Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Articles 1 - 16 of 16

Full-Text Articles in Entire DC Network

การป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์แนวต่อสู้: กรณีศึกษาเกม Valorant, ยุววัฒน์ ไตรจิต Jan 2022

การป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งในเกมออนไลน์แนวต่อสู้: กรณีศึกษาเกม Valorant, ยุววัฒน์ ไตรจิต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์แนวต่อสู้:กรณีศึกษาเกม VALORANT เป็นการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเกมออนไลน์ แสวงหาสาเหตุของการกลั่นแกล้ง และวิธีการป้องกันและการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์ เพื่อนำมาเผื่อแพร่และให้ความรู้กับผู้ที่มีความสนใจที่จะเข้าสู่โลกของสังคมเกมออนไลน์รับทราบถึงสาเหตุ รูปแบบ และวิธีการรับมือการกลั่นแกล้งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเกมออนไลน์ การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรูปแบบกึ่งโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12 คน ผลการศึกษาพบว่าสาเหตุของการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์แนวต่อสู้มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักคือ 1) ปัจจัยด้านทักษะผู้เล่น 2) ปัจจัยเรื่องเพศของผู้เล่น 3) ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้แกล้ง โดยรูปแบบของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นภายในเกมออนไลน์จะเป็นรูปแบบของ 1) การใช้ Text Chat ที่เป็นการพิมพ์ข้อความเพื่อสื่อสาร 2) การใช้ Voice Chat ที่เป็นการใช้ระบบของเกมในการสื่อสารระหว่างผู้เล่นทางเสียง 3) การใช้ระบบการเล่นภายในเกมเพื่อขัดขวางหรือรบกวนการเล่นของผู้เล่น ในส่วนของการรับมือการกลั่นแกล้งภายในเกมออนไลน์จะประกอบไปด้วยการรับมือโดย 1) การประณีประณอมกับการกลั่นแกล้ง 2) การปิดช่องทางการสื่อสาร และ 3) การชักชวนเพื่อนหรือคนรู้จักมาร่วมเล่นเกมออนไลน์


วาทกรรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์กับงานยุติธรรมทางอาญาในสังคมไทย, สุวิทย์ รัตนสุคนธ์ Jan 2022

วาทกรรมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์กับงานยุติธรรมทางอาญาในสังคมไทย, สุวิทย์ รัตนสุคนธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้เกิดการการประกอบสร้างอัตลักษณ์ตัวตนจนลิขสิทธิ์กลายมาเป็นสิทธิผูกขาดจนสามารถนำเอามาตรการทางอาญามาปรับใช้กับผู้ละเมิดสิทธิผูกขาดนี้ได้อย่างกลมกลืน ตลอดจนศึกษาองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้เพื่อสร้างดุลยภาพในการคุ้มครองลิขสิทธิ์และลดความเป็นอาชญากรรมจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสังคมไทยลง โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพจากการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) การศึกษาและวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Studies and Discourse Analysis) โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ความเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นผลมาจากแนวคิดสิทธิผูกขาดแห่งลิขสิทธิ์ของประเทศตะวันตกที่ไหลหลากเข้าสู่สังคมไทยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจในยุคทุนนิยมและบริโภคนิยม สังคมไทยได้ยอมรับนับให้ลิขสิทธิ์ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของมนุษย์มีค่าเหนือกว่าทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินำไปสู่การประกอบสร้างวาทกรรมความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนและความสำคัญให้เกิดขึ้น การกระทำใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิผูกขาดนี้เป็นการกระทำที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ นำไปสู่การนำมาตรการทางอาญามาปรับใช้กับผู้ล่วงละเมิดจนเกิดความเป็นอาชญากรรมอย่างล้นหลามขึ้นในสังคมไทย การเกิดวาทกรรมนี้อาศัยบริบท ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมโลกและในสังคมไทย กอปรกับการประกอบสร้างจากมนุษย์โดยตรง ด้วยการใช้มาตรการทางอาญาสร้างความรุนแรง การสร้างความเป็นอื่น การปิดฉลากตีตรา การทำลายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากละเมิด การสร้างความชอบธรรมจากเหตุผลกระตุ้นการสร้างสรรค์และความเจริญทางเศรษฐกิจ ส่วนการกำหนดสร้างนิยามความหมายใหม่ซึ่งเป็นผลจากการแสดงปฏิกริยาตอบโต้ แข็งขืนของผู้ยึดถือวาทกรรมรองนำไปสู่กระบวนการรื้อสร้างใหม่ เพื่อตีแผ่ ขุดคุ้ยเอาสารัตถะองค์ความรู้ ความจริงที่แฝงฝัง ลืมเลือนอยู่ในสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีการสื่อสารและกติกาสากลออกมาให้ปรากฏ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยสร้างความสอดคล้องกับสังคมไทย สร้างความสมดุลและช่วยลดความเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสังคมไทย


ค่าจ้างขั้นต่ำและอาชญากรรมในประเทศไทย, เกียรติภูมิ น้อยสุวรรณ์ Jan 2022

ค่าจ้างขั้นต่ำและอาชญากรรมในประเทศไทย, เกียรติภูมิ น้อยสุวรรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

อาชญากรรมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ หลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศ พบว่าการตอบสนองของการเกิดอาชญากรรมจะส่งผลแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และประเภทของอาชญากรรม การใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานในหลายด้าน การมีนโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยจะส่งผลต่อการเกิดอาชญากรรมไปในทิศทางใด งานวิจัยในครั้งนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2562 การศึกษาครั้งนี้จะวิเคราะห์โดยใช้สมการถดถอยด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดแบบ Fixed Effects ในข้อมูลแบบช่วงยาว (Panel Data) รายจังหวัด และจำแนกประเภทอาชญากรรมออกเป็น 5 ประเภท โดยใช้แบบจำลองอุปทานของอาชญากรรม (Supply of Crime Model) ผลการศึกษาพบว่า การใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้ช่วยลดการเกิดอาชญากรรมในทุกประเภท แต่กลับพบว่าการมีจำนวนแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานเพิ่มมากขึ้นนั้นจะช่วยลดการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน อาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติด และอาชญากรรมรวมได้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้นค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ว่างงานแล้วต่อมาได้ทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนนี้จึงอาจจะส่งผลให้พฤติกรรมของแรงงานนั้นเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวยังสามารถลดการเกิดอาชญากรรมได้เช่นกัน


การพัฒนาแนวทางการป้องกันกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยนิติจิตเวช, กฤตภาส ไทยวงษ์ Jan 2022

การพัฒนาแนวทางการป้องกันกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยนิติจิตเวช, กฤตภาส ไทยวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาของการกระทำผิดซ้ำที่เกิดขึ้นโดย ผู้ป่วยนิติจิตเวช อันได้แก่ สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการกระทำผิดซ้ำ ตลอดจนปัญหา และอุปสรรคของการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยนิติจิตเวชกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเชิง คุณภาพจากทางเอกสารและมีการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรวิชาชีพทางสายสุขภาพจิตสังกัดกรมสุขภาพจิต และบุคลากรวิชาชีพทางสาย สุขภาพจิตสังกัดกรมราชทัณฑ์รวมทั้งสิ้น 7 คน ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาของการกระทำผิดซ้ำในผู้ป่วยจิตเวชมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ความเครียด ความกดดัน และความขับข้องใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย2) การขาดยา เพราะขาดคนช่วยดูแล ตลอดจนคนรอบข้างอย่างครอบครัวหรือชุมชนขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย จิตเวช 3) การตีตราของผู้คนในชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยขาดที่พึ่งและถูกกีดกันออกจากสังคมขณะที่ อุปสรรคในการป้องกันอยู่ด้วยกันดังนี้1) ปัญหาด้านยาเสพติด เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ ยาเสพติดที่มีราคาถูกและหาง่าย 2) ปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน และ 3) ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง เพราะการขาดกำลังคนและรอยต่อของระบบการส่งต่อ ระหว่างสถานพยาบาลกับเรือนจำ สำหรับข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1) การพัฒนาสถานพยาบาลที่มีความเฉพาะด้าน เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการบำบัดรักษาและครอบคลุมไปถึงการลงโทษตามแนวทางทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูตลอดจนเป็นการลดรอยต่อของระบบการส่งต่อผู้ป่วยนิติจิตเวช สถานพยาบาลกับทางเรือนจำ 2) การพัฒนากำลังคน เพื่อช่วยลดภาระงานบางส่วน โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยหรือผู้เคยต้องขังที่เคยกระทำความผิดต้องกลับสู่ชุมชน ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้เฉพาะด้านนี้ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง


แนวทางการกำกับดูแลการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรในยุคดิจิทัล, ชรินทร์ทิพย์ ปั้นสุวรรณ Jan 2022

แนวทางการกำกับดูแลการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กรในยุคดิจิทัล, ชรินทร์ทิพย์ ปั้นสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค 2) ศึกษาโครงสร้างการกำกับดูแล การขับเคลื่อนการบังคับใช้นโยบายและมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างความตระหนักและเฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ 3) ศึกษาแนวทางการเตรียมแผนการรับมือภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในอนาคต การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาจากเอกสารและการวิจัยภาคสนามโดยการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 22 คน เพื่ออธิบายถึงลักษณะภัยคุกคามทางไซเบอร์ตลอดจนการกำกับดูแลและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ขององค์กร ผลการศึกษาพบว่า 1) ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ โรงพยาบาล การไฟฟ้า และการประปา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยและการให้บริการด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญของประเทศ รวมไปถึงภาคการเงินการธนาคารและหน่วยงานด้านยุติธรรม 2) หลายหน่วยงานมีความตระหนักรู้ในการริเริ่มจัดทำนโยบาย แนวทางปฏิบัติและจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ 3) หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินงาน เพื่อลดแรงเสียดทานและความเสี่ยงต่างๆให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรให้ความสำคัญและควรปรับปรุงกฎหมายไซเบอร์ให้มีการบังคับใช้และบทลงโทษที่ชัดเจน ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอาจไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความตระหนักรู้และพัฒนาสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารในกระบวนการธรรมรัฐไทย


เส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา, ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง Jan 2022

เส้นทางชีวิตของผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา, ปิยพงศ์ แซ่ตั้ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต ปัจจัยเสี่ยง แนวทางป้องกันและแก้ไขการกระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบเล่าเรื่องและใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลผ่านผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่ ผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา จำนวน 3 ราย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังที่กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรา 6 ราย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง จำนวน 15 ราย จากนั้นจึงใช้วิธีการวิเคราะห์แก่นสาระจากเรื่องเล่าโดยใช้โปรแกรมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ATLAS.ti version 22 ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. วิถีชีวิตของผู้กระทำผิดต่อเนื่องในคดีข่มขืนกระทำชำเรามีลักษณะที่เป็นปัจเจก และผ่านเหตุการณ์ในแต่ละช่วงวัยที่ทำให้เกิดความเปราะบางทางบุคลิกภาพ ได้แก่ การเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก การหลุดออกจากระบบการศึกษา ข้อจำกัดด้านทางเลือกในการประกอบอาชีพ ปัญหาการสร้างสัมพันธภาพทางสังคม และผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมจนเกิดพฤติกรรมการข่มขืนต่อเนื่อง 2. ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่พฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่องแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ ปัจจัยภายใน (แรงกดดันที่นำไปสู่การข่มขืนกระทำชำเรา การขาดความผูกพันทางสังคม ความคิดที่ส่งเสริมการข่มขืนกระทำชำเรา การพัฒนาวิถีชีวิตแบบต่อต้านสังคม ความสนใจทางเพศที่ผิดปกติ และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ) และปัจจัยภายนอก (โอกาสที่เอื้อต่อการข่มขืนกระทำชำเรา การดื่มสุราและเสพสารเสพติด การคบค้าสมาคมที่แตกต่างและพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเรา สื่อลามกและสื่อที่มีเนื้อหากระตุ้นเรื่องเพศ ค่านิยมที่เอื้อต่อการข่มขืนกระทำชำเรา) 3. การป้องกันพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่องจำเป็นต้องเริ่มจากการลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว การสร้างและทำให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาที่ปลอดภัย การสร้างระบบป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและความผิดปกติทางบุคลิกภาพ การให้ความสำคัญกับกระบวนการกลับสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การสร้างความตระหนักทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดและการตกเป็นเหยื่อ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ส่วนแนวทางการแก้ไขพฤติกรรมข่มขืนกระทำชำเราต่อเนื่อง ประกอบด้วย การปรับกระบวนทัศน์ที่เน้นการฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนาระบบจำแนกประเภทผู้กระทำผิด การพัฒนาการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด การพัฒนากระบวนการกลับสู่สังคมสำหรับผู้กระทำผิดที่พ้นโทษ การสร้างกลไกการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เหยื่ออาชญากรรมทางเพศ


ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน : กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ Jan 2022

ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน : กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น, ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

“ระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชน: กรณีศึกษาบ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา รูปแบบและกลไกดำเนินงานของระบบเจ้าโคตรที่เป็นงานยุติธรรมเชิงจารีต ประเภทคดีหรือลักษณะข้อพิพาทที่ใช้ยุติปัญหา รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ระบบเจ้าโคตร สภาพการดำรงอยู่ภายในชุมชนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อระบบเจ้าโคตรเมื่อมีการนำงานยุติธรรมชุมชนรูปแบบอื่น ๆ ของภาครัฐเข้ามาใช้ปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนถึงการรับรู้และมุมมองต่อการใช้ระบบเจ้าโคตรของหน่วยงานภาครัฐ และให้ข้อเสนอแนะเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการศึกษาเชิงเอกสาร วิธีการสนทนาแบบกลุ่ม และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 12 คน เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า 1) ระบบเจ้าโคตรมีผู้อาวุโสที่คู่กรณีและชุมชนเคารพนับถือ เชื่อใจ และยอมรับในความประพฤติและการพูดจาให้เหตุผลเมื่อตัดสินความขัดแย้งให้เข้ามาทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยกระบวนการระงับข้อพิพาทจะเป็นแบบเรียบง่ายที่คนกลางพูดคุยซักถามเรื่องราวและเหตุผลจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายแล้วตัดสินความ แล้วจึงให้คู่กรณีตกลงเรื่องการชดใช้เยียวยากันโดยตรงต่อหน้าคนกลางและเริ่มต้นไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ และร่วมกันการสร้างข้อตกลงจากการระงับข้อพิพาทที่คำนึงถึงความต้องการของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย หมู่บ้านเสียวจะใช้ระบบเจ้าโคตรกับความผิดที่มีเด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำ การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ความผิดที่กระทำต่อกันโดยประมาท ความผิดอาญาต่อส่วนตัวซึ่งรวมถึงคดีอนาจาร และความผิดลหุโทษ ระบบเจ้าโคตรมีข้อดี คือ ช่วยรักษาสภาพจิตใจคู่กรณีและดำรงสัมพันธภาพร่วมกันเอาไว้ ช่วยลดภาระของทางราชการและลดความขัดแย้งในสังคม ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายประชาชนไปพร้อมกับลดปัญหาการดำเนินงานซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังประสบอยู่โดยระงับไม่ให้ข้อพิพาทเล็กน้อยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทว่ามีข้อจำกัด ได้แก่ การยึดโยงอยู่กับศรัทธาต่อตัวบุคคลทำให้ระบบขาดเสถียรภาพ อาจมีความเหมาะสมที่จะใช้ในสังคมขนาดเล็ก และไม่มีกฎหมายรองรับผลของการไกล่เกลี่ยหากเจ้าโคตรไม่ใช่ผู้ผ่านการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน 2) ระบบเจ้าโคตรดำรงอยู่อย่างมีสัมพันธภาพกับงานยุติธรรมชุมชนแบบอื่นๆของภาครัฐ โดยการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขการดำเนินงานยุติธรรมชุมชนของภาครัฐ ได้แก่ การมีคนกลางมากกว่าหนึ่งคน และการให้จัดทำเอกสารลายลักษณ์อักษรในกระบวนการระงับข้อพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงตามกฎหมาย 3) ภาครัฐมีการรับรู้ระบบเจ้าโคตรที่ใช้จัดการความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างจำกัด แม้ว่าจะมีมุมมองว่าระบบเจ้าโคตรมีศักยภาพต่อการระงับข้อพิพาทเบื้องต้นแต่ยังมีท่าทีแบ่งรบแบ่งสู้หากจะต้องส่งเสริมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานยุติธรรมชุมชนในพื้นที่ 4) ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยต่อการเชื่อมโยงระบบเจ้าโคตรกับระบบงานยุติธรรมชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมคือ ควรส่งเสริมให้ชุมชนนำระบบเจ้าโคตรซึ่งเป็นยุติธรรมเชิงจารีตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานยุติธรรมชุมชนในหมู่บ้านอย่างจริงจัง และควรเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ทางกฎหมายที่จำเป็น และสนับสนุนให้ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกเครือข่ายศูนย์ยุติธรรมชุมชน และเจ้าโคตรรุ่นปัจจุบันอีกจำนวน 2 คนได้รับการอบรมในหลักสูตรผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนตามกฎหมาย


การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย, วนัสนันท์ กันทะวงศ์ Jan 2022

การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย, วนัสนันท์ กันทะวงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ศึกษาความสัมพันธ์ของการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และศึกษาทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed method) การวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม โดยวิธีการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 400 คน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ตราด และสุราษฎร์ธานี และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเชิงเอกสาร 10 ปีย้อนหลัง พ.ศ. 2556 - 2566 และใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 15 คน ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ องค์กรไม่แสวงหากำไร ผลการศึกษาพบว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การลงทุนรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ได้เป็นอาชญากรรมในตัวเอง หากแต่มีการใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิดและนำไปสู่การฟอกเขียว การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ 1) ผู้กระทำ 2) กิจกรรมการฟอกเขียว 3) ฟอกเขียวด้วยกลไกคาร์บอน 4) เป้าหมาย 5) ผลกระทบ 6) กระทำด้วยเจตนา โดยผู้กระทำการฟอกเขียว ประกอบด้วย 1) บุคคลธรรมดา มีลักษณะอาชญากรคอปกขาว 2) นิติบุคคล มีลักษณะอาชญากรรมที่กระทำโดยบริษัทหรือธุรกิจองค์กร 3) รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุจากความประมาทจากการประกาศนโยบายของรัฐ หรือการดำเนินการผิดพลาดที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน การฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถเกิดใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การใช้ช่องโหว่ของกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การพึ่งพาการชดเชยมากเกินไป และการใช้กลไกการทำธุรกรรมของกลไกคาร์บอน ความสัมพันธ์ของการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จำแนกเป็น 2 ลักษณะคือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนำไปสู่ปัญหาสังคม 2 ลักษณะ ได้แก่ เป็นเครื่องมือการฟอกเขียว และ ก่อให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ในลักษณะห่วงโซ่อาชญากรรม ได้แก่ การฉ้อโกงประชาชน อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม อาชญากรรมคอปกขาว อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมไซเบอร์ การฉ้อโกงภาษี และการฟอกเงิน จากการศึกษาทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการฟอกเขียวด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตปรากฎว่า มีความสัมพันธ์กับการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับน้อย มีความสัมพันธ์กับไม่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก …


แนวทางการพัฒนากฎหมายการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยรูปแบบผสมระหว่างการไกล่เกลี่ยและการอนุญาโตตุลาการ, เอเซีย หยุ่นจิตต์ Jan 2022

แนวทางการพัฒนากฎหมายการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยรูปแบบผสมระหว่างการไกล่เกลี่ยและการอนุญาโตตุลาการ, เอเซีย หยุ่นจิตต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนากฎหมายการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยรูปแบบผสม (Mixed Mode / Hybrid Process) โดยการนำเอาการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการรวมเข้าด้วยกันซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในข้อพิพาทเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งจะศึกษาแนวความคิดของการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยรูปแบบผสมในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ (Act) ในเขตอำนาจศาลต่าง ๆ (Jusrisdiction) หลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่อยู่ในกฎของสถาบันการระงับข้อพิพาท (Rules) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ (Professional Practice Guideline) รวมถึงวิเคราะห์การบังคับตามผลลัพธ์ของการระงับข้อพิพาทด้วยรูปแบบผสมไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคำชี้ขาดตามความยินยอม (Consent Award) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ. 1958 (New York Convention 1958) และการบังคับในฐานะข้อตกลงเพื่อการระงับข้อพิพาท (Settlement Agreement) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยข้อตกลงการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศอันเป็นผลมาจากการไกล่เกลี่ย ค.ศ. 2019 (Singapore Convention on Mediation 2019) เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบกฎหมายกฎหมายการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยรูปแบบผสมที่เหมาะสมในบริบทของประเทศไทย


ปัญหาของการเปิดเผยและส่งมอบข้อมูลภายใต้มาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562, ชิตพล พงศ์วชิราพร Jan 2022

ปัญหาของการเปิดเผยและส่งมอบข้อมูลภายใต้มาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562, ชิตพล พงศ์วชิราพร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งศึกษาแนวคิด มาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และมาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยและในต่างประเทศ เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนามาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้มีความเหมาะสม จากการศึกษาพบว่า การที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 กำหนดข้อยกเว้นในการเปิดเผยและส่งมอบข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอื่นได้ เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการแสวงหาพยานหลักฐาน ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติ ฯ ย่อมเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ จึงถือได้ว่าเป็นมาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ประการหนึ่ง เนื่องจากมาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานเป็นมาตรการที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และในปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจดังกล่าว ย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมแก่การเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอื่น เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ และเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน


ขอบเขตความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, ตรีภพ โสวรรณรัตน์ Jan 2022

ขอบเขตความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, ตรีภพ โสวรรณรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตของความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยมุ่งศึกษาปัญหาในการบังคับใช้ รวมถึงแนวความคิดและเจตนารมณ์ในการบัญญัติความผิดฐานฟอกเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดตามมาตรา 5 (3) และนิยามของ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. 2558 อีกทั้งยังศึกษาขอบเขตการบังคับใช้และการบัญญัติความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรฐานสากล เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปรับปรุงความผิดฐานฟอกเงิน จากการศึกษาพบว่าความผิดฐานฟอกเงินในประเทศไทยมีการนำไปบังคับใช้เป็นจำนวนน้อย เนื่องจากความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายว่าการตีความความหมายของความผิดอาญาฟอกเงินนั้นกว้างแค่ไหน อย่างไร โดยสาเหตุของปัญหาดังกล่าวมีที่มาจากการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ที่เพิ่มเติมลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 5 (3) ที่มีขอบเขตความรับผิดที่กว้างขวางและไม่ชัดเจน มีลักษณะของการกระทำที่อาจไปทับซ้อนกับการกระทำความผิดมูลฐาน อันนำไปสู่การลงโทษซ้ำหรือลงโทษไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดได้ อีกทั้ง ในการแก้ไขครั้งดังกล่าวยังได้มีการแก้ไขนิยามของ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ให้มีขอบเขตกว้างเกินไปกว่าที่พันธกรณีระหว่างประเทศกำหนด จนทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงเสนอให้มีการแก้ไของค์ประกอบความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าว โดยกำหนดให้ความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 (3) ไม่นำไปบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดมูลฐานเพื่อป้องกันการลงโทษซ้ำ หรือการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ อีกทั้ง ยังแก้ไขวัตถุแห่งการกระทำความผิดให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และกำหนดเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษในบางกรณี เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตที่กว้างขวางของความผิดฐานฟอกเงิน ลดการบังคับใช้โทษทางอาญา และทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น


มาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกเพื่อป้องกันสังคม, วิวรรธน์ ดำรงค์กุลนันท์ Jan 2022

มาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกเพื่อป้องกันสังคม, วิวรรธน์ ดำรงค์กุลนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ทำการศึกษา “มาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกเพื่อป้องกันสังคม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรูปแบบมาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันสังคม จากการศึกษาพบว่า มาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกในส่วนของมาตรา 56 และมาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกรณีอื่น ๆ ยังไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้เสียหายและความปลอดภัยของสังคมกับสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัยของสังคมตามหลักป้องกันสังคม (social protection principle) กับสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิด สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาคือ ณ ปัจจุบันกระบวนทัศน์หลัก (major paradigm) เกี่ยวกับมาตรการนี้ยังคงอยู่ในยุครัฐสวัสดิการ (welfare state era) ที่สิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นกรณีที่มาตรการนี้ได้คำนึงถึง “สิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิด” เป็นสำคัญ ส่งผลให้มาตรการนี้ทั้งในด้านบทบัญญัติ (law) และการปรับใช้บทบัญญัติ (application of law) ตั้งอยู่บนฐานความคิดของสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก สภาวะเช่นนี้จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญตามมาคือ “ความไม่ปลอดภัยแก่สังคม” วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หลักเกี่ยวกับมาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกจากยุครัฐสวัสดิการสู่ยุคสังคมแห่งความเสี่ยง (social era of risk) ที่วงการนิติศาสตร์ได้มีการตั้งข้อสังเกต ตระหนัก และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงอันเป็นผลมาจากการมีอยู่และการปรับใช้มาตรการนี้อย่างจริงจังเนื่องจากนักนิติศาสตร์มีความวิตกกังวลว่าผลที่เป็นภยันตราย (การประกอบอาชญากรรม) จากการมีอยู่และการปรับใช้มาตรการนี้จะเกิดขึ้นกับตนเอง ประชาชน และ/หรือสังคม ซึ่งเป็นกรณีที่มาตรการนี้ได้คำนึงถึง “ความปลอดภัยของสังคม” เป็นสำคัญ ส่งผลให้มาตรการนี้ทั้งในด้านบทบัญญัติและการปรับใช้บทบัญญัติจะตั้งอยู่บนฐานความคิดของการป้องกันสังคมตามหลักป้องกันสังคมเป็นหลัก เพื่อจำกัด ควบคุม และป้องกันไม่ให้เกิดการประกอบอาชญากรรมขึ้นในอนาคต สภาวะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดผลดีตามมาคือ “ความปลอดภัยแก่สังคม” นอกจากข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นแล้ว วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอรูปแบบมาตรการนี้ที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันสังคม ซึ่งหากมีการนำรูปแบบดังกล่าวข้างต้นไปปรับใช้ จะช่วยสร้างความปลอดภัยแก่สังคมมากยิ่งขึ้น


มาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติการอำพราง : ศึกษากรณีการกำหนดความผิดอาญาฐานเปิดเผยข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง, อมตะ ชนะพงษ์ Jan 2022

มาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติการอำพราง : ศึกษากรณีการกำหนดความผิดอาญาฐานเปิดเผยข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง, อมตะ ชนะพงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการในการให้ความคุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง ซึ่งการปฏิบัติการอำพรางนั้นเป็นวิธีการสืบสวนชนิดหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง และหกาผู้ปฏิบัติการอำพรางถูกเปิดเผยข้อมูลแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้อำพรางรวมไปถึงครอบครัวด้วย จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547, พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งให้อำนาจในการปฏิบัติการอำพราง แต่มาตรการที่คุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพรางนั้นเป็นมาตรการควบคุมภายในองค์กรเท่านั้น ยังไม่มีบทบัญญัติใดให้ความคุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพรางจากการถูกเปิดเผยข้อมูลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันก่อให้เกิดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติการอำพรางและบ่อนทำลายประสิทธิภาพในการสืบสวนด้วย ต่อมาได้ศึกษากฎหมายของต่างประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศฝรั่งเศส และประเทศออสเตรเลีย ว่ามีแนวทางใดในการคุ้มครองข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง พบว่าประเทศเหล่านั้นใช้มาตราการลงโทษทางอาญาและได้กำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติการอำพรางหรือข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพรางเป็นความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับหนักเบาตามพฤติการณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547, พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยเพิ่มบทบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ปฏิบัติการอำพราง เพื่อเป็นการป้องกันและคุ้มครองบุคคลผู้ที่ต้องปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตรวมไปถึงครอบครัวจากการถูกเปิดเผยข้อมูลจากการปฏิบัติการอำพราง และช่วยให้ผู้ปฏิบัติการอำพรางมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่จนบรรลุงวัตถุประสงค์ในการอำพรางได้


The Corporate Criminal Misconducts Against The Environment: The Comparative Study Of Indonesia, Thailand, And South Africa, Fachrian Rizki Jan 2022

The Corporate Criminal Misconducts Against The Environment: The Comparative Study Of Indonesia, Thailand, And South Africa, Fachrian Rizki

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Article 96 Subsection (b), Article 151 and Article 161B of the Act Number 3 of 2020 on the Amendment of the Act Number 4 of 2009 on Mineral and Coal Mining of Indonesia create a strong foundation for the regulation and punishment of negligence of corporate post-mining obligations against the environment. Accordingly, if a corporation fails to comply with its post-mining obligations against the environment, the corporation will be subjected to a combined imposition of administrative and criminal sanctions. However, it is argued that the imposition of both administrative and criminal sanctions on the corporation and its responsible officers is …


การตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์ของผู้สูงอายุ, ธัญพิชชา สามารถ Jan 2022

การตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์ของผู้สูงอายุ, ธัญพิชชา สามารถ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางไซเบอร์ ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางไซเบอร์ และเพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขการตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางไซเบอร์ของผู้สูงอายุ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางไซเบอร์จำนวน 24 คน ผู้มีส่วนในการหลอกลวงจำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือหรือการป้องกันผู้สูงอายุจากการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์จำนวน 9 คน ผลการวิจัยแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุที่ถูกหลอกลวง ทางไซเบอร์ 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีรูปแบบและปัจจัยที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแตกต่างกัน คือ 1)ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงให้ลงทุน มีรูปแบบการถูกหลอกลวงโดยส่วนใหญ่ถูกชักชวนจากบุคคลที่รู้จักในกลุ่มไลน์ที่เคยลงทุนด้วยกัน หรือพบเห็นโฆษณาเชิญชวนบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีลักษณะของผลตอบแทนที่สูงเป็นสิ่งจูงใจ มีทั้งการให้ค่าตอบแทนจากการแนะนำสมาชิกใหม่ และไม่มีการให้ค่าตอบแทน ซึ่งผู้ที่มีส่วนในการหลอกลวงเป็นทั้งบุคคลธรรมดา และอยู่ในรูปแบบบริษัทจดทะเบียน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่ามี 8 ปัจจัย คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความโลภ ด้านเทคโนโลยี ด้านการสร้างความน่าเชื่อถือของผู้หลอกลวง ด้านความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ด้านสภาพความเป็นอยู่ ด้านการชักชวนให้ลงทุนจากญาติหรือคนรู้จัก และด้านความเชื่อมั่นใจตนเอง 2)ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ มีรูปแบบการหลอกลวงในการสร้างความตกใจกลัว หรือเกิดความโลภ และมีระยะเวลาในการให้ตัดสินใจจำกัด ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่า มี 4 ปัจจัย คือ ด้านความกลัว ด้านความโลภ ด้านความไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และด้านการอยู่เพียงลำพังขณะเกิดเหตุ 3)ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้หลอกลวงจะสร้างโพรไฟล์ให้ดูมีความน่าเชื่อถือ เปิดร้านขายบนสื่อสังคมออนไลน์ และขายผ่านตลาดกลางออนไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สินค้าที่หลอกลวงมักจะเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงนัก หรือเป็นสินค้าที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่ามี 3 ปัจจัยคือ ความไว้วางใจร้านค้าออนไลน์โดยไม่ได้ตรวจสอบ การส่งเสริมการขายที่ผิดปกติ และราคาสินค้าที่มีราคาไม่สูง 4)ผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกให้รักทางออนไลน์ มีรูปแบบการใช้จิตวิทยาในการหลอกลวง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและใช้ระยะเวลาในการสร้างความไว้วางใจ เลือกเหยื่อจากการดูโพรไฟล์บนสื่อสังคมออนไลน์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่อพบว่ามี 4 ปัจจัย คือ ความรักความหลง ความน่าเชื่อถือ ด้านความเหงา และความอายของผู้ที่ถูกหลอก โดยการหลอกลวงทั้ง 4 รูปแบบมีปัจจัยร่วมกันคือ ความรู้ไม่เท่าทันการหลอกลวง สำหรับแนวทางการแก้ไขการตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ การสร้างความตระหนักให้กับผู้สูงอายุในการรู้เท่าทันถึงรูปแบบการหลอกลวงทางไซเบอร์ การระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นที่ไม่รู้จัก การให้คำปรึกษาในกลุ่มของครอบครัว การจัดตั้งเครือข่ายกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อเผยแพร่ข่าวสารการหลอกลวงทางไซเบอร์ ความร่วมมือของภาคเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการปิดกันช่องทางการหลอกลวงจากผู้หลอกลวง ตลอดจนหน่วยงานของรัฐในการออกมาตรการทางกฎหมายตลอดจนการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด


ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, พิมพ์ชนก จันทบูรณ์ Jan 2022

ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข, พิมพ์ชนก จันทบูรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาเรื่อง ผู้ก่อการร้ายหญิง : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลเหตุ จูงใจ บทบาท และกระบวนการในการที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้าย ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ผลจากการวิจัยพบว่า มูลเหตุจูงใจในการก่อการร้ายของผู้หญิงสามารถแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่เป็นปัจจัยดึงดูด อันเป็นปัจจัยจากฝั่งกลุ่มก่อการร้าย ได้แก่ กระบวนการชักชวนและจัดหาที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับความมีบารมีและความดึงดูดของผู้นำกลุ่มก่อการร้ายและส่วนที่เป็นปัจจัยผลักดัน อันเป็นปัจจัยที่มาจากแรงกระตุ้นของฝั่งผู้หญิงเอง ได้แก่ อารมณ์ส่วนตัว ศาสนา และการเมือง จนนำไปสู่การเข้าสู่กระบวนการโดยสมัครใจเพื่อไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้าย โดยในต่างประเทศผู้หญิงมีทั้งบทบาทหลักในการก่อเหตุ และบทบาทสนับสนุน อาทิ การทำหน้าที่เป็นแม่ ภรรยา และจัดหาสมาชิก เป็นต้น ซึ่งมักถูกชักจูงผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ขณะที่บางส่วนที่ไม่สมัครใจก็จะตกเป็นเหยื่อเพื่อแสวงประโยชน์ของกลุ่มก่อการร้าย ในส่วนของประเทศไทยนั้น การก่อการร้ายถูกชี้นำไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้หญิงจะมีบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ อาทิ การทำหน้าที่ปฐมพยาบาล และการหารายได้ เป็นต้น โดยถูกชักจูงจากคนในครอบครัวและคนใกล้ตัว ประกอบกับการซึมซับข้อมูลและเรื่องเล่าต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์จากการอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน และเนื่องจากผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายในบทบาทต่าง ๆ อันเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ทั่วโลก ประชาคมระหว่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการก่อการร้ายทั้งในภาพรวมและในมิติของผู้หญิงในการก่อการร้ายเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี ยังพบว่าหลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายจวบจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาหลายทศวรรษ ผู้วิจัยจึงได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงนโยบาย การเพิ่มมาตรการป้องกันในระดับปฏิบัติ ตลอดจนการนำทฤษฎีทางอาชญาวิทยาและแนวทางการป้องกันจากต่างประเทศที่ได้ศึกษาไว้ มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางในการป้องกันและแก้ไขทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทของไทย