Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Buddhist Studies Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Publication Year

Articles 1 - 7 of 7

Full-Text Articles in Buddhist Studies

การศึกษาเปรียบเทียบติตถิยปริวาสกับการรับเข้าอุปสมบทในวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี, ปรีชา ทิวัฑฒานนท์ Jan 2022

การศึกษาเปรียบเทียบติตถิยปริวาสกับการรับเข้าอุปสมบทในวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี, ปรีชา ทิวัฑฒานนท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์และเปรียบเทียบติตถิยปริวาสในพระไตรปิฎกกับการรับเข้าอุปสมบทในวัดป่านานาชาติด้วยการศึกษาจากตัวบทและภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่า ประเพณีทั้งสองมีความมุ่งหมายคัดกรองบุคคลนอกพุทธศาสนาที่มีความตั้งใจจริง เคารพศรัทธาในพระรัตนตรัย มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในคณะสงฆ์ เพื่อเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ผู้ขออุปสมบทได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนและปรับตัวกับวิถีชีวิตของพระภิกษุด้วย ความแตกต่างสำคัญคือบุคคลที่เข้ามาอุปสมบทในวัดป่านานาชาติเป็นชาวต่างชาติซึ่งไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมพุทธศาสนาไทย กระบวนการรับเข้ามีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้และเคยชินกับการใช้ชีวิตตามแนวทางของวัดป่าในไทยซึ่งต้องอยู่อย่างเรียบง่าย ภายใต้อาณัติของพระอาจารย์ จึงต้องใช้ระยะเวลานานกว่าติตถิยปริวาสและไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของแต่ละบุคคล ขั้นตอนที่ซับซ้อนในวัดป่านานาชาติแสดงถึงการประยุกต์ประเพณีในพระไตรปิฎกและประเพณีไทยให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่ต้องการเข้ามาอุปสมบทได้ทดลองการใช้ชีวิตพระภิกษุในพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ของคณะสงฆ์และบุคคลที่ขออุปสมบทเอง


อาบัติในมุมมองของทฤษฎีทางทัณฑวิทยา, สมชาย จำปาทอง Jan 2022

อาบัติในมุมมองของทฤษฎีทางทัณฑวิทยา, สมชาย จำปาทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์อาบัติในภิกขุปาติโมกข์ตามหลักทฤษฎีทางทัณฑวิทยา 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีข่มขู่ยับยั้งและทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟู และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอาบัติและภาคีทั้ง 5 อันได้แก่ ชุมชนสงฆ์ ตัวพระภิกษุ เพื่อนพระภิกษุ คฤหัสถ์นอกคณะสงฆ์ และพระศาสนาตามวัตถุประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย 10 ประการ โดยศึกษาจากพระวินัยปิฎกและอรรถกถา ผลการศึกษาพบว่า การลงโทษตามพระวินัยคือการออกจากอาบัติ 3 ลักษณะ อันได้แก่ การพ้นจากสภาพความเป็นพระภิกษุ, การประพฤติวุฏฐานวิธี, และการแสดงอาบัติ สอดคล้องกับหลักการของทฤษฎีทั้งสองโดยที่แยกจากกันไม่ได้ การลงโทษตามทฤษฎีข่มขู่ยับยั้งถือว่าเป็นการตัดโอกาส, เป็นความยุ่งยากและความลำบาก, และการทำให้อับอายตามลำดับ ในขณะที่ในมุมมองของทฤษฎีแก้ไขฟื้นฟูถือว่าเป็นการพ้นจากภิกษุภาวะเพื่อดำรงอยู่ในสถานะอื่นที่เหมาะสม, การแยกตัวผู้ต้องอาบัติออกไปจากพระสงฆ์เพื่ออบรมและขัดเกลาจิตใจ, และ การสำนึกผิด อาบัติอาจพิจารณาให้เป็นทฤษฎีใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสำนึกของผู้ต้องอาบัติเป็นสำคัญ อาบัติเป็นโทษที่มุ่งข่มขู่พระภิกษุผู้ไม่ละอายให้อยู่ในกฎเกณฑ์ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน อาบัติก็เป็นวิธีการที่เอื้อประโยชน์ต่อพระภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชนจนถึงพระอรหันต์ให้ดำรงตนสอดคล้องกับธรรม ภาคีทั้ง 5 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากอาบัติมีบทบาทในการควบคุมความสำรวมในสิกขาบทและในอินทรีย์ของพระภิกษุ การศึกษาแสดงว่า การออกจากอาบัติเป็นการแก้ไขตนเอง เมื่อพระภิกษุต้องอาบัติ ต้องรีบออกจากอาบัติ


เรื่องเล่าราหูในสื่อสมัยใหม่ : การสร้างสรรค์และบทบาทในบริบทสังคมพุทธศาสนาไทย, ภัทรธรณ์ แสนพินิจ Jan 2019

เรื่องเล่าราหูในสื่อสมัยใหม่ : การสร้างสรรค์และบทบาทในบริบทสังคมพุทธศาสนาไทย, ภัทรธรณ์ แสนพินิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างสรรค์เรื่องเล่าราหูในสื่อสมัยใหม่และวิเคราะห์บทบาทในบริบทสังคมพุทธศาสนาไทย เรืองเล่าราหูในสื่อสมัยใหม่ที่ศึกษามีทั้งหมด 45 แหล่ง ทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือและนิตยสาร มี 17 แหล่ง และสื่อดิจิทัล ได้แก่ เว็บไซต์, เฟซบุ๊กและยูทูบ มี 28 แหล่ง ผลการศึกษาพบว่าเรื่องเล่าราหูในหนังสือรวบรวมเรื่องของราหูฉบับเต็มและเป็นแหล่งข้อมูลต้นตอของเรื่องเล่าราหูในสื่ออื่นๆ เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยอิงกับตำนานราหูจากวรรณคดีพราหมณ์-ฮินดู, วรรณคดีพุทธศาสนา และวรรณกรรมไทยด้วยกลวิธี 3 แบบ ได้แก่ (1) ตัดต่อ, (2) ปรับเปลี่ยนเนื้อหาโดยการดัดแปลงกับขยายความ และ (3)สร้างเรื่งอเล่าขึ้นใหม่ การตัดต่อคือการเลือกตำนานสำคัญเพื่ออธิบายภูมิหลังและชูบทบาทของราหูในเรื่องเล่า ได้แก่ ตอนกำเนิดเทพนพเคราะห์และตอนบุพกรรมกับพระอาทิตย์และพระจันทร์จากเฉลิมไตรภพ, พระพุทธเจ้าทรมานราหูจากจันทิมสูตรและสุริยสูตร ราหูฟังธรรมและได้รับพุทธพยากรณ์จากอรรถกถาโสณทัณฑสูตร การปรับเปลี่ยนเนื้อหาคือการดัดแปลงตำนานที่มีอยู่เดิมมาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้ราหูมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นเทพที่ควรได้รับการบูชาในพุทธศาสนา ตำนานที่ดัดแปลง ได้แก่ ตอนราหูดื่มน้ำอมฤตเพื่อแสดงว่าราหูมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และตอนที่ได้รับพุทธพยากรณ์ การสร้างขึ้นใหม่เป็นเล่าที่มาของสถานะความเป็นเทพของราหู และประสบการณ์บุคคลซึ่งไม่อิงกับตำนานที่มีอยู่เดิม ได้แก่ โชคลาภจากราหู และความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องราง เรื่องเล่าราหูในสื่อดิจิทัลมีพื้นที่จำกัดจึงมีเฉพาะตอนสำคัญ ได้แก่ กำเนิดและพงศ์พันธุ์, การลักดื่มน้ำอมฤต, การพบพระพุทธเจ้าและได้รับพุทธพยากรณ์, และการร่วมรจนาบทนะโม เรื่องเล่าราหูในสื่อสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญทำให้ตำนานราหูจากวรรณคดีศาสนาและวรรณกรรมไทยเป็นที่รู้จักในสังคมไทยปัจจุบัน ช่วยสร้างเสริมความมั่นใจของผู้บูชา รับรองหรือสนับสนุนการบูชาราหูทั้งในแง่อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และช่วยอธิบายรูปแทนและเครื่องรางพระราหูที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง รวมถึงพิธีทรงเจ้าซึ่งอ้างว่าราหูเข้าร่างทรงเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของตำนานเทพปกรณัมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูซึ่งเป็นพื้นฐานของตำนานเทวดาในพุทธศาสนาในการสร้างเรื่องเล่ารองรับความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีและวิญญาณในพุทธศาสนาปัจจุบัน


การอุทิศบุญในประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของไทย : ความสำคัญและคำอธิบายร่วมสมัย, พระมหาอนุกูล เงางาม Jan 2019

การอุทิศบุญในประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของไทย : ความสำคัญและคำอธิบายร่วมสมัย, พระมหาอนุกูล เงางาม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคติเรื่องการอุทิศบุญในประเพณีเกี่ยวกับชีวิตจากวรรณคดีพระพุทธศาสนาภาษาบาลีที่สำคัญ และพิธีกรรมความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติในปัจจุบัน วรรณคดีพระพุทธศาสนาที่ใช้ศึกษา ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา มิลินทปัญหา มาเลยยเทวัตเถรวัตถุ และมังคลัตถทีปนี ส่วนพิธีกรรมความเชื่อศึกษาจากบทกรวดน้ำที่ใช้ในพิธีและคำอธิบายของพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง 8 รูป ผลการศึกษาพบว่าพระไตรปิฎกมีความคิดเรื่องการอุทิศบุญจากการถวายทานแด่เทวดาหรือญาติผู้ล่วงลับ ในชั้นอรรถกถาเป็นต้นไป การอุทิศบุญถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งหลังจากการทำบุญใด ๆ ซึ่งผู้รับส่วนบุญจะต้องรับรู้และอนุโมทนา ในประเพณีไทย การอุทิศบุญอยู่ในช่วงที่พระภิกษุสงฆ์สวดอนุโมทนาบุญและผู้อุทิศบุญกรวดน้ำ บทกรวดน้ำที่ใช้ในประเพณีไทยมีเนื้อหาและความคิดสอดคล้องกับวรรณคดีพระพุทธศาสนาในชั้นอรรถกถา ส่วนคำอธิบายเรื่องการอุทิศบุญของพระภิกษุร่วมสมัยมีส่วนที่เหมือนและแตกต่างจากวรรณคดีพระพุทธศาสนา กล่าวคือ มีทั้งท่านที่อธิบายตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา, ท่านที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมโดยอาศัยประสบการณ์ทางจิต, และท่านที่ไม่ให้ความสำคัญกับการอุทิศบุญอันเป็นผลจากการเน้นคำสอนอื่นที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่าความคิดเรื่องการอุทิศบุญในสังคมไทยมีความหลากหลายในภาพรวม การอุทิศบุญยังคงมีความสำคัญในประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของไทย เป็นการบำเพ็ญกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับรวมไปถึงมิตรสหายที่รู้จัก เจ้ากรรมนายเวร ทั้งสรรพสัตว์ต่าง ๆ ในโลก จึงถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งที่ไม่จำกัดขอบเขตและให้ผลมาก


ลักษณะเด่นของตัวละครราวณะใน ปอุมจริยะ ของวิมลสูริ, บุณฑริกา บุญโญ Jan 2019

ลักษณะเด่นของตัวละครราวณะใน ปอุมจริยะ ของวิมลสูริ, บุณฑริกา บุญโญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปอุมจริยะของวิมลสูริเป็นวรรณคดีเรื่องรามายณะที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาเชนและมีอิทธิพลต่อรามายณะฉบับของศาสนาเชนฉบับอื่นที่แต่งขึ้นภายหลัง วรรณคดีเรื่องรามายณะของศาสนาเชนจัดอยู่ในวรรณคดีเรื่องเล่าประเภทปุราณะหรือจริตะ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวคิดศลากาปุรุษะซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับวีรบุรุษในศาสนาเชน วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาลักษณะเด่นของตัวละครราวณะในเรื่องปอุมจริยะ ซึ่งเป็นตัวละครปรปักษ์ของเรื่อง และศึกษาความสัมพันธ์ของแนวคิดทางศาสนาเชนที่มีต่อตัวละครราวณะ ผลการศึกษาพบว่าลักษณะเด่นของราวณะในปอุมจริยะแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ลักษณะเด่นด้านรูปลักษณ์, ลักษณะนิสัย, ลักษณะเด่นด้านความสามารถ และลักษณะเด่นด้านลบจากมุมมองของตัวละครอื่น ลักษณะเด่นเหล่านี้ของราวณะมีทั้งด้านดีและด้านร้าย สะท้อนมิติตัวละครที่เป็นมากกว่าตัวละครปรปักษ์ผู้ประพฤติแต่ความชั่ว แต่ยังมีลักษณะวีรบุรุษผู้ทรงคุณธรรมซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของราวณะในฐานะเชนศาสนิกผู้มีความภักดีต่อพระชินะ แนวคิดทางศาสนาเชนที่มีความสัมพันธ์ต่อตัวละครราวณะได้แก่แนวคิดทางจริยศาสตร์และแนวคิดเรื่องศลากาปุรุษะ กรอบแนวคิดทางจริยศาสตร์แบบเชนแสดงให้เห็นการสร้างตัวละครปรปักษ์ให้เป็นแบบอย่างของผู้ครองเรือนที่ไม่อาจรักษาอนุพรตไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และท้ายสุดเมื่อสิ้นชีวิตต้องตกนรกเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ ซึ่งเป็นภาพตรงกันข้ามกับตัวละครเอกคือพระรามผู้ประพฤติตามหลักศาสนาและตามหลักอหิงสา เมื่อถึงบั้นปลายของชีวิตก็ได้ออกบวชบำเพ็ญตบะจนบรรลุความหลุดพ้น ในขณะที่กรอบแนวคิดเรื่องศลากาปุรุษะมีอิทธิพลในการดัดแปลงบทบาทของตัวละครให้ต่างออกไปจากรามายณะฉบับของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามแนวคิดศลากาปุรุษะ ราวณะเป็นประติวาสุเทวะซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับพระลักษมณ์ผู้เป็นวาสุเทวะ ประติวาสุเทวะจะถูกวาสุเทวะสังหารด้วยจักรของตนเอง ส่วนพระรามเป็นพลเทวะผู้ประพฤติอหิงสาและจะบรรลุความหลุดพ้น ในขณะที่ทั้งวาสุเทวะและประติวาสุเทวะจะต้องตกนรกเพราะกรรมที่ได้กระทำไว้ จึงนับได้ว่ากรอบแนวคิดทั้งสองข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปอุมจริยะเป็นรามายณะของศาสนาเชนอย่างแท้จริง


