Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Business Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Technology and Innovation

PDF

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 11 of 11

Full-Text Articles in Business

นวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กเพจด้วยการทำเหมืองข้อความ, พรพิมล กะชามาศ Jan 2017

นวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กเพจด้วยการทำเหมืองข้อความ, พรพิมล กะชามาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เฟซบุ๊ค (Facebook) เป็นสื่อสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกและประเทศไทย ในทุกๆวันจะมี "ข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กเพจ" ใหม่ๆจากหลากหลายตราสินค้า ผู้ผลิต ผู้ขาย ขึ้นใหม่ตลอดเวลา เพื่อโฆษณาสินค้าและบริการ โดยในแต่ละข้อความล้วนมีวัตถุประสงค์มุ่งหวังจากผู้อ่านต่างกันไป แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงมีทั้งสมหวังหรือกลายเป็นตรงกันข้ามก็พบได้เช่นกัน จะดีเพียงใดหากนักการตลาดออนไลน์มีเครื่องมือที่สามารถคาดเดาโอกาสของพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้อ่านได้อ่านข้อความนั้นๆ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ตามทฤษฎีของเดนท์สุ AISAS โมเดล 2) เพื่อพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ตามทฤษฎีของเดนท์สุ AISAS โมเดล โดยใช้วิธีการของการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) 3) เพื่อทดสอบการใช้งานและการยอมรับต้นแบบนวัตกรรม และ 4) เพื่อศึกษาแนวทางในเชิงพาณิชย์ของการวิเคราะห์ข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ตามทฤษฎีของเดนท์สุ AISAS โมเดล ในการศึกษานี้จะใช้ข้อความจากเพจที่มีผู้ติดตามสูงและมีจุดมุ่งหมายและการใช้ข้อความในการโพสต์แตกต่างกันมาทำการวิเคราะห์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยจำนวน 75 คนเพื่อประเมินโอกาสของ พฤติกรรมที่ผู้อ่านน่าจะกระทำหลังจากการอ่านแต่ละข้อความว่ามีแนวโน้มเป็นไปในทางใดของ AISAS โมเดล ผลที่รวบรวมมาได้จะถูกใช้เป็นข้อมูลให้เครื่องจักรได้เรียนรู้ และวิเคราะห์หาค่าความน่าจะเป็นของแต่ละคำด้วยตามหลักทฤษฏีนาอีฟเบย์ (Naïve Bayes) ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาด้านพฤติกรรม จากผลการศึกษาข้อความในโพสต์บนเฟซบุ๊กเพจพบว่าค่าความถูกต้องของการแยกเพจวิเคราะห์ตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะให้ผลที่ดีกว่าการนำผลการวิเคราะห์มาประมวลผลรวมกัน และเมื่อทดลองนำโมเดลที่ได้มาพัฒนาระบบทำนายพฤติกรรมจากการโพสต์ข้อความเพื่อตรวจสอบการยอมรับนวัตกรรมโดยผู้ใช้จำนวน 30 คนซึ่งเป็นเจ้าของเพจและทำธุรกิจออนไลน์พบว่าการประเมินนวัตกรรมด้าน ประสิทธิภาพ และความพึงพอใจโดยรวมของระบบอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ส่วนความง่ายในการใช้งานและโอกาสในเชิงธุรกิจของนวัตกรรมดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ดี


นวัตกรรมการประเมินศักยภาพธุรกิจไทยด้านเกษตรกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศ, ธีรข์กรณ์ อุดมรัตนะมณี Jan 2017

นวัตกรรมการประเมินศักยภาพธุรกิจไทยด้านเกษตรกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศ, ธีรข์กรณ์ อุดมรัตนะมณี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศ 2.ศึกษาความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศ 3. พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือประเมินศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศ 4. ศึกษาการยอมรับนวัตกรรมเครื่องมือประเมินศักยภาพฯที่พัฒนาขึ้นโดยความมุ่งหวังเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการเข้าสู่ตลาดและสร้างเสริมศักยภาพที่เหมาะสม และ 5. ศึกษาแนวทางพัฒนาเชิงพาณิชย์ของนวัตกรรม โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสานกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงที่มีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศขององค์กร ซึ่งการวิจัยประกอบด้วยเชิงคุณภาพได้แก่การสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง จากนั้นนำผลที่ได้มาทำการวิจัยเชิงปริมาณด้วยการพัฒนาแบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์ค่าทางสถิติเพื่อหาความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศโดยใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้เชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ความสำคัญของปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่ตลาดและใช้เครื่องมือแผนผังต้นไม้ตัดสินใจเพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือประเมินศักยภาพในท้ายที่สุด
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าปัจจัยในการศึกษาจำนวน 30 ปัจจัยส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศในทัศนคติของผู้บริหารโดยมีความสำคัญแตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้จากการศึกษาหกปัจจัยได้แก่ คุณภาพสินค้า นวัตกรรม ภาพลักษณ์องค์กร ความเสี่ยงประเทศเป้าหมาย การจัดซื้อและการบริหารห่วงโซ่อุปทานได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นแบบจำลองช่วยตัดสินใจในต้นแบบนวัตกรรมเครื่องมือประเมินศักยภาพธุรกิจเพื่อการเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศที่ผ่านการศึกษาการยอมรับนวัตกรรมและพัฒนาแผนเชิงพาณิชย์เป็นผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัยนี้


นวัตกรรมระบบปรับปัจจัยคันเซ ตามบริบทที่เปลี่ยนอัตโนมัติ, กิตติพงษ์ สาครเสถียร Jan 2017

นวัตกรรมระบบปรับปัจจัยคันเซ ตามบริบทที่เปลี่ยนอัตโนมัติ, กิตติพงษ์ สาครเสถียร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ความก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรมซึ่งพัฒนามาสู่ยุคที่ 4 เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีและระบบการผลิตอันชาญฉลาด ความก้าวหน้าดังกล่าวดำเนินควบคู่มากับความเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัวการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายเทคนิคถูกสร้างขึ้นมา หรือต่อยอดเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆโดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางของแนวความคิดและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ศาสตร์ด้านคันเซเอนจิเนียริงคือหนึ่งในศาสตร์ที่มุ่งเน้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ด้วยแนวคิดการหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และองค์ประกอบการออกแบบส่วนต่างๆ กับความสัมพันธ์ของอารมณ์ด้านต่างๆที่ผู้บริโภครู้สึกได้รับการยอมรับในแวดวงการออกแบบเพื่อสื่อสารอารมณ์ อย่างไรก็ดีศาสตร์ดังกล่าวยังมีจุดด้อยบางประการได้แก่ ความล้าสมัยของข้อมูลที่ถูกสำรวจ และการนำมาใช้ของของข้อมูล วัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบฯ ที่ผู้วิจัยต้องการ คือออกแบบระบบที่สามารถช่วยแนะนำรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ไปจนถึงการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ที่เหมาะกับผู้ใช้ซึ่งมีความแตกต่างกัน และเป็นระบบที่สามารถสร้างชุดสมการและนำมาใช้ได้ง่ายและรวดเร็วผู้วิจัยจึงเลือกใช้ข้อดีจากเทคนิคด้านเหมืองข้อมูลและอาศัยการเรียนรู้ของเครื่องจักรเพื่อช่วยให้ระบบสามารถคัดแยะผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำและเลือกใช้โมเดลวิศวกรรมคันเซที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิคการจัดหมวดหมู่โดยวิธีการต้นไม้ตัดสินใจภายใต้แนวคิดหลักของวิศวกรรมคันเซ


การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการทางการเห็น สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม: Atm), วรท กอวัฒนสกุล Jan 2017

การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการทางการเห็น สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม: Atm), วรท กอวัฒนสกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับการใช้เทคโนโลยีของผู้พิการทางการเห็นในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม รวมถึงเพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้อำนวยความสะดวก อันเป็นที่ยอมรับจากผู้พิการทางการเห็น สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม วิธีการดำเนินการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ ด้วยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทดลอง โดยใช้วิธีการสังเกตการณ์ การทำแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วย ผู้พิการทางการเห็น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการเงิน และผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับการใช้เทคโนโลยีของผู้พิการทางการเห็นในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มประกอบไปด้วย ปัจจัยด้านการร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (Cooperation) ด้านการยอมรับจากสังคม (Social Acceptance) ด้านความง่ายในการใช้งานของเทคโนโลยี (Ease of use) ความมีประโยชน์ (Usefulness) ในการนำอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมาสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินที่เครื่องเอทีเอ็มได้ ด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรม (Safety) และด้านความปลอดภัยของระบบเครื่องเอทีเอ็ม (Security) โดยจากการพัฒนาและการทดลองเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก พบว่า การนำเทคโนโลยี USSD มาประยุกต์ใช้ มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจรวมสูงสุดที่ 4.59 ในระดับมากที่สุด มีความเร็วเฉลี่ยรวมทั้งกระบวนการ ไม่รวมเวลาการเข้าถึงเครื่องเอทีเอ็ม 56.39 วินาที ซึ่งเร็วกว่าวิธีการปกติ (ใช้บัตรเอทีเอ็ม แบบคนปกติ) ร้อยละ 17.93 (68.71 วินาที)


ระบบนวัตกรรมสำหรับการถอดองค์ความรู้ประเภทฝังลึกในองค์กร, มินทร์รตา ศุภานิชไชยศิริ Jan 2017

ระบบนวัตกรรมสำหรับการถอดองค์ความรู้ประเภทฝังลึกในองค์กร, มินทร์รตา ศุภานิชไชยศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคในการจัดการความรู้และการถอดความรู้ฝังลึกในองค์กร 2) เพื่อพัฒนาต้นแบบแอพพลิเคชั่นของระบบนวัตกรรมสำหรับการถอดองค์ความรู้ประเภทฝังลึกในองค์กร และ 3) เพื่อศึกษาการนำต้นแบบแอพพลิเคชั่นของระบบนวัตกรรมสำหรับการถอดองค์ความรู้ประเภทฝังลึกในองค์กรออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ วิธีการดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมคือเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการสนทนากลุ่มย่อยกับผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการความรู้จำนวน 24 ท่าน จาก 5 หน่วยงาน ผู้วิจัยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ATLAS ti ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณเป็นการสำรวจข้อมูลจากการบูรณาการคำถามเพื่อถอดองค์ความรู้โดยผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการความรู้จำนวน 26 ท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาการจัดการความรู้ ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย (ค่าเฉลี่ยเลขคณิตและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ต้นแบบที่พัฒนาขึ้นได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน และ 18 ท่าน ผ่านการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพหลังทดลองใช้แอพพลิเคชั่น ขั้นตอนสุดท้ายคือการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลค่าเฉลี่ยเลขคณิตและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากการสำรวจการยอมรับเทคโนโลยีกับผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นจำนวน 60 ท่านจากองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน จำนวน 6 หน่วยงาน ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาอุปสรรคในการจัดการความรู้และการถอดความรู้ฝังลึกในองค์กรคือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายองค์กร การขาดแรงจูงใจ การขาดความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ ขาดระบบสนับสนุนสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ การไม่ให้ความร่วมมือจากคนในองค์กร พฤติกรรมของคนและวัฒนธรรมในองค์กร ขาดการเตรียมคำถามในการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพที่ดี ความไม่ต่อเนื่องในการสัมภาษณ์ การแปลความของผู้ถูกสัมภาษณ์ที่ไม่ถูกต้อง และผู้สัมภาษณ์ขาดประสบการณ์ แอพพลิเคชั่นการถอดองค์ความรู้ประเภทฝังลึกในองค์กรนี้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (product innovation) ในการพัฒนาต้นแบบแอพพลิเคชั่นพบว่าคำถามหลักและคำถามรองเป็นส่วนประกอบหลักในกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผลจากการสำรวจการยอมรับเทคโนโลยีต้นแบบพบว่าผู้ใช้งานให้คะแนนในระดับสูง การนำต้นแบบแอพพลิเคชั่นออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วยการเลือกใช้สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าโดยไม่เด็ดขาด (non-exclusive licensing agreement) กลยุทธ์การกำหนดราคาเป็นแบบการใช้คุณค่าเป็นฐาน และรูปแบบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการจัดการความรู้


Measurement Of Organisational Innovativeness Of Public Agencies In Asean, Salinthip Thipayang Jan 2017

Measurement Of Organisational Innovativeness Of Public Agencies In Asean, Salinthip Thipayang

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

As public sector organisations strive to balance priorities to meet increasing public demands, they need to be more innovative and changes bureaucratic behaviors, administrative methods, and implementing new way of conducting routine work processes. This study combines both qualitative and quantitative empirical research methods with the objectives to 1) review how organisational innovativeness (OI) has been measured and identify the important factors affecting OI of public agencies, 2) develop and validate a suitable measurement framework model and indicators for measuring OI in ASEAN public agencies, 3) to create an online web-based application (POINTinno.com) to adequately measure OI, and 4) test …


