Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Political Science

PDF

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

2020

Articles 1 - 30 of 47

Full-Text Articles in Entire DC Network

ระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติของเกาหลีใต้ กับการแก้ปัญหาแรงงานไทยเข้าเมืองผิดกฎหมาย, พีระพัฒน์ เชียงแสน Jan 2020

ระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติของเกาหลีใต้ กับการแก้ปัญหาแรงงานไทยเข้าเมืองผิดกฎหมาย, พีระพัฒน์ เชียงแสน

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ปัญหาแรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้นั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลักลอบทำงานผิดกฎหมายส่งผลเสียต่อตัวแรงงานและประเทศชาติ สารนิพนธ์เล่มนี้ศึกษาถึงสาเหตุของปัญหาและการดำเนินการแก้ไขปัญหาของเกาหลีใต้ ผ่านแนวคิดการเคลื่อนย้ายแรงงานของระบบโลก เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของแรงงานและการรับมือต่อปัญหาของเกาหลีใต้ โดยอาศัยการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ทบทวนงานศึกษาที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากสื่อข้อมูลออนไลน์จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน หน่วยงานสถิติประเทศเกาหลีใต้และหน่วยงานอื่น ๆ จากผลการวิจัยพบว่า สาเหตุสำคัญของการตัดสินใจลักลอบทำงานผิดกฎหมายเกิดจากค่าจ้างที่ได้รับจากการทำงานในเกาหลีใต้สูงกว่าไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับกระบวนการในการจัดส่งแรงงานของระบบการอนุญาตจ้างงาน (EPS) นั้นอยู่ในระดับต่ำ ทั้งเงื่อนไข ขั้นตอน และกระบวนการการจัดส่งแรงงานภายใต้ระบบการอนุญาตจ้างที่เป็นแนวทางถูกกฎหมาย กลับกลายเป็นอุปสรรคและสร้างปัญหา ผลักดันให้แรงงานไทยตัดสินใจเลือกที่จะลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายเพื่อเลี่ยงระบบการส่งตัวที่ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝั่งไทยและเกาหลีใต้ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าข้อจำกัดในการแก้ปัญหานั้นยังคงมีอยู่มากมายก็ตาม


โครงสร้างกองทัพไทยกับการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพกับองค์การสหประชาชาติของทหารหญิงไทย, เกศสุดา ช่างต่อ Jan 2020

โครงสร้างกองทัพไทยกับการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพกับองค์การสหประชาชาติของทหารหญิงไทย, เกศสุดา ช่างต่อ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่มักจะส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็ก ทำให้ทหารหญิงมีความสำคัญในภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเพราะทหารหญิงสามารถเข้าถึงตลอดจนพูดคุยสอบถามข้อมูลจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้ดีกว่าทหารชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบในประเทศมุสลิม ด้วยสาเหตุนี้ทำให้องค์การสหประชาชาติร้องขอทหารหญิงจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพ ประเทศไทยหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติจึงส่งทหารหญิงเข้าร่วมภารกิจจนทำให้ได้รับคำชื่นชมมากมาย เป็นผลให้กองทัพไทยได้มีการเพิ่มบทบาทและนำเสนอภาพของทหารหญิงมากขึ้น ทั้งนี้โครงสร้างกองทัพไทยถูกสถาปนาขึ้นเป็นพื้นที่ทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้สถานะของทหารหญิงเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนของกองทัพไทยเท่านั้น ดังนั้นบทความวิชาการนี้จึงศึกษาข้อจำกัดของบทบาททหารหญิงไทยในภารกิจรักษาสันติภาพอันเนื่องมาจากโครงสร้างชายเป็นใหญ่ของกองทัพไทยเพื่อทำความเข้าใจความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการหาแนวทางสนับสนุนบทบาททหารหญิงไทยในภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ จากการศึกษาการปฏิบัติหน้าที่ของทหารหญิงไทยพบว่าทหารหญิงไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ในทางกลับกันพบว่าการส่งทหารหญิงภายใต้รากฐานปิตาธิปไตยของกองทัพไทยในเข้าร่วมภารกิจนั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการคัดเลือกทหารหญิงเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจซึ่งกีดกันทหารหญิงส่วนใหญ่ในองค์กรอีกทั้งตำแหน่งและความก้าวหน้าของทหารหญิงไทยในกองทัพไทยภายหลังการไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพ และสุดท้ายการจำกัดบทบาทของทหารหญิงภายใต้รากฐานการมีอำนาจเหนือกว่าของทหารชาย โดยสรุปกองทัพไทยควรมีการส่งเสริมให้ทหารหญิงมีบทบาทมากยิ่งขึ้นตามความรู้ ความสามารถ ด้วยการเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อเปิดทางให้ทหารหญิงผู้มีความสามารถได้เข้าปฏิบัติงานในภารกิจที่สำคัญมากขึ้น


ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส: ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงในสมัยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง, รัชพนธ์ พีระพล Jan 2020

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส: ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงในสมัยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง, รัชพนธ์ พีระพล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศสประกอบด้วยสาระสำคัญสี่ประการ คือ การรักษาสันติภาพและความมั่นคง การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจในภูมิภาค การสนับสนุนให้เกิดระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ และการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ สารนิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า ปัจจัยใดบ้างในบริบทระหว่างประเทศที่จูงใจให้ฝรั่งเศสดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ผลการศึกษาพบว่า การผงาดขึ้นมาของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง การเปลี่ยนแนวทางการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในแบบเอกภาคีนิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการถอนสมาชิกภาพออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร เป็นเหตุจูงใจให้ฝรั่งเศสดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว นอกจากนี้ การนำแนวคิดเรื่องอำนาจของโจเซฟ นายมาเป็นกรอบในการศึกษา ผู้วิจัยพบว่า การใช้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงเป็นอำนาจอันชาญฉลาดของฝรั่งเศส ที่ดำเนินตามนโยบายความยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ควบคู่กับแนวทางพหุภาคีนิยมของสหภาพยุโรปเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองโลก และเพื่อสนับสนุนให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเกิดระเบียบแบบหลายขั้วอำนาจ


การกำกับดูแลความปลอดภัยของการบินพลเรือนระหว่างประเทศ : กรณีศึกษาIcao กับประเทศไทย, ปวริศ อ่อนสุทธิ Jan 2020

การกำกับดูแลความปลอดภัยของการบินพลเรือนระหว่างประเทศ : กรณีศึกษาIcao กับประเทศไทย, ปวริศ อ่อนสุทธิ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย สองข้อ คือ หนึ่ง การวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ทำงานด้านการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างมีเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากการที่ประเทศต่างๆ ยอมรับและปฏิบัติตาม ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัย และ สอง เพื่อแสดงให้เห็นการทำงานของ ICAO และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศสมาชิกจากปัจจัยที่ได้วิเคราะห์ไว้ โดยใช้กรณีประเทศไทยที่ ICAO เข้ามาตรวจสอบและได้รับเครื่องหมายธงแดงเป็นกรณีศึกษา สารนิพนธ์มีข้อเสนอหลักตามกรอบแนวคิดทฤษฎี Neoliberal Institutionalism ว่า ICAO สามารถช่วยรัฐสมาชิกบรรลุความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกันในด้านการบินพลเรือนด้วยการทำหน้าที่วางข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานและมาตรการด้านความปลอดภัยให้รัฐสมาชิกรับไปปฏิบัติ และจัดระบบตรวจสอบการรักษามาตรฐานของสมาชิก ความเข้มแข็งของ ICAO มาจาก สามปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรกมาจากการที่ ICAO เป็นกลไกเชิงสถาบันทำหน้าที่เป็นจุดประสานการกำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของกิจการการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ทำให้การดำเนินการของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพสม่ำเสมอกัน ปัจจัยที่สอง การปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำวินิจฉัยของ ICAO มาจากการที่แต่ละประเทศมุ่งรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ต้องการนำเรื่องความปลอดภัยของการบินพลเรือนไปเสี่ยงกับประเทศที่ ICAO ตรวจสอบพบว่าการดำเนินการไม่ได้มาตรฐาน และปัจจัยที่สาม มาจากข้อเสนอของ Ian Hurd เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความชอบธรรมขององค์การระหว่างประเทศกับการปฏิบัติตามของรัฐสมาชิก สารนิพนธ์เสนอว่า ICAO ได้รับการยอมรับจากรัฐสมาชิกเพราะกฎข้อบังคับและมาตรฐานด้านความปลอดภัย ICAO มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และแนวทางดำเนินการตรวจสอบของ ICAO มีความชัดเจน โปร่งใส และปฏิบัติต่อทุกประเทศด้วยมาตรฐานและแบบแผนอย่างเดียวกัน กรณีศึกษาประไทยกับ ICAO สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยทั้งสามอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากไม่ผ่านการตรวจสอบและได้รับธงแดง ทางการไทยได้เร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนโดยถือเป็นวาระระดับชาติเพื่อปรับปรุงระบบกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนของไทยให้ได้ตามมาตรฐานของ ICAO จากกรณีศึกษานี้ สารนิพนธ์มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการบินควรมีการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย ปรับปรุงและแก้ไขข้อกำหนดต่างๆ อีกทั้งควรมีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ที่เป็นมาตรฐานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน


การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของไทยต่อเกาหลีเหนือ (ค.ศ. 2007-2019), ภาสุรี พัฒนาวิสุทธิ์ Jan 2020

การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของไทยต่อเกาหลีเหนือ (ค.ศ. 2007-2019), ภาสุรี พัฒนาวิสุทธิ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของไทยต่อเกาหลีเหนือในช่วงปี 2007-2019 จากการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้มีการรับรองข้อมติเพื่อตอบโต้การทดลองขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงรวมถึงสันติภาพระหว่างประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐสมาชิกสหประชาชาติ จึงมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อมติของ UNSC ซึ่งเป็นไปตามข้อที่ 25 ของกฎบัตรสหประชาชาติในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2007 ไทยมีการดำเนินการตามข้อมติของ UNSC ในการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือมาโดยตลอด มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม เป็นต้น ในการปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวและปรับปรุงข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งการดำเนินมาตรการจะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายภายในของประเทศไทยเช่นกัน ทั้งนี้ผลการศึกษาชี้ให้เห็นการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของไทยต่อเกาหลีเหนือ ในช่วงปี 2007-2019 และพบว่าทั้งไทยและเกาหลีเหนือไม่ได้มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขนาดนั้นในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของไทยต่อเกาหลีเหนือค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ร้ายกับไทยในด้านการค้า เพราะไทยและเกาหลีเหนือมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่ผ่านมาเกาหลีเหนือไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักในด้านการค้าของไทย ไทยก็ไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรมากนัก และประเทศคู่ค้าที่ไทยพึ่งพาเป็นหลัก คือ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนประเทศที่เกาหลีเหนือมีการพึ่งพาทางการค้าเป็นหลักคือ จีน อินเดีย รัสเซีย เป็นต้น โดยจะเห็นว่าอิทธิพลของสถาบันระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศอาจเป็นแรงจูงใจหนึ่งในการที่ไทยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ รวมถึงเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อบทบาทของไทยในเวทีสหประชาชาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับนานาชาติ ให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพในอนาคต


การฝึกร่วมผสมทางทหาร Cobra Gold ในฐานะเครื่องมือตอบสนองมหายุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา, สุวิทย์ ไท้ทอง Jan 2020

การฝึกร่วมผสมทางทหาร Cobra Gold ในฐานะเครื่องมือตอบสนองมหายุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา, สุวิทย์ ไท้ทอง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มุ่งค้นหาอรรถประโยชน์ของการฝึกร่วมผสมทางทหาร Cobra Gold ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพร่วม การฝึกดังกล่าวได้ดำเนินมากว่าสี่สิบปีและเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนาน สหรัฐอเมริกาใช้การฝึกดังกล่าวเป็นกิจกรรมในการฝึกฝนกำลังพลของตนเองและชาติพันธมิตรเพื่อดำรงความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ ปัจจุบันการฝึกได้ขยายจากการฝึกแบบทวิภาคีมาเป็นพหุภาคีและมีชาติสมาชิกเข้าร่วมการฝึกถึง 27 ประเทศ แม้จะเป็นการฝึกทางทหารที่มีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง แต่เมื่อประเทศไทยมีการรัฐประหารในปี ค.ศ.2006 และปี ค.ศ.2014 สหรัฐอเมริกาเองซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนและรักษาคุณค่าแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย จึงต้องพิจารณาว่าจะยกเลิกการฝึกร่วมผสมทางทหารภายหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งหรือไม่ สารนิพนธ์นี้เสนอว่า การที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจให้มีการฝึกร่วมผสมทางทหาร Cobra Gold ภายหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้ง เป็นผลมาจากการที่การฝึกดังกล่าวเป็นเครื่องมือตอบสนองต่อการดำเนินมหายุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาสองประการ ได้แก่การมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางทหาร และการสร้างและรักษาระบบพันธมิตรของตนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทความมั่นคงที่มีการผงาดขึ้นของจีนมาเป็นมหาอำนาจที่ท้าทายสถานภาพของสหรัฐอเมริกา


การศึกษาความสัมพันธ์ไทย-จีนผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างในปี ค.ศ. 2013-2020, เอกพจน์ ฮ้อแสงชัย Jan 2020

การศึกษาความสัมพันธ์ไทย-จีนผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างในปี ค.ศ. 2013-2020, เอกพจน์ ฮ้อแสงชัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ต้องการศึกษาความล่าช้าในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งถือเป็นโครงการที่สำคัญในการสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและจีนผ่านการสร้างระบบเครือข่ายการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค ทั้งนี้ การที่จีนให้การรับรองรัฐบาลรัฐประหารในไทยที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี ค.ศ. 2014 เปิดโอกาสให้จีนเข้ามาผลักดันให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการสานต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลทั้งสองจะทำให้การดำเนินการโครงการฯ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงเกิดความล่าช้ามาโดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้อย่างรวดเร็ว จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ความล่าช้าดังกล่าวเกิดจากความพยายามของรัฐบาลไทยที่ต้องการรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและความชอบธรรมภายในประเทศ ในขณะที่รัฐบาลไทยให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ดำเนินการโครงการฯ โดยปราศจากคู่แข่ง แต่ก็พยายามแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมิได้ทำให้ไทยต้องอ่อนข้อและอาจทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์แห่งชาติดังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงส่งผลให้การเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยง่าย ซึ่งสร้างความไม่พึงพอใจให้กับฝ่ายจีนและกลายมาเป็นประเด็นปัญหาท้าทายต่อรัฐบาลในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน กรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ จะมีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินนโยบายแต่ยังคงต้องรักษาความชอบธรรมของระบอบการปกครองแบบเผด็จการท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในไทยที่มีมาตลอดทศวรรษนับตั้งแต่การรัฐประหารโค้นล้มรัฐบาลพันตำรวจเอกทักษิณ ชินวัตร ในปี ค.ศ. 2006


การสมานลักษณ์ของชาวอินเดียพลัดถิ่นในกรุงเทพมหานคร, ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย Jan 2020

การสมานลักษณ์ของชาวอินเดียพลัดถิ่นในกรุงเทพมหานคร, ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ในหัวข้อ “การสมานลักษณ์ของชาวอินเดียพลัดถิ่นในกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจพลวัตความหลากหลายของชาวอินเดียในสังคมไทย และเพื่อศึกษาการสมานลักษณ์ของชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งชาวอินเดียออกเป็นสองกลุ่มคือ หนึ่ง กลุ่มชาวอินเดียที่ครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครก่อนศตวรรษที่ 21 หรือกลุ่มชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และสอง กลุ่มชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 21 โดยสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ในการอาศัยในกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างและความความสอดคล้องของการพลัดถิ่นและการสมานลักษณ์ของทั้งสองกลุ่ม ว่ามีการปรับตัวเข้าสู่สังคมกรุงเทพมหานครอย่างไร สารนิพนธ์ฉบับนี้ใช้กรอบทฤษฎีคนพลัดถิ่น (Diaspora theory) วิเคราะห์การรักษาอัตลักษณ์ของชาวอินเดียในกรุงเทพมหานคร และใช้กรอบทฤษฎีการสมานลักษณ์ (Assimilation theory) วิเคราะห์การเรียนรู้และปรับตัวของชาวอินเดียในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการปรับตัวในฝั่งของสังคมไทยที่รับเอาชาวอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมกรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า ชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 21 สามารถคงอัตตลักษณ์บ้านเกิดไว้ได้ดีกว่า เนื่องจากยังรักษาสัมพันธ์กับบ้านเกิดไว้ได้อย่างแนบแน่นและมองว่าอินเดียเป็นมาตุภูมิที่แท้จริง ขณะที่ชาวอินเดียที่ครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครก่อนศตวรรษที่ 21 แม้จะไม่ได้มีการรักษาสัมพันธ์กับประเทศอินเดียได้อย่างแนบแน่น แต่ก็สามารถคงอัตลักษณ์บางประการไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวิถีปฏิบัติทางศาสนา เนื่องจากมีการสร้างชุมชนชาวอินเดียที่มีศูนย์กลางทางศาสนาหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และมีการส่งต่อเรื่องราวและวิถีปฏิบัติภายในครอบครัวไว้ อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียที่ครอบครัวย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครก่อนศตวรรษที่ 21 มีการสมานลักษณ์กับสังคมกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เนื่องจากถือเป็นพลเมืองไทยที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย หรือเรียกว่า “กลุ่มชาวไทยเชื้อสายอินเดีย” อีกทั้งคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครและมุมมองของรัฐไทยมองว่าการเข้ามาของชาวอินเดียเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกัน จึงถือเป็นการสมานลักษณ์จากทั้งสองฝั่งอย่างกลมกลืน ส่วนชาวอินเดียที่ย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพมหานครในศตวรรษที่ 21 มีการสมานลักษณ์ในระดับผิวเผิน เนื่องจากระยะเวลาที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครเป็นเพียงระยะสั้น ๆ และมีจุดประสงค์เพื่อประกอบอาชีพในระยะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งความแตกต่างของการรักษาอัตลักษณ์และสมานลักษณ์ของชาวอินเดียทั้งสองกลุ่ม ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุในการย้ายถิ่นและระยะเวลาในการอยู่อาศัยในดินแดนใหม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเข้มข้นในการคงอัตลักษณ์บ้านเกิดและการสมานลักษณ์ของชาวอินเดียกับสังคมไทย


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Hrc) กับการจัดการประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาในเมียนมา, กฤตพร คารมคม Jan 2020

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Hrc) กับการจัดการประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาในเมียนมา, กฤตพร คารมคม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการดำเนินการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาในเมียนมา เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินการของ HRC ว่ามีอิทธิพลต่อท่าทีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเมียนมาอย่างไร และเผชิญอุปสรรคและข้อจำกัดอย่างไร โดยผู้วิจัยจะใช้กรอบแนวคิดกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและแบบจำลองสไปรัลมาประกอบการวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่า HRC มุ่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้างต้น โดยการเปิดเวทีให้ภาคส่วนระหว่างประเทศเรียกร้องและมีข้อเสนอแนะให้เมียนมายอมรับบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกการประชุมสมัยสามัญและสมัยพิเศษและกระบวนการ UPR ในขณะที่มอบอำนาจให้ผู้รายงานพิเศษฯ ประมวลข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจา เพื่อเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การรับรู้ของประชาคมโลก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลให้เมียนมาตอบสนองโดยการปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เมียนมาได้ปฏิบัติตามข้อเสนอของ HRC ในบางประเด็น เช่น การพิสูจน์สัญชาติ การส่งกลับผู้หนีภัยโดยสมัครใจ แต่เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากลมากนัก โดยเมื่อวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองสไปรัลนั้น ถือได้ว่า การตอบสนองของเมียนมาต่อ HRC ยังคงอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 ทั้งนี้ การที่ HRC ไม่สามารถส่งเสริมให้เมียนมาปฏิบัติตามบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนจนนำไปสู่ระยะที่ 5 ของแบบจำลองสไปรัลนั้น เกิดจากอุปสรรคและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคมภายในประเทศ รัฐบาลเมียนมา และกลไกของ HRC ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อให้เมียนมาเปลี่ยนแปลงท่าทีและยอมรับบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนสากลมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮีนจาในระยะยาว


คาลินินกราดกับนโยบายความมั่นคงของรัสเซียและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) : ความเปลี่ยนแปลงหลังการขยายสมาชิกภาพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในปี ค.ศ.2004, ศิริชัย จันทวงษ์ Jan 2020

คาลินินกราดกับนโยบายความมั่นคงของรัสเซียและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) : ความเปลี่ยนแปลงหลังการขยายสมาชิกภาพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในปี ค.ศ.2004, ศิริชัย จันทวงษ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคงของรัสเซียและนาโตต่อคาลินินกราด หลังการขยายสมาชิกภาพของนาโตในปี ค.ศ. 2004 เพื่อแสดงข้อจำกัดของทฤษฎีสัจนิยมเชิงรุกของจอห์น เมียร์ไชเมอร์ ภายหลังรัฐบอลติกทั้งสามแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1990-91 และเข้าเป็นสมาชิกนาโตในปี ค.ศ. 2004 ส่งผลให้พื้นที่คาลินินกราด ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ปราศจากน้ำแข็งของรัสเซียเพียงแห่งเดียวในทะเลบอลติก กลายเป็นพื้นที่กึ่งถูกปิดล้อมและยิ่งมีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของรัสเซียนับจากนั้น สารนิพนธ์ได้ถกเถียงว่า สัจนิยมเชิงรุกมีข้อจำกัดในการอธิบายนโยบายความมั่นคงของรัสเซียและนาโตต่อคาลินินกราด จากข้อเสนอของเมียร์ไชเมอร์ นโยบายความมั่นคงที่ดีที่สุดของมหาอำนาจในสภาวะอนาธิปไตยระหว่างประเทศ คือการขยายอำนาจให้มากที่สุด และการสกัดตัดทอนอิทธิพลของฝ่ายตรงข้ามให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการหาทางทำให้มหาอำนาจฝ่ายนั้นอ่อนแอลงไปในทุกทาง อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์การดำเนินนโยบายทั้งของรัสเซียและนาโตในกรณีคาลินินกราดพบข้อจำกัดของสัจนิยมเชิงรุกของเมียร์ไชเมอร์ อย่างน้อย 4 ประการ ประการแรก เป้าหมายพื้นฐานของรัฐต่างๆในสภาวะอนาธิปไตยระหว่างประเทศคือความมั่นคงมากกว่าความต้องการเป็นเจ้า รัฐจึงใช้เครื่องมือที่ต่างออกไปจากยุทธศาสตร์การขยายอำนาจในการป้องกันตนเองและเสริมสร้างความมั่นคงในภาวะอนาธิปไตย ประการที่สอง จากสมมติฐานของเมียร์ไชเมอร์ที่ว่า รัฐเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผล กรณีศึกษาที่ยกมาพบว่ารัสเซียและรัฐสมาชิกนาโตในยุโรปต่างตระหนักถึงความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะเกิดภาวการณ์ความมั่นคงที่ลำบากและอันตรายต่อทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลือกนโยบายก้าวร้าวและยั่วยุในกรณีคาลินินกราด ทุกฝ่ายยังได้ตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันที่จะได้รับจากความร่วมมือในหลายๆด้าน ประการที่สาม แม้ว่ามีตัวแสดงสนับสนุนบางหน่วย สำหรับยุทธศาสตร์เชิงรุกดังที่เมียร์ไชเมอร์ได้กล่าวถึงในทฤษฎี แต่สถานะของนโยบายนั้นไม่ได้รับฉันทานุมัติและกระบวนการกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศยังประกอบด้วยผลประโยชน์ที่หลากหลาย แนวคิดทางยุทธศาสตร์จำนวนมาก ที่จะใช้สานต่อและปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้น นอกเหนือไปจากทางเลือกที่ก้าวร้าวทางทหาร ประการที่สี่ เพื่อลดความเสียหายจากสภาวะอนาธิปไตยจากการทำให้ภาวการณ์ทางความมั่นคงในบอลติกเลวร้ายลง รัฐสมาชิกนาโตและสหภาพยุโรปเลือกใช้ความร่วมมือทางการพัฒนาเป็นเวทีนโยบายหลักเพื่อขยายประเด็นความร่วมมือด้านอื่นๆกับรัสเซีย ด้วยความคาดหวังจะเปลี่ยนคาลินินกราดและทะเลบอลติกเป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย


จีนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eec) กับการวางสมดุลในนโยบายต่างประเทศไทยต่อมหาอำนาจ, ภูริจักษ์ วิมลาภิรัต Jan 2020

จีนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eec) กับการวางสมดุลในนโยบายต่างประเทศไทยต่อมหาอำนาจ, ภูริจักษ์ วิมลาภิรัต

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสำคัญของประเทศจีน ที่ได้ “ปักหมุด” ทางยุทธศาสตร์การเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย โดยใช้กรอบแนวคิดของการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ที่เป็นการเข้ารวมกลุ่มสมัครพรรคพวกกับรัฐที่เข้มแข็งกว่าเพื่อผลประโยชน์ (Bandwagoning For Profit) มาเพื่อวิเคราะห์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน โดยเป้าหมายสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดสภาวะพึ่งพาต่อประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป จนอาจจะทำให้เสียสมดุลที่ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า นโยบายต่างประเทศของไทยได้หันเข้าหาประเทศจีนมากกว่าสหรัฐฯอย่างชัดเจน ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยเสียสมดุล (Balance) ในความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจขั้วตรงข้ามไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้ประเทศไทยต้องพบกับความเสี่ยง และความยากลำบากจากการขาดอิสระในการกำหนดนโยบายต่างประเทศที่จะต้องยึดถือเอาลำดับความสำคัญ (Prioritize) ในการรักษาความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศจีนเป็นหลัก จึงมีข้อเสนอแนะในการยึดจุดยืนของประเทศไทยจากการที่อยู่ในยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจทั้งสอง (Cooperative Security Locations) โดยหากประเทศไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่รักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจทั้งสองได้อย่างดี ย่อมจะก่อให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติสูงสุดแก่ประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นนี้ก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง และสร้างสมดุลอันนำมาซึ่งความมั่นคง รวมถึงการผลักดันด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ภายใต้บริบทยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน


บทบาทการเมืองของคู่สมรสนายกรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ : กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ละเอียด พิบูลสงคราม และนราพร จันทร์โอชา, วิลาสินี พวงมาลัย Jan 2020

บทบาทการเมืองของคู่สมรสนายกรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ : กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ละเอียด พิบูลสงคราม และนราพร จันทร์โอชา, วิลาสินี พวงมาลัย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์เล่มนี้ได้ศึกษาถึงบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของคู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย ในการส่งเสริม สนับสนุนงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกรณีศึกษาคือ ละเอียด พิบูลสงคราม และ นราพร จันทร์โอชา ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านของบริบทระหว่างประเทศ วิธีการ และอุดมการณ์ที่คู่สมรสนายกรัฐมนตรีใช้ในการส่งเสริมบทบาทและอิทธิพลของตนในเวทีระหว่างประเทศ โดยงานชิ้นนี้ได้ใช้กรอบแนวคิดด้วยกัน 3 กรอบเพื่อประกอบในการวิเคราะห์บทบาทและอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของคู่สมรสนายกรัฐมนตรี ได้แก่ การทูตเชิงวัฒนธรรม ชาตินิยม และสตรีนิยม โดยงานชิ้นนี่มุ่งเน้นที่จะนำเสนอด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่1)ข้อมูลบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศของคู่สมรสนายกรัฐมนตรี 2) การศึกษาวิเคราะห์ภารกิจ/กิจกรรมและบทบาทของคู่สมรสนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และ 3)เปรียบเทียบและวิเคราะห์บทบาทของละเอียดและนราพร ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลภายใต้บริบทการเมืองรัฐนิยมและความเป็นชาตินิยมของไทยในเวทีระหว่างประเทศ


บทบาทของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทยในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ตามอนุสัญญาออตตาวาระหว่าง พ.ศ. 2553-2563, พิชชาพร อุปพงศ์ Jan 2020

บทบาทของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทยในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ตามอนุสัญญาออตตาวาระหว่าง พ.ศ. 2553-2563, พิชชาพร อุปพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อที่ 5 อนุสัญญาออตตาวาด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติกัมพูชาและวิเคราะห์การเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าวและอุปสรรคด้วยทฤษฎีเสรีนิยมเชิงสถาบันและทฤษฎีระบอบ โดยมองทฤษฎีระบอบในกรอบของเสรีนิยมเชิงสถาบัน จากการศึกษาพบว่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทในการธำรงไว้ซึ่งระบอบห้ามทุ่นระเบิดด้วยการพยายามปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาออตตาวา เพื่อให้สามารถกำจัดทุ่นระเบิดในพื้นที่ประเทศไทยให้หมดไปซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการปักปันเขตแดนในชายแดน ไทย-กัมพูชา ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิด กัมพูชา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการนำร่องด้านความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เมื่อปรับใช้ทฤษฎีเสรีนิยมเชิงสถาบันและทฤษฎีระบอบเข้ากับผลการศึกษาจากข้อมูลเชิงปฐมภูมิและทุติยภูมิพบว่าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทยประสบความสำเร็จในฐานะตัวแสดงที่ริเริ่มและปฏิบัติในโครงการดังกล่าวซึ่งสามารถสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงานได้เนื่องจากสามารถสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับตัวแสดงภายในประเทศอื่นๆที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีอุปสรรคในการเสริมสร้างความร่วมมือเช่นกัน ได้แก่ ความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงของฝ่ายกัมพูชา การขาดเอกภาพของหน่วยงานในประเทศกัมพูชา สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19และการปรับเปลี่ยนวงรอบการบังคับบัญชาของคณะผู้บังคับบัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย


บทบาทของสหรัฐฯในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี ค.ศ. 2009 - 2020, จิราภรณ์ จรูญชาติ Jan 2020

บทบาทของสหรัฐฯในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ระหว่างปี ค.ศ. 2009 - 2020, จิราภรณ์ จรูญชาติ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การรุกเข้าพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมโยงทางบกและทางทะเล ตามยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) รวมถึง การสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขง ระหว่างปี ค.ศ. 2009-2020 ส่งผลให้สหรัฐฯ ตระหนักถึงอิทธิพลของจีนจากยุทธศาสตร์ BRI และศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มมากขึ้นจนสามารถขยายอำนาจครอบคลุมหลายพื้นที่ที่เป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ ดังนั้น สารนิพนธ์ฉบับนี้ จึงจัดทำขึ้นเพื่ออธิบายท่าทีของสหรัฐฯที่ต้องการคงบทบาทความเป็นประเทศมหาอำนาจหลักในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และตอบโต้จีนผ่านแนวทางการถ่วงดุลอำนาจ โดยการสร้างกลไกความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการเลือกใช้แนวทาง Buck-Passing ในการผลักภาระให้กับประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึง กรอบความร่วมมืออื่นๆ ในการรับมือกับอิทธิพลของจีน มากกว่าการผลักดันกลไกความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของตนเพียงอย่างเดียว


บทบาทและผลประโยชน์ของจีนกับการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่อประเทศไทย, นฤมล ทีระฆัง Jan 2020

บทบาทและผลประโยชน์ของจีนกับการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่อประเทศไทย, นฤมล ทีระฆัง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาถึงบทบาทของจีนในการให้ความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวแก่ประเทศไทย ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว แห่งประเทศไทย กับสำนักงานแผ่นดินไหวจังหวัดกวางตุ้ง ประเทศจีน และวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ของประเทศจีน จากการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว โดยใช้วิธีการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องอำนาจละมุน (soft power) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ผลการศึกษา พบว่า การให้ความช่วยเหลือจากจีน นอกจากเรื่องการให้ทุนในการศึกษาดูงาน อบรม สัมมนา แก่เจ้าหน้าที่ของประเทศไทยแล้ว ยังได้ให้ทุนในการติดตั้งสถานีและเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวและตรวจการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจำนวน 4 สถานี โดยผลประโยชน์ที่จีนได้รับแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) ผลประโยชน์โดยตรงด้านแผ่นดินไหว คือ การสร้างเครือข่ายข้อมูลแผ่นดินไหวระหว่างประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการเตือนภัยแผ่นดินไหว (2) ผลประโยชน์ทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจและสังคม คือ การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดี การส่งเสริมสินค้าเทคโนโลยีแผ่นดินไหวจากจีน และ (3) ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เป็นไปได้ คือ การได้รับข้อมูลด้านตำแหน่งที่ตั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน และข้อมูลด้านพิกัดภูมิศาสตร์อย่างละเอียด ซึ่งผลประโยชน์ใน 2 ประการหลังนี้สอดคล้องกับแนวความคิดอำนาจละมุนที่การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย นำไปสู่ความเป็นไปได้ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อกันมาต่อประเทศจีน


ปัจจัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์: คำอธิบายผ่านตัวแบบรัฐพัฒนา, มนณิกา ลิ้มธนากุล Jan 2020

ปัจจัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์: คำอธิบายผ่านตัวแบบรัฐพัฒนา, มนณิกา ลิ้มธนากุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทและแนวทางการดำเนินนโยบายของสิงคโปร์ รวมถึงยุทธศาสตร์การบริหารประเทศในสมัยพรรคกิจประชาและทำความเข้าใจถึงผลลัพธ์การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขวิกฤติปัญหาจนสามารถพัฒนาและก้าวข้ามข้อท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ภายใต้ปัจจัยภายภายในคือการเป็นพหุสังคมหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และภาษา ปัจจัยความกดดันจากภายนอกคือนโยบายแข็งกร้าวของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย สภาวการณ์ของสงครามเย็นและสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นใกล้ตัวในภูมิภาคจากความขัดแย้งของขั้วอำนาจเสรีนิยมและสังคมนิยม ความผันผวนในเศรษฐกิจโลกจากระบบทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงจากปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ทำให้สิงคโปร์ประสบความยากลำบากในยุคสร้างชาติช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 โดยผู้วิจัยใช้กรอบการวิเคราะห์ผ่านตัวแบบรัฐพัฒนาในบริบทของคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จด้วยนโยบายโดย "รัฐ" เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างโดดเด่น รวมทั้งกระจายความเจริญไปสู่พลเมืองทุกระดับเท่าเทียมกันจนรัฐเกิดความชอบธรรมในการกุมอำนาจทางการเมือง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการเพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนภาคธุรกิจได้อย่างเต็มที่ กระตุ้นการเจริญเติบโตผ่านนโยบายอุตสาหกรรมที่เลือกสรรโดยแนวทางของรัฐซึ่งเป็นความผสมผสานของนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถก้าวออกจากความเป็นรัฐด้อยพัฒนาในกลุ่มโลกที่สามด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดสู่รัฐกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Countries: NICs) และเป็นรัฐพัฒนา (developmental state) ได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ทศวรรษ จากการศึกษาปัจจัยจุลภาคยังพบว่า ภายใต้การบริหารของพรรคกิจประชาที่นำโดย นาย ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกซึ่งมีวิสัยทัศน์เต็มไปด้วยประสิทธิภาพและแนวทางเป็นเอกลักษณ์ นำไปสู่ความสำเร็จในเชิงประจักษ์ด้วยยุทธวิธีดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและประเทศเพื่อนบ้านอย่างลงตัว มีวิถีพัฒนาจากภายในสังคมโดยให้คุณค่าความรู้ความสามารถ (meritocracy) ใช้การปกครองรูปแบบผสม (hybrid regime) ที่เน้นประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอด สร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพทางการเมืองด้วยการเรียนรู้ทบทวนและปรับนโยบายอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาตามความเหมาะสมต่อสภาวการณ์ นำพาประเทศให้รอดพ้นจากสภาวะสงครามและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ส่งผลให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งควรค่าแก่การเป็นปทัสถานให้กับรัฐที่อยู่ในเส้นทางการพัฒนาได้อย่างดียิ่ง


พลวัตของการจัดทำข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ภายหลังเบร็กซิท, ปัญฐ์พิกา ภิรัฐพงศ์ธนากร Jan 2020

พลวัตของการจัดทำข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ภายหลังเบร็กซิท, ปัญฐ์พิกา ภิรัฐพงศ์ธนากร

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเจรจาข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปภายหลังเบร็กซิท เมื่อประชากรร้อยละ 51.9 ของ สหราชอาณาจักรได้ลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ในปี 2559 โดยใช้ทฤษฎีเกมสองระดับของโรเบิร์ต พัตนัม อธิบายปัจจัยและตัวแสดงทางการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่มีผลตั้งแต่เริ่มกระบวนการเจรจาจนถึงการบรรลุข้อตกลง โดยเฉพาะการนำกลยุทธ์ แบตน่า มาใช้ในการเจรจาต่อรองในจุดที่ยอมรับร่วมกันของแต่ละฝ่าย ให้เห็นชอบกับข้อตกลงที่สามารถมีความเป็นไปได้ และได้ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับข้อตกลง สารนิพนธ์นี้ยังได้ใช้แนวคิดการพึ่งพาอาศัยกันอย่างสลับซับซ้อน ของโรเบิร์ต โคเฮน และโจเซฟ นาย มาพิจารณาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป นำมาสู่การใช้นโยบายการค้าร่วมกันผ่านระบบเศรษฐกิจตลาดเดียว โดยสหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกตลาดเดียวและสหภาพศุลกากร ไปจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านสิ้นปี 2563 ทั้งนี้ข้อตกลง TCA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ภายหลังจากที่สองฝ่ายให้สัตยาบันครบถ้วนเรียบร้อย อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อตกลง TCA ยังคงมีประเด็นคงค้าง อาทิ ไอร์แลนด์เหนือ และการทำประมง ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่ท้าทายสำหรับทั้งสองฝ่ายในอนาคต


บทบาทของเพนตากอนในภาพยนตร์ฮอลลีวูดกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช, นุดาภา เดชทรัพย์ Jan 2020

บทบาทของเพนตากอนในภาพยนตร์ฮอลลีวูดกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช, นุดาภา เดชทรัพย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาบทบาทของเพนตากอนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 9/11 ภายใต้สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช โดยเป็นการศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า "ในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 เพนตากอนดำเนินงานกับฮอลลีวูดอย่างไร และทำไมเพนตากอนถึงให้การสนับสนุนภาพยนตร์ฮอลลีวูด" ผู้วิจัยได้นำกรอบแนวคิด "กลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิงทางทหาร" (Military-Entertainment Complex) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น ซึ่งผลการศึกษาพบว่า หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 เพนตากอนดำเนินงานกับฮอลลีวูดโดยการเข้าไปกำกับบทและเนื้อหาในภาพยนตร์ที่ผู้สร้างยินยอมที่จะปรับบทตามที่เพนตากอนต้องการเพื่อควบคุมภาพลักษณ์ (Controlling Images) ของกองทัพให้ออกมาในเชิงบวกรวมถึงให้เนื้อหามีความสอดคล้องกับนโยบายและบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 โดยทางทีมผู้ผลิตภาพยนตร์จะได้รับการสนับสนุนยุทธภัณฑ์ทางทหาร และกำลังคนเป็นการตอบแทน


อินโดนีเซียกับการจัดการปัญหาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมชาวโรฮีนจา, พิชญุตม์ บงกชพรรณราย Jan 2020

อินโดนีเซียกับการจัดการปัญหาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมชาวโรฮีนจา, พิชญุตม์ บงกชพรรณราย

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์หัวข้อ “อินโดนีเซียกับการจัดการปัญหาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม ชาวโรฮีนจา” เป็นการศึกษาการจัดการของอินโดนีเซียต่อชาวโรฮีนจาที่อพยพเข้ามาในประเทศตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2015 ผ่านแนวคิดกระบวนการประกอบสร้างประเด็นความมั่นคง โดยมีข้อถกเถียงสำคัญว่า แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮีนจาที่อพยพเข้ามาภายในประเทศ แต่การช่วยเหลือนั้นเป็นไปอย่างจำกัดและเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามทำให้ชาวโรฮีนจากลายเป็นประเด็นความมั่นคงภายในประเทศ และพยายามยกระดับปัญหาโรฮีนจาให้เป็นประเด็นความมั่นคงในระดับระหว่างประเทศ จากการศึกษาพบว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดการกับชาวโรฮีนจาที่อพยพเข้ามาผ่านการทำให้เป็นประเด็นความมั่นคงภายในประเทศ โดยการสร้างวาทกรรม “การย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ” เพื่อทำให้ชาวโรฮีนจากลายเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ ดังนั้น อินโดนีเซียจึงได้สกัดกั้นการเข้ามา และผลักเรือของชาวโรฮีนจาออกจากเขตแดนของตน รวมถึงกักขังชาวโรฮีนจาให้อยู่ในค่ายทหาร พวกเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การทำงาน และการเดินทาง นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังได้ทำให้ปัญหาโรฮีนจากลายเป็นประเด็นความมั่นคงในระดับระหว่างประเทศผ่านเวทีอาเซียน และกระบวนการบาหลี โดยอินโดนีเซียได้พยายามเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยเหลือและหาวิธีแก้ไขปัญหาโรฮีนจา เพื่อที่จะต้องการลดภาระที่อินโดนีเซียต้องแบกรับ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียไม่สามารถโน้มน้าวอาเซียน และกระบวนการบาหลีให้จัดการแก้ไขปัญหาโรฮีนจาได้ ส่งผลให้ปัญหาโรฮีนจาไม่ได้รับการแก้ไข


นโยบายผู้ลี้ภัยของออสเตรเลียในสมัยรัฐบาลนายจอห์น โฮเวิร์ด (ระหว่าง ค.ศ. 2001-2007), วทันยา โกนจนันท์ Jan 2020

นโยบายผู้ลี้ภัยของออสเตรเลียในสมัยรัฐบาลนายจอห์น โฮเวิร์ด (ระหว่าง ค.ศ. 2001-2007), วทันยา โกนจนันท์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยในสมัยรัฐบาลของนายจอห์น โฮเวิร์ด ระหว่าง ค.ศ. 2001-2007 โดยมุ่งศึกษานโยบายผู้ลี้ภัยผ่านแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยม การศึกษาพบว่าการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลส่งผลต่อการดำเนินนโยบายผู้ลี้ภัย เพราะรัฐบาลสนับสนุนแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมที่เน้นความสำคัญที่ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม (Social Cohesion) เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย แทนที่จะสนับสนุนพหุวัฒนธรรมนิยมในแง่ของการยอมรับความหลากหลาย พหุวัฒนธรรมนิยมในออสเตรเลียหลังการก่อการร้ายจึงอยู่ในภาวะถดถอย รัฐบาลต้องการให้ประชาชนชาวออสเตรเลียยึดถือคุณค่าเดียวกันคือคุณค่าและค่านิยมของออสเตรเลีย และเห็นว่าชุมชนชาวมุสลิมเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถยอมรับคุณค่าของออสเตรเลียได้จนนำมาซึ่งการกีดกันผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เดินทางมาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่าการกีดกันผู้ลี้ภัยของรัฐบาลนี้เป็นการเหยียดเชื้อชาติแบบใหม่ที่เลือกปฏิบัติจากเหตุผลด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้แนวทางพหุวัฒนธรรมที่ถดถอยลงเช่นนี้ และพบว่าแม้การกีดกันผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมจะสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศมุสลิมในอาเซียนแต่สุดท้ายแล้วออสเตรเลียก็สามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือได้ โดยความร่วมมือที่เด่นชัดที่สุดคือการก่อตั้งกระบวนการบาหลีในฐานะกลไกระดับภูมิภาค


ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ ทุน เมือง และชนบท ในการเมืองเรื่องไฟป่าและหมอกควันร่วมสมัย: กรณีศึกษาสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2535 - มิถุนายน 2563, มัทนา ปัญญาคำ Jan 2020

ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ ทุน เมือง และชนบท ในการเมืองเรื่องไฟป่าและหมอกควันร่วมสมัย: กรณีศึกษาสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2535 - มิถุนายน 2563, มัทนา ปัญญาคำ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ ทุน เมือง และชนบท ในการเมืองเรื่องไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2535 – 2563 โดยมีคำถามว่า “รัฐ ทุน เมืองและชนบท มีปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกันต่อประเด็นปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จ.เชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2535 - มิถุนายน 2563 อย่างไร” ผลการศึกษาพบว่า ตัวแสดงที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในการเมืองเรื่องไฟป่าและหมอกควันไม่ได้มีเพียง รัฐ ทุน และชนบทเท่านั้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชนบทและก่อให้เกิดการใช้ไฟในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุไฟป่า แต่ในปัจจุบันตัวแสดงใหม่ที่เข้ามามีบทบาทคือภาคเมือง อันเกิดจากการขยายตัวของเมืองที่มีลักษณะเศรษฐกิจในรูปแบบการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว หรือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เอกนครระดับภาค" เมื่อหมอกควันเข้ามากระทบกับเมือง จึงทำให้ภาคเมืองเข้ามามีบทบาทเชิงวาทกรรมเชิงข้อเรียกร้องและการผลักดันในการจัดการกับปัญหา ภาคเมืองได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ 1. ภาคเมืองที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนมีข้อเรียกร้องที่กดทับชนบท ภายใต้วาทกรรม “ผู้คนที่อยู่ในเขตป่าเป็นก่อให้เกิดไฟป่า” โดยสนับสนุนข้อเรียกร้องว่าด้วยการห้ามเผา ซึ่งสอดรับกับการจัดการปัญหาของรัฐที่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่ ภาคเมืองรูปแบบที่ 2 คือ ภาคเมืองที่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนหรือกลุ่มสภาลมหายใจพยายามต่อต้านกับวาทกรรมภาคเมืองกลุ่มแรก “ทุกคนเป็นต้นตอของปัญหาฝุ่นควัน” และพยายามผลักดันวิธีการจัดการปัญหาแบบการจัดการไฟ (fire management) แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเมืองทั้ง 2 รูปแบบมีลักษณะและท่าทีที่ประนีประนอมกับรัฐและร่วมมือกับรัฐ โดยที่ไม่ท้าทายต่อระบอบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจ และไม่ได้สร้างข้อเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจ


นโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นภายใต้อาเบะโนมิกส์, มาฆมาส ลัดพลี Jan 2020

นโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นภายใต้อาเบะโนมิกส์, มาฆมาส ลัดพลี

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษานโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นภายใต้อาเบะโนมิกส์ และวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ของนโยบายการท่องเที่ยวดังกล่าวด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีการเมืองเกี่ยวพัน เมื่อนายชินโซะ อาเบะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2012 ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายในอย่างผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 2011 และปัจจัยภายนอกอย่างการผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งจีนใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการต่อรองประเด็นข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเซนกากุกับญี่ปุ่นโดยการกีดกันทางการค้าและแทรกแซงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลอาเบะ มองว่า แม้จีนจะจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น แต่การกระทำนี้ของจีนก็ถือเป็นภัยคุกคามของญี่ปุ่นเช่นกัน จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นในระยะยาวพร้อมกับการตอบโต้การผงาดขึ้นมาของจีนด้วย จากการศึกษาพบว่า ในสมัยรัฐบาลอาเบะนโยบายการท่องเที่ยวได้ถูกให้ความสำคัญอย่างมากและถูกบรรจุในศรที่สามที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์การเติบโต" ภายใต้กลยุทธ์อาเบะโนมิกส์ด้วย ซึ่งจากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้รัฐบาลอาเบะกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มตลาดจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการบริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการเหล่านี้ที่หันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มตลาดใหม่อย่างนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาจีน ซึ่งสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการตอบโต้และสกัดกั้นการผงาดขึ้นมาของจีนได้อย่างละมุนละม่อมด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายการท่องเที่ยวภายใต้กลยุทธ์อาเบะโนมิกส์จะประสบความสำเร็จจนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่บางมาตรการนั้นกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่สร้างผลกระทบต่อคนในชาติและยังลุกลามกลายเป็นปัญหาข้ามชาติด้วย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องหาแนวทางจัดการปัญหาเหล่านี้เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยั่นในระยะยาวต่อไป


การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีน, ปภินวิช ปวินท์วรกุล Jan 2020

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีน, ปภินวิช ปวินท์วรกุล

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้ปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก หลายประเทศมีข้อกังวลเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนและเรียกร้องให้จีนหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากจีนจะรักษาบทบาทในฐานะมหาอำนาจของโลกในยุคปัจจุบัน จีนจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกขณะที่ผลจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศทำให้จีนเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศที่เลวร้ายส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างรุนแรง ดังนั้น งานวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษาการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้มาตรการทางนโยบายสาธารณะ โดยวิเคราะห์ว่าผู้นำจีนให้ความสำคัญในการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร การศึกษาครั้งนี้ จะมุ่งเน้นศึกษาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) อธิบายแนวทางการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศจีน 2) วิเคราะห์กระบวนการการออกฎหมายและการบังคับใช้ในการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศจีน และ 3) ประเมินผลสำเร็จของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผลการศึกษาพบว่าจีนมีความพยายามในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเพื่อรักษาความชอบธรรมของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่เป็นอำนาจการผูกขาดในบริหารประเทศ จากนโยบาย Green China ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยมีการออกกฎหมายและมาตรการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ และมีการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดการขยะอย่างจริงจังทำให้ปริมาณขยะภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนในต่างประเทศยังไม่มีการความร่วมมืออย่างจริงจัง และการห้ามนำเข้าขยะของจีนส่งผลให้ขยะเหล่านั้นถูกส่งมายังประเทศในอาเซียนแทนทำให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบริบทระหว่างประเทศของจีนยังถือว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน


ความพยายามจัดการปัญหาเกาหลีเหนือลักพาตัวชาวญี่ปุ่นภายใต้รัฐบาลอาเบะ ชินโซ ปี 2018-2019, ธนิดา ปะวะโข Jan 2020

ความพยายามจัดการปัญหาเกาหลีเหนือลักพาตัวชาวญี่ปุ่นภายใต้รัฐบาลอาเบะ ชินโซ ปี 2018-2019, ธนิดา ปะวะโข

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มีมุ่งศึกษาท่าทีของรัฐบาลอาเบะ ชินโซ ต่อเกาหลีเหนือ ในเรื่องของการจัดการปัญหาการลักพาตัวชาวญี่ปุ่นต่อเกาหลีเหนือในช่วง ค.ศ. 2018 และ ค.ศ. 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุที่รัฐบาลอาเบะ แสดงท่าที่ระแวดระวังต่อเกาหลีเหนือในประเด็นการจัดการการลักพาตัว โดยใน ค.ศ. 2018 เกาหลีเหนือมีท่าทีเป็นมิตรต่อสหรัฐฯ และยินยอมในการยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีระแวดระวังเกาหลีเหนือ เพราะเชื่อว่าเกาหลีเหนือไม่ได้จริงใจต่อการเป็นมิตรกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นจึงใช้โอกาสนี้ ให้ทางสหรัฐฯ ช่วยเจรจาให้เกาหลีเหนือเร่งคลี่คลายประเด็นการลักพาตัว แม้สหรัฐฯ ช่วยญี่ปุ่นแล้ว แต่เกาหลีเหนือกลับไม่ยอมเจรจากับญี่ปุ่น ยิ่งทำให้รัฐบาลอาเบะ กังวลต่อพฤติกรรมเกาหลีเหนือ จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยภายในประเทศมีผลต่อการแสดงออกต่อนโยบายต่างประเทศ โดยในกรณีนี้ ได้แก่ ทัศนะผู้นำของอาเบะ ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมของพรรค LDP ร่วมสนับสนุนในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ทำให้เขามีทัศนะแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ และต้องการขยายขอบเขตหน้าที่ของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (SDF) และยังมีปัจจัยภายในจากภาคประชาสังคมคือ กลุ่มสมาคม Kazokukai กับ Sukukai ที่มีบทบาทในการผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการลักพาตัว และ กลุ่มสื่อมวลชนญี่ปุ่น ที่ขยายประเด็นการลักพาตัวและยังทำให้ประชาชนรับรู้ในปัจจุบัน ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีท่าทีระแวดระวังต่อเกาหลีเหนือ


บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกัมพูชา : กรณีศึกษาโครงการดาราซาโกร์ของจีนในจังหวัดเกาะกง, ธนิต นวลมุสิก Jan 2020

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกัมพูชา : กรณีศึกษาโครงการดาราซาโกร์ของจีนในจังหวัดเกาะกง, ธนิต นวลมุสิก

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกัมพูชาผ่านกรณีศึกษาการลงทุนโครงการดาราซาโกร์ในจังหวัดเกาะกงซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบาย BRI ของจีน โดยประยุกต์ใช้แนวคิดอิทธิพลเพื่อเสนอว่าจีนได้รับประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากกว่าผลประโยชน์ด้านการเมืองซึ่งจีนเป็นรัฐขนาดใหญ่ใช้อิทธิพลผ่านเครื่องมือทางการทูต การเงิน และความช่วยเหลือทางการทหารแก่กัมพูชาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กัมพูชากำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อจีนเพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่สมบูรณ์ การขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเข้าถึงพื้นที่ทะเลจีนใต้ ในขณะที่กัมพูชาได้ประโยชน์ตอบแทนจากแรงจูงใจสามประการ ได้แก่ ประการแรก การเมืองภายในประเทศสำหรับความอยู่รอดของระบอบฮุน เซน ประการที่สอง ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย BRI เป็นส่วนส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของกัมพูชา และประการสุดท้ายการประกันความปลอดภัยจากภัยคุกคามของเวียดนามที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีชายแดนติดต่อกันและประวัติศาสตร์สงครามกลางเมือง อย่างไรก็ตาม การตอบรับอิทธิพลจากจีนของกัมพูชายังต้องเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในกัมพูชาเช่นกัน รวมทั้งการต่อต้านจากคนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของจีน


กระบวนการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลับประเทศต้นทางด้วยความสมัครใจ: บทวิเคราะห์สาเหตุความล่าช้าและผลกระทบ, ชุติมา ทองเต็ม Jan 2020

กระบวนการส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมากลับประเทศต้นทางด้วยความสมัครใจ: บทวิเคราะห์สาเหตุความล่าช้าและผลกระทบ, ชุติมา ทองเต็ม

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากระบวนการกลับคืนถิ่นฐานโดยความสมัครใจ เพื่อศึกษาสาเหตุและผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้า รวมทั้งนำเสนอข้อท้าทาย โอกาส และข้อเสนอเชิงนโยบาย มีกรอบการศึกษาช่วงระยะเวลาสถานการณ์พัฒนาเชิงบวกจนถึงก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โรคโควิด 19 ในปี ค.ศ. 2020 โดยมีสมมติฐานว่านโยบายของ รัฐไทย รัฐเมียนมา และUNHCR ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้หนีภัยฯ ในการกลับประเทศต้นทางโดยความสมัครใจ ซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายรัฐที่ตั้งอยู่บนกรอบแนวคิดเรื่องรัฐชาติและความมั่นคงแห่งชาติ จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น การศึกษาพบว่า รัฐไทยพยายามผลักดันให้เกิดการกลับประเทศต้นทางโดยสมัครใจ แต่ในขณะที่รัฐเมียนมายังไม่มีความชัดเจน ไม่ได้มีโครงสร้างสถาบันรองรับแนวทางเพื่อไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง และยังไม่สามารถขจัดสาเหตุความขัดแย้งระหว่างรัฐและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย รวมทั้งไม่ได้มีนโยบายรัฐในระยะยาวที่ตอบรับการกลับประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้ง UNHCR ไม่สามารถผลักดันเร่งรัดการทำงานของรัฐไทยและเมียนมาให้เกิดความร่วมมือได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการยืดเยื้อต่อไป และอาจเป็นเพียงโครงการนำร่องที่ไม่ได้เกิดผลการกลับประเทศต้นทางอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาสวัสดิภาพความมั่นคงของมนุษย์สำหรับผู้หนีภัยฯ ไม่มีประสิทธิผล ประชากรกลุ่มนี้ยังมีความกังวลใจ และมีความไม่มั่นคง (ทางร่างกาย กฎหมาย วัตถุ และสังคมและจิตใจ) ข้อเสนอของผู้วิจัย คือ ปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส ปรับรื้อระดับโครงสร้างนโยบายต่อผู้หนีภัยฯ จากมุมมองเก่าในการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐเป็นสำคัญ สู่ความมุ่งมั่นใหม่ในการยกระดับการพัฒนาความมั่นคงมนุษย์อย่างยั่งยืน ยืนยันท่าทีจากคำมั่นที่รัฐไทยให้ไว้ต่อประชาคมระหว่างประเทศ สนับสนุนอาเซียนในการคลี่คลายวิกฤติการณ์เมียนมาในปัจจุบัน รวมทั้งหาทางออกที่คำถึงถึงปัจเจกในประเด็นการให้สัญชาติ และการจัดการที่ครอบคลุมในเรื่องพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


การค้าแรงงานหมอนวดหญิงไทยในเกาหลีใต้, นพรัตน์ พรหมจรรย์ Jan 2020

การค้าแรงงานหมอนวดหญิงไทยในเกาหลีใต้, นพรัตน์ พรหมจรรย์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษากระบวนการจัดส่งแรงงานหมอนวดหญิงไทยข้ามชาติที่มีการขูดรีดแรงงานภายในห่วงโซ่อุปทานการค้าแรงงานหญิง ซึ่งเป็นผลทำให้แรงงานดังกล่าวต้องเผชิญกับสภาวะความเปราะบางในด้านต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ในเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2004 – 2021 สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า แรงงานหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานนวดในเกาหลีใต้ถูกขูดรีดและตกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการค้ามนุษย์ในเกาหลีใต้ได้อย่างไร โดยสารนิพนธ์เล่มนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ แรงงานหญิงไทยที่เคยเป็นหมอนวดในเกาหลีใต้ จำนวน 15 คน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ จำนวน 3 คน โดยใช้แนวคิดของ Rhacel Salazar Parreñas เกี่ยวกับการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศชายและเพศหญิงในระดับโลกที่ยึดโยงอยู่กับห่วงโซ่อุปทานการค้าแรงงานหญิง เป็นกรอบความคิดหลัก โดยผลการศึกษาพบว่า การแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานนวดในเกาหลีใต้นั้นซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายตัวแสดง รวมทั้งการขูดรีดแรงงานและการค้ามนุษย์สามารถเกิดขึ้นทั้งในประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน ประเทศปลายทาง และสามารถเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการในเวลาเดียวกันได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่า เครือข่ายนายหน้าจัดหางานข้ามชาติล้วนมีส่วนช่วยในการสร้างแรงดึงดูดแรงงานหญิงไทยให้เดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายได้ง่ายและสะดวกกว่าการเดินทางไปทำงานโดยผ่านกระบวนการจัดส่งแรงงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานนวด เราต้องนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากกลุ่มแรงงานหมอนวดหญิงไทยมาเป็นแนวทาง นอกจากนี้ ควรมีการจัดสรรโควตาแรงงานไทยอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง การเสนอให้อาชีพนวดถูกกฎหมายสำหรับแรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดในการดำเนินคดีกับนายจ้างหรือนายหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์


การจัดการแรงงานข้ามชาติโรฮิงญาของประเทศมาเลเซีย, บูรณิจฉ์ ตันติวุฒิพงศ์ Jan 2020

การจัดการแรงงานข้ามชาติโรฮิงญาของประเทศมาเลเซีย, บูรณิจฉ์ ตันติวุฒิพงศ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาการจัดการแรงงานข้ามชาติโรฮิงญาของประเทศมาเลเซีย โดยศึกษาความมั่นคงของมนุษย์ต่อการจัดการแรงงานชาวโรฮิงญาประเทศมาเลเซีย เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์แนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานทั้งจากรัฐบาลมาเลเซีย และองค์กรนอกภาครัฐ ภายใต้กรอบแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิด (Critical Security) และแนวคิดการย้ายถิ่นเป็นส่วนประกอบของการวิเคราะห์ จากการศึกษาพบว่า ประเทศมาเลเซียได้มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการแรงงาน จากการดำเนินการด้านนโยบายหรือการจัดการ โดยการให้ความช่วยเหลือแรงงานทำให้สามารถดำรงชีวิตตามแนวทางขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัย ผ่านมาตรการทางด้านกฎหมายต่างๆ ทำให้แรงงานต่างชาติสามารถได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับแรงงานมาเลเซียภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การรับเงินทดแทนหรือประกันสังคม รวมทั้ง ได้มีการลงนามในตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึง อนุสัญญาพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ว่าด้วยการบังคับใช้แรงงาน ทำให้มาเลเซียทราบถึงมาตรการที่รัฐดำเนินการเพื่อปกป้องแรงงานข้ามชาติ แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงมนุษย์ของแรงงานต่างชาติ แต่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเท่าที่ควร จึงเกิดเป็นการประสานความร่วมมือร่วมกันระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย กับองค์กรนอกภาครัฐ อย่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านแรงงานในประเทศมาเลเซีย อย่างกลุ่ม Tenaganita ที่ได้มีการสนับสนุนให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาตามแบบสากล เพื่อให้มีกรอบแนวทางการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ องค์กรนอกภาครัฐเป็นเพียงแค่ส่วนส่งเสริมแต่ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของมาเลเซียได้ ทำให้การจัดการแรงงานต่างชาติจึงยังเป็นการให้ความสำคัญ และพึ่งพาภาครัฐมากกว่าที่จะเป็นการเน้นบทบาทของแรงงานอย่างแท้จริง


การจัดระเบียบแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียในสิงคโปร์, ฐิติรัตน์ เชื้อพุทธ Jan 2020

การจัดระเบียบแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียในสิงคโปร์, ฐิติรัตน์ เชื้อพุทธ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

ตั้งแต่ปี 1990 - 2020 ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเชิงลบต่อการใช้ความรุนแรงต่อแม่บ้านข้ามชาติ และปัญหาสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการคุ้มครองแม่บ้านข้ามชาติ ปรากฏบนสื่อทั้งในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอินโดนีเซีย และกระทบภาพลักษณ์เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองที่มีฐานะด้อยในสังคม สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษา การจัดระเบียบแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียในสิงคโปร์ โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่องการควบคุมโดยรัฐ เพื่ออธิบายการตอบสนองของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อแรงกดดันของรัฐบาลอินโดนีเซียและภาคประชาสังคมในสิงคโปร์ ผลการศึกษาพบว่า ตลอด 3 ห้วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ตอบสนองข้อเรียกร้องดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขสวัสดิการขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การว่าจ้างแรงงานต่างชาติ และเพิ่มบทลงโทษในประมวลกฎหมายอาญาต่อนายจ้างที่ละเมิดสิทธิของแรงงานต่างชาติ โดยการตอบสนองของรัฐบาลสิงคโปร์นั้นเป็นเพราะรัฐบาลตระหนักว่าแรงงานแม่บ้านต่างชาติเป็นแรงงานนอกระบบ (informal sector) ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ หากรัฐบาลไม่ปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย ปัญหานี้อาจลุกลามเป็นปัญหาระหว่างประเทศ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในระยะยาว กระนั้น การปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐบาลสิงคโปร์ก็จำกัดเฉพาะกฎหมายภายในประเทศ และต้องไม่เป็นปัญหาที่นายจ้างสิงคโปร์แบกรับไม่ไหว รวมทั้งหลีกเลี่ยงข้อตกลงระหว่างประเทศกับอินโดนีเซีย ที่อาจกระทบต่อความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายภายใน


การทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกา: กรณีศึกษาการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต โมซัมบิก, ปรภัส แท่นธัญลักษณ์ Jan 2020

การทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกา: กรณีศึกษาการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต โมซัมบิก, ปรภัส แท่นธัญลักษณ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

สารนิพนธ์นี้ศึกษาการทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกาโดยใช้การเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต โมซัมบิก เป็นกรณีศึกษา วัตถุประสงค์การวิจัยของสารนิพนธ์มุ่งตอบคำถาม 2 ข้อ คือ (1) ทำไมรัฐบาลไทยสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเลือกโมซัมบิกเป็นจุดดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกา และใช้การผลักดันการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต เป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว (2) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และรัฐบาลที่เข้ามาใหม่เปลี่ยนแนวทางดำเนินนโยบายต่อแอฟริกาจากการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกมาเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการทูตสาธารณะ บทบาทและแนวทางดำเนินยุทธศาสตร์ของสถานเอกอัครราชทูตไทยที่โมซัมบิกมีการปรับตัวอย่างไร จากการศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ สารนิพนธ์ได้ข้อค้นพบว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินนโยบายรุกแอฟริกาทางเศรษฐกิจด้วยการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต เป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เข้าไปสกัดวัตถุดิบและทรัพยากรในโมซัมบิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจอัญมณี ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการปรับแนวทางดำเนินนโยบาย จุดมุ่งหมายเดิมที่ต้องการใช้สถานทูตเป็นจุดประสานการดำเนินการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและสนับสนุนการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรและวัตถุดิบลดความสำคัญลง แนวทางดำเนินยุทธศาสตร์ของสถานทูตไทยที่มาปูโตเปลี่ยนมาเน้นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผสานกับการทูตสาธารณะ เพื่อมุ่งให้ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศทั้งสองเป็นเงื่อนไขสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคธุรกิจที่เข้าไปสกัดทรัพยากรในโมซัมบิก จากข้อค้นพบข้างต้นสารนิพนธ์มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้ (1) กระทรวงการต่างประเทศควรทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การทูตทางเศรษฐกิจของไทยต่อแอฟริกาให้มีความต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลของมาตรการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน (2) กระทรวงการต่างประเทศควรผลักดันให้หน่วยงานด้านส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อแอฟริกาให้มากขึ้น รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนในแอฟริกา (3) เปลี่ยนจุดเน้นในการใช้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศในแอฟริกาในกรอบของการทูตสาธารณะมาเป็นการใช้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เป็นกลไกขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก