Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

PDF

Theses/Dissertations

Communication

2018

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Articles 1 - 26 of 26

Full-Text Articles in Entire DC Network

The Role Of Consumer Determinants In The Relationship Between Brand Equity And Behavioral Intentions, Hanh Tran Thi My Jan 2018

The Role Of Consumer Determinants In The Relationship Between Brand Equity And Behavioral Intentions, Hanh Tran Thi My

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The purpose of this study is to examine the relationship between brand equity and behavioral intentions (i.e., repurchase, recommend) as well as the moderating role of consumer determinants (i.e., trust, satisfaction, perceived electronic word-of-mouth) in this relationship within hedonic and utilitarian high-involvement product settings. The study employs a quantitative approach in which the cross-sectional survey was made to collect the data in Bangkok, Thailand. A total of 423 target samples aged from 18 to 25, studying and/or working in inner areas, were collected. The findings illustrate that brand equity is positively related to behavioral intentions in both contexts. Additionally, trust, …


การสื่อสารทางสังคมเชิงปัญญาผ่านการเล่าเรื่องเพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของวิถีชีวิตออร์แกนิก, ชญานิษฐ์ วิวัฒนวานิช โอยามา Jan 2018

การสื่อสารทางสังคมเชิงปัญญาผ่านการเล่าเรื่องเพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของวิถีชีวิตออร์แกนิก, ชญานิษฐ์ วิวัฒนวานิช โอยามา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมผ่านการเล่าเรื่องของคนต้นแบบ (2) เพื่อศึกษาการสื่อสารของชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม (3) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ทางการสื่อสาร ปัจจัยทางจิตวิทยาสังคมที่เป็นสาเหตุและอุปสรรคของการมีวิถีชีวิตออร์แกนิกเพื่อเสนอแบบจำลองเชิงแนวคิด (Conceptual model) ทางการสื่อสารสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมอย่างยั่งยืนผ่านการเล่าเรื่อง ผลการวิจัยพบว่า (1) ความแตกต่างของพื้นฐานคนต้นแบบวิถีชีวิตออร์แกนิกทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่หลากหลาย แต่อยู่บนพื้นฐานวิธีคิดเพื่อการใช้ชีวิตในแนวทางที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลเหมือนกัน (2) มิติความหมายวิถีชีวิตออร์แกนิกของคนต้นแบบมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากไปกว่าแนวคิดเกษตรออร์แกนิก (3) ลักษณะการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนวิถีขีวิตออร์แกนิกของเครือข่ายมีลักษณะเป็นการร่วมออกแบบบนพื้นฐานความหลากหลายของสมาชิก ทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ บนพลังของความร่วมมือ (4) แบบจำลองเชิงสาเหตุของการมีวิถีชีวิตออร์แกนิกของคนในเครือข่าย พบว่า ความน่าเชื่อถือของคนต้นแบบเป็นสาเหตุประแรกที่ส่งผลไปยังสาเหตุอื่นๆ เพื่อให้เกิดการใช้วิถีชีวิตออร์แกนิกในชีวิตประจำวัน งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า วิถีชีวิตออร์แกนิกซึ่งเป็นนวัตกรรมสังคมตั้งอยู่บนรากฐานวิธีคิดของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและไปถึงระดับความเป็นสาธารณะ (The Common) ได้ หากให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพราะผู้ฟังเรื่องเล่าสามารถกลายมาเป็นผู้เล่าเรื่องได้เอง แต่อย่างไรก็ตาม การสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตออร์แกนิกจะต้องสื่อสารไปถึงระดับฐานรากวิธีคิดแม้ว่าความหลากหลายของคนในสังคมจะทำให้เกิดความแตกต่างของหนทาง (Output) แต่ผลลัพธ์ (Outcome) จะต้องสอดคล้องกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเพื่อความเป็นสาธารณะเหมือนกัน


แหล่งข้อมูลข่าวสาร และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของผู้หญิงโสด, จิดาภา เอกอินทร์ Jan 2018

แหล่งข้อมูลข่าวสาร และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวของผู้หญิงโสด, จิดาภา เอกอินทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The objectives of this research are: 1) To explore and study information sources used by single women for traveling purpose, 2) To study the traveling behavior pattern of single women. This research implements both qualitative and quantitative methods. First in-depth interviews were arranged to collect data from 18 single women travelers. Questionnaires are developed as a tool for a survey research from these interviews. The survey was collected from 855 single women whose ages are between 25 to 45 years old and reside in Bangkok. The result shows that more than half of sample tend to travel to domestic as …


ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในอินสตาแกรมสำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม กับการเปิดรับ ทัศนคติ และพฤติกรรมการตอบสนองของผู้บริโภค, ชนิดา กิ่งรุ้งเพชร์ Jan 2018

ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในอินสตาแกรมสำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม กับการเปิดรับ ทัศนคติ และพฤติกรรมการตอบสนองของผู้บริโภค, ชนิดา กิ่งรุ้งเพชร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาแนวทางการสื่อสารของผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในอินสตาแกรม สำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม โดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในอินสตาแกรมสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 5 ท่าน และทำการศึกษาการเปิดรับ ทัศนคติ และพฤติกรรมการตอบสนองของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในอินสตาแกรม สำหรับสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้ง 3 โดยวิธีวิจัยเชิงปริมาณ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน จากผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดแบบบุคคลธรรมดา มักจะโพสต์เฉพาะภาพนิ่ง ส่วนผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่มีชื่อเสียง มักจะโพสต์ภาพเคลื่อนไหว และจากผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกที่จะติดตามผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดทั้ง 2 ประเภท โดยมีความถี่ในการเปิดรับเป็นประจำทุกวัน ซึ่งรูปภาพเป็นรูปแบบของสารที่เปิดรับมากที่สุด ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อทัศนคติที่ว่าผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดมีความสามารถในการสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจ และกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการตอบสนองโดยการกดติดตามมากที่สุด ในขณะที่การเปิดรับสารมีความสัมพันธ์เชิงบวก กับทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในระดับต่ำ และทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดมีความสัมพันธ์เชิงบวก กับพฤติกรรมการตอบสนองของผู้บริโภคที่มีต่อโพสต์ในระดับปานกลาง


การพัฒนากรอบแนวคิดความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์ของบุคลากรต่างรุ่นในองค์กรไทย, ชัยวัฒน์ โรจน์สุรกิตติ Jan 2018

การพัฒนากรอบแนวคิดความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์ของบุคลากรต่างรุ่นในองค์กรไทย, ชัยวัฒน์ โรจน์สุรกิตติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหากรอบแนวคิดความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์ที่คาดหวังของบุคลากรต่างรุ่นในองค์กรไทย รวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์ของบุคลากรในแต่ละรุ่น ผู้วิจัยดำเนินการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบสหวิธี ได้แก่ วิธีวิจัยเชิงปริมาณ จากการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม (403 คน) และวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (20 คน) จากกลุ่มตัวอย่างบุคลากร 2 รุ่นอายุ ได้แก่ บุคลากรรุ่นก่อน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) และ บุคลากรรุ่นหลัง (อายุ 39 ปีลงมา) ซึ่งเป็นพนักงานทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการในองค์กรไทยภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนจำนวน 12 องค์กร ผลการศึกษาวิจัยพบว่า: 1. ส่วนใหญ่บุคลากรทั้งสองรุ่นอายุมีระดับความคาดหวังต่อการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์ของบุคลากรต่างรุ่นมากกว่าที่มีระดับการรับรู้ถึงการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์ของบุคลากรต่างรุ่นในความเป็นจริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 โดยบุคลากรทั้งสองรุ่นอายุต่างมีระดับการรับรู้และความคาดหวังพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์เพื่อ "สร้างและรักษาบรรยากาศในที่ทำงาน" จากบุคลากรต่างรุ่นมากที่สุด ส่วนพฤติกรรมที่ทั้งสองรุ่นอายุมีระดับการรับรู้และความคาดหวังน้อยที่สุดคือพฤติกรรมเกี่ยวกับ "การระบายอารมณ์เชิงลบในที่ทำงาน" นอกจากนี้ บุคลากรรุ่นหลังมีความคาดหวังการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์จากบุคลากรรุ่นก่อนมากกว่าที่บุคลากรรุ่นก่อนคาดหวังจากบุคลากรรุ่นหลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 2. บุคลากรทั้งสองรุ่นอายุรับรู้ว่าปัจจัย "ลักษณะส่วนบุคคล" และ "ระดับความสนิทสนม" มีอิทธิพลต่อการสื่อสารเชิงอารมณ์ของตนเองมากที่สุด ในขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลน้อยที่สุดได้แก่ "ประเภทธุรกิจ" และ "ช่องทางการติดต่อสื่อสารแบบข้อความ" นอกจากนี้ ผลการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพบ่งชี้ว่า บุคลากรรุ่นก่อนรับรู้ว่าว่าปัจจัย "เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย" มีอิทธิพลต่อการสื่อสารเชิงอารมณ์ของบุคลากรรุ่นหลัง มากกว่าที่บุคลากรรุ่นหลังรับรู้ถึงอิทธิพลของปัจจัยดังกล่าวต่อการการสื่อสารเชิงอารมณ์ของตนเอง


การเล่าเรื่องเชิงปฏิสัมพันธ์ในเกมวิชวลโนเวลประเภท "เกมจีบหนุ่ม" บนสมาร์ตโฟน, ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์ Jan 2018

การเล่าเรื่องเชิงปฏิสัมพันธ์ในเกมวิชวลโนเวลประเภท "เกมจีบหนุ่ม" บนสมาร์ตโฟน, ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเล่าเรื่องเชิงปฏิสัมพันธ์ในเกมวิชวลโนเวลประเภทเกมจีบหนุ่มบนสมาร์ตโฟน พฤติกรรมการเล่นเกม การสืบค้นข้อมูลและการสื่อสารบนสื่ออินเทอร์เน็ตของผู้เล่นเกมวิชวลโนเวลประเภทเกมจีบหนุ่มบนสมาร์ตโฟน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยวิธี การวิเคราะห์เรื่องเล่า การวิเคราะห์ตัวบท การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า เกมจีบหนุ่มบนสมาร์ตโฟนมีลักษณะเนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน และใช้วิธีการเล่าเรื่องเหมือนกับนิยายประเภทรักโรแมนติกโดยทั่วไป แต่มีการใช้คุณสมบัติของความเป็นเกมและการนำเสนอผ่านสื่อสมาร์ตโฟนมาเป็นองค์ประกอบเสริมเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองได้สวมบทบาทเป็นตัวละครนางเอกของเรื่อง ได้แก่ การตั้งชื่อตัวละครเพื่อแทนตัวผู้เล่น การเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 1 เพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่ในเกม และใช้การตัดสินใจเลือกตัวเลือกของผู้เล่นเพื่อกำหนดแนวทางของเนื้อเรื่องในเกม องค์ประกอบดังกล่าวทำให้ผู้เล่นรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเนื้อเรื่อง และรู้สึกได้ว่าตัวเองมีบทบาทในการสร้างเนื้อเรื่องภายในเกม ด้านพฤติกรรมขณะเล่น ผู้เล่นทุกคนมองว่าตัวละครเป้าหมายเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งในเนื้อเรื่องของเกมเท่านั้น ไม่มีตัวตนจริงและไม่สามารถสามารถทดแทนคนรักในชีวิตจริงได้ ด้านพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ ผู้เล่นโดยทั่วไปนิยมเล่นเกมเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ นอกจากช่องทางของผู้ผลิตเกม เนื่องจากเกมจีบหนุ่มเป็นเกมที่สามารถเล่นคนเดียวได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เล่นคนอื่น แต่ก็พบว่าบนสื่อสังคมออนไลน์ยังคงมีช่องทางสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้เล่น


กระบวนการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยและการรับรู้ภาพลักษณ์ความเป็นไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านสื่อสังคมออนไลน์, ธันยชนก มูลนิลตา Jan 2018

กระบวนการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยและการรับรู้ภาพลักษณ์ความเป็นไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านสื่อสังคมออนไลน์, ธันยชนก มูลนิลตา

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์กระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่การรับรู้ของประชาชนชาวจีนผ่านสื่อออนไลน์ 2)วิเคราะห์รูปแบบสาร องค์ประกอบ และขั้นตอนในการสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทย 3) สำรวจการรับรู้ภาพลักษณ์ความเป็นไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนในสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยวิธีการวิจัยแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยวิธีการศึกษาวิจัยย้อนหลัง (retrospective studies) และ การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) ในส่วนวิธีวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative) ซึ่งใช้เครื่องมือวิจัยคือแบบสอบถาม (Questionnaires) กับนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 400 คน ผลการศึกษาพบว่า อัตลักษณ์ความเป็นไทยในความหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประกอบด้วย 7 ประเภท ได้แก่ คนไทย ภาษาไทย วัฒนธรรมและอาหาร ศาสนา พัสตราภรณ์ สถาปัตกรรม แหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้รูปแบบสารในการนำเสนอบนเพจหลักการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ปรากฏมากที่สุดคือ สื่อปฏิสัมพันธ์ประเภทภาพนิ่ง รองลงมาคือสื่อปฏิสัมพันธ์ประเภทภาพเคลื่อนไหว และน้อยที่สุดคือสื่อปฏิสัมพันธ์ประเภทคำบรรยาย นอกจากนี้เนื้อหาสำคัญที่ปรากฎมากที่สุดคือเนื้อหาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มุ่งสร้างการรับรู้ด้านการท่องเที่ยวไทยให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ในส่วนการรับรู้ภาพลักษณ์ความเป็นไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีน ผลการศึกษาพบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนรับรู้ความเป็นไทยด้านแหล่งท่องเที่ยวแบบศิลปะวิทยาการมากที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับการนำเสนอความเป็นไทยด้านแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาด


ลักษณะทางประชากร แรงจูงใจของผู้บริโภคและพฤติกรรมการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซในเขตกรุงเทพมหานคร, ธันยพร กวีบริบูรณ์ Jan 2018

ลักษณะทางประชากร แรงจูงใจของผู้บริโภคและพฤติกรรมการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซในเขตกรุงเทพมหานคร, ธันยพร กวีบริบูรณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษา 1.) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากร แรงจูงใจของผู้บริโภค และพฤติกรรมการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซในเขตกรุงเทพมหานคร 2.) เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างลักษณะทางประชากรกับแรงจูงใจในการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซในเขตกรุงเทพมหานคร 3.) เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างลักษณะทางประชากรกับพฤติกรรมการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซในเขตกรุงเทพมหานคร 4.) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจกับพฤติกรรมการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซในเขตกรุงเทพมหานคร โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่เคยใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซตอบแบบสอบถามออฟไลน์ จำนวน 400 คน จากผลวิจัยเชิงปริมาณพบว่า 1.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซมีช่วงอายุ 18-30 ปี มีมากที่สุด 2.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซมีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรีมากที่สุด 3.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซประกอบอาชีพอิสระมากที่สุด 4.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซมีรายได้ต่อเดือน 10,000-20,000 บาทมากที่สุด 5.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซมีสถานภาพโสดมีมากกว่าสถานภาพสมรส 6.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซมีลักษณะที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมมากที่สุด 7.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซมีจำนวนสมาชิกในครอบครัว 3 คน มากที่สุด 8.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซที่มีอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ สถานภาพ ลักษณะที่อยู่อาศัยจำนวนสมาชิกในครอบครัวแตกต่างกันมีแรงจูงใจในการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซต่างกัน 9.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซที่มี รายได้ สถานภาพ แตกต่างกันมีพฤติกรรมในการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซต่างกัน 10.) ผู้ใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ ลักษณะที่อยู่อาศัยจำนวนสมาชิกในครอบครัวแตกต่างกันมีพฤติกรรมในการใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซไม่ต่างกัน 11.) แรงจูงใจและพฤติกรรมการใช้บริการ โคเวิร์คกิ้งสเปซมีความสัมพันธ์กันเชิงบวก และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำ


อิทธิพลของการรับรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่มต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค, ปริญญาภรณ์ แสงสุข Jan 2018

อิทธิพลของการรับรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่มต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค, ปริญญาภรณ์ แสงสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำผักและผลไม้พร้อมดื่มของผู้บริโภค (2) เพื่อศึกษาอิทธิพลของการรับรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่อการตัดสินใจซื้อน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่มของผู้บริโภค โดยทำการศึกษาการรับรู้ในด้านองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ และประสิทธิภาพของการออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งใช้การวิจัยเชิงสำรวจด้วยวิธีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม จำนวน 430 ชุด จากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้ที่มีต่อบรรจุภัณฑ์น้ำผักและผลไม้พร้อมดื่ม 100% ในระดับสูง เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นของการรับรู้ในด้านองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ และด้านการรับรู้ประสิทธิภาพการออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำผักและผลไม้พร้อมดื่ม 100% พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ระดับสูงมากในด้านวัสดุของบรรจุภัณฑ์ที่เคยเห็นเป็นกล่องกระดาษแข็ง รองลงมาคือบรรจุภัณฑ์ที่เคยเห็นมีฉลากทางโภชนาการ (Nutrition Information) ในส่วนของอิทธิพลของการรับรู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากที่สุดคือ แรงจูงใจทางด้านอารมณ์ (ภาพหรือสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจ) มากที่สุด รองลงมาคือวัสดุ (แก้ว) ซึ่งน้ำผักและผลไม้เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวพันต่ำ (Low Involvement) นั้น ผู้บริโภคจะมีการใช้อารมณ์ และความรู้สึกประกอบการตัดสินใจซื้อ โดยพิจารณาจากภาพหรือสัญลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก หมายความว่าเมื่อกลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ภาพหรือสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจมากขึ้นจะมีการตัดสินใจซื้อที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตัวแปรดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากที่สุด


อิทธิพลของการสื่อสารการตลาดออนไลน์ต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในร้านมัลติแบรนด์สโตร์, ภูษณิศา ลิ้มอังกูร Jan 2018

อิทธิพลของการสื่อสารการตลาดออนไลน์ต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในร้านมัลติแบรนด์สโตร์, ภูษณิศา ลิ้มอังกูร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษา 1.)เพื่อศึกษาการเปิดรับการสื่อสารการตลาดออนไลน์ทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์และพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์2.)เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับการสื่อสารการตลาดออนไลน์กับทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์ของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์3.)เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์กับพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์4.)เพื่อศึกษาถึงอิทธิพลของการสื่อสารการตลาดออนไลน์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่18-40ปีทั้งเพศชายและเพศหญิงที่เคยซื้อสินค้าร้านมัลติแบรนด์สโตร์ในรอบระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา และมีการติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของร้านมัลติแบรนด์สโตร์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งใน 3 แบรนด์หลักได้แก่ Sense Of Style (SOS) CAMP และ Match boxตอบแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 400 คน จากผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า1.) ผู้บริโภคมีการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับร้านมัลติแบรนด์สโตร์ในรูปแบบรูปภาพผ่านอินสตาแกรมมากที่สุด 2.) ผู้บริโภคมีทัศนคติชื่นชอบมากที่สุดต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์โดยการใช้พนักงานขาย (Admin) 3.) ราคาของสินค้ามีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์เป็นประจำมากที่สุด 4.) การเปิดรับการสื่อสารการตลาดออนไลน์และทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์ของผู้บริโภค มีความสัมพันธ์กันในเชิงบวกและมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในระดับสูง5.) ทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์และพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์ มีความสัมพันธ์กันในเชิงบวกและมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง6.) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคร้านมัลติแบรนด์สโตร์ คือทัศนคติต่อการสื่อสารการตลาดออนไลน์ (Beta = 0.388) และการเปิดรับการสื่อสารการตลาดออนไลน์ (Beta = 0.258)


การเปิดรับ ความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค, พรทรัพย์ ฉัตรศิริกุล Jan 2018

การเปิดรับ ความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค, พรทรัพย์ ฉัตรศิริกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสำรวจการเปิดรับ ความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัล และการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค 2) เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลของผู้บริโภคกับความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัล 3) เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลกับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค 4) เพื่ออธิบายความแตกต่างการเปิดรับ และความน่าเชื่อถือในกลุ่มผู้บริโภคที่มีเพศ อายุ อาชีพ ต่างกันของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัล เป็นการวิจัยจัยเชิงสำรวจ ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลกับผู้บริโภคที่รับชมรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัล ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพพมหานคร จำนวน 400 คน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความถี่การรับชมรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลในระดับน้อย โดยรับชมขณะอยู่ที่บ้านมากที่สุด รองลงมาคือ รับชมบนพาหนะระหว่างเดินทางและรับชมที่ทำงาน ทั้งนี้รับชมผ่านทางโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาคือโทรศัพท์มือถือ ช่วงเวลาที่ชมมากที่สุดคือ 17.01-21.00 น. ความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัล พบว่า ความน่าเชื่อถือโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละด้านพบว่า ความน่าเชื่อถือด้านความไว้วางใจ ด้านความสมเหตุสมผล และด้านวิธีการนำเสนออยู่ในระดับมาก ในขณะที่ด้านคุณธรรม อยู่ในระดับปานกลาง ในส่วนการตัดสินใจซื้อสินค้าในรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลอยู่ในระดับปานกลาง โดยพบว่า เป็นลักษณะการตัดสินใจซื้อแบบวางแผนการซื้อเพียงบางส่วน กล่าวคือการที่ผู้บริโภครับรู้ความต้องการของตนเอง และตั้งใจที่จะซื้อ แต่ยังไม่ได้ระบุสินค้า หรือระยะเวลาการซื้อ เพียงแต่เมื่อรับชมรายการโฮมช็อปปิ้งจึงตัดสินใจซื้อ ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ความถี่ในการเปิดรับรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลมีความสัมพันธ์กับความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้เป็นความสัมพันธ์ระดับต่ำ มีทิศทางแปรตามกัน ในด้านความน่าเชื่อถือของรายการโฮมช็อปปิ้งในทีวีดิจิทัลพบว่า มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นความสัมพันธ์ระดับปานกลาง มีทิศทางแปรตามกัน นอกจากนี้พบว่า ผู้บริโภคที่รับชมรายการที่มี อายุ และ อาชีพต่างกันมีความถี่ในการเปิดรับ และความเชื่อถือของรายการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ประสิทธิผลของการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานในองค์กรไม่แสวงหากำไร, วันทนีย์ เจียรสุนันท์ Jan 2018

ประสิทธิผลของการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานในองค์กรไม่แสวงหากำไร, วันทนีย์ เจียรสุนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลของสมรรถนะการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน (ได้แก่ สมรรถนะด้านการปฏิสัมพันธ์ สมรรถนะด้านการตลาดเชิงพันธกิจ สมรรถนะด้านโครงสร้างพื้นฐานองค์กร สมรรถนะด้านความสอดคล้องเชิงกลยุทธ์ และสมรรถนะด้านการวางแผนและประเมินผล) ที่มีต่อสมรรถนะการดำเนินงานด้านต่างๆ (คือ สมรรถนะด้านความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สมรรถนะด้านชื่อเสียงขององค์กร สมรรถนะด้านประสิทธิผลโครงการรณรงค์ สมรรถนะด้านทรัพยากรขององค์กร และสมรรถนะด้านสมรรถนะตราสินค้า) ขององค์กรไม่แสวงหากำไร โดยใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลทางไปรษณีย์กับกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย จำนวน 206 องค์กร ผลการวิจัยพบว่า สมรรถนะการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานโดยรวม ส่งผลต่อสมรรถนะการดำเนินงานเชิงบวกขององค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสมรรถนะด้านการวางแผนและประเมินผล สมรรถนะด้านโครงสร้างพื้นฐานองค์กร และสมรรถนะด้านการปฏิสัมพันธ์ เป็นสมรรถนะการสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานที่ส่งผลต่อการดำเนินงานด้านต่างๆ ขององค์กรไม่แสวงหากำไรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อและพฤติกรรมผู้บริโภคร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิก, วาทิตา เนื่องนิยม Jan 2018

การสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อและพฤติกรรมผู้บริโภคร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิก, วาทิตา เนื่องนิยม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษา 1) เพื่อศึกษาการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อของร้านอาหารไทยในประเทศประเทศโมซัมบิก 2) เพื่อศึกษารูปแบบการเปิดรับการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารไทยของผู้บริโภคในประเทศโมซัมบิก 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารไทยไทยของผู้บริโภคในประเทศโมซัมบิก 4) เพื่อศึกษาความแตกต่างของลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกันในการเปิดรับการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารไทยของผู้บริโภคในประเทศโมซัมบิกเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี ได้แก่ การวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 5 คน จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับร้านอาหารในต่างประเทศ และผู้บริหารร้านอาหารไทย และผลการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามจำนวน 400 ชุด โดยเก็บข้อมูลที่กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก ผลการวิจัยเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับร้านอาหารในต่างประเทศและผู้บริหารร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จำนวน 5คน ให้ความคิดเห็นตรงกันว่า การสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อ เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีประโยชน์ต่อร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิก ผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่าผู้บริโภคมีการเปิดรับการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อเกี่ยวกับร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิกผ่านทางสื่อออนไลน์มากที่สุด โดยมีการเปิดรับสื่อจากสมาชิกในครอบครัว ญาติ พี่น้องมากที่สุด ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีมากต่อร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิก โดยมีทัศนคติต่อหน้าตา หรือความสวยงามของอาหาร และการจัดแต่งแสงไฟในร้านอาหารมากที่สุด และผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิกบ่อย ๆ โดยมีการใช้บริการร้านอาหารไทยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ คือ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ มากที่สุด ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า 1) การเปิดรับการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อมีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อร้านอาหารไทยของผู้บริโภคในประเทศโมซัมบิก โดยมีความสัมพันธ์กันในเชิงลบ และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำมาก 2) ทัศนคติต่อร้านอาหารไทยมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารไทยของผู้บริโภคในประเทศโมซัมบิก โดยมีความสัมพันธ์กันในเชิงลบ และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำมาก 3) ผู้บริโภคที่มีอายุ อาชีพและศาสนาแตกต่างกันมีการเปิดรับการสื่อสารการตลาดแบบบอกต่อเกี่ยวกับร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิกแตกต่างกัน 4) ผู้บริโภคที่มีอายุ และอาชีพแตกต่างกันมีทัศนคติต่อร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิกแตกต่างกัน 5) ผู้บริโภคที่มีอายุ อาชีพ และศาสนาแตกต่างกันมีพฤติกรรมการใช้บริการร้านอาหารไทยในประเทศโมซัมบิกแตกต่างกัน


ความสัมพันธ์ต่อภาพลักษณ์ตราสินค้าเครื่องสำอางชั้นนำกับภาพลักษณ์ผู้บริโภคของผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอกซ์ และ ผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอ็ม, ศรัณรักษ์ โรจนวิทย์สกุล Jan 2018

ความสัมพันธ์ต่อภาพลักษณ์ตราสินค้าเครื่องสำอางชั้นนำกับภาพลักษณ์ผู้บริโภคของผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอกซ์ และ ผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอ็ม, ศรัณรักษ์ โรจนวิทย์สกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางชั้นนำของผู้บริโภคผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอกซ์ และ ผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอ็ม 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของภาพลักษณ์ตราสินค้าเครื่องสำอางชั้นนำกับภาพลักษณ์ผู้บริโภคกลุ่มผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอกซ์ และ ผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอ็ม และ 3) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางชั้นนำระหว่างผู้หญิงกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์กับผู้หญิงกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอ็ม ใช้วิธีการวิจัยแบบวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้วิธีการศึกษาด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มย่อย (Focus Group Interview) จำนวน 4 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอกซ์ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน และกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอ็ม 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 คน เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอกซ์และผู้หญิงกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอ็มมีพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางชั้นนำที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ขั้นตอนก่อนการซื้อ ผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มมีการสืบค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องสำอางชั้นนำผ่านสื่อออนไลน์ และมีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้ากับครอบครัวและเพื่อน ๆ ขั้นตอนการซื้อ ผู้หญิงทั้ง 2 กลุ่มมักซื้อเครื่องสำอางชั้นนำที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำเป็นหลัก รองลงมาเป็นการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ ซึ่งพบความแตกต่างคือกลุ่มผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอ็มจะมีการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและมีขนาดของผลิตภัณฑ์หลากหลายมากกว่า และขั้นตอนหลังการซื้อ ผลทางด้านจิตใจผู้หญิงทั้งสองกลุ่มรู้สึกพอใจต่อสินค้า และภาพลักษณ์ของตนเองเมื่อบริโภคเครื่องสำอางชั้นนำ ด้านการบริโภคมีความแตกต่างกันระหว่างผู้หญิง 2 กลุ่ม กลุ่มผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอกซ์บริโภคสินค้าตามความต้องการ ไม่มีการวางแผน ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มผู้หญิงเจนเนอเรชั่นเอ็มที่มีการวางแผนการใช้เครื่องสำอางชั้นนำเพื่อยืดอายุการใช้งานของสินค้าให้ได้ยาวนานที่สุด ด้านความสัมพันธ์ระหว่างภาพลักษณ์ตราสินค้าเครื่องสำอางชั้นนำและภาพลักษณ์ผู้บริโภค ผู้วิจัยพบลักษณะความสัมพันธ์ 2 ลักษณะ คือ การฉายภาพลักษณ์ผู้บริโภคผ่านภาพลักษณ์ตราสินค้า ในลักษณะนี้ผู้บริโภคมีภาพลักษณ์เหมือนกับภาพลักษณ์ตราสินค้า บริโภคเครื่องสำอางชั้นนำเพื่อฉายภาพลักษณ์ของตนเองให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และการยืมภาพลักษณ์ตราสินค้าเพื่อเสริมภาพลักษณ์ผู้บริโภค เป็นการบริโภคเครื่องสำอางชั้นนำเพื่อยืมภาพลักษณ์ตราสินค้ามาเพื่อสนับสนุนภาพลักษณ์ของตนเอง โดยผู้บริโภคต้องการที่จะมีภาพลักษณ์เหมือนกับภาพลักษณ์ตราสินค้าเครื่องสำอางชั้นนำ


อัตลักษณ์ และการสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับของผู้บริหารหญิงในองค์กรไทย, วิไลลักษณ์ คำแจ่ม Jan 2018

อัตลักษณ์ และการสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับของผู้บริหารหญิงในองค์กรไทย, วิไลลักษณ์ คำแจ่ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง 1) การรับรู้และการพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเอง 2) การจัดการเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ที่ตนรับรู้และพัฒนาอัตลักษณ์ และ 3) กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับของผู้บริหารหญิงในองค์กรไทย ใช้แนวทางวิจัยแบบย้อนหาร่องรอย (retrospective approach) ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) กับผู้บริหารหญิงระดับสูงในองค์กรไทยประเภทการเงินและไม่ใช่การเงิน จากภาครัฐและเอกชน สุ่มตัวอย่างโดยวิธีเจาะจง (purposive sampling) จำนวน 26 ท่าน และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เคย/มีประสบการณ์ร่วมงานกับผู้บริหารหญิงเพื่อตรวจสอบความตรง (validity) ด้วย สุ่มตัวอย่างจากความสมัครใจ (volunteer sampling) จำนวน 16 ท่าน ผลการศึกษาพบว่า อัตลักษณ์ของผู้บริหารหญิงในองค์กรไทย ประกอบด้วย อัตลักษณ์ขั้นพื้นฐานซึ่งเกิดขึ้นและมีอยู่กับตัวผู้บริหารหญิงตั้งแต่เด็กเรื่อยมา และอัตลักษณ์ที่พัฒนาขึ้นภายหลัง ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงเข้าสู่บทบาทบริหารระดับกลางขึ้นไป นอกจากนี้ ในช่วงต้นของการทำงานและเป็นผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารหญิงใช้อัตลักษณ์ที่แสดงถึงการมีมนุษยสัมพันธ์และการทุ่มเททำงานหนักเพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับ และเมื่อเข้าสู่การเป็นผู้บริหารระดับกลางจนถึงระดับสูง การเป็นผู้นำที่เปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่งต้องอาศัยการแสดงตัวตนที่มีความกล้าหาญ เข้มแข็งเพื่อสร้างการยอมรับ ทั้งนี้การพัฒนาอัตลักษณ์ของผู้บริหารหญิงมาจากปัจจัยภายใน อาทิ ความคิด และการทบทวนตนเอง ประกอบกับปัจจัยภายนอก อาทิ การขัดเกลาจากครอบครัว และการศึกษา ในส่วนของการจัดการเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ ผู้บริหารหญิงจะพิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ตามลำดับ 1) การรับรู้ความเป็นตนเอง 2) ความสัมพันธ์ของคู่สื่อสาร 3) ความต้องการและเป้าหมายของการสื่อสาร 4) สถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง และ 5) ลักษณะองค์กรและวัฒนธรรม สำหรับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับ ในช่วงเริ่มต้นทำงานถึงการเป็นผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารหญิงใช้กลยุทธ์การสื่อสาร เช่น การใช้เหตุผล และการกล่าวถึงคุณธรรม เพื่อสร้างการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานเป็นหลัก ในขณะที่เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งบริหารระดับกลางจนถึงระดับสูง ผู้บริหารหญิงใช้กลยุทธ์การสื่อสาร เช่น การกล่าวถึงประโยชน์ส่วนรวม และการเป็นผู้เปิดกว้างรับฟัง เพื่อนำไปสู่การสร้างการยอมรับในองค์กรไทย เป็นหลัก อย่างไรก็ตามการรับรู้อัตลักษณ์ และกลยุทธ์การสื่อสารที่มาจากมุมมองผู้บริหารหญิงดังกล่าวมักเป็นลักษณะเชิงบวก ในขณะที่การรับรู้ที่มาจากผู้มีประสบการณ์ร่วมงานมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยมุมมองในเชิงลบเป็นมุมมองที่เกี่ยวข้องกับอคติที่มีต่อความเป็นเพศหญิง


ความเห็นของประชาชนต่อการออกแบบสารในภาวะวิกฤต, สิโนบล สายเพ็ชร Jan 2018

ความเห็นของประชาชนต่อการออกแบบสารในภาวะวิกฤต, สิโนบล สายเพ็ชร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และอธิบายการออกแบบสารที่ใช้ในการสื่อสารภาวะวิกฤตขององค์กรหรือตราสินค้า และเพื่อสำรวจความเห็นของประชาชนที่ทำงานในกรุงเทพและปริมณฑลที่มีต่อการออกแบบสารฯ ใช้รูปแบบการวิจัยแบบการวิเคราะห์เนื้อหา และการวิจัยเชิงสำรวจ โดยวิเคราะห์เอกสารคำชี้แจงขององค์กรหรือตราสินค้าในภาวะวิกฤตในช่วงปี พ.ศ.2557 – 2561 จากนั้นนำผลการวิเคราะห์ไปทำแบบสอบถามสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ผลการวิจัยพบว่า ด้านกลยุทธ์มี 12 รูปแบบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ รายได้และระดับการศึกษาต่างกันมีความเข้าใจ ยอมรับเหตุผล และคล้อยตามต่อกลยุทธ์ที่ใช้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยการใช้กลยุทธ์การขอโทษ และกลยุทธ์ที่มีการระบุว่าจะมีบทลงโทษ กรณีองค์กรเป็นฝ่ายผิด และเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ร่างกาย ชีวิต หรือทรัพย์สิน ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจ ยอมรับเหตุผล และคล้อยตามในระดับมาก สำหรับด้านการเรียบเรียงสาร มี 4 แบบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความเข้าใจ ยอมรับเหตุผล และคล้อยตามต่อการเรียบเรียงสารที่ใช้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งการเรียบเรียงสารโดยแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อทีละหัวข้อเรียงกันไป และการเรียบเรียงโดยอธิบายตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจ ยอมรับเหตุผล และคล้อยตามในระดับมาก ด้านการจัดลำดับข้อความ มี 3 แบบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ รายได้และระดับการศึกษาต่างกัน มีความเข้าใจ ยอมรับเหตุผล และคล้อยตามต่อการจัดลำดับข้อความที่ใช้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยการจัดให้สาระสำคัญอยู่ตอนต้น ทำให้กลุ่มตัวอย่างเข้าใจและยอมรับเหตุผลในระดับมาก ด้านจุดจูงใจ มี 2 ประเภท โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีเพศ อายุ รายได้ และระดับการศึกษาต่างกันมีความเข้าใจ ยอมรับเหตุผล และคล้อยตามต่อจุดจูงใจที่ใช้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


การพัฒนานักแสดงเพื่อสร้างอัตลักษณ์ตัวละครท้องถิ่นในละครโทรทัศน์ยอดนิยม, ฐิตา ทิพย์รัตน์ Jan 2018

การพัฒนานักแสดงเพื่อสร้างอัตลักษณ์ตัวละครท้องถิ่นในละครโทรทัศน์ยอดนิยม, ฐิตา ทิพย์รัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการพัฒนานักแสดงเพื่อสร้างอัตลักษณ์ตัวละครท้องถิ่นในละครโทรทัศน์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกระบวนการและเทคนิคที่ใช้ในการพัฒนานักแสดงต่อไป งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนานักแสดงจำนวน 12 คน และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) ของผู้วิจัยเองโดยผู้วิจัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกสอนนักแสดงพูดภาษาถิ่นใต้ในละครเรื่อง "สัมปทานหัวใจ" ผลการวิจัยพบว่า อัตลักษณ์ตัวละครท้องถิ่นที่ปรากฏในละครโทรทัศน์ ประกอบด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นไว้ 5 ประเภท ที่ ได้แก่ (1) รูปร่าง หน้าตาของนักแสดง, (2) การแต่งกาย, (3) วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น, (4) ภาษาถิ่น และ (5) ศิลปะการแสดงท้องถิ่น โดยสามารถอธิบายได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) อัตลักษณ์ตัวละครท้องถิ่นที่ถูกสร้างสรรค์จากทีมผู้ผลิตละครโทรทัศน์ ได้แก่ รูปร่าง หน้าตาของนักแสดง (จากการคัดเลือก), การแต่งกาย และวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม 2) อัตลักษณ์ตัวละครท้องถิ่นที่ต้องฝึกฝนในการพัฒนานักแสดง ได้แก่ ภาษาถิ่น, ศิลปะการแสดงท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มอัตลักษณ์ทำงานร่วมกันภายใต้กระบวนการทำงานของฝ่ายผลิตละครโทรทัศน์ และการเรียนรู้ของนักแสดง


Personal Branding Strategies Of Influential Youtubers And Perceptions Of Thai Millennials Toward Them, Chanamon Phansab Jan 2018

Personal Branding Strategies Of Influential Youtubers And Perceptions Of Thai Millennials Toward Them, Chanamon Phansab

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Personal branding—how individuals establish and communicate their unique traits and skills to facilitate their life goals—has become a topic of interest for many scholars and practitioners alike. One of the most widely used channels through which personal branding is executed is YouTube. There are several YouTubers, as we speak, who strive to promote their channel—their personal brand—by establishing their online identity and communicating such identity to their target audience. The studies have shown that the main target audience on YouTube, whose rising influence boosts the popularity of online video content viewing, is the millennials, especially Thai millennials as Thailand is …


The Relationship Between Facebook Users' Motivation On Environmental Issues, Environmental Awareness And Behavioral Tendency In Vietnam, Linh Nguyen Ba Tue Jan 2018

The Relationship Between Facebook Users' Motivation On Environmental Issues, Environmental Awareness And Behavioral Tendency In Vietnam, Linh Nguyen Ba Tue

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

The objectives of this research were to study the Facebook users' motivation on environmental issues, their environmental awareness and behavioral tendency in Vietnam and to explore the relationship among these three variables. Three social media influencers who had more than 10,000 followers on their Facebook profiles, demonstrated open, explicit environmentally-friendly lifestyle and achieved certain media recognition were invited to join in-depth interviews. Four hundred and fifty eight Vietnamese male and female respondents, aged between 18 and 45 years old and currently residing in Vietnam, were asked to complete an online and offline questionnaire survey. The results depicted that the respondents …


ปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมในการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบ, กนกภา กรีประเสริฐกุล Jan 2018

ปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมในการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบ, กนกภา กรีประเสริฐกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมในการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบ โดยทำการศึกษาจาก 6 ปัจจัยได้แก่ ปัจจัยด้านความเกี่ยวข้อง ปัจจัยด้านความบันเทิง ปัจจัยด้านความคิดสร้างสรรค์ ปัจจัยด้านการให้ข้อมูล ปัจจัยด้านความมีประโยชน์ ปัจจัยด้านความน่าเชื่อถือ ที่พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงบวกต่อทัศนคติและพฤติกรรมการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจด้วยวิธีการเก็บข้อมูลแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 400 ชุด กับกลุ่มตัวอย่างที่เกิดในปีพ.ศ.2524 - พ.ศ.2543 มีอายุระหว่าง 19 - 38 ปี วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการถดถอยเชิงพหุคูณ (multiple regression analysis) แบบการเลือกตัวแปรโดยวิธีเพิ่มตัวแปรอิสระแบบขั้นตอน (stepwise regression) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงลบต่อการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบ โดยมักจะหลีกเลี่ยงการรับชมโฆษณา จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการถดถอยเชิงพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่าสมการพยากรณ์พฤติกรรมการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบที่ดีที่สุดคือ "พฤติกรรมการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบ = 1.316+(.353)ปัจจัยด้านการให้ข้อมูล" โดยสามารถพยากรณ์พฤติกรรมการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบได้ร้อยละ 18.8 ทั้งนี้ปัจจัยด้านการให้ข้อมูล สามารถพยากรณ์พฤติกรรมการรับชมโฆษณาวิดีโอทางยูทูบได้ อาจเป็นเพราะผู้ชมที่ชอบการรับข้อมูลจากโฆษณาจะยอมเปิดรับโฆษณาที่มีการให้ข้อมูล ขณะที่ผู้ชมที่ไม่ชอบการรับข้อมูลจากโฆษณาหรือผู้ชมที่ชอบแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่นจะมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงโฆษณา


ปัจจัยทางจิตวิทยากับผลต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ, ชานนท์ ศิริธร Jan 2018

ปัจจัยทางจิตวิทยากับผลต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ, ชานนท์ ศิริธร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.) ศึกษาลักษณะการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ 2.) เพื่อศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาทั้งภายในและภายนอกกับผลต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ 3.) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยทางจิตวิทยาภายใน ปัจจัยทางจิตวิทยาภายนอก และการรับรู้คุณลักษณะของนวัตกรรม และ 4.) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเห็นคุณค่าในตนเองและความพึงพอใจในชีวิต ระหว่างผู้สูงอายุที่มีปริมาณความเข้มข้นในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระดับมากกับผู้สูงอายุที่มีปริมาณความเข้มข้นในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระดับน้อย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้น 25 คน จากนั้นทำการวิจัยเชิงสำรวจกับผู้สูงอายุที่มีปริมาณความเข้มข้นในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระดับมาก และผู้สูงอายุที่มีปริมาณความเข้มข้นในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ระดับน้อย รวมทั้งสิ้น 730 คน ซึ่งทั้งหมดอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า ผู้สูงอายุตัดสินใจใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์เนื่องจากแรงกระตุ้นจากเพื่อน ลูกหลาน และบุคคลที่ชื่นชอบ โดยจะใช้งานใน 4 ลักษณะ ได้แก่ ใช้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ใช้หาข้อมูลข่าวสาร ใช้แสดงอารมณ์ความรู้สึก และใช้สร้างความภูมิใจในตน โดยปัจจัยที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างผู้สูงอายุที่ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์กับผู้ที่ไม่ได้ใช้งานคือ การรับรู้ความสามารถของตน (Self-efficacy) นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเกิดการสร้างเสริมพลังในตนเอง (Self-Empowerment) โดยเฉพาะในการหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้การดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น นำมาซึ่งการเห็นคุณค่าในตนเองและความพึงพอใจในชีวิต ส่วนในการวิจัยเชิงปริมาณ ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณพบว่า ตัวแปรที่มีประสิทธิภาพในการพยากรณ์การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุมากที่สุดคือ ปัจจัยทางจิตวิทยาภายในตัวผู้สูงอายุ (Adjust R2 = .325) ซึ่งพยากรณ์ได้ที่ร้อยละ 32.5 ถัดมาคือ ปัจจัยทางจิตวิทยาภายนอกตัวผู้สูงอายุ (Adjust R2 = .313) ซึ่งพยากรณ์ได้ที่ร้อยละ 31.3 และคุณลักษณะของนวัตกรรม (Adjust R2 = .187) ซึ่งพยากรณ์ได้ที่ร้อยละ 18.7 ตามลำดับ


อิทธิพลของสีบรรจุภัณฑ์ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อข้าวกล่องพร้อมรับประทาน, ฑิตยา ตันเจริญ Jan 2018

อิทธิพลของสีบรรจุภัณฑ์ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อข้าวกล่องพร้อมรับประทาน, ฑิตยา ตันเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวางแผนสื่อสารในปัจจุบัน หัวใจสำคัญคือการสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่ง Kotler (1997) กล่าวว่า บรรยากาศถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้ร้านค้า โดยจะถูกกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (Rienuier, 2002, cited in Valenti & Riviere, 2008) สำหรับร้านอาหารทั่วไป กลิ่นสามารถดึงความสนใจของผู้บริโภคได้เป็นอันดับ 1 และการมองเห็น มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 (Lindstrom, 2006) ในกรณีสินค้าที่เป็นอาหารพร้อมทาน ซึ่งอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทนั้น ลำดับความสนใจของลูกค้าจึงอยู่ที่ การมองเห็น (Silayoi & Speece,2007) กว่า 60-90% ของ การประเมินค่าหรือตีราคาสินค้า อยู่ที่การใช้เลือกใช้สี (Singh,2006) นอกจากนี้ ลูกค้ามีข้อจำกัดด้านเวลาในการเลือกซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ดังนั้นสีจึงเป็นส่วนช่วยให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น (PALOUIS, 2014) งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้ทำการศึกษาสีของบรรจุภัณฑ์ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อข้าวกล่องพร้อมรับประทาน โดยสีที่เลือกมาใช้ในงานวิจัยชั้นนี้ได้แก่ สีใส สีขาว สีเหลืองทอง สีแดงสีส้ม และสีน้ำเงินเขียว ซึ่งผลการวิจัยระบุว่าสีที่แตกต่างกัน มีอิทธิพลต่อ การรับรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อ ที่แตกต่างกัน โดยสีที่กระตุ้นการรับรู้ได้ดีที่สุดคือสีแดง สีที่ผู้บริโภคมีทัศนคติในเชิงบวกมากที่สุดคือสีขาว และสีที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุดคือสีขาว ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ในการวางแผนกลยุทธ์ในด้านการออกแบบสีบรรจุภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคต่อไป


การจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤตของผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลี, ณัฐศักดิ์ โสภาเจริญ Jan 2018

การจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤตของผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลี, ณัฐศักดิ์ โสภาเจริญ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อ 1) วิเคราะห์และอธิบายกระบวนการจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤตของผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลี 2) วิเคราะห์และอธิบายปัจจัยในการสร้างความสำเร็จในการจัดการและการสื่อสารในภาวะของผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ที่เกี่ยวกับการจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤตของผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลี ประกอบกับการใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) ศึกษาจากภาวะวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นจริงกับผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลีในประเทศไทย และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ที่ทำการเลือกผู้ให้ข้อมูลด้วยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ซึ่งแบ่งผู้ให้สัมภาษณ์ออกเป็น 4 กลุ่ม จากการวิจัยพบว่า 1) กระบวนการจัดการและการสื่อสารในภาวะวิกฤตของผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลีจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.1 ช่วงก่อนการเกิดภาวะวิกฤต ผู้จัดจะเตรียมการป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตจากการศึกษาภาวะวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นแต่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการสื่อสารระหว่างผู้จัดการแสดงจากศิลปินเกาหลีและกลุ่มเป้าหมายจะเกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เท่านั้น 1.2 ช่วงการเกิดภาวะวิกฤต ผู้จัดนิยมแก้ไขภาวะวิกฤตด้วย 2 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์นิ่งเฉย (Refuse) และกลยุทธ์ในการขอโทษ ชี้แจง รวมถึงดำเนินการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น (Repentance) 1.3 ช่วงหลังการเกิดภาวะวิกฤต ผู้จัดส่วนใหญ่ไม่ได้บันทึกเหตุการณ์รวมถึงการแก้ไขภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและมีการทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายขององค์กร 2) ปัจจัยที่จะสร้างความสำเร็จ ได้แก่ การมีข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายขององค์กรที่มากพอ และ การสร้างความสัมพันธ์กับ Influencer


อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่, ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย Jan 2018

อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่, ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาการเคลื่อนตัวของสื่อเพลงจากวัฒนธรรมอีสานสู่วัฒนธรรมส่วนกลาง 2) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์เพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่และ 3) เพื่อศึกษาบทบาทของสื่อดิจิทัลในฐานะ Disruptive Technology ในการเคลื่อนตัวของวัฒนธรรมอีสาน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยดังนี้ วิเคราะห์ตัวบท เพลงอีสานประยุกต์จำนวน 20 เพลง ที่มียอดรับชมสูงเกิน 50 ล้านวิว หรือเคยเผยแพร่ในต่างประเทศ ที่เริ่มต้นทำเพลงเองจากค่ายเพลงขนาดเล็ก สัมภาษณ์เชิงลึกนักร้อง ศิลปินและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพลงอีสานประยุกต์ ที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 2 ปีจำนวน 5 คน และจัดสนทนากลุ่ม กลุ่มผู้ฟังเพลงอีสานจำนวน 8 คน อายุระหว่าง 20-40 ปี และไม่ใช่คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสาน ผลการวิจัยสรุปว่า อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่ คือ เพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอีสานเป็นหลัก ผสมผสานด้วยภาษาอื่น เช่นอังกฤษ ไทยกลาง เขมร มีวิธีการนำเสนอผ่านดนตรีที่หลากหลาย ผสมทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องดนตรีสากล ขับร้องโดยคนอีสาน โดยมากนักร้องในยุคอีสานใหม่มีอายุประมาณ 20-25 ปี ซึ่งถ่ายทอดความคิดออกมาในเนื้อหาเพลงที่พูดถึงเรื่องความรัก และฉายภาพชนบทอีสานยุคใหม่ ที่ไม่ได้มีแต่ความยากลำบาก ทุ่งนาแตกระแหงอีกแล้ว แต่เป็นวิถีชีวิตที่เข้าถึงความเจริญของเขตเมือง ตัวละครในเพลงมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ตีอกชกตัว ทั้งยังภูมิใจในความเป็นคนอีสาน และพยายามแสดงออกมาอย่างเด่นชัด เก็บสุนทรียะแบบอีสานที่มีความสนุกสนาน ขำขัน ขี้เล่น เอาไว้ในเพลงอยู่เสมอ ซึ่งทั้งหมดนี้เผยแพร่ไปสู่คนส่วนมากด้วยการใช้สื่อใหม่เป็นตัวกลาง มีการทำค่ายเพลงขนาดเล็กเองในต่างจังหวัด โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวเผยแพร่


รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคตราสินค้าของเจเนอเรชั่นมี, ลภัสดาศรณ์ โชคหิรัญธนากูล Jan 2018

รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคตราสินค้าของเจเนอเรชั่นมี, ลภัสดาศรณ์ โชคหิรัญธนากูล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจรูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคตราสินค้าของเจเนอเรชั่นมี ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจแบบวัดครั้งเดียว โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มเจเนอเรชั่นมีทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 18-48 ปี ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 400 คน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำไปประมวลผลด้วยโปรแกรม SPSS for Windows และทำการวิเคราะห์ผลทางสถิติด้วยการวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา แจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จัดกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยหรือตัวประกอบ ผลการวิจัยพบว่า 1. รูปแบบการดำเนินชีวิตของเจเนอเรชั่นมีแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้ 1) รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบมองโลกในแง่ดี 2) รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบดูดีมีสไตล์ 3) รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบคนดีรุ่นใหม่ 4) รูปแบบชีวิตแบบมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ 5) รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเฮฮาปาร์ตี้ 6) รูปแบบชีวิตแบบไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ และ 7) รูปแบบชีวิตแบบเสพติดสื่อ 2. พฤติกรรมการบริโภคตราสินค้าของเจเนอเรชั่นมีพบว่าตราสินค้าที่เจเนอเรชั่นมีใช้ส่วนใหญ่จะเป็นตราสินค้าเดียวกันกับตราสินค้าที่ชื่นชอบแสดงให้เห็นว่าเจเนอเรชั่นมีมักจะเลือกใช้ตราสินค้าที่ตัวเองชื่นชอบ อย่างไรก็ตามหากประเภทสินค้ามีระดับความเกี่ยวพันสูงอย่างรถยนต์เจเนอเรชั่นมีจะชื่นชอบตราสินค้าที่มีภาพลักษณ์และราคาที่สูงกว่าตราสินค้าที่ใช้ซึ่งผลการวิจัยที่ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของเจเนอเรชั่นมีอย่างแท้จริง


การสร้างตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะและการเล่าเรื่องของละครโทรทัศน์ชุด โปรเจกต์ เอส เดอะ ซีรีส์ ตอน Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ และ Sos Skate ซึม ซ่าส์, จุฑามาศ สาคร Jan 2018

การสร้างตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะและการเล่าเรื่องของละครโทรทัศน์ชุด โปรเจกต์ เอส เดอะ ซีรีส์ ตอน Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ และ Sos Skate ซึม ซ่าส์, จุฑามาศ สาคร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะ และการเล่าเรื่อง ของละครโทรทัศน์ชุด Project S The Series ตอน Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ และ SOS Skate ซึม ซ่าส์ ซึ่งแพร่ภาพผ่านทางช่อง GMM25 และมีตัวละครหลักในเรื่องเป็นผู้มีภาวะ ออทิสติกและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า งานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหาจากละคร สัมภาษณ์โดยตรงกับผู้กำกับ ผู้เขียนบทและแอคติ้งโค้ช รวมถึงข้อมูลบทสัมภาษณ์จากผู้กำกับและนักแสดง ผลการวิจัยพบว่า การเล่าเรื่องของละครทั้งสองเรื่องนั้นมีโครงสร้างการเล่าเรื่องใกล้เคียงกับละครโทรทัศน์ทั่วไป คือ มีการเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน ปัญหาของตัวละคร และมีข้อมูลเรื่องอาการของโรคที่เป็น การรักษาจากแพทย์หรือเสริมสร้างพัฒนาการแทรกในเนื้อเรื่อง แต่จะเน้นหนักที่การก้าวข้ามผ่านอุปสรรคของตัวละคร โดยแกนหลักของเรื่องคือกีฬาที่เชื่อมโยงกับโรคที่ตัวละครเป็น การสร้างตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. การสร้างตัวละครจากบุคคลต้นแบบและการเก็บข้อมูล โดยพบว่าผู้กำกับได้นำบุคลิกหรือพฤติกรรมบางส่วนของบุคคลต้นแบบทางกีฬาและบุคคลต้นแบบทางลักษณะของโรคที่ตัวละครเป็น ผสมผสานกับการเก็บข้อมูลจากแพทย์ หนังสือ บทความ และการสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิด มาหลอมรวมเพื่อสร้างตัวละคร พี่ยิม และ บู ที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นมา 2. การสร้างตัวละครที่เกิดจากการที่ผู้กำกับ ผู้เขียนบท แอคติ้งโค้ช และนักแสดงพัฒนาร่วมกัน ผู้กำกับและผู้เขียนบทได้เขียนบทละครและสร้างตัวละครก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงปรึกษากับแอคติ้งโค้ชเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการทำเวิร์คชอปให้นักแสดง และนักแสดงได้ศึกษาทำความเข้าใจกับตัวละคร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและออกแบบการแสดงและการเข้าถึงบทบาทตัวละครของตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ละครโทรทัศน์ชุด Project S The Series ตอน Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ และ SOS Skate ซึม ซ่าส์ จึงไม่ได้เป็นละครโทรทัศน์ที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมเท่านั้น แต่ยังเป็นละครโทรทัศน์ที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมต่อผู้มีภาวะออทิสติกและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผ่านทางตัวละครทั้งสองอีกด้วย