นวัตกรรมเครื่องมือประเมินความยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคม, กัญจณ์ชญา ชัยวิรัตน์นุกูล Jan 2017

นวัตกรรมเครื่องมือประเมินความยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคม, กัญจณ์ชญา ชัยวิรัตน์นุกูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจไทยเป็นระบบทุนนิยม ซึ่งมีผลดีต่อการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมไปถึงการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม แต่อีกนัยหนึ่งระบบเศรษฐกิจแบบนี้ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย เนื่องจากเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยม เน้นการสร้างผลกำไรและสร้างรายได้สูงสุด โดยไม่ได้คำนึงถึงสังคมและสภาพแวดล้อมในระยะยาว ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดใหม่ทางเศรษฐกิจ คือ ระบบเศรษฐกิจที่เน้นให้ความสำคัญกับสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าระบบเศรษฐกิจเดิม โดยการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เรียกว่ากิจการเพื่อสังคม โดยเน้นความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์และระยะของการศึกษา 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ผู้วิจัยศึกษาปัจจัยและพัฒนาตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคมโดยทำการทบทวนวรรณกรรมและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ หลังจากนั้นผู้วิจัยได้ทำการทดสอบความเที่ยงตรงของตัวชี้วัดและเก็บข้อมูลจากกิจการเพื่อสังคมจำนวนทั้งสิ้น 401 กิจการ ผลการศึกษาพบว่า มีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยหลัก 7 ปัจจัย ได้แก่ 1. ความเป็นผู้นำ 2. การสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3. การสร้างคุณค่า 4. การจัดการนวัตกรรม 5. การจัดการทางการเงิน 6. การจัดการความรู้ 7. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้ง 7 ปัจจัยมีตัวชี้วัดย่อย 17 ตัวชี้วัด ที่ส่งผลถึงระดับศักยภาพและความยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคม ในระยะที่ 2 ผู้วิจัยนำผลที่ได้มาสร้างแบบจำลองและพัฒนาเป็นเครื่องมือการประเมินศักยภาพและความยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคม และได้นำเครื่องมือประเมินไปทำการทดสอบการยอมรับนวัตกรรมจากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 ราย ผลการศึกษาพบว่ามีการยอมรับ การเห็นถึงประโยชน์และมีความสนใจนำระบบนวัตกรรมนี้ไปใช้งาน ในระยะที่ 3 ผู้วิจัยทำการศึกษาการใช้ประโยชน์ของเครื่องมือการประเมินในเชิงพาณิชย์ โดยศึกษาในมิติของการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ความคุ้มค่าในการลงทุน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และสิ่งแวดล้อม แต่อย่างก็ดีการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคมยังประสบปัญหาหลักๆ คือ ปัญหาการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิและขยายตัวอย่างยั่งยืนได้ จึงนำไปสู่การศึกษาและพัฒนานวัตกรรมนวัตกรรมเครื่องมือประเมินความยั่งยืนของกิจการเพื่อสังคมในรูปแบบซอฟท์แวร์นี้ กิจการเพื่อสังคมสามารถนำไปใช้ในการประเมินศักยภาพในการดำเนินงานของตน หน่วยงานรัฐที่ดูแลสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมสามารถนำซอฟท์แวร์นี้ไปใช้ในการประกอบการให้คำปรึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมเหล่านี้ได้ และเสริมสร้างขีดความสามารถของกิจการเพื่อสังคม อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ


นวัตกรรมตัวแบบระบบการจัดการความรู้โดยใช้ฐานเว็บเชิงจินตทัศน์สำหรับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของไทย, กิตติชัย ราชมหา Jan 2017

นวัตกรรมตัวแบบระบบการจัดการความรู้โดยใช้ฐานเว็บเชิงจินตทัศน์สำหรับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของไทย, กิตติชัย ราชมหา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากทุนการศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต "100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" (The 100th Anniversary Chulalongkorn University Fund for Doctoral Scholarship) วัตถุประสงค์การวิจัยนี้เพื่อศึกษาการแสวงหา การถ่ายโอน และการรับรู้การถ่ายโอนความรู้ของการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีขั้น Pre-Incubation และ Early-Incubation และเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีการจัดการความรู้สำหรับนำ ไปใช้เชิงพาณิชย์ การทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยนี้มุ่งเน้นงานวิจัยและทฤษฏีที่เกี่ยวข้องคือ ทฤษฏีฐานทรัพยากร ทฤษฏีการจัดการความรู้ ทฤษฏีทุนสังคม และการทบทวนตัวแบบการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ประเภทการวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ 5 กรณีศึกษาได้แก่ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ม.สงขลาฯ มทส. ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ สวทช. ครอบคลุมมิติด้านผู้จัดการ ทีมงานและผู้ประกอบการ วิธีกำหนดตัวอย่างเป้าหมายคือ วิธีเจาะจงกลุ่มตัวอย่าง วิธีความสะดวก และวิธีสโนว์บอล และวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้น การเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมกลุ่มย่อย การวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธิวิเคราะห์เนื้อหาแบบทางตรงและแบบผลรวม ผลการศึกษาและข้อค้นพบใหม่ทางวิชาการ ขั้น Pre-incubation ด้านการแสวงหาความรู้ การถ่ายโอนความรู้ และการรับรู้การถ่ายโอนความรู้ ปรากฏข้อค้นพบใหม่ทั้งหมดคือ การแสวงหาความรู้มุ่งให้ความสำคัญความถี่เวลาและความรู้ประเภทธุรกิจ วิธีแสวงหาความรู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นหลักประโยชน์การแสวงหาเพื่อแลกเปลี่ยนจากวิทยากรและเพื่อนผู้ประกอบการรุ่นเดียวกัน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทรัพยากรตามยุทธศาสตร์ของพื้นที่บ่มเพาะ การถ่ายโอนความรู้เน้นความรู้ด้านธุรกิจแต่ไม่ครอบคลุมความรู้ประเภททรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี การถ่ายโอนความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อพัฒนาแนวคิดธุรกิจ เพื่อการถ่ายโอนความรู้จากผู้จัดการ วิทยากร และผู้ประกอบการรุ่นเดียวกัน การรับรู้การถ่ายโอนความรู้ประเภท Pre-business plan แหล่งถ่ายโอนโดยผู้จัดการ วิธีการถ่ายโอนความรู้โดยใช้วิธีฝึกอบรมในพื้นที่ ผลการศึกษาและข้อค้นพบใหม่ทางวิชาการ ขั้น Early-incubation เพื่อการเข้าถึงความรู้ด้านธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ หรือหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่ แหล่งการถ่ายโอนความรู้จากผู้ประกอบการรุ่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มโอกาสการถ่ายโอนความรู้ด้านเทคนิคจากผู้เชียวชาญในพื้นที่หน่วยบ่มเพาะ ผลการศึกษาเรื่องคุณลักษณะระบบเทคโนโลยีเพื่อจัดการความรู้เป็นข้อค้นพบใหม่ทั้งหมดในการนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ข้อเสนอแนะทางวิชาการ ควรมีการขยายขอบเขตการวิจัยเชิงปริมาณหรือผสมและขยายกลุ่มตัวอย่างการบ่มเพาะลักษณะอื่นเพิ่มนอกจากนี้นักวิจัยเสนอแนะภาคปฏิบัติเพื่อการศึกษาและพัฒนาระบบเทคโนโลยีจัดการความรู้โดยขยายขอบเขตครอบคลุมขั้นบ่มเพาะธุรกิจทั้งหมด


นวัตกรรมการประเมินความพร้อมทางการตลาดของผู้ประกอบการยุคดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย, พงศกร พิชยดนย์ Jan 2017

