Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

Chulalongkorn University

Publication Year

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Entire DC Network

การเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเล, ไพรินทร์ มากเจริญ Jan 2022

การเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเล, ไพรินทร์ มากเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องการเมืองเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ: การคุ้มครองทางสังคมในกิจการประมงทะเลนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ธรรมาภิบาลความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล และวิเคราะห์ผลของการดำเนินงานและการคุ้มครองทางสังคมต่อแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ แรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง จำนวน จำนวน 20 คน รวมทั้งการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในการตรวจแรงงานประมงทะเลรวมกับเจ้าหน้าที่รัฐ การเข้าร่วมประชุมการสัมมนาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่า 1) รัฐไทยมีพัฒนาการด้านนโยบายในการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเลเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและปัจจัยหลักที่รัฐให้ความสำคัญ ตั้งแต่การใช้นโยบายด้านความมั่นคง นโยบายการผ่อนผันให้ทำงานและนำแรงงานเข้าสู่ระบบกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จนกระทั่งปัจจุบันเป็นนโยบายภายใต้แรงกดดันจากภายนอก 2) การเมืองเรื่องธรรมาภิบาล ในช่วง พ.ศ.2558-2562 (ก่อนปลดใบเหลือง) กระบวนการบริหารจัดการร่วมกันเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีอำนาจไม่เท่ากัน รวมทั้งมีการเจรจาซึ่งหน้า มีความไว้วางใจ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน และความเข้าใจร่วมกันน้อย ทำให้ขาดความร่วมมือร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการประมงทะเล มีรูปแบบเป็น ‘ธรรมาภิบาลแบบสั่งการ’ (Directive Governance) คือ ภาครัฐเป็นผู้กำหนดทิศทาง การบังคับใช้กฎหมายและบริหารจัดการแรงงานผ่านนายจ้าง และยังคงไว้ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจและสั่งการแบบบนลงล่าง แต่ยังไม่สามารถสร้างระบอบที่เป็นกระบวนการตามแนวคิดธรรมาภิบาลความร่วมมือที่ทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำได้ ต่อมาในช่วง พ.ศ.2562 (หลังปลดใบเหลือง) - 2565 เป็นช่วงรัฐบาลแบบปกติ ภาครัฐมีการสร้างกลไกในการบริหารจัดการที่ส่อให้เห็นความมีธรรมาภิบาลความร่วมมือมากขึ้น โดยเฉพาะกรมสวัสดิการแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตัวอย่างของการรับฟังความคิดเห็นอันนำมาสู่การประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกันที่ชัดเจน เช่น กรณีประกันสังคม 3) ผลของการดำเนินงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล แม้จะมีพลวัตรในเชิงหลักการ เช่น การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานประมงทะเลโดยตรง แต่ยังคงมีปัญหาด้านการปฏิบัติใช้ เช่น กรณีการเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน ที่มีอุปสรรคในด้านเอกสาร และปัญหาข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังจากการดำเนินการของภาครัฐ


ทาสกลางทะเล: บทบาทของรัฐและนายทุนกับการขูดรีดแรงงานบนเรือประมงสัญชาติไต้หวัน, มาริสา สกุลชัย Jan 2020

ทาสกลางทะเล: บทบาทของรัฐและนายทุนกับการขูดรีดแรงงานบนเรือประมงสัญชาติไต้หวัน, มาริสา สกุลชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ไต้หวันเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พบปัญหาการค้าทาสกลางทะเล แรงงานจำนวนมากถูกกดขี่ และละเมิดสิทธิภายใต้ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมประมง ตั้งแต่กระบวนการจ้างงาน กลไกการผลิตจนได้สินค้าออกสู่ตลาด แม้ว่าภายหลังการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปปี 2016 เป็นต้นมา ไต้หวันจะมีการปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อจัดการกับปัญหาการใช้แรงงานบังคับ แต่ผลปรากฏว่าในปัจจุบันยังคงพบปัญหาการละเมิดสิทธิและขูดรีดแรงงานประมง สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษารูปแบบการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมงสัญชาติไต้หวัน และการดำเนินนโยบายรัฐที่ส่งผลต่อนายทุนและแรงงานประมงสมัยรัฐบาลไช่ อิงเหวินระหว่างปี ค.ศ.2016 – 2021 โดยใช้กรอบแนวคิดรัฐเสรีนิยมใหม่เพื่ออธิบายพฤติกรรมของรัฐในกระบวนการกดขี่แรงงานภายใต้ห่วงโซ่อุปทานโลกและใช้แนวคิดเรื่อง “ระยะทาง” มาอธิบายในมิติการเคลื่อนย้ายภายในห่วงโซ่การผลิต จากการศึกษาพบว่า รัฐมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดปัญหาการขูดรีดแรงงานประมงต่างชาติบนเรือประมงสัญชาติไต้หวัน ซึ่งมีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มทุนภายในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมประมงซึ่งอยู่ในพื้นที่ยกเว้นจากรัฐในการตรวจสอบและปราศจากกฎหมายควบคุม โดยใช้ช่องว่างด้านระยะทางทั้งในด้านเชิงกายภาพ เชิงความรู้ และเชิงกฎหมาย ในการละเมิดและกดขี่แรงงานประมงข้ามชาติเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์รัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุน


การเปลี่ยนปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นประเด็น “ความมั่นคง” ในประเทศไทย: การวิเคราะห์วัจนกรรม, สุทธิพงศ์ วรอุไร Jan 2018

การเปลี่ยนปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นประเด็น “ความมั่นคง” ในประเทศไทย: การวิเคราะห์วัจนกรรม, สุทธิพงศ์ วรอุไร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาการเปลี่ยนปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นประเด็นความมั่นคง: การวิเคราะห์เชิงวัจนกรรม ตั้งแต่ 2000-2018 พบว่าแรงผลักดันจากตัวแสดงในระดับระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การเปลี่ยนปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นประเด็นความมั่นคงในประเทศไทย โดยใช้ (1) วัจนกรรมประเภทบอกกล่าว เพื่อเปิดประเด็นวาระการค้ามนุษย์ในเวทีระดับระหว่างประเทศ ด้วยการกล่าวถ้อยความเพื่อระบุข้อเท็จจริงของปัญหาการค้ามนุษย์ (2) วัจนกรรมประเภทคำสั่ง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปทัสถานภายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปทัสถานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ (3) วัจนกรรมประเภทประกาศ เพื่อประกาศข้อกฎหมายหรือสถานะการค้ามนุษย์ของประเทศไทยในรายงานต่าง ๆ ที่ออกโดยตัวแสดงในระดับระหว่างประเทศ เช่น รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิป รีพอร์ต) ซึ่งเป็นลักษณะของการติดตามตรวจสอบการทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย มากไปกว่านั้น การรับวาระการค้ามนุษย์ของประเทศไทยส่งผลให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ตามสภาพปัญหาที่ถูกผลักดันเข้ามาจากภายนอกที่มีความแตกต่างกัน ได้แก่ ช่วงที่ 1 (2000-2007) เป็นการพิจารณาปัญหาการค้ามนุษย์ตามปรากฏการณ์ด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความมั่นคงจากตัวแสดงที่มิใช่รัฐ ช่วงที่ 2 (2008-2013) เป็นการพิจารณาปัญหาการค้ามนุษย์อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการค้ามนุษย์เพื่อการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน ช่วงที่ 3 (2014-2018) เป็นการพิจารณาปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การศึกษายังพบอีกว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อปัญหาการค้ามนุษย์โดยพิจารณาปัญหาตามสภาพบริบทระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสำคัญ โดยมีตัวแสดงในระดับระหว่างประเทศทำหน้าที่เปิดประเด็น หามาตรการบังคับ และติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทั้งนี้ การประกาศสถานะการค้ามนุษย์ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิป รีพอร์ต) และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ตามข้อเรียกร้องที่กำหนด โดยมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญในการเรียกร้องการปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ดังนั้น การพิจารณาการค้ามนุษย์ในมุมมองของรัฐไทยจึงให้ความสำคัญกับการเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนจากตัวแสดงในระดับระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยจะต้องรักษาสมดุลระหว่างการต่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในการบริหารประเทศยุคปัจจุบัน


การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์ Jan 2017

การปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, หฤทัย จงวัฒนบัณฑิตย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีจุดม่งหมายในการค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติ และท่าทีต่อปัจจัยดังกล่าวของรัฐบาลในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การศึกษาครั้งนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีวิจัยเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยต่างๆ และคำแถลงการณ์ของคณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยผลักดันที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ภายในประเทศ แรงงานข้ามชาติมีส่วนให้เกิดปัญหาอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนภายนอกประเทศ เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก บังคับหญิงค้าประเวณี การใช้แรงงานทาสอันเชื่อมโยงไปสู่การค้ามนุษย์ ทำให้ถูกเพ่งเล็งโจมตี และได้รับแรงกดดันอย่างมากจากต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศ จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ท่าทีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยรัฐประหาร มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีความคล่องตัวในการใช้อำนาจได้อย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหา จึงให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นวาระเร่งด่วน อันนำไปสู่วาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการลดแรงกดดัน ทั้งจากภายในและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศ เพื่อสร้างการยอมรับในเรื่องการใช้อำนาจ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบบรรยากาศการค้าและการลงทุน ภายหลังการดำเนินงานตามนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ปรับเปลี่ยนโดยรัฐบาลนี้ ทำให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในปี 2559 ดีขึ้น ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ Tier 2 Watch List