คัมภีร์ตรีนิสิงเห : การตรวจสอบชำระและบทบาทในสังคมไทย, ณัฐธัญ มณีรัตน์ Jan 2017

คัมภีร์ตรีนิสิงเห : การตรวจสอบชำระและบทบาทในสังคมไทย, ณัฐธัญ มณีรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิชาเลขยันต์เป็นสิ่งสำคัญของการศึกษาไสยศาสตร์ในประเทศไทย เลขยันต์มีบทบาทในวิถีชีวิตของผู้คนจากอดีตถึงปัจจุบัน การศึกษาวิชาไสยศาสตร์แบบโบราณ ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาคัมภีร์ลบผงเป็นอย่างแรก เริ่มต้นด้วยคัมภีร์ปถมัง จากนั้นจึงศึกษาคัมภีร์ลบผงสำคัญอีก 4 คัมภีร์ เนื่องจากคัมภีร์ลบผงเป็นบาทฐานสำคัญในการเข้าใจระบบเลขยันต์ คัมภีร์ตรีนิสิงเหเป็นหนึ่งในคัมภีร์ลบผงสำคัญทั้ง 5 คัมภีร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเลข การแทนค่าตัวเลขและที่มาของตัวเลขต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจเลขที่ใช้ในระบบเลขยันต์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง คัมภีร์ตรีนิสิงเหเป็นคัมภีร์ที่หลงเหลือต้นฉบับอยู่น้อยที่สุด การสืบทอดองค์ความรู้ก็เหลืออยู่น้อยเช่นกัน การตรวจชำระต้นฉบับจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรักษาองค์ความรู้ไว้ไม่ให้สูญหาย คัมภีร์ตรีนิสิงเหประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วน คือ บทนมัสการครู การทำอัตราทวาทสมงคล ที่มาของอัตราทวาทสมงคล การคูณหารอัตราทวาทสมงคลและอุปเท่ห์ ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้คัดเลือกต้นฉบับคัมภีร์ตรีนิสิงเหจำนวน 6 สำนวนมา ปริวรรตและตรวจสอบชำระ เพื่อศึกษาลักษณะภาษา เนื้อหา โครงสร้างและแนวคิดสำคัญในเนื้อหา โดยเฉพาะแนวคิดทางพุทธศาสนา และบทบาทสำคัญที่มีต่อสังคมไทย คัมภีร์ตรีนิสิงเหไม่เพียงประกอบด้วยแนวคิดเกี่ยวกับศาสนา แต่ยังมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ด้านวิทยาการความรู้โบราณ ด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านสังคมและวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของคัมภีร์ตรีนิสิงเหต่อสังคมไทย และความจำเป็นในการศึกษาและอนุรักษ์องค์ความรู้ของคัมภีร์นี้เอาไว้


วัจนลีลาในร้อยกรองของพาณะ, นาวิน โบษกรนัฏ Jan 2017

วัจนลีลาในร้อยกรองของพาณะ, นาวิน โบษกรนัฏ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

พาณะเป็นกวีสันสกฤตในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 ผู้มีชื่อเสียงจากการประพันธ์ร้อยแก้วเรื่องกาทัมพรีและหรรษจริต แต่งานร้อยกรองของพาณะยังไม่มีผู้ใดศึกษา รวมทั้งยังมีร้อยกรองอีกจำนวนหนึ่งที่เชื่อกันว่าอาจเป็นผลงานของพาณะแต่ก็มิอาจระบุผู้แต่งได้อย่างชัดเจน วิทยานิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษาวัจนลีลาในร้อยกรองของพาณะตามแนววัจนลีลาศาสตร์และทฤษฎีรีติ และนำวัจนลีลาที่ได้มาวิเคราะห์บทประพันธ์ร้อยกรองที่มีปัญหาผู้แต่งว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นผลงานของพาณะ ข้อมูลที่นำมาศึกษาจึงประกอบด้วยร้อยกรองกลุ่มที่ยอมรับกันว่าเป็นของพาณะโดยไม่มีข้อขัดแย้ง และร้อยกรองที่มีปัญหาผู้แต่งอีก 68 บท ผลการศึกษาพบว่า ร้อยกรองของพาณะมีวัจนลีลาที่โดดเด่น ได้แก่ การใช้ยมกขนาดสั้น การใช้อนุปราสะอย่างแพรวพราว เศลษะ การวางคำกริยาไว้ข้างหน้าบาท สมาสยาว ประโยคยาว การใช้ฉันท์ที่สอดคล้องกับความหมายของบทประพันธ์ และการข่มผู้อื่น สอดคล้องกับวัจนลีลาในร้อยแก้วที่เคยมีผู้ศึกษาไว้แล้ว ถึงแม้ว่าวัจนลีลาเหล่านี้บางประการอาจพบในผลงานของกวีร่วมสมัยคนอื่นด้วย แต่งานร้อยกรองของพาณะก็มีลักษณะโดดเด่นที่ไม่พบในงานของกวีร่วมสมัย ได้แก่ การใช้เศลษะที่แปลได้ 3 ความหมาย การใช้ประพันธสรรพนามตัวเดียวในบทประพันธ์ และการข่มผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม การวิเคราะห์วัจนลีลาดังกล่าวทำให้เข้าใจลีลาภาษาของพาณะได้ชัดเจนตรงกับความเป็นจริงมากกว่าการใช้ทฤษฎีรีติซึ่งเกิดขึ้นทีหลังงานประพันธ์ของพาณะและมุ่งเน้นวิเคราะห์และจัดกลุ่มลีลาการใช้ภาษาให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อนำวัจนลีลาที่ได้มาวิเคราะห์ร้อยกรองที่มีปัญหาผู้แต่งทั้ง 68 บท ผลปรากฏว่า ร้อยกรองเหล่านี้อาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม เรียงตามลำดับความสอดคล้องกับวัจนลีลาดังกล่าวจากมากไปหาน้อย กล่าวคือ มีร้อยกรองจำนวน 6 บทที่มีความเป็นไปได้มากว่าจะเป็นผลงานของพาณะเนื่องจากมีลักษณะภาษาตรงกับวัจนลีลาที่วิเคราะห์ได้จากร้อยกรองของพาณะเป็นอย่างมาก ส่วนร้อยกรองอีก 34 บทมีความเป็นไปได้พอสมควรที่จะเป็นร้อยกรองของพาณะ เพราะวัจนลีลาค่อนข้างตรงกัน ขณะเดียวกันก็มีร้อยกรองจำนวน 26 บทที่เป็นไปได้น้อยว่าจะเป็นงานของพาณะ เพราะ วัจนลีลาตรงกันน้อย นอกจากนี้ยังมีร้อยกรองอีก 2 บทที่สรุปไม่ได้ว่าเป็นผลงานของพาณะ จากการศึกษาทำให้เห็นว่า ลีลาภาษาของกวีนับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ลีลาในร้อยกรองที่ไม่มีปัญหาผู้แต่งสามารถนำมาเป็นเครื่องมือช่วยพิสูจน์ร้อยกรองที่มีปัญหาเรื่องผู้แต่งได้ และอาจแก้ข้อสงสัยในประวัติวรรณคดีสันสกฤตได้ในระดับหนึ่ง