Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Architecture Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Landscape Architecture

Chulalongkorn University

2019

Articles 1 - 3 of 3

Full-Text Articles in Architecture

ทัศนคติต่อภูมิทัศน์ด้านการส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ, พีรพรรณ ธีรบุษยเวศย์ Jan 2019

ทัศนคติต่อภูมิทัศน์ด้านการส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ, พีรพรรณ ธีรบุษยเวศย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับภูมิทัศน์ธรรมชาติในฐานะที่มีส่วนในการช่วยฟื้นฟูจิตใจและส่งเสริมสุขภาวะนั้นเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สำหรับวิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบภูมิทัศน์ธรรมชาติที่สามารถส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ จากการบูรณาการแนวคิดและทฤษฏีทางจิตวิทยาสภาพแวดล้อมในทฤษฎีฟื้นฟูความใส่ใจ (The Attention Restoration Theory: ART) เข้ากับองค์ความรู้ทางภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งคือแนวความคิดเรื่องความพึงพอใจต่อภูมิทัศน์ (Landscape preference) ทั้งนี้กระบวนการวิจัยคือการประยุกต์นำเครื่องมือมาตรวัดทางจิตวิทยาเข้ามาใช้ทดสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อศึกษาคุณสมบัติในการส่งเสริมความรู้สึกถึงฟื้นคืนพลังของภูมิทัศน์ธรรมชาติ 3 แบบคือ ภูมิทัศน์ป่า ภูมิทัศน์ทุ่งหญ้า และภูมิทัศน์ริมน้ำ และความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเหนื่อยล้าทางจิตใจกับทัศนคติต่อภูมิทัศน์ธรรมชาติด้านการส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบภูมิทัศน์ให้สามารถรองรับการปรับตัวต่อปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคมต่อไป ผลการวิจัยสรุปว่า ลักษณะภูมิทัศน์ที่มีคุณสมบัติดีที่สุดในการส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลัง คือ ภูมิทัศน์ริมน้ำ และองค์ประกอบภูมิทัศน์ที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดคือ ต้นไม้ใหญ่ทรงร่มที่อยู่ริมน้ำ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างความเหนื่อยล้าทางจิตใจกับความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังในภูมิทัศน์แต่ละแบบนั้นยังไม่ชัดเจน แต่บางองค์ประกอบภูมิทัศน์ที่คัดเลือกมาใช้เป็นตัวแทนในการทดสอบมีความสัมพันธ์กับระดับความเหนื่อยล้าทางจิตใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า นอกจากองค์ประกอบที่มีคุณภาพที่ดีแล้ว การจัดองค์ประกอบยังมีความสำคัญต่อการส่งเสริมความรู้สึกถึงการฟื้นคืนพลังอีกด้วย


การจำแนกและวิเคราะห์ทัศนียภาพภูมิทัศน์แม่น้ำยมตอนบน กรณีศึกษาหมู่บ้านดอนชัยสักทอง อำเภอสอง จังหวัดแพร่, เจนจิรา ลิมะวิรัชพงษ์ Jan 2019

การจำแนกและวิเคราะห์ทัศนียภาพภูมิทัศน์แม่น้ำยมตอนบน กรณีศึกษาหมู่บ้านดอนชัยสักทอง อำเภอสอง จังหวัดแพร่, เจนจิรา ลิมะวิรัชพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภูมิทัศน์แม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ที่มีสายน้ำเป็นศูนย์กลาง โดยแม่น้ำเป็นสายน้ำที่ไหลตามพื้นผิวโลกมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตบกและน้ำ ซึ่งพลวัตของน้ำส่งผลต่อแม่น้ำทำให้เกิดความหลากหลายของผลผลิตที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และนิเวศบริการ การวิจัยมุ่งเน้นที่ชุมชนบ้านดอนชัยสักทองซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำยมตอนบนของประเทศไทย เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับภูมิทัศน์แม่น้ำ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อจำแนกองค์ประกอบและปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์แม่น้ำยมตอนบนและการรับรู้สภาพแวดล้อมที่นำมาสู่การวิเคราะห์ทัศนียภาพ โดยกระบวนการวิจัยประกอบไปด้วย การสอบถามมุขปาฐะ การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และการตีความทัศนียภาพจากภาพถ่ายที่เป็นเครื่องมือแสดงองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาของแม่น้ำยมตอนบนจากการตีความภาพ ผลการวิจัยพบว่าการเปรียบเทียบองค์ประกอบทางกายภาพของท้องถิ่นแม่น้ำยมตอนบนเกิดจากการรับรู้สภาพแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งจากลักษณะภูมิทัศน์ที่แตกต่างกันทำให้เกิดนิเวศบริการทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้แก่ ความเชื่อ ความรู้ในการใช้งานทรัพยากร การดำรงชีพและบรรทัดฐาน ที่อธิบายความสัมพันธ์ของการวิเคราะห์ทัศนียภาพ ในผลสรุปจากทัศนียภาพแสดงลักษณะภูมิทัศน์ที่โดดเด่น คือ หาดและแก่ง ที่สร้างให้เกิดความเข้าใจและอนุรักษ์ และใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการใช้ประโยชน์ภูมิทัศน์แม่น้ำยมตอนบน


การออกแบบและประโยชน์ตามหลักความยั่งยืนของสวนเกษตรดาดฟ้าในกรุงเทพมหานคร, ภควัฒน์ มีกุล Jan 2019

การออกแบบและประโยชน์ตามหลักความยั่งยืนของสวนเกษตรดาดฟ้าในกรุงเทพมหานคร, ภควัฒน์ มีกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

โครงการสวนเกษตรดาดฟ้า (Rooftop Urban Agriculture : RA) เป็นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหาร บนอาคารในพื้นที่เมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลก มีรูปแบบการปฏิบัติ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จุดมุ่งหมาย แนวทางการออกแบบ และประโยชน์ที่แตกต่างกัน งานวิจัยนี้ศึกษาการออกแบบ และประโยชน์ของโครงการสวนเกษตรดาดฟ้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย (1) ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติ สวนเกษตรดาดฟ้า เขตหลักสี่ (2) ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (3) สวนผักดาดฟ้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (4) โครงการพักอาศัย คอนโดมีเนียม ออนิกซ์ พหลโยธิน โดย ศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูล คัดเลือก และสำรวจพื้นที่ศึกษา สอบถามข้อมูลบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ และเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้ในเชิงข้อคำนึงในการออกแบบ และประโยชน์ที่เกิดขึ้น โดยใช้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ผลการวิจัยพบว่าโครงการสวนเกษตรดาดฟ้าในกรุงเทพมหานคร แบ่งได้เป็น สวนเกษตรดาดฟ้าที่ออกแบบมาพร้อมกับอาคาร และที่ต่อเติมในภายหลัง โดยประเด็นสำคัญในการพิจารณาพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย การเข้าถึงที่สะดวกเพื่อการดูแลในระยะยาว มีการกันลม และพรางแสงที่ดี สอดรับกับการใช้งานของตัวอาคาร ในเรื่องการก่อสร้าง สวนที่มีการออกแบบพร้อมกับตัวอาคารจะมีความสะดวกในการใช้งาน แต่สวนที่ต่อเติมในภายหลัง ก็เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมการเพาะปลูกน้ำหนักเบาที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ในด้านองค์ประกอบ ควรพิจารณาความเหมาะสมของภาพแวดล้อมอาคาร และพืชพรรณชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วย พืชผักระยะสั้น ไม้พุ่มขนาดเล็ก ไม้เลื้อย ไม้ต้นขนาดเล็ก ไม้ดอก วิธีการปลูกที่เหมาะสมกับขนาด และโครงสร้างอาคาร ในด้านการบำรุงรักษา ผู้จัดการโครงการจะต้องมีองค์ความรู้ในการบำรุงดิน การรดน้ำ การควบคุมคุณภาพผลผลิต และศัตรูพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดาดฟ้า ประโยชน์ด้านสังคมที่พบโดยเด่นชัดที่สุด คือ การเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในเรื่องการเกษตรให้คนเมือง เข้าใจที่มาของอาหาร และการเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่แสดงอัตลักษณ์ของชุมชน ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งในเรื่องความหลากหลายระบบนิเวศและพืชพรรณ การพัฒนาคุณภาพอากาศ การลดความร้อน การชะลอน้ำฝนในระดับเมืองจนถึงอาคาร ด้านเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ที่ต่อเนื่องจากด้านอื่น ๆ ทั้งการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาหาร ราคาอาหาร ค่าใช้ของจ่ายอาคารและครัวเรือน การเพิ่มตำแหน่งงาน การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงาน และเพิ่มการตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของพื้นที่ดาดฟ้าบนอาคารในเมือง