Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Engineering Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Construction Engineering and Management

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 30 of 185

Full-Text Articles in Engineering

การเรียนรู้ของเครื่องสำหรับทำนายกำลังรับแรงอัดประลัยของเสาท่อเหล็กคู่หล่อคอนกรีตด้านใน, ปิยวัฒน์ บุญเลิศนิรันดร์ Jan 2023

การเรียนรู้ของเครื่องสำหรับทำนายกำลังรับแรงอัดประลัยของเสาท่อเหล็กคู่หล่อคอนกรีตด้านใน, ปิยวัฒน์ บุญเลิศนิรันดร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้นำเสนอวิธีการทำนายกำลังรับแรงอัดประลัยของเสาวัสดุผสมท่อเหล็กคู่หล่อคอนกรีตด้านใน ( Concrete Filled Double Skin Steel Tube Columns ) หรือ CFDST โดยใช้ความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และค้นหาอัลกอริทึมที่ให้ความแม่นยำมากที่สุดนำมาสร้างโมเดลในการทำนายและเปรียบเทียบความแม่นยำกับการออกแบบมาตรฐาน (Standard Design Code) โดยงานวิจัยนี้จะเลือกใช้กระบวนการถดถอยแบบเกาส์เซียน (GPR : Gaussian Process Regression ) และเอกตรีมกาเดียนบูสติ่ง (XGBoost : Extreme Gradient Boosting) เป็นอัลกอริทึมหลักและใช้ข้อมูลจากการทดสอบจริงในอดีตและจากการจำลองด้วยโปรแกรม ABAQUS มาเป็นชุดข้อมูลในการฝึกฝนโมเดล โดยข้อมูลนำเข้าประกอบไปด้วย เส้นผ่าศูนย์กลางด้านนอกและด้านใน ความหนาท่อเหล็กด้านนอกและด้านใน กำลังรับแรงอัดของคอนกรีตที่ 28 วันจากการทดสอบโดยกดลูกปูนรูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 150 มิลลิเมตร ความสูง 300 มิลลิเมตร กำลังครากของท่อเหล็กด้านนอกและด้านใน และ ความสูงของเสาวัสดุผสม ข้อมูลนำออกคือ กำลังรับแรงอัดประลัยตามแนวแกนของเสาวัสดุผสม โดยการสร้างโมเดลสำหรับทำนายกำลังจะแบ่งออกเป็น 2 โมเดลคือโมเดลเสาสั้นและโมเดลเสายาวเนื่องจากพฤติกรรมการวิบัตินั้นแตกต่างกันและเกณฑ์ที่ใช้แบ่งคืออัตราส่วนความชะลูด ผลการทดสอบพบว่าโมเดลเสาสั้นที่ใช้ข้อมูลทั้งหมด 122 ชุดข้อมูล อัลกอริทึมเอกตรีมกาเดียนบูสติ่งให้ความแม่นยำมากกว่ากระบวนการถดถอยแบบเกาส์เซียนและการออกแบบมาตรฐาน ขณะที่โมเดลเสายาวที่ใช้ชุดข้อมูลทั้งหมด 181 ชุดข้อมูล ผลการทดสอบพบว่า เอกตรีมการ์เดียนบูสยังคงให้ความแม่นยำมากกว่ากระบวนการถดถอยแบบเกาส์เซียนและการออกแบบมาตรฐานเช่นกัน


การศึกษาเชิงเปรียบเทียบต้นทุนตลอดอายุการใช้งานและปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนของระบบหล่อในที่และระบบหล่อสำเร็จโดยวิธีมอนติคาร์โลและสัมประสิทธิ์, รัชชานนท์ เอี่ยมรอด Jan 2023

การศึกษาเชิงเปรียบเทียบต้นทุนตลอดอายุการใช้งานและปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนของระบบหล่อในที่และระบบหล่อสำเร็จโดยวิธีมอนติคาร์โลและสัมประสิทธิ์, รัชชานนท์ เอี่ยมรอด

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อุตสาหกรรมการก่อสร้างสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และยังมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความต้องการวัสดุ แรงงาน และมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดปัญหาด้านแรงงาน เจ้าของโครงการได้หันมาใช้วิธีการก่อสร้างใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น ระบบหล่อสำเร็จ เป็นต้น โดยมีการประเมินว่าระบบหล่อสำเร็จช่วยลดการใช้แรงงานได้ถึง 50% และลดเวลาก่อสร้างได้ 30% อย่างไรก็ตาม ต้นทุนก่อสร้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน ทำให้ผลการประเมินต้นทุนรวมในช่วงก่อสร้างและใช้งานอาจแตกต่างจากที่ได้ประเมินในช่วงก่อนการก่อสร้าง ดังนั้นการประเมินต้นทุนค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการควรนำปัจจัยเสี่ยงมารวมในการวิเคราะห์ด้วย งานวิจัยนี้ศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนรวมตลอดอายุของระบบคอนกรีตหล่อในที่และระบบหล่อสำเร็จ โดยประเมินต้นทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการทำงาน พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงด้วยวิธีการวิเคราะห์ความอ่อนไหวรวมไปถึงการใช้แบบจำลองมอนติคาร์โลเพื่อจำลองหาช่วงค่าที่เป็นไปได้ของต้นทุนตลอดอายุการงานในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ นอกจากนี้ยังศึกษาถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นในกิจกรรมผลิตวัสดุก่อสร้างและการขนส่งเพื่อนำไปใช้เป็นค่าพารามิเตอร์ในการประเมินการปล่อยสารคาร์บอนโดยวิธี Coefficient method ในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ โดยผลลัพธ์ของการศึกษาคือ สัดส่วนของต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน ที่ประกอบไปด้วย (1) ต้นทุนในช่วงเตรียมการและช่วงก่อสร้าง และ (2) ต้นทุนรวมในช่วงการใช้งานทั้งในมุมมองของระบบหล่อในที่และระบบหล่อสำเร็จในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ ซึ่งพบว่าทุกโครงการตัวอย่างของต้นทุนตลอดอายุการใช้งานทั้งระบบหล่อในที่และหล่อสำเร็จนั้น มีต้นทุนรวมใน 2 ช่วงแรกมีค่ามากกว่าต้นทุนรวมในช่วงการใช้งาน (O&M phase) และยังพบว่าอัตราส่วนของต้นทุนรวมตลอดอายุการใช้งานของระบบหล่อในที่ต่อต้นทุนตลอดอายุการใช้งานของระบบหล่อสำเร็จนั้นนในแต่ละโครงการตัวอย่าง อยู่ที่ 0.60 – 0.73 (โดยไม่คำนึงถึงมิติด้านเวลาที่แตกต่างกันในช่วงการก่อสร้าง) ในส่วนของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการขนส่งในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ ที่พบว่า ระบบหล่อในที่นั้นมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการขนส่งน้อยกว่าระบบหล่อสำเร็จ ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษานี้จะช่วยประกอบการตัดสินใจของเจ้าของโครงการในการเลือกวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสมในบริบทของต้นทุนรวมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


A Communication System To Support Evacuation Route In The Building Construction Project, Somjintana Kanangkaew Jan 2023

A Communication System To Support Evacuation Route In The Building Construction Project, Somjintana Kanangkaew

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

In the past decade, emergencies have occurred in construction projects, directly influencing injuries and casualties due to the dynamic nature of construction. Currently, the practice of developing evacuation routes for most construction projects is presented in a static and non-interactive manner. This involves a two-dimensional evacuation plan that cannot provide a real-time evacuation route. Furthermore, some emergency signs are unclear and do not provide the correct evacuation routedue to construction activities not aligning with the construction progress. Therefore, conventional evacuation plans have limitations and require improvement. Building Information Modeling (BIM) and Augmented Reality (AR) can present the evacuation route position …


Surrogate-Assisted Model Methods For Maximum Compression Capacity Predictions Of Concrete-Filled Stainless-Steel Tubular Columns, Ly Ith Jan 2023

Surrogate-Assisted Model Methods For Maximum Compression Capacity Predictions Of Concrete-Filled Stainless-Steel Tubular Columns, Ly Ith

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This work explores the prediction of axial strength of circular concrete-filled stainless-steel tubular (CFSST) columns, employing advanced machine learning techniques, including Gaussian Process Regression (GPR) and Extreme Gradient Boosting (XGBoost). The dataset comprises over 100 columns from experimental tests, with only a few of them being long or slender, limiting prediction accuracy. To address this, our study introduces a robust numerical modeling approach using Finite Element Method (FEM) to generate additional data points for long columns. The results are then benchmarked against established standards such as American Institute of Steel Construction (AISC) and the Eurocode 4, illustrating the potential of …


Assessment Of Macro Models Of Masonry Infilled Rc Frames With Opening, Sreyneth Lath Jan 2023

Assessment Of Macro Models Of Masonry Infilled Rc Frames With Opening, Sreyneth Lath

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This study aims to investigate the behavior of masonry infilled reinforced concrete structures in the presence of central windows and doors under lateral seismic loading through macro-modeling simulations. The primary objective is to assess and evaluate three macro models, including the multiple equivalent strut method, discretized macro element method, and reduction factor method, in the seismic performance evaluation of masonry-infilled RC frames with central window and door openings. To achieve this, a nonlinear push-over analysis will be conducted using the software SAP 2000. The results were compared with a recent experimental study on a single-story, on-bay masonry-infilled RC frame with …


การประยุกต์ใช้เกมการต่อรองและเรียลออปชันเพื่อวิเคราะห์เงื่อนไขการเจรจาขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ด้วยวิธีการจำลอง Monte Carlo, ชานน อธิปัญญา Jan 2023

การประยุกต์ใช้เกมการต่อรองและเรียลออปชันเพื่อวิเคราะห์เงื่อนไขการเจรจาขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ด้วยวิธีการจำลอง Monte Carlo, ชานน อธิปัญญา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันมีการใช้สัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากขึ้น โดยรัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและดำเนินการในโครงการ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการกู้ อีกทั้งสัญญาการร่วมทุนยังส่งเสริมการแข่งขันของภาคเอกชนในการบริหารจัดการ ตลอดจนการแบ่งสรรความเสี่ยงที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามสัญญาร่วมทุนมักมีระยะเวลาคงที่และนานหลายปี เช่น 25-30 ปี เป็นต้น ซึ่งสัญญาระยะยาวย่อมมีความเสี่ยงสูง ทำให้มักเกิดเหตุการณ์ขอเจรจาแก้ไขสัญญาจากเอกชนผู้รับสัมปทานในช่วงดำเนินงาน กรณีที่หากเกิดเหตุการณ์เสี่ยงที่ส่งผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงาน อีกทั้งโครงการร่วมลงทุนแต่ละโครงการมีบริบท ต้นทุน ผลประโยชน์และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดระยะเวลาสัมปทานที่เป็นแบบคงที่หรือการกำหนดรูปแบบการสนับสนุนที่เหมือนกัน อาจทำให้ภาครัฐเสียโอกาสในรายได้ที่ควรจะได้รับกรณีที่โครงการมีผลการดำเนินงานดีกว่าที่ประเมินในรายงานผลการศึกษาโครงการ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดเชิงคำนวณเพื่อใช้วิเคราะห์ระยะเวลาสัมปทานที่เหมาะสมของโครงการภายใต้การจำลองแบบมอนติคาร์โล โดยใช้หลักทฤษฎีเกมเพื่อหาระยะเวลาสัมปทาน และกรอบแนวคิดเชิงคำนวณเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆด้วยการวิเคราะห์แบบเรียลออปชัน เช่น การวิเคราะห์การสนับสนุนโดยการให้กู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด หรือ การกำหนดระยะเวลาสัมปทานแบบยืดหยุ่น เนื่องจากเป็นการศึกษากรอบแนวคิดสำหรับการวิเคราะห์ดังนั้นจึงมีการกำหนดตัวแปรบางอย่างเพื่อให้สามารถทดสอบตัวแบบที่สร้างขึ้นมาได้ สำหรับการศึกษาในอนาคตอาจศึกษาถึงที่มาและผลของตัวแปรที่แตกต่างออกไป


การวิเคราะห์มลพิษทางอากาศและเสียงที่เกิดจากกิจกรรมย่อยของการก่อสร้างที่พักอาศัยโดยเครื่องมือวัดส่วนบุคคลร่วมกับบันทึกวีดีโอ, นพวิชญ์ ลีลานภากาศ Jan 2023

การวิเคราะห์มลพิษทางอากาศและเสียงที่เกิดจากกิจกรรมย่อยของการก่อสร้างที่พักอาศัยโดยเครื่องมือวัดส่วนบุคคลร่วมกับบันทึกวีดีโอ, นพวิชญ์ ลีลานภากาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เนื่องมาจากการก่อสร้างที่พักอาศัยที่มีอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศและเสียง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานก่อสร้าง งานวิจัยนี้จึงต้องการวิเคราะห์มลพิษทางอากาศและเสียง (PM 2.5, PM 10, NO2, CO, dB(A)) ที่เกิดจากกิจกรรมย่อยของการก่อสร้างที่พักอาศัยโดยเครื่องมือวัดส่วนบุคคลร่วมกับบันทึกวีดีโอ ซึ่งนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เซนเซอร์ตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียง และกล้องบันทึกวีดีโอมาประยุกต์ใช้ ทำให้ทราบค่าความเข้มข้นของมลพิษที่แรงงานได้รับจากกิจกรรมย่อยของงานก่อสร้าง การตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียงโดยทั่วไปวัดจากค่าเฉลี่ยของปริมาณมลพิษที่แรงงานได้รับตลอดช่วงเวลาทำงาน อีกทั้งเครื่องมือวัดมีขนาดใหญ่ มีราคาสูง และไม่สามารถทราบถึงกิจกรรมย่อยที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อแรงงาน ดังนั้นงานวิจัยนี้ได้ติดเครื่องมือวัดและกล้องบันทึกวีดีโอกับแรงงาน เพื่อให้ทราบถึงปริมาณมลพิษที่แรงงานได้รับจากกิจกรรมย่อยของการก่อสร้าง โดยเมื่อมีปริมาณมลพิษเกินค่ามาตรฐานจะมีการแจ้งเตือนไปยัง Line Notify เพื่อให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยโครงการได้ทราบถึงปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หลังจากนั้นประยุกต์ใช้เครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียงกับโครงการก่อสร้างกรณีศึกษา 4 โครงการ ผลการทดสอบพบว่า กิจกรรมย่อยที่เกิดมลพิษมากที่สุด คือ เชื่อมโลหะโดยใช้ลวดเชื่อม มีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามเครื่องมือยังมีข้อจำกัดในเรื่องขีดจำกัดต่ำสุดและสูงสุดของเซนเซอร์ที่สามารถตรวจวัดมลพิษได้


การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางจากการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รัฐพล ทองแป้น Jan 2023

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางจากการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รัฐพล ทองแป้น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงบทบาทการใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางโดยรวม ศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติกรรมในการเดินทาง ทัศนคติและบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อความถี่การใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกัน และศึกษาผลกระทบของการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันในการเดินทางที่มีต่อค่าการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามย่าน โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาคือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเฉพาะผู้ที่เคยใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบสอบถามร่วมกับการสัมภาษณ์และสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มอย่างง่าย โดยการวิเคราะห์ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา 2) การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการสร้างแบบจำลองทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่า เมื่อมีบริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเที่ยวการเดินทางโดยเฉลี่ยต่อวันลดลง และมีระยะการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิสิตเพศชาย มีวัตถุประสงค์การเดินทางเพื่อไปเรียนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อความถี่การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันมากที่สุด คือ ราคา รองลงมาคือ ความปลอดภัยในการเดินทางและตำแหน่งจุดจอดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า โดยผลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับการวางแผนหรือกำหนดนโยบายในการควบคุมดูแลหรือส่งเสริมรูปแบบการเดินทางดังกล่าว เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการขนส่งโดยรวมต่อไป


การประยุกต์ใช้แบบจำลองเสมือนจริงในงานก่อสร้าง, วุฒิภัทร วัชรพันธ์ Jan 2023

การประยุกต์ใช้แบบจำลองเสมือนจริงในงานก่อสร้าง, วุฒิภัทร วัชรพันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงมาใช้ในการก่อสร้าง ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงงานในโครงการก่อสร้าง จึงทําการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อประยุกต์ใช้ในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงงานในโครงการก่อสร้าง โดยสมมติฐานของงานวิจัยนี้คือ ความรู้สึกของผู้ทดสอบที่วัดโดยใช้เทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงและสภาพแวดล้อมการก่อสร้างจริงก็ไม่ต่างกัน สมมติฐานได้รับการทดสอบโดยความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยใช้แบบสอบถามที่เปรียบเทียบระหว่างความรู้สึกที่วัดโดยเทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง กับสภาพแวดล้อมจริง กรณีศึกษา 3 กรณี ในโครงการก่อสร้างจริงถูกนํามาใช้ในการทดลอง ผู้ตอบแบบสอบถาม 20 คนได้รับเลือกให้เยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างและเปรียบเทียบความรู้สึกระหว่างการใช้เทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง กับสถานการณ์จริง จากนั้นนําการวิเคราะห์ทางสถิติมาวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกของผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้เทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง และสถานการณ์จริงในโครงการก่อสร้างสําหรับทั้งสองกรณีศึกษาไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนําเทคโนโลยีการจําลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงมาประยุกต์ใช้เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างได้


การพัฒนาแบบจำลองทางเลือกรูปแบบการเดินทางจากการสำรวจข้อมูลการเดินทางทางอ้อมจากข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่, จอมพล เพชราวุธ Jan 2022

การพัฒนาแบบจำลองทางเลือกรูปแบบการเดินทางจากการสำรวจข้อมูลการเดินทางทางอ้อมจากข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่, จอมพล เพชราวุธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสำรวจข้อมูลการเดินทางในครัวเรือนด้วยแบบสอบถามเป็นวิธีการสำรวจข้อมูลปริมาณการเดินทางและพฤติกรรมการเดินทางที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมีความละเอียดสูงและสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนทั้งด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการสำรวจข้อมูลอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำฐานข้อมูลทุติยภูมิขนาดใหญ่มาใช้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทาง โดยมุ่งเน้นไปที่การอธิบายพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทาง ด้วยการสร้างแบบจำลองเนสเต็ดโลจิตจากข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโครงการศึกษาการพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกและการเดินทางของคนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งผ่านกระบวนการจำแนกรูปแบบและวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาแล้ว และสามารถใช้ทดแทนการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางโดยตรงได้ โดยแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการประเมินความพึงพอใจแบบเปิดเผยสามารถอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทางของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามวันและช่วงเวลาในการเดินทาง เช่น ระยะทาง ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย วัตถุประสงค์ของการเดินทาง เป็นต้น และผลการศึกษาสามารถแสดงตารางจุดต้นทางและปลายทางในการเดินทางซึ่งแบ่งเป็น 209 พื้นที่ย่อย (ระดับแขวงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและระดับอำเภอใน 5 จังหวัดปริมณฑล) ตามรูปแบบการเดินทาง (รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟชานเมือง เรือโดยสาร) ได้ตามวันและช่วงเวลาในการเดินทาง


การพัฒนาอุปกรณ์สำรวจชั้นดินซึ่งทำงานด้วยการตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนขนาดเล็ก, ชวกร เมธีพลกุล Jan 2022

การพัฒนาอุปกรณ์สำรวจชั้นดินซึ่งทำงานด้วยการตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนขนาดเล็ก, ชวกร เมธีพลกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์นั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การสำรวจปิโตรเลียม การสำรวจแหล่งน้ำบาดาล การศึกษาทางด้านแผ่นดินไหว รวมถึงการสำรวจชั้นดินทางด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิค ในงานวิจัยนี้ได้ทำการออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์สำรวจชั้นดินจากการตรวจวัดคลื่นสั่นขนาดเล็ก (microtremor) บนผิวดิน อุปกรณ์ตรวจวัดประกอบด้วยวงจรแปลงสัญญาณอนาล็อกเป็นดิจิตอลแบบ 24 บิตซึ่งรับสัญญาณการสั่นสะเทือนจากจีโอโฟนแล้วส่งให้ระบบไมโครคอมพิวเตอร์ชื่อราสเบอร์รี่พาย (Raspberry Pi) เพื่อเก็บข้อมูล และประมวลผลเส้นโค้งการกระจายตัวด้วยวิธี Power of Phase (POP) ซึ่งควบคุมด้วยสมาร์ทโฟนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์สเมือนจริง (virtual network computing) โดยใช้เทคโนโลยีโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial neural network) ทำนายภาพตัดความเร็วคลื่นเฉือน (Shear wave velocity profile) ของชั้นดิน จากการตรวจวัดภาคสนามในกรุงเทพมหานครจำนวน 3 พื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โครงการมัณฑนา บางขุนเทียน-ชายทะเล และ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โครงการ บางบอน 5 พบว่าเมื่อใช้โมเดลโครงข่ายประสาทเทียม และ รัศมีของการตรวจวัดที่เหมาะสม อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นสามารถทำนายความเร็วคลื่นเฉือนได้ใกล้เคียงกับความเร็วคลื่นเฉือนจากผลเจาะสำรวจชั้นดิน (Boring log) และ วิธีดาวน์โฮล (Downhole) ในช่วงระดับความลึกประสิทธิผลที่สามารถตรวจวัดได้


การพัฒนาคอนกรีตโมดูลัสยืดหยุ่นสูงด้วยหินบะซอลต์และตะกรันเหล็กสำหรับโครงสร้างแข็งเกร็งพิเศษ, ณรงค์ชัย ปักษา Jan 2022

การพัฒนาคอนกรีตโมดูลัสยืดหยุ่นสูงด้วยหินบะซอลต์และตะกรันเหล็กสำหรับโครงสร้างแข็งเกร็งพิเศษ, ณรงค์ชัย ปักษา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณสมบัติโมดูลัสยืดหยุ่น (Elastic modulus) ของคอนกรีต เพื่อประยุกต์ใช้ในโครงสร้างที่ต้องการความแข็งเกร็ง (Rigidity) เป็นพิเศษ เพื่อลดการเคลื่อนตัวของโครงสร้างภายใต้แรงกระทำ โดยปรับเปลี่ยนวัสดุมวลรวมหยาบเป็นหินบะซอลต์และตะกรันเหล็กจากเตาอาร์คไฟฟ้า (EAF slag) ซึ่งมีคุณสมบัติเชิงกลดีกว่าหินปูน และออกแบบส่วนผสมโดยการปรับขนาดคละของมวลรวมหยาบ อัตราส่วนน้ำต่อซีเมนต์และอัตราส่วนมวลรวมละเอียดต่อมวลรวม แล้วทำการทดสอบหาค่ากําลังรับแรงอัดและค่าโมดูลัสยืดหยุ่น จากนั้นจึงประยุกต์ใช้คอนกรีตที่ถูกปรับปรุงคุณสมบัติกับโครงสร้างเสาตอม่อโครงการรถไฟความเร็วสูงและผนังรับแรงเฉือนในอาคารสูงโดยการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของโครงสร้างกับคอนกรีตปกติด้วยโปรแกรมวิเคราะห์โครงสร้าง ETABS ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า (1) ตะกรันเหล็กจากเตาอาร์คไฟฟ้าเป็นวัสดุมวลรวมหยาบที่ให้ค่าโมดูลัสยืดหยุ่นสูงที่สุด การคละขนาดของมวลรวมหยาบให้อัดแน่น การลดอัตราส่วนน้ำต่อซีเมนต์และการเพิ่มอัตราส่วนมวลรวมละเอียดต่อมวลรวมสามารถช่วยเพิ่มค่าโมดูลัสยืดหยุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสามารถเพิ่มค่าโมดูลัสยืดหยุ่นได้ถึง 55.3 GPa คิดเป็น 47% เมื่อเทียบกับค่าจากสมการของมาตรฐาน ACI (2) เมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับโครงสร้างเสาตอม่อโครงการรถไฟความเร็วสูงพบว่าสามารถลดระยะการเคลื่อนตัวของโครงสร้างได้ 23% และลดขนาดหน้าตัดโครงสร้างได้ 28% เมื่อประยุกต์ใช้กับโครงสร้างผนังรับแรงเฉือนในอาคารสูงสามารถลดระยะการเคลื่อนตัวได้ 32% และลดความหนาได้ 49% ดังนั้นการประยุกต์ใช้คอนกรีตโมดูลัสยืดหยุ่นสูงจึงเป็นอีกทางเลือกในการลดระยะการเคลื่อนตัวของโครงสร้างที่อาจมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากว่าการเพิ่มขนาดหน้าตัดโครงสร้างหรือใช้คอนกรีตกำลังสูง


