Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2018

Articles 1 - 30 of 89

Full-Text Articles in Law

ปัญหาการชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันปราศจากความเสียหายทางกายภาพ กรณีน้ำมันรั่วภายใต้กฎหมายไทย, ณัฐกิตติ์ วงศ์วิวัฒน์ชัย Jan 2018

ปัญหาการชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันปราศจากความเสียหายทางกายภาพ กรณีน้ำมันรั่วภายใต้กฎหมายไทย, ณัฐกิตติ์ วงศ์วิวัฒน์ชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีความมุ่งหมายในการศึกษาเรื่องการชดเชยค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากมลพิษน้ำมันสภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากมลพิษน้ำมัน สภาพปัญหาของกระบวนการชดเชยค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากมลพิษน้ำมันตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทย และศึกษาตัวอย่างกระบวนการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของต่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนากลไกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายเฉพาะว่าด้วยความรับผิดเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมันของไทย จากการศึกษาพบว่ากระบวนการชดเชยค่าสินไหมทดแทน ในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากขาดกลไกการชดเชยค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายที่มีความรวดเร็วทันท่วงที และมีปัญหาของการที่บทบัญญัติไม่ได้กำหนดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันปราศจากความเสียหายทางกายภาพไว้อย่างชัดเจน จากปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยการกำหนดหน้าที่ในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น รวมถึงเสนอให้ประเทศไทยมีกองทุนเพื่อการชดเชยค่าเสียหายในเหตุการณ์น้ำมันรั่วเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่เกิดให้ทันท่วงที และเพิ่มความสูญเสียรายได้และผลกำไรไว้ในคำนิยามของคำว่าความเสียหายจากมลพิษให้ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนได้จัดทำเป็นแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือผู้ร่างกฎหมายสามารถหยิบยกไปใช้ได้ตามสมควร


ประเด็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว: กรณีศึกษาการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านตัวแทน, ธมนวรรณ ขีปนวัฒนา Jan 2018

ประเด็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว: กรณีศึกษาการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านตัวแทน, ธมนวรรณ ขีปนวัฒนา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยฉะนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายฐานรายได้ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทย การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว (VAT Refund For Tourist : VRT) จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่นานาประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 91) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรของคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 และกำหนดลักษณะของผู้ประกอบการร้านค้าและสินค้าที่นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 90) เรื่องการกำหนดคุณลักษณะและหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าให้ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 อีกทั้งยังได้กำหนดมาตรการชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวสามารถนำเงินภาษีที่ได้รับคืนดังกล่าวมาใช้สอยในประเทศได้อีกทอดหนึ่ง ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 225) เรื่องกำหนดเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 226) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ดีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามกฎหมายภาษีอากรดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหากับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว มีขั้นตอนและวิธีการในการปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้มีผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับอนุมัติเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ อีกทั้งขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้การใช้มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าในประเทศไม่ได้รับความสนใจจากทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการไทยมากเท่าที่ควร …


ความไม่เป็นธรรมในการหักรายจ่ายเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ศึกษากรณีกิจการให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน, ณัฐธิดา จิตร์วัฒนาสุข Jan 2018

ความไม่เป็นธรรมในการหักรายจ่ายเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ศึกษากรณีกิจการให้เช่าซื้อ หรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน, ณัฐธิดา จิตร์วัฒนาสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ธุรกิจเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นทางเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ในการที่จะสามารถเข้าถึงทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น รถยนต์ยานพาหนะ เครื่องจักรที่มีราคาสูงเพื่อใช้ในการประกอบกิจการหรือใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อหรรือให้เช่าแบบลีสซิ่งหลัก ๆ มีสองส่วนคือ กิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงิน เช่น บริษัท ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารทิสโก้ ฯลฯ และกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ดำเนินการบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ โดยทั้งสองประเภทนั้นจะมีลักษณะการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกัน เนื่องจากธุรกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นธุรกิจที่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นจึงมีหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องต่าง ๆ เข้ามากำกับดูแลเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งต่อประชาชนผู้บริโภคและต่อสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าธุรกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งมีลักษณะเป็นการให้สินเชื่อรายย่อยแก่ลูกหนี้ โดยลูกหนี้จะทำการผ่อนชำระให้แก่ผู้ให้สินเชื่อเป็นรายงวด ซึ่งปกติผู้ให้สินเชื่อแต่ละรายก็ย่อมมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังครอบครอง แต่อย่างไรก็ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็มีอิทธิพลมาจากหลายปัจจัย ธุรกิจประเภทนี้จึงต้องมีการประมาณเงินสำรองที่ไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งในทางภาษีถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) แต่เนื่องจากมีพระราชกำหนดแก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 17 ที่มีการยกเว้นเงินสำรองสำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (“สถาบันการเงิน”) ให้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่มีลักษณะธุรกิจเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำเงินสำรองดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ พบว่าสำหรับกิจการให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งทุกประเภทไม่ว่าเป็นสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้ามีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องแล้ว สามารถนำเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริงต่อผู้ประกอบการ


ข้อจำกัดทางกฎหมายของมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม : ศึกษากรณีมาตรการตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฉบับที่ 621 พ.ศ. 2559, กรกช เติมรุ่งเรืองเลิศ Jan 2018

ข้อจำกัดทางกฎหมายของมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม : ศึกษากรณีมาตรการตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฉบับที่ 621 พ.ศ. 2559, กรกช เติมรุ่งเรืองเลิศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นนิติบุคคลรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางสังคมเป็นหลักและมีการนำกำไรที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการกลับไปลงทุนซ้ำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมที่ตั้งไว้ โดยมิใช่เพื่อการสร้างความมั่งคั่งและเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล โดยมีการใช้โมเดลทางธุรกิจและกลไกทางตลาดมาเป็นหลักในการดำเนินการ ส่งผลให้วิสาหกิจเพื่อสังคมพึ่งพาตนเองทางการเงินได้ในระยะยาว จึงแตกต่างกับมูลนิธิหรือสมาคมทั่วไปที่ต้องอาศัยเงินบริจาคมาหล่อเลี้ยงองค์กร การดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมจึงมีความยั่งยืนสามารถทำการแข่งขันกับวิสาหกิจอื่นตามกลไกทางการตลาดได้ อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจเพื่อสังคมยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม จึงได้มีการออกมาตรการต่างๆเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมมากมายดังจะเห็นได้จาก พระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดมาตราการเพื่อการส่งเสริมไว้ 4 ลักษณะ ได้แก่ การสนับสนุนเงินลงทุน การสนับสนุนให้เกิดความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมการสนับสนุนเงินกู้ยืม และสนับสนุนให้มีระบบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เและพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 621 พ.ศ. 2559 ที่ได้กำหนดมาตรการทางภาษีไว้ โดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมและผู้ลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม จากการศึกษาพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 621 พ.ศ. 2559 พบว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมบางประการยังมีข้อบกพร่องบางประการที่อาจจะทำให้การส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและการสร้างความจูงใจให้เกิดการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการทางภาษีของประเทศอังกฤษและประเทศเกาหลีใต้พบว่ามีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกันไปแต่ทั้งสองประเทศต่างก็ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม ดังนั้น หากรัฐบาลไทยทบทวนและปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวอย่างรอบคอบก็จะทำให้มาตรการทางภาษีนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ความรับผิดของผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางเกี่ยวกับการแจ้งเตือน การระงับการทำให้ข้อมูลแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์, ชญานิศฐ์ พิมพ์ทนต์ Jan 2018

ความรับผิดของผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางเกี่ยวกับการแจ้งเตือน การระงับการทำให้ข้อมูลแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์, ชญานิศฐ์ พิมพ์ทนต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับ การทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2561 ที่ออกตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ยังไม่มีการกำหนดการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการในแต่ละประเภท อีกทั้ง ผู้ให้บริการในแต่ละประเภทมีลักษณะของการให้บริการที่แตกต่างกัน แต่กลับต้องใช้มาตรการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรือการนำข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบเดียวกัน โดยมิได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของแต่ละบริการหรือความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเนื้อหา ซึ่งผู้ให้บริการเนื้อหาควรมีความรับผิดชอบต่อเนื้อหา ในขณะที่ผู้ให้บริการทางด้านเทคนิคโดยแท้ไม่ควรมีความรับผิดใด ๆ ต่อเนื้อหา ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว อาจทำให้ผู้ให้บริการต้องแบกรับภาระมากเกินไป ทั้งในแง่งบประมาณ บุคลากร รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความรับผิด ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับสื่อขนาดใหญ่ แต่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเว็บไซต์ประเภทที่ผู้ใช้บริการเป็นผู้สร้างเนื้อหา (user generated content) และเว็บไซต์ขนาดเล็ก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ ผู้ให้บริการดังกล่าวเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censorship) ยิ่งขึ้น มิเช่นนั้นก็ต้องใช้วิธีการอื่นใด เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย การดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศในภาพรวมของประเทศได้ เพราะแรงจูงใจในการประกอบการในประเทศไทยมีน้อยลง เอกัตศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษามาตรการทางกฎหมายของ Communications Decency Act (CDA), Digital Millennium Copyright Act (DMCA) ของสหรัฐอเมริกา และ EU Directive on Electronic Commerce ของสหภาพยุโรป พร้อมนำมาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายต่อนักลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์


มาตรการทางกฎหมายภาษีเพื่อลดขยะอาหาร, ชริสา สุวรรณวรบุญ Jan 2018

มาตรการทางกฎหมายภาษีเพื่อลดขยะอาหาร, ชริสา สุวรรณวรบุญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย และศึกษามาตรการทางภาษีเพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารหรือการเกิดขยะอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณอาหารส่วนเกิน การบริโภคที่กลายเป็นขยะอาหารมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ ผู้บริจาคอาหารที่เป็นส่วนเกินการบริโภค จากการศึกษา พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณของขยะอาหารเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ขณะที่มาตรการทางกฎหมายที่ใช้บังคับในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยทั้งระบบ ขาดความชัดเจนในการจัดการขยะมูลฝอยแต่ละประเภทซึ่งรวมถึงขยะอาหาร และมุ่งเน้นการจัดการ ขยะมูลฝอยที่ปลายทาง คือ การกำจัดขยะ มากกว่าการจัดการขยะที่ต้นทาง หรือการลดปริมาณ การเกิดขยะ แม้ว่าในภายหลัง รัฐบาลจะมีการกำหนดให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ และมีการกำหนดนโยบายการจัดการขยะที่ครอบคลุมการจัดการขยะแบบครบวงจรโดยอาศัยหลักการ 3Rs เน้นการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง การนำขยะกลับไปใช้ซ้ำ และการใช้ประโยชน์จากขยะด้วยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ แต่ปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงการขาดความมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนในการลดปริมาณขยะ นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีการกำหนดนโยบายสำหรับการจัดการขยะอาหารโดยเฉพาะ แม้ว่าปริมาณขยะอาหารจะมีสัดส่วนมากที่สุดจากปริมาณขยะมูลฝอยที่จัดเก็บได้ก็ตาม ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดามีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้บังคับในการจัดการปัญหาขยะอาหาร รวมถึงมีการนำมาตรการทางภาษีมาใช้สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดปริมาณอาหารส่วนเกินการบริโภค เพื่อไม่ให้อาหารเหล่านั้นกลายเป็นขยะอาหาร ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้มีการนำแนวทางมาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดามาปรับใช้กับการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนในการลดปริมาณอาหารส่วนเกินการบริโภค ที่จะก่อให้เกิดเป็นขยะอาหาร อันจะส่งผลถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ความเหมาะสมของการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากร, โชติพงศ์ รุ่งศศิธร Jan 2018

ความเหมาะสมของการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากร, โชติพงศ์ รุ่งศศิธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประเทศไทยมีการตรวจพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 ในการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม และเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกและภาษีการให้ อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ในการยกเว้นภาษีการให้ดังกล่าวนั้นยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมตามหลักความสามารถในการเสียภาษี รวมถึงหลักความเสมอภาคทางภาษี เอกัตศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความเหมาะสมและเป็นธรรมในการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากรของประเทศไทย ตลอดจนศึกษากฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวันที่มีการจัดเก็บภาษีการให้ เพื่อนำแนวทางของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวันมาปรับใช้ โดยงานศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นอาศัยการวิจัยเชิงเอกสาร (Docomentary Research) ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ จากการศึกษาพบว่าการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากรของประเทศไทย ยังขาดความเหมาะสมและเป็นธรรม เนื่องจากการกำหนดเพดานในการยกเว้นภาษีการให้ตามประมวลรัษฎากรจำนวน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท ตลอดปีภาษีแล้วแต่กรณีของการให้ถือว่าเป็นจำนวนที่สูง นอกจากนี้ยังให้สิทธิในการเลือกเสืยภาษีในอัตราคงที่ หรือนำไปรวมกับเงินได้ประเภทอื่นเพื่อเสียภาษีอีกด้วย ซึ่งปัญหาในการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้ดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสมและยังส่งผลกระทบต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมกับผู้มีเงินได้ประเภทแรงงาน และผู้มีเงินได้จากทุน ซึ่งต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรในอัตราก้าวหน้า ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักความสามารถในการเสียภาษีและหลักผลประโยชน์ที่ได้รับ และความไม่เสมอภาคทางภาษีนอกจากนี้ยังทำให้เกิดช่องทางหลีกเลี่ยงภาษีจากการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศไทยควรมีการกำหนดเพดานการยกเว้นภาษีการให้อย่างเหมาะสมโดยใช้หลักเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศเป็นตัวกำหนดเพดานการยกเว้น และควรยกเลิกการให้สิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราคงที่หรือนำไปรวมกับเงินได้ประเภทอื่นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมในสังคมโดยนำแนวทางในการจัดเก็บภาษีการให้ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไต้หวันปรับใช้


มาตรการทางกฎหมายด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก, ชนกนันท์ นวรัตน์ ณ อยุธยา Jan 2018

มาตรการทางกฎหมายด้านสาธารณสุข เพื่อควบคุมโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก, ชนกนันท์ นวรัตน์ ณ อยุธยา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาในงานเอกัตศึกษาเล่มนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะศึกษามาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยเกี่ยวกับการควบคุมด้านสาธารณสุขของกิจการโรงแรม เพื่อตอบข้อสมมติฐานของการศึกษาที่กำหนดว่า “มาตรการทางกฎหมายด้านสาธารณสุขของไทยเพื่อควบคุมโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพักยังไม่เหมาะสมเพียงพอ ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” จากการศึกษามาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยเกี่ยวกับด้านสาธารณสุขของกิจการโรงแรม พบว่ามาตรการทางกฎหมายในปัจจุบันไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับควบคุมกิจการโรงแรม ที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก เนื่องจากในปัจจุบันยังพบปัญหาที่ผู้เข้าพักในโรงแรมประสบ เช่น ผู้เข้าพักไม่ทราบว่าโรงแรมอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก ทราบภายหลังว่าห้องพักที่ตนเข้าพักเคยมีสัตว์เลี้ยงเข้าพักมาก่อนและรู้สึกไม่พอใจ ผู้เข้าพักพบขนสัตว์และหมัดสุนัขภายในห้องพัก ห้องพักมีกลิ่นเหม็น รวมถึงได้รับการรบกวนจากเสียงของสัตว์เลี้ยงที่เข้าพักในโรงแรม เป็นต้น ผู้เขียนจึงได้ศึกษามาตรการทางกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ มาตรการทางกฎหมายของรัฐแคนซัสและ รัฐยูทาห์ ประกอบกับมาตรการของรัฐแมรี่แลนด์และรัฐเทนเนสซี่ พบว่ามาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการควบคุมโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพักใน ประเด็นดังนี้ (1) การกำหนดความหมายของโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก (2) การกำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่จัดการโรงแรม (3) มาตรการควบคุมดูแลด้านสุขอนามัยของโรงแรม (4) มาตรการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ผู้เขียนจึงเสนอแนะแนวทางในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยให้เหมาะสมมากขึ้นโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศมาเป็นแนวทางกำหนดมาตรการที่สามารถบังคับโดยทั่วไปประกอบด้วย (1) การกำหนดความหมายของโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพักเพื่อกำหนดนโยบายของโรงแรม เพื่อกำหนดคำนิยามของคำศัพท์เกี่ยวกับโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพักที่สำคัญ เช่น คำว่าสัตว์เลี้ยง สัตว์ที่ให้ความช่วยเหลือแก่มนุษย์ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ห้องพักทั่วไป เป็นต้น (2) การกำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่จัดการโรงแรมให้เหมาะสมสำหรับการดูแลจัดการโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก เช่น หน้าที่ในการแจ้งให้ผู้เข้าพักทราบว่าโรงแรมนั้นๆ อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก การติดป้ายเพื่อแจ้งที่แผนกต้อนรับและทางเข้าห้องพักที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก (3) การกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมด้านสุขอนามัยของโรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก ได้แก่ กำหนดให้ระบบระบายอากาศของห้องพักที่กำหนดให้เป็นห้องพักที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าแยกเป็นอิสระจากห้องพักทั่วไป กำหนดมาตรการดูแลสุขอนามัยของห้องพักที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพัก มาตรการควบคุมร้านอาหารที่อนุญาตให้ลูกค้านำสัตว์เลี้ยงไปรับประทานอาหารที่ร้านได้ เช่น ให้ร้านอาหารเตรียมพื้นที่ outdoor สำหรับลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านพร้อมสัตว์เลี้ยง มาตรการควบคุมบริเวณสถานที่ให้บริการสปา ร้านนวด และสระว่ายน้ำ เช่น กำหนดไม่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในสถานประกอบการ รวมถึงกำหนดข้อยกเว้นสำหรับสัตว์ให้ความช่วยเหลือผู้บกพร่องทางร่างกายเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ (4) การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมสัตว์เลี้ยงภายในบริเวณโรงแรม ไม่ให้วิ่งเป็นอิสระภายในบริเวณโรงแรม


ความไม่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของคู่สมรส, มัทธกานต์ ทองโพธิ์ Jan 2018

