Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Theatre and Performance Studies

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 7 of 7

Full-Text Articles in Arts and Humanities

การจัดการแสดง แสง เสียง ชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย”, วิลาสินี น้อยครบุรี Jan 2017

การจัดการแสดง แสง เสียง ชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย”, วิลาสินี น้อยครบุรี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง การจัดการแสดง แสง เสียง ชุด "พนมรุ้งมหาเทวาลัย" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการจัดการแสดงแสง เสียง ชุด "พนมรุ้งมหาเทวาลัย" ในประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปี พ.ศ. 2559 การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีดำเนินการวิจัยด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร วารสาร หนังสือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการลงภาคสนามเพื่อสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่าการแสดงแสง เสียง ในประเทศไทยเกิดจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 โดยกรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดการแสดงแสง เสียง ชุด "รุ่งอรุณแห่งความสุข" ขึ้นที่จังหวัดสุโขทัย กิจกรรมดังกล่าวจึงได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายรวมถึงจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งในขณะนั้นนายพร อุดมพงษ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) มีความคิดริเริ่มให้จัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งขึ้นส่งผลให้เกิดการแสดงแสง เสียง ชุด "พนมรุ้งมหาเทวาลัย" ในปี พ.ศ. 2534 จัดแสดง ณ สถานที่จริง เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ความเป็นมาการสร้างปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีประพันธ์บทละครขึ้นใหม่ผ่านการแสดงของตัวละครโดยใช้กระบวนท่าที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างธรรมชาติ (กำแบ) และกระบวนท่ารำที่นำท่ารำมาตรฐานแบบหลวงผสมผสานกับท่าที่เลียนแบบจากภาพจำหลัก และการใช้ลิปซิ้ง (Lip - synch) ในการเล่าเรื่องราว รวมถึงดนตรี เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่สื่อถึงเชื้อชาติและวัฒนธรรมอีสานใต้ รูปแบบการเข้า – ออก มีทั้งการทำท่านิ่งในตำแหน่งของตนและการเคลื่อนที่เข้า – ออก จากเวที นอกจากนี้ยังมีระบำในการแสดงจำนวน 2 ชุด และการรำเดี่ยวอีก 2 ชุด ประกอบการนำนวัตกรรมแสง สี เสียง และเทคนิคพิเศษเข้ามาในการแสดงทุกฉาก เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1) ตลอดจนได้รับความอนุเคราะห์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบันคุณจเร สัตยารักษ์ และคุณธารณา คชเสนี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงโดยจัดตั้งเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาดำเนินงาน จึงถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญในประเพณีประจำจังหวัดและดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน


การศึกษาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสสำหรับผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึม, ชนัตถ์ พงษ์พานิช Jan 2017

การศึกษาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสสำหรับผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึม, ชนัตถ์ พงษ์พานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์วิธีการแสดงของนักแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสที่เหมาะสมและสามารถเพิ่มปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้ชมวัยเด็กที่มีภาวะออทิซึมกับนักแสดงได้ เนื่องจากละครลักษณะนี้ยังไม่เคยมีผู้ใดพัฒนามาก่อนในประเทศไทย ผู้วิจัยจึงต้องออกแบบและคิดค้นกระบวนการนำเสนอละครเวทีประสาทสัมผัสก่อน จากนั้นจึงคิดค้น พัฒนาวิธีการแสดงในละครเวทีประสาทสัมผัสขึ้นโดยประยุกต์จากเทคนิคการแสดงแบบด้นสดและแนวทางการบำบัดรักษาแบบซันไรส์ ต่อจากนั้นได้นำวิธีการแสดงที่ได้ออกแบบขึ้นมาใช้ทดลองทำงานกับนักแสดง-กระบวนกร 4 คน จัดแสดงจริงกับผู้ชมกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะออทิซึมจำนวน 10 คน ช่วงอายุ 4 – 18 ปี ละครเวทีประสาทสัมผัสในงานวิจัยชิ้นนี้ชื่อว่า "สวนมีสุข" เป็นละครที่ออกแบบให้ผู้ชมที่มีภาวะออทิซึมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องราวและตัวละครในจินตนาการ บทที่ใช้ในการแสดงดัดแปลงมาจากนิทานภาพเรื่องกบแฮรี่ผู้หิวโหย ประกอบกับการเลือกใช้กิจกรรมละครสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ผู้วิจัยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การแสดงให้เป็นสวนเล็กๆที่มีอยู่ในนิทานภาพ ผู้วิจัยได้สร้างเงื่อนไขและจัดลำดับกิจกรรมให้ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างได้ปฏิบัติ เล่นเป็นตัวละคร ร้องเพลง และสำรวจประสาทสัมผัสของตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆในโรงละครตามความสนใจ กลุ่มตัวอย่างจะได้ชมละครเวที ความยาว 50 – 60 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่อง 4 – 6 สัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์จะพัฒนาเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในการทดลองจัดแสดงแต่ละสัปดาห์ ผู้วิจัยได้นำปัญหาที่พบและการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญมาปรับวิธีการแสดงที่ได้สังเคราะห์ขึ้นให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลได้แก่ 1) บันทึกการทำงานของผู้วิจัย 2) บันทึกปฏิสัมพันธ์เชิงบวกของผู้ชมขณะชมการแสดง 3) บทสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ปกครองของกลุ่มตัวอย่าง 4) บทสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญด้านละครบำบัดที่ได้ชมวีดีโอบันทึกภาพการแสดง เมื่อได้พัฒนาและปรับปรุงวิธีการแสดงในแต่ละสัปดาห์แล้ว ผู้วิจัยได้เรียนรู้ว่าการเป็นนักแสดงในละครสำหรับผู้ชมที่มีภาวะออทิซึมนั้น นักแสดงจะต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารกับผู้ที่มีภาวะออทิซึม เข้าใจลำดับกิจกรรมต่างๆ และเข้าใจบริบทของผู้ชมเป็นอย่างดี นักแสดงจะต้องมีพลังหรือคลื่นความคิด ความรู้สึกภายในที่เข้มข้นแต่แสดงออกอย่างสงบเพื่อลดการกระตุ้นเร้าผู้ชมและช่วยให้ผู้ชมสามารถจดจ่อกับการแสดงได้ นักแสดงต้องอยู่กับปัจจุบันในขณะแสดงและมีสมาธิในการสื่อสารกับผู้ชมในรายบุคคล นักแสดงจะต้องมองเห็น ได้ยิน และรับรู้ผู้ชมอย่างชัดเจนเพื่อจะสามารถสังเกตการสื่อสารทางกายของผู้ชมและสื่อสารตอบกลับได้อย่างเหมาะสม วิธีการแสดงที่ได้พัฒนาขึ้นทำให้เกิดตัวละครที่ให้อิสระและเป็นมิตรกับผู้ชม สร้างความไว้วางใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชม ตัวละครจะเป็นแกนนำที่พาผู้ชมไปสู่โลกของจินตนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลการสังเกตปฏิสัมพันธ์ในโรงละครพบว่า ผู้ชมกลุ่มตัวอย่างมีปฏิสัมพันธ์และพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นในหลายกรณี จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองพบว่ามีหลายกรณีที่ผู้ชมแสดงสัญญาณของความสุขและความต้องการชมละคร


การแสดงนาฏยศิลป์ในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วุฒิชัย เรืองศักดิ์ Jan 2017

การแสดงนาฏยศิลป์ในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วุฒิชัย เรืองศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประวัติ และรูปแบบการแสดงในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ มีขอบเขตการศึกษา คือ การแสดงนาฏยศิลป์ในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ ปี พ.ศ.2530-พ.ศ.2559 โดยใช้การรวบรวมเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้แสดง การสังเกตการณ์และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ถึงประวัติและรูปแบบการแสดง จัดเรียงองค์ความรู้ สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานวิจัยตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า งานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ เป็นงานที่อยู่ภายใต้โครงการดนตรีไทย-ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จัดตั้งโครงการฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2528 จากการอนุมัติโดยที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ด้านประวัติศาสตร์ หลักการบรรเลง โน้ตเพลง อีกทั้งการจัดสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ตั้งแต่แรกเริ่มจัดตั้งโครงการฯ โดยพระราชทานข้อวินิจฉัย ติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดจนทรงร่วมฝึกซ้อมและทรงร่วมบรรเลงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบสถาปนาจุฬาฯ รูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ที่พบในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ เป็นรูปแบบของนาฏยศิลป์แบบราชสำนัก ได้แก่ 1.การแสดงนาฏศิลป์จากบทพระนิพนธ์ของของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ละครภาพนิ่ง, ระบำในละครดึกดำบรรพ์, ละครดึกดำบรรพ์) 2.การแสดงนาฏศิลป์จากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์ (ละครภาพนิ่ง, ระบำในละครดึกดำบรรพ์) 3.การแสดงระบำทั่วไป (ระบำมาตรฐาน, ระบำสัตว์, ระบำในละครพันทาง) และรูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ ได้แก่ 1.การแสดงพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2.การแสดงระบำในโอกาสสำคัญ และเทิดพระเกียรติ ซึ่งรายการแสดงในแต่ละปีจะจัดรายการแสดงโดยเป็นไปตามพระราชวินิจฉัยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมติที่ประชุมของคณะกรรมการจัดงาน


การรำหน้าพาทย์เพลงตระโขนพระ, จักราวุธ คงฟู Jan 2017

การรำหน้าพาทย์เพลงตระโขนพระ, จักราวุธ คงฟู

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง การรำหน้าพาทย์เพลงตระโขนพระ ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ประวัติความเป็นมากระบวนท่ารำตามหลักสูตรและการนำความรู้ไปใช้ ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร หนังสือ ตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การฝึกปฏิบัติจากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า หน้าพาทย์เพลงตระ หมายถึง เพลงที่ใช้ประกอบกิริยาของตัวละครที่แสดงถึงการตระเตรียม การใช้อิทธิฤทธิ์ การบริกรรมพิธี มีหลักฐานปรากฏเพลงหน้าพาทย์นี้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พบว่ามี 8 เพลง ได้แก่ ตระนิมิต ตระนอน ตระบรรทมไพร ตระนารายณ์ ตระเชิญ ตระสันนิบาต ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตระบองกัน ผู้ที่รำเพลงหน้าพาทย์ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในการรำเป็นอย่างดี เพราะต้องเข้าใจความหมายของเพลงและฟังจังหวะ ทำนองเพลงได้ ตลอดจนมีความจำกระบวนท่ารำได้อย่างดี การรำหน้าพาทย์ประกอบด้วยการใช้อุปกรณ์และไม่ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง มีเพลงตระนารายณ์ เพลงเดียวที่ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง ได้แก่ คทา จักร ส่วนเพลงหน้าพาทย์อีก 7 เพลงไม่ได้ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง การรำหน้าพาทย์เพลงตระมีทั้งนั่งรำและยืนรำ นั่งรำได้แก่ ตระนอน ตระบรรทมไพร ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตระเชิญ ตระสันนิบาต ยืนรำได้แก่ ตระนิมิต ตระบองกัน ตระนารายณ์ เพลงหน้าพาทย์เพลงตระทั้ง 8 เพลง ผู้วิจัยพบว่า มีจังหวะในการรำทั้งหมด 32 จังหวะ ที่เท่ากัน กลวิธีในการรำมีเยื้องตัว และย้อนตัว การรำหน้าพาทย์เพลงตระมีทั้งรำประกอบบทร้อง และรำประกอบทำนองเพลง กระบวนท่ารำพบว่ามี 14 ท่ารำได้แก่ ท่าเทพประนม ท่าปฐม ท่าสอดสร้อยมาลา ท่าผาลาเพียงไหล่ ท่าบัวชูฝัก ท่านารายณ์ขว้างจักร ท่ากินนรรำ ท่าเครือวัลย์พันไม้ ท่ากินนรฟ้อนโอ่ ท่าบัวชูฝักส่งจีบหลัง ท่าวงบน วงกลาง ท่ากรบน ท่ากรล่าง ท่านอน ซึ่งเป็นกระบวนท่ารำที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามแบบแผน สืบทอดกันต่อมาที่เรียกว่า รำเพลงครู การนำหน้าพาทย์เพลงตระไปใช้สำหรับการแสดง ต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของการแสดง และสอดคล้องตามความหมายของเพลงหน้าพาทย์ ในปัจจุบันการรำหน้าพาทย์เพลงตระ ได้สืบทอดในหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นวิชาบังคับของผู้เรียนนาฏยศิลป์ โดยเฉพาะโขนพระ ต้องรำหมวดหน้าพาทย์เพลงตระทั้ง 8 เพลงนี้ได้ จึงจะสามารถเป็นผู้แสดงในบทบาทตัวละครที่สำคัญได้ดี …


