Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Arts and Humanities Commons

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Philosophy

Chulalongkorn University

Theses/Dissertations

2017

Articles 1 - 5 of 5

Full-Text Articles in Arts and Humanities

ปัญหาความไม่เสมอภาคในประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง, อรรคเดช แสงจันทร์ Jan 2017

ปัญหาความไม่เสมอภาคในประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง, อรรคเดช แสงจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัญหาในทฤษฎีประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองในแง่ของความเสมอภาคเป็นสำคัญ โดยการศึกษาถึงข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งของกระบวนการร่วมไตร่ตรองที่อาจสร้างผลกระทบต่อสังคมประชาธิปไตย จากการศึกษาพบว่าความเชื่อที่ว่ากระบวนการร่วมไตร่ตรองนั้นเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองมากที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กระบวนการร่วมไตร่ตรองเองมีกลไกบางประการในที่สร้างเงื่อนไขในการผูกขาดอำนาจซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย มีข้อเสนอหนึ่งที่มองว่ากระบวนการร่วมไตร่ตรองเป็นกระบวนการที่สมควรหลีกเลี่ยงเพื่อรักษาความเป็นประชาธิปไตยในอุดมคติ หากแต่ผู้เขียนมีความเห็นว่ากระบวนการร่วมไตร่ตรองที่มีความพยายามในการสร้างกระบวนการที่ใช้เหตุผลในฐานของความเสมอภาคและเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งที่สมควรแก่การรักษามากกว่าละทิ้งออกจากสังคม โดยแนวคิดรูปแบบการร่วมไตร่ตรองอ้างอิงถึงแนวคิดของ แอนโทนี่ ไซมอน ลาเดน


ความเป็นเลิศทางคุณธรรมและความเป็นเลิศทางปัญญาในจริยศาสตร์นิโคมาเคียน, เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์ Jan 2017

ความเป็นเลิศทางคุณธรรมและความเป็นเลิศทางปัญญาในจริยศาสตร์นิโคมาเคียน, เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

บทคัดย่อ จริยศาสตร์ของอริสโตเติลถามคำถามว่าชีวิตที่ดีคืออะไร หรือคุณค่าในชีวิตของมนุษย์คืออะไร อริสโตเติลตอบว่าชีวิตที่ดีต้องมีความเป็นเลิศสองประการคือความเป็นเลิศทางปัญญาและความเป็นเลิศทางคุณธรรม ผู้ศึกษาจริยศาสตร์ของอริสโตเติลส่วนใหญ่ตีความความเป็นเลิศทางปัญญาและความเป็นเลิศทางคุณธรรมไปคนละทาง และแต่ละทางมีหลักฐานสนับสนุนในตัวบทจริยศาสตร์นิโคมาเคียน วิทยานิพนธ์นี้ทำความเข้าใจการตีความอริสโตเติลสองสายที่ไม่ลงรอยกัน คือฝ่ายอลาสแดร์ แมคอินไทร์ ซึ่งมีความคิดแบบปัญญานิยม และฝ่ายมาร์ธา นุสบัม ซึ่งวิจารณ์ฝ่ายปัญญานิยม ข้าพเจ้าเสนอว่าความคิดทั้งสองแบบมีที่มาจากตัวบทจริยศาสตร์นิโคมาเคียนเอง และข้าพเจ้าเสนอทางออกที่จะทำให้อริสโตเติลสอดคล้องในตัวเอง ด้วยการตีความปัญญาทางจริยธรรมเป็นสองแบบ ดังมี ทอมัส อไควนัส ซึ่งเป็นนักคิดสายอริสโตเติลในยุคกลาง เป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าเสนอว่าการตีความปัญญาทางจริยธรรมเป็นสองแบบเท่านั้นจึงทำให้เราสามารถเข้าใจความเป็นเลิศทางปัญญาและความเป็นเลิศทางคุณธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเลิศทั้งสอง อย่างที่อริสโตเติลอธิบายไว้ได้


ข้อโต้แย้งเรื่องการแสดงให้เห็นได้ของปฏิสัจนิยมทางอรรถศาสตร์, รัชพล ธรรมวัฒนะ Jan 2017

ข้อโต้แย้งเรื่องการแสดงให้เห็นได้ของปฏิสัจนิยมทางอรรถศาสตร์, รัชพล ธรรมวัฒนะ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อประเมินข้อโต้แย้งเรื่องการแสดงให้เห็นได้ของทัศนะปฏิสัจนิยมทางอรรถศาสตร์ที่มีต่อทัศนะสัจนิยมทางอรรถศาสตร์ ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของข้อถกเถียงระหว่างทัศนะสัจนิยมและปฏิสัจนิยมทางอรรถศาสตร์ภายใต้กรอบวิเคราะห์ปัญหาสัจนิยมในแง่มุมทางอรรถศาสตร์ของไมเคิล ดัมเมตต์ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับเรื่องมโนทัศน์ความจริงและความหมายของประโยค ข้อโต้แย้งเรื่องการแสดงให้เห็นได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของทฤษฎีความหมายแบบเงื่อนไขความจริงของสัจนิยมทางอรรถศาสตร์ เพราะไม่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความหมายคือการใช้ภาษาที่เห็นว่าความหมายต้องสามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าสัจนิยมทางอรรถศาสตร์สามารถตอบโต้ข้อโต้แย้งดังกล่าวได้เนื่องจากมโนทัศน์การแสดงให้เห็นได้ของปฏิสัจนิยมทางอรรถศาสตร์ไม่สมเหตุสมผลในเรื่องปรากฏการณ์วิทยาของความเข้าใจ และถ้ามโนทัศน์การแสดงให้เห็นได้แบบสัจนิยมทางอรรถศาสตร์มีความสมเหตุสมผลแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องทิ้งทฤษฎีความหมายแบบเงื่อนไขความจริง รวมถึงวิทยานิพนธ์นี้ได้เสนอทางแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแก่ทัศนะสัจนิยมทางอรรถศาสตร์ วิทยานิพนธ์นี้ได้ประเมินและมีข้อสรุปว่าสุดท้ายแล้วข้อโต้แย้งเรื่องการแสดงให้เห็นได้ไม่มีผลกระทบใดๆต่อทัศนะสัจนิยมทางอรรถศาสตร์


ประเด็นทางญาณวิทยาในแนวคิดเรื่องชุมชนแห่งการสืบเสาะของแมทธิว ลิปแมน, ณฐิกา ครองยุทธ Jan 2017

ประเด็นทางญาณวิทยาในแนวคิดเรื่องชุมชนแห่งการสืบเสาะของแมทธิว ลิปแมน, ณฐิกา ครองยุทธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

เป้าหมายของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการสนับสนุนแนวคิดชุมชนแห่งการสืบเสาะ(Community of inquiry/ COI) ของแมทธิว ลิปแมน (Matthew Lipman) ในประเด็นทางญาณวิทยา แนวคิดดังกล่าวลิปแมนรับอิทธิพลมาจากปรัชญาการศึกษาของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ในเรื่องแนวคิดปฏิบัตินิยมและการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม ประเด็นทางญาณวิทยาที่จะศึกษาได้แก่ 1) ปัญหาความสามารถในการใช้เหตุผลของเด็กในทฤษฎีพัฒนาการทางการรู้คิด (Theory of Cognitive Development) ของ ฌอง เพียเชต์ (Jean Piaget) และ 2) ข้อถกเถียงในญาณวิทยาสังคมได้แก่ ปัญหาในเรื่องการไตร่ตรองร่วมกันเป็นกลุ่ม(Group deliberation) และ การเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม (Collaborative Learning) ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว และผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าวิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะมีข้อได้เปรียบทางญาณวิทยา ผู้เขียนยังได้เสนอแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้วิธีชุมชนแห่งการสืบเสาะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสำหรับการเรียนในชั้นเรียนโดยประยุกต์จากข้อเสนอของแบร์ด เรย์ (Brad Wray) ในเรื่องการค้นคว้าร่วมกันเป็นกลุ่ม


แนวคิดของลูชาโน ฟลอริดิ เรื่อง ความเป็นจริงในฐานะสารสนเทศ, เจิด บรรดาศักดิ์ Jan 2017

แนวคิดของลูชาโน ฟลอริดิ เรื่อง ความเป็นจริงในฐานะสารสนเทศ, เจิด บรรดาศักดิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ลูชาโน ฟลอริดิ(Luciano Floridi) เสนอแนวคิดที่เรียกว่าปรัชญาสารสนเทศ. ปรัชญาสารสนเทศนี้เป็นแนวคิดที่ถกเถียงกับทฤษฎีการสื่อสารหรือทฤษฎีสารสนเทศแบบคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองว่าสารสนเทศคือหน่วยของข้อความในระบบการสื่อสาร. แต่สำหรับฟลอริดิแล้ว ปรัชญาสารสนเทศนี้เป็นการพิจารณาสารสนเทศในฐานะมโนทัศน์พื้นฐานทางปรัชญา(Philosophia Prima). ประเด็นสำคัญสำหรับปรัชญาสารสนเทศในฐานะมโนทัศน์ทางปรัชญาก็คือ สารสนเทศเป็นองค์ประกอบของการอ้างความรู้ เพราะว่าการได้รับสารสนเทศที่เป็นจริงถือเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลสนับสนุนความเชื่อ(Justified Belief). และข้อเสนอสำคัญในปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิคือแนวคิดเรื่องสัจนิยมแบบโครงสร้างสารสนเทศ กล่าวคือ สารสนเทศเป็นโครงสร้างการอธิบายความเป็นจริง. สัจนิยมแบบโครงสร้างสารสนเทศจึงถือเป็นข้อเสนอทางอภิปรัชญาผ่านแนวคิดปรัชญาสารสนเทศ. วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะทำการศึกษาประเด็นอภิปรัชญาในปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิ และเสนอเหตุผลปกป้องปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิจากข้อโต้แย้งของนักปรัชญาท่านอื่นๆ. และผู้วิจัยจะแสดงให้เห็นปัญหาของปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดินั่นก็คือ ปัญหาระดับชั้นทางญาณวิทยา จากนั้นผู้วิจัยได้เสนอแนวทางหลีกเลี่ยงปัญหาระดับชั้นทางญาณวิทยาด้วยแนวคิดมุมมองอัตวิสัยและวัตถุวิสัยของจิตสำนึกในแนวคิดของธอมัส เนเกล(Thomas Nagel). มุมมองอัตวิสัยและวัตถุวิสัยของจิตสำนึกคือการถอยออกมาจากมุมมองอัตวิสัยแล้วพิจารณามุมมองเดิมเป็นวัตถุของจิตสำนึก ซึ่งการถอยออกจากมุมมองเดิมนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองเดิมกับโลก. การมองเห็นความสัมพันธ์ของมุมมองเดิมกับโลกจะทำให้เกิดการประเมินมุมมองของตนเองและหลีกเลี่ยงปัญหาระดับชั้นทางญาณวิทยาได้