สมรรถนะของอาคารโครงสร้างเหล็กที่ถูกออกแบบด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนองในการต้านทานแผ่นดินไหว, ณัฐธีร์ ยศพลจิรกิตต์ Jan 2022

สมรรถนะของอาคารโครงสร้างเหล็กที่ถูกออกแบบด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนองในการต้านทานแผ่นดินไหว, ณัฐธีร์ ยศพลจิรกิตต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาสมรรถนะของอาคารโครงสร้างเหล็กที่ถูกออกแบบด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนองในการต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งในมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ. 1301/1302-61 ได้มีการปรับปรุงวิธีสเปกตรัมผลตอบสนอง (Response Spectrum Analysis, RSA) เป็นวิธี Modified Response Spectrum Analysis (MRSA) ซึ่งเป็นการปรับวิธีคำนวณแรงเฉือนที่ต้องต้านทานให้มีความปลอดภัย ซึ่งได้มาจากการศึกษาวิจัยจากอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่เป็นอาคารสูง แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธี MRSA กับอาคารโครงสร้างเหล็ก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความเพียงพอของค่าแรงที่ต้องต้านทานสำหรับการออกแบบด้วยวิธี RSA ในการออกแบบโครงสร้างเหล็กที่ต้องต้านแผ่นดินไหว โดยพิจารณาอาคารโครงต้านแรงดัดเหล็กที่มีความเหนียวปานกลาง ที่มีความสูง 3, 6 และ 9 ชั้น, อาคารโครงต้านแรงดัดเหล็กที่มีความเหนียวพิเศษ มีความสูง 3, 6, 9 และ 15 ชั้น และอาคารโครงแกงแนงเหล็กแบบตรงศูนย์แบบพิเศษ ที่มีความสูง 3, 6, 9, 15, 20 และ 25 ชั้น โดยสมมติที่ตั้งของอาคารตัวอย่างอยู่ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอาคารที่นำมาศึกษาจะถูกออกแบบด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนอง อ้างอิงตามมาตรฐาน มยผ. 1301/1302-61, มยผ. 1304-61 และ AISC 360-16 และทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีประวัติเวลาไม่เชิงเส้น (Nonlinear Response History Analysis) เพื่อประเมินสมรรถนะของโครงสร้างในการต้านทานแผ่นดินไหว โดยพิจารณาความเสียหายของอาคารจากการหมุนพลาสติก และการเสียรูปในแนวแกน, การเคลื่อนตัวสัมพัทธ์ระหว่างชั้น, การโก่งเดาะของเสาเหล็ก, การโก่งเดาะเฉพาะที่ของเสา และแรงที่ต้องต้านทานสำหรับการออกแบบจุดต่อ จากผลการวิเคราะห์พบว่าอาคารโครงสร้างเหล็กที่ศึกษาที่ถูกออกแบบด้วยวิธีสเปกตรัมผลตอบสนองแบบเดิมสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้


การประยุกต์ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุเพื่อคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทาง, ธนพล เทพวงษ์ Jan 2022

การประยุกต์ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุเพื่อคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทาง, ธนพล เทพวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันถนนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นถนนแอสฟัลต์คอนกรีต เมื่อมีปริมาณจราจรมากระทำบนถนนทำให้ถนนเกิดความเสียหาย การตรวจสอบความแข็งแรงของถนนสามารถเข้าถึงได้ด้วยเครื่องมือทดสอบการวัดการแอ่นตัวของผิวทางด้วย Falling Weight Deflectometer อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของวัสดุโครงสร้างทางตามเวลาและการกระทำของจราจรส่งผลให้ความแข็งแรงของถนนมีการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองการเกิดความเสียหาย งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการประยุกต์การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติวัสดุมาใช้เป็นการคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทางในแต่ละช่วงเวลา มีวัตถุประสงค์คือเพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงความแข็งแรงโครงสร้างทางตามอายุการใช้งาน และได้ทดสอบความถูกต้องของการคาดการณ์ความแข็งแรงโครงสร้างทางด้วยข้อมูลการทดสอบภาคสนามด้วยวิธี FWD ของถนนแอสฟัลต์คอนกรีต ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงโครงสร้างทางคือ ประเภทโครงสร้างทาง แรงกระทำต่อผิวทาง อุณหภูมิและฤดูกาล การดำเนินการวิจัยจะทำการประยุกต์ใช้แบบจำลอง และนำมาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงความแข็งแรงโครงสร้างทางระหว่างข้อมูลการทดสอบ FWD และแบบจำลอง ซึ่งมีรูปแบบความสัมพันธ์กับข้อมูลการทดสอบ FWD เป็นเส้นตรง แบบจำลองสามารถใช้ได้ในวัสดุชั้นพื้นทางและชั้นรองพื้นทางเป็นวัสดุไม่เกาะตัว และวัสดุชั้นพื้นทางเป็นวัสดุปรับปรุงด้วยซีเมนต์และชั้นรองพื้นทางเป็นวัสดุไม่เกาะตัว


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ธีรนันท์ สุวรรณชวลิต Jan 2022

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ธีรนันท์ สุวรรณชวลิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles) เป็นเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเทคโนโลยีนี้จะส่งเสริมการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในเมืองที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน (Inclusive transport network) ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่ไม่สามารถขับขี่รถยนต์ด้วยตนเองมีอิสระในการเดินทางมากยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่จะส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทย โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 450 คนจากประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล งานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ยานยนต์ไร้คนขับในระดับ 5 และทำการวิเคราะห์ผลโดยใช้กรอบแนวคิดแบบจำลองการยอมรับเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model) ผลการศึกษาพบว่าว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับหรือความตั้งใจที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบไปด้วยการรับรู้ถึงประโยชน์ , การรับรู้ถึงความง่ายในการใช้งาน, การรับรู้ความปลอดภัยและความเชื่อถือ โดยตัวแปรที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีสูงสุดคือ ความเชื่อถือและการรับรู้ถึงความปลอดภัย ตามลำดับ


การวิเคราะห์เอกสารสัญญาจ้างก่อสร้างเฉพาะสำหรับโครงการก่อสร้างซึ่งใช้การจำลองสารสนเทศอาคาร, นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล Jan 2022

การวิเคราะห์เอกสารสัญญาจ้างก่อสร้างเฉพาะสำหรับโครงการก่อสร้างซึ่งใช้การจำลองสารสนเทศอาคาร, นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาการจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling, BIM) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการส่งมอบโครงการก่อสร้างสมัยใหม่ งานวิจัยในอดีตจำนวนมากได้ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของการนำ BIM ไปใช้ เช่น กระบวนการทำงาน, แบบจำลอง BIM, และ BIM Uses อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างในโครงการซึ่งใช้ BIM (โครงการ BIM) ยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากโครงการ BIM แตกต่างจากโครงการก่อสร้างทั่วไปในหลาย ๆ ด้าน องค์ประกอบและการจัดการสัญญาจ้างในโครงการ BIM (สัญญา BIM) จึงมีลักษณะเฉพาะตัว ในวิทยานิพนธ์นี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาโครงสร้างของสัญญาจ้างก่อสร้างที่เหมาะสมกับโครงการ BIM โดยเน้นการศึกษาเอกสารและเนื้อหาสำคัญของสัญญา BIM การวิจัยเริ่มจากการรวบรวมและวิเคราะห์มาตรฐาน แนวทาง คู่มือ และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ BIM ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลก จากนั้นจึงสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการสัญญา BIM เพื่อนำมาวิเคราะห์และร่างเอกสารสัญญา BIM และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัญญา BIM ผลที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเอกสารสัญญา BIM แต่ละรายการให้เหมาะสมกับโครงการ BIM ในประเทศไทย ผลลัพธ์หลักของงานวิจัยนี้คือ แนวทางสำหรับร่างเอกสารสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ BIM ที่เหมาะสมสำหรับการวางแผนและบริหารโครงการ BIM ในอุตสาหกรรมก่อสร้างประเทศไทย เนื่องจากเอกสารสัญญา BIM ที่พัฒนาขึ้นสะท้อนระบบนิเวศของโครงการ BIM ในประเทศไทย จึงสามารถช่วยให้โครงการ BIM ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการโครงการ BIM


พฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ของพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในกรุงเทพมหานคร, ปฐมพร พงษ์อารีย์ Jan 2022

พฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ ของพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในกรุงเทพมหานคร, ปฐมพร พงษ์อารีย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปี พ.ศ. 2562 องค์การอนามัยโลกระบุว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 8 ของโลกและอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และทัศนคติต่อการรับรู้ความเสี่ยงและศึกษาปัจจัยที่อิทธิพลต่อพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประเภทพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่สนใจ ได้แก่ ลักษณะทางประชากร ทัศนคติต่อการขับรถเร็ว พฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วเกินอัตรากำหนด การรับรู้ความเสี่ยง ความเครียดและความเหนื่อยล้าขณะทำงาน ทัศนคติต่อการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ระยะเวลาและความถี่ในการเดินทาง ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกระดาษ โดยแบบสอบถามอ้างอิงตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (The theory of planned behavior: TPB) จำนวน 450 ตัวอย่าง วิเคราะห์ด้วยแบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural equation model: SEM) พบว่า ทุกปัจจัยส่งผลทางตรงต่อพฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วเกินอัตรากำหนด ยกเว้น ทัศนคติต่อการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ระยะเวลาและความถี่ในการเดินทาง ที่ส่งผลทางอ้อมผ่านปัจจัยอื่นๆ ทั้งยังพบว่าระยะเวลาในการทำงานที่ต่างกันทำให้มีการรับรู้ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ระดับการศึกษาที่ต่างกันทำให้มีการรับรู้ความเสี่ยงและทัศนคติต่อการขับรถเร็วที่แตกต่างกัน โดยผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดต่ำลง และพบว่าจำนวนช่องจราจรมีผลต่อพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ผลการวิจัยนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประเภทพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่


การออกแบบขนาดและรูปร่างของโครงถักสามมิติอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการปรับปรุงการเรียนรู้อย่างครอบคลุมเพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุดของกลุ่มอนุภาคร่วมกับแบบจำลองการถดถอยของกระบวนการเกาส์เซียน, วรัญญา เจริญยิ่ง Jan 2022

การออกแบบขนาดและรูปร่างของโครงถักสามมิติอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการปรับปรุงการเรียนรู้อย่างครอบคลุมเพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุดของกลุ่มอนุภาคร่วมกับแบบจำลองการถดถอยของกระบวนการเกาส์เซียน, วรัญญา เจริญยิ่ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทความนี้นำเสนอหนึ่งในเครื่องมือการเรียนรู้ของเครื่อง คือวิธีการถดถอยของกระบวนการเกาส์เซียน (Gaussian process regression, GPR) ร่วมกับอัลกอริทึมการปรับปรุงการเรียนรู้อย่างครอบคลุมเพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุดของกลุ่มอนุภาค (Enhanced Comprehensive Learning Particle Swarm Optimization, ECLPSO) เพื่อหาขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมอย่างพร้อมกันของโครงถัก 3 มิติ ภายใต้แรงกระทำจากภายนอก เมื่อเทียบกับเทคนิคการออกแบบด้วยวิธีเมตา-ฮิวริสติก แนวทางนี้จะสามารถลดขั้นตอนในการวิเคราะห์โครงสร้างด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ที่ใช้เวลานานได้ โดยเป็นการสร้างแบบจำลองการทำนายพฤติกรรมของโครงสร้าง จากชุดข้อมูลอินพุต เช่น ตำแหน่งพิกัดข้อต่อและขนาดชิ้นส่วน และข้อมูลเอาต์พุตที่สร้างโดยชุดข้อมูลการวิเคราะห์โครงสร้าง เช่น แรงภายในชิ้นส่วนและการเคลื่อนที่ของตำแหน่งข้อต่อ จากนั้นอัลกอริทึม ECLPSO จะดำเนินการร่วมกับแบบจำลอง GPR ที่มีการคาดคะเนการตอบสนองที่แม่นยำเพียงพอ ผลลัพธ์ที่ได้จากวิธีการที่นำเสนอ คือน้ำหนักรวมของโครงสร้างที่มีค่าต่ำที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำและประสิทธิภาพของอัลกอริทึม


ปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตนาในการเลือกใช้บริการ Mobility As A Service (Maas) ในกรุงเทพมหานคร, รัชกร ภัคพิสุทธิ์กุล Jan 2022

ปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตนาในการเลือกใช้บริการ Mobility As A Service (Maas) ในกรุงเทพมหานคร, รัชกร ภัคพิสุทธิ์กุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบัน มีการนำแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดบูรณาการบริการเดินทางซึ่งเรียกแนวความคิดนี้ว่า บริการเดินทางรวมครบวงจร (Mobility as a Service หรือ MaaS) ที่มีการบูรณาการการวางแผน การจอง และการชำระค่าบริการการเดินทางทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว แนวคิดนี้ยังไม่มีการนำมาใช้ในประเทศไทย การวิจัยนี้จึงศึกษาทัศนคติในการเดินทางและเจตนาหรือความตั้งใจของผู้เดินทางในกรุงเทพมหานครว่าปัจจัยใดส่งผลต่อเจตนาที่จะใช้ MaaS และ แต่ละปัจจัยมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด งานวิจัยนี้ได้ใช้แบบจำลองทั้งหมด 4 แบบจำลอง ได้แก่ แบบจำลองจากทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Theory of Planned Behavior; TPB) แบบจำลองการยอมรับเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model; TAM) ทฤษฎีการยอมรับและการใช้เทคโนโลยี (Unified Theory of Acceptance of Technology; UTAUT) และ ทฤษฎีการยอมรับและการใช้เทคโนโลยี 2 ฉบับปรับปรุง (Modified UTAUT2) เครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในงานนี้คือแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอปพลิเคชันที่มีอยู่ในปัจจุบันของผู้เดินทาง รวมไปถึงความตั้งใจใช้ MaaS การวิเคราะห์ทำโดยใช้แบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling; SEM) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยและเจตนาเชิงพฤติกรรมภายในแบบจำลอง ตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งสิ้น 402 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มีความถี่ในการใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า ยกเว้นแอปพลิเคชันการเงิน และจากการวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้าง พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้ MaaS คือ ทัศนคติต่อพฤติกรรม, ความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ, อิทธิพลทางสังคม, มูลค่าราคา, และความยืดหยุ่นในการเดินทาง ในขณะที่ความคาดหวังด้านความพยายามและคุณภาพของสารสนเทศ มีผลต่อเจตนาในทางอ้อม โดยผ่านความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ


การวิเคราะห์ผลตอบสนองเชิงพลศาสตร์ในช่วงรอยต่อโครงสร้างทางรถไฟโดยใช้แผ่นวัสดุยืนหยุ่น, สุรพันธุ์ นพรัตน์ Jan 2022

การวิเคราะห์ผลตอบสนองเชิงพลศาสตร์ในช่วงรอยต่อโครงสร้างทางรถไฟโดยใช้แผ่นวัสดุยืนหยุ่น, สุรพันธุ์ นพรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานระบบราง มีแนวโน้มในการพัฒนาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากข้อดีของการใช้งานที่มีความสะดวก การรับน้ำหนักบรรทุกได้สูง สามารถกำหนดเวลาได้แม่นยำ ประเทศที่มีสถิติความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางอันดับต้นได้แก่ ประเทศจีน ที่ได้มีการวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมด้านระบบรางมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) หนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบคือ ปัญหาช่วงรอยต่อ (Track Transition) สาเหตุมาจากการเปลี่ยนรูปแบบทำให้ค่า Track Stiffness เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดความเร่ง และแรงเชิงพลศาสตร์มากกว่าปกติ โครงสร้างจะเกิดความเสียหาย และในระยะยาวส่งผลให้เกิดการทรุดตัวบริเวณรอยต่อที่ไม่เท่ากัน จำเป็นต้องดูแลรักษาซ่อมบำรุงมากกว่าปกติ ปัจจุบันโครงสร้างทางรถไฟในประเทศไทยจะมีการพัฒนาทางรถไฟความเร็วสูงด้วยโครงสร้างทางแบบ Slab Track ด้วยเทคโนโลยี Chinese Railway Track System (CRTS Type III) จากประเทศจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน พบว่ามีส่วนของเส้นทางที่เป็น Transition ระหว่าง Ballasted Track และ Slab Track ซึ่งในงานวิจัยนี้จะนำเอาโครงสร้างลดการสั่นสะเทือนประเภท Under Sleeper Pads (USPs) และ Under Slab Mat (USMs) มาใช้งานร่วมกัน เพื่อช่วยลดการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น และปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงค่า Track Stiffness ให้เหมาะสม จากการศึกษางานวิจัยในอดีต พบว่ามีการปัญหา Track Transition ด้วยวิธีการหลากหลาย แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาในแง่ของการใช้งานร่วมกันในโครงสร้างช่วยลดการสั่นสะเทือนแบบผสมผสานที่มากเพียงพอ เป็นเหตุสมควรให้ต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดการสั่นสะเทือน แรงกระแทก (Impact Load) และการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติม ในหัวข้อที่มีความเกี่ยวข้อง ต่อไป


แนวทางการส่งเสริมระบบการก่อสร้างแบบอุตสาหกรรม - กรณีศึกษาของประเทศไทย, อรณิช ธนากรรฐ์ Jan 2022

แนวทางการส่งเสริมระบบการก่อสร้างแบบอุตสาหกรรม - กรณีศึกษาของประเทศไทย, อรณิช ธนากรรฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การผลักดันการก่อสร้างให้เป็นระบบอุตสาหกรรม (Industrialized building system, IBS) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างเนื่องจากระบบดังกล่าวเป็นการก่อสร้างที่ลดการใช้แรงงาน ลดระยะเวลาการก่อสร้าง อีกทั้งยังลดความสูญเปล่าของวัสดุในขั้นตอนการก่อสร้าง โดยจุดมุ่งหมายของงานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษารูปแบบการก่อสร้างระบบอุตสาหกรรม จากนั้นศึกษาปัจจัย SWOT ของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในการก่อสร้างระบบอุตสาหกรรมโดยใช้ทฤษฎี Internal Factor Evaluation Matrix (IFE Matrix) และ External Factor Evaluation Matrix (EFE Matrix) และนำเสนอแนวทางการส่งเสริมที่เหมาะสมโดยวิเคราะห์ด้วย TOWS Matrix และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากการศึกษาพบว่า วิธีการก่อสร้างในประเทศไทยที่มีระดับความเป็นระบบอุตสาหกรรมมากที่สุดคือ การก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete System) และการก่อสร้างระบบโมดูลาร์ (Modular System) ต่อมาได้ทำการประเมินและวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกจำนวน 28 ปัจจัย พบปัจจัยที่เป็นจุดแข็ง 10 ปัจจัย, จุดอ่อน 4 ปัจจัย, โอกาส 8 ปัจจัย และอุปสรรค 6 ปัจจัย และค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักจาก IFE และ EFE Matrix เท่ากับ 2.82 และ 2.75 มีสถานการณ์อยู่ในตำแหน่งการประคับประคองและบำรุงรักษา (Hold and Maintain) แนวทางในการส่งเสริมการก่อสร้างระบบอุตสาหกรรม ได้แก่ การสนับสนุนจากภาครัฐ การอบรมและพัฒนาความรู้ และโควตาโครงการก่อสร้างด้วยระบบอุตสาหกรรม


Strengthening Of Reinforced Concrete Members With Lap Splices Using Steel Collars, Aji Ejaz Jan 2022

Strengthening Of Reinforced Concrete Members With Lap Splices Using Steel Collars, Aji Ejaz

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Bond splitting failure of substandard lap splices have caused extensive damage to many structures during earthquakes. Existing methods to strengthen substandard lap splices primarily involve wrapping the substandard lap spliced regions with jackets possessing mainly in-plane stiffness. Hence, the efficiency of such techniques is compromised due to the lateral bulging of concrete and flexural bending of jackets. This study investigated hollow steel section (HSS) collars which offer axial and flexural stiffness in mitigating splitting failures associated with lap splices not conforming to current design codes. Three lap splice lengths, mainly 20, 28, and 35 times the bar diameter (db) were …


Automatic Image-Based Sbfe Approach For Multiphase-Materials Topology Optimization Under Dynamic Loading, Rut Su Jan 2022

Automatic Image-Based Sbfe Approach For Multiphase-Materials Topology Optimization Under Dynamic Loading, Rut Su

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

This thesis presents the efficient topology optimization methods constructed within the state-of-the-art polygon scaled boundary finite element (SBFE) framework. The SBFE approach enables the discrete model construction of structures comprising of arbitrary curve geometry lying in 2D and/or 3D spaces. More explicitly, incorporated with quadtree (in 2D) and octree (3D) mesh refinements the automatic adaptive mesh scheme run within the polygon SBFE framework provides the cost-effective model generation allowing hanging nodes. These distinctive features present the developed SBFE approach well suiting as an underlying modeling framework for the topology design optimization of solids. The bi-directional evolutionary structural optimization (BESO) algorithm …


การประเมินความเหมาะสมทางวิศวกรรมของการนำแอนไอโอนิคแอสฟัลต์อิมัลชันและน้ำยางพาราเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมเย็น, ไม้ไท เกษสุวรรณ์ Jan 2022

การประเมินความเหมาะสมทางวิศวกรรมของการนำแอนไอโอนิคแอสฟัลต์อิมัลชันและน้ำยางพาราเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตแบบผสมเย็น, ไม้ไท เกษสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในการก่อสร้างถนนแอสฟัลต์อิมัลชันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดได้แก่ ชนิดประจุไฟฟ้าเป็นบวก (Cationic Asphalt Emulsion) และ ชนิดประจุไฟฟ้าเป็นลบ (Anionic Asphalt Emulsion) โดยประจุไฟฟ้าของแอสฟัลต์อิมัลชันสามารถส่งผลต่อการยึดเกาะระหว่างมวลรวมชนิดต่างๆ เนื่องด้วยมวลรวมแต่ละชนิดก็มีประจุไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป ในการออกแบบถนนนั้นความชื้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงเนื่องจากความชื้นจะทำให้ถนนมีความแข็งแรงที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบหลักที่จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากความชื้นจะทำลายการยึดเกาะระหว่างผิวของวัสดุมวลรวมกับแอสพัลต์ ทำให้เกิดการหลุดลอกของวัสดุมวลรวมจากผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต และเพื่อหลีกเลี่ยงการหลุดลอกของผิวถนนซึ่งอาจก่อให้เกิดผิวทางชำรุดก่อนเวลาอันควร งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาและประเมินคุณสมบัติด้านความต้านทานการหลุดลอก และ คุณสมบัติด้านความต้านทานความเสียหายเนื่องจากความชื้น โดยใช้การทดสอบ Rolling Bottle Test และ Indirect Tensile strength test ซึ่งจะนำแอสฟัลต์อิมัลชันทั้งชนิดประจุบวกและประจุลบ รวมไปถึงการใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นส่วนผสม และใช้มวลรวมทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ หินปูนชลบุรี หินปูนสระบุรี และ หินบะซอลต์บุรีรัมย์ โดยในการทดสอบพบว่า แอสฟัลต์อิมัลชันต่างชนิดกันมีผลต่อความต้านทานการหลุดลอกของมวลรวมแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และการเติมน้ำยางธรรมชาติที่ 10% นั้นสามารถเพิ่มค่าความต้านทานการหลุดลอกของหินปูนทั้ง 2 ชนิดได้แต่จะมีค่าลดลงในการเติม 20% และสำหรับในหินบะซอลต์นั้นมีค่าลดลงทั้ง 10% และ 20% ของการเติมน้ำยางพารา และ จากผลการทดสอบ ITS พบว่าสำหรับหินทั้งสามชนิด เมื่อนำไปใช้งานกับแอสฟัลต์อิมัลชันชนิดแอนไอออนิกมีค่าความต้านทานความเสียหายเนื่องจากความชื้นสูงกว่าแอสฟัลต์อิมัลชันชนิดแคทไอออนิก และสำหรับการเติมน้ำยางพาราที่ 10% ทำให้ค่าความต้านทานความเสียหายเนื่องจากความชื้นลดลงเมื่อเทียบกับการที่ไม่เติม