นวัตกรรมการประเมินความพร้อมทางการตลาดของผู้ประกอบการยุคดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย, พงศกร พิชยดนย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ระบบธุรกิจต้องปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แต่เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของวิสาหกิจเหล่านี้ให้การเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นก็ยังพบว่ามีข้ออุปสรรคเมื่อต้องเผชิญกับประสิทธิภาพทางการตลาดเมื่อต้องเข้าสู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจากผลการศึกษาในอดีต พบว่าจากความล้มเหลวทางธุรกิจนั้น มีสาเหตุหลักมาจากความไม่พร้อมทางการตลาดและการดำเนินงานทางการตลาดที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการ จึงนำไปสู่การศึกษาและพัฒนานวัตกรรมนี้การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์และระยะของการศึกษา 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาและพัฒนาตัวชี้วัดและแบบจำลองการประเมินความพร้อมทางการตลาดผู้ประกอบการโดยทำการทบทวนวรรณกรรมและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 2 ผู้วิจัยทำการทดสอบความเที่ยงของตัวชี้วัดและทดสอบแบบจำลองจากการเก็บข้อมูลจากวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 500 ราย ผลการศึกษาพบว่า มีองค์ประกอบซึ่งเป็นปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความเป็นผู้ประกอบการ 2. ด้านการจัดการกลยุทธ์เพื่อรองรับความพร้อมทางดิจิทัล ความมีนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ และ 3. ด้านการดำเนินงานทางการตลาดและการจัดการแบรนด์ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบซึ่งมีตัวชี้วัดย่อย 23 ตัวชี้วัดนี้ส่งผลถึงระดับความพร้อมทางการตลาดของวิสาหกิจ ในส่วนของระยะที่ 3 นั้น ผู้วิจัยนำแบบจำลองที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงแล้วมาทำการพัฒนานวัตกรรมการประเมินความพร้อมทางการตลาดผู้ประกอบการโดยการนำตัวชี้วัดที่ได้มาพัฒนาให้สามารถประเมินศักยภาพทางการตลาดของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดของการเรียนรู้แบบมีผู้สอน (Supervised Learning) ในระยะที่ 4 นั้น ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบการยอมรับนวัตกรรมจากกลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและภาคธนาคารจำนวน 5 ราย และวิสาหกิจจำนวน 25 ราย ผลการศึกษาพบว่ามีการยอมรับ เห็นถึงประโยชน์และมีความสนใจนำระบบนวัตกรรมนี้ไปใช้งาน ดังนั้นในการศึกษาระยะที่ 5 จึงทำการศึกษาการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยศึกษาในมิติของการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ความคุ้มค่าในการลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมไปถึงแผนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ นวัตกรรมการประเมินความพร้อมทางการตลาดของผู้ประกอบการในรูปแบบซอฟท์แวร์นี้ มีประสิทธิภาพในการประเมินระดับความพร้อมทางการตลาดของผู้ประกอบการในแง่มุมต่างๆ พร้อมทั้งสามารถแสดงรายงานในภาพรวมของความพร้อมทางการตลาดยุคดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ซึ่งวิสาหกิจสามารถนำซอฟท์แวร์นี้ไปใช้ในการประเมินความพร้อมทางการตลาดผู้ประกอบการของตนเอง หน่วยงานของรัฐซึ่งดูแล สนับสนุนกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถนำไปใช้ในการประกอบการให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเหล่านี้ได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจระดับประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในระดับโลกเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป


นวัตกรรมเครื่องสำอางไวท์เทนนิ่งครีมที่มีโกลด์นาโนและสารสกัดธรรมชาติโคจิกแอซิด, เกษม พยุหเดชาพิพัฒน์ Jan 2017

นวัตกรรมเครื่องสำอางไวท์เทนนิ่งครีมที่มีโกลด์นาโนและสารสกัดธรรมชาติโคจิกแอซิด, เกษม พยุหเดชาพิพัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอางไวท์เทนนิ่งครีมที่มีโกลด์นาโนและสารสกัดธรรมชาติโคจิกแอซิด เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการลดเมลานิน และทำให้ผิวหน้าขาว เป็นสารที่มาจากธรรมชาติ จากการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค พบว่ากลุ่มผู้ใช้ในประเทศไทยมักเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีสารเคมี ที่ช่วยให้ผิวหน้าขาวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีผลข้างเคียงตามมา เช่น เกิดผดผื่น ผิวแพ้ แดงอักเสบ และดำหมองคล้ำในที่สุด จากนั้นคณะวิจัยพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไวท์เทนนิ่งครีมที่มีโกลด์นาโนและสารสกัดธรรมชาติ โคจิกแอซิด เนื่องจากสารสกัดโคจิกแอซิด เป็นสารสกัดจากธรรมชาติมีความสามารถในการลดเมลานินบนผิวหนัง แต่มักสูญเสียประสิทธิภาพเมื่อสัมผัสอากาศและความร้อนในกระบวนการผลิต ดังนั้นผู้ผลิตจึงใช้สารสกัด โคจิกแอซิด ในปริมาณ 3-5% บางครั้งสูงเกินกว่าค่าที่กำหนด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองกับผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย ในการนี้ผู้วิจัยได้นำโกลด์นาโนพาร์ติเคิลมาช่วยในการนำสารสกัดโคจิกแอซิดซึมผ่านชั้นผิวหนัง จากการวิจัยพบว่าใช้สารสกัดโคจิกแอซิดในปริมาณที่น้อยลง เมื่อจากทดสอบที่ปริมาณ 1% 2% และ 3 % และพบว่าที่ปริมาณสารสกัดโคจิกแอซิด 2% ให้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดค่าเมลานินบนผิวหนัง จากอาสาสมัครจำนวน 5 ท่าน ที่ใช้ครีมที่มีโกลด์นาโนพาร์ติเคิลและสารสกัดโคจิก 2% บริเวณแขนซ้ายและขวา ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ งานวิจัยเครื่องสำอางไวท์เทนนิ่งครีมที่มีโกลด์นาโนและสารสกัดธรรมชาติโคจิกแอซิดนี้ สามารถนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ จึงควรนำออกสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบการขายเทคโนโลยีด้วยการให้อนุญาตใช้สิทธิ์ หรือ ด้วยการขายโกลด์นาโนพาร์ติเคิล (Raw material) ทั้งนี้ยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับสารสกัดจากธรรมชาติชนิดอื่นๆได้ ทำให้โอกาสที่จะเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในตลาดเครื่องสำอางและตลาดยารักษาโรค ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีโกลด์นาโนพาร์ติเคิลนั้นยังสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามความต้องการของตลาดโลก


นวัตกรรมน้ำมันเตากำมะถันต่ำจากการผสมน้ำมันไพโรไลซิสสาหร่ายขนาดเล็กและน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว, ศุภฤกษ์ อร่ามกิจโพธา Jan 2017

นวัตกรรมน้ำมันเตากำมะถันต่ำจากการผสมน้ำมันไพโรไลซิสสาหร่ายขนาดเล็กและน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว, ศุภฤกษ์ อร่ามกิจโพธา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

น้ำมันไพโรไลซิสจากสาหร่ายขนาดเล็กเป็นทางเลือกของเชื้อเพลิงหมุนเวียนที่สามารถนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เนื่องจากมีค่าความร้อนที่ดีและมีปริมาณกำมะถันต่ำ ส่วนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเชื้อเพลิงทดแทนที่มีราคาต่ำและเป็นขยะอันตรายที่มีการสนับสนุนให้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ จากที่องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศประกาศให้มีการใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ (กำมะถันน้อยกว่า 0.5% โดยน้ำหนัก) ในการขนส่งทางเรือ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 และการผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและกระบวนการในการผลิต ผู้วิจัยพบว่าการผสมน้ำมันระหว่างน้ำมันไพโรไลซิสจากสาหร่ายขนาดเล็กและน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว มีความเป็นไปได้ในการนำมาผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต ในงานวิจัยนี้เลือกน้ำมันไพโรไลซิสที่ผลิตจากสาหร่ายสไปรูลิน่าเนื่องจากการเก็บเกี่ยวที่ง่ายและได้ผลผลิตน้ำมันสูง โดยนำสาหร่ายแห้งมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิสด้วยเครื่องปฏิกรณ์ไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องขนาด 3 ลิตร และน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วได้จากโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วด้วยกระบวนการตกตะกอนและกรองเพื่อแยกน้ำและสิ่งปนเปื้อนออก น้ำมันทั้ง 2 ชนิดถูกผสมด้วยอัตราส่วน 100:0, 80:20, 50:50, 20:80 และ 0:100 เพื่อทำการทดสอบคุณสมบัติตามมาตรฐาน ISO 8217 ซึ่งเป็นมาตรฐานของน้ำมันเตาที่ใช้ในเรือขนส่ง
ผลการศึกษาที่ได้ พบว่าการผสมน้ำมันไพโรไลซิสจากสาหร่ายขนาดเล็กในอัตราส่วน 20% และน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วในอัตราส่วน 80% ซึ่งเรียกในงานวิจัยนี้ว่า MLB20 มีความเป็นไปได้ในการใช้ผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำในเชิงพาณิชย์มากที่สุด โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้ ความหนาแน่นที่ 15 องศาเซลเซียส 910.9 kg/m3 ความหนืดที่ 50 องศาเซลเซียส 87.26 mm2/s ปริมาณกำมะถัน 0.461% โดยน้ำหนัก ปริมาณขี้เถ้า 0.515% โดยน้ำหนัก ปริมาณน้ำ 4.1% โดยน้ำหนัก และค่าความเป็นกรด 5.4 mg KOH/g โดยพบว่า MLB20 มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ของ ISO 8217 ทั้งหมด ยกเว้นเพียงปริมาณขี้เถ้า ปริมาณน้ำและค่าความเป็นกรด ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาในงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ต่อไป