Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Digital Commons Network

Open Access. Powered by Scholars. Published by Universities.®

Law

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

Publication Year

Articles 1 - 4 of 4

Full-Text Articles in Entire DC Network

มาตรการการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของนักธุรกิจในธุรกิจขายตรงที่มีรูปแบบหลายชั้น, มนธิดา อัครสามารถ Jan 2020

มาตรการการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของนักธุรกิจในธุรกิจขายตรงที่มีรูปแบบหลายชั้น, มนธิดา อัครสามารถ

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาการดำเนินธุรกิจขายตรงที่มีรูปแบบหลายชั้นของนักธุรกิจผ่านกิจกรรมที่มีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในมุมมองของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยศึกษาประกอบกับกฎหมาย General Data Protection Regulation ของสหภาพยุโรป จากการสัมภาษณ์นักธุรกิจพบว่านักธุรกิจปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ดังนี้ นักธุรกิจไม่ได้แจ้งรายละเอียดการเก็บรวบรวมข้อมูลและช่องทางการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งไม่ทราบวิธีการจัดการคำร้องขอนั้น ไม่มีรูปแบบและวิธีการขอความยินยอม ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูล นิยามคำว่ากิจการขนาดเล็กไม่ครอบคลุมถึงบุคคลธรรมดาที่มีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการจัดทำประมวลแนวปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้เพื่อแก้ไขความไม่สอดคล้องมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐออกประกาศหรือภาคเอกชนโดยสมาคมวิชาชีพร่วมกับบริษัทกำหนดแนวทางให้นักธุรกิจนำไปปฏิบัติ คือ กำหนดขอบเขตและรูปแบบของการแจ้งรายละเอียดการเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดรูปแบบและวิธีการขอความยินยอม กำหนดระยะเวลาการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดช่องทางการใช้สิทธิและวิธีการจัดการคำร้องขอของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มเติมนิยามให้บุคคลธรรมดาที่มีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกิจการขนาดเล็กที่ได้รับยกเว้นการจัดทำบันทึกรายการของกิจกรรม และตราบทบัญญัติเรื่องการจัดทำประมวลแนวปฏิบัติ นอกจากนี้ต้องพัฒนาความรู้ทางด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและวิธีปฏิบัติแก่นักธุรกิจ


การแบ่งปันข้อมูลในบริบทการต่อต้านการก่อการร้ายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ, ธีรพันธุ์ แก้วคง Jan 2020

การแบ่งปันข้อมูลในบริบทการต่อต้านการก่อการร้ายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ, ธีรพันธุ์ แก้วคง

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

การแบ่งปันข้อมูลเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีความมุ่งหมายให้บรรดารัฐอาศัยบทบาทของความร่วมมือและการสานงานระหว่างกันทั้งระดับระหว่างประเทศและระดับภายในรัฐ แม้ว่าการแบ่งปันข้อมูลเป็นมาตรการที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วในตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายก็ตาม แต่ยังขาดความชัดเจนในเนื้อหาและการกำหนดกระบวนการแบ่งปันข้อมูล ในบริบทของการปราบปรามการก่อการร้ายภายใต้สหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงได้รับรองบรรดาข้อมติกำหนดขอบเขตของพันธกรณีในเนื้อหาของข้อมูลที่จะต้องแบ่งปันให้ชัดเจน กำหนดกระบวนการของการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นขั้นตอน และกลไกของการบังคับที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการบูรณาการทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศอื่น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าการแบ่งปันข้อมูลนั้นเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมให้เกิดการบังคับใช้มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายต่างๆของคณะมนตรีความมั่นคง อาทิ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม ข้อมูลของกิจกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายเพื่อดำเนินมาตรการปราบปรามและอายัดทรัพย์สิน ข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารเพื่อดำเนินมาตรการตรวจจับและยับยั้งการเดินทางของผู้ก่อการร้าย ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินมาตรการบังคับทางกฎหมาย และข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการปราบปรามการแพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามการแบ่งปันข้อมูลอันนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินการภายในของรัฐในการกำหนดกระบวนการทางกฎหมายและกลไกความร่วมมือ รวมไปถึงการมีความสามารถและองค์ความรู้ของรัฐในการปฏิบัติตามพันธกรณีในการแบ่งปันข้อมูลเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย


การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายในการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง, นันทฉัตร เงินจันทร์ Jan 2019

การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายในการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง, นันทฉัตร เงินจันทร์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์นี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาแนวทางของกฎหมายในการควบคุมการผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายและวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุน-ประโยชน์เพื่อประเมินวิถีทางการควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยใช้ระบบความมุ่งหมายในการจัดประเภทความเสี่ยงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดประเภทเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยง พ.ศ. 2562 ตลอดจนศึกษาถึงการควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยใช้ระบบพิจารณาผลกระทบจากการใช้ในการจัดประเภทความเสี่ยงของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบเพื่อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จากการศึกษาโดยวิเคราะห์ประสิทธิภาพในเชิงต้นทุน พบว่า การควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยใช้โดยใช้ระบบพิจารณาผลกระทบในการจัดประเภทความเสี่ยงของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแนวทางที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคและก่อให้เกิดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับระบบความมุ่งหมายในการใช้ของประเทศไทย นอกจากนี้ แม้ว่าแนวทางดังกล่าวจะก่อให้เกิดต้นทุนการใช้ทรัพยากรของรัฐในการจัดประเภทความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์มากกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดประเภทความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์โดยกำหนดระบบเครื่องมือแพทย์ต้นแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเทียบประเภทความเสี่ยงของเครื่องมือแพทย์แต่ละกรณีอาจเป็นการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรของรัฐลงได้ ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการควบคุมเครื่องมือแพทย์ตามระดับความเสี่ยงโดยระบบพิจารณาผลกระทบจากการใช้ของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นแนวทางที่ได้รับการนำเสนอให้ปรับใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย


ความรับผิดทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มึนเมา, ธัญวรัตน์ ดุลยพงศ์พันธ์ Jan 2019

ความรับผิดทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มึนเมา, ธัญวรัตน์ ดุลยพงศ์พันธ์

Chulalongkorn University Theses and Dissertations (Chula ETD)

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มึนเมาในประเทศไทยและในต่างประเทศ และเสนอแนวทางในการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เหมาะสมเกี่ยวกับความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มึนเมา จากการศึกษาพบว่า สถิติอุบัติเหตุและคดีที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการให้คำนิยามบางประการจึงทำให้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ไว้เป็นการเฉพาะทั้งที่บุคคลเหล่านี้ควรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าบุคคลทั่วไปด้วย เมื่อได้ศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศพบว่า รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ประเทศสกอตแลนด์ ดินแดนออสเตรเลียนแคพิทอล ประเทศออสเตรเลีย และรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ต่างก็มีมาตรการในการกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ให้แก่ผู้มึนเมา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์จึงขอเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขความรับผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้มึนเมาให้มีบทลงโทษที่เหมาะสมตามความร้ายแรงของการกระทำความผิด พร้อมทั้งกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้เป็นการเฉพาะให้ชัดเจนด้วย โดยนำแนวทางในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแนวนโยบายของประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและคดีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ต่อไป