การประเมินโมดูลัสของชั้นทางจาก Light Weight Deflectometer ที่มีเซนเซอร์เพิ่มเติมในแนวรัศมี, ฐิติพัฒน์ รุ่งพัฒนาชัยกุล Jan 2022

การประเมินโมดูลัสของชั้นทางจาก Light Weight Deflectometer ที่มีเซนเซอร์เพิ่มเติมในแนวรัศมี, ฐิติพัฒน์ รุ่งพัฒนาชัยกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ค่าโมดูลัสยืดหยุ่น (Elastic Modulus) เป็นตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการออกแบบและควบคุมคุณภาพการบดอัดของโครงสร้างชั้นทาง ในอดีตที่ผ่านมาค่าโมดูลัสยืดหยุ่นจะได้จากการทดสอบกับแท่งตัวอย่างที่เจาะเก็บจากโครงสร้างชั้นทางในสนาม ความเสียหายจากการเจาะเก็บตัวอย่างนี้อาจหลีกเลี่ยงได้โดยการใช้วิธีการทดสอบแบบไม่ทำลาย เช่น การทดสอบด้วยเครื่องมือ Light Weight Deflectometer (LWD) ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน อุปกรณ์ LWD ในการศึกษานี้จะมีเซนเซอร์วัดความเร็วคลื่น (Geophone) เพิ่มเติมจำนวน 2 ตัว ติดตั้งในแนวรัศมีจากจุดทดสอบ ซึ่งทำให้สามารถประเมินค่าโมดูลัสยืดหยุ่นของวัสดุโครงสร้างชั้นทางที่ไม่เป็นเนื้อเดียวได้ดีขึ้น ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการทดสอบบนโครงสร้างชั้นทางด้วยเครื่องมือ LWD และสอบเทียบผลกับการตรวจวัดด้วยคลื่นขนาดเล็กที่ผิวดิน (Microtremor) และเครื่องมือตอกหยั่งแบบเบา (DPL) จากผลการศึกษาพบว่าค่าโมดูลัสยืดหยุ่นในแต่ละชั้นโครงสร้างทางที่ได้จากการทดสอบด้วยเครื่องมือ LWD มีความสอดคล้องกับผลที่ได้จากเครื่องมือ Microtremor แต่มีการแกว่งตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเครื่องมือ DPL ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ดีในการนำเครื่องมือ LWD ที่มีเซนเซอร์วัดความเร็วคลื่นไปใช้สำหรับการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างชั้นทางในประเทศไทย


การศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานจากการใช้แบบด้วยการพิมพ์ 3 มิติ, ณัฏฐา เวสสะภักดี Jan 2022

การศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานจากการใช้แบบด้วยการพิมพ์ 3 มิติ, ณัฏฐา เวสสะภักดี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ในปัจจุบันลักษณะการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นทำให้งานก่อสร้างประสบปัญหาในการตั้งแบบหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างต่าง ๆ เช่น คานโค้ง หรือคานรูปทรงอิสระ (Free-form beam) ซึ่งยากต่อการทำงาน แต่ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ที่มีความสามารถในการพิมพ์รูปร่างหรือรูปทรงต่างๆของชิ้นงานได้อย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องใช้ไม้แบบ จึงเป็นส่วนช่วยในการแก้ปัญหาข้างต้น ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานคอนกรีตที่ใช้กรอบแบบจากการพิมพ์คอนกรีต 3 มิติ กรอบแบบดังกล่าวถูกพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบระบบฉีดเส้นวัสดุ หรือ Fused Deposition Modeling (FDM) ซึ่งเป็นการพิมพ์ขึ้นรูปคอนกรีตซ้อนกันไปจนได้เป็นกรอบแบบ ในการวิจัยนี้ได้สร้างกรอบแบบที่มีความหนาของแต่ละชั้นการพิมพ์แตกต่าง 3 แบบ ได้แก่ ชั้นการพิมพ์ความหนา 15.0 มม. (BH1.50) 17.5 มม. (BH1.75) และ 20.0 มม. (BH2.00) แล้วจึงหล่อคานคอนกรีตภายในกรอบแบบนั้น จากนั้นคานตัวอย่างจะถูกพิจารณาคุณสมบัติด้านการรับกำลังแบบคานช่วงเดียว (Simple beam) และสังเกตลักษณะการวิบัติของคานที่เกิดขึ้น ผลการทดสอบจะถูกนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลเพื่อหาความแตกต่างจากคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้ไม้แบบตามปกติ (NB)


พฤติกรรมการข้ามถนนของผู้สูงอายุบนทางข้ามที่มีสัญญาณไฟแบบนับถอยหลังในกรุงเทพมหานคร, ธาตรี รักมาก Jan 2022

พฤติกรรมการข้ามถนนของผู้สูงอายุบนทางข้ามที่มีสัญญาณไฟแบบนับถอยหลังในกรุงเทพมหานคร, ธาตรี รักมาก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 18.31และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ใกล้เคียงกับนิยามสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควรมีความพร้อมสำหรับรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงการข้ามถนน ซึ่งสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนนแบบมีชุดนับเวลาถอยหลัง ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ส่งเสริมความปลอดภัยแก่คนเดินเท้า โดยจะแสดงเวลานับถอยหลังให้คนเดินข้าม พร้อมทั้งกำกับให้ยานพาหนะหยุดรอ งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้ทางข้ามที่สัญญาณไฟแบบนับถอยหลังของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการข้ามของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับความเร็วที่ใช้ในการออกแบบสัญญาณไฟในพื้นที่จริง และความเร็วมาตรฐานต่างประเทศ โดยใช้การทดสอบสมมติฐาน t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างมีการแจงแจงแบบปกติ และใช้การทดสอบของครัสคาลและวอลลิส ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างมีการแจงแจงแบบไม่ปกติ จากนั้นใช้การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นอย่างง่ายเพื่อหาความเร็วที่เหมาะสมสำหรับใช้ออกแบบสัญญาณไฟตามสัดส่วนคนข้ามที่เป็นผู้สูงอายุ จากกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ 227 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความเร็วการเดินที่ 15th Percentiles เฉลี่ยจากสัดส่วนผู้สูงอายุ ไม่แตกต่างกับความเร็วแนะนำ Highway Capacity Manual (2016) อย่างมีนัยสำคัญ และมีทางข้าม 3 แห่งจากที่ศึกษา 6 แห่งที่ใช้ความเร็วที่มากกว่าความเร็วการเดินที่ 15th Percentiles เฉลี่ยจากสัดส่วนผู้สูงอายุ ในทางข้ามนั้นอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการข้ามของผู้สูงอายุ พบว่าตัวแปรช่วงวัย ทางข้ามที่แตกต่างกัน การถือสัมภาระ ส่งผลต่อความเร็วของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ และความเร็วที่เหมาะสมสำหรับใช้ออกแบบสัญญาณไฟตามสัดส่วนคนข้ามที่เป็นผู้สูงอายุจากข้อมูลทุกทางข้ามรวมกันมีความพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ


การประยุกต์ใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจสอบด้วยสายตาของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกภายใต้การรังวัดด้วยภาพถ่าย, บวรชนก มณีรัตน์ Jan 2022

การประยุกต์ใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการตรวจสอบด้วยสายตาของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกภายใต้การรังวัดด้วยภาพถ่าย, บวรชนก มณีรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาและนำเสนอการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ในการตรวจสอบด้วยตาเปล่าของสะพาน (Bridge Visual Inspection) เพื่อใช้ในการทดแทนการตรวจสอบแบบดั้งเดิม โดยใช้หลักเกณฑ์ตามคู่มือตรวจสอบสะพานภายใต้การดูแลกรมทางหลวงชนบทซึ่งทางสำนักก่อสร้างสะพานระบบการบำรุงรักษาสะพาน (Bridge Maintenance Management System : BMMS) โดยทำการศึกษาหาจำนวนจุดควบคุมภาพถ่าย (Ground Control Point: GCP) ในที่เหมาะสม ผลการศึกษาพบว่า ส่วนบนของสะพานเริ่มมีค่าคงที่เมื่อจุดควบคุมภาพถ่ายตั้งแต่ 6 จุด ส่วนข้างของสะพานเริ่มมีค่าคงที่เมื่อจุดควบคุมภาพถ่ายตั้งแต่ 4 จุด และส่วนเสาตอม่อเริ่มมีค่าคงที่เมื่อจุดควบคุมภาพถ่ายตั้งแต่ 4 จุด ทำการเปรียบเทียบพิกัดและระยะแต่ละองค์ประกอบของสะพานจากระนาบออร์โธกับพื้นที่จริง พบว่ามีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 1.42 ใกล้เคียงกับพื้นที่ความเป็นจริง รวมไปถึงทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์ขนาดความเสียหายที่ได้จากระนาบออร์โธ (Orthoplane) กับพื้นที่จริง โดยแบ่งขนาดความเสียหายได้ 3 ส่วน ได้แก่ ความเสียหายขนาดเล็ก มีเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยร้อยละ 21.87 ความเสียหายขนาดกลาง เปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยร้อยละ 19.55 และ ความเสียหายขนาดใหญ่มีเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยร้อยละ 0.832 จากผลการศึกษาพบว่าสามารถนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้เป็นแนวทางในการใช้อากาศยานไร้คนขับตรวจสอบสะพานเป็นแนวทางในการตรวจสอบด้วยตาเปล่าของสะพาน ได้อย่างมีคุณภาพ


การตรวจสอบความเสียหายจากการเกิดสนิมที่คานคอนกรีตเสริมเหล็กบากบ่าในสะพานปรีดี-ธำรงด้วยระเบียบวิธีไฟไนท์เอลิเมนท์แบบไม่เชิงเส้น, ปฏิภาณ สางห้วยไพร Jan 2022

การตรวจสอบความเสียหายจากการเกิดสนิมที่คานคอนกรีตเสริมเหล็กบากบ่าในสะพานปรีดี-ธำรงด้วยระเบียบวิธีไฟไนท์เอลิเมนท์แบบไม่เชิงเส้น, ปฏิภาณ สางห้วยไพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ชิ้นส่วนโครงสร้างสะพานที่มีลักษณะเป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็กปลายบากบ่า (RC Ledge girder) จากการตรวจสอบในอดีตที่ผ่านมาพบปัญหาภายหลังจากผ่านการใช้งานเป็นเวลานาน คือ พบรอยแตกร้าวและชิ้นส่วนคอนกรีตหลุดร่อนเริ่มต้นจากส่วนยื่นปลายบากเปิดเผยให้เห็นผิวของเหล็กเสริม เป็นสาเหตุให้เหล็กเสริมถูกกัดกร่อน (Corrosion) สำหรับงานวิจัยนี้จะทำการตรวจสอบและศึกษาสะพานปรีดี-ธำรง ซึ่งเป็นสะพานในประวัติศาสตร์ที่มีอายุการใช้งานถึง 80 ปีและตรวจพบความเสียหายและความเสื่อมสภาพบริเวณคานส่วนปลายบากบ่า โดยที่ในขั้นต้นจะทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมาตรฐานการออกแบบ PCI 2010 ถึงปริมาณเหล็กเสริมที่เหมาะสมและสร้างแบบจำลองไฟไนท์เอลิเมนท์วิเคราะห์แบบไม่เชิงเส้น (Nonlinear Finite Element Model) ด้วยโปรแกรมอาเทน่า (ATENA Science) แบบ 3 มิติ คำนวณถึงพฤติกรรมของชิ้นส่วนปลายบ่าเมื่อเกิดความเสื่อมสภาพจากคลอไรด์แทรกซึมและคาบอเนชั่น ทั้งจากสภาพแวดล้อมและปริมาณคลอไรด์ในส่วนผสมของคอนกรีตโครงสร้างเอง จากการศึกษาพบว่าในช่วงเริ่มต้นการกัดกร่อนจะเริ่มต้นบริเวณมุมของชิ้นส่วนปลายบากบ่าก่อน เมื่อเหล็กเสริมบริเวณดังกล่าวเกิดสนิมจึงทำให้การถ่ายเทแรงสูญเสียสมดุลทำให้คอนกรีตในส่วนปลายได้รับแรงอัดเพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปจะสังเกตเห็นรอยแตกร้าวและเกิดคอนกรีตหลุดร่อน โดยที่จะขึ้นอยู่กับตัวแปรหลัก คือ ความเข้มข้นคลอไรด์ ค่าสัมประสิทธิ์การกระจายตัวของคอนกรีต w/b ratio ค่าความเข้มข้นคลอไรด์วิกฤต อัตราการเกิดสนิมของเหล็กเสริม คุณสมบัติของวัสดุโครงสร้างและระยะคอนกรีตหุ้มเหล็กเสริมห่างจากพื้นผิวสัมผัสสภาพแวดล้อม


การศึกษาการประยุกต์ใช้แฝดดิจิทัลในการประเมินสภาพของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับ, ภัททิยะ พึ่งวงศ์ Jan 2022

การศึกษาการประยุกต์ใช้แฝดดิจิทัลในการประเมินสภาพของสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับ, ภัททิยะ พึ่งวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

แบบจำลองเสมือนในโลกดิจิทัลเป็นแนวคิดของอุตสาหกรรม 4.0 ที่สามารถนำไปประยุกต์ในงานหลายๆด้าน หนึ่งในนั้นคือการสร้างแบบจำลองเพื่อใช้ตรวจสอบและประเมินสภาพของโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสะพาน แบบจำลองช่วยให้ผู้ใช้สามารถคาดการณ์และวางแผนสำหรับตรวจสอบและประเมินเพื่อการบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีของการดูแลรักษาสะพานนั้น การใช้เทคนิคโฟโตแกรมเมทรีโดยการเก็บภาพจากอากาศยานไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแบบจำลองดิจิทัล ด้วยกระบวนการ 3D-Reconstruction งานวิจัยฉบับนี้นำเสนอกระบวนการประยุกต์ใช้แบบจำลองแฝดดิจิทัลในการประเมินสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยข้อมูลจากการเก็บภาพจากอากาศยานไร้คนขับ โดยใช้สะพานธนรัตช์ จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งประกอบด้วยกระกวนการตั้งแต่ การรวบรวมข้อมูลด้วยอากาศยานไร้คนขับ การประมวลผลภาพถ่ายเพื่อสร้างแบบจำลอง การสร้างฐานข้อมูลให้กับแบบจำลอง การประเมินสภาพของสะพานจากแบบจำลอง โดยได้ประยุกต์ใช้มาตรฐานการตรวจสอบจากคู่มือการประเมินของประเทศออสเตรเลียเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการประเมินตามคู่มือของกรมทางหลวงประเทศไทย จากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการประเมินสภาพสะพานจากแบบจำลอง ที่จะช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้ตรวจสอบ ตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลที่ใช้อากาศยานไร้คนขับ ทดแทนการตรวจสอบแบบดั้งเดิม อีกทั้งลดความซับซ้อนของข้อมูลในกรณีที่สะพานมีขนาดใหญ่ และสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลง ความเสียหายของสะพานดังกล่าวได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าว สามารถไปต่อยอดในการประเมินและตรวจสอบสภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆในอนาคต