Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2017

Articles 1 - 18 of 18

Full-Text Articles in Entire DC Network

การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น: ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย, จิราภรณ์ ดำจันทร์ Jan 2017

การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น: ความล้มเหลวของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย, จิราภรณ์ ดำจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาในกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยของไทย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสารบนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ และการทำความเข้าใจการเมืองไทยผ่านแนวคิดการทำให้เป็นประชาธิปไตย แนวคิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แนวคิดการตั้งมั่นของประชาธิปไตย แนวคิดฉันทามติ และทฤษฎีชนชั้นนำ วิทยานิพนธ์นี้ศึกษากระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยไทยที่สำคัญ 4 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงแรกปี 2475 - 2490 สอง ระหว่างปี 2516 - 2519 สาม ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2540 - 2549 และสี่ ช่วงเวลาปี 2550 - 2557 ผลการศึกษาพบว่า ความล้มเหลวในกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยใน 4 ช่วงเวลานี้เกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นนำ ทั้งในฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีเจตนาที่จะสถาปนาและจรรโลงประชาธิปไตยให้ยั่งยืน ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ 2 กลุ่มหลักทำให้รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับไม่ได้รับฉันทามติและมักขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่การประนีประนอมในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเองส่งผลให้การออกแบบสถาบันทางการเมือง เช่น วุฒิสภาและองค์กรอิสระขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน นอกจากปัญหารัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองแล้วยังพบว่า ทั้ง 4 ช่วงเวลาที่ศึกษา ตัวแสดงทางการเมืองยังแสดงบทบาทเหนี่ยวรั้งแทนส่งเสริมการจรรโลงประชาธิปไตยอีกด้วย เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การไม่พร้อมรับผิดชอบและยอมรับการตรวจสอบ และการที่สังคมยอมรับบทบาทของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมือง โดยรวมแล้วพบว่า การขับเคี่ยวระหว่างพลังอนุรักษนิยมกับพลังที่ต้องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยในทุกช่วงเวลา มักจบลงด้วยชัยชนะของพลังอนุรักษนิยมในการร่างรัฐธรรมนูญและออกแบบสถาบันทางการเมืองเพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยม


ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ พ.ศ. 2544-2548, กุลนันทน์ คันธิก Jan 2017

ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ พ.ศ. 2544-2548, กุลนันทน์ คันธิก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การทำความเข้าใจถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยภายใต้แนวคิดการทูตเชิงรุกของรัฐบาลในช่วง พ.ศ. 2544-2548 จำเป็นที่จะต้องศึกษาบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น คือ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทโดยตรงในการนำนโยบายไปปฏิบัติ การศึกษาครั้งนี้ได้นำแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ การศึกษานโยบายสาธารณะ และแนวคิดด้านจิตวิทยามาปรับใช้ในการศึกษาบทบาทของรัฐมนตรีผู้นี้ ผลการศึกษาพบว่า ดร. สุรเกียรติ์ มีบทบาทใน 3 มิติสำคัญคือ 1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ผ่านการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคอื่นๆ 2) การดำเนินการทูตเชิงรุกด้วยการสร้างวาระและกรอบความร่วมมือใหม่ๆ ที่วางสถานะให้ประเทศไทยมีบทบาทนำ และ 3) การปรับกลไกของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในส่วนของการปรับวิสัยทัศน์ จุดยืนเชิงนโยบาย และกระบวนการทำงาน ให้มีบทบาทและการทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล การศึกษายังพบอีกด้วยว่าปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ ดร. สุรเกียรติ์ สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การต่างประเทศเชิงรุกได้นั้น เป็นผลจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจำ ที่ฝ่ายการเมืองมีบทบาทนำในกระบวนการกำหนดนโยบาย การได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญก็คือคุณลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ภูมิหลัง ความตื่นตัวและประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ รูปแบบและวิธีการทำงาน รวมถึงโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่ส่งเสริมต่อการทำงานด้านการต่างประเทศ


อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2521), ศิบดี นพประเสริฐ Jan 2017

อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2521), ศิบดี นพประเสริฐ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาบทบาทของอนุรักษนิยมไทยที่มีต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศในช่วง พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2521 อันเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเวทีระหว่างประเทศและในการเมืองไทย ทั้งนี้ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในของไทยอันเกิดขึ้นจากการขยายตัวของพลังฝ่ายขวาในการต่อต้านขบวนการนักศึกษาและขบวนการเคลื่อนไหวอื่นจำนวนมากในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคหลังการประกาศถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากเวียดนาม ทำให้รัฐอนุรักษนิยมไทยต้องหาทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาระบอบที่จะนำเสถียรภาพและความมั่นคงกลับคืนมา นั่นคือการตัดสินใจเลือกแนวทางการปรับนโยบายที่แตกต่างจากข้อเรียกร้องของขบวนการฝ่ายขวา โดยผลการศึกษาพบว่าอนุรักษนิยมไทยในบริบทของการกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้นไม่มีความเป็นเอกภาพ นั่นคือ มีทั้งอนุรักษนิยมที่มีบทบาทที่สำคัญในการปรับนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยการสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศอินโดจีน และอนุรักษนิยมที่เป็นฝ่ายขวา คือ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ และต่อต้านการปรับนโยบายต่างประเทศต่อประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด จึงอาจกล่าวได้ว่าอนุรักษนิยมฝ่ายขวาเป็นปัจจัยสร้างเงื่อนไขเร่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในของไทย และสามารถสั่นคลอนฐานะของรัฐบาลได้ แต่กลับไม่ได้มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ


การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและจีน, ธัญสุดา เทพกุล Jan 2017

การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย: กรณีศึกษาความสัมพันธ์ทางด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและจีน, ธัญสุดา เทพกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษานโยบายการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียโดยใช้กรณีศึกษาความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีน ระหว่างปี 2009 - 2015 โดยประยุกต์ใช้แนวคิดสัจนิยเชิงรุกของ จอห์น เมียร์ชไฮเมอร์ เป็นกรอบในการศึกษาร่วมกับแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ แนวคิดภูมิเศรษฐศาสตร์ และแนวคิดขั้วอำนาจ เพื่อเสนอว่า การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียเป็นการพยายามแสวงหาพันธมิตรและความอยู่รอดในช่วงเวลาที่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาลดลงและความสัมพันธ์กับตะวันตกเสื่อมถอย นับตั้งแต่สงครามจอร์เจียในปี 2008 ตลอดจนวิกฤตยูเครนในปี 2014 โดยใช้ทรัพยากรพลังงาน ได้แก่ น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ในเขตไซบีเรียตะวันออกและเขตตะวันออกไกลที่มีอยู่จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการผูกมิตรกับจีน ตลอดจนใช้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานเป็นทางไปสู่การขยายบทบาทและอิทธิพลในด้านตะวันออกเพื่อถ่วงดุลกับตะวันตก จากการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนถือเป็นความสำเร็จของการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซีย ดังปรากฎให้เห็นได้จากการเกิดระบบท่อขนส่งน้ำมันจากรัสเซียไปสู่จีนและไปยังชายฝั่งเอเชียแปซิฟิก และจากโครงการ Power of Siberia ในปี 2014 ที่ครอบคลุมถึงข้อตกลงซื้อขายแก๊สระหว่างรัสเซียกับจีนในระยะยาวและการก่อสร้างท่อขนส่งแก๊สธรรมชาติสายแรกจากรัสเซียสู่จีน และโครงการนี้ยังกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในทำนองเดียวกันกับประเทศในเอเชียตะวันออก การเกิดระบบท่อขนส่งดังกล่าวเป็นการรับประกันถึงความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาวของรัสเซียกับจีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก และทำให้รัสเซียสามารถถ่วงดุลการส่งออกพลังงานได้ทั้งสองฝั่งของโลก นอกจากนี้ความสัมพันธ์ด้านพลังงานกับจีนทำให้รัสเซียหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งกับตะวันตก สนับสนุนระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ และเป็นส่วนหนึ่งในการถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจากการใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ


ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์: ที่มา พลวัต และแนวโน้ม, ปานหทัย วาสนาวิจิตร์ Jan 2017

ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์: ที่มา พลวัต และแนวโน้ม, ปานหทัย วาสนาวิจิตร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความไม่มั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์โดยใช้แนวคิดความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) มากำหนดดัชนีความั่นคงด้านพลังงาน เพื่อนำเสนอให้เห็นประเด็นด้านความมั่นคงพลังงานของเมียนมาร์ในช่วง ค.ศ. 2010 - 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเมียนมาร์นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (Thein Sein) ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายด้านพลังงานคู่ขนานกับนโยบายด้านการลงทุนของประเทศ จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการหลั่งไหลของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในเมียนมาร์ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ทรัพยากรน้ำ และถ่านหิน เป็นต้น ผลจากการวิเคราะห์ความมั่นคงด้านพลังงานของเมียนมาร์ตามดัชนีความมั่นคงด้านพลังงานทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การมีพลังงานที่เพียงพอ (Availability) การเข้าถึงพลังงาน (Accessibility) การมีราคาพลังงานที่สามารถหาซื้อได้ (Affordability) และการยอมรับทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Acceptability) พบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้านพลังงานในช่วง ค.ศ. 2010 - 2015 ไม่ได้พัฒนาภาคพลังงานของเมียนมาร์อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากสถานการณ์ด้านพลังงานของเมียนมาร์ยังไม่มีความมั่นคงตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแต่ละดัชนี อาทิเช่น การผลิตพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ การมีโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายพลังงานที่ไม่ทั่วถึง และการขาดความโปร่งใสและไม่เป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการภาคพลังงาน เป็นต้น ซึ่งอาจเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ว่าเป็นพลวัตความไม่มั่นคงด้านพลังงานในเมียนมาร์


ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, ภัทร หวังกิตติกุล Jan 2017

ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย, ภัทร หวังกิตติกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการนำเสนอเนื้อหาเรื่อง "ผลกระทบของนโยบายประชานิยมแบบทักษิณที่มีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย" โดยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูล 2 รูปแบบคือ รูปแบบเอกสาร และ รูปแบบการสัมภาษณ์ ก่อนจะนำมาตรวจสอบ วิเคราะห์ และอธิบายเป็นผลการวิจัยของวิทยานิพนธ์นี้ ผลจากการวิจัยได้พบว่า นโยบายประชานิยมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชนชั้นกลางกับกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าด้วยเหตุผล 2 ประการคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจในอดีต และ ความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร อันนำไปสู่การแบ่งแยกกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย (กลุ่มคนชนชั้นรากหญ้า) และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย (กลุ่มคนชนชั้นกลาง) ทว่าด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยที่กลุ่มคนทั้งสองกลุ่มมีจำนวนที่แตกต่างกันมาก กลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าซี่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมจึงสามารถใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการปกป้องนโยบายประชานิยมที่พวกตนได้รับผลประโยชน์เอาไว้ ในขณะที่กลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยและได้รับผลกระทบจากนโยบายประชานิยมมิอาจใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าได้ กลุ่มคนชนชั้นกลางจึงหันไปร่วมมือกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ เช่น ทหาร ในการเข้ามายึดอำนาจการปกครองอันส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยสิ้นสุดลง สรุปผลการวิจัย นโยบายประชานิยมทำให้อำนาจทางการเมืองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าเพียงกลุ่มเดียวอย่างเด็ดขาด กลุ่มคนชนชั้นกลางซึ่งสูญเสียอำนาจทางการเมืองจึงตัดสินใจล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยลงด้วยการรัฐประหารใน พ.ศ.2557


กระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง, พรพรรณ ประดิษฐ์แท่น Jan 2017

กระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง, พรพรรณ ประดิษฐ์แท่น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อแสดงให้เห็นและอธิบายถึงความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของนโยบายที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 รัฐบาล การวิจัยประการแรกคือนโยบายที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 รัฐบาลไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ซึ่งความคล้ายคลึงกันของนโยบายของทั้ง 2 รัฐบาล เป็นมาจากการที่ทั้ง 2 รัฐบาลเลือกใช้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งผลให้เมื่อนโยบายดำเนินไปสู่ขั้นการนำไปปฏิบัติผู้เข้ารวมประกวดราคาส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลประยุทธ์มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้บริษัทธุรกิจกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีขนาดเล็กกว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาให้มากขึ้นจากการวิจัยพบว่าความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกับการที่บริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นผู้ดำเนินการสร้างในโครงการรถไฟทางคู่ฯ สะท้อนให้เห็นถึงการมีสถานะพิเศษของบริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่จึงส่งผลให้นโยบายในเรื่องดังกล่าวของทั้ง 2 รัฐบาลมีความคล้ายคลึงกัน การวิจัยประการที่สองคือความต่อเนื่องของระบบราชการในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางนโยบาย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงของฝ่ายบริหารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ตำแหน่งและบทบาทของฝ่ายข้าราชการยังคงเหมือนเดิม ส่งผลให้ฝ่ายข้าราชการสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายในช่วงของทั้ง 2 รัฐบาลไปในทิศทางที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่านโยบายการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นระหว่างช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลประยุทธ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น


พลวัตกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท : ความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง, ณัฐรุจ วงศ์ทางสวัสดิ์ Jan 2017

พลวัตกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท : ความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง, ณัฐรุจ วงศ์ทางสวัสดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ศึกษาพลวัตการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท โดยพยายามตอบคำถามสำคัญเหตุใดขบวนการแพทย์ชนบทจึงประสบความสำเร็จในการผลักดันการปฏิรูประบบสาธารณสุข และขบวนการแพทย์ชนบทมีพลวัตทางกรอบความคิด และการเคลื่อนไหวอย่างไร โดยงานชิ้นนี้ศึกษาผ่านกรอบแนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 3 แนวคิดได้แก่ แนวคิดการระดมทรัพยากร แนวคิดกระบวนการสร้างกรอบความคิด และแนวคิดโครงสร้างโอกาสทางการเมือง การเก็บข้อมูลใช้วิธีการวิจัยจากเอกสาร ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องจำนวน 33 คน ผลการวิเคราะห์พบว่าพลวัตกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาสำคัญ ช่วงแรก คือช่วงก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบทในปี พ.ศ.2521 ถึงช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 เป็นช่วงเวลาที่ขบวนการแพทย์ชนบทมีลักษณะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเชิงวิชาชีพ เคลื่อนไหวภายใต้โครงสร้างระบบราชการของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้กรอบความคิดการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำ ช่วงที่สอง คือช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ถึง ช่วงปี 2545 ขบวนการแพทย์ชนบทเปลี่ยนจากขบวนการเคลื่อนไหวเชิงวิชาชีพ มาเป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวปฏิรูประบบสาธารณสุขและพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ภายใต้กรอบความคิดการมีส่วนร่วม การกระจายทรัพยากรและอำนาจ โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน และพันธมิตรชนชั้นนำทางการเมือง ผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดโอกาสในการเคลื่อนไหวผลักดันการก่อตั้งองค์กรตระกูล ส.จนเป็นผลสำเร็จ และ ช่วงเวลาที่สาม ได้แก่ ช่วงพ.ศ.2545 จนถึง 2560 ซึ่งเป็นช่วงของการปฏิบัติการของเครือข่ายองค์กรตระกูล ส. ในฐานะเครือข่ายองค์กรในการระดมทรัพยากร เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้กรอบความคิดสุขภาวะ การกระจายทรัพยากรและอำนาจ ทำให้ขบวนการแพทย์ชนบทสามารถระดมทรัพยากรจากภาครัฐจำนวนมาก เพื่อนำมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการและเครือข่ายได้อย่างเป็นอิสระจากการฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง จนทำให้เกิดสภาวะการมีอำนาจอธิปไตยเชิงซ้อนขึ้นในโครงสร้างระบบสาธารณสุข ข้อเสนอหลักในงานชิ้นนี้ คือ การปรับตัวของกรอบความคิดและการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบท ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโอกาสทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการแพทย์ชนบทประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวผลักดันการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยมีลักษณะของการใช้การเข้าถึงชนชั้นนำทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการทางสังคมที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง


การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก, ติรัส ตฤณเตชะ Jan 2017

การรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์ก, ติรัส ตฤณเตชะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพลเมืองเดนมาร์กกับกระบวนการกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการของเดนมาร์ก ซึ่งทำการเก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก จากพลเมืองของเดนมาร์กในเมืองโคเปนฮาเก้นและเมืองฮอร์เซ่นส์ ใน 4 กลุ่มอาชีพ อันได้แก่ ข้าราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม และนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 48 คน ผลการวิจัยพบว่าลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรัฐสวัสดิการของพลเมืองเดนมาร์กที่สำคัญประกอบไปด้วย หนึ่ง ความรู้สึกร่วมของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สอง การให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม และสาม ลักษณะดุลยภาพของวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมและกลุ่มนิยม ซึ่งการที่พลเมืองเดนมาร์กรับรู้ถึงลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่างของตน จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อกระบวนกำหนดนโยบายรัฐสวัสดิการซึ่งพลเมืองเดนมาร์กได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้คุณค่าเชิงซ้อนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาจากเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐสวัสดิการมีความสอดคล้องกับลักษณะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพลเมืองเดนมาร์กเป็นอย่างยิ่ง


การลงทุนต่างประเทศจากประเทศกำลังพัฒนาในรัฐสังคมนิยม : ศึกษากรณีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติไทยในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, วิทวัส บูรณะ Jan 2017

