Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Theatre and Performance Studies

PDF

Chulalongkorn University

2018

Articles 1 - 11 of 11

Full-Text Articles in Arts and Humanities

การพัฒนาทักษะการแสดงเพื่อสร้างตัวละครผู้หญิงจีน ในการแสดงเรื่อง รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก ของชิน วุน ปิง ตามหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟ, กุนทรา ไชยชาญ Jan 2018

การพัฒนาทักษะการแสดงเพื่อสร้างตัวละครผู้หญิงจีน ในการแสดงเรื่อง รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก ของชิน วุน ปิง ตามหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟ, กุนทรา ไชยชาญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและสังเคราะห์การนำหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟมาใช้เพื่อสร้างตัวละคร ผู้หญิงจีนในการแสดงเรื่อง รายละเอียด ไม่ได้ ร่างกาย อยาก โดยมุ่งเน้นไปที่การค้นหาและสร้างความเข้มข้นทางความรู้สึกภายในที่ มีลักษณะซับซ้อน เนื่องจากการหล่อหลอมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างจากตัวผู้แสดง ผู้วิจัยเริ่มต้นจากการทำงานศึกษาบทละครเพื่อนำมาประกอบการสร้างตัวละคร หลังจากนั้นใช้หลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟเป็นหลักในการค้นหา พัฒนาและสร้างสรรค์ตัวละครระหว่างการฝึกซ้อมจนกระทั่งถึงวันนำเสนอผลงาน โดยเก็บรวบรวม ข้อมูลเพื่อนำมาประเมินผลจากการจดบันทึก บันทึกวีดีโอ แบบสอบถาม การเสวนาและบทสัมภาษณ์ผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญด้าน ศิลปะการแสดงในวันนำเสนอผลงาน ระหว่างการดำเนินงานผู้วิจัยค้นพบว่าหลักการแสดงของไมเคิล เชคอฟเป็นหลักการแสดงที่ช่วยพัฒนาทักษะการแสดง ของนักแสดงและทำให้นักแสดงตระหนักถึงพลังแห่งจินตนาการ นำไปสู่การทำงานกับตัวละครอย่างสร้างสรรค์และไร้ขีดจำกัด ช่วย ให้นักแสดงสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองไปสู่การสร้างตัวละครอย่างสร้างสรรค์ จากการประเมินผลการวิจัย ผู้วิจัยพบว่าหลักสำคัญของนักแสดงในการทำงานกับตัวละครที่มีความแตกต่างทาง วัฒนธรรมกับนักแสดง คือ การศึกษาบทละครเพื่อทำความเข้าใจบริบททางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมเพื่อสร้างตัวละครให้มี ความสมจริงน่าเชื่อถือ และการศึกษาเทคนิคการแสดงที่เหมาะสมกับนักแสดงและตัวละครเพื่อช่วยให้นักแสดงสามารถเข้าถึง บทบาทของตัวละครได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้นักแสดงเชื่อมโยงการทำงานกับตัวละครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลักษณะตัวละครที่ แสดงออกมีความน่าสนใจ มีลักษณะเฉพาะ และทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงตัวละครได้ง่าย สามารถสร้างตัวละครได้สอดคล้องกับบท ละครได้อย่างน่าเชื่อถือและสมจริง


ดุษฎีนิพนธ์นาฏยดุริยางค์: 'ธีรราชา' นวัตกรรมละครเพลงร่วมสมัยไทย, จารุณี หงส์จารุ Jan 2018

ดุษฎีนิพนธ์นาฏยดุริยางค์: 'ธีรราชา' นวัตกรรมละครเพลงร่วมสมัยไทย, จารุณี หงส์จารุ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง ดุษฎีนิพนธ์นาฏยดุริยางค์: 'ธีรราชา' นวัตกรรมละครเพลงร่วมสมัยไทย เป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ในศาสตร์ด้านดนตรีและการละคร มีวัตถุประสงค์เพื่อประพันธ์ดนตรีใน ละครเพลงร่วมสมัยไทย เรื่อง 'ธีรราชา' เดอะมิวสิคัล ตามรูปแบบเดอะมิวสิคัล และบรรยายเป็น ความเรียงในลักษณะรายงานการวิจัยตามระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า การประพันธ์ดนตรีในละครเพลงร่วมสมัยไทย เรื่อง 'ธีรราชา' เดอะมิวสิคัล ที่ประกอบด้วยบทเพลงทั้งสิ้น 40 บท ใช้หลักการในการประพันธ์ดังนี้ 1) การ กำหนดตำแหน่งของเพลงในละครเพลงร่วมสมัยไทย 'ธีรราชา' เดอะมิวสิคัล 2) การกำหนดประเภทของบทเพลงในละครเพลงร่วมสมัยไทย 'ธีรราชา' เดอะมิวสิคัล 3) การกำหนดรูปแบบและโครงสร้างของเพลง 4) การประพันธ์ทำนองเพลงร่วมกับผู้ประพันธ์เนื้อร้อง 5) การเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับการขับร้องประสานเสียง 6) การเรียบเรียงเสียงวงดุริยางค์ 7) การสร้างกลิ่นอายความเป็นไทยในดนตรี 8) การประพันธ์ดนตรีประกอบนาฏศิลป์ และ 9) การประพันธ์ดนตรีประกอบภาพวีดิทัศน์ นอกจากนี้ยังพบแนวทางในการประพันธ์ดนตรีในรูปแบบใหม่ของละครเพลงร่วมสมัยไทย


นาฏกรรมในเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ, ภูริตา เรืองจิรยศ Jan 2018

นาฏกรรมในเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ, ภูริตา เรืองจิรยศ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษานาฏกรรมของคนจีนโพ้นทะเล และพัฒนาการนาฏกรรมในเทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460-พ.ศ. 2560 ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ผลการวิจัยพบว่า นาฏกรรมของจีนโพ้นทะเลมีอยู่ทั่วไปในโลก ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ นาฏกรรมดั้งเดิม นาฏกรรมปรุงแต่ง และนาฏกรรมสร้างขึ้นใหม่ ดังเช่นเดียวกับที่พบในชุมชนจีนโพ้นทะเลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีนาฏกรรมในเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 มาจนถึงปัจจุบัน เทศกาลนี้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2460 โดยการอัญเชิญเทวรูปศักดิ์สิทธิ์จากศาลเจ้าออกมาแห่ไปตามท้องถนนด้วยการนำของขบวนดนตรี เพื่ออำนวยพรให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในครั้งนั้น เหตุการณ์นี้จึงได้กลายมาเป็นการปฏิบัติประจำปี อีกทั้งยังมีศิลปะการแสดงประเภทต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเทศกาลนี้จึงแบ่งประเภทของนาฏกรรมที่เข้ามาได้ตามการเพิ่มของคนในชุมชนเป็น 3 ช่วง คือ วัฒนธรรมดั้งเดิม วัฒนธรรมออกภาษา และวัฒนธรรมนำเข้า ปัจจุบันนาฏกรรมในเทศกาลนี้จัดเป็นรูปแบบขบวนแห่ ตามท้องถนน ซึ่งประกอบไปด้วย ขบวนรถที่อัญเชิญวัตถุมงคลสำคัญ เทวรูป สัตว์มงคล องค์สมมติ เจ้าแม่กวนอิม ละครเชิงศาสนา ป้ายอำนวยพร รวมถึงขบวนแห่ของนาฏศิลป์และดนตรีด้วย นาฏกรรมในเทศกาลนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนจีน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยั่งยืนแห่งวิถีชีวิต ศาสนา ประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม จากอดีตผ่านมากว่า100 ปี สืบไปในอนาคต


นาฏกรรมไทยกับนโยบายการปกครอง พ.ศ. 2468-2516, มณิศา วศินา Jan 2018

นาฏกรรมไทยกับนโยบายการปกครอง พ.ศ. 2468-2516, มณิศา วศินา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างนาฏกรรมกับการปกครอง และการประกอบสร้างนาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง โดยเน้นที่ผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และนาฏกรรมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2468-2516 ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ในการค้นคว้าและรวบรวมเอกสารทั้งชั้นต้น และชั้นรอง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตการณ์จากสื่อ และสนทนากลุ่มย่อยกับผู้ทรงคุณวุฒิตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษา พบว่า นาฏกรรมกับการปกครองมีความสัมพันธ์กัน 6 ประการ คือ ความหมาย รูปแบบ เนื้อหา สาระสำคัญ บทบาท และการเปลี่ยนแปลง นาฏกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่แสดงสัมพันภาพให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต่อบุคคล สังคม และการปกครอง ผู้นำจึงใช้คุณสมบัติพิเศษของนาฏกรรม คือ การโน้มน้าวจิตใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคม ค่านิยม และอุดมการณ์ตามที่ตนคาดหวัง เมื่อสังคมเกิดจุดวิกฤตสู่การปฏิวัติการปกครอง และวัฒนธรรม จึงเกิดการล้มล้างนาฏกรรมเดิม และสร้างนาฏกรรมเพื่อเผยแพร่นโยบายของผู้นำใหม่ แต่ปรากฏการณ์ของนาฏกรรมไทยตามนโยบายการปกครอง ระหว่าง พ.ศ. 2468-2516 มีการเปลี่ยนแปลง 8 ระยะ คือ 1. พระราชมรดกนาฏกรรม รัชกาลที่ 6 2. นาฏกรรมเพื่อการอนุรักษ์ 3. ยุตินาฏกรรมหลวง และสร้างกระแสนาฏกรรมราษฎร 4. การสร้างภาพลักษณ์ประเทศด้วยนาฏกรรมราษฎร 5. นาฏกรรมต้านคอมมิวนิสต์ (1) สร้างกระแสนาฏกรรมราชสำนัก 6. การสร้างภาพลักษณ์ประเทศด้วยนาฏกรรมหลวง7.นาฏกรรมต้านคอมมิวนิสต์ (2) 8. นาฏกรรมเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตย รูปแบบของนาฏกรรมไทยตามนโยบายการปกครองมี7ประเภทคือ 1. โขน 2. ละคร 3. รำ ระบำ 4. เพลง 5. การแสดงพื้นบ้าน 6. บัลเลต์ 7. ภาพยนตร์ เนื้อหาของนาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง มี 3 ประเภท คือ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และวีถีชีวิต ซึ่งแสดงลักษณะผู้นำ สถานการณ์ของปัญหา แนวคิด และแนวทางปฏิบัติพัฒนาสังคม การประกอบสร้างนาฏกรรมตามนโยบายการปกครอง เป็นการสร้างสรรค์นาฏกรรมจากข้อมูลพื้นฐานที่สอดคล้องกับผู้นำ เหตุการณ์ของสังคม นโยบายการปกครอง และวัตถุประสงค์ของที่สร้างงาน …


นาฏกรรมในรัชกาลที่ 3, ธรรมจักร พรหมพ้วย Jan 2018

นาฏกรรมในรัชกาลที่ 3, ธรรมจักร พรหมพ้วย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาสถานภาพของงานนาฏกรรมในรัชกาลที่ 3 เป็นการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ที่มุ่งศึกษาปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงงานนาฏกรรม โดยมุ่งที่จะศึกษาประวัติศาสตร์นาฏกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2367 - 2394 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยผสมผสาน ที่ได้รวบรวมและค้นคว้าเอกสารชั้นต้นและชั้นรอง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประเภทจิตรกรรมและประติมากรรม ผลการวิจัยพบว่างานนาฏกรรมในรัชกาลที่ 3 ยังคงปรากฏอยู่ในราชสำนักและนอกราชสำนัก มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสังคมในเชิงพิธีกรรมและความบันเทิง แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ใส่พระราชหฤทัยและให้ความสำคัญเรื่องงานนาฏกรรมมากนัก แต่กลับทำให้รูปแบบนาฏกรรมของหลวงเผยแพร่ไปสู่วังของเจ้านายและเรือนของขุนนาง จนทำให้มีการละเมิดธรรมเนียมราชสำนักเรื่องการมีละครหรือมโหรีผู้หญิงประดับเกียรติยศ นอกจากนี้ปัจจัยจากสภาพสังคม เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบไพร่ การขยายตัวของพระนคร ความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา เป็นผลให้นาฏกรรมกระจายตัวโดยแพร่หลาย ประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจนสามารถใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงและการพนันได้ ปรากฏพิกัดการกระจายตัวของนาฏกรรมทั่วไปในพระนคร เมืองประเทศราชและหัวเมืองสำคัญ โดยเฉพาะวัดที่สร้างและปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 3 มากกว่า 53 วัด เป็นแหล่งที่ต้องใช้นาฏกรรมเป็นมหรสพสมโภชเมื่อเฉลิมฉลองและวันสำคัญทางศาสนา รูปแบบและวิธีแสดงนาฏกรรมที่ประกอบด้วยบริบทต่าง ๆ ยังคงแสดงตามแบบจารีตดั้งเดิม แต่ส่วนที่แปรเปลี่ยนจากเดิมคือกลุ่มนายทุน กลุ่มการจัดการ กลุ่มนักแสดง และกลุ่มผู้ชม การที่นาฏกรรมยังคงมีกลุ่มผู้จัดแสดงอย่างต่อเนื่องทำให้ งานนาฏกรรมได้รับการสืบทอดจวบจนปัจจุบัน นาฏกรรมในรัชกาลที่ 3 จึงเป็นวิถีทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์งานนาฏกรรมให้มีการต่อยอดและสร้างสรรค์งานที่หลากหลายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีคุณภาพตราบจนทุกวันนี้


การขึ้นลอยในการแสดงโขน, เฉลิมชัย ภิรมย์รักษ์ Jan 2018

การขึ้นลอยในการแสดงโขน, เฉลิมชัย ภิรมย์รักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเล่าเรื่องเชิงปฏิสัมพันธ์ในเกมวิชวลโนเวลประเภทเกมจีบหนุ่มบนสมาร์ตโฟน พฤติกรรมการเล่นเกม การสืบค้นข้อมูลและการสื่อสารบนสื่ออินเทอร์เน็ตของผู้เล่นเกมวิชวลโนเวลประเภทเกมจีบหนุ่มบนสมาร์ตโฟน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยวิธี การวิเคราะห์เรื่องเล่า การวิเคราะห์ตัวบท การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า เกมจีบหนุ่มบนสมาร์ตโฟนมีลักษณะเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน และใช้วิธีการเล่าเรื่องเหมือนกับนิยายประเภทรักโรแมนติกโดยทั่วไป แต่มีการใช้คุณสมบัติของความเป็นเกมและการนำเสนอผ่านสื่อสมาร์ตโฟนมาเป็นองค์ประกอบเสริมเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองได้สวมบทบาทเป็นตัวละครนางเอกของเรื่อง ได้แก่ การตั้งชื่อตัวละครเพื่อแทนตัวผู้เล่น การเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 1 เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่ในเกม และใช้การตัดสินใจเลือกตัวเลือกของผู้เล่นเพื่อกำหนดแนวทางของเนื้อเรื่องในเกม องค์ประกอบดังกล่าวทำให้ผู้เล่นรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเนื้อเรื่อง และรู้สึกได้ว่าตัวเองมีบทบาทในการสร้างเนื้อเรื่องภายในเกม ด้านพฤติกรรมขณะเล่น ผู้เล่นทุกคนมองว่าตัวละครเป้าหมายเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งในเนื้อเรื่องของเกมเท่านั้น ไม่มีตัวตนจริงและไม่สามารถสามารถทดแทนคนรักในชีวิตจริงได้ ด้านพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ ผู้เล่นโดยทั่วไปนิยมเล่นเกมเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ นอกจากช่องทางของผู้ผลิตเกม เนื่องจากเกมจีบหนุ่มเป็นเกมที่สามารถเล่นคนเดียวได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เล่นคนอื่น แต่ก็พบว่าบนสื่อสังคมออนไลน์ยังคงมีช่องทางสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้เล่น


ความเป็นตลาดในละครรำ, เฉลิมศักดิ์ เย็นสำราญ Jan 2018

ความเป็นตลาดในละครรำ, เฉลิมศักดิ์ เย็นสำราญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบของตัวละครที่แสดงความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ และกลวิธีการแสดงความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Method Research) (มุ่งเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารทางวิชาการ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ภาพถ่ายและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การสังเกตการณ์ การฝึกปฏิบัติ การสนทนากลุ่มย่อย ประกอบประสบการของผู้วิจัย) สรุปผลการวิจัยด้วยรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยศึกษาเฉพาะตัวละครที่มีบทบาทความเป็นตลาดในการแสดงละครรำในรายการศรีสุขนาฎกรรมของกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2559 (30 กันยายน 2559) ผลการวิจัย พบว่า ความเป็นตลาดเป็นการแสดงพฤติกรรมไม่สำรวมด้วยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด คำพูดและกิริยาท่าทางของตัวละครที่เป็นตัวแทนมนุษย์ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีอยู่ในทุกตัวละคร องค์ประกอบของตัวละครที่แสดงความเป็นตลาดประกอบด้วย 4 ปัจจัยได้แก่ 1) ความขัดแย้งของตัวละคร 2) พื้นฐานของตัวละคร 3) สถานการณ์ของตัวละคร และ 4) เพลงที่แสดงความเป็นตลาดของตัวละคร กลวิธีการแสดงความเป็นตลาด มี 2 กลวิธีได้แก่ 1) การสวมวิญญาณความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตีความบทบาทและอารมณ์ของตัวละคร และขั้นตีบทประกอบลีลาท่ารำและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร 2) กลวิธีการแสดงความเป็นตลาดในการแสดงละครรำ มี 2 กลวิธีได้แก่ กลวิธีได้แก่ กลวิธีการแสดงความเป็นตลาดตามขนบละครรำของกรมศิลปากร (จารีตละครหลวง) 2 รูปแบบ คือ รูปแบบละครจารีตและรูปแบบละครตลาด และกลวิธีการแสดงความเป็นตลาดนอกขนบละครรำของกรมศิลปากร (นอกจารีตละครหลวง) ที่ปรากฎเฉพาะในการแสดงละครนอก 2 ประเภท คือ การเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงกระบวนการแสดงความเป็นตลาด ความเป็นตลาดเป็นสิ่งที่มีอยู่ในอุปนิสัยของมนุษย์ทุกระดับชั้น โดยมีกรอบมารยาททางสังคมเป็นแบบแผนให้ยึดถือปฏิบัติหรือเป็นเครื่องกลั่นกรอง หากมีสถานการณ์มากดดันอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง ก็จะส่งผลให้มนุษย์มีปฏิกิริยาทางอารมณ์และแสดงพฤติกรรมโต้ตอบอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เมื่อความเป็นตลาดปรากฏเป็นบุคลิกลักษณะ อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ตัวละครก็ย่อมแสดงพฤติกรรมเช่นเดียวกับมนุษย์ หากแต่แสดงให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนทางการแสดงละครแต่ละประเภทอย่างเคร่งครัด ความเป็นตลาดในละครรำเป็นงานวิจัยที่ค้นพบองค์ความรู้ใหม่หรืองานวิจัยเริ่มแรก (Original research) ที่ยังไม่มีผู้ใดได้ทำการศึกษาไว้ก่อนแล้ว (Knowledge gaps) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและวิชาชีพนาฏยศิลป์ไทย โดยเฉพาะการ แสดงละครรำและประยุกต์ใช้กับละครประเภทอื่น ๆ ด้วย


แนวคิดและการสร้างสรรค์การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา, เอกรัตน์ รุ่งสว่าง Jan 2018

แนวคิดและการสร้างสรรค์การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา, เอกรัตน์ รุ่งสว่าง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา คือ การแสดงที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการซึ่งมีรูปแบบสวยงามตระการตา มีเนื้อหาสื่อถึงอัตลักษณ์ของเจ้าภาพด้วยศิลปะ วัฒนธรรม เทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นสันติภาพของมนุษยชาติ งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดและรูปแบบการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา และเพื่อศึกษาแนวคิดการสร้างสรรค์การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ผลการวิจัยพบว่า การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2439 ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวคิดและรูปแบบการแสดงแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่มีนำนาฏกรรมที่มีอยู่เดิมร่วมแสดงกับกีฬา ระยะพัฒนา เป็นระยะที่มีการออกแบบการแสดงเป็นสัญลักษณ์ทางกีฬาและการแสดงออกทางวัฒนธรรมและ ระยะเทคนิคและความบันเทิง เป็นระยะที่นำเสนอการแสดงที่หลากหลาย เน้นการเล่าเรื่องราวที่สำคัญต่อโลก การแสดงอัตลักษณ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านรูปแบบการแสดงทั้งที่เป็นแบบจารีตประเพณีและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ตามแบบนาฏกรรมแห่งยุคสมัย โดยแนวคิดดังกล่าวถือเป็นต้นแบบให้กับการแสดงในพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ กีฬาซีเกมส์ กีฬาแห่งชาติและกีฬาโรงเรียนของไทยอย่างชัดเจน ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการสร้างสรรค์การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา คือ นโยบาย ระบบการบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ ศักยภาพ ประสบการณ์สุนทรียะของผู้ออกแบบ การคัดเลือกสิ่งสนับสนุนการแสดง นวัตกรรม เทคโนโลยี และสื่อ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของกีฬาที่ปรากฏออกมาในรูปแบบของนาฏกรรม การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมโลก อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการแสดงความเป็นชาติหรือชุมชนที่สื่อถึงเกียรติภูมิ เสรีภาพ อัตลักษณ์ รวมถึงสะท้อนมิตรภาพและภราดรภาพ เพื่อจรรโลงสันติภาพของโลก


บทบาทของการแสดงความตลกในรายการโทรทัศน์ไทย, ปวริส มินา Jan 2018

บทบาทของการแสดงความตลกในรายการโทรทัศน์ไทย, ปวริส มินา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของการแสดงความตลกในนาฏกรรมไทย โดยมุ่งเน้นนาฏกรรมที่ปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ และศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์ความตลกในรายการโทรทัศน์ไทย ผ่านการศึกษารายการประเภทต่าง ๆ ที่ออกอากาศ ในช่วงปี พ.ศ. 2560 การศึกษาครั้งนี้เป็น การวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบการวิเคราะห์สาระและการพรรณนาวิเคราะห์ ผ่านกระบวนการเก็บข้อมูล จากเอกสารต่าง ๆ การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การสร้างสรรค์ความตลกในนาฏกรรมไทย นอกจากนี้ผู้ศึกษาได้ดำเนินการศึกษาผ่านการสนทนากลุ่ม (Focus Group) นักศึกษาสาขาวิชาการแสดงศึกษา จำนวน 40 คน ผลการศึกษาพัฒนาการของการแสดงความตลกในนาฏกรรมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์พบว่าบทบาทการแสดงความตลกสะท้อนให้เห็นผ่านการแสดงประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การสวดพระ การสวดคฤหัสถ์ เพลงออกภาษา การแสดงละครนอก การแสดงจำอวด ละครเสภา ละครชาตรี ละครพันทาง ละครสังคีต การแสดงตลกโขน ระบำตลก การแสดงลิเก ละครพูดชวนหัว การแสดงละครย่อย (การเล่นหน้าม่าน) ตลกคาเฟ่ และละครตลกสถานการณ์ทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังปรากฏผ่านวรรณกรรมเช่น บทละครนอก บทละครเรื่องระเด่นลันได และบทละครสุขนาฏกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 ในปัจจุบันจะพบว่ารายการโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ มักนำความตลกเข้าไปเป็นตัวขับเคลื่อนรายการเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและการได้รับ ความนิยมจากสังคม ผลการศึกษากลวิธีการสร้างสรรค์ความตลกในรายการโทรทัศน์ไทย จำนวน 8 รายการ ตามกลวิธีที่ได้สร้างขึ้นนั้น พบว่ารายการที่อิงจากความจริง ประเภทข่าว นิยมสร้างอารมณ์ขันผ่านกลวิธีการล้อเลียนเสียดสีมากที่สุด ส่วนรายการประเภทอิงจากความจริง ประเภทสารคดีบันเทิง รายการให้ความบันเทิง ประเภทประกวดแข่งขัน รายการให้ความบันเทิง ประเภทสนทนา นิยมใช้กลวิธีการสร้างความตลกด้วยกลวิธีการเล่นตลกกับภาษามากที่สุด ทั้งนี้การนำความตลกมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในรายการ มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย อาทิ เพื่อสะท้อนทัศนคติ มุมมองเชิงความคิด และที่สำคัญคือเพื่อขับเคลื่อนรายการให้น่าสนใจและต้องกับรสนิยมของคนไทยที่นิยมความสนุกสนานรื่นเริงและนิยมการลดระดับสิ่งที่เป็นความจริงจัง


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการสืบสานและพัฒนานาฏกรรม, พันพัสสา ธูปเทียน Jan 2018

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการสืบสานและพัฒนานาฏกรรม, พันพัสสา ธูปเทียน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาพัฒนาการของการฝึกฝนนาฏกรรม และวิเคราะห์สถานภาพของการฝึกฝนและสร้างสรรค์นาฏกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้เริ่มจากศึกษาหลักสูตรนาฏกรรมของนานาชาติ ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนาฏกรรมตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงพ.ศ.2561 กับการศึกษาสถานภาพและทิศทางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีต่อนาฏกรรมตั้งแต่ก่อตั้งจนถึง พ.ศ. 2561 จากการวิจัยพบว่า การฝึกฝนนาฏกรรมของประเทศต่าง ๆ ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกในศตวรรษที่ 21 เน้นการสร้างทักษะตามแบบของเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เน้นการบูรณาการข้ามศาสตร์ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีจุดร่วมหลายประการที่สถาบันอุดมศึกษาด้านนาฏกรรมของไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้เป็นอย่างดี การฝึกฝนนาฏกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงระบบอุดมศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นระบบการเรียนแบบดั้งเดิม มาถึงระบบการศึกษาในสถาบันที่ดำเนินไปตามหลักสูตรแบบเน้นกระบวนการคิด โดยผู้วิจัยสามารถแบ่งยุคทางด้านนาฏกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ ยุคบุกเบิก ยุคกิจกรรมงานละครวันปิดภาค ยุคนาฏกรรมในระบบการเรียนการสอนและละครประจำปีของแต่ละคณะ ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และยุคนิเวศนวัตกรรม ผลการวิจัยแสดงว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเสมือนต้นแบบที่สำคัญ 4 ประการด้วยกัน เป็นจุดเชื่อมระบบการถ่ายทอดนาฏกรรมแบบดั้งเดิมสู่ระบบการศึกษาแบบสถาบัน เป็นจุดผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและตะวันตก เป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดทางนาฏกรรมที่หลากหลาย และเป็นแบบอย่างของการฝึกฝนและพัฒนานาฏกรรมในประเทศไทย และในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้สร้างแนวคิดการบูรณาการข้ามศาสตร์ด้านนาฏกรรมขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อันเป็นวิถีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ด้วยรูปแบบการสร้างนาฏกรรมร่วมกันของนิสิตและคณาจารย์ทุกคณะซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงกล่าวได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะทางนาฏกรรมของชาติโดยแท้จริง


บทบาทนางโชว์ในโรงละครคาบาเรต์, วิชัย สวัสดิ์จีน Jan 2018

บทบาทนางโชว์ในโรงละครคาบาเรต์, วิชัย สวัสดิ์จีน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานภาพชายผู้เป็นนางโชว์ และ ความสำคัญของ นางโชว์ที่มีต่อการแสดงคาบาเรต์ ในโรงละคร เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการค้นคว้า เอกสาร การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล โดยเน้นศึกษานางโชว์ในโรงละครคาบาเรต์ ของเมืองพัทยา ได้แก่ บริษัท ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา จำกัด บริษัทอัลคาซาร์ จํากัด และ บริษัทโคลอสเซี่ยมโชว์ พัทยา จำกัด โดยการสัมภาษณ์ และการสังเกตการณ์ และการตรวจสอบข้อมูลด้วยการจัดสัมมนากลุ่ม และนำเสนอข้อมูลด้วยการพรรณนาวิเคราะห์ ตามวัตถุประสงค์ในการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า การแต่งกายข้ามเพศของบุคคลเพศชายในนาฏกรรม เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในประเทศแถบตะวันตก เอเชีย เอเชียตะวันออกฉียงใต้ และในประเทศไทย จนกระทั่งเกิดเป็นอาชีพนางโชว์ในโรงละครคาบาเรต์ โดยระยะเริ่มแรกเกิดขึ้นประมาณพ.ศ. 2515-2520 และพัฒนามาถึงปัจจุบัน ส่วนเส้นทางของการเข้าสู่อาชีพนางโชว์ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น (12-18 ปี) เป็นการเรียนรู้ทักษะด้านการแสดง และการเปลี่ยนแปลงร่างกายด้วยฮอร์โมนเพศหญิง ผ่านสังคมโรงเรียน และกลุ่มกะเทยในชุมชน จากนั้นเมื่อเข้าสู่อาชีพนางโชว์สามารถแบ่งสถานภาพของนางโชว์ออก เป็น 5 ระดับ เริ่มตั้งแต่งนางโชว์ทดลองงาน นางโชว์พนักงานประจำ นางโชว์ลูกคู่พิเศษ นางโชว์ตัวร้อง และนางโชว์ดาวเด่น ความสำคัญของนางโชว์แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) การสร้างอาชีพและรายได้ภายในองค์กร 2) การกระจายรายได้สู่ชุมชนเมืองพัทยา 3) การสร้างรายได้และผลประโยชน์ต่อธุรกิจที่เกี่ยข้อง 4) การเป็นภาพลักษณ์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และประเทศไทย อีกทั้งเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคคลในกลุ่ม ความหลากหลายทางเพศ เพื่อการเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง นางโชว์ระดับดาวเด่นเปรียบเสมือนนางพญาผึ้ง โรงละครเปรียบดั่งรังผึ้ง องค์ประกอบต่าง ๆ ในการแสดงคือผึ้งงานที่ร่วมกันทำงานผสานกับนางพญาผึ้ง การที่นางโชว์จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง ทุกอย่างเข้าด้วยกัน จำเป็นต้องใช้หลักการเจริญปัญญา สมาธิ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการแสดงให้เหนือกว่านางโชว์ทั้งปวงของโรงละคร เพื่อให้เกิดอานุภาพผ่านการแสดงในโรงละครคาบาเรต์ ซึ่งเมืองพัทยาประกอบโรงละครคาบาเรต์ 3 แห่ง ที่มีความหลากหลายของรูปแบบการแสดง เปรียบดั่งรสชาติของน้ำผึ้งแต่ละรังที่แตกต่างกันไป แต่พันธกิจหลักของโรงละครคาบาเรต์มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปรียบดั่งรังผึ้งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความบริบูรณ์ให้เกิดในวัฏจักรทางธรรมชาติ