Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Public Affairs, Public Policy and Public Administration

Chulalongkorn University

2019

Articles 1 - 11 of 11

Full-Text Articles in Entire DC Network

แนวทางการส่งเสริมการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชายของสำนักงบประมาณ, ศนิ อรัณยะพันธุ์ Jan 2019

แนวทางการส่งเสริมการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชายของสำนักงบประมาณ, ศนิ อรัณยะพันธุ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการจัดทำงบประมาณ โดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย (Gender Responsive Budgeting : GRB) ของสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดทำงบประมาณของประเทศไทย ในการศึกษาวิจัย ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารงบประมาณ การสัมภาษณ์บุคลากรจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับข้าราชการสำนักงบประมาณตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับอำนวยการสูง จำนวน 11 คน ประกอบด้วยบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำงบประมาณ 3 ด้าน คือ ด้านการวางแผนงบประมาณ ด้านการจัดทำงบประมาณ และด้านการติดตามและประเมินผลผลการวิจัยพบว่า สำนักงบประมาณได้รับการผลักดันเชิงนโยบายในการส่งเสริมการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการร่วมกันปรับปรุงแนวทางการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย และข้อมูลจำแนกเพศ สำหรับผลการวิจัยด้านทัศนคติพบว่า ข้าราชการสำนักงบประมาณมีทัศนคติเกี่ยวกับความเสมอภาคตามแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) ที่มองว่าหญิงและชายต่างสามารถแข่งขันกันเพื่อความสำเร็จทางสังคม ซึ่งมีความแตกต่างจากแนวคิดความเสมอภาคในการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย ที่เน้นการสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสในมิติเพศภาวะ ดังนั้นผู้วิจัยจึงเสนอแนวทางการส่งเสริมการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติหญิงชายของสำนักงบประมาณโดยดำเนินโครงการนำร่องที่นำแนวคิด GRB มาใช้ในการจัดทำงบประมาณ


ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ, พงศกร สัตยพานิช Jan 2019

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ, พงศกร สัตยพานิช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยของทางด้านประชากรศาสตร์ที่มีความแตกต่างกันและรวมไปถึงศึกษาของปัจจัยการจูงใจที่มีความสัมพันธ์กับการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งประชากรที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้เป็นคนทำงานในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยใช้เครื่องมือเป็นรูปแบบของแบบสอบถามในการสำรวจจำนวน 400 ชุด สถิติสำหรับในการวิเคราะห์และพรรณนา คือ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ในส่วนของการทดสอบสมมติฐานได้ใช้การวิเคราะห์ T-test การวิเคราะห์ความแปรปรวน (One-Way ANOVA) ส่วนของสถิติได้ใช้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรด้วยการวิเคราะห์เพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีอายุระหว่าง 36 – 45 ปี มีสถานะเป็นโสด มีระดับการศึกษาปริญญาตรี และส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ มากกว่า 55,000 บาทขึ้นไป และมีรายจ่ายอยู่ที่ 30,001 – 40,000 บาท โดยที่จำนวนเงินออมส่วนใหญ่จะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 10,000 บาท มีอัตราการเสียภาษีอยู่ที่ 10% ของเงินได้ต่อปี และในส่วนใหญ่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ 2 – 5 คน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในเขตกรุงเทพมหานครจะมีพฤติกรรมในการออมเงินด้วยวิธีนำไปฝากกับธนาคารเป็นส่วนใหญ่ สรุปผลจากการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา จำนวนเงินออมต่อเดือน และอัตราการเสียภาษีที่แตกต่างกันทำให้มีการทำประกันชีวิตแบบบำนาญที่แตกต่างกัน และเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยจูงใจกับการตัดสินใจทำประกันชีวิตแบบบำนาญ พบว่าการทำประกันชีวิตแบบบำนาญมีความสัมพันธ์กับปัจจัยจูงใจ ประกอบด้วย 1.ปัจจัยด้านความมั่นคงหลังเกษียณอายุและผลิตภัณฑ์ 2.ปัจจัยด้านการลดหย่อนภาษี และ 3.ปัจจัยในการตัดสินใจออม


ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, วงศธร รังสิมันต์ Jan 2019

ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, วงศธร รังสิมันต์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการในกองตรวจการมาตรฐาน 1-3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (2) เพื่อศึกษาปัจจัยลักษณะบุคคล ปัจจัยการปฏิบัติงาน ปัจจัยแรงจูงใจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (3) เพื่อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างประสิทธิภาพการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในกองตรวจการมาตรฐาน 1-3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกองลงมา จำนวน 68 คน การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสม เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าสถิติทดสอบแบบทีเทส เอฟเทส และค่าสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า (1) ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการอยู่ในระดับมากที่สุด (2) ปัจจัยลักษณะบุคคลด้านเพศที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (3) ปัจจัยการปฏิบัติงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (4) ปัจจัยจูงใจไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (5) ปัจจัยอื่น ๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


การเปิดรับ ความเชื่อมั่น และการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, พงศกร โค้วไพโรจน์ Jan 2019

การเปิดรับ ความเชื่อมั่น และการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, พงศกร โค้วไพโรจน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับ ความเชื่อมั่น และการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการเก็บข้อมูลจากชาวไทยที่เป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติการทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่เคยใช้บริการข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. ส่วนใหญ่ติดตามข้อมูลข่าวสารจาก Facebook Page Amazing Thailand โดยใน 1 สัปดาห์ มีความถี่การใช้บริการ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ที่ไม่เคยใช้บริการมีสาเหตุเนื่องจากไม่ทราบมาก่อนว่า ททท. มีช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัล ผลการศึกษาเรื่องความเชื่อมั่นต่อข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. โดยรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. โดยรวมอยู่ในระดับมากเช่นกัน สำหรับการวิเคราะห์อิทธิพลด้านประชากรศาสตร์ต่อปัจจัยต่างๆ พบว่า ปัจจัยด้านเพศ ระดับการศึกษา และรายได้ต่อเดือน มีผลต่อการเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. ส่วนปัจจัยด้านระดับการศึกษา มีผลต่อความเชื่อมั่นต่อข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. และปัจจัยด้านเพศ ส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. ส่วนผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับ ความเชื่อมั่น และการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลของ ททท. พบว่าทั้ง 3 ปัจจัยมีความสัมพันธ์กัน โดยเป็นความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน


การสื่อสารยุคดิจิทัลกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร, วริษฐา จีนโต Jan 2019

การสื่อสารยุคดิจิทัลกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร, วริษฐา จีนโต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่อง “การสื่อสารยุคดิจิทัลกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้านสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย และศึกษาปัจจัยการใช้สื่อสังคมด้านสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่ใช้การวิจัยแบบผสมผสาน(Mixed Method) คือ วิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 100 ชุด สถิติที่ใช้ประกอบด้วยสถิติเชิงบรรยาย (Descriptive statistics) ได้แก่ สถิติค่าความถี่(Frequency) ค่าร้อยละ(Percent) ค่าเฉลี่ย(Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard deviation) สถิติเชิงอนุมาน (Inferential statistics) ได้แก่ การทดสอบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่มีความเป็นอิสระต่อกัน(Independent Sample T-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One way ANOVA) การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียรสัน(Pearson’s Correlation) และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียแมน(Spearman’s Correlation) ผลการเก็บข้อมูลจากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 100 คน พบว่า พนักงานการท่าเรือแห่ง ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 20,001-30,000 บาท และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่มีโรคประจำตัว คิดเป็นร้อยละ 78 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อรับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อเฟซบุ๊ก(Facebook) คิดเป็นร้อยละ 86 ส่วนการรับข้อมูลด้านสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์ของหน่วยงานการท่าเรือฯ ส่วนใหญ่รับสื่อผ่านช่องทางไลน์(Line) จากหน่วยงานสำนักแพทย์และอนามัยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับประโยชน์ด้านความรู้เบื้องต้นในการดูแลสุขภาพและสังเกตความผิดปกติของตนเอง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีระดับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านการป้องกันโรคอยู่ในระดับสูง ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลด้านเพศ อายุและรายได้มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านการป้องกันโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทัศนคติการรับข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้าน การจัดการความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความถี่ของสื่อสุขภาพออนไลน์ของหน่วยงาน การท่าเรือฯที่กระตุ้นให้มีการดูแลสุขภาพมากขึ้นมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านการจัดการความเครียดและการป้องกันโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในการทำงานของบุคลากรที่ส่งผลต่อความผูกพันธ์ต่อองค์กร กรณีศึกษาพนักงานราชการสังกัดกรมศุลกากร, อิทธิพงษ์ อินทยุง Jan 2019

ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในการทำงานของบุคลากรที่ส่งผลต่อความผูกพันธ์ต่อองค์กร กรณีศึกษาพนักงานราชการสังกัดกรมศุลกากร, อิทธิพงษ์ อินทยุง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ทำให้ทราบถึงปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานราชการกรมศุลกากรที่ส่งผลต่อความผูกพันที่มีต่อองค์กร (2) เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานราชการกรมศุลกากร การวิจัยนี้ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานราชการสังกัดกรมศุลกากรจำนวน 261 คน มีการประมวลผลวิเคราะห์โดยใช้สถิติค่าแจกแจงความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) T-test, F-test และการวิเคราะห์การถดถอย (Regression) ผลการวิจัย สามารถสรุปได้ดังนี้ 1. เพศของพนักงานราชการที่แตกต่างกัน มีระดับความผูกพันต่อองค์กรไม่แตกต่างกัน ในขณะที่ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา ระยะเวลาในการทำงาน ระดับเงินเดือนของพนักงานราชการที่แตกต่างกัน มีระดับความผูกพันต่อองค์กรแตกต่างกัน 2. ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตในการทำงานในด้านลักษณะงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสังคมโดยตรง ด้านลักษณะงานที่ส่งเสริมความเจริญเติบโตและความมั่นคงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานโดยส่วนรวม และด้านค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ มีผลต่อความผูกพันต่อองค์กร ในขณะที่ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ด้านการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาความรู้ความสามารถได้เป็นอย่างดี ด้านลักษณะงานที่มีส่วนส่งเสริมด้านบูรณาการทางสังคมของผู้ปฏิบัติงาน และด้านลักษณะงานที่ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม ไม่มีผลต่อความผูกพันต่อองค์กร


ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออกของข้าราชการ: กรณีศึกษา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์, อัญญุรี ตุ้ยแม้น Jan 2019

ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออกของข้าราชการ: กรณีศึกษา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์, อัญญุรี ตุ้ยแม้น

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออกของข้าราชการ: กรณีศึกษา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออก ความแตกต่างระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับการตัดสินใจลาออก และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยจูงใจและปัจจัยค้ำจุนการตัดสินใจลาออกของข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่เคยเป็นข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แต่ได้ลาออกระหว่างปีงบประมาณ 2559 – 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2563) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา ใช้การแจกแจงค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมานใช้การทดสอบค่า T–Test เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย 2 กลุ่ม การทดสอบค่า F–test ในการทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย 2 กลุ่มขึ้นไป และการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยจูงใจและปัจจัยค้ำจุนกับการตัดสินใจลาออก โดยใช้การวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) ผลการวิจัย พบว่า ความแตกต่างของปัจจัยส่วนบุคคลด้านเพศ อายุ ตำแหน่ง และอายุราชการ มีผลต่อการตัดสินใจลาออกที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และปัจจัยค้ำจุนด้านผลตอบแทนและสวัสดิการมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกับการตัดสินใจลาออก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าว สามารถแปลความได้ว่า หากข้าราชการมีความพึงพอใจในผลตอบแทนและสวัสดิการที่ได้รับจากองค์การ ก็จะส่งผลให้มีการตัดสินใจลาออกลดลง


กรอบความคิด (Mindset) กับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน กรณีศึกษา บุคลากรสายสนับสนุนภายใต้สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อังศวีร์ เครือแก้ว Jan 2019

กรอบความคิด (Mindset) กับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน กรณีศึกษา บุคลากรสายสนับสนุนภายใต้สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อังศวีร์ เครือแก้ว

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ครั้งนี้เป็นการศึกษากรอบความคิดกับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานของบุคลากรสายสนับสนุนภายใต้สำนักงานมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับกรอบความคิดและเปรียบเทียบระดับกรอบความคิด ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานและผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน ศึกษาความสัมพันธ์กรอบความคิดกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงาน และศึกษาความสัมพันธ์กรอบความคิดกับผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) ปัจจัยด้านเพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง ระดับ P และลักษณะงานที่แตกต่างกันมีกรอบความคิดไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยด้านอายุงานที่แตกต่างกันมีกรอบความคิดแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานโดยภาพรวมมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับกรอบความคิด ที่ระดับ Growth Mindset with some Fixed ideas โดยสัมพันธ์กันในระดับต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับกรอบความคิด ที่ระดับ Strong Growth Mindset และระดับ Fixed Mindset with some Growth ideas 3) กรอบความคิด (mindset) ระดับ Strong Growth Mindset ระดับ Growth Mindset with some Fixed ideas และระดับ Fixed Mindset with some Growth ideas ทั้ง 3 ระดับ ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ 4) กรอบความคิด (mindset) ระดับ Strong Growth Mindset ระดับ Growth Mindset with some Fixed ideas และระดับ Fixed Mindset with some Growth ideas ทั้ง 3 ระดับ ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการประเมินประจำปีเช่นกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้


ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ของผู้สูงอายุ, จุไรรัตน์ ดาทอง Jan 2019

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ของผู้สูงอายุ, จุไรรัตน์ ดาทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ของผู้สูงอายุ 2) วิเคราะห์พฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ของผู้สูงอายุ 3) นำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการด้านสุขภาพการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างคือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเทศบาลเมืองบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 102 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความถี่ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติเชิงอนุมาน (Inferential statistics) ได้แก่ Independent Sample T-test, One-Way ANOVA และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Correlation) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 76.5 อายุช่วง 60-70 ปีมากที่สุด ส่วนใหญ่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 32.4 และมีโรคประจำตัวร้อยละ 53.9 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 อยู่ในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 97.1 ส่วนปัจจัยด้านบุคคล พบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษาและภาวะการมีโรคประจำตัวไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ในด้านความเชื่อด้านสุขภาพที่ประกอบด้วย ปัจจัยการรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ภาวะคุกคามของโรค การรับรู้ประโยชน์ที่จะได้รับ การรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติ และความต้องการสนับสนุนบริการสุขภาพไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 แต่ปัจจัยด้านสิ่งชักนำหรือสิ่งกระตุ้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ความต้องการได้รับการสนับสนุนบริการสุขภาพอยู่ในระดับสูงร้อยละ 73.5 โดยส่วนใหญ่มีความต้องการหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจลล์ ข้อมูลข่าวสารในการป้องกันโรค ความต้องการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ต้องการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการได้รับข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษาจากภาครัฐ


ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตการทํางานกับแรงจูงใจในการทํางานของข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ปาริชาด ผิวผ่อง Jan 2019

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตการทํางานกับแรงจูงใจในการทํางานของข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ปาริชาด ผิวผ่อง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตการทํางานกับแรงจูงใจในการทํางานของข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนำผลการศึกษามาใช้เป็นแนวทางและข้อเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการตํารวจ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง ข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จํานวน 137 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของตัวแปรด้วย Independent Samples t-test และ One-Way ANOVA/ F-test ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่าระดับคุณภาพชีวิตการทํางานของข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 3.41, S.D.= 0.23) แรงจูงใจในการทำงานของข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 3.26, S.D.= 0.15) ส่วนการเปรียบเทียบข้อมูลส่วนบุคคลของข้าราชการตำรวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับแรงจูงใจในการทำงานพบว่า เพศ อายุ อายุราชการ ระดับการศึกษา และชั้นยศ ที่แตกต่างกัน มีระดับแรงจูงใจในการทำงานไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนหน่วยงานที่สังกัดต่างกัน มีระดับแรงจูงใจในการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยข้าราชการตำรวจฝ่ายอำนวยการ ทพ. มีระดับแรงจูงใจในการทำงานน้อยกว่าฝ่ายความชอบ ทพ. และน้อยกว่าฝ่ายประเมิน ทพ. คุณภาพชีวิตการทํางานมีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจในการทํางานของข้าราชการตํารวจสังกัดกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (r = 0.421) และพบว่าคุณภาพชีวิตการทำงานด้านความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ด้านความเกี่ยวข้องอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และด้านความมีระเบียบกฎเกณฑ์และความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน มีอิทธิพลส่งผลต่อระดับแรงจูงใจในการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


การประเมินผลโครงการฝึกอบรม : กรณีศึกษา หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการบรรจุใหม่ กรมศุลกากร, ปทิดา พิพัฒน์ Jan 2019

การประเมินผลโครงการฝึกอบรม : กรณีศึกษา หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการบรรจุใหม่ กรมศุลกากร, ปทิดา พิพัฒน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการฝึกอบรม : กรณีศึกษา หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการบรรจุใหม่ กรมศุลกากร ตามแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) ในด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ ที่มีอิทธิพลต่อด้านผลผลิตของโครงการฝึกอบรม โดยกำหนดรูปแบบการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ผู้วิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการบรรจุใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กรมศุลกากร จำนวน 245 คน ตอบแบบสอบถามกลับมาจำนวน 235 คน คิดเป็นร้อยละ 95.92 ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การทดสอบค่า t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์สหสัมพันธ์และการถดถอย โดยกำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีเพศ อายุ และระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน มีระดับผลผลิตของโครงการฝึกอบรมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในขณะที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาแตกต่างกัน ระดับผลผลิตของโครงการฝึกอบรมไม่แตกต่างกัน และการทดสอบความสัมพันธ์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า ปัจจัยด้านกระบวนการ (Beta = 0.579) ปัจจัยด้านปัจจัยนำเข้า (Beta = 0.200) และปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อม (Beta = 0.188) มีอิทธิพลในทิศทางบวกต่อผลผลิตของโครงการฝึกอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05