การลงทุนต่างประเทศจากประเทศกำลังพัฒนาในรัฐสังคมนิยม : ศึกษากรณีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติไทยในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, วิทวัส บูรณะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศสังคมนิยม โดยเป็นการศึกษาบรรษัทข้ามชาติจากประเทศกำลังพัฒนาที่ไปลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment, FDI) ในรัฐสังคมนิยมโดยใช้กรณีศึกษาของบรรษัทข้ามชาติจากประเทศไทย ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และกลุ่มไทยซัมมิท (Thai Summit) ที่ไปลงทุนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม วัตถุประสงค์ต้องการทราบว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่มีตัวแสดงสำคัญคือบรรษัทข้ามชาติมีอิทธิพลหรือไม่อย่างไรในเวียดนาม และ ต้องการทราบว่าบรรษัทข้ามชาติไทยจะมีอิทธิพลในฐานะตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศในกรณีการลงทุนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามหรือไม่ อย่างไร การศึกษานี้ใช้วิธีการในเชิงคุณภาพโดยการศึกษาสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก 49 ท่าน ประกอบกับการศึกษาตำรา บทความ ตลอดจนสื่อสารมวลชนต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า เวียดนามไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่มีปัจจัยสำคัญคือ การเป็นรัฐเผด็จการคอมมิวนิสต์ การปลูกฝังค่านิยมตามแนวทางขงจี๊อ และค่านิยมรักชาติ เป็นเครื่องมือตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญ ในการสนับสนุนให้เวียดนามเป็นตัวแสดงที่มียุทธศาสตร์ และสามารถอยู่ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ ในมิติของการเป็นตัวแสดงทางการเมืองของบรรษัทข้ามชาติไทย ผู้วิจัยพบว่าในระยะเริ่มแรกของการเข้าไปลงทุน ซีพีมีฐานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศเนื่องจากการครอบครองเทคโนโลยีทางการเกษตร และจะมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเกษตรที่เวียดนามเผชิญอยู่ เอสซีจีไม่มีฐานะในการเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศจากปรัชญาการทำธุรกิจของบริษัท ขณะที่ไทยซัมมิทไม่มีบทบาทในฐานะตัวแสดงการเมืองระหว่างประเทศโดยการลงทุนของไทยซัมมิทนั้นได้ประโยชน์ในฐานะที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีอยู่แล้ว การดำเนินธุรกิจในระยะต่อมาพบว่าซีพีไม่มีฐานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศเนื่องจากปัญหาด้านการเกษตรในเวียดนามได้รับการแก้ไข เอสซีจีในเวียดนามไม่มีฐานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยตัวเอง แต่สามารถใช้ความเข้มแข็งในประเทศผลักดันนโยบายผ่านตัวแสดงทางเมืองของไทยได้ ในขณะที่การลงทุนของไทยซัมมิทยังคงเป็นไปในลักษณะเช่นเดิม


นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ Jan 2017

นโยบายของญี่ปุ่นต่อโครงสร้างอำนาจใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก: ศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกของญี่ปุ่น, กนกวรรณ เชาวกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP)​ ของญี่ปุ่น ค.ศ. 2013 โดยใช้แนวคิดการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร (Alliance) และแนวคิดการคานอำนาจ (Balance of Power) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญของการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีสมมติฐานว่า ญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพราะการที่สหรัฐฯ สามารถคงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกผ่านนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เป็นการคานบทบาทและอิทธิพลของจีนและกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ให้มีบทบาทครอบงำในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก จากการศึกษาพบว่า ญี่ปุ่นประกาศความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งรัฐบาลพรรค DPJ ต้องเผชิญกับการคัดค้านภายในประเทศและปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว ค.ศ. 2011 ทำให้ต้องเลื่อนการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP ออกไป แต่ในสมัยรัฐบาลพรรค LDP สามารถผลักดันข้อตกลง TPP และโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP จนสามารถประกาศให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมข้อตกลง TPP อย่างเป็นทางการได้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทั้งนี้พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลง TPP เนื่องด้วยญี่ปุ่นต้องการใช้ข้อตกลง TPP เป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยแสดงให้เห็นว่าระบบพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ โดยข้อตกลง TPP ช่วยสนับสนุนนโยบายการหันความสนใจมาสู่เอเชีย (Pivot to Asia) เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทในภูมิภาคต่อไป เพื่อสกัดกั้นการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP แต่ญี่ปุ่นยังคงผลักดันข้อตกลง TPP ในฐานะเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของตนต่อไป


โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน : กรณีศึกษาเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศบรูไนดารุสซาลาม, พิชญสุดา พลเสน Jan 2017

โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกับการแพร่ขยายของวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน : กรณีศึกษาเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนในประเทศบรูไนดารุสซาลาม, พิชญสุดา พลเสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแพร่ขยายตัวของเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนอเมริกันไปยังนานาประเทศ ถือเป็นกระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่มีประสิทธิภาพ และส่วนมากมีความสัมพันธ์กับกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมกับหลายประเทศทั่วโลก ผู้วิจัยได้เลือกกรณีศึกษาประเทศบรูไนดารุสซาลามเนื่องจากเห็นว่า เป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์เข้าถึงยาก สังคมค่อนข้างปิด เป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัดด้วยกฏทางศาสนา และยังมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้วิจัยจึงได้เข้าไปทำการวิจัยตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นในประเทศบรูไน โดยใช้วิธีวิจัยแบบลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแบบวิจัยจากการสังเกต การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และการตอบแบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า 1.) แมคโดนัลดาภิวัตน์ในบรูไน ไม่ใช่เป็นกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมแต่ถือเป็นพหุวัฒนธรรมในบรูไน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนมากชื่นชอบอาหารจานด่วนอเมริกันและมองว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการบริโภค ทางฝั่งผู้ผลิตก็พยายามปรับนโยบายทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ทำให้วัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกันสามารถผสมผสานและดำเนินร่วมกันได้ดีกับวัฒนธรรมท้องถิ่น 2.) กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในบรูไนค่อนข้างตรงข้ามทฤษฎีเดิม จากการสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคร้านแมคโดนัลด์ในกรุงบันดาเสรีเบกาวัน พบว่าคนค่อนข้างใช้ชีวิตแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร ใช้ร้านอาหารจานด่วนเหมือนร้านอาหารทั่วไป มีเมนูเฉพาะท้องถิ่นที่หารับประทานไม่ได้ในประเทศอื่น 3.) แบรนด์อาหารจานด่วนท้องถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมมากกว่าแบรนด์อาหารจานด่วนต้นตำรับอเมริกัน ตัดสินได้โดยความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่ยืนยันว่า ร้านอาหารจานด่วนท้องถิ่นสามารถใช้กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ได้ดีเหมาะสมกับชาวท้องถิ่นมากกว่าร้านอาหารจานด่วนอเมริกัน จนพวกเขาพึงพอใจในรสชาติ ราคา ปริมาณ และการเข้าถึงสถานที่ และ 4.) ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้มีอคติหรือต่อต้านกับวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน และไม่ได้รู้สึกว่าการบริโภคอาหารจานด่วนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม


การแปลงเปลี่ยนสถานภาพจากผู้สูญเสียไปสู่นักกิจกรรมสังคมของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ซารีฮาน สุหลง Jan 2017

การแปลงเปลี่ยนสถานภาพจากผู้สูญเสียไปสู่นักกิจกรรมสังคมของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ซารีฮาน สุหลง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการแปลงเปลี่ยน (Transformation) สถานภาพของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้สูญเสียมาสู่ นักกิจกรรมสังคม และระบุเงื่อนไขที่ที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวถูกดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงนักกิจกรรมได้ปรับเปลี่ยนตัวเองในระดับทัศนคติ พฤติกรรม และ วิถีชีวิต อันได้แก่การค้นพบศักยภาพของตัวเอง ทัศนคติต่อผู้อื่น และ การหันมาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นขณะที่ยังมีภาระดูแลครอบครัว เงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายทางสังคมในกระบวนการเยียวยา ที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน การรับฟังปัญหาของผู้อื่น และการเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญร่วมกัน เครือข่ายกิจกรรมเป็นทุนทางสังคมที่เอื้อให้ผู้หญิงผู้สูญเสียทำงานเพื่อส่วนรวมได้ (public sphere) ส่วนทุนทางสังคมดังเดิมอันได้แก่ ครอบครัวและเครือญาติช่วยประคับประคองชีวิตส่วนตัวและครอบครัว (private sphere) นอกจากนั้นผู้หญิงผู้สูญเสียสามารถแสดงบทบาททางสังคมได้มากน้อยแตกต่างกัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งก้าวไปสู่การสร้างพื้นที่สันติภาพ ขณะที่ส่วนหนึ่งทำงานเพื่อสร้างโอกาสการดำรงชีพ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเนื่องมาจากการมีทุนมนุษย์หรือศักยภาพและประสบการณ์ส่วนบุคคลไม่เท่ากันด้วย


การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์ Jan 2017

การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีจุดม่งหมายในการค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติ และท่าทีต่อปัจจัยดังกล่าวของรัฐบาลในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การศึกษาครั้งนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีวิจัยเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยต่างๆ และคำแถลงการณ์ของคณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยผลักดันที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ภายในประเทศ แรงงานข้ามชาติมีส่วนให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนภายนอกประเทศ เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก บังคับหญิงค้าประเวณี การใช้แรงงานทาสอันเชื่อมโยงไปสู่การค้ามนุษย์ ทำให้ถูกเพ่งเล็งโจมตี และได้รับแรงกดดันอย่างมากจากต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ท่าทีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยรัฐประหาร มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีความคล่องตัวในการใช้อำนาจได้อย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหา จึงให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นวาระเร่งด่วน อันนำไปสู่วาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการลดแรงกดดัน ทั้งจากภายในและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับในเรื่องการใช้อำนาจ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบบรรยากาศการค้าและการลงทุน ภายหลังการดำเนินงานตามนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ปรับเปลี่ยนโดยรัฐบาลนี้ ทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี 2559 ดีขึ้น ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ Tier 2 Watch List


ระบบเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง: เป้าหมายและผลลัพธ์ทางการเมือง, ณสดมภ์ ธิติปรีชา Jan 2017

ระบบเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง: เป้าหมายและผลลัพธ์ทางการเมือง, ณสดมภ์ ธิติปรีชา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่สะท้อนเป้าหมายทางการเมือง และ ได้นำมาสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างไร ในบริบทการเมืองไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ถึงปัจจุบัน โดยแบ่งการศึกษาเป็น 3 ประเด็นได้ แก่ (1) บริบททางการเมือง อันเป็นปัจจัยในการกำหนดเป้าหมายทางการเมือง (2) ระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง และ (3) ผลลัพธ์ทางการเมือง โดยใช้การศึกษาเชิงคุณภาพที่อาศัยการวิเคราะห์เอกสารเป็นหลัก หน่วยการศึกษาได้แก่ ระบบการเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้ง ผลการศึกษาพบว่า (1) บริบทการเมืองในช่วงเวลาต่างๆเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของผู้มีอำนาจในการกำหนดกติกาในช่วงเวลานั้น โดยได้ใช้ระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว (2) ระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้ต่างสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองที่ต้องการให้เป็นและผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (3) ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเสมอไป โดยปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเสียทั้งหมดที่สำคัญได้แก่ โลภาภิวัฒน์ กระแสการตื่นตัวทางประชาธิปไตย วัฒนธรรมการเมืองไทย อันเป็นพลวัตรภายในสังคมไทยเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่การเลือกตั้งในการเมืองไทยที่ยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ดังนั้นระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งจึงมีความสัมพันธ์ ในฐานะเครื่องมือของการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเมืองสืบเนื่องต่อมา ทั้งในรูปแบบที่บรรลุหรือไม่บรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้นๆ


รัฐราชการไทยภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557, ธนบรรณ อู่ทองมาก Jan 2017

รัฐราชการไทยภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557, ธนบรรณ อู่ทองมาก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเมืองไทยภายหลังการรัฐประการ พ.ศ. 2557นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2557 และการปรับตัวของการเมืองไทย ภายใต้กรอบแนวคิดว่าด้วย Bureaucratic polity หรือ รัฐราชการ โดยใช้การศึกษาเชิงคุณภาพ วิเคราะห์เอกสาร งานวิจัย โดยมีหน่วยการศึกษาคือ สถาบันทางการเมืองเป็นหน่วยในการศึกษาในฐานะตัวแสดงที่สำคัญในระบบการเมือง ผลการศึกษาพบว่า (1) การเมืองไทยภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีลักษณะเป็นการเมืองแบบรัฐราชการ โดยอาศัยระบบราชการเป็นตัวแสดงที่สำคัญในการบวนการนโยบาย ทั้งการเสนอนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ สถาบันภายนอกระบบราชการ พรรคการเมือง ภาคประชาชนจำกัดบทบาททำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ (2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ทำให้การกลับมามีบทบาทนำอีกครั้งของรัฐราชการ ไม่สามารถดำรงรูปแบบรูปเดิมได้ รัฐราชการภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 มีลักษณะที่สำคัญคือ 1) การใช้เครื่องมือทางรัฐธรรมนูญและกฏหมายเพื่อผนวกรัฐราชการให้อยูในโครงสร้างที่เป็นทางการของระบบและสถาบันทางการเมือง 2) มีการผนึกกำลังระหว่างรัฐราชการกับกลุ่มทุนใหญ่เพื่อเอื้อประโยชน์และค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน 3) ใช้พลังของระบบราชการฝ่ายทหารควบคุมระบบการเมืองโดยมีพลังของระบบราชการค่อยสนับสนุน


การปฏิรูปกฎหมายเงินบริจาคพรรคการเมือง : เปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่น, พงศกร ยาห้องกาศ Jan 2017

การปฏิรูปกฎหมายเงินบริจาคพรรคการเมือง : เปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่น, พงศกร ยาห้องกาศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการปฏิรูปกฎหมายเงินบริจาคแก่พรรคการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่นใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) เป้าหมายและกระบวนการ (2) มาตรการที่ใช้ (3) ผลลัพธ์ โดยใช้การศึกษาเชิงคุณภาพที่อาศัยการวิเคราะห์เอกสารเป็นหลักและสนับสนุนด้วยข้อมูลสถิติเงินบริจาคแก่พรรคการเมือง หน่วยศึกษา ได้แก่ กฎหมายควบคุมเงินบริจาคและข้อมูลเงินบริจาคของพรรคการเมืองในปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการศึกษาพบว่า (1) ไทยและญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปต่างกัน โดยการปฏิรูปของไทยต้องการสร้างความโปร่งใสและลดอิทธิพลของกลุ่มทุน ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการลดปริมาณเงินโดยรวมของการเลือกตั้ง ด้านกระบวนการพบว่า การปฏิรูปของไทยมีตัวแสดงที่มีส่วนร่วมน้อย โดยมักเป็นการตกลงระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในขณะที่ญี่ปุ่นมีการต่อรองระหว่างกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม (2) มาตรการควบคุมของไทยขาดความรอบคอบ แม้ว่าจะใช้การผสมผสานกันหลายมาตรการแต่ยังคงมีช่องว่างและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ส่วนมาตรการของญี่ปุ่นนั้นมีความรัดกุมและชัดเจน (3) ไทยและญี่ปุ่นประสบปัญหาการควบคุมเงินบริจาค โดยสาเหตุของไทยเกิดจากช่องว่างของกฎหมายและการขาดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายส่วนญี่ปุ่นเกิดจากขาดการควบคุมองค์กรจัดการเงินทุนและองค์กรโคเอ็นไกซึ่งทำให้นักการเมืองเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริจาคในตลาดมืด


ชาตินิยมไทยกับข้อพิพาทเรื่องดินแดน : ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ดาวราย ลิ่มสายหั้ว Jan 2017

ชาตินิยมไทยกับข้อพิพาทเรื่องดินแดน : ศึกษาเปรียบเทียบรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ดาวราย ลิ่มสายหั้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอิทธิพลของแนวคิดชาตินิยมต่อการใช้กำลังทหารในปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนของไทยในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2484 และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ศ.2551-2554 ว่ามีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรเนื่องจากในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม แนวคิดชาตินิยมมีอิทธิพลจนนำไปสู่สงครามอินโดจีนพ.ศ.2484 ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเพียงการปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการวิจัยเอกสารและนำแนวคิดชาตินิยมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวทางการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่าแนวคิดชาตินิยมมีอิทธิพลต่อการใช้กำลังทหารในปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนทั้งสองสมัยแตกต่างกันเนื่องจากเงื่อนไขภายในประเทศ คือ สภาพการเมืองภายในประเทศที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพอย่างมาก รัฐบาลสามารถควบคุมอำนาจการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในการใช้กำลังทหารผนวกดินแดนที่เป็นข้อพิพาทได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ออกมาคัดค้าน กอรปกับกลุ่มการเมืองชาตินิยมที่สนับสนุนมาตรการทางทหารเป็นตัวแสดงในอำนาจรัฐที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยตรงส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศมีทิศทางในการใช้กำลังทหารและนำไปสู่สงครามระหว่างประเทศในที่สุด ส่วนเงื่อนไขภายนอกประเทศ คือ การที่ประเทศคู่พิพาทกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงทางทหาร ดังเช่นกรณีที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีโจมตีในสงครามโลกครั้งที่สองได้เอื้อให้รัฐบาลไทยตัดสินใจใช้กำลังทหารและทำสงครามในปัญหาข้อพิพาทเนื่องจากรัฐบาลประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าประเทศไทยมีโอกาสชนะสงคราม ดังนั้นเงื่อนไขภายในประเทศและภายนอกประเทศข้างต้นส่งผลให้แนวคิดชาตินิยมแสดงบทบาทและมีอิทธิพลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจนยกระดับไปสู่สงครามระหว่างประเทศในที่สุด