan 2018

ประเทศไทยกับการปรับใช้วิธีการตรวจสอบกำไรของธุรกรรมข้ามชาติตามหลักวัตถุประสงค์สำคัญ (Principal Purpose Test), วรนาถ ตันตีศิริวิทย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และจากทุน (อนุสัญญาภาษีซ้อน) กับรัฐต่าง ๆ โดยละเว้นหลักวัตถุประสงค์สำคัญ (Principal Purpose Test) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยตรวจสอบกำไรของธุรกรรมข้ามชาติ ให้ประเทศแหล่งเงินได้ไม่สูญเสียผลประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีจากการค้าระหว่างประเทศ เอกัตศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาหาจุดสมดุลสำหรับการนำหลักการ Principal Purpose Test มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ร่วมลงนามกับรัฐต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงระหว่างรัฐเรื่องของเครื่องมือพหุภาคี (MLI) โดยทำการศึกษาที่มาและความสำคัญของหลักการ Principal Purpose Test สำหรับกฎหมายภาษีระหว่างรัฐ ศึกษาหลักการ Principal Purpose Test ที่บังคับใช้ในต่างประเทศ วิเคราะห์ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบในการนำหลักการ Principal Purpose Test มาบังคับใช้ในประเทศไทย และศึกษามาตรฐานการบัญชีและการตรวจสอบบัญชีของประเทศไทยที่จะมารองรับให้การตรวจสอบกำไรของนิติบุคคลให้เป็นไปตามหลักการ Principal Purpose Test จากการศึกษาหลักการ Principal Purpose Test สามารถสรุปผลได้ว่าประเทศไทยสมควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับใช้หลักการ Principal Purpose Test เพื่อลดช่องโหว่การหลบเลี่ยงภาษีของนักลงทุนต่างประเทศ ป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนในทางที่ไม่ถูกต้อง (The Prevention of Treaty Abuse) และป้องกันการบิดเบือนการแข่งขันระหว่างธุรกิจภายในประเทศและธุรกิจบริษัทข้ามชาติ เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีในประเทศไทยโดยยึดถือวัตถุประสงค์ในการเข้าทำธุรกรรมเป็นสาระสำคัญ เพื่อป้องกันและจำกัดสิทธิประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน โดยผู้เสียภาษีต้องสามารถชี้แจงและแสดงหลักฐานว่าการได้รับประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนนั้นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาภาษีซ้อนอย่างแท้จริง


Application Of The Principle Of Complementarity By The International Criminal Court, 2002 - 2018, Kitti Jayangakula Jan 2018

Application Of The Principle Of Complementarity By The International Criminal Court, 2002 - 2018, Kitti Jayangakula

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The International Criminal Court (ICC) was established for ensuring the effectiveness of bringing the perpetrators of international crimes to justice. In addition, the ICC plays its role in order to promote the rule of law in the international community. To archive these ultimate goals, the Rome Statute of the International Criminal Court outlines its role as a court of the last resort by emphasising states themselves are primarily responsible for the prosecution of international crimes. The main duty of the Court is to complement the proceedings at the national level of the state concerned (the principle of complementarity). The ICC …


ปัญหาการตัดรายจ่ายทางธุรกิจกับรายจ่ายส่วนตัวที่มีลักษณะผสมของผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดา, จักรพันธ์ ตันทะรา Jan 2018

ปัญหาการตัดรายจ่ายทางธุรกิจกับรายจ่ายส่วนตัวที่มีลักษณะผสมของผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดา, จักรพันธ์ ตันทะรา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันมีผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาจำนวนมากที่มีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (6) (7) และ (8) โดยในการหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น ผู้เสียภาษีสามารถเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา กล่าวคือ หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้หรือเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ ซึ่งถ้าผู้เสียภาษีเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ได้กำหนดให้ผู้เสียภาษีนำมาตรา 65 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2540 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีที่บุคคลธรรมดาประกอบการค้าหรือธุรกิจมักจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะผสมระหว่างค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะส่วนตัวกับค่าใช้จ่ายทางธุรกิจขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้บ้านทำเป็นสำนักงาน ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทางไปประกอบการค้าหรือธุรกิจ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการนำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาใช้ประกอบการค้าหรือธุรกิจ ค่าความบันเทิงทางธุรกิจ และค่าใช้จ่ายของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น แต่บทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิและมาตรา 65 ตรี เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการคำนวณกำไรสุทธิของผู้เสียภาษีที่เป็นนิติบุคคลและรายจ่ายต้องห้ามที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถที่จะนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติที่รองรับการปันส่วนค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะผสมระหว่างค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะส่วนตัวกับค่าใช้จ่ายทางธุรกิจไว้แต่อย่างใด จึงก่อให้เกิดปัญหาการปันส่วนค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะผสมดังกล่าวขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการพิจารณาหลักเกณฑ์การปันส่วนค่าใช้จ่ายตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง และหลักเกณฑ์การปันส่วนรายจ่ายที่มีลักษณะผสมระหว่างรายจ่ายส่วนตัวกับราจ่ายทางธุรกิจของต่างประเทศ เพื่อให้ได้มีการกำหนดบทบัญญัติที่รองรับการปันส่วนรายจ่ายที่มีลักษณะผสมดังกล่าว


มาตรการทางอาญาในการบำบัดฟื้นฟูและป้องกันการติดเกมในเด็ก, ลลิต์ภัทร ช่วยคุ้ม Jan 2018

มาตรการทางอาญาในการบำบัดฟื้นฟูและป้องกันการติดเกมในเด็ก, ลลิต์ภัทร ช่วยคุ้ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางอาญาในการบำบัดฟื้นฟูและป้องกันการติดเกมในเด็ก โดยศึกษาเปรียบเทียบกรณีการนำบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตของไทยและต่างประเทศประกอบกับข้อมูลทางด้านการแพทย์ในปัจจุบัน การเล่นเกมของเด็กติดต่อกันเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต และก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจนอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ และเมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคติดเกมเป็นโรคทางจิตเวช แต่การบำบัดฟื้นฟูการติดเกมในเด็กยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรง มีเพียงพระราชบัญญัติสุขภาพจิตที่อาจนำมาปรับใช้กับบุคคลที่มีอาการทางจิตในระดับรุนแรงได้ ทว่าก็ยังไม่มีความเหมาะสมพอหากนำมาตรการตามกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้กับการบำบัดฟื้นฟูการติดเกมในเด็ก นอกจากนี้ในเรื่องการป้องกันที่เป็นปัจจัยแวดล้อมนั้น ก็ยังคงพบปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายในการควบคุมการติดเกมในเด็กที่ยังใช้ไม่ได้จริง แตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีที่ต่างก็มีมาตรการป้องกันการติดเกมในเด็กทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงเสนอให้ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรการทางอาญาในการบำบัดฟื้นฟูการติดเกมในเด็ก โดยกำหนดนิยามโรคติดเกมให้ชัดเจน กำหนดขั้นตอนการเข้ารับการบำบัด และการติดตามผลที่เหมาะสมกับเด็ก รวมถึงมาตรการทางอาญาในการป้องกันการติดเกมในเด็ก อันได้แก่ กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบ นำเสนอขั้นตอนการตรวจพิจารณา สนับสนุนการจัดระดับความเหมาะสมของเกม และควบคุมผู้ประกอบการร้านเกม เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเกมในเด็กซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญในสังคมปัจจุบัน


การรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอตามกฎหมายไทย, วิรัญญา ตินโนเวช Jan 2018

การรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอตามกฎหมายไทย, วิรัญญา ตินโนเวช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงการรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอตามกฎหมายไทย ทั้งในมิติด้านกฎหมาย และด้านนโยบาย โดยจะเป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย จากการศึกษาพบว่า สิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติ และเป็นรากฐานที่จะทำให้มนุษย์สามารถอุปโภคสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ทั้งไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ไม่มีการรับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และรัฐบัญญัติที่ส่งเสริมองค์ประกอบสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอในบางประการ และทั้งสามประเทศก็มิได้ให้น้ำหนักความสำคัญกับองค์ประกอบของสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอทั้ง 7 องค์ประกอบอย่างเท่าเทียมกันโดยแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งสำหรับไทยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใด เพื่อส่งเสริมให้สิทธิดังกล่าวได้รับการปฏิบัติอย่างองค์รวม ในการนี้ เพื่อส่งเสริมการรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ จึงเห็นสมควรออกกฎหมายกลาง กล่าวคือ พระราชบัญญัติการส่งเสริมสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ เพื่อส่งเสริมการรับรองและคุ้มครองสิทธิดังกล่าว และเป็นแนวทางไปสู่การพิจารณารับรองสิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอในรัฐธรรมนูญของไทยต่อไปในอนาคต


แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในการได้รับใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยานอกสถานพยาบาล : ศึกษากรณีโรงพยาบาลเอกชน, ภารดี เตชะศิระประภากุล Jan 2018

แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในการได้รับใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยานอกสถานพยาบาล : ศึกษากรณีโรงพยาบาลเอกชน, ภารดี เตชะศิระประภากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน ในกรณีของผู้ป่วยนอกหากจำเป็นต้องใช้ยาและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับยา แพทย์ผู้ทำการรักษาจะส่งใบสั่งยาผ่านระบบออนไลน์ไปที่แผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลให้ผู้เข้ารับบริการมีภาระผูกพันที่จะต้องรับยาที่โรงพยาบาลระบบดังกล่าว นอกจากจะส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีสิทธิเลือกชื่อทางการค้าของยา ในกรณีที่ยาชนิดหนึ่งผลิตขึ้นโดยมีชื่อทางการค้ามากกว่า 1 ชื่อ ยังนำมาซึ่งปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับยากในโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงเกินจริง และเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภคในการไปซื้อยานอกสถานพยาบาล จากการศึกษาพบว่า แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 จะให้การรับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการ และสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ แต่เนื่องจากยารักษาโรคเป็นสินค้าที่มีลักษณะแตกต่างจากสินค้าเศรษฐกิจชนิดอื่น คือ ยารักษาโรคเป็นสินค้าที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ สามารถต่อชีวิตให้ยืนยาวได้ ในขณะเดียวกันหากบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็เกิดโทษได้เช่นกัน ประกอบกับผู้บริโภคอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถกำหนดชนิด และปริมาณที่จะควรจะได้รับยารักษาโรคได้ การตัดสินใจขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา ดังนั้นการออกไปซื้อยานอกสถานพยาบาล ซึ่งเป็นสิทธิในการเลือกซื้อสินค้า จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริโภคได้รับใบสั่งยา ที่มีลักษระเป็นคำสั่งหรือรายละเอียดในการให้ยาที่ออก และลงชื่อรับรองโดยแพทย์ผู้ตรวจรักษาบทบัญญัติแห่งกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงยังไมเพียงพอที่จะนำมารับรองสิทธิของผู้บริโภคในการไปซื้อยานอกสถานพยาบาลได้ ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับใบสั่งยา ผู้ประกอบวิชาชีพที่สามารถออกใบสั่งยา ผู้ประกอบวิชาชีพที่สามารถส่งมอบยาได้ รวมถึงรายละเอียดอื่นที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการออกใบสั่งยา และมีบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิของผู้บริโภคในการได้รับใบสั่งยาเพื่อไปซื้อยานอกสถานพยาบาลไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ภาครัฐควรมีมาตรการเข้ามากำกับดูแลร้านขายยาให้มีคุณภาพ มาตรฐาน มีระบบการจัดทำบันทึกเกี่ยวกับการจ่ายยาตามใบสั่งยา ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค


มาตรการทางกฎหมายในการคำนวณค่าเสื่อมราคาของปัญญาประดิษฐ์, แกมมณี ใหม่เจริญนุกูล Jan 2018

มาตรการทางกฎหมายในการคำนวณค่าเสื่อมราคาของปัญญาประดิษฐ์, แกมมณี ใหม่เจริญนุกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ด้วยสภาพปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยสารสนเทศไปอย่างมากจนเป็นผล ทำให้ทรัพย์สินบางประเภทเปลี่ยนสภาพไป หรือเกิดทรัพย์สินประเภทใหม่ขึ้นในปัจจุบัน จึงเกิดเทคโนลยีประเภทใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) ซึ่งมีอัลกอริทึม ในการจดจำเรียนรู้ชุดคำสั่งและข้อมลที่ใช้ในอดีต แล้ววิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนา เพื่อให้ งานบรรลุผลสำเร็จดียิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องรับชุดคำสั่งใหม่อีกครั้ง จากมนุษย์ ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้ปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ ภาคพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมในอนาคตที่สำคัญ จากการศึกษากฎหมาย ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการคิดค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน พบว่า มีเพียงพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2527 เท่านั้น ที่อธิบายถึงวิธีการคำนวณการหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน จึงทำให้การนำพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวที่ประกาศบังคับใช้ เมื่อ 35 ปีก่อน มาปรับใช้ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของปัญญาประดิษฐ์ที่ทรัพย์สิน ประเภทใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่ แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเสนอให้มีการเพิ่มข้อกฎหมายใหม่ที่เฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับวิธีการคำนวณการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของปัญญาประดิษฐ์ โดยคำนึงถึง การใช้งานจริง เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์มีคุณสมบัติในการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงไม่เข้าข่ายลักษณะ ของคอมพิวเตอร์ หรือทรัพย์สินอื่นที่นิยามไว้ในกฎหมาย จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมล จากภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการและภาคเอกชน ผู้เขียนได้แยกพิจารณาการคิดค่าเสื่อมราคา ของปัญญาประดิษฐ์ตามกฎหมายปัจจุบัน ออกเป็น 4 กรณี ตามเงื่อนไขของประเภททรัพย์สินและ อายุการใช้ประโยชน์ ซึ่งพบว่า ตามเงื่อนไขของประเภททรัพย์สินและอายุการใช้ประโยชน์ ซึ่งพบว่า การกำหนดให้คำนวนค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินสั้นเกินกว่าอายุการใช้ประโยชน์จะทำให้ ผู้ประกอบการสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ทางภาครัฐ หรือกรมสรรพากรจะมีความสามารถในการจัดเก็บภาษีได้น้อยลงอยางมีนัยสำคญ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน จึงเสนอให้บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายฝ่ายทุน (Capital expense) รวมถึงเก็บสถิติการใช้งาน และแยกนิยาม Hardware Software และ Software ที่มีอัลกอลิทึม ออกจากกัน เพื่อแยกกันคำนวนอายุการใช้ประโยชน์ของแต่ละส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน โดยใช้ หลักเศรษฐศาสตร์เรื่องประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและหลักการทางบัญชีเรื่องอายุการใช้ประโยชน์ของ ทรัพย์สินเข้ามาช่วยในการคิด วิเคราะห์ เพื่อหาอายุของทรัพย์ที่เหมาะสมที่สุด


การควบคุมราคาขายท่อพีวีซีในประเทศไทย, ชาญณุชา อึ้งศิริไพศาล Jan 2018

การควบคุมราคาขายท่อพีวีซีในประเทศไทย, ชาญณุชา อึ้งศิริไพศาล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมราคาขายสินค้าท่อพีวีซี ด้วยวิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเอกสาร ตำราวิชาการที่เกี่ยวข้อง บทความ งานวิจัยและสื่ออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับโครงสร้างตลาด หลักเศรษฐศาสตร์ มาตรการการควบคุมสินค้าท่อพีวีซีของประเทศสหรัฐอเมริกา เวียดนามและประเทศไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสมในการใช้กฎหมายควบคุมราคาขายสินค้าท่อพีวีซีในประเทศไทยภายใต้ระบบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม กฎระเบียบของภาครัฐที่ใช้บังคับในเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมสินค้าท่อพีวีซีซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย มีการกำหนดราคาไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องอุปสงค์และอุปทาน ถึงแม้เจตนารมณ์ของกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 นั้นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ผลลัพธ์นั้นกลับเป็นการแทรกแซงและเพิ่มภาระเกินสมควรแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องด้วยเหตุผลจากการผลิตท่อพีวีซีนั้น ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากสายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทำให้ราคาวัตถุดิบผันผวนมากในขณะที่ราคาขายถูกกำหนดไว้ ในบางช่วงเวลาผู้ผลิตท่อพีวีซีอาจขาดทุนมากหากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงเกินกว่าราคาขายที่ถูกกำหนด ผู้บริโภคได้ซื้อท่อพีวีซีในราคาถูกเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในทางกลับกันหากต้นทุนวัตถุดิบลดต่ำลงกว่าราคาขายที่ถูกกำหนดมาก ผู้ผลิตท่อพีวีซีก็จะได้กำไรเกินกว่าความเป็นจริง แต่ผู้บริโภคกลับได้ซื้อท่อพีวีซีในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จากปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้อุตสาหกรรมท่อพีวีซีเกิดปัญหาขึ้นในระยะยาวและอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีผู้ผลิตรายใหญ่ 2 รายที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 แต่กลไกตลาดก็ยังคงทำงาน เมื่อใดก็ตามที่ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งขึ้นราคา ส่วนแบ่งการตลาดจะตกไปเป็นของคู่แข่งทันที และเมื่อเปรียบเทียบการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมราคา รวมถึงการแข่งขันของท่อพีวีซีในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเวียดนาม พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเวียดนามไม่ได้มีกฎหมายที่ควบคุมราคาหรือกำหนดเพดานราคาสำหรับอุตสาหกรรมท่อพีวีซีแต่อย่างใด แต่ประเทศเหล่านี้ใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในการป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม ผู้วิจัยเสนอแนะให้ถอดสินค้าท่อพีวีซีออกจากบัญชีสินค้าควบคุมพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และภาครัฐควรเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมราคามาเป็นการกำกับดูแลราคาโดยใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม


มาตรการการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในประเทศจีน: โอกาสและปัญหาสำหรับผู้ประกอบการไทย, มนสิชา จันทวิมล Jan 2018

มาตรการการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในประเทศจีน: โอกาสและปัญหาสำหรับผู้ประกอบการไทย, มนสิชา จันทวิมล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการพัฒนาของประเทศจีนนั้นเป็นการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กันไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบคมนาคม ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร และระบบการเงิน การพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากร เป็นต้น ทำให้ประเทศจีนก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นแผนยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนยังเป็นสิ่งที่นานาประเทศจับตามอง อาทิเช่น ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) หรือ “一带一路” ซึ่งเป็นแนวคิดจากรัฐบาลยุคปัจจุบัน สี จิ้นผิง มีความมุ่งประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมและสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ยุทธศาสตร์หลักฉบับนี้ทำให้ประเทศจีนได้ออกนโยบายซึ่งสนับสนุนการค้าขายกับต่างประเทศ อันได้แก่ “นโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน” ซึ่งเป็นนโยบายพิเศษเพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำเข้าสินค้าในรูปแบบปลีกจากต่างประเทศสู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยการสั่งซื้อผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในประเทศจีนที่กำหนด และมีกฎเกณฑ์กฎระเบียบต่าง ๆ ตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้า นอกจากนั้นในการกำหนดนโยบายในครั้งนี้ รัฐบาลประเทศจีนยังมีความมุ่งประสงค์ที่จะขจัดปัญหาการนำเข้าสินจ้าปลีกโดยการหลีกเลี่ยงภาษีจาก “ผู้รับหิ้ว” ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่ชาวจีนได้ปฏิบัติเป็นจำนวนมากตั้งแต่ยุคที่มีการพัฒนาด้านการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตการนำเข้าด้วยวิธีดังกล่าวจะเป็นการนำสินค้าติดตัวกลับมายังประเทศจีน ไม่มีการสียภาษีอย่างถูกต้อง จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของการผลักดันนโยบายดังกล่าวโดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการผ่อนปรนมาตรการการนำเข้าให้ผู้ประกอบการต่างประเทศสามารถนำสินค้าของตนเข้าสู่ประเทศจีนได้อย่างง่ายขึ้น นโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการไทย โดยเป็นทางเลือกใหม่ในการเข้าสู่ตลาดที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นประเทศจีน ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวมีกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบหลายข้อ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะและใหม่สำหรับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสำหรับประเทศจีนเองก็ตาม ในเอกัตศึกษาฉบับนี้ผู้ศึกษาจะศึกษาถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบาย รวมไปถึงกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากนำเข้าสินค้าภายใต้นโยบายดังกล่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้อย่างไร เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศไทย


แนวทางในการนำค่าใช้จ่ายเงินบริจาคที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเป็นยอดยกไปเพื่อหักค่าใช้จ่ายเงินบริจาคของประเทศไทย, วันวิสาข์ พาบุญ Jan 2018

แนวทางในการนำค่าใช้จ่ายเงินบริจาคที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเป็นยอดยกไปเพื่อหักค่าใช้จ่ายเงินบริจาคของประเทศไทย, วันวิสาข์ พาบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์เงินบริจาคในประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีการให้สิทธิประโยชน์ในการนำเงินบริจาคที่ไม่สามารถใช้สิทธิในปีภาษีปัจจุบัน เนื่องมาจากมียอดเงินบริจาคมากกว่ารายได้ในปีภาษีเดียวกัน โดยสำนักงานสรรพากรสิงคโปร์มีการให้สิทธิประโยชน์โดยการนำเงินบริจาคดังกล่าวยกไปใช้ได้ภายใน 5 ปีภาษีถัดไป เนื่องมาจากประเทศสิงคโปร์มีนโยบายในการกระตุ้นให้ผู้เสียภาษีมีการช่วยเหลือสังคมโดยการบริจาค เมื่อทำการศึกษาการหักเงินบริจาคในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร ที่มีเงื่อนไขในการปฏิบัติตามมาตรา 65 ตรี (3) และพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่เกี่ยวข้องโดยให้สิทธิในการหักเงินบริจาคเป็นจำนวน 2 เท่า แต่หักได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักค่าใช้จ่ายเงินบริจาคในปีภาษีที่เงินบริจาคเกิดขึ้นสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล และหักได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอย่างอื่นก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาคสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่าการหักเงินบริจาคดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้เสียภาษี และยังส่งผลให้ไม่สามารถผลักดันให้ผู้เสียภาษีมีการบริจาคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ขั้นตอนในการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการบริจาคของประเทศไทยนั้นจะเริ่มต้นจากมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา โดยจะมีสถานะและผลทางกฎหมาย คือ การใช้อำนาจบริหารของคณะรัฐมนตรี ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายตามแบบพิธีและไม่มีผลบังคับต่อประชาชน และในเวลาต่อมาถึงจะมีการออกพระราชกฤษฎีกา และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรตามลำดับ ซึ่งในการจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการการบริจาคที่ถูกต้องครบถ้วนตามหลักทางภาษีอากรนั้น ผู้เสียภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดเท่านั้น จากที่กล่าวมาข้างต้น สิทธิในการนำค่าใช้จ่ายเงินบริจาคที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิในปีปัจจุบันเป็นยอดยกไปเพื่อใช้สิทธิในอีก 5 ปีภาษีของประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นการยึดตามหลักความแน่นอนและการประหยัดของสิทธิที่ผู้เสียภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาพึงมีจะได้รับสิทธิที่เกิดจากความเสียสละเงินหรือทรัพย์สินต่างๆเพื่อบริจาคให้กับองค์การที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นหน่วยงานที่มีการให้ความช่วยเหลือกับสังคม และเพื่อเป็นประโยชน์และลดภาระของรัฐบาลในการที่จะทำให้ประเทศพัฒนาในด้านต่างๆต่อไปได้อย่างต่อเนื่องจึงควรนำมาปรับใช้กับกฎหมายของประเทศไทย


การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage) ในอาคาคและบ้านพักอาศัย : ศึกษากรณีประเทศสหรัฐอเมริกา, ณัฐกิตต์ โกยกุล Jan 2018

การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage) ในอาคาคและบ้านพักอาศัย : ศึกษากรณีประเทศสหรัฐอเมริกา, ณัฐกิตต์ โกยกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน แต่พลังงานฟอสซิลที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้ามายาวนานมีแนวโน้มที่จะหมดลง รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทำให้มีการคิดค้นวิธีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมซึ่งสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าตลอดเวลา ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีราคาสูงไม่คุ้มค่าต่อการติดตั้ง การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าการเก็บภาษีเงินได้ของประเทศสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างจากประเทศไทยเนื่องจากมีการเก็บภาษีใน 2 ระดับ คือ ระดับรัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่นหรือระดับรัฐ แตกต่างจากประเทศไทยที่เก็บภาษีเงินได้เฉพาะระดับรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว โดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบของเครดิตภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมูลค่าของแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ในส่วนของนิติบุคคลนอกจากได้รับสิทธิในการเครดิตภาษีแล้วยังได้รับสิทธิในการตัดค่าเสื่อมราคาด้วยวิธี Modified Accelerated Cost Recovery System (MACRS) เป็นเวลา 5 ปี ทำให้สามารถตัดค่าเสื่อมได้ด้วยอัตราเร่ง ซึ่งทำให้กิจการรับรู้ค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปกติในปีแรก ๆ ส่งผลให้เสียภาษีเงินได้ในปีแรก ๆ ลดลง และยังได้สิทธิเลือกตัดค่าเสื่อมราคาทั้งหมดได้ในปีแรกอีกด้วย ส่วนกรณีของท้องถิ่นในบางรัฐ เช่น รัฐแมรี่แลนด์มีการให้สิทธิในการเครดิตภาษีทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมจากรัฐบาลกลาง ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการสนับสนุนให้อาคารและบ้านพักอาศัยติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า ข้าพเจ้าจึงได้เสนอแนะแนวทางให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้า และให้สิทธิเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเต็มจำนวนของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าในปีแรก รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือกับหน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐสถานศึกษาของรัฐ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ โดยเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ลดการใช้พลังงงานจากฟอสซิล ลดมลภาวะ และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า


แนวทางการนำมาตรการบรรเทาภาระภาษีเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ทางวิชาชีพบัญชีมาใช้ในประเทศไทย, พรนภัส ประเสริฐกุล Jan 2018

แนวทางการนำมาตรการบรรเทาภาระภาษีเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ทางวิชาชีพบัญชีมาใช้ในประเทศไทย, พรนภัส ประเสริฐกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงมาตรการบรรเทาภาระทางภาษีที่รัฐบาลกำหนดให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยมุ่งเน้นในเรื่องมาตรการหักค่าค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้จ่ายไปเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ในทางวิชาชีพของตนว่าเป็นไปตามหลักความสามารถในการเสียภาษีและหลักความเป็นธรรมในการเสียภาษีอย่างแท้จริงหรือไม่ โดยผู้เขียนได้ทำการศึกษาถึงมาตรการบรรเทาภาระภาษีของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะวิชาชีพบัญชี นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงมาตรการบรรเทาภาระภาษีของประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับมาตรการบรรเทาภาระภาษีในประเทศไทยเพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศไทยศึกษาและนำแนวทางดังกล่าวมาปรับปรุงพัฒนาประมวลรัษฎากร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในประเทศไทย จากการศึกษาพบว่ามาตรการทางภาษีของประเทศไทยยังขาดมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ทางวิชาชีพแก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งเป็นผู้เสียภาษีโดยตรง เช่น ค่าธรรมเนียมการสอบ และค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ ส่งผลให้เกิดปัญหา 2 ประการ คือการแบกรับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเกินสมควรไม่เป็นไปตามหลักความสามารถในการเสียภาษี และความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีของไทยต้องการแบกรับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มากเกินสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศสิงคโปร์ พบว่ารัฐบาลได้กำหนดมาตรการบรรเทาภาระทางภาษี คือการหักค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรง เพื่อเป็นแรงจูงใจหรือกระตุ้นให้กับผู้ประกอบวิชาชีพมีการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของต้นเอง และเพิ่มการจ้างงานของประเทศสิงคโปร์ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้บุคลากรพัฒนาทักษะความรู้ในอาชีพที่ตนทำ และทำให้เกิดความเป็นธรรมในการบรรเทาภาระภาษีอย่างแท้จริง ผู้เขียนได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ประการ โดยผู้เขียนเห็นว่าวิธีการดัวกล่าวมีความเหมาะสม สามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้กับประเทศไทยได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เกิดการบรรเทาภาระภาษีแก่ตัวผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีโดยตรงช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเสียภาษีตามหลักความสามารถ หลักความเสมอภาค และก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และเป็นการดึงดูดให้มีการเพิ่มจำนวนแรงงานที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมากขึ้น


มาตรการบังคับโทษจำคุกผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคม, เจษฎาภรณ์ โภคบุตร Jan 2018

มาตรการบังคับโทษจำคุกผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคม, เจษฎาภรณ์ โภคบุตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการบังคับโทษจำคุกโดยศึกษาแนวคิด หลักเกณฑ์การบังคับใช้มาตรการบังคับโทษจำคุกผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายตามกฎหมาย ต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาหลักเกณฑ์การบังคับโทษจำคุกผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายต่อ สังคมที่เหมาะสมกับสภาพบริบทสังคมประเทศไทย การบังคับโทษผู้กระทำความผิดภายหลังศาลมีคำพิพากษาตัดสินให้จำเลยได้รับโทษจำคุก จำเลยจะต้องถูกบังคับโทษภายใต้หน่วยงานราชทัณฑ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภายในระยะเวลาเพียงไม่นาน ผู้ ต้องโทษก็อาจจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำผ่านกระบวนการผ่อนผันโทษ ทำให้เกิดปัญหาใน กรณีหากนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อนกำหนดเป็นบุคคลอันตราย ในต่างประเทศจึงได้คิด มาตรการบังคับโทษจำคุกที่นำมาใช้กับกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมเป็นกรณีเฉพาะ โดย การกันมิให้ผู้กระทำความผิดในกลุ่มนี้ไปกระทำความผิดอีก เพื่อให้สังคมเกิดความปลอดภัยจากอาชญากร ที่เป็นอันตราย โดยมาตรการบังคับโทษจำคุกผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายในประเทศไทย ดังที่มี ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติ ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นมาตรการที่ไม่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอทำให้ไม่สามารถนำไปปรับใช้แก่ผู้ต้องโทษ ที่เป็นบุคคลอันตรายได้ อีกทั้งมาตรการดังกล่าวก็ไม่สอดคล้องกับหลักการปรับใช้โทษให้เหมาะสมและได้ สัดส่วนแก่ผู้กระทำความผิดแต่ละคน ดังนั้น จึงควรกำหนดให้มาตรการบังคับโทษจำคุกมีระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยซึ่งภายใต้ ระยะเวลาดังกล่าวผู้ต้องโทษจะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการผ่อนผันในการบังคับโทษของราชทัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาอาชญากรรมกรณีผู้กระทำความผิดเป็นอันตรายต่อสังคมได้อย่างครอบคลุม และเพื่อป้องกันสังคมจากความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นในอนาคต