ความไม่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของคู่สมรส, มัทธกานต์ ทองโพธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงการจัดเก็บภาษีการรับมรดกตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดเก็บภาษีการรับมรดกของคู่สมรสว่ามีความเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ โดยได้ศึกษาแนวคิด หลักการ และวิธีจัดเก็บภาษีตามกฎหมายภาษีมรดกของประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่น และกฎหมายภาษีการรับมรดกของประเทศไทยตาม พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เปรียบกับหลักการและแนวคิดพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อเป็นหลักในการพิจารณาว่ากฎหมายภาษีการรับมรดกของไทยในปัจจุบันนั้นมีผลกระทบต่อผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอย่างไร นอกจากนี้ยังศึกษาถึงมาตรการบรรเทาภาระภาษีของประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกมาเป็นเวลานาน และสามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อนำเงินจากภาษีนั้นไปใช้ในการพัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของบุคคล จากการศึกษาพบว่าการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของประเทศไทยของคู่สมรสนั้นยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมเพราะได้กำหนดให้คู่สมรสเป็นผู้ที่ไม่ต้องนำทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดกมาเสียภาษีการรับมรดกซึ่งหมายความว่าคู่สมรสได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องนำทรัพย์สินมรดกที่ได้รับมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีการรับมรดกทั้งจำนวน ส่งให้การจัดเก็บภาษีการรับมรดกของประเทศไทยจากคู่สมรสนั้นไม่เป็นไปตามหลักการทำรายได้ดี กล่าวคือไม่สามารถจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากคู่สมรสที่แม้จะมีการรับมรดกมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดกของประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่นนั้นก็พบว่าในทั้งสองประเทศไม่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บให้กับคู่สมรสแต่เป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเช่น การกำหนดว่าให้ยกเว้นฐานภาษีในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมกันทางทะเบียนในประเทศอังกฤษ หรือการให้เครดิตภาษีแก่คู่สมรสในการคำนวณภาษีการรับมรดกของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากการพิจารณาถึงหลักการทำรายได้ดีแล้วนั้น ยังควรจุต้องพิจารณาถึงหลักความเป็นธรรมในเรื่องของความสามารถของผู้เสียภาษีควบคู่กันไปได้วย เนื่องจากไม่ว่าคู่สมรสหรือทายาทลำดับอื่นได้รับโอนทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คู่สมรสและทายาทล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เกิดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเพราะทรัยพ์สินที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้นความสามารถในการเสียภาษีจึงควรมากตาม ซึ่งการที่ประเทศไทยบัญญัติให้เฉพาะคู่สมรสที่ไม่ต้องนำทรัพย์สินมรดกทั้งจำนวนมาเป็นฐานภาษีการรับมรดกนั้นจึงขัดต่อหลักความสามารถในการเสียภาษีอย่างชัดเจน และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ทายาทลำดับอื่นที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผู้ศึกษาได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยผู้ศึกษาเห็นว่า กฎหมายของประเทศอังกฤษนั้นได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการยกเว้นฐานภาษีแก่คู่สมรสหรือกำหนดมาตรการบรรเทาภาระภาษีเพิ่มเติมเพื่อให้การจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากคู่สมรสยังคงเป็นไปตามหลักการทำรายได้และหลักความสามารถในการเสียภาษีโดยที่ไม่กระทบกับแนวคิดของการจัดเก็บภาษีของคู่สมรส ผู้ศึกษาเห็นว่าหลักการดังกล่าวช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักทั่วไปและหลักการพื้นฐานของกฎหมายภาษีอากรดังนั้นจึงควรนำการเงื่อนไขและวิธีการจัดเก็บภาษีการรับมรดกจากคู่สมรสของประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้


ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการทำสัญญากรณีสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟ : ศึกษาเฉพาะสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา, วุฒิเดช ซึ่งมหากิจ Jan 2018

ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการทำสัญญากรณีสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟ : ศึกษาเฉพาะสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา, วุฒิเดช ซึ่งมหากิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กีฬากอล์ฟในประเทศไทยเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสนามกอล์ฟซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าของธุรกิจสูง มีการขยายตัวมากขึ้นเนื่องมาจากความนิยมในกีฬากอล์ฟ โดยมีความต้องการของผู้บริโภคทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ ประเทศไทยเป็นจุดหมายของนักกอล์ฟชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการสนามกอล์ฟเนื่องด้วยเหตุผลด้านความคุ้มค่าด้านราคาและการบริการที่น่าประทับใจ ซึ่งธุรกิจสนามกอล์ฟเป็นธุรกิจภาคบริการการท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศไทยได้จำนวนมาก ธุรกิจสนามกอล์ฟมีการให้บริการในรูปแบบการบริการในฐานะสมาชิกของสนามกอล์ฟ กล่าวคือ ผู้บริโภคที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกของสนามกอล์ฟต้องเข้าทำสัญญาเพื่อสมัครเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ (Country Club Membership) กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟคือ สัญญาต่างตอบแทนซึ่งผู้บริโภคได้สิทธิในการใช้บริการในธุรกิจสนามกอล์ฟตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ประกอบธุรกิจได้ค่าตอบแทนจากการให้บริการนั้น โดยสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟในประเทศไทยที่ใช้แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะของสัญญาที่มีมูลค่าทางสัญญาสูงและมีการกำหนดระยะเวลาของสัญญาผูกพันผู้บริโภคยาวนานซึ่งเป็นการให้บริการลักษณะต่อเนื่อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจกำหนดข้อสัญญาเพียงฝ่ายเดียวซึ่งเข้าลักษณะสัญญาสำเร็จรูป และมีการกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในหลายด้านอีกด้วย จากการศึกษา ผู้เขียนพบประเด็นปัญหาคือ ธุรกิจสนามกอล์ฟในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการโดยเฉพาะ ผู้บริโภคจึงถูกผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบจากการทำสัญญา โดยผู้เขียนได้รวบรวมที่มาของปัญหาจากสัญญาให้บริการสนามกอล์ฟในประเทศไทยหลายๆ แห่งพร้อมทั้งเรื่องร้องเรียน ข่าว และสัมภาษณ์ผู้บริโภคโดยตรง ผู้เขียนจึงได้ศึกษากลไกของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการทำสัญญาเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาจากการเอาเปรียบของผู้ประกอบธุรกิจในการทำสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟ โดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2541 ซึ่งล้วนแต่เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการทำสัญญา ผู้เขียนยังได้ศึกษาบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการทำสัญญาและข้อสัญญาของประเทศสหรัฐอเมริกา (มลรัฐแคลิฟอร์เนีย) และประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการทำสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เสนอแนวทางข้อเสนอแนะโดยการออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจสนามกอล์ฟเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาเป็นการเฉพาะธุรกิจโดยให้รัฐกำหนดข้อสัญญาที่ต้องมีและห้ามมีในสัญญาให้บริการสมาชิกสนามกอล์ฟ


ผลกระทบของความผิดมูลฐานเรื่องสมาชิกอั้งยี่ตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต่อการประกอบธุรกิจในประเทศไทย, กรกช อัมพุช Jan 2018

ผลกระทบของความผิดมูลฐานเรื่องสมาชิกอั้งยี่ตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต่อการประกอบธุรกิจในประเทศไทย, กรกช อัมพุช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากการศึกษาความผิดมูลฐานเรื่องสมาชิกอั้งยี่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พบว่าองค์ประกอบของอั้งยี่ที่สำคัญนั้นต้องเป็นคณะบุคคลโดยอนุมานได้ว่ามีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีการปกปิดวิธีการดำเนินการ และมีจุดมุ่งหมายที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่จุดมุ่งหมายนั้นจะเป็นจุดมุ่งหมายที่มิชอบตามกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นใดก็ได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ในการตราความผิดมูลฐานจะพบได้ว่าอั้งยี่นั้นมีขอบเขตกว้างเกินกว่าหลักเกณฑ์ในการกำหนดความผิดมูลฐาน อันได้แก่การกระทำความผิดอั้งยี่อาจจะไม่ได้มีรูปแบบลักษณะขององค์กรอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนจากการทำความผิดฐานอั้งยี่ไม่ได้มีผลตอบแทนมูลค่าสูง รวมไปถึงการกระทำอาจไม่ได้มีลักษณะซับซ้อน และอาจจะไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐเสมอไป นอกจากนี้เมื่อศึกษาลักษณะของอั้งยี่เทียบเคียงกับการประกอบธุรกิจ พบว่าการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทคือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยการดำเนินธุรกิจนั้นผู้ถือหุ้นมีเป้าหมายร่วมกันคือผลกำไร และมีการรวมตัวกันในลักษณะถาวรและมีความต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นลักษณะของการเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความผิดฐานอั้งยี่ หากการประชุมคราวใดที่มีข้อตกลงผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นใดก็ตาม จะทำให้การประชุมคราวนั้นมีความผิดฐานอั้งยี่ ส่งผลให้เป็นความผิดมูลฐานและสามารถนำมาตรการฟอกเงินมาบังคับใช้ได้ มาตรการฟอกเงินที่นำมาบังคับใช้ที่สำคัญๆ ได้แก่มาตรการริบทรัพย์ทางแพ่ง ส่งผลให้ภาระการพิสูจน์ถูกผลักไปให้ผู้ถูกกล่าวหาในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และมาตรฐานการพิสูจน์ที่ลดน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการพิสูจน์ตามกฎหมายอาญากล่าวคือการพิสูจน์ให้ศาลเชื่อหรือควรจะเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินจริง ที่ผ่านมาได้มีการนำความผิดมูลฐานเรื่องอั้งยี่มาบังคับใช้กับธุรกิจประเภททัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนในเรื่องหลักแห่งความจำเป็นที่มีแนวคิดว่าหากมีมาตรการอื่นใดตั้งแต่ 2 มาตรการขึ้นไป ในการทำให้สามารถบรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ ให้เลือกใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด เมื่อศึกษากฎหมายฟอกเงิน The Racketeer Influenced and Corrupt Organization (RICO), The Continuing Criminal Enterprise และ The Money Laundering Control Act 1986ของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึง Proceeds of Crime Act 1987ของประเทศออสเตรเลียจะพบว่ากรอบการบังคับใช้กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศจะมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า ดังนั้นจึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขความผิดมูลฐานเรื่องอั้งยี่ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีกรอบที่ชัดเจน และเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน


ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 : ศึกษากรณีอาคารชุด, ชญานิศ ยุวรี Jan 2018

ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 : ศึกษากรณีอาคารชุด, ชญานิศ ยุวรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

จากแนวโน้มการของอสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ อาคารชุดโดยปัจจุบันมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับอดีตซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยและระบบคมนาคม ดังนั้นการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอาคารชุด จึงควรมีสัญญาที่มาป้องกันความเสี่ยงทางด้านเงินดาวน์หรือการทำสัญญาในลักษณะที่คล้ายกับการการทำสัญญาประกันภัย คือ สัญญาดูแลผลประโยชน์สำหรับคุ้มครองเงินหรือทรัพย์สินที่ให้บุคคลหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ ได้แก่ ผู้ดูแลประโยชน์ของคู่สัญญาโดยวางหลักฐานแห่งการชำระหนึ้เก็บไว้กับบุคคลที่สามจนกว่าจะบรรลุตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว มาเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ให้ได้รับความเป็นธรรมควบคู่ไปกับการทำสัญญาจะซื้อจะขายก่อนส่งมอบห้องชุด ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 รวมเป็นระยะเวลา 11 ปี ที่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้แต่ก็ยังถือว่าไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายเท่าที่ควร เพราะถึงแม้จะมีการแก้ไขแล้วแต่ก็ยังต้องใช้ความสมัครใจของคู่สัญญาเป็นสำคัญและประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจส่วนมากยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายนี้และผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งเป็นอันแสดงให้เห็นถึงปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จากการศึกษาข้อเท็จจริงและมาตรการทางกฎหมาย ผู้ศึกษาพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ผ่านการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังถึงแม้ว่าจะเป็นสัญญาที่ดีมีประโยชน์ คุ้มครองป้องกันความเสี่ยงของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจก่อนส่งมอบทรัพย์สิน และสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ โดยในกรณีของอาคารชุดจะมีในลักษณะที่ผ่อนชำระเงินดาวน์ยังไม่ครบหรือการก่อสร้างอาคารชุดยังไม่แล้วเสร็จในการปรับปรุงมาตรการดังกล่าวเป็นกฎหมาย จากผลการศึกษาปัญหาการใช้กฎหมายการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดยศึกษาการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอาคารชุดของประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะในการศึกษาถึงแนวทางและความเป็นไปได้ของการเพิ่มเติมมาตรการที่จำเป็นบางประการ เพื่อให้สัญญาดูแลผลประโยชน์และผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลอย่างสมบูรณ์ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมการซื้อขายห้องชุด ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการทางกฎหมายด้านการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ตามประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเพื่อใช้บังคับสำหรับประเทศไทยต่อไป


ปัญหาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร : ศึกษากรณีการให้บริการด้านการสอบบัญชีโดยกิจการสอบบัญชี, พรณิชา อำนวยสกุล Jan 2018

ปัญหาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร : ศึกษากรณีการให้บริการด้านการสอบบัญชีโดยกิจการสอบบัญชี, พรณิชา อำนวยสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การให้บริการด้านการสอบบัญชี จัดเป็นการให้บริการโดยวิชาชีพอันจำเป็นต้องเป็นผู้มีความรู้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในด้านการบัญชีและการสอบบัญชีรวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องการให้บริการด้านการสอบบัญชีถือว่าเป็นธุรกิจที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากกฎหมายไทยได้กำหนดให้งบการเงินของกิจการต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยเอกชน และหน่วยงานรัฐ มั่นใจได้ว่า สถานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แสดงในงบการเงินของกิจการได้สะท้อนถึงความเป็นจริงที่สุดตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี ทั้งนี้ รัฐได้มีเจตนารมณ์ในการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับให้บริการด้านการสอบบัญชีตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเริ่มใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแทนระบบภาษีการค้าอันมีการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรม เนื่องจากขณะนั้นยังมีผู้ประกอบการหรือบริษัทที่ใช้บริการสอบบัญชีที่เป็นกิจการขนาดเล็กซึ่งมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่มาก รัฐจึงไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีภาระจากค่าบริการสอบบัญชีที่สูงขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่บังคับใช้แทนภาษีการค้า อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าในปัจจุบัน สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต กล่าวคือ มีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการด้านการสอบบัญชีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรจึงไม่ได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์เท่าอดีตและทำให้เกิดปัญหา นั่นคือ นอกจากกิจการสอบบัญชีภาระต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากภาษีซื้อที่ขอคืนไม่ได้แล้ว ผลการดำเนินงานและภาษีนิติบุคคลของการสอบบัญชีก็ไม่สะท้อนความเป็นจริงอีกด้วย รวมถึงยังทำให้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มขาดตอน จากปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า การให้บริการด้านการสอบบัญชีไม่ควรได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบ พบว่า การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการด้านการสอบบัญชีไม่มีความสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับกรณีของกองทุนรวม และนอกจากว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เมื่อเทียบกับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการด้านการสอบบัญชีแล้ว การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์ทางภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุดเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นในมาตรา 81(1)(ฌ) ทำให้สรุปได้ว่า รัฐควรมีการพิจารณาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการด้านการสอบบัญชีเพื่อขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐสำหรับใช้บริหารประเทศให้พัฒนาเพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้


ความไม่สอดคล้องในการเฉลี่ยภาษีซื้อในกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม: ศึกษากรณี เงินปันผลของกิจการโฮลดิ้ง (Holding Company), พงศชา ลึกมณี Jan 2018

ความไม่สอดคล้องในการเฉลี่ยภาษีซื้อในกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม: ศึกษากรณี เงินปันผลของกิจการโฮลดิ้ง (Holding Company), พงศชา ลึกมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กรธุรกิจในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจผ่านการลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่น โดยรายได้ส่วนใหญ่ของ Holding Company คือเงินปันผล ซึ่งไม่ใช่ “บริการ” ตามนิยามของมาตรา 77/1(10)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ใช่กิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Value Added Tax (VAT) ตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร (Out of scope) แต่ในบางครั้งกิจการอาจมีรายได้อื่นนอกจากเงินเงินปันผล เช่น รายได้การให้บริการ ส่งผลให้กิจการอาจมีทั้งรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Non-VAT) และรายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of scope) หากกิจการมีต้นทุนเกิดขึ้นกับ กิจการ (VAT) กิจการสามารถเครดิตหรือขอคืนภาษีซื้อได้ แต่ถ้าหากกิจการมีต้นทุนที่นำไปใช้กับกิจการทั้ง 3 ประเภท เช่น ต้นทุนสาธารณูปโภค กิจการจะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 29 ให้เฉลี่ยภาษีซื้อโดยใช้วิธีการเฉลี่ยตามรายได้ 2 ประเภท คือรายได้จากกิจการ VAT และกิจการ Non-VAT แต่ไม่รวมถึงกิจการ Out of scope ส่งผลให้กิจการใช้เครดิตภาษีซื้อได้ไม่ถูกต้องตามสัดส่วนของรายได้ที่แท้จริง เนื่องจากกิจการมีสัดส่วนรายได้ของกิจการ Out of scope เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสัดส่วนของฐานที่นำไปเฉลี่ยภาษีซื้อย่อมไม่ถูกต้องกับสัดส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจริง สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น พบว่าไม่ควรกำหนดข้อยกเว้นในการไม่รวมเงินปันผลเป็นฐานของรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อ เนื่องจากรายได้เงินปันผลถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นรายได้ Non-VAT กล่าวคือ ทั้ง รายได้ Non-VAT และ Out of Scope ไม่สามารถใช้เครดิตหรือขอคืนภาษีซื้อได้ มีเพียงรายได้ VAT เท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังนั้นควรกำหนดรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อให้มี 2 ฐาน คือรายได้ VAT และ Non-VAT (รวม Out of scope) ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร และสอดคล้องกับที่ผู้เขียนได้ศึกษาเกี่ยวกับการเฉลี่ยภาษีซื้อของประเทศสิงคโปร์ที่แบ่งฐานรายได้ในการเฉลี่ยภาษีซื้อเป็น 2 ฐาน คือรายได้ …


แนวทางในการกำหนดเกณฑ์กลางเพื่อการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญา เลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย, ไพดรินทร์ ดวงเดือน Jan 2018

แนวทางในการกำหนดเกณฑ์กลางเพื่อการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญา เลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย, ไพดรินทร์ ดวงเดือน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การค้าระหว่างประเทศเกิดขึ้นเพราะประเทศต่างๆ ในโลกไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการได้ครบตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ โดยผู้นำเข้าและส่งออกจำเป็นต้องตกลงกันว่าจะใช้วิธีการชำระเงินในรูปแบบใด ซึ่งการชำระเงินโดยเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of credit) เป็นวิธีที่ผู้นำเข้าส่งออกต้องการความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างกัน โดยผู้ขายหากส่งมอบเอกสารต่างๆ ให้แก่ธนาคารตามที่กำหนดไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว ธนาคารมีหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารดังกล่าวว่าตรงตามที่กำหนดเอาไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ผู้ซื้อเปิดเครดิตไว้หรือไม่ หากธนาคารตรวจสอบแล้วเห็นว่าเอกสารทั้งหมดตรงหรือสอดคล้องกับที่เลตเตอร์ออฟเครดิตกำหนดไว้ ธนาคารก็มีหน้าที่ชำระเงินให้กับผู้ขาย แต่หากเอกสารไม่ตรงหรือไม่สอดคล้องตามที่กำหนดไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต ธนาคารของผู้ซื้อมีสิทธิปฏิเสธการชำระเงินได้ โดยธนาคารจะพิจารณาตามข้อกำหนดในสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามที่ UCP กำหนด หลักปฏิบัติในการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ไม่แน่นอน การตีความและความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแตกต่างกัน ดังนั้นประเทศไทยควรมีกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนในการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยใช้แนวทางในการนำข้อกำหนดและกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตในประเทศจีน ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้กับประเทศไทย ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบเอกสารประกอบเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยเฉพาะหรือกำหนดเป็นมาตรฐานการปฏิบัติของสถาบันการเงิน โดยกำหนดหลักการตรวจสอบเอกสารประกอบเลตเตอร์ออฟเครดิตด้วยหลักการตรวจสอบเอกสารโดยเคร่งครัด (Strict Compliance) และกำหนดกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต เพื่อเป็นแนวทางในการพิพากษาของศาลในกรณีมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการตรวจสอบเอกสารประกอบเลตเตอร์ออฟเครดิต โดยกำหนดศาลที่ใช้ตัดสินโดยเฉพาะเหมือนกับศาลจีน หรือใช้แนวคำพิพากษาเดิมเป็นกฎหมายที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเหมือนกับศาลอังกฤษที่ยึดหลักการตรวจสอบเอกสารโดยเคร่งครัด หรือตีความโดยใช้กฏหมายเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยเฉพาะเหมือนกับศาลสหรัฐอเมริกาที่มีบทบัญญัติความรับผิดของธนาคารและใช้หลักการตรวจสอบเอกสารโดยเคร่งครัด เพื่อให้การตีความและความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยมีมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อีกทั้งทำให้ผลของการตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตมีความแน่นอน ลดปัญหาที่เกิดจากการตีความเอกสารประกอบสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยที่แตกต่างกัน สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ ส่งเสริมภาพลักษณ์ในการทำการค้าของผู้นำเข้าและส่งออกในประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับประเทศในที่สุด


แนวทางการแก้ไขและปรับปรุงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (Otop Extravaganza), อุทัยวรรณ ศักดิ์เดชยนต์ Jan 2018

แนวทางการแก้ไขและปรับปรุงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (Otop Extravaganza), อุทัยวรรณ ศักดิ์เดชยนต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (OTOP Extravaganza) ในประเทศไทยโดยออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 318 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเริ่มครั้งแรกในปี 2559 ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคมถึง 31 สิงหาคม โดยให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดากับการซื้อสินค้าจากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ที่มาตรการกำหนด ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ยังมีปัญหาความไม่เหมาะสมบางประการ เอกัตศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรการทางภาษีบ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำแนวทางมาปรับใช้ในบางประเด็น จากการศึกษาพบว่ามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทยมีปัญหาบางประการ กล่าวคือรัฐบาลนำมาตรการดังกล่าวมาใช้อย่างไม่ต่อเนื่องทำให้วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทยในภาคประชาชนไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงเงื่อนไขของระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์และหลักเกณฑ์ของผู้ขายสินค้าโอท็อป จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงควรนำแนวทางมาตรการภาษีบ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้โดยปรับให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทั้งปี โดยอาจเริ่มพิจารณาใช้เป็นระยะเวลา 2 หรือ 4 ปีก่อนเพื่อวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ รวมถึงควรให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและรัฐบาลควรพัมนาช่องทางการขายทางเว็บไซต์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลว่าทุกรายการที่ซื้อผ่านทางเว็บไซต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แน่นอน เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดให้ภาคประชาชนสนใจมากขึ้นและสุดท้ายนี้เพื่อให้มาตรการภาษีนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนมากที่สุด ทั้งผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ได้จดทะเบียน เช่น กลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะเงื่อนไขไม่ตามข้อกำหนด รัฐบาลควรให้หน่วยงานราชการท้องถิ่นเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่าง ผู้ขายสินค้าโอท็อปและผู้ที่ต้องการจะใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี โดยให้หน่วยงานราชการท้องถิ่นออกเอกสารรับรองการซื้อสินค้าเพื่อรับรองการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แทน จากที่กล่าวมาจะส่งผลทำให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยได้รับผลประโยชน์จากมาตรการภาษีนี้เช่นกัน เป็นการเปิดโอกาสและช่องทางให้กลุ่มเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้มีโอกาสในการหารายได้มากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจะมีการกระจายตัวมากขึ้น


มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ของประเทศไทย, นัชพันธ์ สุทธิ์อาภรณ์ Jan 2018

มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ของประเทศไทย, นัชพันธ์ สุทธิ์อาภรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การพัฒนาทางเทคโนโลยีและการเติบโตของตลาดเกมอย่างต่อเนื่องส่งผลให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเกมออนไลน์เปลี่ยนแปลงไป บริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์นิยมการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆในเกมออนไลน์เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ทางธุรกิจ ระบบกล่องสุ่มเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบหนึ่งที่วางขายในเกมออนไลน์และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากระบบดังกล่าวมีรูปแบบพิเศษเฉพาะตัว กล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อทำการซื้อกล่องสุ่มระบบจะทำการสุ่มสิ่งของหรือรายการ (ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “ไอเทม”) อย่างใดอย่างหนึ่งให้กับผู้ซื้อ โดยไอเทมที่ระบบได้ทำการสุ่มออกมาให้กับผู้ซื้ออาจเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อคาดหวังหรือไม่ใช้สิ่งที่ผู้ซื้อที่คาดหวังก็ได้ ระบบดังกล่าวจึงมึความคล้ายคลึงเป็นการเสี่ยงโชคและผู้ซื้ออาจไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างถูกต้องและเพียงพอ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อเสียเปรียบและได้รับความไม่เป็นธรรม อีกทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับในประเทศไทยในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ อันได้แก่ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ยังขาดความชัดเจนและเหมาะสมจึงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ เอกัตศึกษานี้มุ่งศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ รวมทั้งศึกษามาตรการที่เหมาะสมในการปรับหรือเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับรูปแบบการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผู้วิจัยได้ศึกษามาตรการทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติในการควบคุมระบบกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้และพัฒนากฎหมายของประเทศไทยให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยผู้วิจัยเสนอให้ควรมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับรูปแบบการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์มากขึ้น โดยการบัญญัติกฎกระทรวงเกี่ยวกับข้อความในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายกล่องสุ่มต่อผู้บริโภคและการออกมาตราการเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ในการระบุเนื้อหาว่าต้องมีมากน้อยเพียงใด รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิเลิกสัญญาของการขายกล่องสุ่มในเกมออนไลน์ด้วย


แนวทางกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการสอบบัญชี, วริศรา กิจมหาตระกูล Jan 2018

แนวทางกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการสอบบัญชี, วริศรา กิจมหาตระกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเอกัตศึกษาเล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการสอบบัญชีในประเทศไทย กรณีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี และเพื่อตอบข้อสมมติฐานของผู้เขียนที่ว่า “ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี จึงสมควรมีมาตรการทางกฎหมายและกลไกในการกำกับดูแลเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี” โดยที่มาของการศึกษาเอกัตศึกษานี้เกิดจากปัญหาที่ผู้เขียนพบเจอจากประสบการณ์การทำงานเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทั้งนี้ ในปัจจุบันรูปแบบการทำงานของผู้สอบบัญชีเป็นการประมวลผลด้วยมือและใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านความสามารถและศักยภาพของร่างกาย อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและการเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน อย่างไรก็ตาม มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่าย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีที่เริ่มเป็นที่สนใจและเริ่มนำมาใช้งานจริงในด้านต่างๆ คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในงานสอบบัญชี แต่หากมีการนำไปใช้งานจริง จะช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถตรวจข้อมูลในปริมาณที่มากขึ้น ลดทรัพยากรบุคคล ลดความผิดพลาดจากมนุษย์ ลดระยะเวลาที่ใช้ในการสื่อสารและการทำงาน ในขณะเดียวกัน จะช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถคงไว้ซึ่งคุณภาพของงาน มาตรฐานและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน จากการศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการสอบบัญชีในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี และกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้นไม่ครอบคลุมด้านการกำกับดูแลเรื่องคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี การรับรองโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี และคุณสมบัติของผู้พัฒนาและผู้จำหน่ายโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี อีกทั้ง กฎหมายและกฎเกณฑ์มีความไม่เหมาะสมในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคลากรซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล และข้อสมมติฐานที่ว่าผู้สอบบัญชีทำงานเกินความรู้ ความสามารถและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานในการปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติตนทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีเมื่อมีการแสดงความเห็นต่องบการเงินเกิน 200 รายต่อปี ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเลือกศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสมาคมผู้ตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ – ภาคพื้นกรุงเทพฯ (Information Systems Audit and Control Association – Bangkok Chapter หรือที่เรียกว่า ISACA – Bangkok Chapter) เพื่อศึกษา วิเคราะห์และนำมาปรับใช้ในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหากฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านการสอบบัญชี กรณีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี ทั้งนี้ วิชาชีพด้านการตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับวิชาชีพด้านการสอบบัญชี แต่มุ่งเน้นด้านการตรวจสอบระบบสารสนเทศและใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นหากมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่ครอบคลุมด้านการกำกับดูแล โดยเสนอให้ออกข้อบังคับเรื่องคุณสมบัติและวุฒิบัตรด้านระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีของผู้สอบบัญชี เพื่อกำหนดความรู้ความเชี่ยวชาญพื้นฐานที่ควรจะมีให้แก่ผู้สอบบัญชี ข้อบังคับเรื่องการรับรองโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยและปรับความรู้ของปัญญาประดิษฐ์ให้ทันกาลอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์มีองค์ความรู้และการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และข้อบังคับเรื่องหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้พัฒนาและผู้จำหน่ายโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสอบบัญชี เพื่อกำกับดูแลการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี และเพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์เพื่อการค้าแก่บุคคลอื่น อีกทั้ง ผู้เขียนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เหมาะสมด้านความรู้ความสามารถของบุคลากรซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล โดยเสนอให้สภาวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่สภาวิชาชีพบัญชีจัดตั้งควรมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้สอบบัญชีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี สุดท้ายนี้ ความไม่เหมาะสมของสมมติฐานที่ว่าผู้สอบบัญชีทำงานเกินความรู้ ความสามารถและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานในการปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติตนทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีเมื่อมีการแสดงความเห็นต่องบการเงินเกิน 200 รายต่อปี ผู้เขียนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้แก่ผู้สอบบัญชีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสอบบัญชี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้สอบบัญชีและเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถคงไว้ซึ่งความมีประสิทธิภาพและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน


มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร, วรัญธรณ์ สมลือชาชัย Jan 2018

มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร, วรัญธรณ์ สมลือชาชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในประเทศไทยปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ภายในปี 2574 หรือกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการรองรับผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนยังไม่ครอบคลุมธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรที่เอกชนเป็นเจ้าของโครงการที่ดำเนินโครงการมาก่อนแล้วในระยะหนึ่ง อีกทั้งนโยบายทางภาษีที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย เอกัตศึกษาเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวความคิด ความเป็นมาของธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนศึกษาแนวความคิด ความเป็นมาของธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงมาตรการทางภาษีเกี่ยวกับธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในประเทศออสเตรเลีย เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาหารและสิ่งจำเป็นในการให้บริการขั้นพื้นฐานในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรตามประมวลรัษฎากรมีความไม่เหมาะสมบางประการ ทำให้ค่าบริการของธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุที่ใช้บริการในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ทำให้ต้องชำระค่าบริการในราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ จากความไม่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาหารและสิ่งจำเป็นในการให้บริการขั้นพื้นฐานในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ผู้เขียนได้เสนอแนวทางการแก้ไข โดยให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาหารและสิ่งจำเป็นในการให้บริการขั้นพื้นฐานในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งจะทำให้อาหารและสิ่งจำเป็นในการให้บริการขั้นพื้นฐานในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรปลอดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง เช่นเดียวกันกับประเทศออสเตรเลีย เมื่อต้นทุนค่าบริการลดลง เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับอาหารและสิ่งจำเป็นในการให้บริการขั้นพื้นฐานที่ใช้ในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรในอัตราร้อยละ 0 แต่ค่าบริการอาจจะไม่ลดลง รัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมราคา เกี่ยวกับราคาค่าบริการในธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการของธุรกิจบ้านพักและดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรได้ง่ายขึ้น และเมื่อมีผู้ต้องการใช้บริการมากขึ้น จะดึงดูดให้มีผู้ประกอบการสนใจทำธุรกิจประเภทนี้มากขึ้นไปด้วย


ปัญหาการกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดเป็นนิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีมีเงินได้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ 2522, ภิรมยา ลิมป์ศุภวาณิช Jan 2018

ปัญหาการกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดเป็นนิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีมีเงินได้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ 2522, ภิรมยา ลิมป์ศุภวาณิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ธุรกิจอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมถือว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตมากในปัจจุบัน และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลที่ต้องการจะมีอสังหาริมรัพย์เป็นของตนเอง โดยราคานั้นมีระดับต่ำไปจนถึงระดับสูง เมื่อมีอาคารชุดแล้วก็จะต้องมีบุคคลที่มาทำหน้าที่ในการดูแลและบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้จัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เพื่อให้สามารถจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่น ลิฟต์ สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย และสวนหย่อมให้คงสภาพที่ดี โดยนิติบุคคลอาคารชุดเปรียบเสมือนตัวแทนของเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องชุดที่จะทำหน้าที่เหล่านี้ เมื่อเจ้าของร่วม มีการเข้ามาอยู่อาศัยอาคารชุดแล้ว จะต้องมีการเรียกเก็บเงินส่วนกลางเอาไว้ใช้บำรุงรักษาและบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่เจ้าของร่วมใช้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นนิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินส่วนกลางในทุก ๆ เดือนจากเจ้าของร่วมเพื่อนำมาใช้จ่ายต่าง ๆ ในอาคารชุด อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลอาคารชุดนั้นเมื่อมีอำนาจในการที่ดูแลรักษาและบริหารจัดการ อาคารชุดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เงินส่วนกลาง ที่เรียกเก็บจากเจ้าของร่วมถือว่ามิใช่การแสวงหากำไรแต่อย่างใด จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่รัฐ และนิติบุคคลอาคารชุดไม่เข้านิยามการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากนิติบุคคลอาคารชุดมีการแสวงหากำไรที่กระทำนอกเหนือจากที่วัตถุประสงค์กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 คือ มีเงินได้อื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเก็บเงินค่าส่วนกลางของอาคารชุด เช่น ค่าเช่ารับ ดอกเบี้ยรับ เงินปันผลรับ เป็นต้น ถือว่านิติบุคคลอาคารชุดไม่ได้กระทำตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 จึงไม่ควรให้นิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้เกิด ความไม่เสมอภาคกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีเงินได้อื่น ๆ เกิดขึ้นแต่จะต้องถูกนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตามนิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องนำเงินได้อื่นมาคำนวณ เสียภาษีให้แก่รัฐ เนื่องจากถูกกำหนดให้ไม่เข้าคำนิยามของคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรอาจทำให้นิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปนั้นเข้ามาเป็นนิติบุคคลอาคารชุดมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถนำเงินมาลงทุนผ่านนิติบุคคลอาคารชุดแล้วนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดเงินได้อื่น ๆ และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีมากขึ้นและทำให้รัฐขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากนิติบุคคลอาคารชุด


ผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561, นคร อัศวสุรนาท Jan 2018

ผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561, นคร อัศวสุรนาท

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 รวมทั้งการศึกษาหาแนวทางเพื่อแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ด้วยการศึกษาการประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยของประเทศไทย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศอังกฤษ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ในลักษณะของการดำเนินการวิจัยทางด้านเอกสาร รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย และบุคคลที่เกี่ยวข้อง การทำนิติกรรมสัญญาภายใต้หลักของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มีแนวคิดที่ว่าคู่สัญญามีความเท่าเทียมกันทั้งในด้านข้อมูลและฐานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้ให้เช่าจึงสามารถทำความตกลงกับผู้เช่าให้แตกต่างจากที่กฎหมายกำหนดอย่างไรก็ได้ หากความตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้ เมื่อสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญาที่เป็นเอกชนด้วยกัน รัฐก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ สังคมได้มีความเปลี่ยนแปลงไป ทําให้ผู้ให้เช่าซึ่งมีอํานาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบผู้เช่าซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งและมีความอ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ ทําให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อคู่สัญญาฝ่ายหลัง รัฐจึงได้เข้าแทรกแซงการทำสัญญาด้วยการออกกฎเกณฑ์เพื่อมาควบคุมสัญญา แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ จากผลการศึกษาพบว่าผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบในเรื่องสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจในการบอกเลิกสัญญา เฉพาะในส่วนของการผิดสัญญาจากเหตุอื่นนอกเหนือจากการค้างชำระค่าเช่า และผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยในระยะยาว ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 เพื่อลดหรือขจัดผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย อันจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


การจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา, ลำไผ่ ภิรมย์กิจ Jan 2018

การจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา, ลำไผ่ ภิรมย์กิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาถึงปัญหาของบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรณี บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (10) โดยศึกษาแนวคิดของสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลักการของการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งภายใต้หลักความได้สัดส่วน เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมาย คำพิพากษา และคำวินิจฉัยเกี่ยวด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐและองค์กรธุรกิจ โดยการวิเคราะห์เทียบเคียงกับบทบัญญัติการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของต่างประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และตุรกี จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวปรากฎเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (10) โดยมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่มีประวัติเสื่อมเสียเข้ามาสู่องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เพื่อขจัดโอกาสที่จะทุจริตในหน้าที่ อย่างไรก็ดี เห็นว่า การจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งบุคคลในลักษณะดังกล่าวมีปัญหาในเชิงหลักการ กล่าวคือ เป็นการกำหนดบทบัญญัติโดยมิได้พิจารณาถึงลักษณะพฤติการณ์และฐานความผิด เนื่องจาก ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญาในบางฐานความผิดมิได้กำหนดองค์ประกอบความผิด "โดยทุจริต" ไว้ นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงกับการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในมาตรา 98 (7) ของรัฐธรรมนูญ ฐานความผิดที่ได้รับการลงโทษจำคุกอันเป็นเหตุให้ถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งอาจมีความรุนแรงมากกว่าความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ อาทิ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่การกลับคืนมาแห่งสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกลับมีลักษณะเป็นคุณมากกว่า ปัญหาประการต่อมา คือ ผลของการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาไว้ ซึ่งหากถือตามบทบัญญัติ ย่อมเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบเด็ดขาดถาวร กรณีเช่นนี้ย่อมขัดต่อหลักความได้สัดส่วน ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ก็คาดว่าจะพบปัญหา อาทิ กรณีความผิดที่มีเหตุยกเว้นโทษเฉพาะตัว เช่น การลักทรัพย์ระหว่างสามีและภรรยา กรณีที่ศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชนตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีเหล่านี้หากมีการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วย่อมไม่สอดคล้องต่อนโยบายทางอาญาที่ไม่ต้องการลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะควรยกโทษให้ และขัดต่อหลักของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมและใช้สิทธิพลเมืองได้อย่างปกติ


ปัญหาการร้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่, ศศิวิมล ยอดสุทธิ Jan 2018

ปัญหาการร้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่, ศศิวิมล ยอดสุทธิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการร้องขอให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตน อีกทั้งเพื่อเป็นการผ่อนภาระแก่ผู้เสียหายในการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งจะต้องเสียเวลาและเสียค่าธรรมเนียมศาล โดยจากการศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองปัญหาดังกล่าวพบว่า มีกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนอันทำให้เกิดปัญหาต่อผู้เสียหาย และกรณีที่ศาลปกครองยังมีแนวทางการวินิจฉัยคดีที่ขัดแย้งในเรื่องเดียวกัน ทั้งที่เป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน ซึ่งอาจแบ่งประเด็นปัญหาในการพิจารณาออกได้ดังนี้ 1) ปัญหาเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2) ปัญหาเกี่ยวกับการที่ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพร้อมกับการฟ้องคดีต่อศาล 3) ปัญหาเกี่ยวกับสถานะของผลการวินิจฉัยคำขอของหน่วยงานของรัฐในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4) ปัญหาเกี่ยวกับการตีความกฎหมายว่ากรณีใดเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและกรณีใดเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป 5) ปัญหาเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้มีการวินิจฉัยแล้ว ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขในส่วนบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้การวินิจฉัยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐานโดยไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความและบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อประโยชน์ต่อผู้เสียหายที่จะได้ทราบถึงเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลปกครองใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


เสรีภาพในการประกอบกิจการภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, สุกฤตา ฉัตรพรธนดุล Jan 2018

เสรีภาพในการประกอบกิจการภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, สุกฤตา ฉัตรพรธนดุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มิได้รับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้งนั้น เสรีภาพดังกล่าวยังคงได้รับการรับรองและคุ้มครองหรือไม่ จากการศึกษาพบว่า เสรีภาพในการประกอบกิจการถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นเสรีภาพที่ได้มีการรับรองไว้ในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยเหตุผลสนับสนุนดังนี้ ประการแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตได้เคยบัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้งไว้ควบคู่กับเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ประการที่สอง จากการศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลไทย ทั้งช่วงก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ที่ไม่ได้มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้ง และในช่วงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการอย่างชัดแจ้ง ทั้งศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลได้คุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการผ่านบทบัญญัติที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยไม่ได้แยกพิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างการประกอบกิจการกับการประกอบอาชีพ ประการที่สาม จากการศึกษาเปรียบเทียบแนวคำวินิจฉัยของศาลเยอรมัน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้อง ศาลต่างประเทศก็มิได้แยกพิเคราะห์ความแตกต่างของเสรีภาพทั้งสองเช่นกัน อีกทั้งศาลต่างประเทศได้คุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการโดยผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคล ประการที่สี่ ในกรณีที่พิจารณาว่า เสรีภาพในการประกอบกิจการได้รับการรับรองผ่านเสรีภาพในการประกอบอาชีพแล้ว เหตุในการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ตามมาตรา 40 วรรคสองและวรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะถูกนำมาพิจารณาในการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการด้วย ทั้งนี้ข้อดีของการรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยปริยายของเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คือ ทำให้การรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการเป็นไปโดยเคร่งครัดกว่าการรับรองในฐานะที่เป็นเสรีภาพทั่วไปในการกระทำตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และประการสุดท้าย ในการพิจารณาเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการ ตามหลักการตีความกฎหมาย ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติเฉพาะที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการ ดังนั้น แม้ว่ามาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะบัญญัติรับรองเพียงแค่เสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยมิได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการประกอบกิจการไว้อย่างชัดแจ้ง แต่เสรีภาพในการประกอบกิจการยังคงได้รับการรับรองโดยปริยายและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้


การนำระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดียาเสพติด : กรณีศึกษาผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ผู้เสพและผู้ครอบครอง, สุธิดา อมรวิสัยสรเดช Jan 2018

การนำระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดียาเสพติด : กรณีศึกษาผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ผู้เสพและผู้ครอบครอง, สุธิดา อมรวิสัยสรเดช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการนำระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดียาเสพติดสำหรับกรณีผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ผู้เสพและผู้ครอบครอง โดยศึกษาเปรียบเทียบกับแนวทางการพิจารณาคดีอาญาในประเทศไทยและต่างประเทศ จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่สลับซับซ้อนเป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดนั้น ส่งผลสำคัญให้คดียาเสพติดมีลักษณะแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลซึ่งใช้ระบบกล่าวหาในการพิจารณาคดีนั้น ศาลจะวางตนเป็นกลางและไม่ทำการซักถามพยานหรือแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนั้น หากคู่ความไม่อาจนำเสนอพยานหลักฐานทั้งหมดเข้าสู่สำนวนคดีได้ ศาลก็จำต้องพิจารณาเฉพาะแต่พยานหลักฐานที่ปรากฏเข้าสู่สำนวนคดีโดยการนำเสนอของคู่ความแต่ละฝ่ายเท่านั้น ส่งผลให้ในบางกรณีศาลอาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ หรือพิพากษาลงโทษจำเลยโดยที่พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแห่งคดียังไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงเสนอให้นำระบบไต่สวนมาใช้ในวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ใช่ผู้เสพและผู้ครอบครอง โดยกำหนดแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล รวมถึงกำหนดแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในชั้นก่อนพิจารณา เพื่อให้ศาลรวมทั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมสามารถแสดงบทบาทเชิงรุกในการพิสูจน์ความจริงแห่งคดีได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต่อไป


ปัญหาผลของการเลิกสัญญาจ้างทำของ : ศึกษาเฉพาะกรณีสัญญารับเหมาก่อสร้าง, ฐณวดี ชาญฤทธิเสน Jan 2018

ปัญหาผลของการเลิกสัญญาจ้างทำของ : ศึกษาเฉพาะกรณีสัญญารับเหมาก่อสร้าง, ฐณวดี ชาญฤทธิเสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในกรณีที่สัญญารับเหมาก่อสร้างไม่ได้กำหนดเรื่องผลของการเลิกสัญญาเอาไว้ จำเป็นจะต้องนำบทบัญญัติในมาตรา 391 เรื่องผลของการเลิกสัญญาทั่วไปมาบังคับใช้ กล่าวคือ การกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนมิได้ทำสัญญาต่อกัน ทั้งนี้ ผลของการเลิกสัญญาตามบทบัญญัติดังกล่าวขัดกับธรรมชาติของสัญญารับเหมาก่อสร้างเนื่องจากสัญญารับเหมาก่อสร้างมีลักษณะเป็นสัญญาที่มีการก่อหนี้ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายปฏิบัติการชำระหนี้เป็นช่วงๆกันไปตลอดระยะเวลาของสัญญาและในระหว่างที่มีการปฏิบัติการชำระหนี้นั้นผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างต่างก็สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เมื่อสัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกันจึงควรให้มีผลเป็นการสิ้นสุดสัญญา โดยสิ้นความผูกพันกันไปในอนาคต เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทย กฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และกฎหมายฝรั่งเศส เรื่องผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างพบว่า ผลของการเลิกสัญญาตามกฎหมายเยอรมันนั้นมีทั้งการเลิกสัญญาแบบกลับคืนสู่ฐานะเดิม (Rücktritt) และการสิ้นสุดสัญญาที่มีผลไปในอนาคต(Kündigung) สำหรับการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่งนั้นอาจส่งผลไปสู่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือการสิ้นไปผลในอนาคตได้ แล้วแต่กรณี ส่วนตามกฎหมายฝรั่งเศสนั้น ผลของการเลิกสัญญามี 2 แบบเทียงเคียงกันได้กับกฎหมายเยอรมัน และสำหรับผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างในกฎหมายอังกฤษนั้นก็เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลไปในอนาคตอันส่งผลให้คู่สัญญาหลุดพ้นจากการชำระหนี้ภายหลังจากการเลิกสัญญาแล้ว แต่หากมีหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนการเลิกสัญญา คู่สัญญายังคงต้องรับผิดชดใช้กันอยู่ ส่วนในกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงเรื่องผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างกันไว้ในสัญญา ก็บังคับตามนั้น ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา(Freedom of Contract) ซึ่งคู่สัญญาสามารถตกลงแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายมาตรา 391 ได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เพราะมาตรา 391 นี้มิใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 151 เมื่อได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และกฎหมายฝรั่งเศสแล้ว พบว่ากฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และ กฎหมายฝรั่งเศส ต่างยอมรับหลักเสรีภาพในการทำสัญญา(Freedom of Contract) คู่สัญญาสามารถตกลงกันอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่ขัดกับนโยบายสาธารณะ(Public Policy) และไม่ขัดต่อกฎหมาย หากความตกลงที่แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายแต่ไปขัดกับนโยบายสาธารณะ หรือขัดต่อกฎหมาย ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ จากที่ได้ศึกษาเรื่อง ผลของการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้าง ทั้งกฎหมายไทย กฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน และกฎหมายฝรั่งเศส ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะ ดังนี้ 1.กรณีการใช้สิทธิเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างโดยผู้ว่าจ้างซึ่งไม่จำต้องอ้างเหตุใดๆ ผู้เขียนเสนอแนะให้มีการตีความว่าการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 605 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นผลของการเลิกสัญญา โดยไม่จำต้องนำผลของการเลิกสัญญาทั่วไปตามมาตรา 391 มาใช้บังคับอีก 2.สำหรับกรณีการเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้างโดยมีเหตุสำคัญ ผู้เขียนเสนอแนะให้ตีความมาตรา 391 วรรคสาม เพิ่มเติมโดยให้นำแบบอย่างการตีความมาจากมาตรา 346 ของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันซึ่งได้บัญญัติในเรื่องการใช้ค่าแห่งการงานสำหรับกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ไว้อย่างชัดเจน


ปัญหาในการดำเนินคดีอาญากรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนพิการทางสติปัญญา, ชัญญานุช กอบกุลธนชัย Jan 2018

ปัญหาในการดำเนินคดีอาญากรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนพิการทางสติปัญญา, ชัญญานุช กอบกุลธนชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

คนพิการทางสติปัญญาเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาจากการที่สมองหยุดพัฒนาหรือพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้มีข้อจำกัดด้านทักษะทางความคิด ทักษะทางสังคม และทักษะทางการปฏิบัติ ด้วยภาวะความบกพร่องดังกล่าวทำให้คนพิการทางสติปัญญามีความอ่อนแอทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เมื่อคนพิการทางสติปัญญาตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และสถานการณ์ที่มุ่งแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว คนพิการทางสติปัญญาจึงไม่อาจเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ และอาจมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลปกติทั่วไป หรือไม่อาจแสดงออกถึงความคิดและการตัดสินใจของตนเองได้อย่างเต็มที่ จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการดำเนินคดีอาญากรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาเป็นการเฉพาะ ทำให้การดำเนินคดีอาญาทั้งในชั้นก่อนการพิจารณาคดี ชั้นพิจารณาคดี และชั้นหลังการพิจารณาคดีขาดความชัดเจนแน่นอน อีกทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายยังคงขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการทางสติปัญญา จึงไม่อาจให้การสนับสนุนแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในการขั้นตอนต่าง ๆ ได้ตามความต้องการเฉพาะ ในต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาในการดำเนินคดีอาญา มีการฝึกอบรมและจัดทำคู่มือแนวทางในการปฏิบัติตนสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนพิการทางสติปัญญา ทั้งกำหนดให้มีการช่วยเหลือ สนับสนุนคนพิการทางสติปัญญาให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย วิทยานิพนธ์เล่มนี้เสนอให้ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาเป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน โดยกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้คนพิการทางสติปัญญาได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งในชั้นก่อนการพิจารณาคดี ชั้นพิจารณาคดี และชั้นหลังการพิจารณาคดี และให้มีการจัดทำคู่มือรวมถึงการฝึกอบรมผู้บังคับใช้กฎหมายในขั้นตอนต่าง ๆ ให้สามารถปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นคนพิการทางสติปัญญาได้อย่างเหมาะสม


ปัญหาที่อาจเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ณพวิทย์ เจริญธุระยนต์ Jan 2018

ปัญหาที่อาจเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ณพวิทย์ เจริญธุระยนต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยเปรียบเทียบความยากง่ายของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเอง และหาข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยการการศึกษาวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐธรรมนูญต่างประเทศ หนังสือ บทความ วารสาร จุลสาร เอกสารเผยแพร่ของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนต่าง ๆ รายงานการประชุม รายงานการวิจัย เอกสารประกอบการสัมมนา ข้อมูลจากระบบสารสนเทศ โดยการนำข้อมูลการวิจัยจากเอกสารมาวิเคราะห์และหาข้อสรุป การแก้ปัญหาระยะยาวคือการทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมง่ายลง แบ่งการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นระดับตามเรื่องที่จะแก้ไขเพิ่มเติม แยกการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับกรณีแก้ไขเพิ่มเติมทั่วไป ตลอดจนการจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณี หากเกิดกรณีต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจแก้ไขเพิ่มเติมไม่สำเร็จจะต้องกลับไปสู่อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ จัดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนออกความเห็นว่ารัฐธรรมนูญสมควรได้รับการแก้ไขหรือไม่และแนบคำถามพ่วงถึงวิธีการที่ให้ใช้ในการแก้ไขดังกล่าว


ปัญหาการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศในการคำนวณภาษีศึกษาเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล, ธัญชิตา จริงจิตร Jan 2018

ปัญหาการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศในการคำนวณภาษีศึกษาเฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล, ธัญชิตา จริงจิตร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาและทำความเข้าใจหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีในธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรและมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานรายการทางการเงินไทย ทั้งนี้ เพื่อทราบถึงสภาพปัญหาเกี่ยวกับการตีราคาเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ จากนั้นจะได้ทำการศึกษาหลักกฎหมาย หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการการตีราคาเพื่อคำนวณภาษีสำหรับธุรกรรมดังกล่าวในต่างประเทศ ทั้งทางด้านภาษีอากร และการบัญชีและการเงิน เพื่อเสนอแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษาโดยการวิจัยจากเอกสาร ด้วยวิธีพรรณนาและวิเคราะห์โดยทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือคำอธิบาย บทความในหนังสือ บทความในวารสาร ประมวลรัษฎากร รวมถึงข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องโดยรวบรวมให้เป็นระบบโดยนำมาศึกษาเปรียบเทียบจากหลักบางประการของประเทศสหรัฐอเมริกา และวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะที่ชัดเจน จากการศึกษาพบว่า ประมวลรัษฎากรตามมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ (5) ยังไม่หลักเกณฑ์การรับรู้กำไรขาดทุนจากการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กล่าวคือ หลักเกณฑ์การรับรู้กำไรขาดทุนจากการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศตามประมวลรัษฎากรขาดความชัดเจน จึงทำให้เกิดปัญหาในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในธุรกรรมที่เกี่ยวกับสัญญาอนุพันธ์และธุรกรรมการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงควรมีการบัญญัติหลักเกณฑ์ในการตีราคาธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ โดยกำหนดประเภทธุรกรรมใช้ชัดเจนว่า ธุรกรรมใดบ้างเป็นธุรกรรมที่ต้องต้องนำมาตีราคาเพื่อรับรู้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมทั้งกำหนดวิธีการในการตีราคาที่แตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงลักษณะและทรัพย์สินอ้างอิงของธุรกรรมนั้น ๆ เป็นสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความเป็นธรรมและหลักความสม่ำเสมอในการจัดเก็บภาษี


ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้เข้าช่วยเหลือจากความรับผิดเพื่อละเมิด, ดุษฎี โสระธิวา Jan 2018

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้เข้าช่วยเหลือจากความรับผิดเพื่อละเมิด, ดุษฎี โสระธิวา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่อาจให้ความคุ้มครองที่เพียงพอแก่ผู้ที่เข้าช่วยเหลือผู้ตกอยู่ในภยันตรายได้ ดังนั้น ในกรณีที่พลเมืองดีพบเห็นผู้ตกอยู่ในภยันตรายและได้ทำการช่วยเหลือแต่กลับทำให้ผู้ตกอยู่ในภยันตรายได้รับความเสียหายโดยประมาทเลินเล่อนั้น ผู้เข้าช่วยเหลือต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งถ้าบุคคลต้องรับผิดเพราะความผิดพลาดธรรมดาที่เกิดจากเจตนาดี ต่อไปสังคมก็จะเกิดความลังเลที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป จากการศึกษากฎหมายต่างประเทศพบว่ารัฐแคลิฟอร์เนียและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะที่จำกัดความรับผิดของผู้ที่เข้าช่วยเหลือผู้อื่นโดยฉุกเฉิน กล่าวคือผู้เข้าช่วยเหลือไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการช่วยเหลือของตน ส่วนบทบัญญัติที่จำกัดความรับผิดของผู้เข้าช่วยเหลือของประเทศเยอรมนีปรากฏอยู่ในกฎหมายจัดการงานนอกสั่ง ถ้าผู้จัดการทำกิจการเพื่อปัดป้องภยันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ ผู้เข้าช่วยเหลือไม่ต้องรับผิด เว้นแต่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้เข้าช่วยเหลือที่มีเจตนาดี ผู้ศึกษาจึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย หมวด 3 ว่าด้วยนิรโทษกรรม โดยเพิ่มมาตรา 449/1 เข้าไป ซึ่งมาตรานี้จะวางหลักเกณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลใดก็ตามที่ได้ให้ความช่วยเหลือโดยฉุกเฉินแก่ผู้ที่ตกอยู่ในภยันตราย ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือต่อทรัพย์สิน ผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการช่วยเหลือนั้น เว้นแต่ความเสียหายจะเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง