Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Psychology

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Theses/Dissertations

2018

Articles 1 - 23 of 23

Full-Text Articles in Entire DC Network

สติในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ที่ฝึกสติปัฏฐาน : ทฤษฎีฐานราก, พรรณพนัช แซ่เจ็ง Jan 2018

สติในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ที่ฝึกสติปัฏฐาน : ทฤษฎีฐานราก, พรรณพนัช แซ่เจ็ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้สติในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ที่ฝึกสติปัฏฐาน ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การสร้างทฤษฎีฐานราก ที่สร้างทฤษฎีขึ้นจากข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลคือ พ่อแม่ผู้ฝึกสติปัฏฐานในระยะยาว จำนวน 10 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า ทฤษฎีฐานรากประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญได้แก่ 1) ความทุกข์ใจในการเลี้ยงดู อันแสดงถึง ลักษณะของความทุกข์ ที่มาของความทุกข์ใจ และการเปลี่ยนแปลงของความทุกข์ในการใช้สติในการเลี้ยงดู 2) รากฐานในการใช้สติในการเลี้ยงดู ประกอบด้วย ความตั้งมั่นของพ่อแม่ในการใช้สติกับลูก ความสงบ และใจที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการสังเกตใคร่ครวญ 3) กระบวนการเท่าทันและเข้าใจในการเลี้ยงดู คือ กระบวนการรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ การยับยั้งตนเอง กระบวนการทำความเข้าใจโดยอาศัยเวลาในการใคร่ครวญ และการแสดงออกต่อลูก 4) ความเข้าใจธรรมชาติในการเลี้ยงดู คือความเข้าใจในความเกี่ยวเนื่องระหว่างตนกับลูก การยอมรับในความไม่แน่นอนในการเลี้ยงดู และการวางใจในการเป็นพ่อแม่ 5) การตระหนักในคุณค่าของการใช้สติในการเลี้ยงดู ประกอบด้วย การตระหนักในคุณค่าที่เกิดกับตนเอง การตระหนักในคุณค่าที่เกิดกับลูก และการตระหนักในคุณค่าที่เกิดกับสัมพันธภาพ ทฤษฎีแสดงและอธิบายความสัมพันธ์ของทั้ง 5 ประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยเริ่มต้นจากพ่อแม่มีรากฐานในการใช้สติในการเลี้ยงดู และมีความทุกข์ใจในการเลี้ยงดู เชื่อมโยงไปสู่กระบวนการเท่าทันและเข้าใจในการเลี้ยงดู จึงได้ตระหนักในคุณค่าของการใช้สติในการเลี้ยงดู และเกิดความเข้าใจธรรมชาติในการเลี้ยงดู ซึ่งเชื่อมโยงกลับไปยังการเปลี่ยนแปลงของความทุกข์ และรากฐานในการใช้สติในการเลี้ยงดู ทฤษฎีฐานรากที่ปรากฏขึ้นนี้ เป็นองค์ความรู้ที่นักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างโปรแกรมพัฒนาสติในการเลี้ยงดูสำหรับพ่อแม่ และนักวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสติในการเลี้ยงดูในแนวพุทธได้ต่อไป


ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวการยอมรับและพันธสัญญาต่อความวิตกกังวลทางสังคม ความกลัวการถูกประเมินทางลบ และความยืดหยุ่นทางจิตใจ ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพศหญิง, ชญานุช ศรีจันทร์ Jan 2018

ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวการยอมรับและพันธสัญญาต่อความวิตกกังวลทางสังคม ความกลัวการถูกประเมินทางลบ และความยืดหยุ่นทางจิตใจ ในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพศหญิง, ชญานุช ศรีจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยแบบกึ่งทดลองชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวการยอมรับและพันธสัญญา ต่อความกลัวการถูกประเมินทางลบ ความยืดหยุ่นทางจิตใจ และความวิตกกังวลทางสังคมในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพศหญิง กลุ่มตัวอย่างมีอายุตั้งแต่ 18-23 ปี และมีคะแนนความวิตกกังวลทางสังคมสูงกว่าค่าเฉลี่ย จำนวน 52 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 26 คน และกลุ่มควบคุม 26 คน โดยกลุ่มทดลองจะเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวการยอมรับและพันธสัญญา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง จำนวน 8 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง โดยกลุ่มตัวอย่างตอบมาตรวัดความกลัวการถูกประเมินทางลบ (ฉบับย่อ) มาตรวัดการยอมรับและการกระทำในบริบทของความวิตกกังวลทางสังคม และมาตรวัดความวิตกกังวลทางสังคม ทั้งก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม และในระยะติดตามผล 2 และ 4 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบวัดซ้ำและระหว่างกลุ่ม ผลการทดสอบพบว่า 1. หลังการเข้ากลุ่ม และในระยะติดตามผล 2 และ 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนความกลัวการถูกประเมินทางลบลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการเข้าร่วมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนความกลัวการถูกประเมินทางลบต่ำกว่ากลุ่มควบคุม ในช่วงหลังการเข้ากลุ่มและระยะติดตามผล 2 สัปดาห์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .017 และในระยะติดตามผล 4 สัปดาห์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2. หลังการเข้ากลุ่ม และในระยะติดตามผล 2 และ 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนความยืดหยุ่นทางจิตใจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการเข้าร่วมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในช่วงหลังการเข้ากลุ่มและระยะติดตามผล 2 สัปดาห์ หากแต่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มในระยะติดตามผล 4 สัปดาห์ โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนความยืดหยุ่นทางจิตใจสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .017 3. หลังการเข้ากลุ่ม และในระยะติดตามผล 2 และ 4 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนความวิตกกังวลทางสังคมลดลงเมื่อเทียบกับก่อนการเข้าร่วมกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในช่วงหลังการเข้ากลุ่ม หากแต่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มในระยะติดตามผล 2 และ 4 สัปดาห์ โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนความวิตกกังวลทางสังคมต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001


อิทธิพลของความหมายในชีวิต ต่อการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและภาวะสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายของผู้พิการและญาติผู้ดูแล : การวิจัยแบบผสานวิธี, จุรีรัตน์ นิลจันทึก Jan 2018

อิทธิพลของความหมายในชีวิต ต่อการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและภาวะสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายของผู้พิการและญาติผู้ดูแล : การวิจัยแบบผสานวิธี, จุรีรัตน์ นิลจันทึก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยแบบผสานวิธีเชิงสามเส้าแบบเกิดพร้อมกันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาอิทธิพลของความหมายในชีวิตต่อการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและการสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายของผู้พิการและญาติผู้ดูแล (2) ศึกษาประสบการณ์ด้านจิตใจเกี่ยวกับความหมายในชีวิตและการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและการสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายของผู้พิการและญาติผู้ดูแล กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงปริมาณ เป็นผู้พิการและญาติผู้ดูแล จำนวน 100 คู่ ในการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นผู้เป็นผู้พิการและญาติผู้ดูแล จำนวน 5 คู่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดความหมายในชีวิตในบริบทเจ็บป่วยพิการ มาตรวัดการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยพิการ และแนวคำถามสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการวิเคราะห์โมเดลรายคู่แบบไขว้ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพตามแนวการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ ผลการวิจัยเชิงปริมาณพบเฉพาะอิทธิพลตรงของผู้พิการและญาติผู้ดูแลที่แสดงถึงว่าผู้พิการที่มีความหมายในชีวิตสูงจะมีการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยและภาวะสูญเสียการทำหน้าที่ของอวัยวะทางร่างกายได้ดี ในทำนองเดียวกันญาติผู้ดูแลที่มีความหมายในชีวิตสูงก็จะมีการปรับตัวได้ดีด้วย แต่ไม่พบอิทธิพลไขว้ของผู้พิการและญาติผู้ดูแลและอิทธิพลร่วมของผู้พิการและญาติผู้ดูแล ส่วนผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้พิการและญาติผู้ดูแลที่ร่วมกันมี 3 ช่วงหลัก ดังนี้ ช่วงที่ 1 ความผันผวนของใจผู้พิการและมารดา ภายหลังประสบอุบัติเหตุปละรับรู้ว่ามีความพิการ ประสบการณ์ที่เกิดร่วมกันของผู้พิการและญาติผู้ดูแลคือ การเผชิญกับความไม่รู้และสงสัยกับความเจ็บป่วยพิการที่เกิดขึ้น ประสบการณ์เฉพาะของผู้พิการในระยะนี้ เป็นปฏิกิริยาต่อการสูญเสียและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่เข้ามาพร้อมๆ กับความเจ็บป่วยพิการ เช่น การไม่ยอมรับความพิการ ความคาดหวังต่อผลการรักษา ด้วยการแสดงออกถึงความไม่เชื่อว่าตนเองจะพิการ การมีความคิดหมกมุ่นนึกถึงสิ่งที่ตนเองสูญเสียไป ความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง สำหรับมารดาผู้พิการเป็นการพยายามรวบรวมสติ ปรับเปลี่ยนกิจวัตรและความเคยชินต่างๆเพื่อเข้ามารับบทบาทในการเป็นผู้ดูแล ช่วงที่ 2 ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การยอมรับความพิการและเริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง โดยในส่วนผู้พิการมีตัวจุดชนวนให้เปลี่ยนจากสิ้นหวังเป็นสู้ คือ การมีเพื่อนผู้พิการเป็นตัวแบบ และความรักจากครอบครัว การรีเซ็ตชีวิตใหม่ และตัวช่วยหรือขัดขวางการปรับตัวต่อความเจ็บป่วยพิการ สำหรับมารดาผู้พิการเป็นการคิดทบทวนถึงความพยายามในการหาทางรักษาลูก จนเริ่มยอมรับความพิการของลูก และคอยให้การสนับสนุนความคิด การตัดสินใจของลูก ให้อิสระแก่ลูกในการทำสิ่งที่อยากทำ ช่วงที่ 3 การเติบโต และมองเห็นคุณค่า ความหมายในชีวิตของผู้พิการและมารดา ช่วงนี้เป็นประสบการณ์ที่มีความชัดเจนในผู้พิการ ส่วนในญาติผู้ดูแลจะเป็นความโล่งใจ ความสบายใจที่ผู้พิการดูแลตนเองได้ และตามมาด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ฝ่าฝันความลำบากร่วมกันมา จนกระทั่งลูกสามารถพิสูจน์ว่าพึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม


ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อความวิตกกังวลในวัยรุ่นตอนต้น, บุญจิรา ชลธารนที Jan 2018

ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อความวิตกกังวลในวัยรุ่นตอนต้น, บุญจิรา ชลธารนที

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยกึ่งการทดลองในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อความวิตกกังวลในวัยรุ่นตอนต้น โดยกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้ คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นที่มีอายุระหว่าง 11-15 ปี ซึ่งมีคะแนนความวิตกกังวลสูงกว่าค่าเฉลี่ยแต่ไม่เกิน 1SD จำนวน 47 คนแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 23 คน กลุ่มควบคุม 24 คน โดยกลุ่มทดลองจะเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 2 ชั่วโมง รวม 8 ครั้ง คิดเป็นเวลาทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง โดยกลุ่มตัวอย่างตอบชุดคำถามแบบสอบถามที่ประกอบด้วยแบบวัดความวิตกกังวล (SCRAED) แบบวัดความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง (EESC) และแบบวัดความสามารถในการกำกับอารมณ์ตนเอง (ERQ) ข้อมูลที่ได้รับถูกนำมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบวัดซ้ำและระหว่างกลุ่ม โดยมีผลวิจัยดังนี้ 1. หลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองมีความวิตกกังวลน้อยกว่าก่อนเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. หลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองมีความวิตกกังวลน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. หลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองมีความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ตนเองมากกว่าก่อนเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. หลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองไม่พบว่ามีความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ตนเองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5. หลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองมีความสามารถในการกำกับอารมณ์ตนเองมากกว่าก่อนเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 6. หลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยม กลุ่มทดลองมีความสามารถในการกำกับอารมณ์ตนเองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


ประสบการณ์ทางจิตใจในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก, ปณดา เหล่าธนถาวร Jan 2018

ประสบการณ์ทางจิตใจในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก, ปณดา เหล่าธนถาวร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยา เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลซึ่งเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงสุดท้ายและผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศจำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบประเด็นทางประสบการณ์ทางจิตใจทั้งหมด 4 ประเด็น คือ (1)ความยากลำบากในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อยคือ กระบวนการวิจัยไม่เป็นไปตามที่คิด และความพยายามในการทำเงื่อนไขการจบ (2)สภาวะจิตใจช่วงระหว่างกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อย คือสภาวะจิตใจด้านบวก (ตื่นเต้นเรียนรู้สิ่งใหม่) และสภาวะจิตใจด้านลบ (ความไม่มั่นใจในความสามารถของตน , ความเครียดจากงานสะสม, ความท้อแท้ในการแก้ปัญหา,การหลีกหนีจากงาน) (3)การก้าวผ่านความยากลำบากในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อย คือ การก้าวผ่านด้านงาน (การทำงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา, การแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และการวางแผนทำวิทยานิพนธ์) และการก้าวผ่านด้านจิตใจ (การทำความเข้าใจปัญหา และการผ่อนคลายจากการทำงาน) และ(4)การเติบโตจากการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อยคือด้านการสร้างองค์ความรู้และด้านความเป็นมืออาชีพในการทำงาน จากผลการวิจัย อภิปรายผลได้ว่าผู้ให้ข้อมูลต้องมีการปรับตัวทั้งด้านการวางแผนและด้านจิตใจกับการเจอความไม่แน่นอนในกระบวนการทำวิทยานิพนธ์เพื่อการทำงานให้จบตามเงื่อนไขหลักสูตรที่มีระยะเวลาที่จำกัด โดยปัจจัยแวดล้อมช่วงระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนร่วมงาน ครอบครัวมีส่วนในการทำให้กระบวนการเป็นไปได้อย่างราบรื่น ได้มีการอภิปรายถึงแนวทางสำหรับการดูแลนักศึกษาอย่างเป็นมืออาชีพจากอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหารคณะ


การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายในวัยรุ่นไทย และการศึกษาความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลระหว่างเพศ, นภัษ ลิ่มอรุณ Jan 2018

การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายในวัยรุ่นไทย และการศึกษาความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลระหว่างเพศ, นภัษ ลิ่มอรุณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของวัยรุ่นไทย แบ่งออกเป็น 2 พฤติกรรม คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการออกกำลังกาย (2) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรงของโมเดลขยายเปรียบเทียบความเหมาะสมของโมเดลใน 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 ตัวแปรสิ่งกระตุ้นชักจูงส่งผลโดยตรงกับพฤติกรรม และทางเลือกที่ 2 ตัวแปรสิ่งกระตุ้นชักจูงส่งผลต่อพฤติกรรมผ่านตัวแปรการรับรู้ 5 ตัวแปร (ได้แก่ การรับรู้ความเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรง การรับรู้ประโยชน์ การรับรู้อุปสรรค และการรับรู้ความสามารถของตนเอง) และ (3) เพื่อทดสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลระหว่างวัยรุ่นชายและวัยรุ่นหญิง กลุ่มตัวอย่างคือ วัยรุ่นระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,200 คน (ชาย 600 คน หญิง 600 คน) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและมาตรวัดที่สร้างขึ้นตามทฤษฎีความเชื่อทางสุขภาพ (Health Belief Model) ผลการวิจัยพบว่า 1) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและพฤติกรรมการออกกำลังกายของวัยรุ่นไทย มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 2) โมเดลทางเลือกที่ 2 ตัวแปรสิ่งกระตุ้นชักจูงเป็นตัวแปรต้น ส่งผลต่อพฤติกรรมผ่านตัวแปรการรับรู้ 5 ตัวแปร ซึ่งเป็นโมเดลทางเลือกที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มากกว่าโมเดลทางเลือกที่ 1 3) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของทั้ง 2 พฤติกรรม มีความแตกต่างระหว่างเพศ คือ 3.1 โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ พบว่า ตัวแปรต้นและตัวแปรส่งผ่าน 5 ตัว ร่วมกันอธิบายความแปรปรวนความตั้งใจในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในวัยรุ่นชายคิดเป็นร้อยละ 37.9 และคิดเป็นร้อยละ 32.6 สำหรับวัยรุ่นหญิง 3.2 โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุพฤติกรรมการออกกำลังกาย พบว่า ตัวแปรต้นและตัวแปรส่งผ่าน 5 ตัว ร่วมกันอธิบายความแปรปรวนความตั้งใจในการออกกำลังกายในวัยรุ่นชาย คิดเป็นร้อยละ 45.5 และคิดเป็นร้อยละ 44.2 สำหรับวัยรุ่นหญิง


การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของทักษะทางสังคมในเด็กหูหนวกโดยมีความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่นเป็นตัวแปรส่งผ่าน, ปริญญา สิริอัตตะกุล Jan 2018

การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของทักษะทางสังคมในเด็กหูหนวกโดยมีความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่นเป็นตัวแปรส่งผ่าน, ปริญญา สิริอัตตะกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา และตรวจสอบโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของทักษะทางสังคมในเด็กหูหนวกโดยมีความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่นเป็นตัวแปรส่งผ่านที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เด็กหูหนวกที่ได้ยินเสียงในระดับของเสียงตั้งแต่ 90 เดซิเบลขึ้นไป และศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 - 6 ในโรงเรียนโสตศึกษา 7 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่ 2) โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ กทม. 3) โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ กทม. 4) โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดนนทบุรี 5) โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดชลบุรี 6) โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดอุดรธานี และ 7) โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดสงขลา รวมจำนวนทั้งสิ้น 200 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก การทดสอบความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่น แบบวัดความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น แบบทดสอบทักษะการใช้ภาษามือไทย แบบวัดความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู และแบบวัดทักษะทางสังคม ซึ่งมีค่าความเที่ยงอยู่ระหว่าง .706 - .924 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย และการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรม LISREL 9.30 ผลการวิจัย พบว่า โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่นเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู และทักษะการใช้ภาษามือกับทักษะทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนความสามารถในการเข้าใจความคิดของผู้อื่นไม่เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างอายุกับทักษะทางสังคม


ผลของกลุ่มการเล่นบำบัดแบบเกสตัลท์ต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมในเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลาย, พิมพิกา ตันสุวรรณ Jan 2018

ผลของกลุ่มการเล่นบำบัดแบบเกสตัลท์ต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมในเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลาย, พิมพิกา ตันสุวรรณ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการเล่นบำบัดแบบเกสตัลท์ต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมในเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 48 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 24 คน และกลุ่มควบคุม 24 คน โดยกลุ่มทดลองจะเข้าร่วมกลุ่มการเล่นบำบัดแบบเกสตัลท์ สัปดาห์ละครั้ง จำนวน 7 สัปดาห์ ครั้งละ 45 นาที เก็บข้อมูลโดยครูเป็นผู้ตอบแบบประเมินมาตรวัดทักษะทางสังคมในเด็กทั้งช่วงก่อนและหลังการทดลอง และระยะติดตามผล โดยแบ่งทักษะทางสังคมออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การควบคุมตนเอง การยืนหยัดในตนเอง และการให้ความร่วมมือ ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุนามแบบวัดซ้ำ และระหว่างกลุ่ม โดยมีผลการวิจัย ดังนี้ 1.หลังการทดลอง และระยะติดตามผล กลุ่มทดลองมีคะแนนทักษะทางสังคมด้านการควบคุมตนเองสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) และพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในช่วงหลังการทดลองและระยะติดตามผล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) 2. หลังการทดลอง และระยะติดตามผล กลุ่มทดลองมีคะแนนทักษะทางสังคมด้านการยืนหยัดในตนเองสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) และพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในช่วงหลังการทดลองและระยะติดตามผล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) 3. หลังการทดลอง และระยะติดตามผล กลุ่มทดลองมีคะแนนทักษะทางสังคมด้านการให้ความร่วมมือสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) และพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในช่วงหลังการทดลองและระยะติดตาม ผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001)


ความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ทางเฟมินิสต์เชิงบวกและการถูกกระทำรุนแรงในคู่รัก: อิทธิพลส่งผ่านของการเห็นคุณค่าในตนเองและอำนาจในความสัมพันธ์, มัลลิกา อุกฤษฏ์ Jan 2018

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ทางเฟมินิสต์เชิงบวกและการถูกกระทำรุนแรงในคู่รัก: อิทธิพลส่งผ่านของการเห็นคุณค่าในตนเองและอำนาจในความสัมพันธ์, มัลลิกา อุกฤษฏ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของอัตลักษณ์ทางเฟมินิสต์เชิงบวก ที่มีต่อการถูกกระทำรุนแรงในคู่รัก โดยมีการเห็นคุณค่าในตนเองและอำนาจในความสัมพันธ์ เป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่างคือผู้หญิงวัยทำงานที่มีคนรักหรือเคยมีคนรักในอดีตจำนวน 311 คน อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 30-60 ปี โดยให้ผู้ร่วมวิจัยตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตนเอง อำนาจในความสัมพันธ์ อัตลักษณ์ทางเฟมินิสต์เชิงบวก และการถูกกระทำรุนแรงจากคู่รัก ผลการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง พบว่า อัตลักษณ์ทางเฟมินิสต์เชิงบวกมีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมต่อการถูกกระทำรุนแรงจากคนรักผ่านการเห็นคุณค่าในตนเองและอำนาจในความสัมพันธ์ โดยผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจสูงกว่าความรุนแรงรูปแบบอื่น


ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลัง ความหมายในชีวิต และปัญหาทางจิตใจของนักเรียนทุนที่ศึกษาต่อต่างประเทศ, สุจิรา ประกอบสุข Jan 2018

ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลัง ความหมายในชีวิต และปัญหาทางจิตใจของนักเรียนทุนที่ศึกษาต่อต่างประเทศ, สุจิรา ประกอบสุข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลัง ความหมายในชีวิต (ด้านความเข้าใจความหมายในชีวิตและการค้นหาความหมาย) และปัญหาทางจิตใจ (ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า) ในนักเรียนทุนที่ศึกษาต่อต่างประเทศ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มนักเรียนทุนที่มีอายุเฉลี่ย 30±6.25 ปี จำนวน 271 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ มาตรวัดลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลัง มาตรวัดความหมายในชีวิต มาตรวัดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า (Depression Anxiety Stress Scale:DASS-21) เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนพลังและความหมายในชีวิตทั้งสองด้านสามารถร่วมกันทำนายปัญหาด้านจิตใจนักเรียนชาวไทยที่ได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยสามารถอธิบายความแปรปรวนของความเครียดได้ร้อยละ 24.7 (R² = .247, p<.01) ความวิตกกังวลได้ร้อยละ 15.2 (R² = .152, p<.01) และภาวะซึมเศร้าได้ร้อยละ 41.3 (R²= .413, p<.01) ทั้งนี้ลักษณะนิสัยแบบฟื้นคืนมีน้ำหนักในการทำนายความเครียด (β = -.263, p<.01) ความวิตกกังวล (β = -.208, p<.01) และภาวะซึมเศร้า (β = -.228, p<.01) ความหมายในชีวิตด้านการเข้าใจความหมายในชีวิต มีน้ำหนักในการทำนายความเครียด (β = -.251, p<.01) ความวิตกกังวล (β = -.198, p<.01) และภาวะซึมเศร้า (β = -.485, p<.01) และความหมายในชีวิตด้านการค้นหาความหมาย มีน้ำหนักในการทำนายความเครียด (β = .204, p<.01) ความวิตกกังวล (β = .155, p<.01) และภาวะซึมเศร้า (β = .102, p<.01) ตามลำดับ


อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก, อภิญญา หิรัญญะเวช Jan 2018

อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก, อภิญญา หิรัญญะเวช

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาอิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบที่มีต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก โดยมีการละเลยคุณธรรมและการรับรู้ความนิรนามเป็นตัวแปรกำกับ ซึ่งอารมณ์ขันทางลบแบ่งเป็นอารมณ์ขันแบบก้าวร้าวและอารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเอง การละเลยคุณธรรมคือการที่บุคคลหาเหตุผลมารองรับพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อให้ทำพฤติกรรมเหล่านั้นต่อไปได้โดยไม่รู้สึกกังวลใจ และการรับรู้ความนิรนามคือการที่บุคคลรับรู้ว่าการกระทำไม่สามารถระบุตัวตนของตนได้ กลุ่มตัวอย่างคือบุคคลทั่วไปที่เข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน อายุระหว่าง 18-34 ปี จำนวน 209 คน เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ (Online Survey) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการถดถอยพหุคูณแบบขั้น (Hierarchical Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) อารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม การรับรู้ความนิรนาม ร่วมกันทำนายความแปรปรวนของพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊กได้ 32.92% 2) อารมณ์ขันแบบก้าวร้าวเพียงตัวเดียวไม่สามารถทำนายพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊กได้ แต่สามารถทำนายได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อได้รับอิทธิพลกำกับของการละเลยคุณธรรม (β = .194 p = .002) หรือการรับรู้ความนิรนามร่วมด้วย (β = .164, p = .025) 3) อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเองสามารถทำนายพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊กได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .329, p = .000) แต่ส่งผลตรงกันข้ามเมื่อมีอิทธิพลกำกับของการรับรู้ความนิรนามมาร่วมด้วย(β = -.132, p = .036) ส่วนอิทธิพลกำกับของการละเลยคุณธรรมไม่ส่งผลให้อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเองทำนายพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊กได้ดีขึ้น จากผลการวิจัยนี้ทำให้ทราบถึงสาเหตุของพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก คือ อารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และความนิรนาม เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการหาทางแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมดังกล่าวได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น


ผลของเป้าหมายการควบคุม และการชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ ต่อระดับการเอนเอียงในการตัดสินใจ ให้ตนเองและผู้อื่น, อรพรรณ คูเกษมรัตน์ Jan 2018

ผลของเป้าหมายการควบคุม และการชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ ต่อระดับการเอนเอียงในการตัดสินใจ ให้ตนเองและผู้อื่น, อรพรรณ คูเกษมรัตน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง รูปแบบ 2 x 2 x 3 แฟคทอเรียลดีไซน์ เปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของเป้าหมายการควบคุม และการชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ ต่อระดับการเอนเอียงในการตัดสินใจให้ผู้ได้รับผลของการตัดสินใจที่ต่างกัน กลุ่มตัวอย่าง คือนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 18-24 ปี จำนวน 258 คน (หญิง 68.2%) กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มเข้าเงื่อนไขการทดลอง 12 เงื่อนไข และได้รับการจัดกระทำเป้าหมายการควบคุมแบบป้องกัน หรือส่งเสริม จากนั้นกลุ่มตัวอย่างต้องตัดสินใจเลือกแบ่งเงิน 1,000 บาท เป็นสองส่วน คือ เพื่อคงสถานะและเพื่อเพิ่มสถานะในด้านต่าง ๆ ของชีวิตทั้งหมด 7 ด้านให้ตนเอง หรือผู้อื่นที่สนิท หรือผู้อื่นที่ไม่สนิท กลุ่มตัวอย่างในเงื่อนไขที่มีการชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ ได้รับคำสั่งให้ชี้แจงเหตุผลประกอบการตัดสินใจต่อผู้วิจัยหลังตอบคำถาม ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการเอนเอียงในการตัดสินใจแบบมุ่งการได้รับ คือ มีแนวโน้มจ่ายเงินเพื่อเพิ่มสถานะมากกว่าจ่ายเงินเพื่อคงสถานะ ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง ไม่พบปฏิสัมพันธ์สามทางของเป้าหมายการควบคุม การชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ และผู้ได้รับผลของการตัดสินใจ แต่พบว่าการเอนเอียงในการตัดสินใจแบบมุ่งการได้รับที่พบนี้ ได้รับอิทธิพลจากผลหลักของเป้าหมายการควบคุม และผู้ได้รับผลของการตัดสินใจ และได้รับอิทธิพลจากผลปฏิสัมพันธ์ของเป้าหมายการควบคุมกับการชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ และผลปฏิสัมพันธ์ของเป้าหมายการควบคุมกับผู้ได้รับผลของการตัดสินใจ กล่าวคือ โดยทั่วไปบุคคลที่ถูกจัดกระทำเป้าหมายการควบคุมแบบป้องกัน มีการเอนเอียงในการตัดสินใจแบบมุ่งการได้รับน้อยกว่าบุคคลที่ถูกจัดกระทำเป้าหมายการควบคุมแบบส่งเสริม โดยความแตกต่างนี้จะน้อยลง ในเงื่อนไขที่ตัดสินใจให้ตนเอง และในเงื่อนไขที่ต้องชี้แจงเหตุผลรองรับการตัดสินใจ


Health Consciousness And The Theory Of Planned Behavior: The Role Of Health Consciousness With The On-Campus Use Of Reusable Water Bottle Among Chulalongkorn Freshmen, Aruch Patumtaewapibal Jan 2018

Health Consciousness And The Theory Of Planned Behavior: The Role Of Health Consciousness With The On-Campus Use Of Reusable Water Bottle Among Chulalongkorn Freshmen, Aruch Patumtaewapibal

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Use of reusable water container on Chulalongkorn University campus, though is pro-environmental, is currently limited among the students. The present study investigated antecedents of such behavior, using the theory of planned behavior (TPB) with health consciousness as an addition to the model. One-hundred and twenty Chulalongkorn freshmen filled out a TPB-based questionnaire with a health consciousness scale. Data analyses using LISREL reveal an excellent fit for the TPB model. Specifically, attitude, perceived norms, and perceived behavioral control significantly and positively predicted intention and the behavior. Health consciousness indirectly influence intention and behavior via attitude, perceived norms, and perceived behavioral control. …


การนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วยพรหมวิหาร 4 ในนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด : การวิจัยแบบผสานวิธี, พูลทรัพย์ อารีกิจ Jan 2018

การนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วยพรหมวิหาร 4 ในนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัด : การวิจัยแบบผสานวิธี, พูลทรัพย์ อารีกิจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) ผู้วิจัยดำเนินการศึกษาเชิงปริมาณก่อน และดำเนินการศึกษาเชิงคุณภาพในภายหลัง สำหรับการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวมรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ตามระเบียบวิธีวิจัยแบบการทดลองกลุ่มเล็ก (Single-case Experimental Design) และในการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยผู้วิจัยดำเนินการวิจัยตามระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฎการณ์วิทยาแบบตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis) กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาฝึกหัดจำนวน 8 คนที่ผ่านการเข้าร่วมกระบวนการนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วยพรหมวิหาร 4 เพิ่มเติมจากการเข้ารับการนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยาตามหลักสูตร และจากสถานฝึกประสบการณ์วิขาชีพ ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วยพรหมวิหาร 4 ส่งอิทธิพลต่อการเพิ่มขึ้นของการรับรู้ความสามารถในตนเองของนักจิตวิทยาการปรึกษา และต่อการลดลงของการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง อย่างไรก็ตามผลการศึกษาในเชิงปริมาณพบอิทธิพลของกระบวนการนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วยพรหมวิหาร 4 ในกลุ่มตัวอย่างบางรายเท่านั้น สำหรับการศึกษาเชิงคุณภาพผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักที่ 1 ช่วงระหว่างรับการนิเทศการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ประกอบด้วย ประสบการณ์ระหว่างรับการนิเทศ และมุมมองต่อตนเองที่เกิดขึ้นจากการนิเทศประเด็นหลักที่ 2 การสังเกตและการตระหนักรู้ในตนเอง ประกอบด้วย การสังเกตและการตระหนักรู้ในภายใน และการสังเกตและการตระหนักรู้จากตัวแบบ ประเด็นหลักที่ 3 ความเข้าใจจากการสังเกต การตระหนักรู้ และการอยู่ในภาวะเดิมด้วยใจที่ใหม่ ประกอบด้วย ความเข้าใจจากการสังเกต และการตระหนักรู้ และการอยู่ในภาวะเดิมด้วยใจที่ใหม่


การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท สำหรับเด็กไทยวัย 12 และ 18 เดือน ผ่านพฤติกรรมการมอง, เพลงไพร รัตนาจารย์ Jan 2018

การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท สำหรับเด็กไทยวัย 12 และ 18 เดือน ผ่านพฤติกรรมการมอง, เพลงไพร รัตนาจารย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทสำหรับเด็กไทยผ่านพฤติกรรมการมอง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้คือ เด็กไทยอายุ 12 เดือน จำนวน 30 คน และเด็กไทยอายุ 18 เดือน จำนวน 30 คน จากครอบครัวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องมือที่พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพในงานวิจัยนี้ได้แก่ 1.วิธีการแสดงภาพอย่างต่อเนื่อง (Continuous Familiarization) พัฒนาตามแนวคิดของ Rose, Jankowski & Feldman (2002) 2.วิธีการถ่ายทอดข้ามหมวดการรับรู้ (Cross-modal transfer) พัฒนาตามแนวคิดของ Rose, Feldman, Wallance และ McCarton (1991) 3.วิธีการเปรียบเทียบการมองภาพ 2 ภาพ (Visual-paired comparison) พัฒนาตามแนวคิดของ Rose, Feldman และ Jankowski (2001) และ มีการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของชุดเครื่องมือนี้โดยวิธีการหาความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินหรือสังเกตและวัดความตรงตามโครงสร้างในการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาททั้ง 3 การประเมินมีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับที่สูง (r= .903 -.914) วิธีการแสดงภาพอย่างต่อเนื่องมีความตรงตามโครงสร้างที่วิเคราะห์ค่าสถิติด้วย t-test พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีความเร็วในการประมวลผลดีกว่าเด็กอายุ 12 เดือน (t = -3.098, p < .005)


การศึกษาการรับรู้ความอบอุ่น ความสามารถ และเจตคติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ, ฉัตรดาว สิทธิผล Jan 2018

การศึกษาการรับรู้ความอบอุ่น ความสามารถ และเจตคติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ, ฉัตรดาว สิทธิผล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการถูกประเมินความเชื่อแบบเหมารวมในมิติความอบอุ่น มิติความสามารถ และเจตคติของคนในสังคมที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) โดยเจตคติต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในงานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นไปที่บริบทของการทำงาน งานวิจัยชิ้นนี้ออกแบบให้มี 8 เงื่อนไข โดยกลุ่มตัวอย่างอ่านและประเมินใบประวัติของเป้าหมายที่เป็นเพศชาย, เพศหญิง, เลสเบี้ยน, เกย์ (Gays), ไบเซ็กชวลชาย (Bisexual men), ไบเซ็กชวล (Bisexual women), ชายข้ามเพศ (Transgender men) หรือหญิงข้ามเพศ (Transgender women) กลุ่มตัวอย่างเป็นชาย และหญิงที่มีรสนิยมแบบรักต่างเพศ 8 เงื่อนไข โดยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยอ่านประวัติของเป้าหมาย ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 20-39 ปี จำนวน 160 คน ผลการวิจัยปรากฏว่าไม่พบว่ารสนิยมทางเพศที่ต่างกัน ส่งผลให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกประเมินในมิติความอบอุ่น มิติความสามารถ และเจตคติในบริบทของการทำงานแตกต่างกัน รวมถึงไม่พบว่าเป้าหมายในการประเมินที่เป็นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกประเมินการเชื่อแบบเหมารวมในมิติของความอบอุ่น และความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ซึ่งขัดแย้งกับงานวิจัยในอดีต ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะได้รับการประเมินทั้งในด้านหนึ่งน้อยกว่าผู้ที่มีรสนิยมแบบรักต่างเพศ


อิทธิพลของการรับรู้ข้อจำกัดในการท่องเที่ยว และการรับรู้ประโยชน์ของการท่องเที่ยวต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวสะพายเป้หญิง : บทบาทของการจัดการกับข้อจำกัดในฐานะ ตัวแปรส่งผ่าน และอิทธิพลกำกับของความมุ่งมั่นในตนเอง, ฐิติวรรณ สีผึ้ง Jan 2018

อิทธิพลของการรับรู้ข้อจำกัดในการท่องเที่ยว และการรับรู้ประโยชน์ของการท่องเที่ยวต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวสะพายเป้หญิง : บทบาทของการจัดการกับข้อจำกัดในฐานะ ตัวแปรส่งผ่าน และอิทธิพลกำกับของความมุ่งมั่นในตนเอง, ฐิติวรรณ สีผึ้ง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการรับรู้ข้อจำกัดในการท่องเที่ยว และการรับรู้ประโยชน์ของการท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการท่องเที่ยว โดยมีการจัดการกับข้อจำกัดเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความมุ่งมั่นในตนเองเป็นตัวแปรกำกับ ผู้เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้คือ นักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้หญิง ชาวไทย จำนวนทั้งหมด 283 คน ทำมาตรวัดการรับรู้ข้อจำกัดในการท่องเที่ยว มาตรวัดการรับรู้ประโยชน์ของการท่องเที่ยว มาตรวัดการจัดการกับข้อจำกัด มาตรวัดพฤติกรรมการท่องเที่ยว และมาตรวัดความมุ่งมั่นในตนเอง การตรวจสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ โดยการทดสอบตัวแปรส่งผ่านอย่างมีเงื่อนไข (moderated mediation) ผ่านโปรแกรมเสริม PROCESS ใน SPSS ผลการวิจัยพบว่าการรับรู้ข้อจำกัดในการท่องเที่ยวสามารถทำนายพฤติกรรมการท่องเที่ยวได้ในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีการจัดการกับข้อจำกัดเป็นตัวแปรส่งผ่านแบบสมบูรณ์ (full mediation) อย่างไรก็ตามผลการวิเคราะห์พบว่าการรับรู้ประโยชน์ของการท่องเที่ยวไม่สามารถทำนายการจัดการกับข้อจำกัดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงสรุปได้ว่าการจัดการกับข้อจำกัดไม่เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างการรับรู้ประโยชน์ของการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าความมุ่งมั่นในตนเองไม่มีอิทธิพลกำกับในความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการกับข้อจำกัดและพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย


อิทธิพลของอำนาจและสถานะต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น : ความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นและการแพร่ทางอารมณ์, ณัฐพัชร์ สิมะรังสฤษฏิ์ Jan 2018

อิทธิพลของอำนาจและสถานะต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น : ความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นและการแพร่ทางอารมณ์, ณัฐพัชร์ สิมะรังสฤษฏิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยนี้ศึกษาอิทธิพลของอำนาจและสถานะต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ซึ่งวัดด้วยความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นและการแพร่ทางอารมณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือ นิสิต ระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 99 คน กลุ่มตัวอย่างจะถูกสุ่มเข้าเงื่อนไขการทดลอง 4 เงื่อนไขในการวิจัย อันได้แก่ กลุ่มเงื่อนไขอำนาจและสถานะสูง กลุ่มเงื่อนไขอำนาจสูงแต่สถานะต่ำ กลุ่มเงื่อนไขอำนาจต่ำแต่สถานะสูง และกลุ่มเงื่อนไขอำนาจและสถานะต่ำ กลุ่มตัวอย่างที่มีอำนาจสูงจะได้สิทธิ์ในการจัดสรรเงินในกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มที่มีอำนาจต่ำจะร่วมการทดลองโดยไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ส่วนเงื่อนไขสถานะสูง การตัดสินใจแบ่งเงินของกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม แตกต่างจากเงื่อนไขสถานะต่ำที่สมาชิกทุกคนไม่ยอมรับการแบ่งเงินของกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างดูวิดีทัศน์สื่ออารมณ์กระตุ้นอารมณ์ 4 อารมณ์ คือ สุข เศร้า โกรธและกลัว และวัดการแพร่ทางอารมณ์หลังรับชมวิดีทัศน์ และทำงานจับคู่คำคุณศัพท์ ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณแบบสองทาง (Two-way MANOVA) พบว่า อำนาจและสถานะไม่มีอิทธิพลใดต่อตัวแปรความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่น แต่สถานะมีอิทธิพลทางบวกต่อการแพร่ทางอารมณ์ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีสถานะสูงได้รับการแพร่ทางอารมณ์สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีสถานะต่ำทั้งในทุกอารมณ์ที่ระดับ .01


การศึกษากรอบมโนทัศน์และพัฒนาเครื่องมือประเมินสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา : การวิจัยแบบผสานวิธี, ฐิติกาญจน์ บุญรักษา อินทาปัจ Jan 2018

การศึกษากรอบมโนทัศน์และพัฒนาเครื่องมือประเมินสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา : การวิจัยแบบผสานวิธี, ฐิติกาญจน์ บุญรักษา อินทาปัจ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยแบบผสานวิธีครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษากรอบมโนทัศน์สมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในบริบทสังคมไทย (2) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติมาตรวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ผู้วิจัยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเรื่องประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการมีสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในนักจิตวิทยาการปรึกษาไทย 7 ราย ที่คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 2 การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณเพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติของมาตรวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ปฏิบัติงานด้านการปรึกษาโดยใช้ทักษะการปรึกษาเชิงจิตวิทยา นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ด้านจิตวิทยาการปรึกษา และจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและแนะแนว)และนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 สาขาจิตวิทยา จำนวนทั้งสิ้น 461 คน จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ (แบ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพข้อกระทงรายข้อ 85 คน การตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติของมาตรวัดทั้งฉบับ 316 คน และการตรวจสอบความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานด้วยเทคนิคกลุ่มรู้ชัด 60 คน) ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows และ LISREL ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่ากรอบมโนทัศน์สมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ประกอบด้วย 10 ด้าน คือ (1) การตระหนักในพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยม และอคติ ทางวัฒนธรรม (2) การตระหนักในความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรม (3) การตระหนักในทักษะทางวัฒนธรรม (4) ความเข้าใจในพื้นฐาน ความเชื่อ ค่านิยม และอคติ ทางวัฒนธรรมของผู้มาปรึกษา (5) ความเข้าใจในความรู้พื้นฐานทางวัฒนธรรมของผู้มาปรึกษา (6) ความเข้าใจในทักษะทางพหุวัฒนธรรม (7) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในเรื่องพื้นฐานความเชื่อ ค่านิยม และอคติ ทางวัฒนธรรม (8) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในเรื่องความรู้ทางวัฒนธรรม (9) การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในด้านทักษะ กลยุทธ์ และเทคนิคที่เหมาะสม และ (10) การผสมผสานความเป็นมืออาชีพกับการใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว และ ส่วนผลการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า มาตรวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้นจากกรอบมโนทัศน์ในการศึกษาเชิงคุณภาพระยะที่1 มีจำนวน 47 ข้อ มีความตรงตามเนื้อหาจากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิ มีความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบสอบถามสัมพันธภาพและความร่วมมือในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (r = .48, p < .001) และไม่พบความสัมพันธ์กับมาตรวัดการตอบเพื่อทำให้ดูดีทางสังคม (r = .04, ns) มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบด้วยกลุ่มรู้ชัด (t = 3.71, p < .001) และผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพบว่าโมเดลการวัดสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ที่มี 10 ด้าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ 2 = 40.58; df = 28; p = .059; CFI = 1.00; GFI = .98; AGFAI = .95; SRMR = .03; RMSEA = .04; χ 2/df = 1.45) มาตรวัดมีค่าความเที่ยงแบบสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .957


ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ความหมายในชีวิต และภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาศิลปะ, วิภาวี วรวุฒิวิทยารักษ์ Jan 2018

ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ความหมายในชีวิต และภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาศิลปะ, วิภาวี วรวุฒิวิทยารักษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง การสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ความหมายในชีวิต และภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาศิลปะ กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตนักศึกษาศิลปะจำนวน 311 คน อายุเฉลี่ย 20.53±1.43 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป (2) มาตรวัดสมรรถนะการสร้างสรรค์ของเอปสไตน์ (3) มาตรวัดความหมายในชีวิต และ (4) มาตรวัดด้านย่อยภาวะซึมเศร้าของมาตรวัดความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าฉบับ 42 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์เชิงศิลปะมีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.24, p < .01) เช่นเดียวกับความหมายในชีวิต มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.70, p < .01) โดยที่การสร้างสรรค์เชิงศิลปะและความหมายในชีวิต สามารถร่วมกันทำนายภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาศิลปะได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 โดยร่วมกันทำนายความแปรปรวนของภาวะซึมเศร้าร้อยละ 50 (R2 = .50, p < .01) เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐานของแต่ละตัวแปรทำนายพบว่าความหมายในชีวิตมีน้ำหนักค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐานสูงที่สุด (β = -.74, p < .01) ส่วนการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ไม่สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .09, ns)


ความเครียด ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และสุขภาวะของนักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต, ศิริลักษณ์ เตชะธนอิทธิกุล Jan 2018

ความเครียด ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และสุขภาวะของนักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต, ศิริลักษณ์ เตชะธนอิทธิกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความเครียด ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และสุขภาวะของนักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต กลุ่มตัวอย่างคือ นักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตจำนวน 149 คนอายุเฉลี่ย 33.81 ± 8.79 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) มาตรวัดการรับรู้ความเครียด 2) มาตรวัดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ 3) มาตรวัดความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และ 4) มาตรวัดสุขภาวะแบบ 5 องค์ประกอบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและ การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า ความเครียด และความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะของนักวิชาชีพสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 (r = -.47 และ -.34 ตามลำดับ, p < .001) ในขณะที่ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจมีค่าสหสัมพันธ์บวกกับสุขภาวะของนักวิชาชีพสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 (r = .67, p < .001) โดยที่ความเครียด ความอ่อนล้าในการเห็นอกเห็นใจ และความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ สามารถร่วมกันทำนายสุขภาวะของนักวิชาชีพทีให้บริการด้านสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสามารถอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะในนักวิชาชีพทีให้บริการด้านสุขภาพจิตได้ ร้อยละ 47.8 (R2 = .478, p < .001) ในขณะที่ตัวแปรความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ไม่สามารถทำนายสุขภาวะของนักวิชาชีพสุขภาพจิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .478, p = .346) ซึ่งความเครียด มีน้ำหนักในการทำนายสูงที่สุด (β = -.81, p < .01) ตามมาด้วย ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ (β = .59, p < .001)


อิทธิพลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกัน และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจต่อเจตคติรังเกียจกลุ่ม : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านสองตัว, สรวงศนันท์ สิริประภาพล Jan 2018

อิทธิพลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกัน และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจต่อเจตคติรังเกียจกลุ่ม : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านสองตัว, สรวงศนันท์ สิริประภาพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกันและได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ ในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มทั้งแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝงของชาวไทยที่มีต่อชาวพม่า โดยการเทียบกับเงื่อนไขการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกัน (ไม่มีผู้มีอำนาจ) และเงื่อนไขควบคุม รวมทั้งศึกษาตัวแปรส่งผ่าน 2 ตัวแปร ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อคนนอกกลุ่ม และการรับรู้บรรทัดฐานภายในกลุ่ม โดยนิสิตระดับปริญญาตรีชาวไทยจำนวน 186 คน ได้รับคำสั่งให้จินตนาการตามเหตุการณ์ที่แตกต่างกันตามเงื่อนไข ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เงื่อนไขการมีปฏิสัมพันธ์ทางบวกกับชาวพม่าแบบร่วมมือกันและได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลทางอ้อมในการลดเจตคติรังเกียจชาวพม่าแบบเด่นชัด ผ่านการลดความวิตกกังวลต่อชาวพม่า และเพิ่มการรับรู้บรรทัดฐานทางบวกที่ควรมีต่อชาวพม่าภายในกลุ่มตนเอง ในฐานะตัวแปรส่งผ่านเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่พบว่ามีอิทธิพลในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัด เท่าเทียมกับการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มแบบร่วมมือกัน เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ พบผลว่า ยังคงมีประสิทธิผลในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัดอยู่ อย่างไรก็ตามการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มทั้งสองเงื่อนไขนั้นไม่มีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง จากการวัดด้วยแบบทดสอบการเชื่อมโยงแบบแอบแฝง


ความสัมพันธ์ระหว่าง ความเครียด และสุขภาวะทางจิตในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง โดยมีความเมตตากรุณาต่อตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมเป็นตัวแปรกำกับ, ณัฐชา อุเทศนันทน์ Jan 2018

ความสัมพันธ์ระหว่าง ความเครียด และสุขภาวะทางจิตในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง โดยมีความเมตตากรุณาต่อตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมเป็นตัวแปรกำกับ, ณัฐชา อุเทศนันทน์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความเครียด และสุขภาวะทางจิตในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง โดยมีความเมตตากรุณาต่อตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมเป็นตัวแปรกำกับ กลุ่มตัวอย่างคือ บุคคลที่อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง อายุตั้งแต่ 35 – 59 ปี จำนวน 263 คน อายุเฉลี่ยเท่ากับ 45.64 ± 7.19 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดการรับรู้ความเครียด มาตรวัดความเมตตากรุณาต่อตนเอง มาตรวัดสุขภาวะทางจิตของ และ มาตรวัดการสนับสนุนทางสังคม วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า ความเครียด มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับความเมตตากรุณาต่อตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.60, p < .001), ความเครียด มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับการสนับสนุนทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.11, p < .05) ความเครียด มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะทางจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.53, p < .001) ในขณะที่ความเมตตากรุณาต่อตนเองไม่สามารถกำกับอิทธิพลของความเครียดที่มีต่อสุขภาวะทางจิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (b = -.00, p = .98) และการสนับสนุนทางสังคมก็ไม่สามารถกำกับอิทธิพลของความเครียดที่มีต่อสุขภาวะทางจิตได้เช่นกัน (b = -.00, p = .51) นอกจากนี้ ความเครียด ความเมตตากรุณาต่อตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมสามารถร่วมกันทำนายสุขภาวะทางจิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะทางจิตร้อยละ 50 (R² = .50, p < .001) โดยความเมตตากรุณาต่อตนเองมีน้ำหนักในการทำนายสูงที่สุด (β = .51, p < .01) การสนับสนุนทางสังคม มีน้ำหนักในการทำนายรองลงมา (β = .19, p < .001) ในขณะที่ความเครียดมีน้ำหนักในการทำนายต่ำที่สุด (β = -.16, p < .001)