Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law and Economics

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 30 of 262

Full-Text Articles in Law

ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการมัคคุเทศก์ท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551, สมชนก ชัยประเสริฐกุล Jan 2022

ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการมัคคุเทศก์ท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551, สมชนก ชัยประเสริฐกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และมัคคุเทศก์ก็เป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะดูแลนักท่องเที่ยว ประกอบกับพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการจัดการมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 พบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการมัคคุเทศก์ท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ที่มีผลต่อการส่งเสริมอาชีพมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในท้องถิ่นหรือชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนี้ 1. คุณสมบัติด้านอายุของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กล่าวคือ มัคคุเทศก์อื่นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ แต่มัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้รับยกเว้นคุณสมบัติด้านอายุหรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นไม่ได้จำกัดอายุนั้นเอง อย่างไรก็ดี มัคคุเทศก์เป็นอาชีพที่ต้องมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่มีการกำหนดอายุมัคคุเทศก์ท้องถิ่น อาจส่งผลให้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่มีอายุน้อยขาดวุฒิภาวะในการดูแลนักท่องเที่ยว อันส่งผลต่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนได้ 2. คุณสมบัติด้านภูมิลำเนาของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กล่าวคือ การกำหนดคุณสมบัติของ มัคคุเทศก์ท้องถิ่นมิได้กำหนดให้เฉพาะบุคคลในภูมิลำเนาในเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ๆ จึงอาจส่งผลให้บุคคลที่อยู่นอกเขตพื้นที่เฉพาะเข้าไปขออนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้ ซึ่งขัดกับหลักการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นหรือชุมชน 3. ความชัดเจนในข้อกำหนดห้ามมัคคุเทศก์อื่นปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ท้องถิ่นหรือชุมชนที่ ได้รับการยกเว้นคุณสมบัติมัคคุเทศก์ กล่าวคือ ในกรณีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นไม่เพียงพอ มัคคุเทศก์ประเภทอื่นจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ และกรณีที่มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นหรือชุมชนไม่จัดหามัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้นั้นยังไม่ชัดเจนว่ามัคคุเทศก์ประเภทอื่นจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงทำการศึกษาหลักการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หลักการมัคคุเทศก์ และหลักความได้สัดส่วน ตลอดจนได้นำกฎหมายของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อหาข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติด้านอายุ และภูมิลำเนาของมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ตลอดจนความชัดเจนในข้อกำหนดห้ามมัคคุเทศก์อื่นปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ท้องถิ่นหรือชุมชนที่ได้รับการยกเว้นคุณสมบัติมัคคุเทศก์ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์แก่การท่องเที่ยวไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป


ความไม่สอดคล้องของการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 กับมาตรการส่งเสริมการออมเกษียณอายุ, ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ Jan 2022

ความไม่สอดคล้องของการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 กับมาตรการส่งเสริมการออมเกษียณอายุ, ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ได้สัดส่วนกับนโยบายมาตรการส่งเสริมการออม ในการวางแผนเกษียณอายุ ในอดีตประเทศไทยไม่มีระบบคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจน การดูแลผู้ฝากเงินขึ้นกับนโยบายของทางการในแต่ละสถานะการณ์ จนในปี 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤติการณ์ทางการเงินขั้นรุนแรง โดยเฉพาะการเกิดปัญหาฐานะหรือการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้เต็มจำนวน โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้รับหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกได้เสนอมาตราการจัดการกับปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินซึ่งก็คือ “ระบบคุ้มครองเงินฝาก” วงเงินคุ้มครองที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 จากคุ้มครองเต็มทั้งจำนวนแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่เกิน 50 ล้านบาท และ ไม่เกิน 10 ล้านบาท จนกระทั้งบังคับใช้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ผู้ฝากสามารถขอรับคืนได้จากกระบวนการชำระบัญชี ปัจจุบันสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คิดเป็นอัตราร้อยละ 18 ของประชาการทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นสังคม “สูงอายุอย่างสมบูรณ์” รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงมีโนบายในการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปบำนาญอันทำให้แรงงานนอกระบบได้รับการดูแลจากภาครัฐ โดยกลุ่มที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการรองรับในวัยเกษียณอายุ หรือการวางแผนเกษียณ เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้หลังเกษียณ ต้องมีเงินออมหลังเกษียณอายุจำนวนเงิน 2,710,723.20 บาท ในช่วงระยะเวลา 20 ปี การศึกษานี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการบทบัญญัติกฎหมาย บทความ วารสาร สิ่งตีพิมพ์ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต (Internet) ภาษาไทย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเสนอแนวทางและข้อควรพิจารณาในการพัฒนากฎหมาย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน ทำให้ส่งเสริมการออมในประเทศ จากการศึกษาพบว่าพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ได้สัดส่วนกับนโยบายมาตรการส่งเสริมการออม และจากการคำนวณตามแผนการออมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือแผนการออมของสถาบันการเงิน เช่นรูปแบบการออมเพื่อการเกษียณใน “กองทุนรวม” ต่างๆ ต้องวางแผนการสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ต้องมีเงินออม 5,000,0000 บาท


ปัญหา การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในส่วนข้อมูลผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของบัญชีนิติบุคคลในธุรกิจสถาบันการเงินไทย, อัชฌารินทร์ วิระยกุลรัตน์ Jan 2022

ปัญหา การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในส่วนข้อมูลผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของบัญชีนิติบุคคลในธุรกิจสถาบันการเงินไทย, อัชฌารินทร์ วิระยกุลรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กำหนดให้สถาบันการเงินมีหน้าที่ในการจัดให้ลูกค้าแสดงตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในส่วนผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง แต่การปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากการระบุหลักเกณฑ์ในกฎหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดการตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงให้ชัดเจน ยากต่อการทำความเข้าใจ ข้อมูลที่สถาบันการเงินค้นหามาจากระบบเพื่อการตรวจสอบนั้น ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือไม่ ตรวจสอบจนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแล้วหรือยัง ยากต่อการตรวจสอบ และปัจจุบันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ต่างอาศัยนิติบุคคลบังหน้าในการกระทำความผิด เพราะมีโครงสร้างธุรกิจที่ซับซ้อน ข้อแนะนำที่ 24 ของ FATF : แต่ละประเทศต้องดำเนินการให้มั่นใจว่ามีข้อมูลเพียงพอ ถูกต้อง และทันต่อเวลา เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์และเกี่ยวกับการควบคุมนิติบุคคล โดยเป็นข้อมูลที่หน่วยงานที่มีอำนาจสามารถขอรับหรือเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ประเทศดังกล่าวจะต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิผลมาดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการนำบุคคลหรือตราสารไปใช้เพื่อการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และแต่ละประเทศต้องพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงและข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมได้ ผลการประเมินของ The Asia/Pacific Group on Money Laundering : ได้ระบุว่า ประเทศไทยยังมีการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าไม่เพียงพอ แนวทางปฏิบัติในเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ของสถาบันการเงินขาดความชัดเจน สถาบันการเงินขาดความรู้ความเข้าใจความเสี่ยงส่งผลให้การปฏิบัติตามกฎหมายไม่ครบถ้วน ขาดกฎหมายหรือข้อกำหนดที่ให้นิติบุคคลต้องแจ้งข้อมูลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง กับหน่วยงานราชการอื่น และไม่มีการกำหนดมาตรมาตรการลงโทษทางปกครอง แม้ว่าประเทศไทย ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้รับผลประโยชน์แท้จริงแล้ว แต่กฎหมายดังกล่าวยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับคำนิยามของผู้มีอำนาจควบคุม จนอาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายได้ จึงขอเสนอแนะให้ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการ 1. จัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อกำหนดคำนิยาม ของผู้มีอำนาจควบคุมให้ชัดเจน ตามตัวอย่างหลักเกณฑ์ของประเทศสิงคโปร์ ที่กำหนดคำว่าบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีนัยสำคัญ คือ ผู้มีอำนาจควบคุมของ บริษัท หรือ บริษัท ต่างประเทศถ้าบุคคลหรือนิติ บุคคล มีลักษณะดังนี้ (ก) มีสิทธิแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือถือครองโดยบุคคลเทียบเท่าในบริษัทหรือบริษัท ต่างชาติเสียงข้างมากในที่ประชุมกรรมการหรือเทียบเท่าบุคคลในทุกเรื่องหรือสาระสำคัญ (ข) ถือหุ้นทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเรื่องที่สมาชิกลงมติเลือก หรือ บุคคลเทียบเท่าในบริษัทหรือบริษัทต่างประเทศ หรือ (ค) สิทธิในการใช้สิทธิหรือการใช้สิทธิจริงมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหรือการควบคุมบริษัทหรือบริษัทต่างชาติและฮ่องกง 2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์กฎหมาย รวมถึงแนวปฏิบัติในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ของสถาบันการเงินให้ชัดเจน และเสริมสร้างความเข้าใจด้วยการจัดทำตัวอย่างการระบุรายละเอียดในแบบฟอร์มให้มีความเข้าใจมากขึ้น


แนวทางการกำกับดูแลการผลิตและการให้ออโต้จีนัสวัคซีนในราชอาณาจักรไทย, หาญชัย วงศ์จักรแก้ว Jan 2022

แนวทางการกำกับดูแลการผลิตและการให้ออโต้จีนัสวัคซีนในราชอาณาจักรไทย, หาญชัย วงศ์จักรแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ออโต้จีนัสวัคซีน เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อจุลชีพที่เป็นต้นเหตุของการระบาดในฟาร์ม เมื่อผลิตเสร็จจะนำวัคซีนนั้นกลับไปใช้ ณ ฟาร์มที่เกิดปัญหา ดังนั้นจึงเป็นวัคซีนที่มีความจำเพาะต่อโรคระบาดที่เกิดขึ้นและสามารถลดความเสียหายและควบคุมการระบาดของโรคได้รวดเร็ว อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และเครือรัฐออสเตรเลีย การออกใบอนุญาตการผลิต จะต้องออกตามใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้น โดยได้รับการยกเว้นจากการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพื่อนำไปใช้กับสัตว์ที่วินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรค เฉพาะในกรณีที่พบว่าไม่มีวัคซีนขึ้นทะเบียน หรือมีวัคซีนที่มีทะเบียนแต่ไม่ตรงสเตรนของสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคหรือมีหลักฐานแสดงว่าวัคซีนที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กฎหมายต่างประเทศที่ใช้ในการกำกับดูแล มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง โดยขึ้นกับบริบทต่อการบริหารจัดการและปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อจำกัดของแต่ละประเทศ เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ที่ใช้ในการบริหารจัดการเพื่อกำกับออโต้จีนัสวัคซีน อยู่ภายใต้การกำกับของพระราชบัญญัติยา พุทธศักราช 2510 ในมาตรา 4 เป็นสาระสำคัญหลัก ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตสถานที่ ผลิต นำเข้า ขาย และขึ้นทะเบียน คือมาตรา 12 มาตรา 79 และ มาตรา 83 (3) สำหรับเรื่องการกำหนดและข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิต ขาย นำสั่ง ในราชอาณาจักรไทยจะอาศัยมาตรา 13 (1) และ 13 (5) ซึ่งเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต และมาตรา 13 (2) ยังคงมีข้อให้ตีความทางกฎหมายกับแนวทางปฏิบัติตามข้อเท็จจริง อันเนื่องมาจาก ระบบการเลี้ยงสัตว์เป็นระบบ “ฝูง” โดยมาตรา 13 (1) ได้กำหนดข้อยกเว้น ไม่ใช้บังคับแก่ “(1) การผลิตยาซึ่งผลิตโดยกระทรวง ทบวง กรม ในหน้าที่ป้องกันหรือบำบัดโรค สภากาชาดไทย และองค์การเภสัชกรรม” กฎหมายที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะถูกหยิบขึ้นมาใช้เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อระเบียบการกำกับดูแลออโต้จีนัสวัคซีน โดยปัจจุบันบทบาทหน้าที่และอำนาจการรับผิดชอบหลัก เป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่เพียงผู้เดียว ตามกระบวนการกรอบการปฏิบัติเดิม เพราะแท้จริงแล้ว หากกรมปศุสัตว์ จะกระทำการแทนก็ย่อมจะกระทำได้โดยชอบ นอกจากนี้ผู้เขียนยังเสนอให้มีการออกร่าง “กฎหมายเฉพาะ” สำหรับบริหารจัดการโดยเฉพาะ โดยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับยา สารชีววัตถุ หรือวัคซีนสัตว์โดยตรงเป็นการเฉพาะ หรือทำการส่งเสริมสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ (Bureau of Veterinary Biologics) ของกรมปศุสัตว์ ที่มีอยู่แล้วให้มาบริหารจัดการออโต้จีนัสวัคซีนเป็นการเฉพาะโดยประกอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นผู้ทำงานที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับออโต้จีนัสวัคซีนอย่างแท้จริง


การสร้างสมดุลระหว่างการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานของรัฐของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562, ศุทธิกานต์ สนขุนทด Jan 2022

การสร้างสมดุลระหว่างการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานของรัฐของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562, ศุทธิกานต์ สนขุนทด

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หลังจากที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งแต่การเก็บ รวบรวม หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมของเจ้าของข้อมูล ซึ่งเป็นการบังคับใช้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีการบังคับใช้ในหน่วยงานภาครัฐ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐเพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถปกปักรักษาประโยชน์ของตนได้ประกอบกับได้รับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของราชการไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานราชการซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ฯ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฯ จึงควรจัดให้มีกระบวนการหรือขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตั้งแต่การจัดเก็บ การรักษา การใช้ หรือการโอนข้อมูลให้มีความปลอดภัย การกำหนดข้อยกเว้นของการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหน่วยงานของรัฐและเอกชนให้มีความสัมพันธ์หรือแนวทางการปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ดังนั้นเอกกัตศึกษาเล่มนี้ ต้องการจะศึกษาว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 สามารถที่จะดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการตามคำร้องขอได้หรือไม่ ขณะเดียวกันการเปิดเผยนั้นจะเป็การการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลจนเกินสมควรหรือไม่ ดังนั้นจะมีหลักเกณฑ์หรือกลไกใดที่จะเข้ามาช่วยให้การดำเนินการการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้นสามารถดำเนินการไปได้อย่างสมดุล และสอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อพิจารณาในภาพรวมควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่เป็นการทำลายการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลจนเกินสมควร และสามารถเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยภายในหน่วยงานอาจจะมี 1.การกำหนดวัตถุประสงค์สำหรับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำร้องขอว่าผู้ร้องขอมีวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้เพื่ออะไร 2. กำหนดสิทธิและหน้าที่รวมถึงอำนาจในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะถูกรวมอยู่ด้วย เมื่อทราบแล้วว่าใครมีหน้าที่อย่างไร มีสิทธิเข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน และ 3. สามารถเปิดเผยข้อมูลใดได้บ้าง กล่าวคือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกรวมอยู่ในข้อมูลข่าวสารราชการ หากมีความจำเป็นต้องเปิดเผย ควรมีการลบ ตัดทอน หรือแก้ไขข้อมูลดังกล่าว โดยอาจจะใช้วิธีลดขนาดข้อมูล หรือทำให้เป็นข้อมูลนิรนาม (Anonymization) หรือเป็นการแฝงข้อมูล (Pseudonymization) 5. กำหนดความเสี่ยงสำหรับการเปิดเผยข้อมูลว่าข้อมูลประเภทแต่ละประเภท มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด จากนั้นก็ใช้ 6. มาตรการในการบริหารจัดการเข้ามาดูแลในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน 7. เจ้าหน้าที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลควรจะได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ ทบทวนหน้าที่และขอบเขตงานของตนตลอดเวลา และ 8. ควรมีการประเมินผลการดำเนินงานว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์และประสิทธิภาพต่อสาธารณชนและปัจเจกชนมากน้อยเพียงใด เป็นต้น


แนวทางการกับกับดูแลการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan), ศศิธร แซ่อึ๊ง Jan 2022

แนวทางการกับกับดูแลการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan), ศศิธร แซ่อึ๊ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สินเชื่อมีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลระบบการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงิน ในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ตลาดการเงินดิจิทัลนั้น ได้สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างแพร่หลายตามแผนยุทธศาสตร์ธปท. ฉบับพ.ศ.2563-2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติให้ผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) พร้อมทั้งออกประกาศฉบับที่ ธปท.ฝกส.(01) ว.977/2563 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลไปยังสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นและลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ อีกทั้งช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ให้ประกอบธุรกิจ การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นศึกษาการควบคุมความเสี่ยงในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 977/2563 จากการศึกษาพบว่าประกาศฉบับดังกล่าวมีการควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทางการเงินที่ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เนื่องจากมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ที่มากเกินไปในส่วนของการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อและเรื่องการกำหนดให้ใช้เฉพาะข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคทางการเงินที่ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลได้รับความคุ้มครองมากขึ้น จึงควรมีการแก้ไขเนื้อหาของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 977/2563 ในส่วนที่มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อและการต้องใช้เฉพาะข้อมูลทางเลือก ให้มีการบริหารความเสี่ยงที่เข้มข้นขึ้นเพื่อมิให้ผู้บริโภคก่อหนี้เกินตัว โดยกำหนดให้การให้สินเชื่อแก่ผู้บริโภคบนพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยงตามหลักการพิจารณาให้สินเชื่อที่คำนึงถึงสถานะทางการเงิน ภาระหนี้สิน หรือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภคเป็นหลักร่วมกับการใช้ข้อมูลทางเลือก อีกทั้งควรเพิ่มแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินจากการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้ประกอบการสินเชื่อดิจิทัลนอกระบบด้วย


มาตรการทางภาษีในการส่งเสริมติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, สุรสิทธิ์ ธัญพุทธิวงศ์ Jan 2022

มาตรการทางภาษีในการส่งเสริมติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, สุรสิทธิ์ ธัญพุทธิวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ได้ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นจำนวนมากในการประกอบการอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนตามมา จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง อาทิ การเกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ จนเกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นั่นคือ สัญญาปารีส และพิธีสารโตเกียว โดยประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดแผนงานระดับประเทศ เพื่อเป็นการลดการปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศ และรักษาอุณหภูมิของโลกให้ไม่ร้อนไปกว่านี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับอนุสัญญาความร่วมมือทั้งสองฉบับด้วย ส่งผลให้ ภาครัฐต้องกำหนดแผนนโยบายระดับชาติขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนนำมาสู่แผนพลังงานชาติ ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญคือ การส่งเสริมการใช้และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ส่งผลให้มีมาตรการทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อมาสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อาทิ การลดอัตราภาษีสรรพสามิต การลดอากรนำเข้า การยกเว้นอากรขาเข้า หรือแม้กระทั่งการอุดหนุนทางการเงิน ขณะเดียวกันเอง มีมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ให้มีจำนวนเพียงพอครอบคลุมกับความยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมาตรการใดเลยที่เป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยที่มีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้ง โครงการนำร่องที่เป็นการให้เงินอุดหนุนในการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแก่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน มีเงื่อนไขในการอุดหนุนที่แตกต่างกันคือ หากเป็นภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะได้รับเงินอุดหนุนเกือบทั้งหมดของราคาต้นทุนในการติดตั้ง ในขณะที่ ภาคเอกชนจะได้รับการอุดหนุน มากที่สุดเพียง 70% และมีสัดส่วนการอุดหนุนภาคเอกชนที่แตกต่างกันไปตามรอบระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร ส่งผลให้อาจเกิดความไม่ธรรมต่อภาคเอกชนในการประกอบกิจการให้บริการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้มาตรการเครดิตภาษีแก่ผู้ที่ติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้ในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชน อีกทั้ง ยังมีมาตรการให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ โดยในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ จำนวน 10,000 เครื่องได้เร็วกว่ากำหนดถึง 2 ปี ดังนั้นผู้ศึกษา จึงได้มีการนำเสนอให้มีการนำแนวทางมาตรการส่งเสริมการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอเมริกามาปรับใช้กับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย และมุ่งเน้นการหามาตรการอื่นๆ ในการส่งเสริมการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะเช่นกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ตามนโยบายของประเทศ


แนวทางในการนำมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายปูนซีเมนต์มาปรับใช้ในประเทศไทย, ศวรรยารัตน์ อรรถีโสต Jan 2022

แนวทางในการนำมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายปูนซีเมนต์มาปรับใช้ในประเทศไทย, ศวรรยารัตน์ อรรถีโสต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ก่อให้เกิดมลพิษหลายประการ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ปัญหาจากการชะล้างพังทลายของดิน ปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษเสียง ความสั่นสะเทือน ปัญหาผลกระทบด้านการคมนาคมขนส่ง ปัญหาผลกระทบด้านสุนทรียภาพ และแหล่งธรรมชาติอันควรแก่การอนุรักษ์ ปัญหาผลกระทบต่อสังคมท้องถิ่นส่งผลให้เกิดความเสียหายด้านการใช้ชีวิตประจำวัน และปัญหาด้านสุขภาพต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากฝุ่นละอองส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง วัตถุประสงค์ของเอกัตศึกษานี้มุ่งศึกษาถึงมาตรการภาษีจากการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา มาตรการชดเชย และเยียวยาความเสียหายสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย Comprehensive Environmental Response, Compensation, and Liability Act หรือที่เรียกว่ากฎหมาย CERCLA ของประเทศสหรัฐอเมริกา กับมาตรการกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่มีการใช้ในปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยขาดมาตรการการเยียวยาด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตปูนซีเมนต์ โดยปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากการผลิตปูนซีเมนต์หลายมาตรการ แต่เป็นเพียงมาตรการในการควบคุมและบำบัดมลพิษเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการบางรายมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ซึ่งเป็นความสมัครใจในการดำเนินการของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งไม่ถือเป็นมาตรการบังคับทางกฎหมายแต่อย่างใด ประการสำคัญหากผู้เสียหายจะดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการฟ้องร้องเป็นระยะเวลานาน ทั้งต้องมีการพิสูจน์ความเสียหาย และเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก จากการศึกษามาตรการภาษีจากการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายปูนซีเมนต์ของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา หากมีการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยการกำหนดให้ผู้รับผิดชอบเสียภาษี คือ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้บริโภคขั้นสุดท้าย เป็นผู้มีหน้าเสียภาษี สอดคล้องกับหลักการจัดการสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งเป็นการให้ผู้ก่อมลพิษแสดงความรับผิดชอบ และได้ตระหนักถึงมลพิษที่ตนได้ก่อ โดยอัตราภาษีที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 0.5%-1% หรือราคาตันละ 12 บาท โดยควรกำหนดให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษี ทั้งนี้จะทำให้องค์กรปกครองสวนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้มาบริหาร ใช้จ่ายเพื่อการเยียวยาสิ่งแวดล้อม ผู้ได้รับผลกระทบ ปรับปรุงทัศนียภาพ โดยไม่ต้องเบิกเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ประการที่สำคัญ คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาโดยตรง อันเป็นผลจากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บรายได้เอง และมีอำนาจในการจัดสรรการใช้รายได้นี้ ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นในการรอเบิกเงินอุดหนุนจากส่วนกลางซึ่งใช้ระยะเวลานาน ทั้งงบประมาณอาจไม่เพียงพอ ส่งผลให้การเยียวยานั้นไม่ทั่วถึงและอาจไม่ทันเวลา


แนวทางแก้ไขปรับปรุงนิยามของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547, สมพล โตถาวร Jan 2022

แนวทางแก้ไขปรับปรุงนิยามของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547, สมพล โตถาวร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การท่องเที่ยวในประเทศไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมการบริการหลักของประเทศโดยมีการกำลังการเติบโต และมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการพื้นฐานที่รองรับนักท่องเที่ยวในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เมื่อพิจารณากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่า กฎหมายเกี่ยวกับโรงแรมที่กล่าวถึงคำนิยามของโรงแรมมีอยู่เพียง 1 ฉบับคือ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 โดยเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้เป็นระยะเวลานานซึ่งเนื้อหาของพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้อง และทันต่อสถานการณ์ของสถานที่พักในปัจจุบัน นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า คำนิยามของโรงแรมอยู่ในการควบคุมตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 ทำให้ธุรกิจสถานที่พักหลายแห่งไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของคำนิยามดังกล่าว และทำให้เกิดปัญหาจากการบังคับใช้คำนิยามของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามมา อาทิ การแบ่งประเภทของโรงแรมในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมสถานที่พักในหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตามที่กฎหมายได้มีการแบ่งประเภทของโรงแรมออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนห้องพัก และจำนวนผู้เข้าพัก อย่างไรก็ตามการจัดประเภทของโรงแรมดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงสถานที่พักในหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้สถานที่พักบางแห่งไม่ถูกจัดเป็นสถานที่พักที่เป็นโรงแรมตามกฎหมาย จากการศึกษาเปรียบเทียบ คำนิยามของ “สถานที่พักที่เป็นโรงแรม” และ “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม”ของประเทศไทย รวมถึงมาตรการทางกฎหมายต่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร พบว่าคำนิยามของสถานที่พักที่เป็นโรงแรมมีลักษณะที่คลอบคลุมถึงสถานที่พักอื่น ๆ ด้วย เช่น อาศัย บ้านพัก และเกสท์เฮ้าส เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงสถานที่ของรัฐ และเป็นสถานที่ที่ต้องมีความพร้อมที่จะเสนอบริการ และเต็มใจที่จะรับนักเดินทาง โดยผู้ประกอบธุรกิจสถานที่พักไม่มีสัญญาพิเศษต่อผู้เข้าพัก และ คำนิยามของคำว่าสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมของประเทศสิงคโปร์กำหนดยกเว้นให้สถานที่พักคือ บ้านพักซึ่งได้รับใบอนุญาตตาม Merchant Shipping Act ให้เป็นบ้านพักสำหรับผู้แสวงบุญชาวอิสลาม สถานที่ให้เป็นบ้านพักสำหรับลูกเรือภายใต้ Nation Maritime Board Act และ สถานที่อื่น ๆ ซึ่งได้รับการยกเว้นโดยกฎหมาย อาทิ หอพักนักศึกษา ที่พักสำหรับสมาชิกของสมาคม หรือสถาบันอื่น ๆ ที่ได้รับอนุมัติ และคำนิยามของคำว่า “สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม” หมายถึง สถานที่พักที่เจ้าของใช้สิทธิ์ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในการเลือกแขก หรือนักเดินทางที่จะมาใช้บริการ หรือห้ามมิให้บุคคลบางกลุ่ม เข้าใช้บริการสถานที่พักโดยสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ไม่มีสิทธิ และหน้าที่ความรับผิดตามกฎหมาย ดังนั้น ประเทศไทยควรนำกฎหมายประเทศสิงคโปร์ และสหราชอาณาจักรมาปรับใช้กับการกำหนดคำนิยามของโรงแรมในเรื่องข้อจำกัดของห้องพัก และจำนวนผู้เข้าพักตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 เพื่อให้มีความสอดคล้องต่อธุรกิจสถานที่พักในปัจจุบัน และเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสถานที่พักได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐอย่างเท่าเทียม


การกำกับดูแลธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่บ้านในประเทศไทย, สุชาภา อัศวเลิศพลากร Jan 2022

การกำกับดูแลธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่บ้านในประเทศไทย, สุชาภา อัศวเลิศพลากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการกำกับดูแลธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย และศึกษาแนวทางกำกับดูแลธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกา (รัฐแคลิฟอร์เนีย) และประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำมาตรการที่ศึกษาได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อเป็นแนวทางดำเนินการในการกำกับดูแลธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่บ้านในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล เป็นการเฉพาะ มีแต่กฎหมายสำหรับธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่เป็นการทั่วไป หากจะประกอบธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่บ้านต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เนื่องจากไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะที่รวบรวมอยู่ในฉบับเดียว และพบว่ากฎหมายที่กำกับดูแลนั้นยังไม่ครอบคลุมและสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่บ้าน ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการขออนุญาต ประกอบธุรกิจ และปัญหาด้านสุขลักษณะอนามัยซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จากการศึกษาการกำกับดูแลธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสิงคโปร์ ผู้เขียนได้แนวทางการปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ ทั้งด้านของการกำหนดกฎหมาย ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะสำหรับธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหาร การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการในการขออนุญาตและลงทะเบียนประกอบ ธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหาร และการกำกับดูแลสุขลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ สุขลักษณะของสถานที่ประกอบและจำหน่ายอาหาร สุขลักษณะของอาหาร การประกอบอาหารและการจำหน่ายอาหาร สุขลักษณะของภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหาร สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบการและผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สอดคล้องและเหมาะสมกับธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหาร ทำให้ การกำกับดูแลของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจประกอบและจำหน่ายอาหารที่บ้านมีสุขลักษณะอนามัยที่ดีในการประกอบอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับบริโภคอาหารที่ ถูกสุขลักษณะอนามัยและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหาร


แนวทางในการพัฒนาเกณฑ์การขึ้นทะเบียนวัคซีนขององค์การอาหารและยา ภายใต้สถานการฉุกเฉิน, อธิษฐ์ นพนิธิพัฒน์ Jan 2022

แนวทางในการพัฒนาเกณฑ์การขึ้นทะเบียนวัคซีนขององค์การอาหารและยา ภายใต้สถานการฉุกเฉิน, อธิษฐ์ นพนิธิพัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการพิจารณาการนำเข้าวัคซีน ขององค์การอาหาร และยา ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเปรียบเทียบกระบวนการและหลักเกณฑ์การจัดหาผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนดังกล่าวในต่างประเทศ รวมถึงศึกษาการปรับเปลี่ยนมาตรการ นโยบายและการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐ และบทบาทขององค์การอาหารและยา ในการจัดหาวัคซีนในกรณีฉุกเฉินหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะและการพัฒนาวัคซีนต้นแบบและเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงนโยบายและหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาด และเพื่อให้สอดคล้องกับสมมุติฐานของการศึกษานี้คือ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการจดทะเบียนให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถนำเข้าวัคซีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในสถานการณ์ที่ผ่านมาทางองค์การอาหารและยาได้ตระหนักถึงความจำเป็นของสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคที่มีความจำเป็นในการนำเข้าวัคซีนเข้ามาใช้โดยเร็ว ผ่านการประกาศอนุญาตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดใหญ่ของโรค เพื่อลดขั้นตอนที่อาจจะยังไม่จำเป็นในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนยาในขั้นต้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าการนำเข้าวัคซีนนั้น แม้ว่าจะได้มีการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากองค์การอนามัยโลกแล้ว ประเทศไทยยังคงจะต้องจะต้องนำวัคซีนเข้าสู่กระบวนการการขึ้นทะเบียนกับทางองค์การอาหารและยาอีกครั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซ้ำซ้อนกัน และไม่ได้ประสิทธิภาพอันควร ดังนั้นเพื่อให้ได้มาของวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา และยังคงสามารถคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ใช้วัคซีนได้นั้น องค์การอาหารและยาควรยอมรับหลักฐานแสดงความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพจากผลการรับรองการขึ้นทะเบียนวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งถูกรับรองโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อที่จะนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงในการนำมาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งหากสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการในการอนุมัติขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำเข้าและใช้งานวัคซีนได้ทันที โดยกระบวนการขึ้นทะเบียนที่มีอยู่ สามารถดำเนินการแบบคู่ขนานกับการใช้งาน หากกระบวนการได้มาของวัคซีน สามารถดำเนินการได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ก็จะสามารถนำมากระจายให้ประชาชนได้เร็วเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมาตรการรับมือโรคระบาดนี้ ก็คือการป้องกันการติดต่อของโรคระบาด และลดอัตราการสูญเสีย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในสถานการณ์เร่งด่วนที่กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการใด ๆ จะต้องพิจารณาและจัดลำดับความสำคัญให้ดี เนื่องจากจะต้องแข่งอยู่กับเวลาอยู่เสมอ กรอบการใช้ดุลพินิจของกระบวนการพิจารณาควรจะต้องมีความยืดหยุ่นให้สอดรับตามสถานการณ์และความฉุกเฉิน หากกรอบการใช้ดุลพินิจที่เข้มงวดจนเกินไป อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่มากกว่าจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียน ทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ช้ากว่าประเทศอื่น


ปัญหาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ Data Center และ Cloud Service : กรณีบริษัทต่างชาติจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยสำหรับลงทุน Data Center เพื่อสนับสนุน Cloud Service ในต่างประเทศ, อัจฉรียา เครืออ้น Jan 2022

ปัญหาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ Data Center และ Cloud Service : กรณีบริษัทต่างชาติจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยสำหรับลงทุน Data Center เพื่อสนับสนุน Cloud Service ในต่างประเทศ, อัจฉรียา เครืออ้น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การประกอบกิจการ Data center และ Cloud service ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมภายใต้มาตรการภาษี 2 รูปแบบ ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุน และการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบกิจการ Data center ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 759 พ.ศ. 2565 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัทต่างชาติจัดตั้งบริษัทลูกสำหรับให้บริการ Data center ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุน Cloud service ในต่างประเทศ เป็นการวางแผนโครงสร้างธุรกิจโดยมีเจตนาเลี่ยงการมีสถานประกอบการ และเพื่อควบคุมปริมาณกำไรในบริษัทลูก การประกอบกิจการของบริษัทลูกในประเทศไทยทำให้ผู้ประกอบกิจการ Cloud service ในต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยจัดเก็บภาษีได้เพียงกำไรของบริษัทลูกที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น จากปัญหาข้างต้นประเทศไทยควรบังคับให้ผู้ประกอบกิจการ Cloud service ในต่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทลูกในประเทศไทยมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร นอกจากนั้น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทลูกในประเทศไทยที่ทำหน้าที่สนับสนุนการให้บริการ Cloud service ของต่างประเทศ ไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี แรงงานทักษะ หรือการซื้อวัตถุดิบภายในประเทศไทยอย่างมีสาระสำคัญ และการประกอบกิจการดังกล่าวเป็นความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทเพื่อวางแผนทางภาษี จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริม ดังนั้น การประกอบกิจการภายใต้กรณีบริษัทต่างชาติจัดตั้งบริษัทลูกสำหรับให้บริการ Data center ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุน Cloud service ในต่างประเทศไม่ควรได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีใด นอกจากนั้นผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะเพื่อให้มาตรการภาษีสอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริม โดยข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง ได้แก่ ประการที่หนึ่ง รัฐควรเพิ่มเงื่อนไขด้านคุณลักษณะของผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ โดยรัฐอาจพิจารณาให้ถอดหรือลดทอนสิทธิแก่บริษัทลูกในประเทศไทย เพื่อให้สิทธินั้นตกแก่ผู้ประกอบกิจการทั่วไปที่ไม่ใช่การจัดโครงสร้างเพื่อการวางแผนภาษีของบริษัทต่างประเทศ และประการที่สอง มาตรการส่งเสริมควรให้เลือกรับสิทธิประโยชน์เพียงสิทธิเดียว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและลดความเสี่ยงที่จะถูกประเมินจากให้เป็นมาตรการภาษีที่เป็นภัย (Harmful tax practice) ตามข้อตกลงของ OECD ที่ประเทศไทยได้ไปเข้าร่วม


แนวทางการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทางถนนระหว่างประเทศ ยังไม่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง, อัมรินทร์ ปุณณุปูรต Jan 2022

แนวทางการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทางถนนระหว่างประเทศ ยังไม่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง, อัมรินทร์ ปุณณุปูรต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษา เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการขนส่งทางถนน เป็นการขนส่งทางบกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน การขนส่งสินค้าต่าง ๆ จะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของสินค้าที่ทำการขนส่ง สินค้าควบคุมอุณหภูมิเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพของสินค้า ด้วยวิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ได้ศึกษาความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอาหารควบคุมอุณหภูมิและอุปกรณ์พิเศษเพื่อใช้ใน การขนส่ง ของสหภาพยุโรป ที่มีการกำหนดมาตรฐานพร้อมทั้งการตรวจสอบพาหนะและอุปกรณ์ที่ ใช้ในการขนส่งสินค้าประเภทนี้ เพื่อนำมาหาแนวทางที่เหมาะสมในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับพาหนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทางถนนโดยเฉพาะ อีกทั้งประเทศไทยยังได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ภาคผนวก 3 ว่าด้วยเรื่องการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ได้กล่าวถึงมาตรฐานและโครงสร้างที่เหมาะสมของพาหนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าประเภทนี้ไว้ แต่ภาคผนวกนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นเพียงการแนะนำแนวทางสำหรับประเทศภาคีเกี่ยวกับข้อกำหนดของการขนส่งสินค้าประเภทนี้เท่านั้น ไม่มีสภาพบังคับในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานของพาหนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทางถนนระหว่างประเทศไว้แต่อย่างใด จากการศึกษากฎหมายภายในของประเทศไทย พบว่า ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับพาหนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทางถนนโดยเฉพาะ มีเพียงกฎหมาย ที่กำกับดูแลเฉพาะตัวสินค้าและกำกับดูแลพาหนะหรือการขนส่งเป็นการทั่ว ๆ ไปเท่านั้น ในการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทางถนนระหว่างประเทศ ควรมีการบัญญัติกฎหมายในเรื่องการขนส่งสินค้าประเภทนี้ไว้โดยเฉพาะขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของพระราชบัญญัติ ที่มีข้อกำหนดด้านพาหนะ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ การตรวจสอบอุปกรณ์ และการประสานกฎระเบียบหรือการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ มีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานกำกับดูแล การตรวจและปล่อยผ่านสินค้า ให้กรมศุลกากรมีหน้าที่รับผิดชอบ และในส่วนของสินค้าที่ขนส่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า เช่น ผักผลไม้ หน่วยงาน ที่ดำเนินการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของสินค้าควบคุมอุณหภูมิ จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติจริงในการขนส่งทางถนน


มาตรการทางกฎหมายในการกำกับดูแลการให้สินเชื่อและการรับสิทธิในเงินฝากเป็นหลักประกัน : ศึกษาเฉพาะกรณี Pico-Finance, ไพรัตน์ สุระศิรานนท์ Jan 2022

มาตรการทางกฎหมายในการกำกับดูแลการให้สินเชื่อและการรับสิทธิในเงินฝากเป็นหลักประกัน : ศึกษาเฉพาะกรณี Pico-Finance, ไพรัตน์ สุระศิรานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษาฉบับนี้มุ่งศึกษาปัญหามาตราการทางกฎหมายของโครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ Pico Finance โดยศึกษาในการกำกับดูแลการให้สินเชื่อ และการรับสิทธิเงินฝากเป็นหลักประกัน ซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้งโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2559 โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ซึ่งใช้วิธีการศึกษาควบคู่ไปตามมาตรการทางกฎหมาย กับกระบวนการในการดำเนินการจริงโดยเริ่มตั้งแต่ต้นคือ ผู้ให้สินเชื่อขอใบอนุญาตในการประกอบ Pico Finance ไปจนถึง การยกเลิกจัดตั้งสถานประกอบการ โดยศึกษากฎหมายโดยตรง คือ ประกาศกระทรวงการคลัง (เรื่อง สินเชื่อย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) และ ประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมประกอบด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะนิติกรรม สัญญา และ ลักษณะหนี้ , พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 , พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 , พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 , พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 และ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 โดยมีสมมติฐานว่า แม้กระทรวงการคลัง จะออกมาตรการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่มาตรการทางกฎหมายในการกำกับและ ใช้หลักประกันทางธุรกิจ เช่น การกำกับวงเงินสินเชื่อ และสิทธิในเงินฝากเป็นหลักประกันเป็นต้นนั้น ยังเป็นปัญหา ดังนั้นจึงควรปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว เพื่อจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยมาตรการนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการศึกษาและพิสูจน์สมมติฐาน พบปัญหาในเรื่องยอดหนี้การปล่อยสินเชื่อ , ปัญหาการบัญญัติอัตราดอกเบี้ยแบบเหมารวม , ปัญหาการใช้เงินฝากเป็นหลักประกัน โดยมีการยึดสมุดบัญชี บัตรกดเงินสด และปัญหาของกฎหมายทวงหนี้ที่มุ่งคุ้มครองเพียงแต่บุคคลธรรมดา ซึ่งหากแก้ไขปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ได้ โดยการแก้ไขมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้โครงการนี้มีประสิทธิผล มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการ


แนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ สำหรับการจัดการเพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ, กนกกาญจน์ บุญเปี่ยม Jan 2022

แนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ สำหรับการจัดการเพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ, กนกกาญจน์ บุญเปี่ยม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษาฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับการจัดการเพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยศึกษาถึงปัญหาและผลกระทบเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย และหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งศึกษาหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับการจัดการเพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศออสเตรเลียเพื่อเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาและผลกระทบเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทยพบว่าประเทศไทยมักประสบกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยเสี่ยงทางธรรมชาติ หรือปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อชุมชน สังคม และภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ และเป็นผลทำให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันตามมา ดังนั้นการมีงบประมาณที่เพียงพอและเหมาะสมในการดำเนินโครงการเพื่อรับมือหรือจัดการกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ เพราะจะสามารถช่วยส่งเสริมและพัฒนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถรับมือหรือจัดการกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผลทำให้ช่วยบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับการจัดการเพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมาก่อน จึงได้มีการศึกษาถึงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ และผลที่ได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในประเทศออสเตรเลีย เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าประเทศออสเตรเลียประสบกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในบริบทที่คล้ายคลึงกันกับประเทศไทย และรัฐบาลของประเทศออสเตรเลียได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อหน่วยงานบริการดับเพลิงและบริการฉุกเฉินของแต่ละรัฐ เพื่อให้สามารถจัดการกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีกรอบในการจัดการภัยพิบัติที่ดี และสามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมที่จะนำแนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะสำหรับการจัดการเพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินอันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศออสเตรเลียมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย เพื่อเป็นการสรรหางบประมาณเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานของรัฐบาล อีกทั้งยังสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปใช้ในการจัดการกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การนำ Non-Classroom Training มาใช้เป็นวิธีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545, กิตติพศ ภัคมงคล Jan 2022

การนำ Non-Classroom Training มาใช้เป็นวิธีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545, กิตติพศ ภัคมงคล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องการนำ Non-Classroom Training มาใช้เป็นวิธีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ปัญหาในทางปฏิบัติของกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีการจำกัดแต่การใช้เครื่องมือ Classroom Training ฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน แนวทางการแก้ปัญหาโดยนำหลักการเรียนรู้และประเมินผลโดยอิงกับสมรรถนะของผู้เรียน (Competency-Based Education) มาพิจารณาร่วมกับหลักการเรียนรู้และประเมินผลโดยอิงกับการเข้าร่วมในชั้นเรียน (Time Based Education) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของต่างประเทศ ได้ศึกษาสิทธิของแรงงานที่จะได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงานตามกฎหมายระหว่างประเทศ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ค.ศ.1975 (ฉบับที่ 142) ข้อแนะว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ค.ศ. 2004 (ฉบับที่ 195) และ ปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติและนโยบายทางสังคมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมไปถึงกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงานตามกฎหมายต่างประเทศ คือประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย เปรียบเทียบกับกฎหมายในลักษณะเดียวกันของประเทศไทยคือพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ผลการศึกษา พบว่าการฝึกอบรมในชั้นเรียน (Classroom Training) ถือเป็นการเรียนรู้ที่ง่ายต่อการวางแผนและการบริหารจัดการ แต่วิธีการดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับบางทักษะหรือสมรรถนะใหม่ ซึ่งมีวิธีการฝึกอบรมที่เหมาะสมกว่า เช่น การเรียนผ่านระบบ E-Learning หรือการจัดการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติในหน้างานจริง (On the Job Training) ทั้งนี้ การเรียนรู้ควรจัดการแบบผสมผสานวิธีการในหลากหลายวิธีเข้าด้วยกัน โดยไม่ควรจำกัดอยู่แค่วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ควรพิจารณาจากผลลัพธ์ ต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้มาพิจารณาประกอบด้วย ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาทฤษฎีการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ รวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบความรู้ ความสามารถของผู้เรียน ซึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและมีความก้าวหน้ากว่าในช่วงเวลาที่ตรากฎหมายส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับสถานประกอบกิจการให้เลือกใช้วิธีการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ โดยยังคงการได้สิทธิตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ทั้งการยกเว้นการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานและการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า หากประเด็นดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว สถานประกอบกิจการย่อมเลือกวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามทฤษฎีการเรียนรู้ มีค่าใช้จ่ายในการอบรมคุ้มค่าที่สุดและใช้เวลาในการเรียนรู้น้อยที่สุด ไม่กระทบกับเวลาในการปฏิบัติงานของลูกจ้าง อันจะทำให้ความสามารถของแรงงานในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้


แนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ออนไลน์โดยมาตรการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม, ขวัญชนก ศรีภมร Jan 2022

แนวทางการป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ออนไลน์โดยมาตรการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม, ขวัญชนก ศรีภมร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องจากสภาพสังคมของประเทศไทยในปัจจุบันได้มีการอาศัยเทคโนโลยีในการดำรงชีวิตประจำวันมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อสื่อสารที่มีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยมีรูปแบบการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลายจนทำให้เกิดช่องว่างในการหลอกลวงต่างๆมากมายทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้กลับมาระบาดในสังคมไทยเป็นวงกว้างและสร้างความสูญเสียมหาศาลอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่เจอปัญหากับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่างประเทศก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน จากการค้นคว้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผู้วิจัยพบว่าในประเทศไทยได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ใช้ในการปราบปรามโดยการกำหนดความผิดทางอาญาและการใช้นโยบายทางอาญาของรัฐซึ่งยังไม่รวมถึงมาตรการการป้องกันอาชญากรรมโดยความร่วมมือของเอกชนประกอบกับบริบทต่างๆที่ทำให้การบังคับกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจึงทำให้ไม่สามารถจับกุมและกวาดล้างได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้มักมีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งและรูปแบบการหลอกลวงมีวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้นทำให้ยากต่อการสืบสาวต้นตอและบทกฎหมายที่ใช้ในการปราบปรามทางผู้วิจัยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาทางปลายเหตุ เนื่องจากบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องมักเป็นบทกฎหมายทางอาญา การที่จะสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้จะต้องเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วเท่านั้นประกอบกับการลงโทษผู้กระทำผิดจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆเนื่องจากเป็นการลงโทษทางอาญา การที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษแทบจะไม่ได้มีผลอะไรที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดน้อยลง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันและกำกับดูแลก่อนที่จะเกิดเหตุเสียมากกว่า เพราะการหาแนวทางในการป้องกันตั้งแต่ต้นจะสามารถช่วยลดความเสียหายได้ไม่มากก็น้อยและเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชน (Public Awareness Raising) ในการระมัดระวังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในปัจจุบัน ปัญหาการจับกุมและการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามดังกล่าวก็เป็นปัญหาหลักของต่างประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้นในเมื่อขั้นตอนในการจับกุมหรือปราบปรามเป็นขั้นตอนที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ ผู้วิจัยจึงเห็นควรว่าถ้าทำปลายทางไม่ได้ก็ควรหันมาหาวิธีการป้องกันต้นทางตั้งแต่แรกก่อนเกิดเหตุการณ์จะดีกว่าและจากการศึกษาของผู้วิจัยพบว่า ในต่างประเทศมักจะเน้นการบังคับใช้แผนปฏิบัติการเชิงรุกและมาตรการทางกฎหมายที่ใช้การป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อที่จะช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชนมากกว่าการเน้นการปราบปรามและวิธีที่จะช่วยการป้องกันได้ดีคือการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นตัวดักจับความผิดปกติของหมายเลขโทรศัพท์นั่นเองเนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่มักใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่มีคนใช้งานโดยใช้เทคโนโลยีในการแปลงหมายเลขและแอบอ้างเป็นหน่วยงานหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือหรือหมายเลขโทรศัพท์ผิดกฎหมายที่โทรมาจากต่างประเทศ ดังนั้นถ้าในส่วนของต้นทางคือกิจการโทรคมนาคมสามารถทำการตรวจสอบหรือตรวจพบตั้งแต่แรกจะทำให้ประชาชนเกิดความสูญเสียลดน้อยลง ซึ่งจากการที่ต่างประเทศหันมาสนใจการป้องกันมากกว่าปราบปรามพบว่าสถิติการสูญเสียของประชาชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทรัพย์สินบางประเภท : กรณีศึกษารถบ้านเคลื่อนที่, จิรัชยา ผู้พัฒน์ Jan 2022

ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทรัพย์สินบางประเภท : กรณีศึกษารถบ้านเคลื่อนที่, จิรัชยา ผู้พัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สิ่งปลูกสร้างได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาของที่อยู่อาศัยได้มีหลากหลายมากขึ้นโดยที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องมีการปลูกสร้างลงบนที่ดิน ฝังลงดิน หรือยึดติดตรึงถาวรเสมอไป ได้แก่ รถบ้านเคลื่อนที่ (Recreational Vehicle , Mobile Home, Caravan) ที่ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและหาประโยชน์อื่นใด จึงมีประเด็นที่ควรพิจารณาว่า รถบ้านเคลื่อนที่ประเภทดังกล่าวเข้าข่ายขอบเขตตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 หรือไม่ โดยคำนิยาม “สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น” ที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ซึ่งให้หมายความรวมถึงแพที่บุคคลอาจใช้อยู่อาศัยได้หรือที่มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ด้วย เอกัตศึกษาเล่มนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาถึงหลักการจัดเก็บภาษีรถบ้านเคลื่อนที่ในประเทศไทย และการจัดเก็บภาษีรถบ้านเคลื่อนที่ในต่างประเทศเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหาจุดบกพร่องหรือข้อควรแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการทางกฎหมายในประเทศไทย จากการศึกษาของผู้เขียนพบปัญหาการตีความ “สิ่งปลูกสร้าง” ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ไม่ครอบคลุมถึงยานพาหนะที่เป็นที่อยู่อาศัยมีลักษณะเคลื่อนที่ได้ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี โดยไม่สอดคล้องกับหลักผลประโยชน์ที่ได้รับ (Benefit Principle) และหลักความเป็นธรรม (Fairness Principle) ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของการจัดเก็บภาษีที่ดีและยังขัดต่อเจตนารมณ์ของภาษีทรัพย์สิน ผู้เขียนมีความเห็นว่ารถบ้านเคลื่อนที่มีองค์ประกอบการเป็นสิ่งปลูกสร้างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือที่ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม ที่เข้าข่ายการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบเทียบเคียงได้จากแพ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง องค์ประกอบที่หนึ่ง ประโยชน์จากการใช้สินทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าอยู่อาศัยและใช้สอย องค์ประกอบที่สอง ลักษณะการไม่ติดตรึงลงบนพื้นดิน องค์ประกอบที่สาม มีลักษณะที่สามารถการเคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกับแพ องค์ประกอบที่สี่ การได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภคและทรัพยากรในท้องถิ่นเช่นเดียวกับแพ จากองค์ประกอบดังกล่าวทำให้ผู้เขียนมีความเห็นว่ารถบ้านเคลื่อนที่ ควรจะถือเป็น “สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยมีข้อเสนอแนะให้รถบ้านเคลื่อนที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี รถบ้านเคลื่อนที่ทุกชนิด (รถเฉพาะกิจมอเตอร์โฮม) ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ประกอบกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนของภาษีและเพื่อความเป็นธรรม ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดลักษณะของรถบ้านที่ชัดเจน ในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อประโยชน์ในการจำแนก รถบ้านเคลื่อนที่ ออกจากรถยนต์ทั่วไปที่ใช้เพื่อการคมนาคมขนส่งโดยปกติ และเพื่อความชัดเจนในการยกเว้นภาษี นอกจากนี้ เมื่อรถบ้านเคลื่อนที่ (Recreational Vehicle , Mobile Home, Caravan) อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ภาษีส่วนนี้ควรถูกจัดเก็บเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทนกรมขนส่งทางบก


การจัดเก็บภาษีการเลี้ยงสุนัข, จุฬาลักษณ์ ติรชาญวุฒิ์ Jan 2022

การจัดเก็บภาษีการเลี้ยงสุนัข, จุฬาลักษณ์ ติรชาญวุฒิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แม้ว่าปัจจุบันคนจะหันมานิยมเลี้ยงสุนัขไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา โดยถือว่าสุนัขเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่ยังคงเกิดปัญหาอันเกิดจากการเลี้ยงสุนัขในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความหวาดกลัวของประชาชนต่อสุนัขที่มีพฤติกรรมดุร้าย ผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางกลิ่นและเสียงจากการเลี้ยงสุนัข อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจัดการปัญหาอันเกิดจากการเลี้ยงสุนัข ในขณะที่มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการเลี้ยงสุนัขที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ยังมีข้อบกพร่องและไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา จากการศึกษาการจัดเก็บภาษีเพื่อควบคุมการเลี้ยงสุนัขของกรุงเบอร์ลินและเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าแต่ละเมืองมีอำนาจในการออกมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางภาษีเพื่อบังคับใช้ในท้องที่ของตน โดยเงินภาษีที่จัดเก็บได้นั้น นอกจากจะเป็นรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชดเชยรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสุนัขแล้ว แต่ละเมืองยังนำเงินภาษีที่ได้ไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการจัดสวัสดิภาพให้สุนัขในแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น ผู้เขียนจึงนำแนวทางของกรุงเบอร์ลินและเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี มาเสนอแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการควบคุมการเลี้ยงสุนัขในประเทศไทย โดยกำหนดโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับหลักการบริหารภาษีที่ดีและเข้ากับสถานการณ์การเลี้ยงสุนัขในประเทศไทย และเสนอให้นำมาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการทางภาษีที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้ประกอบกับมาตรการทางภาษีเพื่อให้การควบคุมการเลี้ยงสุนัขเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด


ความแตกต่างในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีสำหรับกิจการอสังหาริมทรัพย์ระหว่างกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Paes) และกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Npaes), ชเนตตี นิลวงศ์ Jan 2022

ความแตกต่างในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีสำหรับกิจการอสังหาริมทรัพย์ระหว่างกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Paes) และกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Npaes), ชเนตตี นิลวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการรับรู้รายได้ของกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ ถือปฏิบัติจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยที่ได้ปรับปรุงมาจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Non-Publicly Accountable Entities : NPAEs) และกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities : PAEs) ซึ่งมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้รายได้ที่นำมาใช้ มีวิธีการรับรู้รายได้ที่แตกต่างกัน คือ สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(NPAEs) สามารถเลือกรับรู้รายได้ได้ 3 วิธี ได้แก่ 1).การรับรู้รายได้ทั้งจำนวน 2).การรับรู้รายได้ตามอัตราส่วนงานที่ทำเสร็จและ 3).การรับรู้รายได้ตามเงินงวดที่ถึงกำหนดชำระ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ แต่สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(PAEs) จะสามารถเลือกรับรู้รายได้ได้เพียงวิธีเดียว คือ เมื่อกิจการได้โอนความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่มีนัยสำคัญในสินทรัพย์ไปยังผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว โดยอ้างอิงตามมาตรฐานการรายการทางการเงิน TFRS 15 ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่เลือกใช้วิธีการรับรู้รายได้ทั้งจำนวน (Full Accrual Method) มีข้อจำกัดว่าจะสามารถใช้วิธีนี้ได้เมื่อกิจการมีการโอนกรรมสิทธิ์และนิติกรรมในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่มีการขายนั้นเกิดขึ้นตามประมวลรัษฎากร และส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางด้านบัญชีและภาษี ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ท.ป.262/2559 แต่สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถรับรู้รายได้เมื่อโอนกรรมสิทธิ์โดยที่หลักเกณฑ์ทางบัญชีและภาษีอากรไม่มีความแตกต่างกัน และไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ภายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันเหมือนกับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ จึงทำให้เกิดความแตกต่างกันสำหรับการเลือกใช้วิธีการรับรู้รายได้แบบทั้งจำนวนหรือเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ในด้านภาษีอากรแห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาผลกระทบและเปรียบเทียบการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีสำหรับทั้งสองกิจการ เพื่อให้เห็นความแตกต่างในแต่ละวิธีการรับรู้รายได้ของทั้งสองกิจการ และเพื่อเสนอแนะแนวทางสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียให้สามารถเลือกใช้วิธีการรับรู้รายได้ทั้งจำนวนหรือเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ได้ โดยที่ไม่มีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ภายในระยะเวลาบัญชีเดียวกัน และเพื่อช่วยให้กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถชะลอการจ่ายภาษีเงินได้รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพียงพอ อีกทั้งการรับรู้รายได้ตามวิธีทั้งจำนวนหรือเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ยังเป็นวิธีการรับรู้รายได้ที่มีความแน่นอนมากกว่าวิธีอื่นๆ เนื่องจากกิจการจะรับรู้รายได้ตามวิธีก็ต่อเมื่อความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดได้โอนไปให้แก่ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว


ปัญหาการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, ชยาภรณ์ มั่นสกุล Jan 2022

ปัญหาการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, ชยาภรณ์ มั่นสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษาฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลในทางปฎิติบัติบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยี มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากและได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยมีเครือข่ายสื่อสารอินเตอร์เน็ตเป็นส่วนสำคัญในสังคมชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรม การค้นคว้าหาข้อมูลหรือความรู้ การขายสินค้าหรือบริการหรือธุรกรรมในทางธุรกิจทั้งหลายบนโลกอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน มักจะมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เข้าใช้งานโดยที่บุคคลผู้เข้าใช้งานไม่รู้ตัวซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลได้ หรือในบางกรณีที่มีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถถ่ายโอนกันได้โดยสะดวกรวดเร็ว และปัจจุบันพบว่ามีการล่วงละเมิดสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล จากการศึกษาแนวปฎิบัติของกฎหมายการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลมาตรา 17 ของ General Data Protection Regulation : GDPR สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้เล็งเห็นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในเชิงปฎิบัติของการลบและทำลายข้อมูลบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยได้ เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้ผู้ควบคุมข้อมูลไม่อาจปฎิบัติตามได้ เช่น การลบทำลายข้อมูลบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์ม Digital Footprint ต่างๆ ในทางเทคนิคของระบบซอฟแวร์ ควรมีการกำหนดมาตราฐานในทางกฎหมายทางด้านการปฎิบัติและขอบเขต จากการศึกษาแนวปฎิบัติของกฎหมายการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปนั้น กล่าวคือการลบทำลายหรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคล กลายเป็นข้อมูลที่ไม่อาจระบุตัวตนได้ การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวแตกต่างไปจากถ้อยคำที่ปรากฏ ของ GDPR ที่มีคำว่า “Right to be Forgotten” ควบคู่ไปกับ “Right to Erasure” ดังนั้น มาตรา 33 มาตรา 37 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 นั้นบัญญัติของกฎหมายยังขาด แนวทางในทางปฎิบัติที่ชัดเจนในการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลบนระบบอิเลกทรอนิกส์ การลบทำลายหรือทำให้ข้อมูลระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายสหภาพยุโรป ได้กำหนดโครงสร้างและรายละเอียดการลบทำลายข้อมูลเพื่อให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่มีหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสามารถปฏิบัติตามได้ในทางกฎหมาย โดยแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรต้องเตรียมระบบสนับสนุนระบบไม่ว่าจะเป็นระบบซอร์ฟแวร์ แอปพลิเคชั่น โปรแกรมเฉพาะเพื่อจัดดเก็บฐานข้อมูลและประมวลผลเพื่อให้ข้อมูลสามารถลบออกไปอย่างง่ายดาย โดยมีการดำเนินการโดยระบบไอที ฟังก์ชั่นต่างๆที่เตรียมพร้อมไว้ก่อนหน้า และองค์กรต้องมีโครงสร้างการกำกับดูแลเป็นกระบวนการเพื่อตอบกลับคำขอข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในระหว่างการลบ โดยปฎิบัตตามขั้นตอนที่ได้มีการวางแผนไว้ตามนโยบายของแต่ละองค์กร เพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกันแก่พนักงานทุกคนและต้องการยืนยันตัวตนเจ้าของข้อมูล เกี่ยวกับขั้นตอนการจัดเก็บหรือลบ เป็นต้น โดยดำเนินการกรอบข้อมูลของเวลาที่กำหนด ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลต้องตอบกลับคําขอให้ลบข้อมูลโดยไม่ชักช้าและไม่เกินหนึ่งเดือนหลังจากได้รับคําขอ ดังนั้นเอกกัตศึกษานี้จึงขอเสนอให้มีการออกกฎหมายลำดับลองจาก มาตรา 33 และมาตรา 37(3) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาของประเทศนั้น “อาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคล เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้” นั้นไม่มีความชัดเจนทำให้เจ้าของข้อมูลและผู้ควบคุมข้อมมูลยังไม่สามารถปฎิบัติตามได้และยังไม่อาจทราบได้ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ กฎหมายควรมีการบัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลออกจากการแสดงข้อมูลเพื่อให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบสืบค้นข้อมูลออนไลน์สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยเพิ่มโครงสร้าง จากการศึกษามาตรา 17 GDPR ของกฎหมายสหภาพยุโรป โดยมีขั้นตอนในการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลโดย (1) การเตรียมระบบสนันสนุนการลบข้อมูล (2) การสร้างโครงสร้างการกำกับดูแล (3) …


วิเคราะห์และศึกษาหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริต (Duty Of Loyalty) ของกรรมการภายใต้กฎหมายบริษัทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, ชิวเย่ว เหว่ย Jan 2022

วิเคราะห์และศึกษาหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริต (Duty Of Loyalty) ของกรรมการภายใต้กฎหมายบริษัทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, ชิวเย่ว เหว่ย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์และการศึกษาหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริต(Duty of loyalty)ของกรรมการภายใต้กฎหมายบริษัทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำความเข้าใจกับหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการจีนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาทางกฎหมายต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน และเพื่อให้ทราบถึง ความรับผิดของกรรมการ หน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการในทางกฎหมาย ผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และหน้าที่ในการรับผิดชดเชย หวังว่าเอกัตศึกษานี้จะสามารถให้คำแนะนำและแนวทางในการบริหารกรรมการและบริษัท และหวังว่าจะมีความสำคัญในการอ้างอิงสำหรับนักลงทุนหรือผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนหรือผู้ประกอบธุรกิจของไทย เมื่อกฎหมายข้อกำหนดต่างๆที่ใช้ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นได้ค่อยๆ พัฒนามาจนมีความสมบูรณ์มากขึ้น อำนาจในการควบคุมบริษัทโดยรวมและอำนาจในการบริหารกิจการนั้นได้แบ่งแยกออกจากกัน ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทไปแล้ว ในที่นี้หมายถึงอำนาจของผู้ที่ออกเงินทุนให้กับบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นนั้นแยกส่วนออกจากที่ประชุมคณะกรรมการอันเป็นผู้บริหารบริษัทและชั้นผู้จัดการด้วย ดังนั้น เรื่องหน้าที่ของกรรมการและอำนาจบริหารจึงเป็นหัวข้อที่ควรค่าแก่การวิเคราะห์และขบคิดอย่างลึกซึ้ง เพื่อการควบคุมหน้าที่ของกรรมการเพื่อให้บริษัทได้ประโยชน์สูงสุด กฎหมายบริษัทจีนได้อ้างอิง“หลักการผลประโยชน์ทับซ้อน”จากประเทศอังกฤษเพื่อนำมาปรับใช้กับกฎหมายบริษัทจีน และตั้งหลักการหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการ หลักการนี้มาจากกฎหมายทรัสต์อันเก่าแก่ของประเทศอังกฤษ ซึ่งหมายความว่าผู้รับมอบหมายนั้นไม่อาจจะแสวงหาประโยชน์จากผู้มอบหมาย ให้กระทำการใด เขาจะกระทำการได้แค่เพื่อผลประโยชน์ของผู้รับประโยชน์และตัวแทนของผู้รับประโยชน์เท่านั้น หากว่าผู้รับมอบหมายนั้นละเมิดกฎก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าสำหรับกฎหมายบริษัทจีน บทสรุป หน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตเป็นข้อกำหนดของจรรยาบรรณของกรรมการ เมื่อกรรมการมีความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัท ผลประโยชน์ของบริษัทต้องมาก่อนเสมอ งานวิจัยฉบับนี้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการบริษัทจีน หลังจากการวิเคราะห์และการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการในประเทศจีนแล้ว สรุปได้ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการในประเทศจีนยังมีข้อบกพร่องอยู่ ข้อบกพร่องอยู่หลักสามารุสรุปได้ดังต่อไปนี้ (1) กฎบางประการขาดผลทางกฎหมายหากมีการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎหมายมีโครงสร้างและลำดับชั้นที่เข้มงวด และกฎหมายที่ครอบคลุมควรประกอบด้วยสันนิษฐาน การปฏิบัติ และการลงโทษ สามประการนี้ขาดไม่ได้ หากขาดส่วนใดไป ผลของกฎหมายจะลดลงอย่างมาก จนไม่สามารถบรรลุบทบาทเชิงบรรทัดฐานในอุดมคติได้ หากกฎหมายมีเพียงข้อกำหนดที่ห้ามเท่านั้นและขาดข้อกำหนดในเชิงปฏิบัติจริง กฎหมายนั้นย่อมไม่สมบูรณ์และสามารถถือเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปได้เท่านั้น (2) กฎหมายบางประการกำหนดไม่ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้ศาลสามารถตัดสินคดีด้วยดุลพินิจและไม่มีข้อกฎหมายมารับรอง แต่ละศาลอาจมีการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันในคดีเดียวกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและเกิดความวุ่นวายในสังคมได้ พร้อมกันนี้ควรเรียนรู้จากมาตรการกฎหมายที่มีประสิทธิภาพจากต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างการจัดหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการ ออลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ (Oliver Wendell Holmes ) ผู้พิพากษาที่มีเชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่ตรรกะ แต่ปรากฏอยู่ที่ประสบการณ์ต่างหาก" (the life of the law has not been logic, it has been experience) ในกระบวนการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายบริษัทอย่างต่อเนื่อง กฎหมายบริษัทไม่เพียงแต่อยู่ในระดับทฤษฎีและบทบัญญัติทางกฎหมายเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การตีความ พัฒนา และสร้างสรรค์ "กฎหมายบนกระดาษ" ตามสถานการณ์จริงระหว่างการพิจารณาคดี เพื่อให้กลายเป็น”กฎหมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน” ดังนั้น ประเทศจีนจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการ เพื่อให้กฎหมายบริษัท มีความสอดคล้องและใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ยังทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจราบรื่นขึ้น แม้ว่ากฎหมายปัจจุบันที่เกี่ยวกับหน้าที่แห่งความซื่อสัตย์สุจริตของกรรมการยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เชื่อว่ากฎหมายนั้นจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ในอนาคต ผลที่ตามมาก็คือ ผู้พิพากษาจะเกิดความซับซ้อนเมื่อพิจารณาคดี และจำเป็นต้องพิจารณาคดีตามดุลพินิจของตนเอง จึงสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป


แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563, ชรัลธร หล่าบรรเทา Jan 2022

แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563, ชรัลธร หล่าบรรเทา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ธุรกิจที่ได้รับความนิยมในการประกอบอาชีพ นั่นก็คือ ธุรกิจเสริมความงาม เพราะเปิดธุรกิจดังกล่าวขึ้นเนื่องจาก ผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น หรือวัยทำงานได้รับอิทธิพลการดูแลตัวเองมาจากประเทศเกาหลีใต้ ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ละคร หรือวงการเพลง K-pop ที่ถ่ายทอดมาให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผิวให้เนียน กระจ่างใสด้วยการทำทรีทเมนต์หรือการรับการยิงเลเซอร์ การปรับรูปหน้าให้มีลักษณะเรียวขึ้น หรือแม้แต่การศัลยกรรม ล้วนมีความคาดหวังให้ผลลัพธ์ออกมาตามต้องการและออกมาในทางที่ดี หากแต่ว่า การเปิดธุรกิจแบบเชิงพาณิชย์มากเกินไปของผู้ประกอบการ ก็ทำให้มีผลลัพธ์ที่ออกมาผิดคาดไปในทางที่แย่ลงกว่าสภาพปกติ อย่างที่ได้เห็นตามข่าว ไม่ว่าจะเป็น ศัลยกรรมทำพิษ จนหน้าบิดเบี้ยว จมูกทะลุ หรือแม้แต่เสียชีวิตระหว่างได้รับการผ่าตัดเพราะแพ้ยาสลบ การแพ้เครื่องสำอางที่นำมาทำทรีทเมนต์ การได้รับหัตถการปรับรูปหน้าโดย botox filler และการร้อยไหม แต่แพทย์ที่ทำไม่ชำนาญจนใบหน้าเกิดการห้อยย้อย หรือเบี้ยว และแม้แต่หมอปลอมหรือหมอกระเป๋าที่แอบอ้างเป็นหมอจริงโดยขโมยหลักฐานจาก แพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะจริง ๆ มา ด้วยความที่อุปสงค์ของผู้บริโภคนั้นมีมาก ทำให้อุปทานการรับพนักงาน หรือตัวแพทย์เองไม่มีมาตรฐานที่แน่ชัด ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย การป้องกันการเปรียบจากผู้ประกอบการจากการทำสัญญาฝ่ายเดียวของผู้ประกอบการหรือ แม้แต่กฎหมายในเรื่องนี้ยังไม่มีเป็นการเฉพาะ ดังนั้นแล้วเอกัตศึกษานี้จากการศึกษาพบว่า ในขณะนี้กระแสการรับบริการเสริมความงามนั้นมีความนิยมกันอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะดารา นักร้องหรือนักแสดงได้ดูแลความสวยงามเพื่อเสริมความมั่นใจ เป็นที่ดึงดูดความสนใจ ทำให้กระแสดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคที่อยากมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีพฤติกรรมการลอกเลียนแบบเพื่อตอบสนอง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ทั้งนี้สืบเนื่องในปัจจุบันการใช้สื่อทางโทรทัศน์ สื่อโซเชียลออนไลน์ มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้ก่อเกิดเป็นค่านิยมให้การดูแลตัวเองซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย ใด อีกทั้งยังทำให้มีความก้าวหน้าในงานหรือประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะตัวผู้บริโภคได้ลบจุดด้อยและเพิ่มจุดเด่นมากขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบันทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้า มากขึ้น ลักษณะการให้บริการเสริมความงาม กล่าวคือ เพื่อรักษาปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง หรือ เพื่อปรับปรุงสภาพผิวหน้าให้ขาวใส ไร้ริ้วรอย เป็นการให้บริการเสริมความงามเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้เข้ารับโดยเฉพาะ นอกเหนือไปจากการรักษาปัญหาโรคผิวหนังโดยการบริการจะมีให้เลือกมากมาย จากการศึกษาทำให้ทราบว่าปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาลเสริมความงามตามพระราชบัญญัติผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2549 ยังไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมอยู่หลายประการและยังได้ทราบปัญหาเกี่ยวกับด้านสัญญาที่ไม่มีความเสมอภาคกันโดยจะเป็นเพียงฝ่ายผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้ทำสัญญาออกมาแบบสำเร็จรูปโดยที่ผู้บริโภคเสียเปรียบหากเกิดการเรียกร้องสิทธิที่ผู้บริโภคพึ่งได้รับ อาทิ การจำกัดสิทธิไม่ว่าจะเป็นการได้รับบริการที่ไม่ตรงตามที่ได้ตกลงมัดจำค่าคอร์ส เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี คู่มือหรือแนวทางปฏิบัติในการทำสัญญาที่เกี่ยวกับการควบคุมสัญญาทั้งหมด เป็นเพียงการควบคุมการรับเงินในหลักฐานรับเงินเพียงเท่านั้น แต่เนื่องด้วย การรับบริการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ ชีวิต ร่างกาย และอนามัยของผู้บริโภคจึงควรปรับปรุงหรือยกระดับให้เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาได้แล้วในปัจจุบัน


มาตรการภาษีเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ทุกคนจ่ายได้, ณัฐณิชา แกล้วกล้า Jan 2022

มาตรการภาษีเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ทุกคนจ่ายได้, ณัฐณิชา แกล้วกล้า

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในสภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการที่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ และเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากชนบทเข้าสู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันราคาของโครงการที่พักอาศัยที่ใกล้กับเส้นทางระบบคมนาคมขนส่งซึ่งมาจากการพัฒนาของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และมีมูลค่าสวนทางกับความสามารถในการซื้อที่พักอาศัยของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มขาดความสามารถในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในทำเลที่เหมาะสม แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายส่งเสริมการจัดให้มีหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้อยู่อาศัยเดิมภายในพื้นที่โครงการตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 โดยมีมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ของที่ดิน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังไม่มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย แสดงให้เห็นว่ามาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่ออกมานั้นยังไม่สร้างแรงจูงใจมากพอที่ภาคเอกชนจะเข้าร่วมโครงการ ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงศึกษาถึงปัญหาของมาตรการส่งเสริมของประเทศไทย และมาตรการส่งเสริมประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมและการนำมาปรับใช้กับมาตรการส่งเสริมของประเทศไทย จากการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการส่งเสริมของประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีมาตรการยกเว้นภาษีทรัพย์สินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายในนครนิวยอร์ก ซึ่งการประเมินภาษีและการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินของนครนิวยอร์กนั้นมีความคล้ายคลึงกับการประเมินภาษีและการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย จึงสามารถนำมาตรการยกเว้นภาษีทรัพย์สินของประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการได้ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความสามารถในการจ่าย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในทำเลที่เหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ประเทศไทยควรนำมาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกามาปรับใช้กับประเทศไทย โดย (1) พิจารณาปรับลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างการก่อสร้างและช่วงเปิดโครงการในอัตราที่เหมาะสมแทนการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปพัฒนากรุงเทพมหานครในด้านอื่น ๆ ต่อไป (2) กำหนดหลักเกณฑ์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ (3) มีวิธีการตรวจสอบความคืบหน้าและความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อพิจารณาในการให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการทุจริตหรือการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ไม่เป็นธรรม (4) ผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทเช่าโดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบกิจการที่พักอาศัยสำหรับเช่าได้ร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้นโยบายของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น


แนวทางพัฒนาหลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (Livex) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Set), ณัฐรินีย์ ปุรณะพรรค์ Jan 2022

แนวทางพัฒนาหลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (Livex) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Set), ณัฐรินีย์ ปุรณะพรรค์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของภาคธุรกิจระดับ SMEs และ Startups ให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนเพื่อสร้างการเติบโตต่อไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ใน SET และ mai โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้นเพื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ในไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ด้วยแนวคิดผ่อนปรนคุณสมบัติสำหรับบริษัท (Light-Touch Supervision) กำหนดประเภทผู้ลงทุนให้เหมาะสมกับการกำกับดูแลและความเสี่ยง (Investor Protection) รวมทั้งเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของบริษัทต่อผู้ลงทุน (Information-Base) สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ศึกษาเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจระดับ SMEs และ Startups ผู้ศึกษาได้ศึกษากฎหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ LiVEx เปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ LEAP Market ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์กระดานเล็กของมาเลเซีย และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ รวมทั้งการเข้าฝึกอบรมหลักสูตร LiVEx จากนั้นจึงนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Analysis) และสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นข้อสรุปเพื่อนำเสนอแนวทางมาพัฒนาหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป ผลการศึกษา แบ่งเป็น 2 ประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ LiVEx (2) การยื่นคำขอและการเสนอขาย โดยมีประเด็นแนวทางพัฒนาหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้ (1) ด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ LiVEx 1.1 เพิ่มทางเลือกคุณสมบัติด้านผลการดำเนินงาน จากเดิมกำหนดให้บริษัทมีรายได้จากกิจการผลิตตาม รง.4 ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีรายได้จากกิจการบริการที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ควรเพิ่มหลักเกณฑ์พิจารณาผลกำไรจากการดำเนินงาน 1 ปีเต็ม เช่นเดียวกับ LEAP Market ของประเทศมาเลเซีย 1.2 ทุกบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วขั้นต่ำ 5 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทมีเงินทุนจริง ตามแนวทางการจดทะเบียนจัดตั้งและเพิ่มทุนจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจํากัดซึ่งมีทุนที่ขอจดทะเบียนหรือทำให้ทุนจดทะเบียนเกินกว่า 5 ล้านบาท ตามคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ที่ 66/2558 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2558 (2) การยื่นคำขอและการเสนอขาย บริษัทต้องจัดหาที่ปรึกษาทางการเงิน (Finance Adviser : FA) เช่นเดียวกับ LEAP …


ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเมื่อมีการผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไขใหม่ ศึกษากรณีผู้ค้ำประกันเป็นผู้มีอำนาจจัดการหรือควบคุมในกิจการของลูกหนี้นิติบุคคล, ธนพร มิตรดี Jan 2022

ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเมื่อมีการผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไขใหม่ ศึกษากรณีผู้ค้ำประกันเป็นผู้มีอำนาจจัดการหรือควบคุมในกิจการของลูกหนี้นิติบุคคล, ธนพร มิตรดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษาฉบับนี้ทำการศึกษาความรับผิดของผู้ค้ำประกันกรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการตามกฎหมายหรือมีอำนาจควบคุมในกิจการของลูกหนี้นิติบุคคลเมื่อมีการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ตามบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการค้ำประกันมาตรา 700 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีการแก้ไขใหม่ในปีพ.ศ. 2557 และปีพ.ศ. 2558 จากการศึกษาพบว่า การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวโดยห้ามไม่ให้มีการทำข้อตกลงยินยอมต่อการผ่อนเวลาไว้ล่วงหน้า และยกเว้นเพียงสิทธิของผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือการค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระเท่านั้นที่จะให้สามารถให้ความยินยอมต่อการผ่อนเวลาของลูกหนี้ไว้ล่วงหน้าได้นั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีผู้ค้ำประกันทางพาณิชย์อีกกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งนี้ผู้ค้ำประกันกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากการที่นิติบุคคลได้รับสินเชื่อและมีส่วนได้เสียกับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล นั่นคือ บุคคลผู้มีอำนาจจัดการตามกฎหมายหรือมีอำนาจควบคุมในกิจการของลูกหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นประโยชน์ต่อบุคคลกลุ่มนี้ด้วย อีกทั้งบุคคลกลุ่มนี้มักจะมีความเข้าใจในการเข้าทำนิติกรรมหรือสัญญาทางธุรกิจ และสามารถทราบถึงภาระหน้าที่ในการเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือพิจารณาหรือประเมินความเสี่ยงในการเข้าทำสัญญาได้เอง รวมถึงบุคคลกลุ่มนี้มีความรู้ในการประกอบธุรกิจและมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่ธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อ ธนาคารจึงมักต้องการให้ผู้ค้ำประกันกลุ่มนี้ให้การค้ำประกันเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้แนวคิดที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้มีอำนาจจัดการหรือมีอำนาจควบคุมในกิจการของลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่ากับผู้ค้ำประกันทางแพ่งและสามารถรับผิดในหนี้ของลูกหนี้ได้มากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปปรากฏให้เห็นในบทบัญญัติมาตรา 727/1 วรรคสองที่ได้ปรับแก้ไขในปีพ.ศ. 2558 โดยยกเว้นให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถเข้าค้ำประกันเพิ่มเติมในหนี้ของลูกหนี้นอกเหนือจากการจำนองได้อีก อีกทั้งเมื่อเทียบกับหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษและสิงคโปร์แล้ว พบว่า กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่ได้กำหนดห้ามการทำข้อตกลงเรื่องการผ่อนเวลาไว้ล่วงหน้า สัญญาค้ำประกันภายใต้กฎหมายประเทศอังกฤษและสิงคโปร์จึงสามารถมีข้อตกลงสงวนสิทธิของเจ้าหนี้ว่า ผู้ค้ำประกันจะยังคงรับผิดในหนี้ประธานของลูกหนี้แม้ว่าเจ้าหนี้จะทำการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ ซึ่งเป็นเสรีภาพในการทำสัญญาของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย การห้ามไม่ให้ทำข้อตกลงดังกล่าวไว้ล่วงหน้าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเจ้าหนี้กรณีที่ไม่สามารถติดต่อให้ผู้ค้ำประกันลงนามตกลงยินยอมต่อการผ่อนเวลาของลูกหนี้ได้ และอาจกระทบต่อลูกหนี้เองเนื่องจากเจ้าหนี้จะระมัดระวังในการพิจารณาให้สินเชื่อและการพิจารณาผ่อนเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่า กฎหมายควรกำหนดบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองระหว่างผู้ค้ำประกันทางแพ่งและผู้ค้ำประกันทางพาณิชย์โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจจัดการและควบคุมการดำเนินงานของลูกหนี้ให้แตกต่างกัน โดยบทบัญญัติควรให้ผู้ค้ำประกันที่มีอำนาจจัดการตามกฎหมายหรือมีอำนาจควบคุมในกิจการของลูกหนี้นิติบุคคลสามารถทำข้อตกลงยินยอมต่อการผ่อนเวลาของลูกหนี้ไว้ล่วงหน้าได้


การนำหลักการและวิธีการคำนวณต้นทุนการกู้ยืมตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 23 เรื่อง ต้นทุนการกู้ยืมมาปรับใช้กับการคำนวณต้นทางการกู้ยืมทางภาษีอากร, ธิชา ภัทจารีสกุล Jan 2022

การนำหลักการและวิธีการคำนวณต้นทุนการกู้ยืมตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 23 เรื่อง ต้นทุนการกู้ยืมมาปรับใช้กับการคำนวณต้นทางการกู้ยืมทางภาษีอากร, ธิชา ภัทจารีสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญเนื่องจากเงินทุนแต่ละแหล่งจะก่อให้เกิดภาระผูกพันและมีต้นทุนที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป โดยผู้บริหารสามารถพิจารณาการจัดหาแหล่งเงินทุนผ่านการประเมินสภาพคล่องและการประมาณการถึงกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบันทึกรายการต้นทุนการกู้ยืมที่มีผลจากการจัดหาเงินทุนจึงได้มีการนำมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะมาปรับใช้ เนื่องจากรายการดังกล่าวมีผลกระทบต่องบการเงินเป็นวงกว้างและกระทบกับหลายบัญชีไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่าย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน มาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 23 เรื่อง ต้นทุนการกู้ยืม (ปรับปรุง 2562) โดยมีข้อกำหนดถึงหลักเกณฑ์การรับรู้รายการและวิธีการปฏิบัติให้กับ ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีสามารถจัดทำบัญชีโดยอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน หลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐาน การบัญชีฉบับนี้กำหนดให้สินทรัพย์ที่แสดงอยู่ในงบการเงินต้องสามารถสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ได้ โดยกิจการจะต้องประเมินถึงมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับและรับรู้ค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อสินทรัพย์นั้นมีราคาทุนสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ขณะที่หลักเกณฑ์การรับรู้รายการต้นทุนการกู้ยืมในสินทรัพย์ ทางภาษีอากรไม่ได้มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ จะมีเพียงมาตรา 65 ในประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้รับรู้รายการรายได้และค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์สิทธิโดยไม่ได้มีการพิจารณาถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ จึงส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์ในทางภาษีอากรไม่สามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้ ซึ่งผลแตกต่างระหว่าง การรับรู้รายการตามมาตรฐานการบัญชีและทางภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการแสดงข้อมูลในงบการเงินและการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แตกต่างกัน จากผลการศึกษาพบว่าหากกรมสรรพากรมีการกำหนดเงื่อนไขในการรับรู้รายการโดยพิจารณาถึง มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติไว้เป็นการเฉพาะจะช่วยทำให้มูลค่าของสินทรัพย์สามารถสะท้อนได้ถึงประโยชน์ที่กิจการจะได้รับและส่งผลให้การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นไปตามหลักภาษีอากรที่ดีตามหลักของผลประโยชน์ที่ได้รับ อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นการเฉพาะจะช่วยทำให้ลดการใช้ดุลยพินิจในการรับรู้รายการทั้งในส่วนของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ซึ่งจะช่วยทำให้ลดความไม่แน่นอนและช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอในการรับรู้รายการ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิด ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมอีกด้วย


แนวทางในการนำบริจาคบริการมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย, นวพร กิจประเสริฐ Jan 2022

แนวทางในการนำบริจาคบริการมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย, นวพร กิจประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษาเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และปัญหาเกี่ยวกับการบริจาคและการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาคสำหรับบุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาคเป็นบริการของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียเพื่อเป็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาคของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาคเป็นเงินบริจาคเท่านั้น หากผู้เสียภาษีต้องการบริจาคเป็นบริการหรือสละเวลาทำงานจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคมโดยการใช้แรงกาย เวลาหรือบริการแทนเงินบริจาค จะไม่มีหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเป็นบริการ และยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการวัดมูลค่าของเวลาและบริการที่ใช้ไปในการบริจาคเพื่อคำนวณสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในขณะที่กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียนั้นมีข้อกำหนดในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาคเป็นบริการสำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การบริจาคบริการเป็นหนึ่งในรูปแบบของการช่วยเหลือสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ รวมถึงมีข้อดีทั้งในแง่ของการลดภาระทางการคลังของรัฐบาลและช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรการกุศล ดังนั้นภาครัฐจึงควรปรับปรุงบทบัญญัติทางกฎหมายของประเทศไทยเพื่อให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและเป็นไปตามหลักการบริหารภาษีอากรที่ดี โดยนำหลักเกณฑ์ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียมาปรับใช้ ทำให้บุคคลธรรมดาสามารถบริจาคเป็นบริการและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการบริจาคบริการเพื่อการกุศลมาหักลดหย่อนภาษีได้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถวัดมูลค่าของบริการหรือมูลค่าของเวลาที่ใช้ไปเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงอันเป็นผลโดยตรงจากบริการเพื่อช่วยเหลือสังคมจะสามารถนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการสนับสนุนบริจาคบริการในภาคเอกชน และถ้าหากผู้บริจาคได้รับค่าตอบแทนจากองค์กรการกุศลในฐานะที่เป็นอาสาสมัครหรือเป็นผู้ให้บริการเพื่อการกุศล ไม่ว่าจะเป็นเงินจ่ายคืนจากค่าใช้จ่ายที่อาสาสมัครออกเงินไปก่อน หรือเงินค่าธรรมเนียมการให้บริการจะถือเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีของภาคเอกชนที่มีเจตนาที่จะบริการเพื่อช่วยเหลือสังคมโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใด ๆ


มาตรการทางกฎหมายสำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะภายใต้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2557 : ศึกษากรณีช่างไฟฟ้าในอาคาร, ปพัชนก อัญชุลีประดิษฐ์ Jan 2022

มาตรการทางกฎหมายสำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะภายใต้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2557 : ศึกษากรณีช่างไฟฟ้าในอาคาร, ปพัชนก อัญชุลีประดิษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 - 2560 ประเทศไทยมีเหตุเพลิงไหม้บ้าน เกิดขึ้นมากกว่า 58,000 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 2,000 ครั้ง และ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – 2563 มีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 32,777 ครัวเรือน โดยมีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นโดยประมาณ 14,340,682,192 บาท และตัวเลขการเกิดอัคคีภัยยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสาเหตุของการเกิดอัคคีภัยนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่เอกัตศึกษาเล่มนี้ได้ศึกษาหนึ่งในปัญหาของการเกิดอัคคีภัยที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรก็สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยเอกัตศึกษาเล่มนี้ได้จึงได้ศึกษาลึกลงไปเพื่อเจาะจง และหนึ่งในนั้นก็คือการที่เกิดจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2557 มาตรา 26/3 ได้กำหนดให้ช่างไฟฟ้าต้องได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ที่จะมีการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ ที่ช่างควรจะปฏิบัติ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถพื้นฐานเพื่อบรรเทาการเกิดอัคคีภัยได้ แต่ข้อกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากมีการบังคับใช้เพียงแต่กับภาคพาณิชย์ แต่ไม่เกิดการนำไปใช้กับภาคประชาชนครัวเรือน เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษา ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย และ ประเทศสหราชอาณาจักร พบว่าการกำหนดมาตรฐานในการเข้าปฏิบัติงานด้านไฟฟ้าภายในบ้าน มีการกำหนดที่ชัดเจนกว่าประเทศไทย ในเรื่องว่างานไฟฟ้าภายในบ้านประการใดสามารถทำเองได้ ประการใดสามารถทำเองได้แต่ต้องทำเรื่องแจ้งต่อหน่ายงานที่รับผิดชอบให้ทราบ หรือ ประการใดต้องใช้ช่างที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น อีกทั้งยังมีการกำหนดหน้าที่และโทษของเจ้าของบ้านที่ต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบเอกสารใบอนุญาตของช่างที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในบ้านตนเอง ซึ่งประเทศไทยสามารถที่จะศึกษามาตรการบังคับใช้ของกลุ่มประเทศดังกล่าวเพื่อนำมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยได้ จากการศึกษาพบว่าควรมีการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2557 มาตรา 53/2 ให้เจ้าของบ้านมีหน้าที่และโทษในการจ้างช่างมาทำงานให้กับอาคารที่ไม่ใช่สถานประกอบการด้วย


มาตรการจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการที่มีการขนส่งปิโตรเลียมอันเป็นเหตุให้เกิดน้ำมันรั่วไหล, ปวันรัตน์ ว่องธวัชชัย Jan 2022

มาตรการจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการที่มีการขนส่งปิโตรเลียมอันเป็นเหตุให้เกิดน้ำมันรั่วไหล, ปวันรัตน์ ว่องธวัชชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เอกัตศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมลพิษและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล และศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ประชาชน และเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในประเทศไทย รวมถึงศึกษามาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมถึงร้อยละ 80 ของพลังงานที่จัดหาทั้งหมด โดยการนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งผ่านทางเรือจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลอยู่เสมอ ประกอบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดได้ล่วงหน้า และหากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันเวลาเพื่อไม่ให้ความเสียหายยิ่งแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างและยากต่อการแก้ไข ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการจัดการเกี่ยวกับปัญหาน้ำมันรั่วไหล คือการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งสำหรับความเสียหายจากมลพิษของน้ำมัน ค.ศ.1992 และ ภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากมลพิษน้ำมัน ค.ศ.1992 ซึ่งจากการศึกษาพบว่าข้อกำหนดในการเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนระหว่างประเทศ และความรับผิดของกองทุนยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับค่าสินไหมชดเชยได้ครอบคลุมทุกกรณี ประกอบกับประเทศไทยไม่มีกองทุนสิ่งแวดล้อมซึ่งระบุวัตถุประสงค์เฉพาะที่จะนำมาใช้เพื่อชดเชยค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมลพิษน้ำมัน ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจไม่รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการบัญญัติกฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษน้ำมันเพื่อบังคับใช้ภายในประเทศ คือ กฎหมายมลพิษน้ำมัน โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดความรับผิด ค่าเสียหาย มาตรการควบคุมมลพิษ ไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมในหลายกรณี อีกทั้งกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความรับผิดจากมลพิษน้ำมัน เพื่อเป็นกองทุนในประเทศซึ่งใช้ช่วยเหลือ จ่ายค่าสินไหม เยียวยาความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ได้รับความเสียหาย โดยมีแหล่งที่มาของรายได้จากการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หรือเรียกว่าภาษีน้ำมัน (Barrel Tax) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหากมีกองทุนภายในประเทศจะทำให้สามารถกำหนดเงื่อนไข และวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ตามความเหมาะสมกับเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ และสามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุณ์การได้อย่างไม่ล่าช้า ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอให้นำแนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกามาปรับใช้กับประเทศไทย