ธุรกิจการแสดงนาฏยศิลป์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, นราฤทธิ์ เอี่ยมศิริ Jan 2017

ธุรกิจการแสดงนาฏยศิลป์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, นราฤทธิ์ เอี่ยมศิริ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพการแสดง ประเภทการแสดงนาฏยศิลป์ ผู้วิจัยมุ่ง ศึกษาธุรกิจการแสดงนาฏยศิลป์ สถานภาพการแสดงนาฏยศิลป์ ประเภทการแสดงนาฏยศิลป์ ในนครหลวงเวียงจันทน์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร จากการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์การแสดงและการเข้าร่วมออกแบบการแสดงนาฏยศิลป์ ในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 - 2559 ผู้วิจัยได้ศึกษาพบว่า สถานภาพการแสดงนาฏยศิลป์ ในนครหลวงเวียงจันทน์ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การนาฏยศิลป์ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาสามารถพบเห็นการแสดงได้ตามงานวัด งานบุญประเพณีของลาว ซึ่งสังคมลาวส่วนใหญ่มีความศรัทธาของพระพุทธศาสนาในนครหลวงเวียงจันทน์ ช่วงปี พ.ศ.2518 - 2543 ยุคของการปลดปล่อยประเทศ การแสดงเน้นการสร้างความปรองดอง สร้างความสามัคคี การรวมกลุ่มชนบรรดาเผ่าในลาวทั่วประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวและให้มีความเท่าเทียบกันของคนในชาติ ช่วงปี พ.ศ.2544 - 2553 นาฏยศิลป์ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลนำมาประดิษฐ์เป็นบทฟ้อนต่างๆให้เป็นแบบแผน ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาติไม่ให้สูญหาย พ.ศ.2554 - 2559 เกิดธุรกิจการแสดงนาฏยศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขาย การลงทุน เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าและองค์กรให้เกิดผลประโยชน์ผลกำไรในการจัดงานการแสดงมีความหลากหลายเกิดการแสดงขึ้นมาใหม่นอก เหนือจากการแสดงพื้นเมืองดั้งเดิมในนครหลวงเวียงจันทน์และสามารถพบเห็นการแสดงนาฏยศิลป์เพิ่มมากขึ้นผลจากการศึกษาของผู้วิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้เห็นสถานภาพการเปลี่ยนแปลงของการแสดงนาฏศิลป์ การพัฒนาสภาพเศรษฐกิจสังคม วิถีชีวิตของชุมชน การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ การก้าวเข้าสู่สมาชิกสมาคมอาเซียน ประเภทของการแสดง การฟ้อนแบบพื้นเมือง การแสดงสร้างสรรค์การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของนาฎยศิลป์ลาว ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกิดการจ้างงานมีอาชีพและรายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยอันสำคัญ ที่ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาเชิงวิชาการ เรื่องธุรกิจการแสดงนาฏยศิลป์ เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดในการศึกษาและให้ผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการ เกี่ยวกับธุรกิจการแสดงนาฏยศิลป์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป


พัฒนาการเรือมกันตรึม, พงศธร ยอดดำเนิน Jan 2017

พัฒนาการเรือมกันตรึม, พงศธร ยอดดำเนิน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่องพัฒนาการเรือมกันตรึม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการเรือมกันตรึม องค์ประกอบการแสดงและการรำเรือมกันตรึม โดยขอบเขตของการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาการเรือมกันตรึมที่นางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ ประดิษฐ์ขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2559 โดยค้นคว้าจากเอกสารการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ และการรับฝึกหัดชุดท่ารำเรือมกันตรึม เรือมกันตรึมแสดงประกอบกับดนตรีกันตรึม รูปแบบคือ 1ทำนองเพลง 1ชุดท่ารำ รวมทั้งหมด 7ชุดท่ารำ คือ 1.ซารายัง นำมาจากเลียนแบบกิริยาเยื้องย่างของสตรีในขบวนแห่, 2.เซิ้บ เซิ้บ นำมาจากการทักทายเชิญชวนของผู้ละเล่นกันตรึม, 3.กัญจัญเจก นำมาจากการเลียนแบบอากัปกิริยาของเขียดตะปาด, 4.อันซองเสนงนบ นำมาจากการรำประกอบขบวนแห่ขันหมาก, 5.มะม๊วต นำมาจากการรำในพิธีกรรมเข้าทรง, 6.อมตูก นำมาจากประเพณีแข่งเรือยาว และ7.มงก็วลจองได นำมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นเมืองด้วยผ้าไหมและประดับด้วยปะเกือม อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ การวิจัยพบว่าพัฒนาการเรือมกันตรึมแบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ 1. ก่อนเกิดเรือมกันตรึม(ก่อนปีพ.ศ.2526),2.เรือมกันตรึมเผยแพร่สู่ชุมชน(พ.ศ.2526-พ.ศ.2531), 3. เรือมกันตรึมในสถานศึกษา(พ.ศ.2532-พ.ศ.2548) และ4. เรือมกันตรึมในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์(พ.ศ.2549-พ.ศ.2559) ในช่วงที่1พบว่ามีการละเล่นกันตรึมมุ่งเน้นการบรรเลงดนตรีและขับร้อง ส่วนการรำพบในพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงที่2 เมื่อพ.ศ.2526 นางแก่นจันทร์ได้ประดิษฐ์การรำพื้นเมืองขึ้นใหม่ โดยนำเอาการละเล่นกันตรึมและการรำแบบดั้งเดิมมาเรียงร้อยเป็นชุดการแสดงขึ้นใหม่เรียกว่า"เรือมกันตรึม"เพื่อแสดงในการสัมมนาเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ ในพ.ศ.2528 มีการนำไปเผยแพร่ที่หมู่บ้านดงมันซึ่งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์การละเล่นกันตรึม และปีพ.ศ.2530 เรือมกันตรึมมีการปรับปรุงท่ารำและนำผู้ชายมาร่วมแสดงโดยนางสำรวม ดีสม ในช่วงที่3มีการนำเรือมกันตรึมเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา คือ วิทยาลัยครูสุรินทร์ พ.ศ.2532, วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ดพ.ศ.2540, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโรงเรียนสินรินทร์วิทยา จ.สุรินทร์ พ.ศ.2541 ในช่วงที่4 พ.ศ.2549-พ.ศ.2559 เรือมกันตรึมได้แตกแขนงออกไปหลายรูปแบบและมีการนำชุดท่ารำของเรือมกันตรึมไปปรับใช้และเป็นแนวทางในการออกแบบสร้างสรรค์นาฏยศิลป์พื้นเมืองอีสานใต้ชุดใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูเรือมกันตรึมฉบับดั้งเดิมด้วย


นวัตกรรมการแสดงหุ่นกระบอกไทย เรื่อง "พระเนมิราช", นิเวศ แววสมณะ Jan 2017

นวัตกรรมการแสดงหุ่นกระบอกไทย เรื่อง "พระเนมิราช", นิเวศ แววสมณะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เรื่อง "นวัตกรรมการแสดงหุ่นกระบอกไทยเรื่องพระเนมิราช" เป็นงานวิจัยสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ในการนวัตกรรมหุ่นกระบอกไทย เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบหุ่นและการแสดงใหม่สำหรับเด็กและเยาวชน โดยเลือกเนื้อหาจากพระเนมิราชชาดก ซึ่งแสดงถึงอธิษฐานบารมีที่มุ่งมั่นในการทำความดีที่ตั้งใจให้สำเร็จ เป็นธรรมมะที่เหมาะกับเด็กและเยาวชน โดยใช้หลักการ "สวย ง่าย ถูก" เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจนำไปสร้างเองได้ นวัตกรรมวิทยานิพนธ์นี้มีการทำบทใหม่ โดยยังคงรักษาขนบเดิมทั้งบทพากย์ เจรจา บทร้องและบทบรรยาย เพื่อให้สื่อกับกลุ่มเป้าหมายทั้งสาระและบันเทิงด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย การออกแบบหุ่นให้ดูเป็นไทยด้วยวัสดุที่หาได้ทั่วไปร่วมถึงการเชิดที่เรียบง่าย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำไปสร้างและแสดงเองได้ง่าย มีการสร้างฉากแนวใหม่ให้มีการเปลี่ยนและเคลื่อนไหวได้ตามท้องเรื่อง ด้วยการใช้โครงสร้างของร่มขนาดใหญ่ห้อยผ้าเพื่อเป็นจอรับภาพที่หมุนและบังผู้เชิด มีการนำสื่อประสมสมัยใหม่มาเสริมให้การแสดงดูสวยสมจริง เพลงประกอบการแสดงประพันธ์บท เนื้อร้อง และทำนองใหม่ในแนวไทยสากล เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายยุคปัจจุบันเข้าถึงมากขึ้น นวัตกรรมการแสดงหุ่นนี้เป็นการร่วมมือจากหลายฝ่ายทำการสร้างและทดสอบจนเรียบร้อย แล้วทำการแสดงเพื่อรับฟังคำวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับแก้ให้สมบูรณ์ จากนั้นทำการแสดงที่มีทั้งการแสดงขนาดใหญ่และขนาดเล็กสู่กลุ่มเป้าหมายจำนวน 3 รอบ 2 สถานที่ จำนวนผู้ชม 300 คน การประเมินผลในรูปแบบการแสดงด้านรูปแบบพบว่า กลุ่มเป้าหมายชื่นชมมีความยอมรับในนวัตกรรมนี้ ฉากที่สร้างสรรค์ด้วยร่มมีต้นทุนประหยัดขนย้ายประกอบได้ง่าย มีรูปแบบที่สวยงามและยังคงทำหน้าที่โรงหุ่นได้เหมือนโรงหุ่นแบบดั้งเดิม รูปแบบตัวหุ่นดูสวยงามสามารถนำไปสร้างเองได้ง่าย ด้านสื่อประสมที่นำมาประกอบการแสดงทำให้การแสดงดูสมจริงและสวยงาม เนื้อหาการแสดงพบว่า มีความสนุก ชื่นชอบชวนติดตามอยากชมซ้ำ และได้เรียนรู้เนื้อหาของพระเนมิราชจากการแสดง มีความเข้าใจในปรัชญาธรรมะในการทำความดีละเว้นความชั่ว และตั้งใจประพฤติดี ซึ่งตรงกับอธิษฐานบารมีที่เป็นหัวใจของชาดกพระเนมิราช การที่ผู้วิจัยได้ทำตามคำอธิษฐานบารมีนั้น ได้นำไปสู่การทำวิจัยสร้างสรรค์ดังกล่าวได้สำเร็จด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะนำหุ่นกระบอกไทยให้ยังคงมีหน้าที่ให้สาระและความบันเทิงต่อสังคมได้นั้น ผู้วิจัยประจักษ์ว่า ผู้วิจัยได้เดินตามคำอธิษฐานบารมี